ไร้คำสั่งซ้ายหัน-ขวาหัน มีเพียงการขยับในแนวระนาบ - Decode
Reading Time: 3 minutes

เมื่อเราพูดถึงอนาคิสต์ เรามักจะนึกถึงสิ่งใด

ความรุนแรง 

อาวุธ ระเบิด

หรือหายนะ ความโกลาหลครั้งยิ่งใหญ่ที่เกินกว่ามนุษยชาติจะรับมือได้ 

ต้องยอมรับว่าหนังสือเกี่ยวกับอนาคิสต์จากนักวิชาการ นักคิด ที่ได้รับการแปลป็นภาษาไทย มีจำนวนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับ แนวความคิดฝ่ายซ้ายอย่างลัทธิมาร์กซิสที่แพร่หลายอย่างมากในประเทศไทย มีแต่เพียงภาพยนตร์ของคนผิวขาวโดยเฉพาะจากประเทศเสรีนิยมที่มักเอาสัญลักษณ์และการเอ่ยถึงแนวคิดอนาธิปไตยให้เป็นตัวร้ายในหลายต่อหลายภาพยนตร์ที่มักใช้ความรุนแรงและพรากเอาชีวิตผู้คนราวกับเป็นเรื่องง่ายดาย ทำให้ภาพจำของความคิดอนาธิปไตยมักจะถูกต่อต้านจากผู้คนโดยมาก 

หนังสืออนาธิปไตย? โคตรใช่เลย! แปลจาก หนังสือ Two Cheers for Anarchism: Six Easy Pieces on Autonomy, Dignity, and Meaningful Work and Play ของ เจมส์ ซี สก็อต

หนังสือเล่มนี้คงไม่ใช่หนังสือที่ดีนักที่จะอธิบายกับผู้อ่านว่าอนาธิปไตยนั้นหมายความว่าอะไรกันแน่ ไม่มีความหมายที่จริงแท้แน่นอนและไม่มีสูตรสำเร็จในการเป็นนักอนาธิปไตย แต่หนังสือเล่มนี้เป็นทรรศนะของสก็อต ที่ชวนให้เราขบคิด ถึงความสลับซับซ้อนแต่ร้อยเรียงกันของธรรมชาติที่นับรวมถึงมนุษย์ แต่ต้องอยู่ภายใต้การรัฐที่เป็นนักจัดแจงสุดแสนเจ้ากี้เจ้าการ ทำให้เหตุผลที่ว่า ทำไมเราต้องต่อต้านในระบบระเบียบทางสังคมที่มีอยู่บางข้อที่โง่เง่าอย่างโจ่งแจ้ง หรือ กฎระเบียบที่ช่างน่าศรัทธาแต่แท้จริงมีไว้ควบคุมเราให้กลายเป็นคนชินชาไร้ความขบถและหมดอาลัยตายอยากต่อสังคม หนังสือเล่มนี้เป็นเช่นนี้ หากคุณกำลังหาวิธีการทำระเบิดขวดเบื้องต้น หรือปืนประดิษฐ์อย่างง่ายเพื่อก่อการปฏิวัติเราขอให้คุณปิดทุกอย่างลงซะ และคุณอาจจะไปหาอ่านหนังสือ Anarchist cookbook แทน นั่นคงจะตอบโจทย์คุณได้ดียิ่งกว่า 

รัฐไม่ยอมเปลี่ยนแปลง 

นับตั้งแต่ลืมตาดูโลกขึ้นมามนุษย์ทุกคนที่ยังหายใจขณะนี้ก็อยู่ภายใต้คำว่า รัฐ เรามักนึกจินตนาการไม่ออกหากวันใดมีใครสักคนพูดว่า ทำลายรัฐลงซะ แล้วอยู่กันอย่างไร้รัฐ ประเทศ เขตแดนไปเสีย ผู้คนจำนวนมากมักหัวเราะคิกคักเมื่อมีคนพูดข้อเสนอทลายรัฐลง หนังสือเล่มนี้อาจเป็นตัวช่วยในการฟังเหตุผลของแนวคิดอนาธิปไตยผู้ต่อต้านรัฐ ที่แสดงทรรศนะถึงความน่ากลัวของการถูกกลืนกินโดยรัฐที่ทำให้มนุษย์ ไร้การช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างสิ่งที่ธรรมชาติควรเป็น  

ศัตรูตัวฉกาจของนักอนาธิปไตย ที่มีชื่อเรียกว่า รัฐ พร้อมสถาบันโครงสร้างทางสังคมที่รัฐสร้างขึ้นมา เช่น รัฐสภา พรรคการเมือง ระบบราชการ กฎหมาย เศรษฐกิจการเงิน ฯลฯ แนวคิดอนาธิปไตยมองว่าสิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนกรงขังขนาดใหญ่ที่พยายามจัดระเบียบทุกสิ่งบนโลก ให้เข้าที่เข้าทางตามที่มันต้องการเพื่อเอื้อให้เกิดผลประโยชน์ต่อรัฐสูงสุดที่สุดท้ายแล้วบุคคลที่จะสามารถมีอำนาจในรัฐได้ ก็เป็นบุคคลที่ต้องแข่งขัน มีอำนาจนำ และไม่เสมอกันเท่ากับคนทั่วไป และผลักให้สิ่งอื่นที่รัฐไม่ได้สร้างหรือจัดการโดยรัฐนั้นกลายเป็นความโกลาหล เกินควบคุมและน่ากลัว 

ผู้อ่านบางท่านอาจรู้สึกไม่เห็นด้วยกับการโจมตีรัฐ เพราะในปัจจุบันการมีรัฐนั้นช่วยอำนวยความสะดวก จัดสรรทุกสิ่งอย่าง และมอบสิทธิเสรีภาพ ให้กับประชาชน ผ่านการเลือกตั้ง รัฐสภา และการออกนโยบายที่ทำให้ชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนดีขึ้น 

ในทรรศนะของสก็อตและแนวความคิดอนาธิปไตยโต้แย้งว่า สิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงภาพลวงตา ที่รัฐอ้างว่าจัดสรรและรับฟังนั้น แท้จริงไม่ได้ต่างจากระบบทุนนิยม

ประวัติศาสตร์การลุกฮือของประชาชนคือเครื่องยืนยันว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริง 

“ตลอดระยะเวลาราวห้าพันปีของประวัติศาสตร์การมีอยู่ของรัฐ แม้กระทั่งความเป็นไปได้ ที่รัฐอาจขยายขอบเขตเสรีภาพของมนุษย์บางครั้งบางคราวนั้น จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีเหตุการณ์ความไม่สงบขนาดใหญ่จากฐานล่างและเกิดขึ้นภายนอกสถาบันการเมืองปกติ เข้ามาคุกคามโครงสร้างทางการเมืองทั้งหมด”

“การละเมิดกฎหมายและการก่อความไม่สงบมีส่วนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย“ 

เมื่อเหล่าประชาชนผู้ปฏิบัติตามกฎรัฐและค้นพบว่ามันช่างขัดกับชีวิตวิถีชุมชน พื้นที่ ชาติพันธุ์ สภาพแวดล้อมของพวกเขาเสียเหลือเกิน แน่นอนเมื่อธรรมชาติเหล่านี้ถูกกลืนกินไปโดยรัฐ เป็นเรื่องธรรมดาเมื่อการต่อต้านจะเกิด อย่างการดื้อแพ่งที่อาจนำไปสู่การก่อจลาจลในแนวระนาบ เมื่อเกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นรัฐและชนชั้นนำแทบจะไม่รู้เลยว่าพวกเขาจะต้องเจรจากับใคร ข้อกฎหมายยิบย่อยและผู้ปฏิบัติการดื้อแพ่งมีมากมายเกินกว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะจับกุมและนำขึ้นศาลไหว เหล่าชนชั้นนำจึงต้องรีบแก้ปัญหาอย่างโดยไว เพราะพวกเขาไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าสิ่งใดจะเกิดขึ้นต่อไป 

แล้วทำไมต้องเป็นแนวระนาบ ? 

“เมื่อเราพยายามแงะดูหน้าที่ของสหภาพแรงงาน พรรคการเมือง หรือแม้กระทั่งขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมซึ่งมีอุดมการณ์สุดโต่ง ก็คือการเอาความโกรธแค้นและการประท้วงที่คุมไม่อยู่เข้าไปไว้ในระบบสถาบัน อาจกล่าวได้ว่าหน้าที่ขององค์การเหล่านี้คือการแปลงความเจ็บปวด ความขุ่นแค้น และความคับข้องใจให้กลายเป็นชุดนโบายทางการเมืองที่สอดคล้องเป็นเนื้อเดียวกัน  และเอาไปใช้เป็นฐานในการตรากฎหมายและร่างนโยบายได้ องค์การเหล่านี้จึงเป็นสายพานส่งกำลัง ระหว่างมวลชนผู้ดื้อรั้นกับชนชั้นนำผู้ออกกฎ”

สุดท้ายผู้นำในองค์การเหล่านี้ ก็จะมีอิทธิพลต่อมวลชนที่พวกเขาเป็นตัวแทน พวกเขาสามารถต่อรองกับชนชั้นนำและทำให้คนในขบวนของพวกเขานั้นเชื่อฟังพวกเขา เมื่อความยุ่งเหยิงของเหล่ามวลชนที่ลุกฮือ สงบ ฝ่ายชนชั้นนำก็สามารถวางใจ ต่อรองกับตัวแทนผู้นำสหภาพ ผู้นำองค์การ กระชับเวลาอย่างที่ประชาธิปไตยตัวแทนมองเป็นข้อดี แต่ระบบเหล่านี้ให้โอกาสและขยายเสรีภาพกับประชาชนแค่บางครั้งบางคราว และมอบอำนาจให้กับผู้คนที่เป็นตัวแทน ชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนพวกเขาจะให้ก็ต่อเมื่อเกิดความวุ่นวายของประชาชนบนท้องถนนที่เกินจะควบคุมและทำให้พวกเขารู้สึกถูกทำให้ไม่ปลอดภัย

ภายใน 6 บท ของหนังสืออนาธิปไตย? โคตรใช่เลย ! สก็อตได้แบ่งย่อยเป็นส่วนเสี้ยวต่าง ๆ ที่ร้อยต่อกัน (ในบางครั้ง) ที่แสดงถึงความพยายามที่จะจัดแจงไปเสียทุกอย่างบนโลกของรัฐ ตั้งแต่ธรรมชาติที่เป็นพืช จนทำให้เกิดแปลงไร่ที่คล้ายกันในทุกที่ ขนาดระยะห่างที่เท่ากัน ได้รับสารอาหารที่เหมือนกัน เพื่อตรวจสอบสมมติฐานและหาพันธุ์ที่คงทนและให้ผลการผลิตที่ดีที่สุดและทันท่วงทีที่โรงงานจะนำพืชผลการเกษตรเหล่านี้ไปแปรรูปต่อและสร้างกำไรมหาศาล โดยไม่สนความแตกต่างของสายพันธุ์และพื้นที่ ซึ่งกลายเป็นการกลืนกินการทำการเกษตรโดยใช้วิถีและภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่มีการปลูกพืชที่หลากหลาย และดูเหมือนจะกระจัดกระจาย แต่แท้จริงแล้ว ความกระจัดกระจายและไร้ระเบียบนี่แหละที่ทำให้พืชทุกขชนิดในพื้นที่ของคนในชุมชนนั้นเกื้อกูลช่วยเหลือพึ่งพา สร้างระบบนิเวศที่แข็งแรงต้านทานโรคที่เกิดจากพืชซึ่งแตกต่างจากการทำการเกษตรแบบแปลงรัฐจัดสรร ที่มีหน่วยงานราชการพยายามออกนโยบายในทุกพื้นที่ว่าการเกษตรควรทำเช่นไร 

สก็อตเขียนร้อยเรียงและยกตัวอย่างขึ้นมาจากเรื่องของพืช ที่มีระบบการอยู่อาศัยแบบช่วยเหลือกันได้และเติบโตแข็งแรงโดยที่ไม่มีใครต้องไปยุ่มย่ามกับมัน ไปจนถึงสถาบันการศึกษาที่มีดัชนีชี้วัดจนทำให้สถาบันการศึกษาทุกที่ตรวจวัดแต่สิ่งที่วัดได้และบอกว่านี่คือค่าความเป็นกลาง แม้ระบบนี้จะทิ้งคนจำนวนมากไว้ข้างหลังพวกเขาก็คิดว่านี่คือสิ่งที่จริงแท้ที่สุด และลามไปถึง โรงงาน ผังเมือง ครอบครัวปิตาธิปไตย ฯลฯ 

ทุกส่วนเสี้ยวในทุกภาคส่วน ล้วนเกิดการที่นโยบายภาครัฐ ความเป็นสถาบันทางสังคมที่เกิดจากรัฐเข้ามาจัดการ ออกนโยบายที่เกี่ยวข้องพยายามทำให้ทุกอย่างเข้าที่เข้าทางและคิดว่าควรจะเป็นมากที่สุด ทำให้ระบบเดิมที่เคยมีตามธรรมชาติ วิถีชุมชนความเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่เคยเกื้อกูลกันนั้นหายไป  

สก็อตยกตัวอย่างเศษเสี้ยวของความไร้สาระกฎระเบียบที่ไม่ควรทำตามมามากถึง 28 เศษเสี้ยวกันเลยทีเดียว 

และยกตัวอย่างถึงวิธีการต่อต้าน ดื้อรั้นกับกฎระเบียบเหล่านี้ที่มีผู้คนเคยลุกต่อสู้มาตลอดประวัติศาสตร์ 

“รู้อะไรไหม พวกคุณลองสวมจิตวิญญาณของการแหกกฎบ่อยกว่านี้ก็ดีนะครับ เพราะวันหนึ่งจะมีเสียงเพรียกให้คุณแหกกฎข้อใหญ่เพื่อความยุติธรรมและมีเหตุผล ลองใช้สมองตัดสินกฎสักข้อดูว่า มันชอบธรรมและสมเหตุสมผลหรือไม่ ถ้าทำเช่นนั้นได้ คุณก็จะฟิตพร้อม และวันที่การใหญ่มาถึงคุณก็จะพร้อมลุย “ 

สวัสดีเพื่อนผองผู้หลากหลาย 

อนาคิสต์ ไม่มีระเบียบแบบแผนและเป็นความยุ่งเหยิงจริงหรือไม่ สก็อตพยายามอธิบายว่าคำว่าไม่มีแบบแผนและไร้ระเบียบต่างหากที่ทำงานกับธรรมชาติที่เรียกว่าผู้คนได้ดีที่สุด 

ในทุก ๆ เศษเสี้ยวที่สก็อตเขียนมานั้นมีสิ่งหนึ่งที่ชัดเจนมากที่สุด คือการยกตัวอย่างสถานการณ์จากทุกภาคส่วนบนโลก ทุกหน่วยเศรษฐกิจ ทุกชนชั้น ขึ้นมาใช้ให้เห็นถึงปัญหา การต่อสู้และวิธีการขัดขืนต่อต้านรัฐ

เขายกขึ้นมาแสดงให้เห็นว่า ในขณะที่ทั้งโลกใช้ระบบการจัดการแบบรัฐ ในขณะเดียวกันผู้คนทั่วทั้งโลกก็มีกลุ่มที่ขัดขืนและต่อต้านกับรัฐ 

เอาล่ะ ถ้าพูดถึงประสบการณ์ที่เชื่อมโยงระหว่างผู้เขียนบทความนี้กับหนังสือเล่มนี้ ภายในสถานการณ์ประเทศไทย ก็ขอต้องยกตัวอย่างที่รู้สึกเชื่อมโยงอย่างมากที่สุด

อย่างการเข้าร่วมการชุมนุมที่ดินแดง และเกิดการรวมกลุ่ม ของ แก๊ส Gaz – Solidarity  

นับตั้งแต่วันนั้นจนถึงตอนนี้แม้สถานการณ์การชุมนุมในไทยจะลดน้อยลงและน้อยลงยิ่งขึ้นเมื่อเกิดการเลือกตั้ง แต่ก็ต้องสารภาพกันตามตรงว่าไม่มีการชุมนุมครั้งใดติดตราตรึงใจและทำให้ตัวผู้เขียนรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างที่หนังสือเล่มใดมากมายเคยอ่านมาได้เท่าสมรภูมิดินแดง 

อันดับแรกก็คงต้องออกตัวอย่างชัดเจนว่าตัวผู้เขียนเป็นเพียงมวลชนที่ไม่ถูกจัดตั้งในสมรภูมิดินแดง และข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มทุกกลุ่มในพื้นที่ตรงนั้น แทบจะนับได้ว่าเป็นศูนย์  

ในครั้งแรกที่เหยียบพื้นที่ดินแดงจุดประสงค์แรกเริ่มของผู้เขียนก็เพียงไปเพื่อการชุมนุมเพื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องที่กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองกระแสหลักในขณะนั้นได้ออกมาเคลื่อนไหว  

แต่เมื่อเกิดความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐ สิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้คนในพื้นที่นั้นก็ตื่นตัวและผสานกันแทบอย่างทันท่วงที 

ภายใต้ความโกลาหลที่ผู้คนเรียกกัน ภายใต้สภาวะที่ผู้คนดูในโทรทัศน์และอ่านข่าวเรียกว่ายุ่งเหยิงและรุนแรง เทียบไม่ได้กับสถานการณ์จริงภายใต้แก๊สน้ำตาไม่ขาดสายและเสียงการยิงแก๊สน้ำตาที่ปะปนมากับกระสุนยาง

ช่างน่าตลกร้าย ที่เมื่อพูดถึงดินแดงที่คนสนใจการเมืองจำนวนมากเรียกว่ารุนแรง แต่ภายในมือผู้คนเกินกว่าครึ่งมีสิ่งที่เหมือนกัน คือน้ำเกลือ ที่เอาไว้ล้างแก๊สจากเงินภาษีของประชาชนเอง 

และสิ่งที่จริงแท้ยิ่งกว่า คือผู้คนการชุมนุมดินแดงตอบโต้รัฐได้ไม่ถึงครึ่งกับชีวิตที่รัฐกระทำกับพวกเราเลยด้วยซ้ำ 

ผู้เขียนยังจำได้ดีถึงภาพที่ปรากฏตรงหน้า ในสถานการณ์ที่กระป๋องโลหะซึ่งพวยพุ่งด้วยควันสีขาว ทำให้แสบตาและจมูก ตกลงตรงกลางวงของผู้ชุมนุมที่ร่วมกันดับแก๊สน้ำตาลูกก่อนหน้า วัยรุ่นคนนึงล้มลงทันทีจากการสูดเข้าไปเต็มปอดและไร้เครื่องป้องกัน สองเท้าที่สัญชาตญาณของมนุษย์ควรวิ่งจากภัยอันตรายที่อาจตามมา แต่สิ่งที่ทุกคนกระทำคือการแบกเพื่อนมนุษ์ที่ทรุดลงกับพื้น และวิ่งขอทางพลางคิดแผนการปฐมพยาบาล เสาะทางที่ไวที่สุด หรือแม้กระทั่งกวาดสายตารวดเร็วในการมองหาจุดที่แก๊สจะไม่ตกลงมาและไม่เป็นปลายลมเพื่อให้มีอากาศหายใจ 

ผู้คนบางส่วนปิดหน้ามิดชิด เราแทบไม่รู้ว่าใครเป็นใครในพื้นที่ตรงนั้น เรามีปฏิสัมพันธ์ผ่านการพูดเพียงไม่กี่นาทีต่อวัน ถึงการช่วยกันสอดส่องว่ามีสิ่งใดในพื้นที่ในวันนั้นสามารถมาเป็นเครื่องทุ่นแรงในการดับแก๊สหรือเปล่า เช่น ถังขยะจากร้านสะดวกซื้อที่มีแฟรนไชส์มากมายหลายสาขา หรือมีใครพกอุปกรณ์ป้องกันอะไร มีองค์ความรู้ทางด้านพื้นที่และวิธีการรับมือเจ้าหน้าที่รัฐอย่างไรบ้าง เราแลกเปลี่ยนกันสั้น ๆ ในทุกวันกับผู้คนที่เปลี่ยนหน้า

เราหลายคนเป็นบุคคลนิรนามต่อกัน แต่ทำไมเราถึงช่วยเหลือกันและกันได้อย่างราบรื่นโดยที่ไม่มีใครต้องออกคำสั่ง ทำไมกันนะ มันง่ายดายขนาดนั้นเลยหรอ? 

นี่คือคำถามที่ตัวผู้เขียนสงสัยมานาน และเป็นจุดที่ทำให้เริ่มศึกษาในคำว่า อนาธิปไตย 

ในดินแดงบางวันก็จบลงด้วยการนั่งพูดคุยกับผู้คนประปราย และรับรู้ได้ถึงความโกรธแค้นภายในใจของพวกเขา ต่อพิษเศรษฐกิจและสภาพสังคมในขณะนั้น ความเจ็บปวดที่ถูกเมินเฉยต่อรัฐ และสถาบันที่รัฐสร้างขึ้น ไม่สนใจใยดีหรือช่วยเหลืออะไรพวกเขาได้เลยแม้แต่น้อย หรือองค์การขบวนการเคลื่อนไหวก็ไม่ได้พูดแทนพวกเขาได้ และการออกมาสู้หนนี้เป็นหนทางที่อาจนำพาพวกเขาไปสู่ความหวัง ผู้คนที่มาในพื้นที่ตรงนี้ล้วนหลากหลายอย่างน่าเหลือเชื่อ 

แม้สถานการณ์ที่ผู้เขียนได้บรรยายไว้ข้างต้นนั้นจะเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ทำให้การทำงานและขยับร่างกายความคิดอัตโนมัตินั้นออกมาเกิดซึ่งความช่วยเหลือกันและกัน 

แต่เมื่อสถานการณ์ปกติ ชีวิตภายใต้แนวความคิดจะเป็นเช่นไร 

ถ้าหากพูดกันตามตรงก็เป็นเหมือนเช่นชีวิตปกติประจำวัน ใช้ชีวิตอย่างสามัญ 

แต่ปัญหาในชีวิตประจำวัน การต่อสู้และเรียกร้อง มันมักเกิดจากการที่รัฐเบียดเบียนชีวิตอันธรรมดาของพวกเราต่างหาก

 

ช่วยด้วย! ช่วยด้วยข้าพเจ้าคิดไม่ตกมาหลายวัน 

สิ่งหนึ่งที่สำคัญสำหรับแนวคิดอนาธิปไตย คือ การเป็นแนวระนาบที่เอื้อให้เกิดการร่วมมือช่วยเหลือเกื้อกูลกันโดยคงไว้ซึ่งความหลากหลาย 

เมื่อทุกคนมีความคิดและเหตุผลที่หลากหลาย แต่ละคนก็มีเรื่องราว ตัวตน และเหตุผล วิธีการคิดเป็นของตัวเอง ซึ่งหลาย ๆ ครั้ง เมื่อเราต้องอธิบายตัวตนในรูปแบบนี้จะถือว่าเป็นปัจเจกหรือไม่ 

แล้วความเป็นปัจเจกเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้เกิดความหลากหลายหรือเปล่า? 

แม้ความคิดขบวนการหัวก้าวหน้าฝ่ายซ้ายจำนวนมากพยายามโจมตีถึงพิษภัยของความเป็นปัจเจก ว่าทำให้ขบวนการจัดตั้งนั้นสั่นคลอน โดยเฉพาะเมื่อฝั่งเสรีนิยมได้ช่วงชิงคำว่าปัจเจกไว้อย่างเบ็ดเสร็จ อันหมายถึงการอยู่อย่างสันโดษ สนใจเพียงการเอาตนเป็นที่ตั้ง สนใจเพียงผลประโยชน์ส่วนตน โดยตัดขาดจากการรวมกลุ่มไว้เพียงการเชื่อมโยงกับโครงสร้างทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมทุนนิยมที่ชอบความเป็นปัจเจกเพื่อให้เกิดการแข่งขัน  

แนวความคิดอนาธิปไตย ผู้ต่อต้านการจัดตั้งองค์การ (Organization) แต่ยังสภาพการรวมกลุ่มรายย่อยในแนวระนาบแบบหลวม ๆ ไว้นั้น จึงเป็นเหมือนพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้คนที่ยังนิยมในความเป็นปัจเจก แต่เชื่อว่ามันก่อให้เกิดความหลากหลายที่คอยสอดประสานรับท่วงทำนองกันและกัน 

และบางทีก็อาจจะช่วงชิงความหมายของปัจเจกกลับคืนมาได้ในนามของผู้มีอัตตาณัติ ซึ่งไม่ไปเบียดเบียนชีวิตสามัญของผู้อื่น 

สิ่งที่ผู้เขียนขบคิดมากที่สุดนี้เป็นคำถามที่เกิดขึ้นภายใต้สภาวะการพยายามโจมตีแนวความคิดของหัวก้าวหน้าฝ่ายซ้ายด้วยกันเอง ที่มักจะกล่าวหากันอย่างรุนแรงว่าความคิดที่ต่างวิธีกันนั้น ไร้สาระและไร้เดียงสา หรือเสียขบวน จนบางครั้งตามมาด้วยความกลัวในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

ท้ายที่สุดแล้ว ปัจเจกไม่ได้มีความหมายเพียงหนึ่ง ในสภาพการณ์ที่เราต่างมีเสรีภาพทางความคิดความเห็น การหาหนทางความเป็นไปได้ในการสร้างสังคมที่เป็นธรรม เท่าเทียม และไร้ซึ่งการกดขี่ ขูดรีด ความเป็นปัจเจกจึงไม่ได้เป็นอุปสรรคกีดกันการเคลื่อนไหว และบางครั้งการเสาะหาทางออกที่จริงแท้เพียงแค่หนึ่งภายใต้โลกที่กว้างใหญ่ อาจกำลังทำให้ลืมเรื่องราวของมนุษย์ผู้อื่นที่โดนกดขี่เช่นกัน

ความหลากหลายของขบวนการต่อสู้นับว่าเป็นสิ่งที่จำเป็น เมื่อทุนนิยมกำลังเติบโตฉลาดและรุกคืบไปไกลเกินเรา

Playread: อนาธิปไตย? โคตรใช่เลย!
ผู้เขียน: James C. Scott
แปล: นพรุจ ศรีรัตน์สิริกุล
บรรณาธิการแปล: อนวัช อรรถจินดา
สำนักพิมพ์: สำนักนิสิตสามย่าน

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี