แด่หลานม่า - ด้วยรักและผุพัง - Decode
Reading Time: 3 minutes

(Un) popular opinion

โตมร ศุขปรีชา

ภาพยนตร์อย่าง ‘หลานม่า’ ชวนให้นึกถึงหนังสือรวมเรื่องสั้นที่เพิ่งได้รับรางวัลซีไรต์ไปเมื่อปีที่แล้ว คือ ‘ด้วยรักและผุพัง’ อย่างน่าประหลาด

‘หลานม่า’ กับ ‘ด้วยรักและผุพัง’ มีแก่นแกนใจกลางเดียวกัน นั่นคือการบอกเล่าถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘ครอบครัวชาวจีน’ (Chinese Family) ที่มีลักษณะเฉพาะตัวหลายอย่าง

ที่จริงแล้ว เรื่อง ‘จีน ๆ’ เป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวางในไทยมาหลายสิบปีแล้ว หมุดหมายทางวรรณกรรมเล่มแรก ๆ ที่พูดถึง ‘ปัญหาครอบครัว’ ของชาวจีน ก็คือนิยายอย่าง ‘จดหมายจากเมืองไทย’ ของโบตั๋น ที่เล่าถึงชีวิตของตันส่วงอู๋ ผู้อพยพชาวจีนที่มาอยู่ไทย จึงเผชิญหน้ากับการปะทะสังสรรค์ทางวัฒนธรรมใหม่ ๆ และให้มุมมองแยบคายต่อวิถีชีวิตของคนไทย แฝงการวิพากษ์ทั้งสังคมจีนและไทยเอาไว้อย่างแนบเนียน

ต่อมายังมีนิยายเกี่ยวกับชีวิตครอบครัวชาวจีนอีกหลายเรื่อง ที่โด่งดังมีอาทิ ‘ลอดลายมังกร’ ของประภัสสร เสวิกุล หรือ ‘มงกุฎดอกส้ม’ โดยถ่ายเถา สุจริตกุล ไม่นับรวมงานแนว Non-Fiction โดยผู้เขียนที่ศึกษาสังคมจีนอีกหลายท่าน เช่น อ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล, อ.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ หรือสมชาย จิว ซึ่งให้มุมมองหลากหลายต่อความเป็นจีนในไทยทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ การศึกษาและผลิต ‘เรื่องเล่า’ เกี่ยวกับชาวจีนในประเทศไทยนั้นสืบเนื่องยาวนานเรื่อยมา ซึ่งในแง่หนึ่งก็ทำให้คนจำนวนมากรู้สึกว่า ‘เรื่องจีน ๆ’ เป็นเรื่องของคนรุ่นก่อนที่จะคิดหรือวิพากษ์ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า งานที่ว่ามาข้างต้นส่วนใหญ่เป็นมุมมองของคนรุ่นก่อนเจเนอเรชั่น Y แทบทั้งนั้น

ดังนั้นเมื่อเกิดภาพของ ‘หลานม่า’ และ ‘ด้วยรักและผุพัง’ ขึ้นมาในระยะเวลาใกล้เคียงกัน (แม้จะคนละปี พ.ศ.) จึงเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะมันคือการวิพากษ์ ‘ความเป็นจีน’ ด้วยสายตาของคนรุ่นใหม่อย่างแท้จริง

ต้องยอมรับกันก่อนนะครับ ว่า ‘ครอบครัวจีน’ มีลักษณะเฉพาะหลายอย่างที่แตกต่างไปจากครอบครัวตะวันตกหรือแม้กระทั่งครอบครัวไทย โดยอย่างแรกสุดที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ก็คือ ครอบครัวจีนเป็นแหล่งที่มาของการปลูกฝัง ‘ระบบปิตาธิปไตย’ (Patriarchy) อย่างแข็งแรงมาก เพราะคนจีนถือว่าผู้ชายเป็นใหญ่ในบ้าน เป็นผู้มีอำนาจควบคุม ‘กงสี’ มากกว่าผู้หญิง ผู้หญิงจึงมีสถานะต่ำกว่าผู้ชาย ต้องเชื่อฟังและพึ่งพาผู้ชายเสมอ ถ้าเลือกได้ พ่อแม่จะเลือกมีลูกเป็นชายมากกว่าเป็นหญิง และมักดูและเอาใจใส่ลูกที่เป็นชายมากกว่าเสมอ

เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นที่สังคมแบบครอบครัวจีนถูกวิจารณ์หรือ ‘ถูกโต้กลับ’ (Backlash) มากที่สุด เป็นประเด็นที่มีผู้วิพากษ์เอาไว้มากมาย อย่างในนิยายที่ว่ามาข้างต้น ตั้งแต่ ‘จดหมายจากเมืองไทย’ จนถึง ‘มงกุฎดอกส้ม’ ก็พูดถึงประเด็นความไม่เท่าเทียมของหญิงชายในครอบครัวจีนเอาไว้ทั้งสิ้น

เมื่อไม่กี่ปีก่อน หลายคนน่าจะยังจำคำพูดว่า “เฮงซวย!” ที่หลุดหล่นจากปากของตัวละครที่คัทลียา แมคอินทอช แสดงไว้ในซีรีส์เรื่อง ‘เลือดข้นคนจาง’ ได้เป็นอย่างดี คำพูดนี้ไม่ได้เป็นแค่การต่อว่าพี่ชายเท่านั้น แต่ยังคือการวิพากษ์ ‘ระบบคิด’ แบบชายเป็นใหญ่ในครอบครัวจีนทั้งระบบด้วยว่าเป็นเรื่องที่ใช้ไม่ได้ ที่เสียดเย้ยมากก็คือเป็นการ ‘ด่า’ ด้วยคำภาษาจีนเอง

เราจะเห็นว่า ใน ‘หลานม่า’ และ ‘ด้วยรักและผุพัง’ ก็สืบเนื่องแนวคิดวิพากษ์ระบบชายเป็นใหญ่เอาไว้หลายประเด็นเช่นเดียวกัน เพราะนี่คือ ‘ลักษณะเด่น’ ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด และเป็นลักษณะเด่นที่ ‘เข้า’ กับสังคมสมัยใหม่ที่ให้ความสำคัญกับความเสมอภาคทางเพศและสิทธิมนุษยชนไม่ได้จริง ๆ

ความที่ระบบชายเป็นใหญ่แข็งแรงมาก ดังนั้นครอบครัวชาวจีนจึงให้ความสำคัญกับ ‘ทายาทชาย’ (Male Heir) มาก การมีลูกชายสืบสกุลถือเป็นเรื่องสำคัญ ใครมีแต่ลูกสาวถือว่าล้มเหลว ต้องพยายามมีลูกชายให้ได้ เพราะเชื่อว่ามีแต่ผู้ชายเท่านั้นที่จะดูแลพ่อแม่ยามแก่และสืบทอดวงศ์ตระกูลได้ ซึ่งก็พิสูจน์แล้วว่าเป็นความเชื่อที่ไม่จริงเสมอไปในสังคมสมัยใหม่

นอกจากนี้ ครอบครัวจีนแบบดั้งเดิมยังให้ความสำคัญกับการเป็นครอบครัวขยาย (Extended Family) คือในแต่ละบ้านอยู่รวมกันหลายรุ่น หลายครอบครัวย่อย ทั้งปู่ย่าตายาย พ่อแม่ ลูกหลาน พี่น้อง ญาติพี่น้อง ทุกคนมาอยู่ใต้ชายคาเดียวกัน แต่ครอบครัวชาวจีนแบบดั้งเดิมไม่ได้เป็นครอบครัวขยายธรรมดา ๆ นะครับ เพราะครอบครัวแบบนี้จะมี ‘ใจกลาง’ สำคัญเป็น ‘ระบบกงสี’ หรือการรวมกลุ่มของคนที่มี ‘แซ่’ เดียวกัน

กงสีไม่ได้ทำแค่อยู่ร่วมรั้วบ้านเดียวกันเท่านั้น แต่ยังมีความสัมพันธ์ลึกลงไปถึงระบบธุรกิจของครอบครัวด้วย สมาชิกกงสีมีหน้าที่ช่วยเหลือกันและกันทั้งด้านการเงิน การงาน ที่อยู่อาศัย การศึกษา จึงมีผู้วิพากษ์ว่า โดยเนื้อแท้แล้ว ระบบกงสีก็คือวิธีคิดแบบเอื้อพวกพ้อง (Nepotism) แบบหนึ่ง

หลายคนอาจมองลัทธิเอื้อพวกพ้องหรือ Nepotism ในแง่ร้าย แต่ครอบครัวชาวจีนดั้งเดิมเห็นว่าระบบกงสีเป็นเรื่องจำเป็น และมีโครงสร้างทางวัฒนธรรมและระบบจริยศาสตร์ (แบบขงจื๊อ) มาทำงานร่วมกันสร้างโครงสร้างอำนาจมาเกื้อหนุนระบบกงสีจนกลายเป็นระบบที่ชอบธรรม ทั้งยังใช้บริหารครอบครัวขยายที่มีขนาดใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ระบบกงสีนั้น โดยมากมีลักษณะรวมศูนย์อำนาจค่อนข้างสูง โดยอำนาจที่เป็นพื้นฐานที่สุดก็คืออำนาจจากระบบชายเป็นใหญ่ หากกงสีหนึ่ง ๆ ประสบความสำเร็จทางธุรกิจด้วย ก็จะมีอำนาจทางเศรษฐกิจมาเป็นฐานรองรับอีกชั้นหนึ่ง ทำให้การรวมศูนย์ทางอำนาจของกงสีแข็งแกร่งมากขึ้นเรื่อย ๆ ก่อให้เกิด ‘การควบคุมทางสังคม’ ของสมาชิกกงสีที่แข็งแรงมาก

การควบคุมสมาชิกกงสี (หรือสมาชิกในครอบครัว) นั้น มีผู้วิเคราะห์ว่ามาจากแรงขับใหญ่ ๆ สองเรื่อง เรื่องแรกก็คือ ‘ความกตัญญู’ ซึ่งมาจากระบบจริยศาสตร์แบบขงจื๊อที่สอนว่า ลูกต้องเคารพเชื่อฟังพ่อแม่อย่างเคร่งครัด ต้องดูแลพ่อแม่ยามแก่เฒ่าไม่ว่าตัวเองจะต้องลำบากแค่ไหนก็ตาม เพราะนี่คือเป็นหน้าที่สำคัญสูงสุด

ที่น่าสนใจก็คือ บ่อยครั้งคุณธรรมกตัญญูถูกนำมาใช้เป็น ‘กับดักทางอำนาจ’ เพื่อควบคุมสมาชิกในครอบครัวหรือสมาชิกกงสีให้ทำตามความต้องการของผู้นำสูงสุด แม้ว่าความต้องการนั้นอาจไม่ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคมก็ตามที เราจะเห็นว่าใน ‘หลานม่า’ เรื่องของความกตัญญูถูกหยิบยกมาใช้เป็นกลไกสำคัญในการขับดันพล็อตเรื่องด้วย โดยตัวละครบางตัวใช้ ‘ภาพความกตัญญู’ เป็นตัวตัดสินความชอบธรรมที่จะได้รับผลประโยชน์ในรูปของการรับสืบทอดมรดก

อีกแรงขับหนึ่งที่พบได้บ่อยหนมากก็คือ ‘การรักษาหน้า’ ครอบครัวชาวจีนถือว่าชื่อเสียงและ ‘เกียรติยศ’ ของครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าสมาชิกคนไหนทำผิด ความผิดนั้นไม่ได้เกิดขึ้นแก่ตัวเองแบบ ‘เฉพาะตัว’ เท่านั้น แต่จะนำความอับอายเสื่อมเสียมาให้ถึง ‘วงศ์ตระกูล’ ในภาพรวมเลย ซึ่งอาจส่งผลสะเทือนไปถึงการทำธุรกิจและเม็ดเงินรายได้ของกงสีหรือครอบครัว อันเป็นอีกหัวใจหนึ่งที่สำคัญมากของครอบครัวชาวจีนได้ด้วย

แม้ปัจจุบันครอบครัวจีนสมัยใหม่จะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่ลักษณะหลายอย่างก็ยัง ‘ฝังลึก’ อยู่ในสำนึก และวิถีปฏิบัติอยู่ เช่น ยังมีการกดขี่และเหยียดหยามผู้หญิง (ในรูปของลูกสาว) อยู่ไม่น้อย หรือการให้ความสำคัญกับ ‘เงินทอง’ (เรื่องนี้ถูกนำมาล้อเสียดเอาไว้ใน ‘ด้วยรักและผุพัง’ หลายครั้ง) โดยพ่อแม่มักคาดหวังให้ลูกได้เรียนสูง ๆ ได้เงินเดือนดี ๆ และชอบเปรียบเทียบลูกของตัวเองกับลูกของคนอื่น ๆ จึงสร้างแรงกดดันให้คนรุ่นใหม่มาก

อีกความขัดแย้งหนึ่งที่ยังคงยืนหยัดท้าทายกาลเวลา และใน ‘หลานม่า’ ก็พูดถึงเอาไว้ด้วย (แม้จะอย่างเบาบาง) ก็คือความขัดแย้งระหว่าง ‘แม่ผัว’ กับ ‘ลูกสะใภ้’ เนื่องจากค่านิยมจีนยึดถือว่าลูกสะใภ้ต้องยอมและเชื่อฟังแม่ผัว ต้องเป็นฝ่ายทำงานบ้านทุกอย่าง จึงมักเป็นฝ่ายถูกจับผิด จนเกิดปัญหาในความสัมพันธ์

หลายคนอาจสงสัยว่า ถ้า ‘ครอบครัวจีน’ มีลักษณะอย่างที่ว่ามา แล้วครอบครัวจีนจะเดินหน้าต่อไปในอนาคตท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนไปอย่างไร

เรื่องนี้มีคำตอบที่น่าสนใจอยู่ในหนังสือเล่มสำคัญที่วิพากษ์ ‘ครอบครัวจีน’ ในศตวรรษที่ 21 เล่มหนึ่ง หนังสือเล่มนั้นชื่อ Transforming Patriarchy: Chinese Families in the Twenty-First Century โดย Gonçalo Santos และ Stevan Harrell

หนังสือเล่มนี้ ‘ตีตรง’ ไปที่ ‘ราก’ ทางอำนาจในครอบครัวจีน นั่นคือเรื่องของระบบชายเป็นใหญ่หรือปิตาธิปไตย โดยบอกว่าความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในโลก ได้รุมเร้าเข้าไปโจมตีการให้คุณค่าแบบนี้ในสังคมจีน ระบบปิตาธิปไตยในจีนจึงเริ่มเปลี่ยนแปลงไป เพราะสถานภาพของระบบปิตาธิปไตยไม่ได้มั่นคงสถาพรเหมือนแต่ก่อนแล้ว แต่มีวิธีคิดใหม่ ๆ เข้ามา ‘ลงสนาม’ ร่วมปะทะสังสรรค์ (Interplay) ด้วยหลากหลาย ตั้งแต่การให้คุณค่าแบบใหม่ ๆ วัฒนธรรมแบบใหม่ ๆ ที่เกิดจากการเปลี่ยนผ่านเชิงเศรษฐกิจและสังคม (Social-Economic Transformations) ไปจนกระทั่งถึง ‘นโยบายของรัฐ’ ที่เปลี่ยนไป เช่นนโยบายลูกคนเดียว (One-Child Policy) ของจีน อันเป็นนโยบายที่ ‘ตีตรง’ ไปยังลักษณะครอบครัวขยายอันเป็นลักษณะสำคัญของครอบครัวแบบจีนเลย

นอกจากนี้ บทบาทของผู้ใหญ่แบบใหม่ ๆ ก็หลากหลายมากขึ้น ผู้หญิงไม่ได้เป็นแค่แม่และเมียหรือเป็นช้างเท้าหลังอีกต่อไป ทว่ามี ‘อำนาจ’ ในการต่อสู้ต่อรองมากขึ้น ทั้งในพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ส่วนตัว เมื่อความสัมพันธ์เชิงอำนาจเปลี่ยนไป ก็เกิดช่องว่างให้วิธีคิดและค่านิยมใหม่ ๆ แทรกซึมเข้ามาตามรอยต่ออำนาจ เกิดความสัมพันธ์ระหว่างเจเนอเรชั่นที่ไม่เหมือนเดิม ความกตัญญูอาจยังคงอยู่ แต่ก็ไม่ได้แข็งแกร่งเป็นแกนกลางความสัมพันธ์เท่าเดิม เกิดครอบครัวรูปแบบใหม่ ๆ เช่น ครอบครัวเดี่ยว (Nuclear Family) หรือครอบครัวของความสัมพันธ์อื่น ๆ เช่น คู่รักเพศเดียวกัน

หนังสือเล่มนี้ศึกษาวิธีต่อรองความขัดแย้งในครอบครัวจีนสมัยใหม่ในหลายมิติ เพราะไม่ว่าจะเป็นคนจีนรุ่นเก่าหรือรุ่นใหม่ เมื่อเกิดมาเป็นครอบครัวเดียวกันและต้องอยู่ร่วมกันแล้ว หากไม่มีใครคิดจะย้ายออกไป ก็ต้อง ‘หาวิธี’ ที่จะอยู่ร่วมกันให้ได้

‘หลานม่า’ และ ‘ด้วยรักและผุพัง’ คือการส่งเสียงร้องจากคนอีกเจเนอเรชั่นหนึ่ง คนกลุ่มที่มองเห็นชัด ๆ ว่าโลกเปลี่ยนไปแล้ว และเป็นพวกเขานี่แหละที่จะต้องอยู่กับอนาคตต่อไปอีกยาวนาน ขอให้พวกเขาสามารถ ‘เลือก’ ที่จะมีชีวิตในแบบที่พวกเขาต้องการโดยไม่ต้องยึดติดอยู่กับร่องรอยความคิดในประวัติศาสตร์ได้ไหม

ขอบคุณภาพบางส่วนจาก Official Trailer ภาพยนตร์หลานม่า (LAHN MAH)