Pluto เจ้าหนูอะตอมกับโลกที่เต็มไปด้วยความเกลียดชัง - Decode
Reading Time: 3 minutes

ย้อนกลับไปประมาณยี่สิบปีก่อน ในช่วงทศวรรษที่ 2000 ได้มีการ์ตูนญี่ปุ่นจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นอนิเมะหรือมังงะที่พูดถึงความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม Pluto ของอุราซาวะ นาโอกิ ก็เป็นหนึ่งในนั้น

Pluto เป็นมังงะที่ถูกเขียนในปี 2003 โดยเป็นการเล่าเจ้าหนูปรมาณูมังงะจบในตอนที่ตีพิมพ์ช่วงทศวรรษที่ 1950 – 1960 ของเท็ตซึกะ โอซามุเสียใหม่ ให้มีความร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น โดยอุราซาวะได้ใช้ตอนคลาสสิก ‘หุ่นยนต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก’ เป็นพล็อตในการดำเนินเรื่อง โดยขยายจากการ์ตูนจบในตอนกลายเป็นมังงะยาว 8 เล่ม

โดยอุราซาวะได้ทำการเปลี่ยนตัวเอกจากอะตอม (Atom) ไปเป็น เกซิกต์ (Gesicht) ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ตัวประกอบในเรื่องต้นฉบับ และเปลี่ยนแนวเรื่องกลายเป็นการ์ตูนแนวสืบสวน ซึ่งทำให้เรื่องนี้ขึงขังจากเดิม บางคนถึงขั้นบอกว่ามืดมน และคงไม่เป็นการกล่าวเกินเลยไปนักหากจะบอกว่า Pluto เปรียบเสมือนการโยนอะตอมเข้ามาเจอกับปัญหาในขณะนั้น เห็นได้จากภูมิหลังของเรื่องอุราซาวะได้แรงบันดาลใจชัดเจนจากสงครามอิรักในปี 2003 ซึ่งทำให้อะตอมต้องเผชิญกับโลกที่เต็มไปด้วยสงคราม ความขัดแย้งและความเกลียดชัง

หัวใจของเรื่องคือความเกลียดชัง

แม้จะกล่าวว่า Pluto เป็นการโยนอะตอมเข้ามาในโลกที่แสนจะโหดร้าย แต่ก็ใช่ว่าสมัยของเท็ตซึกะ โอซามุจะไม่เคยแตะเรื่องประเด็นใหญ่ ๆ

ที่จริงงานจำนวนมากของเท็ตซึกะ โอซามุยังคงพูดคุยกับผู้คนในปัจจุบันเพราะเขาสามารถแตะปัญหาหลาย ๆ อย่างในเชิงศีลธรรม และเนื้อหาก็นับว่าหนัก กรณีของอะตอมก็เช่นกัน

โดยหุ่นยนต์ของเท็ตซึกะ โอซามุถูกออกแบบมาเพื่อใช้แทนภาพของคนอื่น เป็นภาพแทนของชาติพันธุ์อื่นที่มีความเป็นคนนอก กรณีของ Pluto อุราซาวะเลือกที่จะคงลักษณะของหุ่นยนต์ในลักษณะนี้ แต่มีการเขียนความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์เสียใหม่ จากที่ในต้นฉบับถึงจะมีการต่อต้านอยู่บ้างแต่สังคมในโลกของอะตอมค่อนข้างยอมรับหุ่นยนต์ในฐานะรูปแบบชีวิตแบบหนึ่ง แต่ใน Pluto หุ่นยนต์ในเรื่องยังอยู่ในช่วงตั้งไข่ หุ่นยนต์ยังมีความเป็นเครื่องมือมากกว่าจะถูกยอมรับเป็นสิ่งมีชีวิตรูปแบบใหม่ และมนุษย์จำนวนมากก็เกรงกลัวว่าหุ่นยนต์จะมาแทนที่มนุษย์

Pluto ได้ทำการสำรวจความกลัวของมนุษย์ที่จะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ผ่านสายตาของตัวละครความกลัวนั้นนำมาสู่ความเกลียดชัง อย่างอดอล์ฟ ฮาส (Adolf Haas) มนุษย์ผู้สนับสนุนกลุ่มเหยียดหุ่นยนต์

อุราซาวะเลือกที่จะใช้การสร้างกลุ่มผู้เหยียดหุ่นยนต์ออกมาให้เข้าใจง่าย เครื่องแต่งกายของคนในสมาคมก็เหมือนกับเครื่องแต่งกายของกลุ่ม KKK ในโลกจริง (แม้แต่การเลือกชื่อของอดอล์ฟ ฮาส อุราซาวะก็ดูจะเลือกชื่อที่ให้ภาพได้ทันทีอย่าง อดอล์ฟ ซึ่งเป็นชื่อของฮิตเลอร์ผู้นำเผด็จการของนาซีเยอรมัน)

โดยความเกลียดชังหุ่นยนต์ของฮาสเริ่มจากการที่พ่อของเขาโดนหุ่นยนต์แย่งงาน แถมต่อมาพ่อของเขาก็ดันโดนหุ่นยนต์จับได้ว่าขโมยของ จนกลายเป็นคนติดเหล้า แล้วก็ฆ่าตัวตายในที่สุด

สิ่งที่เกิดขึ้นกับพ่อของอดอล์ฟ ฮาสทำให้เขาและพี่ชายเกลียดหุ่นยนต์เข้ากระดูกดำ พี่ชายของเขาเลือกที่จะระบายความแค้นออกมาโดยการไล่ล่าหุ่นยนต์ โดยเฉพาะโมเดลที่เป็นเด็ก จนสุดท้ายถูกหุ่นยนต์วิสามัญ ซึ่งก็ยิ่งเพิ่มความเกลียดชังในใจฮาสเข้าไปอีก

นัยหนึ่งอดอล์ฟ ฮาสก็เป็นเหยื่อของโครงสร้างเศรษฐกิจที่หุ่นยนต์เริ่มเข้ามาแทนที่ โดยในโลกจริงลักษณะเช่นนี้เกิดในสังคมเช่น สหรัฐฯ ที่คนขาวรู้สึกว่าตนถูกแย่งงานจากคนกลุ่มอื่นที่อพยพตามมาทีหลัง หากแต่อีกนัยหนึ่งทั้งอดอล์ฟ และพี่ก็เป็นผู้กระทำความรุนแรงอีกทีหนึ่งไปพร้อมกัน

เรื่องของอดอล์ฟ ฮาสเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ที่มีผลต่อเนื้อเรื่องของ Pluto น้อยมาก หากแต่สำคัญต่อการเข้าใจประเด็นเรื่องความเกลียดชังที่อุราซาวะพยายามจะสื่อ และนับว่าความเกลียดชังนี่แหละเป็นประเด็นหลักใน Pluto

โดยความเกลียดชังของอุราซาวะมีลักษณะเป็นความเกลียดชังเชิงชาติพันธุ์ โดยจากเรื่องของอดอล์ฟ ฮาส เราจะเห็นภาพของความเกลียดชังในลักษณะของวงจร เพราะโดนกลุ่มเริ่มก่อนเลยไปทำกับคนอื่นในกลุ่มนั้น สุดท้ายคนในกลุ่มนั้นก็กลายเป็นเกลียดชังไปในที่สุด

อุราซาวะได้ผนวกประเด็นเรื่องนี้เข้ากับกิมมิคอีกอย่างในเรื่อง ซึ่งเป็นกิมมิคเรื่องของปัญญาประดิษฐ์ โดยกลวิธีสำคัญในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ให้มีความใกล้เคียงกับมนุษย์มากยิ่งขึ้น คือ การใส่ข้อมูลความรู้สึกแบบสุดโต่งอย่างความเกลียดชังลงไป ซึ่งเมื่อใส่ไปแล้วหุ่นยนต์จะอยู่ในจุดที่ใกล้เคียงกับมนุษย์มากขึ้น จนสามารถโกหกได้ อันเป็นลักษณะที่อุราซาวะพยายามจะบอกว่าเป็นลักษณะของมนุษย์

ทว่าหุ่นยนต์ที่ถูกพัฒนาด้วยความเกลียดชังก็มีแนวโน้มจะเป็นภัยต่อโลกต่อไป และมีความเสี่ยงที่จะฆ่าล้างบางมนุษย์เพื่อล้างแค้นต่อไป ซึ่งการล้างแค้นก็จะนำมาสู่ความเกลียดชังต่อไป

การหยุดวงจรของความเกลียดชัง

สำหรับการ์ตูนญี่ปุ่นร่วมสมัยกับตอนที่ Pluto ตีพิมพ์ไม่ว่าจะอนิเมะหรือมังงะที่มีประเด็นอยู่ที่ความเกลียดชังส่วนมากจะมีทางลงในลักษณะเดียวกัน นั่นก็คือ ความเกลียดชังหยุดได้ด้วยการไม่ส่งต่อความเกลียดชังต่อ กรณีของ Pluto ก็เช่นกัน

ในตอนสุดท้ายที่อะตอมที่เต็มไปด้วยความเกลียดชังจากข้อมูลของเกซิกต์ กำลังจะปิดฉากพลูโต เขาก็ล้มเลิกไป เพราะตระหนักได้ว่าสุดท้ายความเกลียดชังก็จะไม่ก่อให้เกิดอะไรนอกจากความเกลียดชังด้วยกันเอง สุดท้ายอะตอมก็รู้ได้ว่าพลูโตก็เป็นเหยื่อไม่ต่างกับหุ่นยนต์ตัวอื่น ๆ ที่ถูกฆ่า/ทำลายจากน้ำมือของพลูโตเอง

การหาทางลงของเรื่องด้วยวิธีนี้อาจบอกได้ว่าเป็นการหาทางออกที่เข้ากับยุคสมัยของ Pluto แต่เมื่อเป็นอนิเมะในอีก 20 ปีต่อมา ทางออกลักษณะนี้ของ Pluto ก็กลายเป็นดาบสองคม ในแง่หนึ่งฉบับอนิเมะได้แสดงให้เห็นว่า Pluto (และอาจจะรวมถึงอะตอม) มีจุดที่ผ่านการทดสอบจากกาลเวลาเป็นที่เรียบร้อย โดยเฉพาะมิติเรื่องหุ่นยนต์ที่ยังคงทันสมัยอยู่

แต่ในมิติของเนื้อเรื่องที่พูดถึงความเกลียดชัง Pluto กลับแสดงให้เห็นถึงรอยสึกกร่อนที่เกิดจากกาลเวลาพอสมควร โดยเฉพาะเมื่อสงครามไม่ว่าจะยูเครนหรือที่อิสราเอลเริ่มรุนแรงมากขึ้น ทางออกของอุราซาวะ มาอยู่ในบริบทนี้อาจจะดูง่ายเกินไป และการบอกให้วางมือเป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำยาก และอุราซาวะก็รู้เรื่องนี้ดี เขาจึงยอมรับว่าแม้อะตอมจะชนะความเกลียดชัง แต่สุดท้ายความเกลียดชังก็ยังคงอยู่ที่ทำได้มีแต่หวังว่าสุดท้ายความเกลียดชังจะหายไปจากโลกนี้

Pluto อาจเป็นการส่งอะตอมเข้าสู่โลกที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและความเกลียดชัง แต่พร้อมกันนั้น Pluto ก็มอบคำปลอบโยนให้กับคนดูและคนอ่านว่าสักวันโลกใบนี้จะดีขึ้น

ซึ่งบางทีเราก็ไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าคำปลอบโยนข้างต้น และหากความสำเร็จของการ์ตูนและสื่อหลาย ๆ เรื่องมีตัวชี้วัดเป็นการทำให้เชื่อว่ายังมีความหวังในโลก ก็นับว่า Pluto สามารถทำสิ่งนั้นได้สำเร็จ

Playread : PLUTO
ผู้เขียน :  浦沢直樹
สำนักพิมพ์ : Shogakukan Inc.

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี

ภาพประกอบจาก Pluto(2023)