ONLY HUMAN บนเส้นทางประชาธิปไตย - Decode
Reading Time: 3 minutes

ผมโตมาในยุคที่หนังสือภาพเป็นภาพจำการบันทึกเรื่องราวของคนเสื้อแดง”
“เราลงสนามข่าวครั้งแรกในช่วงการชุมนุมเหลืองแดงก่อนรัฐประหาร 2557”

เราสองคนเกิดในช่วงเวลาที่มนุษย์ประชาธิปไตยไทยตื่นแล้ว และใช้ชีวิตในช่วงที่ความเห็นต่างทางความคิดถ่างขยาย บทสนทนาระหว่างมนุษย์สองคนที่ไม่เคยละสายตาจากการเมืองเริ่มต้นในห้องเล็ก ๆ แสงอุ่น ๆ บ่ายของเดือนสามในปี 2567 บ่ายในเดือนที่หกหลังประเทศไทยได้รัฐบาลจากการเลือกตั้ง เราในฐานะผู้อ่าน อีกคนคือบรรณาธิการ Photo Book : NO GOD NO KING ONLY HUMAN

เรายังไม่ลืม ไม่เคยลืม แต่มันชัดเจนอีกครั้งจากภาพแรกที่พร่าเลือน ถึงภาพสุดท้ายที่มัว ๆ แสงสลัว ๆ จากกลางวันที่แสงสว่างสาดส่อง ปิดจบด้วยค่ำคืนที่มืดมัว มืดจนวันนี้ก็ยังมืด

ไม่ว่ากลางวันหรือกลางคืนเหล่ามนุษย์ต่างมองหาแสงดาว หรือ แสงแห่งความหวัง ทั้งที่ไม่แน่ใจว่ามีอยู่ หรือแท้จริงมันไม่เคยมีอยู่เลยก็ไม่มีใครกล้าฟันธง โลกความจริงโหดร้ายกว่าที่เยาว์วัยจะคะเนถึง นับจาก 16 พ.ย. 2563 เราสองคนเห็นตรงกันว่า เราต่างถูกเร่งให้โตจากน้ำสีน้ำเงินที่พุ่งออกมาจากเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง

ตอนไปร่วมชุมนุมเราเห็นภาพถ่ายที่หลากหลาย เห็นการกลับมาของกล้องฟิล์ม มีคนเอามิเดียมฟอแมตออกมา (กล้องรีเฟรกซ์ ที่ราคาฟิล์มแพง) บางทีเห็นลาร์ทฟอแมต (กล้องเก่าที่มีขาตั้ง) จากที่ได้คุยบางคนเป็นช่างภาพแต่งงาน ตอนนั้นโควิดเขาตกงานเลยออกไปถ่ายภาพ แล้วเขาก็ได้เห็นความจริงมากขึ้น นอกจากนั้นยังมีช่างภาพสตรีท เด็กจบใหม่ ช่างภาพผู้กำกับก็เอากล้องฟิล์มออกมาถ่ายเล่น ๆ เป็นภาพเชิงทดลองด้วย

กร คารวะ บรรณาธิการ Photo Book NO GOD NO KING ONLY HUMAN

หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เล่าตามไทม์ไลน์ของเหตุการณ์ ใช้ภาพจากช่างภาพมากกว่า 10 คน ไม่มีตัวหนังสือบรรยาย การเดินทางในฐานะนักอ่านจึงต้องแกะรอยความทรงจำความรู้สึกในช่วงม็อบราษฎร 2563 กลับมาอีกครั้ง เพดานที่ถ่างสูงท้าทายสังคมในตอนนั้นลดต่ำลงมากเราเปิดพลิกวนไปมาไม่ต่ำสิบ เอาจริงตอนนั้นมันเต็มไปด้วยความโกรธแบบที่รัฐไม่อนุญาตให้โกรธ แต่ไม่ด้วยความไม่ยุติธรรมที่สื่อเองก็ได้รับผลกระทบ

แต่ Photo Book เล่มนี้อนุญาตให้ภาพย้ำเตือนเราว่า รัฐกับประชาชน คือคู่ตรงข้าม

ข้าราชการของประชาชนคือคำสวย ๆ ความจริงคือกระสุนยาง แก๊สน้ำตา ตู้คอนเทนเนอร์ และลวดหนาม พื้นที่เสรีภาพและการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ผ่านสีสันและป้ายข้อความในม็อบแฮมทาโร่ ถูกตอบโต้ด้วยความรุนแรงจากรัฐกลายเป็นความโกรธที่ถ่ายทอดผ่านสายตา ประกายไฟ หุ่นฟาง และผ้าสี นั่นคือความเจ็บปวดของประชาธิปไตยในมือเผด็จการ

สำหรับผมอยากจำลองบรรยากาศ 1 วันของการชุมนุม จำลองว่าระหว่างวันเราเจอกับอะไรมาบ้างอย่างหยาบ ๆ เริ่มจากความสนุก แล้วเหตุการณ์ก็แรงขึ้น ฝน ร่ม ช่วงตุลาคม 2020 เข้าสู่ช่วงดินแดง มีคนเจ็บจริง คนเสียชีวิตจริง ๆ แต่หลังความรุนแรงมันคือความเงียบ ลักษณะของความเงียบที่เกิดขึ้นควบคู่ความรุนแรง มันดำเนินไประหว่างการทำหนังสือเล่มนี้ ความเงียบและความรุนแรงดำเนินควบคู่ไปในสังคมไทย แล้วมันก็ระเบิดอารมณ์ของผู้คน

สำหรับเราความโกรธของประชาชนที่ร่วมชุมนุมถูกถ่ายทอดผ่านเลนส์ของสื่อมีสังกัดและสื่อไร้สังกัด บทบาทของสื่อพลเมืองและสื่อไร้สังกัดทำให้นี่เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีกล้องวงจรปิดอยู่ทุกหัวถนน ความจริงถูกเล่าผ่านภาพจนทำให้การจำกัดเสรีภาพของสื่อเป็นประเด็นถกเถียงอย่างหนักในช่วงม็อบดินแดง ปลอกเแขนสื่อถูกอ้างถึงสรรพคุณว่าสามารถช่วยให้ปลอดภัย ช่วยให้เจ้าหน้าที่แยกแยะสถานะของสื่อกับผู้ชุมนุม

ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่าปลอกแขนจะเป็นเกราะ !

คำบอกเล่าจากพี่น้องสื่อภาคสนามต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ในสถานการณ์ที่ดุเดือด ณ ดินแดง สื่อเองก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าพื้นที่ทุกจุด บางช่วงถูกบอกให้ถอยร่นออกมาจากเหตุการณ์ ทำให้บันทึกภาพได้จากระยะไกล

ภาพของสื่อที่รุมล้อมตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่แยกดินแดงเพื่อทวงถามสิทธิของสื่อ ขณะที่อีกฝั่งถนนมีผู้ชุมนุมถูกคุมตัว มันคือความกล้าหาญของคนภาคสนามในสถานการณ์ที่ถูกริบเสรีภาพ ริบสิทธิในหน้าที่ของการเป็นประจักษ์พยานความจริง

ช่วง 2021 เป็นจุดเริ่มต้น ผมอยากบันทึกความรู้สึกของคนในยุคปัจจุบันแล้วส่งต่อคนรุ่นหลัง ตอนแรกพยายามเลือกช่างภาพหลายแนวที่สุด ตอนเริ่มติดต่อไปช่วงแรก 2020 มันยังไม่รุนแรง ก็จะสนใจแต่ช่างภาพที่เด็ก ๆ ช่างภาพงานแต่ง เชิงสารคดี เชิงทดลอง แต่พอสถานการณ์เริ่มแรงขึ้น ก็รู้สึกว่าช่างภาพพวกนี้ไม่มีทางเข้าไปถึงสถานการณ์บางจุดได้ เลยต้องหา Photo Journalist ให้ได้ เพื่อให้ได้ภาพที่หลากหลาย และเป็นการบอกว่านี่ไม่ใช่หน้าที่ใครคนใดคนนึง หรืออาชีพใดอาชีพหนึ่ง ที่จะออกมาถ่ายภาพชุมนุม และอีกส่วนที่สำคัญคืออยากให้ภาพมุมมองมันครบถ้วน เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าปลาย 2020 2021 สถานการณ์ดินแดงมันรุนแรงขึ้น ไม่มีทางที่ช่างภาพตัวเล็ก ๆ ที่ไม่มีบัตรจะเข้าไปได้

ไม่มีแกนนำ
ไม่มีภาพคนดังหน้าสื่อ
ไม่มีภาพแกนนำ
มีเพียงภาพของประชาชน
ไร้ชื่อ ไร้ตำแหน่ง ไร้ที่มา

การไม่ต้องมานั่งคิดว่าคนในภาพคือใคร ทำให้เราอ่านความหมายจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้มากกว่า รับรู้ถึงความรู้สึกจากภาพได้ลึกกว่า เรารู้จักคนในภาพทุกคนเท่ากัน เขาต่างเป็นประชาชนที่ตื่นตัวในเส้นทางประชาธิปไตย ต่างคนต่างออกมาจากต่างบ้านบนความเชื่อของตัวเอง ท่ามกลางแรงเสียดทานทางความคิดทั้งในบ้าน ที่ทำงานและที่สาธารณะ

มันผิดแปลกไปจากเดิม

คำว่า ONLY HUMAN ในการตีความของเราจึงเท่ากับ มีเพียงมนุษย์เท่านั้นในเส้นทางประชาธิปไตย มนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะเชื่อเสียงในตัวเอง มีสิทธิที่จะไม่ต้องเชื่อตามสิ่งที่ใครเคยบอก เราเปิดหนังสือไปทีละหน้า เราได้อยู่กับตัวเองโดยไม่ถูกคำบรรยายควบคุม

คนไทยยังก้าวข้ามไม่ได้ ผมว่าประเทศไทยยังยึดถือเรื่องไอดอลมาก คนไทยยังต้องการการยึดถืออะไรบางอย่าง

จะเห็นว่าเล่มนี้ชื่อ ONLY HUMAN ในเล่มไม่มีหน้าแกนนำสักคน เราไม่ไอดอลบุคคล ไหนเราบอกว่าคนเท่ากันไง ไหนเราบอกการชุมนุมไม่ต้องมีแกนนำไง แต่สุดท้ายวันนี้จะเห็นว่าสังคมไทยยังไม่ก้าวผ่านเรื่องของความยึดถือการเป็นบุคคลมา เพราะเราไม่เชื่อความรู้สึกของตัวเอง

ตลอดสองสัปดาห์หลังบทสนทนาของเราสองคน ภาพของคุณทักษิณ ชินวัตร ปรากฏตัวต่อเนื่อง พีกสุด ๆ ของที่สุดคือ การไปเยือนพรรคเพื่อไทย (26 มีนาคม 2567) รัฐมนตรีบางคนลางานเพื่อมาพบนักโทษขอพักโทษ ผู้คนห้อมล้อมคุณทักษิณราวกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ดึงพื้นที่สื่อ ดึงเรตติ้งพรรครัฐบาล นักข่าวการเมืองวิเคราะห์กันหนาหูเรื่องสัญญาณปรับ ครม.

นักโทษคดีการเมือง
ผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112
อดีตนายกรัฐมนตรี
ศูนย์รวมใจ หรือ ผู้ทรงอิทธิพลตัวจริงของเพื่อไทย
ไอดอลของเหล่านางแบก

ไม่ว่าจะเรียกอะไรสังคมไทยยังก้าวไม่พ้นการยึดถือตัวบุคคลเป็นที่ยึดเหนี่ยวอย่างที่คุณกรว่า โดยเฉพาะพรรคการเมือง ซึ่งมีภารกิจต้องดำรงความเป็นสถาบันทางการเมือง แบบที่ควรมีกฎ กติกาชัดเจนในการบริการพรรค ก็ยังผูกตัวเอง ยกย่องให้ใครสักคนมาเป็นผู้มากบารมีนอกกติกา

NO GOD NO KING ONLY HUMAN

กระจายให้คำนี้ไปทั้งเล่ม คำนี้มันทรงพลัง พอมันมีคำนี้ออกมาจากชุมนุมมันช็อกนะ มันต่างกับการชุมนุมก่อนหน้านี้ที่เคยมีมาทั้งหมด มันพุ่งตรงไปถึงจุดสูงสุด สถาบันสูงสุดของไทย จุดสูงสุดของปัญหาทุกอย่าง มันไม่เคยมีใครกล้าพูดคำนี้ออกมา

ในฐานะเจนวายก็เชื่อว่านั่นคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาตลอด ไม่ว่าเราจะชนะหรือแพ้มันออกมาได้แบบนี้คือ สถานะเปลี่ยนไปแล้ว อาจจะเป็นสถาบันหลัก เป็นประมุขของรัฐแต่จะไม่เป็นแบบเดิม

แม้แต่ในระดับครอบครัว การเคลื่อนไหวในช่วงที่ผ่านได้เปลี่ยนเรื่องราวความฝันของหลายครอบครัวไปตลอดกาล หนึ่งในแรงบันดาลใจที่ทำให้เริ่มทำโฟโต้บุ๊กเล่มนี้ คือบทความสัมภาษณ์แม่ของวาฤทธิ์ สมน้อย บนเว็บไซต์ Decode.plus

“แม่หวังว่าเรื่องนี้มันจะยังไม่เงียบความเงียบนี้มันเป็นเรื่องปกติของสังคมไทยอย่างนั้นหรอ ถ้ามีคนเจอแบบน้องอีกสังคมไทยก็ยังจะเงียบไปอีกหรอ”

ไม่ยุติธรรม

ความเงียบกำลังกดทับความรู้สึกและความสูญเสีย เช่นเดียวกับคนจำนวนไม่น้อยที่คิดว่าการเลือกตั้งคือจุดจบของประชาธิปไตย นั่นทำให้การตื่นตัวทางการเมืองถูกกดทับ หรืออาจเลือนรางไปบ้าง

Q : ถ้าให้เลือกเล่าหนึ่งภาพที่บอกถึง ONLY HUMAN ในถนนประชาธิไตย


ผมเลือกภาพแรกที่สะท้อนความเป็นมนุษย์ของเล่มชอบที่สุด ด้านหลังมันเป็นวัดพระแก้ว และคนที่มารอด้านล่าง เขากำลังเรียกร้องอะไรกันอยู่ มันมีแสงสว่างที่ปลายทางจริงหรือเปล่า มันมีแสงสว่างที่ปลายทางจริง ๆ หรือเปล่า มันเหมือนการเดินที่ไปไม่ถึงจุดสุดท้าย นั่นคือสิ่งที่เราอยากย้ำเตือนสังคมว่าเรายังไม่รู้ว่าจะเดินไปสู่อะไร ต่อจากนี้นี่คือก้าวแรกที่ประเทศจะเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง แต่ว่ามันเต็มไปด้วยความเจ็บปวดอย่างที่เราเห็นในเล่มนี้


ส่วนเรา หากจะขีดเส้นใต้ถึงความเป็นมนุษย์บนเส้นทางประชาธิปไตยแบบไทย เราเลือกเล่าถึงภาพทิ้งท้ายเล่มนะ เสียงจากมือถือที่ถูกชูกระจายตัวทั่วถนนสักแห่งในกรุงเทพท่ามกลางฝนในยามค่ำคืน วันนี้เรายังไม่ชนะ และชัดเจนว่ามันไม่จบที่รุ่นเราแน่ ๆ แต่บทสนทนาและความสนใจของผู้คนเปลี่ยนไปแล้ว ประชาชนไม่ว่าจะยากดีมีจน ไม่ได้หวังเพียงแค่เงินแจกหรือนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ย้ำว่าเพียงอย่างเดียว เพราะเศรษฐกิจโตในภาวะแบบนี้มันสำคัญ แต่ผู้คนตอนนี้มองถึงสวัสดิการทางสังคมที่ก้าวหน้ามากขึ้นควบคู่ไปด้วย มากน้อยในสัดส่วนความสนใจที่แตกต่าง แต่ที่แน่ ๆ ก็มากกว่าช่วงก่อนหน้าการเคลื่อนไหวในช่วง 63-65

สังคมไทยค่อย ๆ เปลี่ยน
ไม่ใช่การเมืองที่เปลี่ยน แต่สำหรับเราประชาชนต่างหากที่เปลี่ยน ค่อย ๆ เปลี่ยน
หนึ่งปีครึ่งกว่าพันภาพที่ผ่านสายตาของผู้จัดทำ Photo Book เล่มนี้ไม่มีคำตอบของปลายทาง มีเพียงความคาดหวังการตีความผ่านสายตาผู้อ่านบนเส้นเวลาที่ต่างกัน

ผมพยายามจะทำให้ Message ไม่ตายเมื่อเวลาผ่านไป อย่างหนังสือของคนเสื้อแดงสุดท้ายมักจะจบที่เสื้อแดงจะชนะ วันนี้เราก็รู้ว่ามันไม่จริง ยิ่งตอนนี้ที่สถานการณ์มันเปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือ กับเล่มนี้ถ้าเราทำอย่างนั้นมันเหมือนทำให้ Message มันตาย เหมือนการทำให้รู้ว่า มันจะจบในรุ่นเราเหมือนที่เราเคยเชื่อกัน ซึ่งตอนนี้ทุกคนก็รู้แล้วว่ามันไม่จริงที่จะจบแค่รุ่นหรือสองรุ่น ของชีวิตคน

การเดินทางที่ยังไม่มีปลายทางของมนุษย์ประชาธิปไตย
NO GOD NO KING ONLY HUMAN

Playread: NO GOD NO KING ONLY HUMAN
Editor: Korn KARAVA
Designer: Natthon Tansurat
สำนักพิมพ์: Karava Publishing

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี