The Lost Forest เกิดขึ้น กินอยู่ สูญพันธุ์ไป - Decode
Reading Time: 3 minutes

บางส่วนของหางเริ่มแห้งกรัง

กลางลำตัวจมปลักในผืนทราย

มันซูบผอม ดวงตาเบิกโพรง

ราวกับปฏิเสธการตายก่อนวัยอันควร

ใช่! ลูกแมวน้ำโชคร้าย มีอายุแค่ 8 เดือนเท่านั้น

พลิกไปหน้ากลางสมุดจดข่าว ฉันเคยถมดำด้วยดินสอ 5B ตามความรู้สึกหดหู่ในวันนั้น

บัดนี้ปริศนาการตายของอุ๋งเมื่อปีกลายวนกลับมาในนามของความสงสัย  

“แกว่าน้ำแข็งขั้วโลกละลายเร็วไปหรือเพราะอย่างอื่น” เธอพยักหน้า

ก็คงมีส่วนนะ “เนี่ยพี่เห็นคลิปนี้ยัง” เกินครึ่งของคลิปเป็นภาพแมวน้ำอพยพออกไปจากอ่าววาลวิสในระหว่างมื้อเที่ยงที่มีการเตือนภัยระดับสูงสุดร้อน 48.1 องศา เย็นวันนั้น ฉันกลับไปสืบค้นข้อมูลหลายแหล่งยืนยันตรงกันว่าอ่าววาลวิสเคยเป็นแหล่งอาหารของบรรดาอุ๋ง ๆ อุดมไปด้วยปลาชุกชุม ลำพังแมวน้ำแคสเปียนจัดอยู่ในกลุ่มสายพันธุ์สัตว์ที่มีประชากรน้อยที่สุดในโลกอยู่แล้ว พบได้แค่ในเขตน้ำกร่อยทะเลแคสเปียนเท่านั้น

แม้พวกมันเสี่ยงที่จะถูกสัตว์ตัวอื่นล่า แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนชี้เบาะแสไปที่สารโลหะหนักในทะเลกำลังเป็นปัญหาใหญ่พอ ๆ กับโลกเดือดชั่วโมงนี้ หรือนี่จะเป็น “การสูญพันธุ์ครั้งที่ 6” หนังสือ The Lost Forest พี่จอบ-วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียน ทิ้งปมสงสัยและชวนขนหัวลุกในคราวเดียวกัน เพราะประวัติศาสตร์ของสิ่งมีชีวิตบนผืนโลกที่ผ่านมา 4,500 ล้านปี โลกใบนี้ผ่านการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่มาแล้ว 5 ครั้ง

น่าสะพรึงที่การสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 จะมีอัตราการทำลายล้างสูงมากกว่าในอดีต 100 ถึง 1,000 เท่า โดยมีสาเหตุมาจากน้ำมือมนุษย์ล้วน ๆ ทั้งการทำลายป่า ปัญหามลพิษที่จะทำให้สิ่งมีชีวิตทั้งสัตว์ และพืชอย่างน้อย 3 ใน 4 ที่มีอยู่ทั้งหมดต้องสูญพันธุ์และหายไปจากโลกใบนี้ เฮร์ราโด เซบาโยส นักนิเวศวิทยาแห่งสถาบันชีววิทยาแห่งเม็กซิโก ศึกษาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์ปีก สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำและสัตว์เลื้อยคลาน 27,000 สายพันธุ์พบว่า สิ่งมีชีวิตเหล่านี้มีจำนวนลดลงอย่างรวดเร็วเพียง 40 ปีนับจากทศวรรษ 2520 มนุษย์ทำลายสิ่งมีชีวิตจนสูญพันธุ์ไปจากโลกไปแล้วร้อยละ 50

แด่มนุษย์ผู้โดดเดี่ยวบนดาวเคราะห์สีน้ำตาล

จะดีใจหรือเสียใจก่อนเข้าสู่ศตวรรษที่ 22 เราอาจจะไม่มีสิ่งมีชีวิตอื่นหลงเหลืออีกแล้ว

นอกจาก ‘มนุษย์’ พลางคิดไปว่า ต่อให้ฉันโดดเดี่ยวที่สุดบนโลกใบนี้

ฉันก็อยากมีแมวเป็นเพื่อนมากกว่า “คน” อยู่ดี(ยิ้มอ่อน)

ดิ่งลึกสู่ห้วงนึกอันมืดมิดใต้ท้องทะเล วิคเตอร์ เวสโคโว นักสำรวจชาวอเมริกัน ทำลายสถิติโลกด้วยการใช้เรือสำรวจดำลงไปเกือบ 11 กิโลเมตร ไปยังร่องลึกของก้นมหาสมุทรมาเรียนา ในมหาสมุทรแปซิฟิกที่ไม่มีมนุษย์ลงไปลึกขนาดนี้ได้

ความลึกขนาดนั้น มันปราศจากแสง เขาได้ค้นพบสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลลึกใหม่ ๆ หลายชนิด ใต้ความมืดมิดของพื้นมหาสมุทรที่ลึกที่สุดนั้น เขายังพบ ถุงพลาสติก และซองลูกอมด้วย

ทั่วพิภพนี้ ไม่มีที่ใดปลอดจากกิจกรรมของมนุษย์ได้เลย

ไม่สิ! ถ้าโลกนี้เหลือเพียงมนุษย์ก็ยังมีพลาสติกอยู่กับคุณทุกแห่งหน

เกิดขึ้น กินอยู่ สูญพันธุ์ไป

แม้แต่เรื่อง “ไก่” ใครจะคิดว่าผู้เขียนตลกร้ายทิ้งปริศนาธรรมแห่งยุคสมัยธรณีวิทยา“แอนโทรโปซีน”

มันเป็นที่มาของสามคำนี้ในแวบแรก

“เกิดขึ้น กินอยู่ สูญพันธุ์ไป?” ฉันคิด

ทุกวันนี้ “ไก่” ได้กลายเป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังจำนวนมากที่สุดในโลกไปแล้วคือ มีไก่ปีละกว่า 60,000 ล้านตัวให้มนุษย์ได้บริโภค หนำซ้ำยังไปไกลถึงนอกโลก ตามโฆษณาชี้ชวน “ไก่ไทยจะไปอวกาศ”

ยิ่งความต้องการอาหารโปรตีนของมนุษย์เพิ่มขึ้น ยิ่งมีการบุกรุกทำลายป่าทั่วโลกมากขึ้นเพื่อปลูกข้าวโพดและถั่วเหลืองอาหารของไก่ พี่จอบกำลังเชื่อมโยงสองสามเรื่องนี้เข้าด้วยกัน โดยรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงเพื่อพิสูจน์ว่า การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต โลกร้อน การทำลายป่า ไก่ และแอนโทรโปซีน สัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก

ประวัติศาสตร์รสขม ผู้ร้ายลำดับ 01

กว่าจะรู้ว่า เรามาผิดทาง ก็เมื่อ “สภาพกึ่งเป็นกึ่งตาย” อยู่แค่ปลายจมูก แน่ล่ะ! แค่สัมผัสฝุ่น PM2.5 ทุกวันก็พอเดาได้ว่าจะเกิดโรคใดตามมา ไม่โรคหัวใจก็มะเร็งปอด ซึ่งเป็นสาเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกในปี 2562 มากกว่า 4 ล้านราย หากจะหายใจด้วยอากาศสะอาดได้ในประเทศนี้ ต้องใช้เงินเท่าไหร่หรือ หนังสือเล่มนี้ตั้งคำถามง่าย ๆ และพาผู้อ่านไปชำระประวัติศาสตร์แห่งการทำลายสิ่งแวดล้อมที่เริ่มต้นด้วยสนธิสัญญาเบาว์ริง เปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนตัดไม้ครั้งใหญ่ ไม้สักกลายเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ การเปิดป่าให้สัมปทานป่าไม้ทั่วประเทศ การเพิ่มขึ้นของประชากรอย่างต่อเนื่องส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายประชากร บุกรุกป่าเพื่อขยายที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยและการเกษตร

กระทั่งผู้ร้าย ลำดับ 01 ปรากฏขึ้นในนามของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ การสร้างเขื่อน การเกษตรเพื่อส่งออก รวมถึงความเบ่งบานของอุตสาหกรรม และการปฏิวัติเขียวที่มองทุกอย่างแบบแยกส่วนไม่มีชีวิต มองดินเป็นเพียงพื้นที่ให้พืชเกษตรได้เติบโต ถ้าขาดแร่ธาตุอาหารก็เติมปุ๋ยเคมีลงไป ไม่สนใจว่าเติมเคมีบ่อย ๆ ดินจะแข็งไม่มีคุณภาพ

หนังสือ ฤดูใบไม้ผลิอันเงียบงัน จึงเริ่มต้นว่า

“กาลครั้งหนึ่ง เมืองเล็ก ๆ แห่งหนึ่งตั้งอยู่ ณ ใจกลางประเทศสหรัฐอเมริกา ที่นั่น ทุกชีวิตดูจะอาศัยอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างกลมกลืน เมืองอยู่ท่ามกลางเรือกสวนไร่นาอันอุดมสมบูรณ์ ในฤดูใบไม้ผลิ ดอกไม้จะบาน พัดปลิวไปตามสายลมเหนือทุ่งสีเขียวขจี

ทุกอย่างเริ่มแปรเปลี่ยนไป โรคระบาดในฝูงไก่ วัวและแกะเริ่มล้มป่วยตาย ทุกหนแห่งปกคลุมด้วยเงาแห่งความตาย ชาวไร่ชาวนาโจษจันถึงอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นในครอบครัวของตนเอง มีคนเสียชีวิตมากมายโดยไม่ทราบสาเหตุ ความเงียบงันบังเกิดขึ้น นกนานาชนิดหายไปไหนกันหมด นกไม่กี่ตัวที่คนพบก็ใกล้ตาย มันเป็นฤดูใบไม้ผลิที่เงียบวังเวง ยามรุ่งอรุณที่เคยก้องด้วยเสียงเจื้อยแจ้วของนกหลายชนิด มาบัดนี้ความเงียบแผ่ปกคลุมไปทั่ว”

หนังสือเป็นของมีคมโดยแท้ เปิดแผลของดีดีทีไว้อย่างน่าพิศวง

หรือไม่ก็เพราะความรักและความชังอย่างน้อยสามประการของพี่จอบ ไม่เกี่ยวกับเลือดกรุ๊ปบีแต่อย่างใด

ระหว่าง ลำห้วยคลิตี้ กับ เหมืองแร่ทองคำ

ระหว่าง แรงงานราคาถูก กับ โรคฝุ่นฝ้าย

ระหว่าง ค่างแม่ลูกอ่อน กับ เขื่อนกลางป่า

เมื่อเขาแล่นเรือเข้าไปใกล้ มันกลับเป็นซากแห้ง ๆ ของค่างตัวเมียที่เกาะติดแน่นอยู่บนต้นไม้ โดยมีชิ้นส่วนเล็ก ๆ ที่สันนิษฐานว่าเป็นลูกน้อยของมันหลงเหลืออยู่ที่บริเวณหน้าอก ซากค่างที่เหี่ยวแห้งจากการอดอาหารตาย จนเห็นกะโหลกเบ้าตาโผล่ออกมาเป็นสีขาวโพลนรูปประโยคที่ติดแน่นฝังใจตอนอ่านจบค้นพบว่าสลดชิงชังมากกว่ารักเสียด้วยซ้ำ

บันทึกขาว-ดำ กับของฟรีที่มนุษย์มิอาจสร้างขึ้นมาใหม่

ภาพถ่ายขาวดำหลายภาพของพี่จอบบันทึกความรัก ความเจ็บปวด การอดอยากของสัตว์ป่า และส่วนใหญ่มักจมน้ำตาย ประสบการณ์การทำงานครั้งนี้ทำให้สืบ นาคะเสถียร รู้ดีว่าการอพยพสัตว์ป่าครั้งนี้ไม่สามารถช่วยชีวิตสัตว์ป่าได้เลย สัตว์ที่ช่วยชีวิตส่วนใหญ่มีความเครียด แล้วก็เสียชีวิตในเวลาต่อมา เขาบันทึกสิ่งที่ได้พบเห็นกลางอ่างเก็บน้ำเชี่ยวหลาน ขณะที่ไปทำข่าวการอพยพสัตว์ป่าในเวลานั้น

สุดท้ายสืบได้เขียนรายงานทางวิชาการว่า “ประสบความล้มเหลว” เขายังเขียนต่อไปด้วยว่า ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนเป็นกระบวนการทำลายแหล่งพันธุกรรม ตลอดจนแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของสัตว์ป่า ซึ่งถือเป็นหัวใจของผืนป่าทั้งหมดที่มนุษย์มิอาจสร้างขึ้นมาใหม่ได้

ไม่ว่าจะเป็นลำห้วยคลิตี้

ไม่ว่าจะเป็นชีวิตคนงาน

ไม่ว่าจะเป็นค่างแม่ลูกอ่อน

มนุษย์ก็มิอาจสร้างขึ้นมาใหม่ได้ และประวัติศาสตร์สอนให้เรารู้ว่า เราไม่เรียนรู้อะไรเลยจากประวัติศาสตร์

เพราะธรรมชาติเป็นของฟรีเสมอในสายตามนุษย์  

ทะเล อากาศ น้ำ ป่า แร่ธาตุใด ๆ ล้วนเป็นของฟรีที่มนุษย์ไม่เคยคิดมูลค่า พระเจ้าให้มาโดยไม่ต้องเสียเงินเสียทองซื้อ เราจึงไม่เคยรู้ว่า ของฟรีที่ธรรมชาติให้มานั้นคิดเป็นมูลค่าเท่าใด ในปี 2540 โรเบิร์ต คอนสเตนซา ผู้อำนวยการสถาบันเศรษฐศาสตร์ระบบนิเวศ มหาวิทยาลัยแมรีแลนด์กับผู้ร่วมงานทั่วโลกอีก 12 คน ช่วยกันวิเคราะห์มูลค่าจากสิ่งที่เราได้รับจากธรรมชาติ จนได้ข้อสรุปว่า ธรรมชาติให้บริการฟรีแก่มนุษย์ทั้งสิ้น 16 รูปแบบ นับตั้งแต่มหาสมุทร ชายฝั่ง หนอง บึง แม่น้ำ ทุ่งหญ้า พื้นที่การเกษตรไปจนถึงป่าดงดิบ

เมื่อคิดมูลค่าออกมาแล้ว แต่ละปีธรรมชาติให้ของฟรีกับเราคิดเป็นเงินประมาณ 33 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ผลผลิตมวลรวมที่มนุษย์จากทุกประเทศทั่วโลกพยายามสร้างขึ้นมานั้น มีมูลค่าเพียง 18 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ น้อยกว่าที่ธรรมชาติให้มนุษย์เสียอีก

“เกือบ 2 เท่า” ในหัวคิด

ในมือคำนวณคาร์บอนฟุตฟริ้นท์ของตัวเอง

“การเดินทางไปทำงาน ระยะทางต่อวัน(กิโลเมตร)” ไฟหน้าจอสว่างโร่

กรอกไปทีละข้อจนครบ “ระบบกำลังประมวลผล”

ฉันเป็นมนุษย์ที่ติดค้างโลกใบนี้ ปีละ 4.43 ตัน

ถึงจ่ายเท่าไหร่ก็ไม่สามารถสร้างขึ้นมาใหม่ได้ ทั้งยังไม่อยากมีชะตากรรมอย่างอุ๋ง 

Playread : The Lost Forest: ประวัติศาสตร์(การทำลาย)สิ่งแวดล้อมไทยและสงครามแย่งชิงทรัพยากร
ผู้เขียน : วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
สำนักพิมพ์ : มติชน

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี