Earth Calling
เพชร มโนปวิตร
“เมื่อไหร่เราจะหยุดเสแสร้งว่าหากอุณหภูมิเพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 องศาปะการังน่าจะรอด ในเมื่ออุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้นแค่ 1 องศาเราก็เห็นปะการังในเกรทแบริเออร์รีฟฟอกขาวไปกว่า 90% แล้ว”
– Prof. Terry Hughes James Cook University
งานวิจัยล่าสุดที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร Scientific Reports คาดการณ์ว่ามีโอกาสถึง 90% ที่อุณหภูมิเฉลี่ยบนพื้นผิวโลกจะสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงปี 2024 บางภูมิภาคจะได้รับผลกระทบรุนแรงมากกว่าที่อื่น โดยเฉพาะพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ บางส่วนของอเมริกากลางและทะเลแคริบเบียน สิ่งที่ตามมานอกจากสภาวะแห้งแล้งรุนแรงและไฟป่าแล้ว ยังหมายถึงปรากฏการณ์ที่อาจเรียกได้ว่าทะเลเดือด หรือภาวะคลื่นความร้อนใต้น้ำที่จะทำให้เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์
อุณหภูมิที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นในระดับทำลายสถิติอีกครั้ง ทั้ง ๆ ที่ปี 2023 ที่ผ่านมาก็เพิ่งจะถูกบันทึกว่าเป็นปีที่ร้อนที่สุดโลกมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดตั้งแต่เคยมีการเก็บข้อมูลมาตั้งแต่ปี 1850 ทำลายสถิติอุณหภูมิสูงสุดเมื่อปี 2016 ขาดลอยและเมื่อเทียบกับหลักฐานในอดีต อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นจากก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมราว 1.5 องศาของปี 2023 น่าจะเป็นอุณหภูมิเฉลี่ยที่สูงที่สุดในรอบ 1 แสนปีที่ผ่านมา
“เราเคยเห็นแล้วว่าความร้อนระดับนี้จะสร้างปัญหารุนแรงให้กับโลกขนาดไหน เราจึงต้องการเตือนให้ทุกคนเตรียมตัว” Deliang Chen ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์โลกแห่งมหาวิทยาลัยโกเตนเบิร์ก หนึ่งในนักวิจัยกล่าว
การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิบนบกและในทะเลคาดว่าจะทำให้เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวรุนแรงที่สุดอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และจะทำให้แนวปะการังจำนวนมากตายลงในปีนี้ “ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อแนวปะการังกำลังเข้าสู่ภาวะที่เราไม่เคยเจอมาก่อน และเรากำลังอยู่ในจุดเปลี่ยนสำคัญในประวัติศาสตร์” Ove Hoegh-Guldberg ศาสตราจารย์ด้านปะการังแห่งมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ให้ความเห็น
โมเดลคาดการณ์อุณหภูมิเฉลี่ยของโลก สีแดงเข้มคือบริเวณที่คาดว่าจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นผิดปกติมากที่สุดในปี 2024
อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ปีนี้อากาศจะร้อนมากผิดปกติเพราะเรายังอยู่ในช่วงของเอลนีโญ (El Nino) อันเป็นปรากฏการณ์การเปลี่ยนทิศทางของกระแสน้ำและกระแสลมในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งโดยเฉลี่ยเกิดขึ้นเป็นวงรอบทุก ๆ 5-7 ปี จากที่ในภาวะปกติกระแสลมที่รู้จักกันในชื่อลมสินค้าตะวันออก (Eastery Trade Wind) เคยพัดจากฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก (อเมริกาใต้) ไปยังฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก (ออสเตรเลีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) โดยนำพากระแสน้ำอุ่นมาด้วย ทำให้เอเชียและออสเตรเลียได้รับความชุ่มชื้นฝนตกชุก ส่วนชายฝั่งของอเมริกาใต้ก็จะได้กระแสน้ำเย็นที่ไหลเข้าแทนที่ นำพาธาตุอาหารจากทะเลลึกขึ้นมาสู่น้ำตื้น ทำให้ปลาชุกชุม เป็นแหล่งอาหารของนกทะเลและการทำประมงชายฝั่งที่สำคัญ
แต่ระหว่างที่เกิดเอลนีโญ กระแสลมสินค้าตะวันออกอ่อนกำลัง กระแสลมพื้นผิวและกระแสน้ำจะเคลื่อนที่กลับทิศจากฝั่งตะวันตกไปสู่ตะวันออกของมหาสมุทรแทน ทำให้เกิดฝนตกหนักทางอเมริกาใต้ ส่วนออสเตรเลียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกิดความแห้งแล้ง อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นผิดปกติ
อุณหภูมิของมหาสมุทรเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนและส่งผลกระทบต่อแนวปะการังอย่างรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์เริ่มสังเกตว่าปะการังเกิดการฟอกขาวเป็นบริเวณกว้าง (Mass coral bleaching) บ่อยครั้งขึ้นเรื่อย ๆ
คนทั่วไปอาจไม่เคยทราบมาก่อนว่าปะการังความจริงเป็นสัตว์ตัวเล็ก ๆ ที่มีโครงสร้างเรียบง่ายแต่สามารถสร้างโครงสร้างแข็งอันสลับซับซ้อนใหญ่โต เกิดเป็นระบบนิเวศทางทะเลที่หลากหลายอย่างน่าอัศจรรย์ เมื่อใดที่อุณหภูมิสูงต่อเนื่องเป็นเวลานาน ปะการังจะเกิดความเครียด และขับเอาสาหร่าย zooxanthellae ที่คอยผลิตอาหารให้ปะการังออกจากตัวจนเหลือแต่โครงสร้างหินปูนขาว ๆ เหมือนโครงกระดูก
ที่มา: Brett Monroe Garner / Greenpeace
ปะการังฟอกขาวที่เกรทแบริเออร์รีฟเมื่อปี 2017
ถ้าอุณหภูมิไม่ลดลงในเร็ววัน ปะการังที่ฟอกขาวส่วนใหญ่จะตายลง บางโคโลนีอายุหลายสิบปี บางโคโลนีอาจมีอายุหลายร้อยปี อาจตายลงทั้งหมดภายในเวลาไม่กี่อาทิตย์ เปรียบไปจึงไม่ต่างอะไรกับไฟป่า ถ้าไฟไหม้ไม่หนักมาก ต้นไม้อาจจะฟื้นกลับมาได้เอง แต่ถ้าไหม้หนัก ไหม้นาน ป่าทั้งป่าก็ตายเรียบ และใช้เวลานานกว่าจะสามารถฟื้นตัวเองกลับมาได้
ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวที่รุนแรงระดับโลกครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อปี 1998 ซึ่งฆ่าปะการังทั่วโลกไปราว 16% ภายในปีเดียว
ครั้งที่สองคือปี 2010 ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อแนวปะการังทางฝั่งอันดามันของประเทศไทย ซึ่งทำให้ปะการังแข็งในหลายพื้นที่ตายลงเป็นจำนวนมาก แนวปะการังน้ำตื้นภายในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ที่เคยเป็นป่าดงดิบใต้น้ำกลายสภาพเป็นสุสานซากปะการังสุดลูกหูลูกตา ภายในเวลาไม่กี่เดือนแนวปะการังที่เคยอุดมสมบูรณ์ตายลงมากกว่า 90%
ภาพ: เพชร มโนปวิตร
ซากปะการังที่ตายเนื่องจากการฟอกขาวที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์
ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวระดับโลกครั้งที่ 3 เกิดขึ้นต่อเนื่องและยาวนานที่สุดระหว่างปี 2014-2017 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวส่งผลให้แนวปะการังเกรทแบริเออร์รีฟ ที่มีความยาวกว่า 2,300 กิโลเมตรเกิดฟอกขาวอย่างรุนแรงสองปีซ้อนคือในปี 2016 และ 2017 ทำให้แนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้ตายลงราวครึ่งหนึ่ง และยังเกิดฟอกขาวรุนแรงซ้ำอีกครั้งในปี 2020 และ 2022
ที่มา: XL Catlan Seaview Survey
ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวระดับโลกที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว 3 ครั้งในปี 1998, 2010 และ 2014-17
ศาสตราจารย์ Terry Hughes แห่งมหาวิทยาลัย James Cook และคณะ ทำการวิเคราะห์ข้อมูลปะการัง 100 แห่งทั่วโลก พบว่าปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวในช่วงหลังเกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงกว่าเดิม จากที่เคยเกิดขึ้นครั้งใหญ่ทุก ๆ 25-30 ปีในช่วงต้นทศวรรษ 1980s กลับลดสั้นลงเหลือแค่ทุก ๆ 6 ปีโดยเฉลี่ยในปัจจุบัน จนแทบไม่เปิดโอกาสให้ปะการังได้ฟื้นตัว อนาคตของระบบนิเวศที่มีความหลากหลายที่สุดในทะเลกำลังอยู่ในภาวะวิกฤติอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
ที่มา: ARC Centre of Excellence for Coral Reef Studies
แผนที่การเกิดปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ใน Great Barrier Reef เมื่อปี 2016, 2017 และ 2020
ที่ทำให้ปะการังตายไปราวครึ่งหนึ่ง
“มันเหมือนการขึ้นชกกับนักมวยรุ่นเฮฟวี่เวท คุณอาจจะยืนระยะได้สักยก แต่พอขึ้นยกสอง คุณมีโอกาสถูกน็อคแน่ ๆ” Dr. Mark Eakin แห่ง NOAA ผู้ดูแลระบบเตือนภัยปะการังฟอกขาว Coral Reef Watch กล่าว
“ปรากฏการณ์ฟอกขาวที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งขึ้น สอดรับกับโมเดลสภาพภูมิอากาศที่พยากรณ์ไว้เป๊ะ ๆ จากสภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น ภายในกลางศตวรรษนี้ ปะการังส่วนใหญ่ทั่วโลกจะต้องเผชิญกับปรากฏการณ์ฟอกขาวอันเนื่องมาจากอุณหภูมิที่อุ่นขึ้นของน้ำทะเลเกือบทุกปี ถ้าไม่ทุกปี”
แต่ก่อนอาจจะมีช่วงอุณหภูมิลดต่ำลงอันเป็นผลจากปรากฏการณ์เอลนีโญ-ลานีญา แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทำให้ ปีที่ควรจะมีอุณหภูมิหนาวเย็น ร้อนกว่า ปีที่ควรจะร้อน เมื่อ 30 ปีที่แล้ว “เดี๋ยวนี้ไม่มีปีที่หนาวเย็นอีกแล้ว (ในทะเล) มีแต่ปีที่ร้อน กับร้อนเกินไป” Dr Eakin กล่าว
สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคืองานวิจัยของ Ove Hoegh-Guldberg และคณะ ที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร Science เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยได้ทำการวิเคราะห์รูปแบบอุณหภูมิผิวทะเลในช่วง 40 ปีที่ผ่านมาแล้วพบว่ามีโอกาสสูงมากที่จะเกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกตลอดปี 2024 นี้
“หน้าร้อนปีนี้อาจจะเป็นหน้าร้อนแรกที่พวกเราไม่เคยพบเจอมาก่อน และสิ่งที่น่ากลัวก็คือมันอาจเป็นจุดเปลี่ยน (tipping point) ที่เราไม่สามารถย้อนกลับไปได้อีกแล้ว เราอาจพบกับพายุที่รุนแรงที่สุดที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน เราไม่มีทางรู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่ออุณหภูมิกระโดดสูงขึ้นไปขนาดนั้น” Ove Hoegh-Guldberg ให้สัมภาษณ์ไว้ระหว่างการเข้าร่วมประชุมภาคีสมาชิกว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ COP28 ที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ข่าวร้ายก็คือ งานสำรวจทางอากาศและใต้น้ำล่าสุดทางตอนใต้ของแนวปะการังเกรทแบริเออร์รีฟพบว่า เริ่มมีการฟอกขาวเป็นบริเวณกว้างแล้ว ในขณะที่ทางตอนเหนือเริ่มมีการฟอกขาวเป็นบางจุด
ที่มา: Mongabay 5 March 2024
ปะการังนอกจากจะมีความสวยงามอันนำมาสู่การท่องเที่ยวที่มีมูลค่ามหาศาล ระบบนิเวศประเภทนี้ยังมอบนิเวศบริการให้กับคนหลายร้อยล้านคนทั่วโลก ทั้งในแง่แหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ และปราการป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติ
นอกจากผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนแล้ว ในปัจจุบันปะการังหลายแห่งอยู่ในสภาวะเสื่อมโทรมอันเนื่องมาจากมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นมลภาวะขยะ ตะกอนจากการพัฒนาชายฝั่ง และการทำประมงมากเกินขนาด รวมไปถึงการท่องเที่ยวที่ไม่รับผิดชอบ
นักวิจัยด้านปะการังต่างเรียกร้องให้มีความพยายามลดก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง ในขณะเดียวกันก็ต้องลดผลกระทบต่าง ๆ จากกิจกรรมมนุษย์ให้มากที่สุด
ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวคือหลักฐานสำคัญว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันเป็นผลพวงจากการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนของมนุษย์นั้นส่งผลกระทบรุนแรงและกว้างไกลขนาดไหน
ถ้าโลกลงมือแก้ปัญหาโลกร้อนไม่ทันการณ์ นักวิทยาศาสตร์คาดว่าปรากฏการณ์ฟอกขาวจะฆ่าปะการังเกือบทั้งหมดภายใน 30 ปีข้างหน้า ถึงตอนนั้นไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับประชากรกว่า 1 พันล้านคนที่พึ่งพาอาศัยแนวปะการังในการดำรงชีวิต จะเกิดอะไรขึ้นกับกุ้ง หอย ปู ปลา และเศรษฐกิจหมุนเวียนด้านการท่องเที่ยวปีละกว่า 1.2 ล้านล้านบาท
อ้างอิง
Hoegh-Guldberg et al. 2023. Coral reefs in peril in a record-breaking year. Science Vol.382, Issue 6676. PP.1238-124
https://www.climatecodered.org/2016/05/saving-reef-triumph-of-politics-over.html