'ไม่มีใครอยากเข้าร่วมกับทหาร' ความเป็นมนุษย์ที่ถูกพรากจากหญิงสาวเมียนมา ในแนวรบที่กองทัพบังคับเกณฑ์ทหาร แต่ฉากหลัง 'เราตายในแนวหน้า' - Decode
Reading Time: 3 minutes

“3 ปีเหรอ” เธอนิ่งคิดอยู่ครู่หนึ่ง

“ฉันรู้สึกเหมือนฉันเป็นคนโง่ เมื่อเทียบกับคนรุ่นเดียวกันในประเทศอื่น” 

“เหมือนกับคนรุ่นราวคราวเดียวกับฉันในเมียนมา อยู่ในโลกที่ย้อนหลังชาวบ้านไปหลายปี”

เธอหัวเราะแห้ง ๆ ก่อนจะตอบคำถามว่าชีวิตเป็นอย่างไรหลังการรัฐประหารเมื่อสามปีก่อน

เธอชื่อ จูเลีย หญิงสาวร่างเล็กชาวเมียนมาที่อายุอยู่ในระยะที่เราเรียกกันว่า ‘คนรุ่นใหม่’
เธอเกิดและเติบโตในจังหวัดแห่งหนึ่ง ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของรัฐฉาน ประเทศเมียนมา

“เราเป็นประเทศที่มีพัฒนาการของหน่วยงานรัฐต่าง ๆ น้อยที่สุดแล้ว”

หลังการรัฐประหารที่นำโดยมิน อ่อง หล่าย ในเช้าวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2021
ทุกข้อต่อในโครงสร้างประเทศหยุดชะงัก มีเพียงเสียงปืนและเสียงตีหม้อเท่านั้นที่ยังคงดังอยู่

ในพื้นที่ ๆ จูเลียอาศัยอยู่ เป็นพื้นที่ที่ถูกจัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาล (Ruler Area)
นั่นทำให้เธอได้รับ ‘การอนุญาต’ ในหลายเรื่อง โดยเฉพาะโอกาสในหน้าที่การงานและเส้นทางการศึกษา

เธอเล่าถึงช่วงเวลาก่อนการรัฐประหารว่า ในประเทศเมียนมานั้นมีศูนย์การเรียนและสถาบันพัฒนาการศึกษาอยู่หลายแห่ง ทั้งพื้นที่ในเมืองและที่กระจายไปตามพื้นที่ท้องถิ่น ซึ่งเส้นทางการศึกษาของคนเมียนมาจะเป็นลักษณะของการย้ายเพื่อให้ได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น

นั่นจึงเป็นเหตุผลให้ผู้คนในหมู่บ้านหรือเมืองขนาดเล็ก ต้องขยับเข้ามาศึกษาในตัวเมืองอย่างตองจี หรือหากต้องการเข้าถึงตัวเลือกที่มากกว่า ก็ต้องเข้าไปเรียนหรือทำงานในย่างกุ้ง เพราะย่างกุ้งคือ ‘ที่สุด’ ของคนหนุ่มสาว ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาของเมือง คุณภาพชีวิต หรือกระทั่งพื้นที่ค้นหาสิ่งใหม่

“อย่างเช่นในพื้นที่โฮปง เมืองหนึ่งในจังหวัดตองจี ตอนช่วงปี 2017-2018
บางหมู่บ้านก็เข้าไม่ถึงไฟฟ้า หรืออย่างระดับชั้นเรียนในหมู่บ้านก็มีถึงแค่ ป.4”

จูเลียก็เป็นหนึ่งคนที่ต้องพลัดพรากจากบ้านเพื่อการศึกษาที่ดีกว่า

แม้จะต้องจากบ้านและมีเงื่อนไขมากมายสำหรับกลุ่มคนที่ขาดโอกาสเข้าถึงการศึกษา แต่จูเลียบอกว่าหากเทียบกันแล้ว การศึกษาที่เธอได้รับก่อนที่จะเข้าสู่ห้วงเวลาของการรัฐประหารนั้นดีกว่ามาก อีกทั้งรัฐบาลก็ไม่ได้เข้ามาแทรกกิจกรรมของภาคการศึกษาใด ๆ เพราะพวกเขาเชื่อว่า “การศึกษาคือรากฐานของประเทศ”

ทว่าภายใต้การนำของรัฐบาลทหารของมิน อ่อง หล่าย โอกาสทางการศึกษาเหล่านั้นกลับถูกทำลาย
ซ้ำร้ายยังแทนที่มันด้วยการจับกุมผู้ที่เข้ารับการศึกษาเหล่านั้น และมองว่าพวกเขาคือ ‘กลุ่มก่อการร้าย’

“หลังรัฐประหาร คนที่เรียนพวกวิทยาศาสตร์การเมือง สังคมศาสตร์ หรืออะไรทำนองนี้ พวกเขาจะถูกจับกุม”

แม้ไม่อาจระบุได้ว่าบทเรียนตามสถาบันต่าง ๆ นั้นสอนหรือกล่าวถึงบทบาทของกองทัพทหารไว้อย่างไร แต่จูเลียเสนอมุมมองไว้ว่า หลักสูตรเหล่านี้อาจไม่เป็นผลดีต่อความมั่นคงของกองทัพ หรือกระทั่งกองทัพเองก็อาจมองว่าโรงเรียนหรือหลักสูตรเหล่านี้ อาจเป็นการบ่มเพาะอุดมการณ์ทางการเมืองบางอย่าง

ภายหลังการยึดอำนาจในเดือนกุมภาพันธ์ รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government – NUG) ได้ถูกจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 เมษายน ซึ่งเป็นการรวมตัวของสมาชิกที่(เกือบ)เป็นรัฐบาลตามผลการเลือกตั้งเมื่อปี 2020 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อความชอบธรรมของรัฐบาลพลเรือน และเพื่อคัดง้างอำนาจของกองทัพเมียนมา

การเข้ามาของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาตินั้นมาพร้อมกับนโยบายที่จะขับเคลื่อนการศึกษาใหม่ และจัดหาโอกาสทางการศึกษาให้กับคนหนุ่มสาวเมียนมาอีกครั้ง เพราะการศึกษาของพวกเขาได้หยุดชะงักไปหลายปีด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจหรือภาวะโรคระบาด โดยรูปแบบการเรียนการสอนของรัฐบาล NUG จะเป็นลักษณะของการสอนออนไลน์โดยบุคลากรของ NUG เอง

ทว่าบางครั้งข้อมูลส่วนตัวของผู้ที่เข้าเรียนในระบบของ NUG ก็รั่วไหลออกไปถึงมือกองทัพ ทำให้นักเรียนหลายคนถูกกองทัพทหารจับกุมในเหตุผลที่พวกเขามีส่วนร่วมในการเรียนการสอนนี้ เพราะกองทัพเชื่อการเรียนการสอนที่เกิดขึ้น เป็นการสนับสนุนและสร้างบุคลากรเพื่อไปร่วมกับกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (People’s Defense Force – PDF )

ซึ่งไม่เพียงแต่นักเรียนนักศึกษาเท่านั้น สถาบันการศึกษาขนาดเล็กหรือศูนย์การเรียนท้องถิ่น ก็ต้องเปิดเผยต่อรัฐบาลทหารด้วยว่าพวกเขาสอนวิชาใดให้กับนักเรียน หรือพิสูจน์ว่าพวกเขามีความสัมพันธ์ใด ๆ กับรัฐบาลชุดก่อนหรือไม่ การแทรกแซงเหล่านี้ทำให้หลายสถาบันการศึกษาก็ต้องลี้ภัยด้วยเช่นกัน

“เรื่องการศึกษามันยากมาก และแย่ซะยิ่งกว่าแย่อีก” จูเลียย้ำ

ทว่านอกจากความเชื่อของฝ่ายรัฐบาลทหารแล้ว “การปฏิเสธแนวทางของรัฐบาลทหาร”
ก็เป็นความเชื่อหนึ่งของภาคประชาชนที่คุกรุ่นขึ้นพร้อมกับการเสียงประท้วงของคนเมียนมา

จูเลียเป็นหนึ่งคนที่ย้ายไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในย่างกุ้ง ซึ่งมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่นั้นล้วนลงทะเบียนกับกองทัพ โดยมีข้อตกลงในการจ่ายภาษีให้กับกองทัพทหาร ซึ่งสำหรับกองกำลังภาคประชาชนแล้ว การมีความสัมพันธ์กับกองทัพในขณะนี้ล้วนเป็นการสนับสนุนกองทัพในทางหนึ่ง 

ซึ่งส่งผลต่อเนื่องมาถึงกลุ่มคนที่เข้ารับการศึกษาในมหาวิทยาลัยนั้น ๆ อย่างจูเลียเองที่ต้องเรียนให้จบเพื่อโอกาสในชีวิตข้างหน้า ที่บางครั้งก็ถูกมองว่าเป็นผู้สนับสนุนกองทัพเมียนมา

“เหมือนฉันอยู่ตรงกลางระหว่างสองฝั่ง แน่นอนว่าฉันต่อต้านการกดขี่ของกองทัพทหาร
แต่ฉันไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับกองกำลังไม่ว่าจะฝั่งไหน ฉันเป็นแค่ประชาชน”

มือเปื้อนเลือดมากกว่ารอยขีดปากกา เพราะฉากหน้าคือ สนามรบ

การประท้วงครั้งแรก ๆ เริ่มต้นขึ้นที่มัณฑะเลย์ โดยกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ (White Coat Revolution)
ที่ประกาศว่าพวกเขาจะไม่ทำงานให้กับโรงพยาบาลรัฐอีกต่อไปและเริ่มลงถนนประท้วง

“เราไม่ต้องการรัฐประหาร”

“เราไม่ต้องการมิน อ่อง หล่าย”

“เราโหวตให้รัฐบาลที่เราเลือก ไม่ใช่มึง”

ไม่นานนักการประท้วงเริ่มแพร่ขยายไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ในเมียนมา

ในความทรงจำของจูเลีย พื้นที่ของเธอเริ่มต้นประท้วงผ่านแสงไฟจากเปลวเทียนและการสงบนิ่ง
ทว่าสถานการณ์กลับไม่ดีขึ้น จากแสงเทียนและความเงียบเริ่มกลายเป็นป้ายประท้วงและเสียงด่า

นอกจากฉากบนสนามรบ ช่องทางโซเชียลมีเดียก็เป็นอีกหนึ่งสมรภูมิที่ดุเดือด
และเป็นช่องทางสำคัญที่เชื่อมโยงกลุ่มผู้ประท้วงหรือกลุ่มคนรุ่นใหม่กับโลกภายนอก

“Facebook คือ ช่องทางหลักของพวกเราเลยล่ะ” เธอยกตัวอย่างพลางหัวเราะ

จูเลียเล่าว่า หนึ่งในเครื่องมือของการประท้วงคือการโพสต์บนช่องทางโซเชียลมีเดียถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมา ไม่ว่าจะเป็นการประท้วงหรือการกดขี่ผู้คนของกองทัพเมียนมา ซึ่งหากบุคคลนั้น ๆ หรือกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ ไม่พูดถึงสถานการณ์ดังกล่าว ก็จะถูกมองว่าสนับสนุนระบอบการปกครองของรัฐบาลทหาร และจะโดนสังคมรุมประณามหรือการคว่ำบาตรทางธุรกิจ

“ถ้าคุณไม่พูดถึงมัน เอาแต่โพสต์รูปท่องเที่ยว โพสต์รูปตัวเอง คุณจะเป็นพวกอีลีท หรือไอ้พวกที่มีอภิสิทธิ์ทางสังคม หรือคนที่สนับสนุนการกดขี่ทั้งหลายในเมียนมา”

ปัจจุบันการลงโทษทางสังคมยังคงอยู่แต่ก็ลดน้อยลง ซึ่งเป็นผลมาจากกระบวนการจับตาของรัฐบาลทหาร จูเลียอธิบายว่า กองทัพจะคอยจับตาบุคคลที่เข้าร่วมหรือมีความตั้งใจจะเข้าร่วมการประท้วง ซึ่งหากบุคคลนั้นโพสต์ลงช่องทางโซเชียลมีเดีย พวกเขาก็สามารถถูกจับกุมโดยรัฐบาลทหารได้ กระบวนการเหล่านี้ทำให้หนุ่มสาวเมียนมาเริ่มต้นที่จะปิดบังตัวตน เริ่มพูดถึงสถานการณ์น้อยลง หรืออาจเลิกพูดถึงการประท้วงนับแต่นั้น

เธออธิบายอีกว่าในขบวนการการเคลื่อนไหวเองก็หาใช่ปลอดภัยมากนัก เพราะหลายครั้งก็มักจะมีคนที่สนับสนุนกองทัพเมียนมาแฝงตัวเข้ามาในขบวนการ เพื่อเก็บข้อมูลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ รูปถ่าย หรือตัวตนของกลุ่มผู้เคลื่อนไหว ส่งให้กับกองทัพเมียนมา และเข้าจับกุมผู้ชุมนุมเหล่านั้น

การจับกุมที่จูเลียยกตัวอย่างนั้น เกิดขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 505(a) และ 505(b) ที่ระบุไว้ว่าใครก็ตามที่สร้าง เผยแพร่ถ้อยคำ ข่าวลือ หรือรายงานใด ๆ ด้วยเจตนาที่จะก่อให้เกิดหรือมีแนวโน้มที่จะทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ (ส่วนใหญ่ระบุถึงเจ้าหน้าที่ในกองทัพ) ก่อกบฏ เพิกเฉย หรือละเลยหน้าที่ของตน – 505(a)

หรือด้วยเจตนาที่จะก่อให้เกิดหรืออาจก่อให้เกิดความหวาดกลัว หรือความตื่นตระหนกต่อสาธารณะชน โดยที่บุคคลนั้น ๆ อาจถูกชักจูงให้กระทำความผิดต่อรัฐหรือความสงบสุขของสาธารณะ – 505(b) โดยทั้งสองกรณีจะต้องระวางโทษปรับและจำคุกสูงสุด 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

โดยสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่าหรือ เอเอพีพี (Assistance Association for Political Prisoners) ได้บันทึกตัวเลขการจับกุมพลเรือนหรือนักเคลื่อนไหวของกองทัพทหาร โดยตั้งแต่วันแรกของการรัฐประหารจนถึงปัจจุบัน มีผู้ที่ถูกจับกุมไปแล้วกว่า 26,000 คน และถูกคุมขังอยู่ขณะนี้ถึง 20,000 คน

อิสรภาพที่หายไปและทางเลือกในชีวิตที่ตีบตัน เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้หนุ่มสาวเมียนมาหลายคน
เลือกที่จะจับอาวุธและเข้าร่วมสงคราม เพื่อยุติฉากทัศน์อันเลวร้ายที่ถูกสร้างขึ้นโดยกองทัพทหาร 

“คุณจะเห็นว่าสิทธิมนุษยชนพื้นฐานต่าง ๆ นั้นถูกคุกคาม การแสดงออก การใช้ชีวิต สิทธิ การศึกษา คุณก็จะไม่มีสิทธิ์เข้าถึงมัน ถูกตัดอินเทอร์เน็ต ตัดไฟ หลายอย่างในชีวิตจะถูกทำลาย”

: ทำไมถึงไม่อยากเข้าร่วมกับกองทัพทหาร?

“ฉันคิดว่าถ้าเราเข้าไปเป็นทหาร เราจะสูญเสียความเป็นมนุษย์” เธอตอบด้วยน้ำเสียงเรียบนิ่ง

“จริง ๆ ก็ไม่รู้หรอกว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับฉัน แต่ฉันคิดว่าพวกเขาแค่ต้องการให้เราตายในแนวหน้า”

‘มันจะตัดขาดเราออกจากโลกภายนอก’ จูเลียเล่าว่าทหารในกองทัพจะถูกฝึกฝนด้วยร่างกายเป็นอย่างแรก อย่างที่สองคือการฝึกฝนผ่านการล้างสมองด้วยรัฐธรรมนูญและแนวทางของ SAC แม้มันจะระบุไว้ว่าเป็น ‘การสู้เพื่อความมั่นคงของชาติ’ ทว่าความเป็นจริงคือ ‘การตายเพื่อคณะรัฐประหาร’ มากกว่า

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สภาบริหารแห่งรัฐ หรือ State Administration Council (SAC) ได้ออกประกาศที่ 27/2024 ว่าด้วยการให้กฎหมายการเกณฑ์ทหาร (People’s Military Service Law) มีผลบังคับใช้นับแต่นั้น ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 385 และมาตรา 386 ในรัฐธรรมนูญของเมียนมา ที่ว่าระบุไว้ว่า “พลเมืองทุกคนมีหน้าที่ปกป้องเอกราช อำนาจการปกครอง และบูรณภาพแห่งดินแดนของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา” และ “พลเมืองทุกคนมีหน้าที่ต้องรับการฝึกทหารตามบทบัญญัติของกฎหมาย เพื่อปกป้องและรักษาความมั่นคงของชาติ” ตามลำดับ

โดยผู้ที่อยู่ในข่ายจะต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารคือ พลเมืองชายและหญิงอายุตั้งแต่ 18-35 ปี ซึ่งมีประชากรอยู่ราว 14 ล้านคนในเมียนมา แบ่งเป็นชาย 6.3 ล้านคน และหญิง 7.7 ล้านคน โดยจะต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารเบื้องต้นเป็นเวลา 2 ปี ทว่าหากเมียนมาตกอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน รัฐบาลสามารถขยายเวลารับราชการทหารไปได้ถึง 5 ปี

ขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียดใดอื่นนอกเหนือไปจากเงื่อนไขตามบัญญัติของกฎหมาย แต่ตามประกาศของรัฐบาลเมียนมาระบุไว้ว่า พลเมืองชายจะถูกเรียกเข้ารับการเกณฑ์ทหารรอบแรก จะเกิดขึ้นในเดือนเมษายนนี้เป็นจำนวน 5,000 คน โดยในหนึ่งปีจะเกณฑ์ทหารได้ทั้งหมด 50,000 คน โดยทหารในสี่รุ่นแรกจะเป็นพลเมืองชายทั้งหมด และพลเมืองหญิงจะถูกเรียกตัวในรุ่นถัดไป

แต่ตามรายงานของ Ye Myo Hein นักวิจัยเกี่ยวกับการเมืองของประเทศเมียนมาบนเว็บไซต์ United States Institute of Peace ระบุไว้ว่า การประกาศการเกณฑ์ทหารในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากขนาดกองทัพที่เล็กลงจากการพ่ายแพ้หลายต่อหลายครั้งในสนามรบกับกองกำลังชนกลุ่มน้อย รวมถึงการหนีทัพของทหารในกองทัพเองที่หมดสิ้นแรงใจในการรบ โดยจากข้อมูลที่วิเคราะห์ไว้เมื่อต้นปี 2023 ว่าทหารเมียนมาอาจมีมากถึง 300,000-400,000 คน แต่ภายหลังปฏิบัติการ 1027 ทำให้กำลังทหารลดเหลือเพียงไม่เกิน 130,000 คนเท่านั้น

“สำหรับคนรุ่นใหม่ เราไม่เห็นถึงอนาคตเลย มีก็เสียแต่ว่าจะย้ายไปประเทศอื่นหรืออยู่ที่นี่ต่อไป ซึ่งสำหรับคนที่ไม่มีเงินมากพอจะย้ายประเทศ พวกเขาก็ต้องอาศัยอยู่ที่เดิม เหมือนกับฉัน”

จูเลียเล่าว่าตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อสามปีก่อน ไม่ว่าจะเป็นเด็ก คนแก่ คนโสดหรือแต่งงาน
หรือกระทั่งสนับสนุนทหารหรือสนับสนุนประชาธิปไตย ทุกคนในเมียนมาล้วนเผชิญกับการกดขี่

การประกาศเกณฑ์ทหารครั้งนี้ก็ยิ่งทำให้ชีวิตยากลำบากขึ้นอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นกับหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ในเมียนมา จูเลียเล่าว่าการทำหนังสือเดินทางขณะนี้อาจต้องรอถึง 6 เดือน และจากเดิมที่ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 500 บาทไทย แต่ขณะนี้กลับพุ่งสูงขึ้นไปถึงราว ๆ 20,000-30,000 บาท ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่คนรุ่นใหม่ทุกคนที่จะมีเงินมากมายขนาดนั้น

เงื่อนไขดังกล่าวทำให้คนรุ่นใหม่ไม่มีทางเลือกอื่น
นอกจากเข้าร่วมกับกองกำลังในพื้นที่ ข้ามประเทศโดยผิดกฎหมาย หรือนั่งรอบทสรุปของตนเองที่บ้านเกิด

“ถึงคุณเลือกที่จะอยู่ที่เมียนมา แต่คุณจะไม่ได้มีชีวิตเลย
เพราะคุณไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับคุณบ้าง กองทัพจะทำอะไรกับคุณบ้าง ”

: แล้วถ้าไม่เข้าเกณฑ์ทหารจะเกิดอะไรขึ้น?

“พวกเขาจะเอาไปหมดทุกสิ่ง” เธอตอบด้วยน้ำเสียงเรียบนิ่งอีกครั้ง

จูเลียบอกว่าเธอไม่แน่ใจว่ากระบวนการของกองทัพขณะนี้เป็นอย่างไร
แต่หากคุณถูกจับตาโดยกองทัพอยู่แล้ว พวกเขาจะบุกจับคุณที่บ้านโดยไม่มีคำเตือน ไม่ว่าตอนนั้นจะเช้ามืดค่ำ

และไม่ใช่แค่ผู้ที่ถูกหมายตาเท่านั้น ความรุนแรงทั้งหมดจะเกิดขึ้นกับครอบครัวของบุคคลนั้นด้วย
ไม่ว่าจะเป็นการยึดของใช้ เงิน หรือกระทั่งร่างกายของคนนั้น กองทัพจะครอบครองมันทั้งหมด

ไม่เพียงเท่านั้น ผู้ถูกจับกุมเหล่านี้จะถูกปิดหน้าปิดตาและพาไปที่ศูนย์สอบสวนสักแห่งของกองทัพ และเริ่มสอบสวนเขาเหล่านั้นด้วยการทรมาน แม้ว่าคุณจะไม่ได้กระทำผิดแต่กองทัพก็จะหาความผิดให้คุณจนได้ และเมื่อเข้าสู่ห้องคุมขัง บางครั้งพวกเขาก็จะถูกเจ้าหน้าที่กระทำชำเรา โดยไม่สนว่าคุณจะเป็นใครหรือมีเพศวิถีแบบใด 

“ถ้าเราอาศัยอยู่ในพื้นที่สงคราม พวกทหารมันจะบุกเข้ามาในบ้าน แล้วกระทำชำเราคุณ บางครั้งมันก็ทำกับทั้งครอบครัวคุณ พวกมันไม่สนใจว่าคุณจะเป็นผู้หญิง ผู้ชาย ผู้พิการ หรือผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งการเกณฑ์ทหารนี้จะทำให้ความรุนแรงนี้ซับซ้อนไปอีก”

นี่คือ ‘ทุกสิ่ง’ ที่จูเลียกล่าวถึง

ข้อเรียกร้องจากเส้นเขตแดน 2,000 กิโลเมตร
ระเบียงมนุษยธรรมไทยที่ยังไม่มีผู้ลี้ภัยอยู่ในนั้น

“ฉันก็กังวลเรื่องข้ามไปประเทศไทยเหมือนกัน เพราะว่าเข้าไปเราก็จะเป็นผู้อพยพผิดกฎหมาย เพราะพวกเราไม่สามารถเข้าถึงหนังสือเดินทาง หรือเอกสารอื่น ๆ ได้ นั่นคือผลลัพธ์ที่ตามมา”

นอกจากจะเป็นประเทศที่มีอาณาเขตกว่า 2,000 กิโลเมตรที่อยู่ติดกัน
ประเทศไทยยังเป็นประเทศที่คนเมียนมาใช้ต้นทุนต่ำที่สุดเพื่อมีชีวิตรอดในห้วงเวลานี้

ตามรายงานของ Human Right Watch ระบุว่าตลอดสามปีที่เมียนมาตกอยู่ในห้วงเวลาของการรัฐประหาร มีคนเมียนมาลี้ภัยมายังประเทศไทยราว 45,000 คน แต่หลังการประกาศการเกณฑ์ทหาร สำนักข่าว AP รายงานว่าหน้าสถานทูตไทยในเมียนมาที่ย่างกุ้งและศูนย์ทำหนังสือเดินทางที่เมืองมัณฑะเลย์ เนืองแน่นไปด้วยคนเมียนมารวมกันกว่า 10,000 คน ที่ยืนต่อแถวทำหนังสือเดินทางเพื่อเดินทางมาที่ประเทศไทย 

และจากการติดตามสถานการณ์ตามแนวชายแดนของเครือข่ายเพื่อผู้ลี้ภัยเมียนมา (Myanmar Response Network) แม้ไม่อาจประมาณการได้ว่าขณะนี้มีผู้ลี้ภัยเข้ามาถึงแม่สอดเป็นจำนวเท่าไหร่ แต่จากการคาดการณ์อาจมีคนเดินทางเข้ามาในอำเภอแม่สอดราว 1,000 คนต่อวัน ขณะเดียวกันทางอำเภอแม่สอดก็ได้ออกประกาศให้มีการเข้มงวดตามแนวชายแดน

นี่เป็นเพียง 20 กว่าวันหลังจากที่รัฐบาลทหารประกาศการเกณฑ์ทหาร ประเทศไทยจึงมีภารกิจที่ยากจะเลี่ยงในการหาที่รองรับและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้กับคนเมียนมานับหมื่นที่กำลังเดินทางลี้ภัยมายังประเทศไทย ซึ่งนั่นยังไม่รวมประชากรอีก 14 ล้านคนที่ต้องการลี้ภัย หากการเกณฑ์ทหารยังดำเนินต่อไป

จูเลียอธิบายว่าเธอไม่ได้ต้องการแก้ตัวแทนคนเมียนมาที่เข้าไปอย่างผิดกฎหมายในอดีต ทว่าในสถานการณ์ตอนนี้มันค่อนข้างแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง เพราะการลี้ภัยในครั้งนี้เกิดขึ้นเพียงเพราะพวกเขาต้องการที่จะ ‘มีชีวิตรอด’ จากกองทัพเมียนมา

ไม่นานมานี้จูเลียได้ยินข่าวมาจากประเทศไทยว่า รัฐบาลไทยจะเพิ่มมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ซึ่งก็จะมี International Rescue Committee (IRC) หน่วยงานที่ให้การช่วยด้านสิทธิมนุษยชนเข้ามามีบทบาทด้วยเช่นกัน 

ขณะนี้เธอจึงหวังว่า รัฐบาลไทยจะไม่ทำอะไรที่เป็นการส่งเขากลับคืนสู่ความตาย อย่างเช่น การฟ้องร้องผู้ที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมาย หรือส่งกลับประเทศต้นทางด้วยกฎหมายที่รัฐบาลไทยใช้อยู่ และหวังให้สังคมโลกรับรู้ว่า ตอนนี้คนเมียนมากำลังถูกคุกคามชีวิตโดยรัฐบาลทหาร

“ฉันว่ามันไม่จำเป็นจะต้องยกตัวอย่างว่ากฎหมายนี้มันละเมิดสิทธิของเรารึเปล่า เพราะชัดเจนว่าอนาคตของคนรุ่นใหม่ในเมียนมาตอนนี้ มันเอาแน่เอานอนไม่ได้เลย และพวกเขาก็ละเมิดสิทธิของคนเมียนมาอย่างเรามามากกว่า 60 ปีแล้ว”