ความกลัวเป็นเรื่องร้ายแรง สิ้นเสียงชัตเตอร์ เหลือไว้เพียง “ความโดดเดี่ยว” ของช่างภาพอิสระในสนามข่าวการเมือง - Decode
Reading Time: 3 minutes

“รูปถ่ายมันเป็นความจริงนะ” ยศธรบอกกับผู้เขียน

เพราะภาพถ่ายหนึ่งภาพไม่ใช่เพียงการกดชัตเตอร์ หากแต่หมายถึงการปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ได้ถามผู้ถูกถ่ายว่ามาจากไหน ทำไมเขาถึงมา ยิ่งหากภาพถ่ายนั้นได้บันทึกชนกลุ่มน้อยในสังคม นั่นหมายถึงการเป็นกระบอกเสียงแก่พวกเขา เป็นพื้นที่ที่แสงส่องไม่ถึง และยากที่หาดูได้ในพื้นที่ปกติ

การขยายตัวของสำนักสื่อออนไลน์หลากหลายเจ้า และการเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมของ ‘คอนเทนต์ครีเอเตอร์’ ที่ทำให้เส้นแบ่งกั้นระหว่างคนข่าวกับคนสร้างสรรค์เริ่มพร่าเลือนไป 

ซึ่งอาจพูดได้ว่าฉากทัศน์สื่อที่เปลี่ยนแปลงนี้เอง ทำให้รัฐพยายามที่จะแบ่งแยก ‘ว่าใครเป็นสื่อและใครไม่ใช่’ ซึ่งสำหรับยศธรแล้ว นี่เป็นการจำกัดและควบคุมสื่ออย่างหนึ่งที่ส่งผลร้ายมากกว่าดี เพราะบางทีเรื่องราวจากคนรัฐมองว่าไม่ใช่สื่อ ‘มันไวรัล’ มากกว่านักข่าวเสียอีก

“เรารู้สึกว่าเหมือนเราต้องไปขอความกรุณาบางอย่าง ขอตรวจสอบประวัติอาชญากรรม มาดูประวัติเราว่าเคยไปชุมนุมที่นี่ บางคนเคยผิดพ.ร.บ. ชุมนุม ถ้าไม่เรียบร้อยก็ไม่มีสิทธิ์เป็นสื่อ เราว่ามันเป็นความพยายามที่จะกดเรา ซึ่งเราคิดว่ากติกาไม่ควรถูกครอบครองไว้โดยผู้มีอำนาจ”

เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563 “ศูนย์ประสานงานสื่อมวลชนในสถานการณ์การชุมนุม (ศปสช.)” ได้ถูกจัดตั้งขึ้น และตามมาด้วยการจัดทำ ‘ปลอกแขนสัญลักษณ์สื่อมวลชน’ เพื่อแสดงตัวตนตามหลักสากล เสรีภาพในการทำข่าวชุมนุมอย่างรอบด้าน และปราศจากการถูกคุกคามจากทุกฝ่าย 

แต่สำหรับ โต้ส-ยศธร ไตรยศ ความพยายามในการจัดทำปลอกแขนสัญลักษณ์สื่อมวลชนดังกล่าว หมายถึงการแบ่งแยกว่าใครได้รับอนุญาตในการบันทึกเหตุการณ์ ซึ่งนั่นความพยายามควบคุมสื่อและการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการรายงานข่าวอย่างหนึ่ง

ในการชุมนุมของคณะราษฎรปี 2563 นอกเหนือไปจากแผ่นป้ายประท้วงและข้อเรียกร้องที่ร่วมสมัย ‘กล้องและภาพถ่าย’ ไม่ใช่เพียงเครื่องมือของนักข่าวอีกต่อไป แต่เป็นเครื่องมือสำคัญของคนรุ่นใหม่ ที่ใช้ในการเรียกร้องและบันทึกประจักษ์พยานที่เกิดขึ้นบนสนามการเมือง “คนรู้สึกว่าเป็นเจ้าของงานเองได้ ตอนไปบรรยายที่มหาลัย ฯ เขาก็ไม่ได้รู้สึกว่านักข่าวจะต้องขึ้นกับสมาคม” เขาอธิบาย

ฉะนั้น เขาจึงไม่ได้มองว่าปลอกแขนคือประโยชน์ของนักข่าว แต่เป็นเครื่องมือของผู้ปกครองมากกว่า

“รัฐพยายามจะตัดสินเราอยู่แล้วว่า คุณเป็นใครในสารบบการเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งถ้าเขาจำแนกว่าคุณไม่ใช่สื่อ คุณก็จะเข้าไปอยู่ในหมวดหมู่ของนักกิจกรรม”

อย่างในกรณีของ ณัฐพล เมฆโสภณ ผู้สื่อข่าวประชาไท และ ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ ช่างภาพจาก SPACEBAR ที่ถูกจับกุมในข้อหาสนับสนุนทำให้โบราณสถานเสียหายจากการขีดเขียนข้อความ ในกรณีที่ทั้งสองติดตามรายงานข่าวนักกิจกรรมพ่นข้อความเครื่องหมายบนกำแพงวัดพระแก้ว เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566 (ทั้งสองได้รับการประกันตัวด้วยวงเงิน 35,000 บาท)

ยศธรตั้งข้อสังเกตว่า กระบวนการยุติธรรมในคดีนี้ไม่สามารถมองว่ามันถูกต้องได้เลย เพราะมันเริ่มต้นที่หมายจับโดยไม่มีหมายเรียกมาก่อน ขณะเดียวกันการติดตามรายงานข่าวนั้นก็เป็นเรื่องปกติตามวิชาชีพสื่อ การเชื่อมโยงว่านักข่าวทั้งสองมีส่วนร่วมในกิจกรรมนั้นจึงเป็นเรื่องที่แปลกประหลาด

เขาพาย้อนกลับไปในท่ามกลางบรรยากาศอาหารดีดนตรีไพเราะในการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (เสื้อเหลือง) และเวทีร้องรำทำเพลง มีข้าวมีปลา ถึงเวลาก็ฟังปราศรัยในการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (เสื้อแดง) ระหว่างปี 2549-2553 ว่าจะเกิดการแบ่งขั้วบ้างอย่างชัดเจน แต่ก็ไม่ได้เกิดภาวะการคุกคามนักข่าวหรือช่างภาพภาคสนามเท่าใดนัก

“อย่างเมื่อก่อน Realframe ก็ถูกเรียกว่าเป็นช่างภาพเสื้อแดง”

ยศธรเล่าว่า ในช่วงเวลานั้นสื่อกระแสหลักไม่อาจเล่าความจริงบนสนามการเมืองได้ครบทุกมุม เขาและกลุ่มเพื่อนช่างภาพที่สนใจในประเด็นทางสังคมและความขัดแย้งทางการเมือง จึงร่วมกันก่อตั้ง Realframe พื้นที่บันทึกเรื่องราวการเมือง ความขัดแย้ง และความจริงของแต่ละฝ่ายบนภาพถ่าย

ในห้วงเวลาที่คนเมืองเสื้อเหลืองออกมาแสดงพลังในการปกป้องการมีอยู่ของสถาบันกษัตริย์
และการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงก็ถูกมองว่าเป็นการชุมนุมจัดตั้งที่มีใครบางคนชักใยอยู่เบื้องหลัง 

ก่อนหน้าเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมษา-พฤษภา 53 ยศธรเล่าว่าการชุมนุมนั้นไม่ได้มีบรรยากาศที่อันตราย แม้กระทั่งการเข้าไปในพื้นที่การชุมนุมของเสื้อเหลืองของสื่อที่เป็นฝ่ายประชาธิปไตย ก็อาจกระทบกระทั่งกันเพียงแค่คำพูดคำจา แต่ไม่ได้รุนแรงจนถึงขั้นคุกคามหรือทำร้ายร่างกาย

“ที่บ้านก็ขอเลยว่าอย่าเข้าไป แต่ก็มีเพื่อนผมหลาย ๆ คนที่เข้าไป เห็นความรุนแรง บางคนยังเป็นนักศึกษาฝึกงานอยู่เลย บางคนก็คิดว่ากูมาทำอะไรวะ”

ยศธรเล่าความรู้สึก

เพราะ ‘คนที่ถือกล้อง’ ตามความรู้สึกนึกคิดของประชาชนทั่วไปก็จะถูกมองว่าเป็นสื่ออยู่แล้ว และสื่อก็มีหน้าที่รายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ฉะนั้นการคุกคามนักข่าวหรือช่างภาพภาคสนาม หรือการถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของการชุมนุมนั้นมักไม่เกิดขึ้นเท่าใดนัก “ตอนนั้นผมก็รู้สึกว่าผมเป็นสื่ออิสระ ถ้าไม่นับวันที่มีการสลายการชุมนุม บรรยากาศในตอนนั้นมันก็ไม่ได้มีความรู้สึกว่ามันอันตราย” ยศธรเล่า

ซึ่งหากย้อนกลับไปสถิติตั้งแต่ 2563 เป็นต้นมา
มีกรณีที่นักข่าวทั้งที่มีสังกัดและเป็นสื่ออิสระถูกจับกุมขณะปฏิบัติหน้าที่ถึง 5 กรณี (รวมกรณีล่าสุด) 

  1. 16 ตุลาคม 2563 – กิตติ พันธภาค ผู้สื่อข่าวประชาไท
    ถูกจับกุมขณะถ่ายทอดสดเหตุการณ์สลายการชุมนุมแยกปทุมวัน (ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน)
  2. 28 กุมภาพันธ์ 2564 – บัญชา ผู้สื่อข่าวสำนักพิมพ์แนวหน้า
    ถูกเจ้าหน้าที่ร้ายร่างกาย จับกุมขณะปฏิบัติหน้าที่สื่อ และถูกตั้งข้อหากว่า 4 คดี
  3. 13 กันยายน 2564 – ณัฐพงศ์ มาลี สำนักข่าวราษฎร และ พนิดา เอนกนวน เพจปล่อยเพื่อนเรา
    ถูกจับกุมขณะถ่ายทอดสดบริเวณแยกดินแดง (ถูกตั้งข้อหาคดีพ.ร.ก. ฉุกเฉิน)
  4. 6 ตุลาคม 2564 – แอดมินนินจา สื่ออิสระจากเพจ Live Real
    ถูกจับกุมขณะถ่ายทอดสดบริเวณแยกดินแดง และถูกตั้งข้อหาคดีพ.ร.ก. ฉุกเฉิน

ซึ่งพอไร่เรี่ยกันแล้วจะพบว่าตั้งแต่ปี 2563 จะพบความเสี่ยงและข้อท้าทายในการทำงานของสื่อ และยศธรมองว่าหากรัฐและสังคมเห็นดีเห็นงามกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น มันจะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของเสรีภาพสื่อไทย

ซึ่งหากเสรีภาพสื่อหมายถึงเสรีภาพของประชาชน การวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการยุติธรรมดังกล่าวในฐานะประชาชนจึงสำคัญ เพื่อไม่ให้สื่อมวลชนเหล่านั้นโดดเดี่ยว และไม่สามารถทำงานเพื่อเป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชนได้

“มันเป็นการแหย่ เหมือนกับว่าสังคมเอาไงกับการตัดสินใจแบบนี้ ซึ่งถ้าสังคมเอาด้วยก็จะทำต่อ และเพดานมันก็จะหดกลับต่ำลงไปเรื่อย ๆ”

สามจังหวัดชายแดนใต้สู่ราชดำเนิน
สื่อบนปลายกระบอกปืน ในวันที่รัฐไม่อยากให้ภาพถ่ายเป็นความจริง

“ถามว่าเราเคยอยู่ในเรดาห์รัฐไหม ก็เคย งานเทศกาลที่จัดก็มีคนไปเฝ้า งานเสวนาก็มีทหารมานั่งฟัง”

ยศธรเป็นช่างภาพที่ทำงานในประเด็นสิทธิมนุษยชนอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะเรื่องราวของดินแดนใต้ที่เขาลงพื้นที่ทำงานหลายครั้ง และกลั่นออกมาเป็นชุดภาพถึงสามชุดที่เล่าความขัดแย้งดังกล่าวในน้ำเสียงที่ต่างออกไป

“Face of Patani” เรื่องราวที่เล่าไม่ได้ ความเจ็บปวดของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษบนพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้  “อิสรภาพของจำเลยที่หนึ่ง” ชุดภาพบันทึกเรื่องราวสุดแสนสามัญของหนุ่มแดนใต้วัย 30 บนการตัดสินคดีด้านความมั่นคงที่พวกเขากำลังเผชิญ “The Deep Place in the Deep South” ชุดภาพบ้านของ 14 ครอบครัวบนพื้นที่ชายแดนใต้ที่เป็นปกติผ่านการบันทึกด้วยสายตาของคนนอก 

“ความมั่นคงถูกเอามาอ้างในทุกระดับ ตั้งแต่ข่าวหรือว่าเรื่องของสามจังหวัด เพราะฉะนั้นมันก็เลยเป็นเรื่องเดียวกัน เราเลยคิดว่าการทำงานของรัฐมันไม่ต่างกันเท่าไหร่”

แต่สิ่งที่ต่างคือ ความสนใจของสังคม ยศธรอธิบายว่าสังคมมักมีปัญหาในรูปแบบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่กรุงเทพฯ ทว่าสังคมกลับไม่ค่อยมีปัญหากับรัฐที่จัดการกับผู้คนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดน ซ้ำร้ายยังให้ฉันทามติบางอย่างกับรัฐ ทหาร ตำรวจ ว่าพวกเขามีเหตุผลที่จะต้องจัดการหรือปราบปรามความไม่สงบที่เกิดขึ้น

แต่ภายหลังปี 2563 รูปแบบดังกล่าวเริ่มเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ยศธรให้ข้อสังเกตว่าอาจเป็นเพราะพื้นที่กรุงเทพฯ ก็ถูกเอารัดเอาเปรียบและถูกเล่นงานโดยเจ้าหน้าที่รัฐเช่นกัน ทำให้คนในพื้นที่กรุงเทพฯ เริ่มมองออกไปบ้างแล้วว่ามีใครบ้างที่อยู่ในสถานการณ์แบบเดียวกับเขา 

“ข้อดีเพียงเรื่องเดียวของเผด็จการคือการทำให้คนตาสว่าง” ยศธรเอ่ยขึ้น

ในฐานะช่างภาพ ยศธรเล่าว่าเขาก็ไม่ได้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคามเท่าไหร่นัก นั่นอาจเป็นเพราะงานของเขาที่มีลักษณะเป็นสารคดีข่าว การใช้ปากคำของผู้ที่ได้รับผลกระทบมาตีความ ทำให้เป็นการยากสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐจะตีความว่ามันเป็นการรายงานเท็จหรือเป็นภัยต่อความมั่นคง แต่เขาก็ยังไม่วายถูกติดตามและมอนิเตอร์จากเจ้าหน้าที่รัฐตามงานเทศกาลหรือเสวนาที่เขาจัดขึ้นอยู่ดี

“คนทำงานอิสระไม่ต้องเข้าคุกหรอก แค่ยกหูทีนึงแล้วบอกว่าไม่เอาคนนี้ มันก็อยู่ยากแล้ว” ดังนั้นยศธรจึงเสนอว่า ควรมีการรวมตัวของคนทำงานด้านสื่อ เพราะความกลัวที่รัฐสร้างขึ้นอาจทำให้คนทำงานอิสระหรือที่เพิ่งก้าวเท้าเข้ามากังวล และไม่กล้าไปแตะต้องเรื่องต้องห้ามของสังคม 

เขามองว่า รัฐและกฎหมายไม่ได้ปรับตัวไปตามบริบทและฉากทัศน์ของสื่อที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้รัฐก็ไม่รู้ว่าจะจัดการกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอย่างไร อาจรุนแรงมากไปกว่าการจับกุมนักกิจกรรม แต่เป็นการจับกุมคนที่รัฐมองว่าผลิตเนื้อหาหรือคอนเทนต์ให้นักกิจกรรมด้วย

ลุกลามเป็นบรรยากาศของความกลัวที่จะเกิดขึ้นกับทั้งองคาพยพของสื่อ เพราะหินก้อนล่าสุดที่รัฐโยนถามทาง โดยเฉพาะสื่ออิสระเหล่านี้ที่อาจไม่รู้จะหันหลังกลับไปพึ่งใคร ฉะนั้นการรวมตัวที่เกิดขึ้นควรมาพร้อม ‘คู่มือ’ ในกรณีที่คนทำงานอิสระเหล่านี้ถูกคุกคามจากรัฐ หรือกระทั่งมีข้อกำหนดอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้คนทำงานเหล่านี้ยังรักษาแนวทางที่เขามีอยู่ได้ 

ยศธรยังเสนออีกว่า ทุกสื่อกระแสหลักควรมีจุดยืนต่อต้านท่าทีของรัฐในคดีลักษณะนี้ด้วย ในฐานะที่สื่อหลักเป็นสื่อที่มีต้นทุนและทรัพยากร มีความปลอดภัยและกำลังมากกว่า พวกเขาก็ต้องแบกรับความเสี่ยงเช่นเดียวกับที่สื่อตัวเล็ก ๆ กำลังเผชิญอยู่ ณ ขณะนี้

เขาอธิบายต่อว่า ไม่จำเป็นต้องทำมากกว่าแต่ต้องพูดความจริงอย่างตรงไปตรงมา เพราะนอกเหนือไปจากความเสี่ยงและล่อแหลมที่ตกอยู่ที่สื่อตัวเล็ก ๆ และไม่มีต้นทุนในการป้องกันตนเอง ทำให้คนทำงานเหล่านี้ก็ยังต้องยืนอย่าง “โดดเดี่ยว” ท่ามกลางสมรภูมิการเมืองที่ร้อนระอุ

โดยที่สื่อกระแสหลักยืนอยู่ โดยคิดแค่ว่า ‘ไม่อยากไปสะดุดเท้าใคร’

“เพดานของคนตัวเล็ก ๆ มันเชื่อมโยงและกลายเป็นบรรทัดฐานที่กระทบทั้งประเทศได้”

ขณะนี้ ศาลยังไม่ได้ตัดสินว่านักข่าวจากประชาไทและ SPACEBAR มีความผิดหรือไม่
ซึ่งยศธรมองว่านี่เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญต่อเสรีภาพสื่อของประเทศไทย

ยศธรยังคงยืนยันกับผู้สื่อข่าว Decode ว่า การถ่ายภาพเหตุการณ์ต่าง ๆ ไม่ได้หมายความว่าช่างภาพผู้นั้นแสดง ทัศนคติว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับสถานการณ์นั้น ๆ แต่เป็นสิทธิและหน้าที่ของช่างภาพข่าวที่จะบันทึกทุกเหตุการณ์ที่อุบัติขึ้นตรงหน้า ความกลัวและเชื่อมโยงทุกเรื่องให้เป็นเรื่องร้ายแรงของรัฐ จึงไม่เป็นผลดีนักต่อเสรีภาพสื่อไทย

แม้น้อยครั้งที่ปากกระบอกปืนจะหันมาทางสื่อ แต่ยศธรบอกว่าทุกครั้งที่หันมามันน่ากลัวเสมอ 

“มันผิดตั้งแต่หลักการคิดแล้ว คุณไปดูดิ เด็กมันเขียนกำแพงวัดเล่นมาตั้งนานแล้ว แม้กระทั่งอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมันก็ทาสีทับไม่รู้กี่ครั้งแล้ว ซึ่งมันก็ไม่เคยทำให้ใครตาย ดันตีความว่ามันสั่นคลอน นั่นก็เพราะว่าเราเปราะบาง ซึ่งพอเปราะบางทุกอย่างมันก็ผิดหมด”

ยศธรเล่าพลางหัวเราะร่วนก่อนจากกัน