ความฝันนั้นมีเสียง สิ้นสลายในวันที่กองทัพเมียนมาก่อรัฐประหาร - Decode
Reading Time: 3 minutes

ผมจบปริญญาตรีสาขาศึกษาศาสตร์ หลังจบมาก็ทำงานเป็นครู มันดีมาก ผมและครอบครัวใช้ชีวิตอย่างสงบสุข ผมมีเงินเดือนที่ถึงแม้มันจะไม่ได้เยอะ แต่ก็สามารถดูแลสมาชิกในครอบครัวห้าคนได้โดยที่พวกเราไม่อดอยาก“ 

ฝันของผมนั้นเรียบง่ายมาก มีงานทำ แต่งงาน มีครอบครัว มีลูก ๆ ได้เป็นผู้ช่วยอาจารย์ เลื่อนขั้นเป็นอาจารย์ใหญ่ หรือถ้ามีโอกาสก็อยากได้ทำงานในกระทรวงศึกษาธิการเพื่อพัฒนาการศึกษาในเมียนมา“ 

เป็นความทรงจำของ มิน ชายหนุ่มอายุ 26 ปี ผู้เติบโตในหมู่บ้านทางตอนใต้ของประเทศเมียนมา เมื่อพูดถึงความฝันที่ตัวเขามี ภาพจำเมื่อเขายังเยาว์วัยมีอาชีพครูเป็นบุคคลที่มีส่วนสำคัญในชีวิตของเขา เขาศรัทธาและนับเป็นอาชีพที่มีเกียรติ จนเกิดเป็นแรงผลักดันทำให้เขาตัดสินใจเลือกเส้นทางในการมีความฝันคือการเป็นครูในหมู่บ้านของเขา

ดั่งภาพเดิมที่เขาเคยเห็น

แค่ได้ใช้ชีวิตสงบสุข แค่อยู่กับครอบครัวและงานที่ผมรัก“ 

“ความฝันของผมมันเรียบง่ายมาก ๆ เลยนะ ผมต้องการแค่นั้น“

แต่ตอนนี้ทุกอย่างกลับจากหน้ามือเป็นหลังมือไปหมด เมื่อเกิดรัฐประหาร

เช้าตรู่ของวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 วันแรกของการเปิดสมัยประชุมสภาซึ่งมีวาระสำคัญในการโหวตรับรองผลการเลือกตั้ง เพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนการโหวต กองทัพเมียนมาได้ทำการรัฐประหาร โดยเป็นการรัฐประหารที่ส่งมอบอำนาจให้ พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้กระทำการโค่นอำนาจรัฐบาลพลเรือนและเข้าควบคุมตัว นางออง ซาน ซู จี และสมาชิกอาวุโสคนอื่น ๆ ของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy: NLD) เกิดการตัดขาดการสื่อสารทางโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตในเมียนมา กองทัพทหารออกลาดตระเวนและตั้งด่านตรวจตามท้องถนนในกรุงเนปิดอว์ และเมืองหลักอย่างนครย่างกุ้ง

นับเป็นการยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2505 การรัฐประหารครั้งนี้เป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญที่กองทัพเพิ่งให้คำมั่นสองวันก่อนรัฐประหารว่า จะมุ่งมั่น ปกป้องรัฐธรรมนูญและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

ข่าวลือ สัญญาณแรกของ ‘รัฐประหาร’

“ผมไม่รู้เรื่องเลยแม้ตอนนั้นจะยังอยู่ที่นั่น รัฐประหารเกิดขึ้นในตอนเช้า ที่หมู่บ้านของผมสัญญาณทุกอย่างถูกตัดหมดเหลือเพียงแค่โทรทัศน์ มีข่าวลือว่ากำลังเกิดรัฐประหารขึ้น สมาชิกรัฐสภาถูกจับกุม แต่ผู้คนคิดว่ามันคือข่าวลวง ไม่น่าจะจริงนะ พวกเราเพิ่งเลือกตั้งกันไป แต่แล้วในข่าวทีวีช่องสถานีโทรทัศน์ของรัฐบาล ได้มีการประกาศรัฐประหารขึ้น” 

“พอผมรู้ว่าตอนนี้ได้เกิดรัฐประหารขึ้นจริง ๆ แล้วตอนนั้นในหัวผมก็คิดว่า

เมืองของเรา อนาคตของเรา มันกำลังจะมืดมนอีกครั้ง ชะตากรรมที่เลวร้ายที่สุดของเราได้เกิดขึ้นแล้ว ผมไม่สามารถคิดได้เลยว่าเราจะไปอยู่ที่ไหนในอนาคต”

“หมู่บ้านของผมเป็นหนึ่งในพื้นที่เกิดการต่อสู้ระหว่างกองกำลังประชาชน PDF (People’s Defence Force) และกองทัพเผด็จการทหาร เมื่อการต่อสู้เกิดขึ้น ชาวบ้านก็จะพากันเข้าไปหลบภัยในป่า และกลับมายังหมู่บ้านหลังจากการต่อสู้สิ้นสุดลง พวกเราต้องหนีเข้าป่าทุกครั้งเมื่อเกิดการปะทะระหว่างกองกำลัง พวกเราต้องไป ๆ กลับ ๆ อยู่หลายครั้ง พวกเราไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างสงบได้”

 “มันเป็นเรื่องน่าเศร้ามากที่ต้องพูด” 

“มันเหมือนกับ ผมมีใบปริญญาและเริ่มอาชีพครูที่ผมอยากจะเป็นมานาน”

“แต่เมื่อเกิดรัฐประหาร มันเหมือนระเบิด ทุกอย่างพังครืน”

“หลังรัฐประหาร เราทุกคนก็กลายเป็นนักเคลื่อนไหว”

หลังรัฐประหารประชาชนในเมียนมาตัดสินใจลงถนนเพื่อต่อต้านรัฐประหารครั้งนี้ นับตั้งแต่วันแรกที่พวกเขารู้ว่าการรัฐประหารได้เกิดขึ้นอีกครั้ง 

เริ่มตั้งแต่การนัดหมายเคาะหม้อในยามราตรีเพื่อขับไล่เผด็จการที่เป็นปีศาจร้ายสำหรับพวกเขา การชุมนุมโดยสันติเกิดขึ้นบนท้องถนนทั่วเมียนมาในทุกวัน ประชาชนทุกพื้นที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยที่พวกเขาถูกขโมยไป และเริ่มการนัดหยุดงานเกิดเป็นขบวนการอารยะขัดขืน (Civil Disobedience Movement : CDM  ) ที่ประชาชนผู้ทำงานให้กับรัฐทุกสาขาอาชีพเลือกที่จะไม่ทำงานให้กับรัฐบาลเผด็จการ 

“ผมเคยทำงานเป็นครู แต่ก็จำเป็นต้องออกจากอาชีพครูไปในช่วงที่มีขบวนการอารยะขัดขืน ผมออกมาประท้วงต่อต้านรัฐประหารบนท้องถนนร่วมกับผู้คนมากมายในประเทศ“

มินเล่าถึงสาเหตุสำคัญที่เขาต้องออกจากอาชีพครูที่เขาฝัน เมื่อความฝันในอาชีพที่เขาเคยมี ตอนนี้อาชีพนั้นกลับกลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือของรัฐเผด็จการทหาร มินจึงตัดสินใจเข้าร่วมขบวนการอารยะขัดขืน เช่นเดียวกับคนเมียนมาจำนวนมากที่ตัดสินใจละทิ้งอาชีพของตัวเองไป  พวกเขาทุ่มหมดหน้าตักเพื่อที่จะหยุดรัฐบาลเผด็จการ  ประชาชนเมียนมาหยุดการจ่ายค่าน้ำค่าไฟและภาษี พวกเขาต้องการหยุดท่อเลี้ยงส่งทุกอย่างที่จะมีเงินเข้ากองกำลังเผด็จการทหาร ต่อให้สิ่งนั้นจะเป็นปัจจัยสำคัญในการอำนวยความสะดวกสบายในชีวิตก็ตาม

ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประชาชนในเมียนมาทวีคูณมากยิ่งขึ้น กลิ่นอายของการเปลี่ยนแปลงเริ่มก่อตัวขึ้นอีกครั้ง 

จนกระทั่ง… 

กองทัพเผด็จการทหารกระทำการปราบปรามการชุมนุมอย่างรุนแรง มีการใช้กระสุนจริงกับประชาชนและไม่ใช่เป็นการใช้เพื่อยุติการชุมนุมหรือปราบปรามการกระทำที่อาจก่อเกิดอันตรายกับผู้ชุมนุม แต่เป็นการใช้กระสุนจริง ที่ปลายกระบอกปืนหมายมั่นเอาชีวิตของประชาชนผู้ไร้อาวุธที่ชุมนุมอย่างสันติ  

เมื่อการออกมาชุมนุมอย่างสันติถูกปราบปรามด้วยความรุนแรง การฆ่า การซ้อมทรมาน รวมไปถึงการกระทำความรุนแรงทางเพศเกิดขึ้นในทุก ๆ วัน ทำให้ประชาชนในทางตอนกลางของประเทศและกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในเมียนมา จึงตัดสินใจตอบโต้ด้วยอาวุธ มีการจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธในนามพื้นที่เขตรัฐต่าง ๆ เพื่อปกป้องหมู่บ้านและพวกพ้องของตนเองจากกองทัพเผด็จการทหาร และเพื่อโจมตีโค่นล้มคณะรัฐประหารที่นำโดย มิน อ่อง หล่าย 

ดังนั้นที่เมียนมาจึงไม่ปลอดภัยสำหรับผม”  

“ผมจึงจำเป็นต้องมาประเทศไทย เพื่อความปลอดภัยของผม และเพื่ออนาคตที่ดีกว่า”

นี่เหตุผลสำคัญที่ทำให้มินตัดสินใจข้ามเขตชายแดนมายังประเทศไทยในวันที่คลื่นลมแรงด้วยเรือลำเล็กหนึ่งลำที่ต้องคอยจอดพักวิดน้ำที่ถูกซัดเข้าเรือเมื่อปะทะกับคลื่นลูกใหญ่ดั่งสถานการณ์ภายในประเทศที่เขาต้องเผชิญ

การต้องเลือกภายใต้การไม่มีทางเลือกว่าจะจมอยู่ใต้ก้นทะเลหรือจะได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ คือความเสี่ยงที่เขายอมรับ 

“มันพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือเลย มันเหมือนทุก ๆ อย่างพังทลายลง ผมต้องออกจากงานเพราะการออกมาเคลื่อนไหว ย้ายมาประเทศไทย และต้องพรากจากบ้านและผู้คนที่ผมรัก”

ในทีแรกมินตั้งใจที่จะศึกษาต่อปริญญาโทในสาขาการศึกษา เขาอยากต่อยอดความรู้ในการเป็นครู และหวังว่าอาจจะได้ใช้องค์ความรู้นี้เป็นประโยชน์ให้กับการศึกษาในเมียนมา เพื่อผู้คนรุ่นหลัง แต่เพราะการรัฐประหาร มหาวิทยาลัยของมิน จึงตกอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาลเผด็จการทหาร ทำให้มหาวิทยาลัยไม่สามารถออกใบรับรองการสำเร็จการศึกษาและหน่วยกิตให้กับเขาได้ 

“คุณรู้ไหมในสมัยเรียนผู้คนต่างพากันถามผมว่าทำไมผมต้องเรียนหนักขนาดนั้น“ 

“มันเป็นเพราะผมตั้งใจเรียนปริญญาตรีอย่างหนักเพื่อให้ได้เครดิตที่ดีในการได้ทุนไปศึกษาปริญญาโท”

“และตอนนี้ความหวังของผมในการเรียนต่อก็กลายเป็นศูนย์อีกครั้ง”

ในตอนนี้มินกำลังสมัครทุนเรียนปริญญาตรีอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ได้วุฒิการศึกษาที่จะสามารถนำพาเขาไปสู่การเริ่มเส้นทางชีวิตของเขาอีกครั้ง เท่ากับว่าเวลาชีวิตของมินต้องช้าไปอีก อย่างน้อย 4 ปี จากการเกิดรัฐประหารในเมียนมา

“หลังรัฐประหารผมก็ต้องเปลี่ยนแปลงความฝันของผม มันไม่มีอีกแล้วชีวิตที่สงบสุขและเรียบง่ายที่บ้านเกิด และตอนนี้ผมก็ทำงานเป็นครูสอนเด็กเล็กในศูนย์อพยพและกำลังหาทุนเรียนในประเทศไทย เอาเข้าจริง ๆ ก็ไม่ใช่ความฝันเริ่มแรกของผมเลย การเป็นครูในต่างประเทศและอยู่ในต่างประเทศไม่ใช่เรื่องที่ผมเคยคิด” 

“แต่เมื่อสถานการณ์ในชีวิตมันเปลี่ยนไป ก็จะต้องเรียนรู้ที่จะปรับเปลี่ยนมัน”

รัฐประหาร บังคับให้ต้องไกล ‘บ้าน’ เขตปะทะของสงครามที่หลับไม่ลง

“ผมมักสะดุ้งเสียงหมาเห่าทุกครั้ง เพราะเมื่อก่อนผมอยู่ในเขตการปะทะและสู้รบ ทำให้ผมคิดว่าเป็นทหารกำลังจะมาจับตัวผมไป มันทำให้ผมนอนไม่ค่อยจะหลับ ในช่วงที่ย้ายมาแรก ๆ มันลำบากมาก ๆ เพราะผมไม่มีเอกสารทางกฎหมาย ผมเลยต้องอยู่ในห้องเล็ก ๆ เกือบหกเดือนที่ผมไม่ได้ไปไหน ไม่สามารถที่จะคุยหรือติดต่อกับใครได้“

“มันเหงาและเศร้ามาก ๆ เลยนะ”

“แต่พอผมได้บัตรสีชมพู ใบอนุญาตทำงาน นั่นทำให้ผมอุ่นใจและรู้สึกมีเสถียรภาพอีกครั้งหนึ่ง“

มินเล่าถึงเหตุการณ์ในช่วงแรกที่เขาข้ามชายแดนมา หนึ่งในผลกระทบใหญ่ที่สุดสำหรับเขาคือผลกระทบต่อสภาพจิตใจ มินมักจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นพลเมืองชั้นลำดับล่างในประเทศไทย ทำให้เขาต้องคอยอยู่อย่างเกรงใจ อ่อนน้อมถ่อมตนและต้องสงวนท่าทีให้มากที่สุด 

มินคิดถึงบ้านไหม ?

“แน่นอน 1000% ผมอยากกอดพวกเขาตัวเป็น ๆ“

ครอบครัวของมินยังคงอยู่ที่หมู่บ้านด้วยเหตุผลที่ว่า ถ้าหากสมาชิกทุกคนมาประเทศไทย แล้วใครจะเป็นคนดูแล สัตว์ สิ่งของ และบ้านที่พวกเรารัก สำหรับคนสูงอายุในเมียนมานั้น พวกเขาบางคนมองเหมือนว่ามันเป็นเรื่องปกติมาก พวกเขาเคยเห็นการรัฐประหารเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ตั้งแต่ก่อนที่มินจะเกิดด้วยซ้ำไป พวกเขาชินชาจนกลายเป็นเรื่องปกติ สำหรับพวกเขามันก็แค่ อยู่เฉย ๆ ก็เพียงพอ ดังนั้นพ่อแม่ของมินจึงตัดสินใจอยู่ที่หมู่บ้านต่อ

มินเคารพการตัดสินใจของครอบครัวและยังคอยติดต่อกับพวกเขาเป็นระยะ 

“ขอให้สุขภาพแข็งแรงและปลอดภัย โชคยังดีที่เรายังสามารถติดต่อหากันได้“ 

เขารู้สึกโล่งใจทุกครั้งที่ครอบครัวของเขายังคอยตอบข้อความเสมอและเขาหวังว่าจะไม่มีจังหวะใดที่ขาดช่วงการติดต่อกัน 

นานนับ 64 ปี ที่เมียนมาตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศอังกฤษ และได้รับเอกราชในปี พ.ศ. 2491 ภายใต้การรวมชาติของ นายพลออง ซาน ผู้เป็นบิดาของนางออง ซาน ซู จี และถูกรัฐประหารครั้งแรกในปี พ.ศ. 2505 โดยพลเอกอาวุโส เนวินซึ่งต่อมาได้กลายเป็นนายกยาวนานถึง 26 ปี ส่งต่ออำนาจรัฐประหารต่อ ในปี 2531 และรัฐประหารซ้ำใน พ.ศ. 2535 ก่อนจะมีการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2558 และพรรคสันนิบาตชาติแห่งประชาธิปไตยได้เป็นรัฐบาลพลเรือนแรกในรอบ 50 ปี ของเมียนมาที่ต่อเนื่องมาจนถึงการชนะการเลือกตั้งในปลายปี พ.ศ. 2563 และภายหลังถูกรัฐประหารเป็นครั้งที่ 4 ของประเทศเมียนมา 

แสนสั้นราวห้วงความฝันกับช่วงเวลา 5 ปีภายใต้ประชาธิปไตยในอำนาจของรัฐบาลพลเรือน ประชาชนชาวเมียนมามีความหวังที่จะได้เห็นประเทศพัฒนาหลังจากหยุดชะงักไปเพราะการทำรัฐประหารอย่างต่อเนื่อง นี่จึงเปรียบเสมือนชนวนและแรงขับเคลื่อนของคนรุ่นใหม่ในเมียนมาที่ออกมาต่อสู้และเคลื่อนไหว มันเกิดขึ้นอีกครั้งในยุคของพวกเขา และพวกเขายืนหยัดที่จะต่อต้านกับเผด็จการ พวกเขาจะไม่ยอมให้ใครพรากเสรีภาพ ความฝัน และชีวิตที่ดีกว่าของพวกเขาไปอีกครั้ง มันจะต้องไม่ซ้ำรอยดั่งเช่นรุ่นพ่อแม่ของพวกเขา พวกเขาจึงสู้สุดใจ เพื่อประชาธิปไตยในเมียนมา

‘สงคราม’ สามปีกับคณะรัฐประหารยังห่างไกลจากคำว่า ‘สงบสุข’

สิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่งในความคิดของมินคือระบบการศึกษาภายใต้สถานการณ์สงครามกลางเมือง


“เยาวชนในเมียนมาพวกเขาไม่สามารถไปโรงเรียนและมหาวิทยาลัยได้เพราะสถานการณ์การต่อสู้กองกำลังติดอาวุธ หรือบางส่วนที่ไม่ได้เรียนเพราะพวกเขาไม่อยากจะศึกษาภายใต้ระบบการศึกษาของกองทัพที่เผด็จการทหารเป็นผู้สร้าง พวกเขาไม่ยอมรับมัน

“บางพื้นที่ก็ไม่สามารถไปโรงเรียนได้เพราะโรงเรียนจำนวนมากถูกใช้เป็นที่ตั้งแคมป์ของทหาร ดังนั้นพ่อแม่บางคนก็เลือกที่จะไม่ส่งลูกไปโรงเรียน เพราะถ้าเมื่อเครื่องบินขับไล่ไอพ่นมา และมีการปล่อยระเบิด พวกเขาไม่สามารถอยู่กับลูก ๆ ของเขาได้ จะไม่สามารถรู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น พวกเขาจึงไม่ส่งเด็ก ๆ ไปโรงเรียน และบางครอบครัวต้องเริ่มสอนกันภายในบ้าน“

“และล่าสุดมีการประกาศเกณฑ์ทหารให้เข้าร่วมกองทัพเผด็จการทหารซึ่งจะเริ่มใช้ในเดือนเมษายนที่จะมาถึงนี้มันทำให้ทุกอย่างแย่ลงไปจากเดิม อย่างเช่นในหมู่บ้านของฉัน คนหนุ่มสาวที่อายุอยู่ในเกณฑ์ทุกคนพยายามที่จะหาทางออกจากประเทศ พวกเขาไม่อยากจะเป็นเหมือนทหารในกองทัพเผด็จการที่ใช้กำลังทำร้ายประชาชน”

หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเกณฑ์ทหารขึ้นในเมียนมา เป็นผลพวงมาจากการที่กองกำลังชาติพันธุ์ต่าง ๆ สามารถบุกยึดพื้นที่ได้เป็นจำนวนมากและกลุ่มกองทัพเผด็จการทหารเริ่มอ่อนกำลังลง ส่งผลให้เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 ได้มีประกาศจากทางรัฐบาลเมียนมาโดยสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC : State Administration Council) ได้ออกประกาศให้กฎหมายเกณฑ์ทหารมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันประกาศ 

โดยผู้อยู่ในข่ายต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารคือ พลเมืองชายอายุ 18–35 ปี และพลเมืองหญิงอายุ 18–27 ปี  ระยะเวลาการเข้ารับราชการทหาร อยู่ที่ 2 ปีและถ้าหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินสามารถยืดระยะเวลาเข้ารับราชการทหารได้ถึง 5 ปี ในรัฐธรรมนูญของเมียนมา มาตรา 386 กำหนดว่า พลเมืองทุกคนมีหน้าที่ต้องรับการฝึกทหารตามบทบัญญัติของกฎหมาย เพื่อปกป้องและรักษาความมั่นคงของชาติ โดยผู้ฝ่าฝืนและหลีกเลี่ยงการเข้าเกณฑ์ทหาร มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ส่วนผู้ที่กำลังศึกษาและทำงานในต่างประเทศ สามารถผ่อนผันจนกว่าจะสำเร็จการศึกษาหรือสิ้นสุดสัญญาการทำงาน

แต่ในขณะเดียวกันในเมียนมาก็มีกองกำลังสองฝั่งใหญ่ ๆ ถ้าคุณไม่เป็นทหารในกองทัพมิน อ่อง หล่าย ก็ต้องเป็นทหารในกองกำลังชาติพันธุ์ หรือ กองกำลัง PDF แต่คนหนุ่มสาวจำนวนมากไม่ต้องการที่จะเข้าร่วมทั้งสองฝั่ง พวกเขาไม่อยากใช้กำลัง พวกเขาไม่อยากจับอาวุธต่อสู้และเข่นฆ่าใคร พวกเขาแค่ต้องการอยู่อย่างสงบสุข ดังนั้นคนเหล่านี้จำนวนมากจึงข้ามชายแดนเข้ามายังประเทศไทย

“ในสักวันหนึ่งฝ่ายดีจะชนะฝ่ายอธรรม ความยุติธรรมจะชนะทุกสิ่งอย่าง“ 

หนึ่งในข้อความที่มินอยากบอกกับชาวเมียนมา มินยิ้มราวกับว่าสิ่งที่เขาพูดช่างดูไร้เดียงสาภายใต้สถานการณ์อันโหดร้ายในเมียนมาที่เปรียบเสมือนนรกบนดินของประชาชน แต่เขายังคงฝันและเชื่อว่าสักวันสถานการณ์ในเมียนมาจะสามารถดีขึ้นดั่งคำพูดของเขาได้ แม้สักนิดก็ยังดี 

“ได้โปรดยืนหยัดและเข้าร่วมต่อกลุ่มที่เคียงข้างประชาชน”

มินพูดทิ้งท้ายเพราะเขารู้ดีว่าคนหนุ่มสาวจำนวนมาก ในเวลาอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า พวกเขาจะต้องถูกเกณฑ์เข้าไปอยู่ในกองทัพเผด็จการทหาร คนหนุ่มสาวจำนวนมากจะต้องถูกบังคับให้จับปืนอันหนักอึ้งเกินกว่าจะรับไหว ปืนที่ต้องหันปลายกระบอกเข้าหาพี่น้องประชาชนร่วมชาติของตัวเอง

จากฉันถึงฉัน คนในอนาคต 

แล้วกับตัวเองล่ะ มีอะไรที่อยากบอกกับตัวเองบ้างไหม  

เขาใช้เวลาคิดอยู่นานกับการครุ่นคิดว่า ถ้าหากเขาสามารถบอกกับตัวเองในอนาคตเขาจะบอกอะไร สำหรับเขามันเป็นเรื่องที่ยากมากหากจะพูดถึงอนาคตในตอนนี้ เขาแทบจะลืมเลือนไปแล้วว่าตอนนี้เขาต้องการอะไร บางที ขอแค่ให้วันนี้ผ่านไปด้วยดี ไม่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ปะทะเขาอีก ก็คงดีที่สุดแล้ว 

“นอนให้หลับและกินข้าวให้มากขึ้นกว่านี้นะ ให้กินอะไรก็รู้สึกว่ามันอร่อย“  

 มิน, 26 ปี, ประเทศไทย 

มินตอบแล้วหัวเราะ สะท้อนให้เห็นว่าแม้ในคำถามสุดท้าย ชีวิตที่เขาต้องการ ก็ยังเป็นความหวังที่เขาจะได้ใช้ชีวิตที่ธรรมดา กินอิ่มและนอนหลับอย่างปลอดภัย เรื่องพื้นฐานมนุษย์ทุกคนต้องได้รับ แต่มันกลับกลายเป็นสิ่งที่เขาต้องหวัง และฝัน เรื่องราวที่เขาไม่เคยได้รับตั้งแต่หลังรัฐประหารในเมียนมา  

ไม่สิ 

เรื่องราวที่พวกเขาไม่เคยได้รับ

“หวังว่าเราจะได้พบกัน ขอให้ยังมีลมหายใจ เพราะไม่มีใครรู้ว่าอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร สถานการณ์จะเลวร้ายลงหรือไม่ มีแค่พระเจ้าที่จะรู้“  

ธุยะ, 25 ปี, เมียนมา

“ขอให้ได้กลับบ้านและใช้ชีวิตอย่างสงบสุข”  

ออง, 23 ปี, ประเทศไทย  

“พาน้องสาวและแม่กลับมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันให้ได้นะ”

 ตีริ, 21 ปี, เมียนมา

เสียงของคนรุ่นใหม่ในเมียนมา ที่พวกเขาอยากบอกกับตัวเองในอนาคต คนแปลกหน้าที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนแต่พวกเขากลับฝันถึงชีวิตที่คล้ายกัน 

ชีวิตสามัญที่ธรรมดา ชีวิตที่มีสิทธิ์จะฝันและไล่ทำตามความฝัน ชีวิตที่มีรอยยิ้มที่สดใสตามช่วงวัยและรายล้อมด้วยคนที่รัก 

ชีวิตที่ได้กลับบ้านอย่างปลอดภัยและอยู่อย่างสงบสุข

ชีวิตที่มั่นคงว่าเขาจะสามารถมีลมหายใจและอยู่รอด 

ชีวิตชาวเมียนมาที่ได้รับสิทธิมนุษยชนกลับคืนมาในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

แต่ในตอนนี้ พวกเขาไม่ได้รับมัน


ไม่มีใครอยากจากบ้านเพราะภัยสงคราม พวกเขาอยากกลับบ้าน อยากให้ดินแดนบ้านเกิดที่พวกเขารักและผู้คนที่เขารักนั้นสงบสุข แต่รัฐประหาร พรากความฝันและชีวิตพื้นฐานของพวกเขาไป