บทเรียนความขัดแย้งตลอด 20 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ขับไล่ “รัฐบาลทักษิณ” และเกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กระทั่งปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในวังวนความขัดแย้งไม่สิ้นสุด ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีคนโดนคดีจากการออกมาเคลื่อนไหวในสองทศวรรษนี้แล้วกว่า 6,000 คน ตั้งแต่พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ร.บ.ความสะอาด ประกาศคำสั่งจากคณะยึดอำนาจ ความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 (ประทุษร้ายต่อพระราชินี) 112 และ 116
จตุพร พรหมพันธุ์ บอกว่า เจ็บปวดทุกครั้งเวลาต้องไปงานศพคนที่ต้องติดคุกจากคดีทางการเมืองซึ่งสิ่งที่น่าเสียดายก็คือว่า ถ้าหากพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในปี 2557 ไม่ถูกขับเคลื่อนจนสุดซอยคนเหล่านี้ก็จะไม่ติดคุกและเขาก็จะไม่ได้ต้องตายในคุก โดยส่วนใหญ่ประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวจนโดนคดีจากการเคลื่อนไหว มาจากครอบครัวที่ยากจน เดิมทีก็ไม่มีกินอยู่แล้ว มาโดนคดีทางการเมืองเข้าไปอีกบ้านแตกสาแหรกขาด
“นิรโทษกรรมประชาชนครั้งสุดท้ายคือปี 2535 ที่ผู้ฆ่าได้ผู้ถูกฆ่าได้รับการนิรโทษกรรมพร้อมกัน หลังจากนั้น 32 ปีก็ไม่เคยมีประชาชนได้รับการนิรโทษกรรมอีกเลย” ในปี 2557 เขาเคยเสนอให้รัฐบาลขณะนั้นออกเป็นพระราชกำหนด ซึ่งเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารที่สามารถทำได้เลย นิรโทษกรรมให้แค่เฉพาะประชาชน ที่ถูกดำเนินคดีจากการเคลื่อนไหว รัฐบาลขณะนั้นก็พยายามจะตราเป็นพระราชบัญญัติ ซึ่งนำไปสู่ความพยายามในการออกพระราชบัญญัติสุดซอย และนำไปสู่การประท้วงของ กปปส. และการรัฐประหารของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
จตุพร ยอมรับว่าไม่มีใครได้รับประโยชน์จากความพยายามครั้งนั้น มาวันนี้หากเราต้องการที่จะยุติความขัดแย้งรุนแรงที่ดำรงอยู่ในสังคมไทย เกือบสองทศวรรษ “เราจำเป็นจะต้องมีนิรโทษกรรมครั้งใหญ่ เพื่อที่หลังจากนี้ จะได้นับหนึ่งกันใหม่”
ขณะที่ พิภพ ธงไชย ตั้งข้อสังเกตว่า นิรโทษกรรมที่มีประโยชน์ คือ 66/23 ที่นิรโทษกรรมให้กับคนที่เข้าร่วมกระบวนการคอมมิวนิสต์ แต่ครั้งนี้รัฐบาลเห็นความจำเป็นหรือไม่ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ที่ก่อนหน้านี้ก็เคยหาเสียงเกี่ยวกับมาตรา 112 แต่พอได้เป็นรัฐบาลก็ชักจะโลเล “พรรคเพื่อไทยมีความจำเป็นต้องใช้คนรุ่นใหม่ไหม ถ้าจำเป็นก็นิรโทษเสีย” เพราะพิภพมองว่า คดีจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เราเรียกว่า ‘คดีการเมือง’ แม้ก่อนหน้านี้ในระบบยุติธรรมไทยก็ไม่เคยชี้ว่าคดีไหนเป็นคดีการเมือง โดยเฉพาะคดี 112 ที่เกิดกับคนรุ่นใหม่ “ก็นับเป็นคดีการเมือง” แต่พรรคที่ต้องใช้คนรุ่นใหม่แน่ ๆ คือพรรคก้าวไกล เราเลยเห็นว่าพรรคก้าวไกลก็แสดงจุดยืนต่อเรื่องนี้อย่างหนักเเน่น พิภพกล่าว
วัยแห่งการสูญหาย “ถ้าไม่นิรโทษกรรมครั้งนี้”
ณัฐชนน ไพโรจน์ อดีตนักเคลื่อนไหว กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม อธิบายว่าก่อนหน้านี้ การนิรโทษกรรม 11 ฉบับ นิรโทษให้กับคณะรัฐประหาร 6 ฉบับ ให้กับกบฏที่ทำการยึดอำนาจไม่สำเร็จ อีก 3 ฉบับ ให้กับการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน คือ 14 ตุลาคม 2516 6 ตุลาคม 2519 และพฤษภา 35 สามครั้งนี้ “นิรโทษกรรมให้ทันทีหลังจากเกิดเหตุการณ์ แต่การเคลื่อนไหวตั้งแต่ปี 2549 ยังไม่เคยมีใครได้รับการนิรโทษกรรมเลย
ณัฐชนนบอกว่า ถ้าเราไม่นิรโทษกรรมครั้งนี้ สิ่งที่แน่นอนที่สุดคือนี่จะเป็นช่วงวัยแห่งการสูญหาย เพราะมีคนรุ่นเดียวกัน มีความฝันต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ไปในทิศทางเดียวกัน แต่โดนกฎหมายจัดการ “แน่นอนพวกเขาจะสูญหาย”
“เราต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” จากการผลักดันการนิรโทษครั้งนี้ จตุพร พรหมพันธุ์กล่าว ในเมื่อในอดีตที่ผ่านมา ณัฐชนน ตั้งคำถามว่า การนิรโทษกรรมของคณะรัฐประหารถึง 13 ครั้ง แต่ทำไมเราจะนิรโทษกรรมให้กับคนที่ออกมาต้านรัฐประหารบ้างไม่ได้ แต่ประเด็นที่กำลังถกเถียงกันในขณะนี้ คือจะนับรวมการนิรโทษให้กับผู้ต้องคดีในฐานความผิดมาตรา 112 หรือไม่ ซึ่งจตุพรบอกว่า หากไม่นับรวมให้กับคนที่โดนคดี 112 ด้วย การนิรโทษกรรมครั้งนี้ก็จะมีปัญหาและสร้างความขัดแย้งให้ฝังลึกลงไปอีก
ถ้ากลับมามองคนที่โดนคดี มาตรา 112 หลังจาก 2563 ที่ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาว จตุพรบอกว่า “อายุที่มีของเด็กพวกนี้ มีไม่พอที่จะติดคุกหรอก” ในอดีตเราเคยนิรโทษกรรมให้กับคนหนุ่มสาวที่เข้าร่วมขบวนการกับพรรคคอมมิวนิสต์ หนักหนากว่านี้อีก เพราะมีการฆ่าฟันกันถึงแก่ชีวิต
คนที่ได้รับประโยชน์จากการนิรโทษกรรมในครั้งนั้น ก็มีโอกาสเติบโตมาเป็นใหญ่ในวันนี้ อย่างหมอมิ้ง-นายแพทย์ พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสินและภูมิธรรม เวชยไชย รองนายกรัฐมนตรี “สองคนนี้ก็เคยเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” แล้วทำไมวันนี้จะนิรโทษกรรมให้กับคนหนุ่มสาวที่ต้องความผิดในคดี 112 ไม่ได้ ยังคงเป็นคำถามที่คาใจ ณัฐชนนอยู่ไม่น้อย
มองข้ามช็อตหลัง ‘ทักษิณ’ กลับบ้าน ทุกคนรู้นี่คือเรื่องการเมือง
คดีจากการเคลื่อนไหวณัฐชนนบอกว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่อาชญากรรม ถ้าเราไม่ได้นิรโทษกรรมทุกคน จะมีคนที่รู้สึกว่า “ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากสังคม” และถูกลอยแพจากการนิรโทษกรรมครั้งใหญ่ครั้งนี้ จากที่เราจะทำให้ความขัดแย้งมันทุเลาลง ณัฐชนนกลับมองว่าเรากลับทำให้ความขัดแย้งในบางมิติ โดยเฉพาะประชาชนกับสถาบันฯ นั้นยิ่งร้าวลึกลงไปอีก
“รัฐบาลไม่อยากทำฟันธงไปเลย”
พิภพบอกว่า ก่อนหน้าในหลายรัฐบาลก็พยายามที่จะผลักดันการนิรโทษกรรมแต่ก็ไม่เป็นผล พอมาคราวนี้ รัฐบาลในฐานะพรรคเพื่อไทย ที่เคยผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจังในสมัยนายกยิ่งลักษณ์ ก็กลับมีท่าทีที่ไม่ขึงขังเช่นเดิม เพราะนี่คือสิ่งที่รัฐบาลสามารถทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการออกพระราชกำหนด หรือพระราชบัญญัติเพราะรัฐบาลกุมเสียงข้างมากในสภา ส่วนประเด็นที่สองคือ “อำนาจอยู่เหนืออำนาจ” รัฐบาลไม่ได้ถืออำนาจ(รัฐ)ที่แท้จริงเอาไว้ “ทำให้รัฐบาลไม่กล้า” อีกอย่างคือพรรคเพื่อไทย “ไม่มีความพยายามหรอก” เพราะพิภพมองว่าคดีของคนที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยก็ดำเนินไปเยอะแล้ว “บทก็มาอยู่ที่คุณทักษิณ” ในวันที่ทักษิณกลับบ้านก็ไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องนิรโทษกรรม
“เรากลับมาจูบปากกับคนที่เห็นไม่ตรงกันไม่ได้หรอก”
ณัฐชนนมีมุมมองต่อประเด็นการขับเคลื่อนพ.ร.บ.นิรโทษกรรมครั้งนี้ว่าจะนำไปสู่ความปรองดอง สมานฉันท์ และยุติความขัดแย้งตลอดสองทศวรรษ ว่าถึงแม้การมีพ.ร.บ.นิรโทษกรรมไม่อาจทำให้ความขัดแย้งหายไป แต่เขาเชื่อว่า “เราจะถกเถียงกันอย่างมีเหตุมีผลมากขึ้น” เพราะพื้นฐานของประชาธิปไตยยังไงก็ขัดแย้ง ยังไงก็เห็นต่าง แต่โจทย์ใหญ่กว่านั้นคือ เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไรมากกว่า แต่ที่แน่ ๆ ถ้าเราไม่มีการนิรโทษกรรมครั้งนี้ “จะมีคนติดคุกมากขึ้น” อย่างวันนี้สำหรับผู้ต้องขังจากคดีที่เกิดจากการเคลื่อนไหวทางการเมือง “เกินกว่า 50% คือคดี 112”
เชื่อไม่เชื่อ? นิรโทษกรรมแล้ว “ความสัมพันธ์จะดีขึ้น“
พิภพ เขาบอกว่าเป็นตัวยงที่รักสถาบันฯ และเห็นว่าสถาบันฯ มีความจำเป็นต้องอยู่คู่กับสังคมไทย แต่เขาไม่แน่ใจว่าคนรุ่นใหม่จะมีความคิดแบบไหน “เห็นว่าสถาบันกษัตริย์มีความจำเป็นอยู่หรือเปล่า เขาเชื่อว่าจำเป็น” และประโยชน์อันเดียวที่ยังพอมองเห็นในการนิรโทษครั้งนี้ “การยอมรับสถาบันกษัตริย์จะมีมากขึ้นสำหรับคนรุ่นใหม่…
คุณเชื่อไม่เชื่อ ถ้าเชื่อก็นิรโทษกรรมเสีย”