จดหมายถึงลูกสาวฉบับที่ 3 : สังคมชายเป็นใหญ่ ความเหลื่อมล้ำมหาศาลในระบบทุนนิยม - Decode
Reading Time: < 1 minute

ประกายไฟลามทุ่ง

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

สังคมที่เราอยู่นี้แม้จะมีความก้าวหน้ามากมาย มนุษย์สามารถประดิษฐ์ยาและเทคโนโลยีการรักษาโรคมากมาย มนุษย์สามารถผลิตอาหารในวันเดียวที่เพียงพอต่อการบริโภคได้ทั้งปี แต่ในขณะเดียวกันในยุคสมัยที่ลูกสาวพ่อเติบโตก็เป็นยุคสมัยของความเหลื่อมล้ำที่เราไม่เคยพบเจอมาก่อน กลุ่มทุนมีอำนาจมากมายมหาศาล ขณะที่อำนาจรัฐ ที่มนุษย์เคยต่อสู้จนสร้างระบอบประชาธิปไตยก็ตกต่ำลงไปด้วยอำนาจทุน จนไม่สามารถเป็นหลังพิงของผู้คนส่วนใหญ่ได้ กฎระเบียบ กติกาที่ถูกออกโดยรัฐในช่วงหลายสิบปีก่อนลูกเกิด ก็เป็นกฎกติกาที่ทำให้คนรวยอยู่แล้วรวยได้ง่ายขึ้น ขณะที่กฎหมายและกติกากลับกีดกันให้คนธรรมดาไม่สามารถมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นราคาของการศึกษา สาธารณสุข ที่อยู่อาศัยที่เกินเอื้อมสำหรับคนธรรมดา ขณะที่มีคนกลุ่มน้อย ๆ ที่แสวงหาความมั่งคั่ง จากการทำงานหนักของชีวิตคนธรรมดา

ถ้ามีมนุษย์ต่างดาวมองมาที่โลกของเรา สิ่งที่พวกเขาจะแปลกใจที่สุดคือ ความเหลื่อมล้ำมหาศาล ที่ไม่น่าเชื่อว่าเราอยู่ในสังคมเดียวกัน หายใจด้วยอากาศเดียวกัน ความเหลื่อมล้ำนี้อาศัยกลไกทางเศรษฐกิจ ระบบทุนนิยมปรับเปลี่ยนตัวเองให้สะสมความมั่งคั่ง โดยที่โยนความเสี่ยงทั้งหมดให้กับแรงงาน โดยอาศัยระบบการเมืองที่สุดท้ายประชาธิปไตย เหลือเพียงแค่รูปแบบ แต่นอกจากกลไกทางการเมืองและเศรษฐกิจ กลไกทางวัฒนธรรมยังมีส่วนสำคัญในการทำให้คนยอมรับสภาพที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้  และหนึ่งในค่านิยมนั้นคือค่านิยมชายเป็นใหญ่ ที่ค้ำจุนความเหลื่อมล้ำของสังคมนี้

ค่านิยมชายเป็นใหญ่ไม่ได้เกิดจากสุญญากาศ มันเกิดกลไกการแบ่งงานกันทำระหว่างเพศในระบบทุนนิยม ที่มีความชัดเจนมากขึ้นในระบบอุตสาหกรรม เริ่มด้วยกันผู้หญิง ให้ทำหน้าที่ดูแลบ้านในฐานะ แม่ ภรรยา และลูกสาว เป็นแรงงานฟรีที่ทำหน้าที่ให้กับชนชั้นนายทุน เพื่อสามารถที่จะมีแรงงานราคาถูกรุ่นต่อรุ่น

ตลกร้ายต่อมาคือการกดขี่แรงงานที่หนักหนาทำให้ค่าแรงค่าตอบแทน แม้แต่กับชีวิตตัวคนเดียวก็ยังไม่พอ ผู้หญิงจึงถูกผลักให้เข้าสู่ตลาดแรงงาน แต่เป็นตลาดแรงงานที่มีความยืดหยุ่น สภาพการจ้างไม่มั่นคง มีความชั่วคราวให้เหมาะสมกับการที่ต้องกลับไปดูแลชนชั้นกรรมาชีพชายที่ถูกกดขี่ในระบบทุนนิยม ความเหลื่อมล้ำนี้แผ่ขยายออก ทำให้ผู้หญิงนอกจากถูกกำหนดสถานะผ่านเพศสภาวะให้ดูแลคนในครอบครัว และยังได้รับค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม แบกรับความเหลื่อมล้ำทั้งในที่บ้าน และในตลาดแรงงาน

การกดขี่ผู้หญิง จึงไม่ใช่เกิดจากกรรมาชีพผู้ชาย แต่เป็นระบบทุนนิยม ที่แบ่งแยก แรงงานหญิง แรงงานชายออกจากกัน และสร้างค่านิยมชายเป็นใหญ่ เพื่อหลอกลวงให้ผู้ถูกกดขี่ชายรู้สึกใกล้ชิดกับชนชั้นนำ และแบ่งแยกความรู้สึกการเป็นเพื่อนร่วมสังคมออกจากกัน “ค่านิยมชายเป็นใหญ่” จึงฝังลึก และทำร้ายผู้คนอย่างมาก

ค่านิยมชายเป็นใหญ่ สร้างภาวะ “ความเป็นชายเป็นพิษ Toxic Masculinity” ซึ่งทำงานได้ดีกับระบบทุนนิยม ไม่ว่าจะเป็นค่านิยม การทำงานหนัก การอุทิศตน การแบกรับความรู้สึก หรือความเชื่อว่าการเอาตัวรอดและรับผิดชอบเฉพาะตัวเอง การขาดสำนึกรวมหมู่ หรือการขาดความเห็นอกเห็นใจผู้ที่ไม่เกี่ยวสัมพันธ์กับตน พวกเขาอาจไม่ได้เป็นผู้ที่ใช้ความรุนแรงกับผู้หญิง หรือพวกเขาอาจจะพูดจาสุภาพตลอดเวลา แต่พวกเขามีค่านิยมส่งเสริมระบบทุนนิยมได้อย่างน่าตกใจ เชื่อการแข่งขันแบบแพ้คัดออก เชื่อในกับค่านิยมอ่อนแอก็แพ้ไป พวกเขามองว่า ความเสมอภาคเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ แต่กลับคิดว่าระบบแปลกประหลาดที่ทำให้คนที่มั่งคั่งที่สุดทำงานน้อยที่สุดเป็นเรื่องปกติ ด้วยคำอธิบายง่าย ๆ ว่า พวกเขา เก่ง ฉลาด ขยัน มากกว่าคนอื่น ซึ่งเป็นเรื่องที่ห่างไกลความจริงอย่างมาก

ค่านิยมชายเป็นใหญ่ แฝงอยู่ในค่านิยมแบบจารีตประเพณีในศาสนาและค่านิยมต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน แต่มันไม่ได้เป็นเรื่องโบราณเก่าก่อน มันล้วนเป็นสิ่งที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาภายหลังในห้วงเวลาปัจจุบัน ซึ่งสร้างค่านิยมความเป็นแม่ ความเป็นพ่อ ความเป็นหญิง ความเป็นชาย ที่มีลักษณะตายตัว

พ่อเองก็เติบโตมาพร้อมกับค่านิยมเหล่านั้น ยุคหนึ่งเราก็เคยมองว่าเป็นเรื่องปกติ เป็นเป้าหมายในชีวิตที่ควรยึดถือ แต่เราก็เติบโตมาในช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลง และเรียนรู้ว่าค่านิยมบางอย่างในยุคสมัยของพ่อ หรือที่พ่อคุ้นเคย ก็อาจไม่มีประโยชน์ หรืออาจเป็นโทษในยุคสมัยของลูกได้ พ่อเองก็ต้องเรียนรู้จากลูกเมื่อลูกเติบโตขึ้น ฟังเรื่องราวความสุข ความทุกข์จากยุคสมัยของลูก ซึ่งลูกเองก็อาจจะเรียนรู้และแปลกใจว่า เหตุใดคนในยุคสมัยของพ่อถึงสร้างและอดทนกับค่านิยมที่แสนแปลกประหลาดหลายอย่างได้

ในยุคสมัยที่ลูกจะเติบโตขึ้น ลูกจะมีโอกาสได้เห็นดาวหางฮัลเลย์เมื่อลูกอายุเท่าพ่อตอนนี้ และเมื่อลูกเข้าสู่วัยชราลูกจะมีโอกาสได้อยู่ถึงศตวรรษที่ 22 อันเป็นยุคที่ห่างไกลเกินจินตนาการของพ่อ พ่ออาจไม่ได้เห็นมันด้วยตา แต่ได้แต่หวังว่า ลูกจะได้เติบโตในสังคมที่เสมอภาค สังคมที่ค่านิยมชายเป็นใหญ่เป็นเรื่องล้าสมัย และเราสามารถคิดฝันถึงระบบเศรษฐกิจอื่นที่มากกว่าระบบทุนนิยม ยุคสมัยของลูกจะมาถึง และคนรุ่นพ่อไม่ว่าจะทำผิด หรือทำถูกมาในอดีตก็จะเป็นฐานสำคัญให้คนรุ่นลูกได้เรียนรู้