วิถี Frugalism อยู่ให้ Lean เพราะเราฝันถึงสังคมที่ Clean - Decode
Reading Time: 2 minutes

ทุก ๆ ต้นปีใหม่ นักวิเคราะห์มักจะพูดถึงแนวโน้ม(Trend) ในสังคมที่สะท้อนพฤติกรรมของผู้คน หนึ่งในเทรนด์ที่จะส่งผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในปี 2567 คือวิถีชีวิตที่เรียกว่า Frugality หรือแนวคิดที่พอจะเรียกได้ว่า “ประหยัดสูง ประโยชน์สุด” โดยบริษัทวิจัยตลาดผู้ทรงอิทธิพลอย่าง Insider Intelligence ได้วิเคราะห์ไว้ว่าวิถีแบบ The Frugalist กลุ่มใหญ่ที่สุดคือคน Gen Z เห็นชัดที่สุดในเรื่องของแฟชั่น พวกเขาค่อนข้างมีวินัยในการใช้จ่าย มักตัดสินใจซื้อสินค้าในราคาที่สมเหตุสมผลที่มีตัวเลือกมากมายในช่องทางช็อปปิงออนไลน์ นอกจากนี้ยังคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม Gen Z จึงซื้อเสื้อผ้าใหม่น้อยลง แต่หันไปหาเสื้อผ้ามือสอง หรือเลือกซื้อสินค้าที่คุ้มค่าและยั่งยืนมากขึ้น

ติดตามเทรนด์นี้จากตัวแทน Gen Z น้ำ First jobber ที่เป็นแฟนพันธุ์แท้เสื้อมือสอง และ Julie นักศึกษาทุนแลกเปลี่ยนจาก McGill University แคนาดา ที่ให้ความสำคัญกับประสบการณ์และความทรงจำที่มีค่าในชีวิตมากกว่าเรื่องเสื้อผ้าข้าวของ รวมทั้งสำรวจตลาดเสื้อผ้ามือสองจากความเห็นของแม่ค้าตึกแดง ปิดจบด้วยการวิเคราะห์จาก กมลนาถ องค์วรรณดี ผู้ประสานงานเครือข่าย Fashion Revolution ประเทศไทย ในประเด็นเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของวัยรุ่นเทสต์ดี 2024 สาย The Frugalist เพื่อสะท้อนภาพกว้างในมิติของสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มากกว่าเรื่องแฟชั่น

“เท่จัง ตังค์อยู่ครบ” แนวคิดของ Gen Z ที่ไม่เดินตามใคร

ผลสำรวจตลาดเสื้อผ้าอเมริกาในปี 2566 ที่ผ่านมา โดย Insider Intelligence พบว่าผู้บริโภคในกลุ่ม Gen Z มีพฤติกรรมการซื้อเสื้อผ้าค่อนข้างน้อย โดยเลือกที่จะใส่เสื้อผ้าซ้ำหรือหันไปหาเสื้อผ้ามือสองมากขึ้น พวกเขาค่อนข้างคำนวณการจับจ่ายอย่างมีเหตุผลมากกว่าคนรุ่นก่อน นอกจากนั้นสไตล์ที่โดนใจวัยรุ่นถึงหนึ่งในสาม คือการมองหาเสื้อผ้าที่มีแนวคิดสร้างสรรค์ เอื้อให้พวกเขาได้ค้นพบสุนทรียภาพหลักที่ได้แสดงออกถึงความเป็นตัวของตัวเอง และจะยิ่งน่าสนใจหากแบรนด์นั้น ๆ เลือกทำการตลาดแบบยั่งยืน

“ส่วนใหญ่คนในรุ่นเราไม่ค่อยเลียนแบบใคร เราจะมีสไตล์เป็นของตัวเอง เหมือนประโยคที่ว่า Don’t tell me how to dress เรารู้สึกว่าใครจะแต่งอะไรก็เรื่องของเขา แต่เราแต่งตัวเพื่อ please ตัวเอง ไม่ได้แต่งเพื่อที่จะให้ใครมาบอกว่าวันนี้ดูดีจัง แต่ก็ดูกาละเทศะตามความเหมาะสมด้วย”

น้ำ First jobber วัย 27 เล่าสบาย ๆ ขณะเลือกซื้อเสื้อมือสองที่ตึกแดง สวนจตุจักร วันนี้เธอมาหาเสื้อผ้าใน theme สีชมพูเพื่อไปร่วมปาร์ตี้กับเพื่อน ๆ โดยวางเงื่อนไขไว้ในใจว่า ต้องได้ราคาสมเหตุสมผล คุณภาพดี สะอาด และไม่ต้องดูแลรักษามาก น้ำเลือกเสื้อเชิ้ตสีชมพูผ้าลินินของแบรนด์ดัง ที่ราคาในช็อปเฉียด 1,000 บาท แต่เสื้อมือสองตัวนี้ราคาแค่ 350 เรียกได้ว่าตรงตามเงื่อนไขทุกอย่าง โดยช่วงอายุเธออาจจะเป็น Gen Z ที่เกือบไปแตะ Gen Y แต่เข้าใจถ่องแท้เกี่ยวกับพฤติกรรมในการช็อปปิงเสื้อผ้าและสไตล์แฟชั่นของคนร่วมยุคสมัย เพราะน้ำเป็นแฟนพันธุ์แท้เสื้อมือสองมาตั้งแต่สมัยที่นี่ยังเป็นโครงการ JJ Green จนพัฒนามาเป็นตึกแดง ศูนย์กลางแฟชั่นวินเทจและเสื้อผ้ามือสองที่เป็นหมุดหมายหลักแห่งหนึ่งของวัยรุ่นเทสต์ดีในยุคนี้

“ส่วนใหญ่สถานที่ช็อปปิงของวัยรุ่นมีไม่กี่แห่ง ถ้าอยากได้เสื้อมือสองหรืองานวินเทจก็มาตึกแดง แต่ถ้าอยากซื้อของช็อปก็ไปสยาม เจนเราจะประมาณนี้ นอกจากนั้นแบรนด์เล็ก ๆ จะมีใหม่ทุกวันทางโซเชียล คือจริง ๆ ไม่ติดนะ ซื้อมือหนึ่งในช็อปก็ได้ แต่ถ้าเจอเสื้อมือสองในร้านที่ดูสะอาด สภาพโอเค ก็ซื้อได้ ที่สำคัญคือเสื้อมือสองมันประหยัด ราคาถูกลงครึ่งนึงเลย อีกอย่างถึงเราใส่เดินไปตามถนน คงไม่มีใครมาถามหรอกว่า เสื้อมือสองปะเนี่ย อาจจะมีเรื่องฟาสต์แฟชั่นด้วย เราถ่ายรูปลง Instragram ไม่อยากใส่เสื้อซ้ำกับตัวเดิม เราซื้อแบบนี้ก็ได้”

เมื่อมองลึกไปกว่าเรื่องแฟชั่น น้ำวิเคราะห์พฤติกรรมและการใช้ชีวิตของคนร่วมรุ่นในมิติอื่น ๆ โดยสรุปว่า Gen Z เป็นคนรุ่นที่ไม่อยากมีภาระ ซึ่งในที่นี้ว่ากันตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ อย่างเสื้อผ้าข้าวของ ไปจนถึงระดับความสัมพันธ์และการวางแผนชีวิตในระยะยาว

“อันดับแรกคือเรารู้สึกว่ารุ่นพ่อแม่เราต้องต่อสู้ เพื่อมีเงิน มีทรัพย์สิน มีลูก เราจึงเกิดมามีความพร้อมและพ่อแม่คอยซัปพอร์ต มีบ้านอยู่ เราจึงไม่ต้องขวนขวายขนาดนั้น ไม่ได้หมายถึงแค่เรื่องเงินแต่หมายถึงความสัมพันธ์ด้วย ถ้ามีใครเข้ามาแล้วไม่ได้ทำให้ชีวิตเราเท่าเดิมหรือดีขึ้น จะรู้สึกว่าทำไมต้องมีภาระ การคิดแบบนี้คงลามไปถึงการมีครอบครัว การวางแผนชีวิต เพราะฉะนั้น Gen Z ทั้งตัวเองและเพื่อน ๆ เราจะ Set priority ที่ตัวเองเป็นหลักมากกว่า”

นอกจากความคิดในการตัดภาระและความรุงรังต่าง ๆ ออกจากชีวิตแล้ว อีกบริบทหนึ่งที่กระทบต่อวิธีคิดของคน Gen Z โดยตรงคือ สภาพเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่ถดถอยและเกิดวิกฤติมากขึ้นทุกขณะ ทำให้การเลือกซื้อข้าวของแต่ละชิ้น หมายรวมทั้งการวางแผนและการให้คุณค่าความหมายในชีวิต ต่างจากคนรุ่นก่อนหน้า เรื่องนี้สะท้อนชัดเจนจากมุมมองของ Julie วัย 26 นักศึกษาโครงการแลกเปลี่ยนจากมหาวิทยาลัย McGill ประเทศแคนาดา ที่เพิ่งมาช็อปปิงที่ตึกแดงเป็นครั้งแรก

“ที่มหาวิทยาลัย มีเพื่อน ๆ เยอะเลยที่ชอบสินค้ามือสอง บางคนก็ขายของพวกนี้ทางเฟซบุ๊ก ทุกอาทิตย์ทางมหาวิทยาลัยจะจัดให้มีการนำของพวกนี้มาขายให้กัน พวก Cloth swap เอาเสื้อผ้ามาแลกเปลี่ยนกัน คิดว่าเป็นเพราะเราอยู่ในช่วงเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก รวมทั้งในแคนาดาด้วย ทำให้หลายคนไม่ได้มีเงินกันมากนัก ไหนจะต้องจ่าย Student loan อีก เราจึงต้องการเก็บเงินเพื่อไปใช้ในเรื่องอื่นที่คุ้มค่ากว่า แทนที่จะไปใช้ในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เราพยายามใช้เงินกับสิ่งที่มัน matter มากกว่าแค่ใช้เงินซื้อเสื้อผ้าหรือกระเป๋าสวย ๆ เราเลือกที่จะซื้อของธรรมดา ๆ ดีกว่า แล้วใช้เงินกับสิ่งที่จะสร้างความทรงจำดี ๆ ทั้งประสบการณ์และการเดินทาง นอกจากนั้นยังมีเรื่องของปัญหาขยะพลาสติก เพราะอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่นต้องใช้น้ำและน้ำมันเยอะมาก พวกเส้นใยพอลิเอสเตอร์ต่าง ๆ ในขณะที่เราใช้เสื้อผ้ามือสองได้ คิดว่าคนรุ่นเรามีจิตสำนึกในเรื่องนี้”

หันมาฟังมุมมองของแม่ค้าตึกแดงอย่าง นุช ที่จับตลาดเสื้อผ้ามือสองมาโดยตลอด เธอเคยขายอยู่แถวสยาม ก่อนย้ายมาขายในโครงการเจเจกรีน และเปิดร้านบนชั้น 4 ที่ตึกแดงในปัจจุบัน นุชเล่าว่าลูกค้าของเธอเริ่มวัยลดลงเรื่อย ๆ นอกจากนั้นยังเต็มไปด้วยคนต่างชาติที่นิยมช็อปปิงเสื้อผ้ามือสอง

“เดี๋ยวนี้น้อง ๆ เด็กผู้หญิงชอบมาหาเสื้อเชิ้ตผู้ชาย ใส่เป็นเสื้อคลุมโอเวอร์ไซส์ จับคู่กับกระโปรง รองเท้าผ้าใบ เขาจะดูแฟชั่นจากโซเชียล บางทีให้ดูภาพในมือถือเลย ถามว่าพี่มีแบบนี้มั๊ย เขาแต่งตัวตามแฟชั่นญี่ปุ่น เกาหลี อายุประมาณวัยมัธยมต้นก็มาแล้ว บางทีพ่อแม่พามาซื้อก็มี พอเขาซื้อเสื้อร้านเรา จะแนะนำให้ไปซื้อกางเกง รองเท้า ร้านอื่น ๆ เพราะซื้อของที่นี่รวมทั้งตัวให้ทั้งหมวกเหมิกทั้งแว่นตา 1,000 บาทก็เอาอยู่ เป็นของแบรนด์แต่เป็นมือสอง ทางร้านจะซักรีดทำความสะอาดแล้ว ลูกค้าซื้อแล้วใส่ออกไปได้เลย”

ปฏิวัติเงียบผ่านเสื้อผ้าที่ห่อหุ้มภายนอกสู่ความหมายของโลกภายใน

สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าเทรนด์แฟชั่นสินค้ามือสองของเหล่า The Frugalist คือปัจจัยที่เป็นแรงขับดันอยู่เบื้องหลัง โดยเฉพาะแนวคิดเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน(Circular Economy) ที่ดีต่อกระเป๋าตังค์ ดีต่อใจ และดีต่อโลก หาคำตอบในประเด็นนี้จาก กมลนาถ องค์วรรณดี ผู้ประสานงานเครือข่าย Fashion Revolution ประเทศไทย คนวงในที่ทำงานขับเคลื่อนเรื่องแฟชั่นยั่งยืนมายาวนานร่วม 7 ปี   

“Fashion Revolution เป็นเครือข่ายของชุมชนที่สนใจและชอบแฟชั่น ในแง่ที่ใช้เป็นเครื่องมือในการแสดงออก โดยเราไม่เอาด้วยกับการทำลายสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นเหมือนกลุ่ม Volunteer ที่จัดกิจกรรมและทำงานในด้านแฟชั่นยั่งยืนในหลายรูปแบบ”

กมลนาถอธิบายถึงจุดยืนขององค์กรที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก สำหรับในประเทศไทย เธอย้อนเล่าว่าเริ่มต้นทำงานมาตั้งแต่ปี 2561 โดยกิจกรรมหลักเน้นใน 4 รูปแบบ หนึ่งคือการจัดงานแลกเสื้อผ้า (Cloth Swap) ในกลุ่มผู้ที่สนใจทั้งแฟชั่นและการลดการซื้อเสื้อผ้าใหม่ กิจกรรมส่วนที่สองของกมลนาถเน้นในเรื่องการเผยแพร่สื่อสารแนวคิดแฟชั่นยั่งยืนในสื่อต่าง ๆ ส่วนที่สามคือผลักดันให้เกิดเวิร์กช็อปและวงคุยต่าง ๆ ที่ลงลึกถึงการหันกลับมารักตัวเอง ไม่ต้องวิ่งตามเทรนด์และตั้งคำถามต่ออุตสาหกรรม Fast Fashion ที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมในหลายมิติ ส่วนกิจกรรมในรูปแบบที่สี่เป็นเรื่องของการสร้างความร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ ที่มีวิสัยทัศน์เดียวกัน เพื่อพูดเรื่องความยั่งยืนทางสังคมและสิ่งแวดล้อม

“จริง ๆ เราไม่ได้คาดหวังว่าเรื่องนี้จะต้องแมส แต่เรามองหาคนที่ชอบเหมือนกัน แล้วค่อย ๆ เติบโต เราค่อย ๆ ทำมาตั้งแต่ปี 2561 อาจจะดร็อปไปบ้างช่วงโควิด จนถึงตอนนี้ค่อนข้างพอใจในระดับหนึ่ง เพราะตอน 2561 ยังไม่มีใครที่พูดเรื่องฟาสต์แฟชั่น หรือ Awareness เรื่องขยะเสื้อผ้า ประเด็นการกดขี่แรงงานในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าอะไรขนาดนั้น แต่ทุกวันนี้ เรื่องที่เราทำค่อย ๆ กลายเป็นกระแสหลักมากขึ้นเรื่อย ๆ พวก Luxury Brand ต่าง ๆ เริ่มมีการพูดถึงเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นจึงค่อนข้างมีความหวังว่าเรื่องที่เราจุดประกายจะค่อย ๆ ไปอยู่ในกระแสหลัก เห็นเด็กรุ่นใหม่ในโลกออนไลน์ตระหนักเรื่องฟาสต์แฟชั่นกันมากขึ้น โดยที่เราไม่ได้รู้สึกว่าเรื่องทั้งหมดนี้มาจากเราอย่างเดียว แต่เทรนด์ของทั้งโลกกำลังมาทางนี้”

การจัดกิจกรรมและรณรงค์ของ Fashion Revolution ยังสร้างแรงบันดาลใจและทำให้เกิดธุรกิจที่ยืนอยู่บนแนวคิดความยั่งยืน(Sustainable) และเศรษฐกิจหมุนเวียน(Circular Economy) หลากหลายรูปแบบ เช่น นักธุรกิจที่เข้าร่วมกิจกรรมเกิดแนวคิดในการทำสตาร์ทอัพในการขายเสื้อผ้ามือสองออนไลน์ หรือผู้ประกอบการที่เป็นคนรุ่นสองของครอบครัวทำธุรกิจโรงงานเสื้อผ้าขนาดใหญ่ เกิดแรงบันดาลใจที่อยากทำแฟชั่นซึ่งดีต่อสิ่งแวดล้อม โดยกมลนาถย้ำว่า ในแง่หนึ่ง Fashion Revolution เป็นเหมือนแหล่งความรู้ด้านแฟชั่นและการทำธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน เพื่อให้ผู้ที่สนได้ร่วมเรียนรู้ นอกจากนั้นยังทำให้เห็นแนวทางของธุรกิจใหม่ ๆ ในอนาคต

เธอเชื่อมั่นในประเด็นที่ผลักดันมาตลอด และมีความหวังว่าแนวคิดนี้จะถูกมองเห็นมากขึ้นเรื่อย ๆ จากทั้งกระแสหลักและรัฐบาลผู้กำหนดนโยบาย

“เรื่องที่เราพูดเป็นเรื่องเดียวกับที่รัฐบาลอยากทำ คือการขับเคลื่อนแฟชั่นไปสู่ความยั่งยืน รวมทั้งประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมและผลผลิตจากท้องถิ่น ส่วนตัวเมื่อคนถามว่าถ้าไม่ไปในแนวทางฟาสต์แฟชั่นแล้วจะทำยังไง เพราะในแง่หนึ่งแนวคิดนี้อาจค่อนข้างสวนทางกับ Capitalism จะบอกว่าสิ่งแรกคือการสนับสนุนท้องถิ่น ทั้ง Local mass product หรือสิ่งทอต่าง ๆ เลือกสนับสนุนแบรนด์เล็ก มากกว่า Global Chain คือประเด็นแฟชั่นที่เราพูด สะท้อนทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม โดยที่ผู้กำหนดนโยบายเห็นดีเห็นงามกับทางนี้ เพราะตรงกับเรื่องที่รัฐอยากผลักดัน”

เทรนด์แฟชั่นในสไตล์ The Frugalist ที่กำลังฮิตในกลุ่ม Gen Z อาจจะวูบวาบ มาแล้วไปเหมือนกระแสแฟชั่นอื่น ๆ แต่สิ่งที่เริ่มลงรากในใจของคนรุ่นนี้ไม่ใช่แค่เรื่องความเท่หรือเทรนด์แฟชั่น พวกเขาคือ “ผู้ประสบภัย” จากผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่เป็นผลพวงจากคนรุ่นก่อน และการสมาทานแนวคิดแบบ Frugality อาจเป็นหนึ่งในการปฏิวัติเงียบที่ทรงพลัง ผ่านเสื้อผ้าที่ห่อหุ้มภายนอกสู่ความหมายทางปรัชญาภายในจิตใจ เหมือนที่กมลนาถได้ฝากทิ้งท้ายไว้ “เราไม่ได้คิดว่าแนวทางนี้ดีที่สุดสำหรับทุกคน เพราะความ lean ของแต่ละคนคงไม่เท่ากัน แต่สำหรับเราคือมันเบา ไม่ต้องบีบบังคับให้ตัวเองต้องฝืนทำ ไม่ต้องหาเงินเยอะ ๆ มาผ่อนบ้าน ผ่อนรถ แต่ถ้าสิ่งไหนจำเป็นก็ทำไปได้ ข้อดีคือเรามีโอกาสได้สำรวจว่าเราชอบหรืออยากทำอะไร สิ่งที่เราได้มากขึ้นคือเวลา ประสบการณ์ Connection มิตรภาพ ที่เป็นเหมือนอีก Currency หนึ่ง เราอาจไม่ได้มีเงินหรือทรัพย์สินมากมายเหมือนรุ่นพ่อแม่ที่เป็น Gen X แต่ที่เรามีคือรูปแบบอื่นของการแลกเปลี่ยนที่ทำให้เรามีความสุข มีคุณค่า นอกจากการลงทุนในทรัพย์สินเงินทอง สิ่งที่สำคัญอันหนึ่งคือเราต้องลงทุนในความสัมพันธ์ เหมือนกับเรามี Social Capital ที่ทำให้เราไม่รู้สึกโดดเดี่ยวในโลกนี้”