ห้ามบุกรุก! เมื่อหาดถูกทําให้เป็นเรื่องของรัฐและกม. ทวนนิยาม 'ชายหาด' แล้วใครกันคือเจ้าของ - Decode
Reading Time: 3 minutes

ที่ดินแปลงนี้เป็นทรัพย์สินส่วนบุคคล ห้ามผู้ใดเข้ามาบุกรุกทำลาย ครอบครอง หรือใช้ประโยชน์ ผู้ใดฝ่าฝืนจะถูกดำเนินการตามกฎหมาย

คือข้อความที่เรามักเห็นอยู่บ่อย ๆ ตามรั้วพื้นที่ส่วนบุคคล และข้อความเดียวกันนี้เองก็ปรากฏอยู่บนป้ายตามริมหาด ซึ่งมักลงรายละเอียดถึงเลขที่เอกสารสิทธิ์ และเลขที่ดินอย่างชัดเจน จนทำให้คำถามล้านคำถามเก่าวนกลับมาอีกครั้ง คำถามที่ว่า แท้จริงแล้ว ‘ชายหาดเป็นของใคร’

ก. นายทุน-คนมีเงิน

ข. เจ้าของโรงแรม-รีสอร์ทหรู

ค. หน่วยงานรัฐ

ง. ประชาชน

เมื่อชายหาดสาธารณะถูกครอบครองโดยเอกชน บ้างผ่านการออกเอกสารสิทธิ์ บ้างปิดกั้นทางสาธารณะ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะบนเกาะภูเก็ตเท่านั้นแต่รวมไปถึงอีกหลายหาด กินพื้นที่เป็นแนวยาวหลายกิโลเมตร De/code ชวนหาคำตอบต่อคำถามนี้ไปพร้อมกันอีกครั้ง หลังเหตุการณ์ชาวต่างชาติเข้าทำร้ายร่างกาย พญ.ธารดาว จันทร์ดำ ที่แหลมยามู ตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ในวงเสวนา ‘ไม่มีใครเป็นเจ้าของชายหาด แต่…’

จากหาดสู่ถนน กัดเซาะสู่ทะเล แต่กลายเป็นสิ่งปลูกสร้าง

“หาดถูกทําให้เป็นเรื่องของภาครัฐกับคนที่ไปบุกรุก หรือว่าคนที่อ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดิน คนอื่นห้ามพูดมาตลอด ใครพูดฉันจะฟ้องมาตลอด”

วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี กลุ่มรักษ์อ่าวปากบารา เลขาธิการองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.

ใต้) รีวิวสถานการณ์ ‘ภูเก็ต ถึงปากบารา ชายหาด เป็น ของใคร ?’ หลังพื้นที่ชายหาดอื่น ๆ ก็มีลักษณะข้อพิพาทเดียวกัน เช่น หาดปากบารา จังหวัดสตูล และหาดแหลมกลัด จังหวัดตราด โดยวิโชคศักดิ์เล่าว่า ในฐานะคนสตูลที่ใช้ชีวิตอยู่กับหาดเสมอมา เขาเห็นการเปลี่ยนแปลงมากมาย ช่วงหนึ่งมีโครงการขยายถนนจาก 2 เลนเป็น 4 เลน แต่ความเดือดร้อนจะเห็นได้ชัดที่สุดในฤดูมรสุมที่น้ำทะเลขึ้นสูงจนถนนขาด รัฐบาลจึงเลยมาเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างถนนตรง ต่อด้วยลานสาธารณะราคา 18 ล้าน

“ตั้งแต่ผมเกิด จนผมอายุย่าง 49 ไม่เคยเห็นคนมาแสดงความเป็นเจ้าของ คนสตูลก็รู้อยู่แล้วว่าตรงนี้เป็นพื้นที่สาธารณะ” ต่อมาเมื่อราวปี พ.ศ. 2550 ก็มีการมาวัด ปักธง ฝังเสา ก่อนขึ้นป้ายตัวอักษรสีแดงสุดคุ้นตาว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ของเอกชน ห้ามผู้ใดบุกรุก ในวันถัดมา กลุ่มชาวบ้านจึงรวมตัวกันไปร้องว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร และพบว่าที่แปลงดังกล่าวที่มีการปักป้ายนั้นมาจากการกระทำโดยชอบ เนื่องจากเจ้าของที่นั้นเป็นทายาทที่ส่งมอบเอกสารต่อกันและกัน

จากหาดสู่ถนน กัดเซาะกลับสู่ทะเล จบลงที่สิ่งปลูกสร้าง ปากบารานี่คือตัวอย่างของเคส ที่ดินตกน้ำ แต่ยังคงมีการอ้างสิทธิ์เป็นเจ้าของจากที่ดิน น.ส.3 (หนังสือรับรองว่าได้ทำประโยชน์ในที่ดินแล้ว ทว่ามีเพียงสิทธิครอบครอง) สู่ น.ส.3 ก (หนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดิน อนาคตสามารถออกเป็นโฉนด ซื้อ ขาย จำนองได้) จนถึงทุกวันนี้

มากกว่าพื้นที่ทางกายภาพ คือตัวตนของคนท้องถิ่น

“มีการเอาพื้นที่สาธารณะมาเป็นพื้นที่ส่วนตัวรอบเกาะภูเก็ต แต่ว่ากรณีคุณหมอเป็นการเปิดประเด็นให้สังคมได้รับรู้ แรงกระเพื่อมจากสังคมจะนํามาสู่การพูดถึงการปฏิบัติการจากคนท้องถิ่น” พิเชษฐ์ ปานดำ กลุ่มคนท้องถิ่นดั้งเดิมภูเก็ต กล่าว ก่อนเล่าว่า โดยปกติแล้วชาวบ้านไม่สามารถที่จะลงพื้นที่หาดได้ แต่แรงกระเพื่อมจะนำมาสู่การเคลื่อนไหวที่จะส่งผลไปไปสู่หาดอื่น ๆ ด้วย

พิเชษฐ์ระบุว่า หาดไม่สามารถแยกขาดกับการท่องเที่ยว ที่ถือเป็นการพัฒนาหลักของภูเก็ต ซึ่งมีความสําคัญต่อปากท้องคนท้องถิ่น ทว่าปัจจุบัน จินตนาการเมืองท่องเที่ยวในแบบที่คนภูเก็ตอยากเห็นกลับไม่เกิดขึ้นจริง ชายหาดที่เคยเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมกินข้าวห่อ พื้นที่สานต่อประเพณีเดือนเต่าที่ยกระดับขึ้นความเชื่อเดิม ๆ เป็นประเพณีร่วมของคนภูเก็ตนับหมื่นไปรับลมหนาว และพื้นที่การท่องเที่ยวโลกนี้กำลังถูกปิดกั้นไปจากการทำให้สถานที่สาธารณะกลายเป็นพื้นที่ส่วนตัว

“พื้นที่แบบนี้จะถูกปิด กั้นคนออกไปโดยปริยาย ในแง่กฎหมายชายหาดเป็นสาธารณะ แต่คนเข้าถึงยากมาก” อีกด้านหนึ่งพิเชษฐ์ห่วงไม่แพ้กันหากหาดสาธารณะจะเลือนหายไป คือการตัดขาดประวัติศาสตร์ของชุมชนออกจากตัวพื้นที่ โดยแต่เดิมหาดและแหลมต่าง ๆ จะมีชื่อเรียกแบบบ้าน ๆ ที่มีการใช้ประโยชน์แบบชาวประมง มักถูกเปลี่ยนชื่อไปในนามของกิจกรรมการท่องเที่ยวหรือสิ่งก่อสร้างใหม่นั้นแทน 

นอกจากนี้เมื่อหาดหายไป ความตึงเครียดของคนในพื้นที่ก็มากขึ้น คนท้องถิ่นถูกบังคับให้เกาะเกี่ยวกับระบบของการท่องเที่ยวที่ต้องขับเคลื่อนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ทำงานในระดับฟันเฟืองล่างสุด ไม่ว่าจะเป็นแรงงานราคาถูก คนขับรถตุ๊กตุ๊ก ขับแท็กซี่ ที่มักถูกมองว่าเอาเปรียบนักท่องเที่ยวอีก 

ความตึงเครียดในลักษณะของตัวเองที่ไปก่อเกี่ยวอยู่ล่างสุดของตัวระบบการท่องเที่ยว

“หาดเป็นพื้นที่หนึ่งที่ทำให้เราได้ทบทวนตัวเองรีว่า ‘เฮ้ย ยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่า’ ได้เคลื่อนไหวอย่างอิสระ เป็นพ่อ เป็นแม่ของลูกอย่างสมภาคภูมิ ในเวลาพักผ่อนหาดจึงเป็นคล้ายวาล์วที่ทําให้ระบบนี้ดำเนินไป แต่การสูญเสียพื้นที่สาธารณะแบบนี้ ก็ยิ่งทําให้ความตึงเครียด

“ผมได้ตามไปสองสามหาดที่เขานัดกันในโซเชียล สิ่งที่ผมเจอก็คือมีผู้สูงอายุหลายคนมา หลายคนพูดถึงเดือนเต่า (…) สิ่งที่สะท้อนผ่านปรากฏการณ์ของหมอธารดาว ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องการเรียกร้องความท้องถิ่นกลับคืนมา มากกว่าเรื่องของตัวพื้นที่ทางหาดหรือพื้นที่ที่เคลื่อนไหวทางกายภาพ”

หาดวันนี้ มีแต่เข้าไม่ได้ – ไม่เคยมีกลับผุดใหม่

ต่อมา พูลศรี จันทร์คลี่ ผู้อำนวยการส่วนแผนบริหารจัดการพื้นที่ชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวเปิดวงคุย “ไม่มีใครเป็นเจ้าของชายหาด แต่…” จากมุมมองของภาครัฐว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้ความสําคัญกับการเข้าถึงชายหาด อธิบดีเองก็ได้มีการสั่งการให้หน่วยงานในพื้นที่ ตลอดจนฝ่ายสารสนเทศ และกองอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งได้สํารวจการเข้าถึงชายฝั่ง โดยได้สํารวจชายฝั่งทั้งสิ้น 1,248 หาด ที่มีระยะทางทั้งหมด 1,635 กิโลเมตร ปัจจุบันสํารวจไปแล้วจํานวน 874 หาด โดยมีหลักเกณฑ์พร้อมการให้คะแนนการเข้าถึงชายหาดระยะ 800 เมตร/จุด แบ่งเป็น

0 คะแนน รอการสำรวจ

1 คะแนน ไม่มีทางเข้า เช่น แหลมเล อ่าวบน หาดในอ่าว และหาดปากคลอง จังหวัดพังงา

2 คะแนน เข้าได้มากกว่า 800 เมตร/จุด เช่น หาดบ้านชายทะเล จังหวัดนครศรีธรรมราช

3 คะแนน เข้าได้ 800 เมตร/จุด เช่น หาดคลองบ่วง จังหวัดกระบี่

4 คะแนน เข้าได้สะดวกบางช่วง เช่น แหลมตาชี และหาดตะโละสะมิแล จังหวัดปัตตานี

และ 5 คะแนนเข้าได้สะดวกตลอดแนว เช่น หาดสทิงพระและหาดมหาราช จังหวัดสงขลา

โดยพูลศรีระบุว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นหน่วยงานวิชาการที่สนับสนุนข้อมูลทางวิชาการ ที่สามารถนำไปปรับปรุงเชิงนโยบายต่อไป ดังนั้นหากเจอกรณีพิพาทเรื่องกรรมสิทธิ์อย่างกรณีปากบารา กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งสามารถสนับสนุนข้อมูลแผนที่ให้หน่วยงานที่เป็นเจ้าของที่ออกเอกสารสิทธิ์ดําเนินต่อไปได้ 

ด้าน ผศ.ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ จึงกล่าวต่อว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมีอํานาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 และมีผลงานการเพิกถอนโฉนด หากมีการออกโฉนดโดยไม่ชอบอยู่หลายที่ ไม่ใช่เพียงคอยดูแลทางวิชาการเท่านั้น

เคสปากบารานั้นแบ่งออกเป็นสองกรณี กรณีหนึ่งคือพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่สาธารณะสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ อีกกรณีคือการก่อสร้าง ซึ่งผศ.ดร. ปริญญาไม่ทราบว่าการก่อสร้างได้มีการขออนุญาตใครหรือไม่ เพราะถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายหากลงรื้อถอน เจ้าหน้าที่ก็ต้องรื้อถอน แล้วไปเก็บเงินกับเจ้าของที่ โดยต้องแยกกันว่า

‘ต่อให้มีเอกสารสิทธิ์ ต่อให้ถูกต้องตามกฎหมาย การก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้นต้องให้รื้อถอน’

นอกจากนี้อีกหนึ่งสิ่งที่ต้องคำนึงคือการทบทวนว่า นิยามของคำว่า ชายหาด คืออะไร โดยผศ.ดร. ปริญญา ระบุว่า มาตรา 1304 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นิยามคำว่า ที่สาธารณะสมบัติแผ่นดินไม่มีคําว่าชายหาดอยู่ในนั้น แต่ใช้ถ้อยคําตามกฎหมายคือพื้นที่ชายตลิ่งทางน้ำเป็นสาธารณะสมบัติแผ่นดิน ซึ่งตามประมวลกฎหมายที่ดินต้องห้ามออกโฉนด ถ้ามีการออกโฉนดไปก็ต้องเพิกถอน

ในขณะที่ อธิวัฒน์ เส้งคุ่ย มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน/เครือข่ายทวงคืนชายหาด มองว่า เคสปากบาราไม่ใช่เรื่องยาก เพราะปัญหาล้วนย้อนกลับไปที่เจ้าหน้าที่รัฐ เรื่องการรังวัดและชี้รับรองแนวเขตที่มีความคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงตามหนังสือของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ได้มีการแปรภาพถ่ายทางอากาศซึ่งพบข้อเท็จจริงว่าเป็นชายหาดมาแล้ว 47 ปี และเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ที่ทุกคนใช้ร่วมกันมานาน

“คําถามก็เลยกลับไปที่สํานักงานที่ดินว่า ในตอนที่ออกเนี่ย ออกได้ง่าย จรดปากกาง่าย แต่พอตอนที่จะเพิกถอนด้วยอํานาจของตนเอง ถามว่ามีไหม ผมว่ามีครับ ก็ออกได้ ก็เพิกถอนได้ ไม่ใช่เรื่องผิด”

ดังนั้นปลายทางกรณีปากบาราจึงอยู่ที่ว่าสํานักงานที่ดินจะดำเนินการต่ออย่างไร เพราะในภาคประชาชนไม่มีอํานาจอะไรจึงร้องเรียนกันมา และท้ายที่สุดหากไม่เพิกถอน ประชาชนซึ่งไม่มีต้นทุนเลย ก็อาจจะต้องไปใช้สิทธิร้องกรรมาธิการให้มีการเสนอแนะ หรือถึงขั้นใช้ทุกอย่างหมด แล้วอาจจะต้องพึ่งมือศาลในตอนท้ายก็เป็นได้หากไม่มีความคืบหน้า ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นต้นทุนที่ประชาชนต้องจ่ายเองทั้งสิ้น

นอกจากนี้อีกประเด็นที่มีการถกเถียงนั่นก็คือ ‘หาดงอก’ กล่าวคือพื้นที่เดิมอยู่ใต้น้ำ แต่มีการก่อสร้างจนเกิดพื้นที่หาดใหม่ขึ้น ซึ่งไม่ถือเป็นการงอกโดยธรรมชาติ ในมุมมองของอธิวัฒน์มองว่า พื้นที่ดังกล่าวออกเอกสารสิทธิ์ไม่ได้ และต้องตกเป็นที่ดินของรัฐ “ต้องไปดูว่าเจ้าของเดิมเป็นใคร กรมหรือหน่วยงานไหน ซึ่งถ้าเป็นเอกชน ไปร้องขอออกโฉนดเพิ่มอันนี้ไม่ได้ เพราะว่ามันเป็นการงอกโดยผิดธรรมชาติ”

“ถ้ารัฐฉ้อฉล ปัญหาเลยเกิด”

ธิวัชร์ ดำแก้ว ที่ปรึกษากรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คนสงขลาแต่กำเนิด กล่าวว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับชายหาดนั้นมีความสลับซับซ้อนเป็นอย่างมาก ทว่ากฎหมายกลับไม่รับรองอํานาจของประชาชนไว้ โดยก่อนหน้านี้มีเรื่องร้องเรียนจากหลายพื้นที่ เช่น ชาวบ้านถูกนายทุนที่มีโฉนดอยู่ริมชายหาดฟ้องร้องเพราะที่ดินบังวิว และต้องการขับไล่ชาวบ้าน ที่หากมองมุมกลับ แม้ชาวบ้านจะใช้วิถีชีวิตตามหลักวิธีดั้งเดิม แต่เมื่อคนไปซื้อโฉนดที่ดินอยู่บนฝั่งก็พยายามที่จะใช้กฎหมายที่ปกป้องที่สาธารณะไปปกป้องพื้นที่ส่วนตัว

“การออกแบบของกฎหมายของประเทศไทย ไม่ใช่แค่ชายหาด ตั้งอยู่บนฐานความคิดของทฤษฎี Tragedy of Common หมายถึงโศกนาฏกรรมของทรัพย์สินส่วนรวม ถ้ามันเป็นของส่วนรวม ทุกคนเข้าไปใช้ประโยชน์มั่วไปหมด มันจะเสื่อมโทรมลง มันจะพังลง แต่ผมไม่เชื่อว่ามันจริง”

ที่สาธารณะของไทยพึ่งพิงกฎหมายของรัฐ แต่คนที่ไม่ได้อยู่ในสมการการดูแลที่สาธารณะคือรัฐ คราวนี้กฎหมายมันไม่รับรองอํานาจของประชาชนไว้ การมีส่วนร่วมในการไปดูอะไรที่สาธารณะ การดูแลที่สาธารณะมีกฎหมาย มีข้อจํากัดเก่าโบราณ ในกฎหมายที่ดินเขาพูดถึงสิทธิของกรรมสิทธิ์เอกชนหมดเลย แต่ไม่มีหน้าที่ใดในกฎหมายที่บอกเขาว่าต้องเว้นทางสาธารณะ”

นอกจากนี้ ธิวัชร์ ยังระบุว่า หากใช้ประมวลกฎหมายที่ดินมาแก้ปัญหาทางลงหาดสาธารณะ จะพบว่ามีการไปฟ้องตามประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ ซึ่งคนที่เป็นชาวบ้านและประชาสังคมเองก็หมดสิทธิ์ที่จะไปฟ้องที่เอกชน แม้จะมีการแบ่งกรรมสิทธิ์ของรัฐ และกรรมสิทธิ์ของเอกชน แต่เมื่อใดก็ตามที่ออกโฉนดให้เป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนก็จะทวีคูณความยากในการเพิกถอนเข้าไปอย่างเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้นคงถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐต้องกลับมาย้อนทบทวนกันใหม่ เพื่อคืนพื้นที่สาธารณะให้กับสาธารณะชนอีกครั้ง

รับฟังวงเสวนาฉบับเต็มทาง : เสวนา “ไม่มีใครเป็นเจ้าของชายหาด แต่…”