วิมานลวง 'เล้าก์ก่าย' โชคดีที่รอดตายจากเมืองหลวงมาเฟีย แก๊งคอลเซ็นเตอร์ในคราบจีนเทา - Decode
Reading Time: 3 minutes

“วันที่แย่ที่สุด คือวันที่ผมเห็นน้องคนไทยถูกซ้อม ผมปล่อยมือจากคอมพิวเตอร์ที่นั่งทำงาน ผมคิดว่าทำไมเขาต้องทำกันขนาดนี้  เหมือนพวกผมเป็นทาสของเขา”

สุรวัช  มาสุข อายุ 25 ปี ตัดสินใจเล่าเรื่องราวที่เขาถูกแก๊งมิจฉาชีพชาวจีน บังคับให้ทำงานหลอกลวงคนอื่นทางโลกออนไลน์ ในเมืองเล้าก์ก่าย ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมียนมาติดกับพรมแดนจีน

ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2023 หลังจากที่สุรวัชผ่านกระบวนการคัดแยกผู้เสียหายจากภาครัฐ เขาได้รับความช่วยเหลือจากคนรู้จักให้พักอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ก่อนที่เขาจะกำลังเตรียมตัวเดินทางกลับภูมิลำเนาที่ จ.เชียงใหม่

ผู้สื่อข่าว De/code มีโอกาสได้พบเจอและนั่งคุยกับสุรวัช เขาพร้อมที่จะเล่าเรื่องทุกอย่างที่เขาพบเจอมาตั้งจุดเริ่มต้น จนถึงจุดที่เขาบอกกับตัวเองว่า

“พอออกมาได้แล้วรู้สึกโล่งใจ จากคนที่ใจจะขาดกลับมามีชีวิตได้อีกครั้ง ตอนอยู่ในนั้นผมคิดอะไรไม่ออก มันตื้อไปหมดเลย”

เรื่องราวของสุรวัช เริ่มต้นขึ้นในเดือนกันยายน 2023 เมื่อเขาลาออกจากงานเสิร์ฟอาหาร เพื่อมองหางานใหม่ที่ดีกว่า

กลลวง เงินเดือนหมื่นห้า ‘ทำงานที่พม่า มีที่พักฟรี

หลังจากที่สุรวัชเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เขาเริ่มต้นชีวิตการทำงานด้วยการเป็นพนักงานบัญชีในวัย 18 ปี จากนั้นก็เปลี่ยนงานเรื่อยมาทั้งทำงานกับการไฟฟ้าฯ ทำงานร้านล้างรถ และเป็นพนักงานเสิร์ฟในร้านอาหาร จนกระทั่งเขาลาออกมาในช่วงกลางปี 2023

เขาพยายามหางานใหม่ โดยใช้ช่องทางกลุ่ม Facebook ที่มีชื่อว่า ‘หางานเชียงใหม่’ แต่เมื่อค้นหางานที่เขาต้องการ กลับพบว่ามีแต่งานที่อยู่ไกลจากบ้านเขา รวมทั้งสถานประกอบการต้องการวุฒิการศึกษาที่สูงกว่าที่เขามี

สุรวัชตัดสินใจโพสต์หางานในกลุ่ม เวลาผ่านไป 1 วันมีคนทักข้อความเข้ามาหาเขา

“สนใจมาทำงานด้วยกันไหม เงินเดือน 25,000 – 30,000 บาท ทำงานที่พม่า มีที่พักฟรี ที่กินฟรีทุกอย่าง”

เมื่อสุรวัชเข้าไปตรวจสอบโพรไฟล์ของคนดังกล่าวก็พบว่า เหมือน Facebook ของคนทั่วไป ที่มีการแชร์ มีการโพสต์เรื่องราวต่าง ๆ เหมือนคนปกติ เขาจึงนำเรื่องราวดังกล่าวไปปรึกษาแม่ จนได้รับคำเตือนว่า มีข่าวการหลอกไปทำงานที่ต่างประเทศอยู่บ่อย ๆ 

แต่ด้วยจำนวนเงินที่มากกว่างานทั้งหมดที่เขาเคยทำมา ประกอบกับสุรวัชเพิ่งทำโทรศัพท์ไอโฟนเครื่องเก่าของเขาพังไปได้ไม่นาน เขาจึงคิดว่างานนี้เป็นโอกาสอันดี ที่จะทำให้เขาสามารถเก็บเงินซื้อโทรศัพท์ใหม่ได้รวดเร็วที่สุด เขาพยายามค้นหาข้อมูลด้วยตนเองในอินเทอร์เน็ต แต่ก็ไม่พบข่าวสารการหลอกไปทำงานในประเทศเมียนมา

“ผมค้นหาคำว่าไปทำงานที่พม่า มันก็ไม่ค่อยเจอกรณีโดนหลอก พวกนี้มันฉลาด มันหลอกผมว่าไปทำงานที่เมืองมัณฑะเลย์ เพราะถ้าเขียนว่าไปที่เมืองเล้าก์ก่าย ผมก็คงจะเห็นข้อมูล”

สุรวัชใช้เวลา 1 วันในการตัดสินใจ เขาตกลงไปทำงานดังกล่าวและเดินทางมายังกรุงเทพฯ ในวันต่อมาเขาได้พบกับคนที่ชื่อ ไอซ์ ฐานปนา เยเบียว ตามคำกล่าวอ้างของสุรวัชบอกว่า เขาเป็นผู้ชายอายุประมาณ 27 ปี ที่เป็นคนจองโรงแรมสวีทลอฟ ดอนเมืองให้กับเขาและคนไทยอีก 3 คน รวมทั้งจัดแจงทำเอกสารพาสปอร์ตและวีซ่า ให้กับคนไทยทุกคนที่กำลังเดินทางไปทำงาน

กลุ่มคนไทยรวมทั้งสุรวัชถูกย้ายโรงแรมในทุก ๆ 2 วัน จนกระทั่งวันที่ 25 กันยายน 2023 เขาได้รับสัญญาณให้เตรียมตัวออกเดินทาง

“เขาบอกผมว่าพรุ่งนี้ 10 โมงเตรียมตัวเลยนะ พอตื่นมาอีกวัน เขาก็เรียกรถมาให้ มีคู่สามี-ภรรยา 1 คู่ พี่อีกคนรวมผม เป็นทั้งหมด 4 คน”

พอเดินทางถึงสนามบิน นายหน้าที่เคยทักข้อความเข้ามาทาง Facebook ก็ได้ขอให้เขาถ่ายรูปกลุ่มส่งไปให้ เพื่อที่นายหน้าคนดังกล่าว จะส่งต่อรูปของพวกเขาไปให้กลุ่มคนจีนที่ประเทศเมียนมา ที่รอพวกเขาอยู่ที่สนามบิน เมืองมัณฑะเลย์ 

ใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมงเศษ ๆ ก็มาถึงเมืองมัณฑะเลย์ มีคนจีนนำรถมารับพวกเขาไปส่งที่โรงแรมแห่งหนึ่งไม่ไกลจากสนามบิน ระหว่างที่พักอยู่ในโรงแรมนั้น 2 คืน พวกเขาสามารถสั่งอาหารกินได้เต็มที่ โดยมีหญิงสูงวัยชาวจีนคอยดูแล

“ผมเริ่มเอะใจแล้วว่า เรามาสมัครงานแต่ทำไมเขาเลี้ยงดีจัง เริ่มคิดอยากกลับบ้านแล้ว แต่ก็ตกลงกับคนไทยคนอื่นว่า ถ้าไปแล้วก็ต้องไปให้สุด”

หลังจากนั้นความสบายของพวกเขาก็ได้สิ้นสุดลง ช่วงเวลาตี 4 ของอีกวัน กลุ่มนายทุนนำรถเก๋ง 2 คันมารับพวกเขา โดยคันหนึ่งสำหรับใส่สัมภาระ และอีกคันหนึ่งสำหรับพวกเขาทั้ง 4 คนโดยสาร รถแล่นผ่านช่วงเวลาเช้ามืดของเมืองมัณฑะเลย์ ไปเปลี่ยนรถอีกครั้งหนึ่งในตอนเที่ยงวัน และเปลี่ยนรถอีกครั้งหนึ่งในช่วงเวลาบ่าย

“เดินทางจนไปถึงเมืองล่าเสี้ยวในช่วงเย็น คนขับจอดแวะพัก 1-2 ชั่วโมง จากนั้นจึงเดินทางต่อไปถึงเมืองเล้าก์ก่าย (Laukkaing) ในเวลาเที่ยงคืน” 

สุรวัชเล่าว่าเมืองเล้าก์ก่ายเต็มไปด้วยแสงสีในยามค่ำคืน ประดับประดาด้วยป้ายไฟที่เป็นตัวอักษรภาษาจีน เขาสังเกตเห็นว่ามีคนจีนอยู่เต็มเมือง

เมืองเล้าก์ก่ายอยู่ในเขตปกครองพิเศษโกกั้ง ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมียนมาร์ใกล้ชายแดนจีน เมืองแห่งนี้ถูกพัฒนาเป็นแหล่งการพนัน ซึ่งถูกครอบครองโดยนายทุนจีนที่มีสายสันพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลทหารเมียนมาร์ ประกอบด้วย 4 ตระกูลมาเฟีย ได้แก่ ไป่ โส่วเฉิน, เหวย เชาเรน, หลิว กั๋วซี และหลิว เจิ้งเซียง นอกจากแหล่งการพนันแล้ว เมืองเล้าก์ก่ายยังถูกพัฒนาให้เป็นแหล่งฟอกเงิน การค้ามนุษย์ และศูนย์กลางขบวนการมิจฉาชีพโกงเงินออนไลน์และคอลเซ็นเตอร์

“พอไปถึงอาคารสถานที่ทำงาน ทหารรับจ้างยืนถือปืนเรียงกัน” สุรวัชเล่า “นายทุนจีนเดินถือถุงสีดำ เขาเปิดออกมานับเงินปึกใหญ่ และยื่นให้คนที่มาส่งผม”

เงินดังกล่าวคือค่าตัวของคนไทยทั้ง 4 คนที่ถูกหลอกมา ต่อจากนั้นทหารรับจ้างชี้ปืนมาที่สุรวัช พร้อมบอกให้เขาเปิดกระเป๋าออกมาให้ตรวจสอบ พวกเขาถูกยึดสิ่งของบางอย่างเช่น บุหรี่ เป็นต้น จากนั้นจึงถูกส่งตัวมาที่อาคารที่มีชื่อว่า ตึก 311 ชั้น 6 ที่มีคนจีนเป็นส่วนใหญ่นั่งทำงานกันอยู่ กลุ่มคนไทยถูกพาไปเขียนใบสมัครงาน ก่อนที่ผู้หญิงคนไทยคนหนึ่งจะทักท้วงขึ้นมาว่า

“งานที่จะให้ทำเป็นงานแอดมินใช่ไหม” 

“หนูไม่รู้ว่าพวกพี่ฟังเขามาอย่างไร แต่ถ้าพี่มาถึงที่นี่ พวกพี่ต้องทำตามกฎทุกอย่างที่เขาบอกมา”

คือคำกล่าวของล่ามชาวไทใหญ่ ที่ถูกหลอกมาก่อนหน้า เพราะในความจริงแล้วพวกเขาถูกบังคับให้มาทำงานหลอกลวงผู้อื่น โดยในช่วง 4-5 วันแรก กลุ่มนายทุนจีนจะมาสอนงานพวกเขา ก่อนที่วันที่ 6 พวกเขาจะถูกส่งตัวไปทำงานอีกบริษัทที่มีชื่อเรียกว่า ตึกริมน้ำ

ส่งอีเมลผิด สูตรสำเร็จลวงเหยื่อ

ณ ตึกริมน้ำสุรวัชและคนไทยอีก 5 คน ต้องสร้างโพรไฟล์สมมุติขึ้นมาเพื่อหลอกคนอื่นว่า พวกเขาอาศัยอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา และกลุ่มมิจฉาชีพชาวจีนจะมีรายชื่ออีเมล เตรียมไว้ให้กับพวกเขานับพันอีเมล

วิธีการหลอกหลวงเริ่มต้นจาก ให้ส่งอีเมล์ไปหาคนอื่น ๆ โดยแกล้งเป็นว่าส่งอีเมลผิด สุรวัชได้ยกตัวอย่างข้อความที่เขาถูกบังคับให้ส่งไปหาชาวยุโรปคนหนึ่งว่า 

“สวัสดีจอห์น วันนั้นฉันขอโทษนะที่ไม่ได้ติดต่อกลับ” สุรวัชใช้ชื่อแทนตัวเองว่าแอชเทล

หลังจากนั้นเขาก็จะได้รับอีเมลตอบกลับมาว่า เขาส่งอีเมลผิด ซึ่งสุรวัชจะต้องตอบกลับไปว่า

“ฉันขอโทษนะ ฉันเป็นผู้หญิงที่โง่ที่สุดเลย” 

ถ้าหากมีการตอบอีเมลกลับมาเช่น ‘ไม่เป็นไร ขอให้วันนี้เป็นวันที่ดี’ ทางกลุ่มคนจีนที่ดูแลสุรวัช จะบังคับให้เขาทำการพูดคุยต่อ โดยมีเป้าหมายที่จะต้องได้รับข้อมูลทั้งชื่อ-นามสกุล, ที่อยู่, อายุ, การงาน, และฐานะ  โดยกระบวนการเหล่านี้จะต้องทำให้สำเร็จภายใน 1-2 วัน หากเกินกว่านั้นเขาจะต้องยุติการพูดคุย โดยสุดท้ายเขาจะต้องขอ Whats App ของเหยื่อคนนั้นมาให้ได้

“เมื่อได้ Whats App id มา ผมจะต้องส่งข้อมูลต่อให้คนจีน ที่มีทักษะการหลอกที่เชี่ยวชาญกว่าผม หน้าที่ของผมคือการหาลูกค้าให้กับพวกเขาเท่านั้น”

และถ้าหากไม่สามารถหาลูกค้าได้ภายใน 3 วัน พวกเขาจะถูกตักเตือนและต้องเพิ่มชั่วโมงการทำงาน และหากผ่านไป 4-5 วัน ถ้าไม่สามารถหาลูกค้าได้ คนเหล่านั้นจะถูกนำตัวไปที่ห้องประชุม ถูกซ้อมด้วยการทุบตีและเอาเก้าอี้ฟาด เพื่อให้ทุกคนในที่ทำงานได้เห็น

“มีน้องคนไทยคนหนึ่งโดนซ้อม เพราะนำเรื่องไปแจ้งสถานทูตไทย และพวกคนจีนเห็นแชทดังกล่าว”

เปิดปฏิบัติการ 1027 ทุบหม้อข้าวจีนเทา

เมื่อสุรวัชเรียนรู้งานได้อย่างรวดเร็ว เขาสามารถหาลูกค้าได้วันละ 1 คน ในช่วง 4-5 วันแรกของการทำงาน จึงทำให้เขาไม่ถูกลงโทษ เมื่อชาวจีนที่เป็นผู้คุมของสุรวัชที่ใช้ชื่อ มา ไซ้ เห็นว่าเขาสามารถทำงานได้ จึงส่งตัวสุรวัชกลับไปที่ตึก 311 เพื่อไปสอนงานคนไทย 20 กว่าคนที่เพิ่งเดินทางมาถึง แต่ยังไม่ทันได้เริ่มสอนงาน กองกำลังติดอาวุธ 3 กลุ่ม ซึ่งรวมตัวกันในนาม “พันธมิตรภาคเหนือ” นำโดย กองทัพโกก้าง (Myanmar National Democratic Alliance Army : MNDAA) , กองทัพตะอั้ง(Ta’ang National Liberation Army : TNLA) และกองทัพอาระกัน(Arakan Army : AA)

เปิดปฏิบัติการที่ใช้ชื่อว่า “ปฏิบัติการ 1027” ที่เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566 โดยบุกโจมตีฐานที่มั่นของทหาร ตำรวจเมียนมา หลายเมืองในภาคเหนือของรัฐฉาน ซึ่งรวมถึงเมืองเล้าก์ก่าย หนึ่งในเป้าหมายของการโจมตีครั้งนี้ คือการบุกทลายธุรกิจของแก๊งมิจฉาชีพชาวจีน 

200 คนไทยรอดตาย

“พวกเขาส่งตัวผมไปที่สถานีตำรวจ จากนั้นอีก 2 วันผมก็ถูกส่งต่อมาที่ค่ายทหาร”

โดยในช่วงระหว่าง 2 วันที่สุรวัชได้ออกไปอยู่ในสถานีตำรวจ ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่สถานการณ์ในตึกที่คนไทยถูกจับบังคับมาทำงานนั้น มีการบุกเข้ามาจากกองกำลังฝ่ายพันธมิตรภาคเหนือ กลุ่มนายทุนจีนบางส่วนได้หลบหนีไปก่อนหน้านั้นแล้ว ก่อนที่กลุ่มคนไทยจำนวนกว่า 200 คนได้ถูกช่วยเหลือออกมา และถูกนำตัวไปไว้ที่ค่ายทหาร

“20 วันในค่ายทหาร พวกผมต้องฟังเสียงระเบิดทุกวัน สุขอนามัยในนั้นไม่ดีเลย อาหารก็กินไม่ได้”

หลังจากนั้นสุรวัชและคนไทยได้ถูกนำตัวส่งต่อมายังโรงเรียนแห่งหนึ่งใกล้เขตชายแดนประเทศจีน จากนั้นพวกเขาได้รับความช่วยเหลือจากทางการจีน ส่งตัวมายังมณฑลยูนนาน จากนั้นจึงขึ้นเครื่องบินไปยังเมืองคุนหมิง และได้รับความช่วยเหลือจากทางการไทยในการนำเครื่องบินมารับกลับสู่มาตุภูมิ

“สิ่งที่ผมสูญเสียไปคือเวลาและสภาพจิตใจ คนบางคนอยู่ในนั้นบ้าไปเลย เพราะเขาไม่อยากอยู่แล้ว เอามือทุบกระจกจนแตกหมดเลย”

สุรวัชบอกว่าหลังจากที่เขามีชีวิตรอดกลับมา เขาจะกลับไปตั้งหลักที่บ้าน จ.เชียงใหม่ และจะเริ่มหางานทำอีกครั้ง

สุรวัชยอมรับว่า ทุกวันนี้สามารถถูกหลอกอย่างง่ายดายในโลกออนไลน์ เขาบอกตัวเองว่าต่อจากนี้การหางานจำเป็นต้องรอบคอบ อย่าคิดว่าจะมีงานที่สบาย และได้เงินเดือนเยอะเหมือนที่เขาถูกหลอกมา  

ตระกูลหมิง โยง 4 ตระกูลจีนเทา ขยายอิทธิพลในลาว-กัมพูชา

สุรวัชเป็นหนึ่งในคนจำนวน 120,000 คน ในประเทศเมียนมา ที่ถูกบังคับใช้แรงงานหลอกลวงผู้คนทางออนไลน์ ตามรายงานจาก Online Scam Operations and Trafficking into Forced Criminality in Southeast Asia: ของ High Commissioner for Human Rights (UN Human Rights)  สุรวัชและคนไทยกลุ่มที่กลับออกมาได้ อาจเป็นเพียงไม่กี่กลุ่มที่โชคดีที่พื้นที่ดังกล่าวเกิดการสู้รบระหว่างกองทัพ จึงทำให้พวกเขาสามารถหลบหนีออกมาได้

อ้างอิงข้อมูลข่าวจากทางบีบีซีระบุว่า ผลจากปฏิบัติการ 1027 ของกองกำลังติดอาวุธพันธมิตรภาคเหนือ ทำให้หมิง กั๋วปิงและหมิง เฉินเฉิน ทายาทของตระกูลหมิงถูกจับ รวมทั้งหมิง เสวียชาง ผู้นำกลุ่มกองกำลังที่ทรงพลัง ที่ปกครองเมืองเล้าก์ก่ายมาตลอด 14 ปีที่ผ่านมาปลิดชีพตัวเองหลังถูกจับกุม  ซึ่งหมิง เสวียชางนั้นเป็นลูกสมุนของ ไป่ โส่วเฉิน ผู้นำของหนึ่งใน 4 ตระกูลมาเฟียจีนเทา 

อย่างไรก็ดีสถานการณ์ปัจจุบันแก๊งมิจฉาชีพคนจีน ไม่ได้มีแค่ในเมืองเล้าก์ก่าย แต่พวกเขาเข้ามาลงทุนอยู่ในประเทศเมียนมา ลาว กัมพูชา ตามเขตเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ โดยอาศัยความอ่อนแอของกฎหมายในประเทศนั้น ๆ ทำการหลอกลวงผู้คนจากทั่วภูมิภาคมากกว่า 200,000 คน 

ประเทศไทยถึงแม้จะไม่ได้เป็นที่ตั้งธุรกิจของกลุ่มมิจฉาชีพคนจีน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นช่องทางลำเลียงผู้คนเข้าสู่ธุรกิจดังกล่าว ด้วยปัจจัยที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ชายแดนติดอยู่กับเมียนมา ลาว และกัมพูชา รวมทั้งยังมีคนไทยอีกจำนวนมากที่ขาดการรับรู้เท่าทันการหลอกลวง และตกเป็นเหยื่อแก่แก๊งมิจฉาชีพชาวจีน 

นอกจากสุรวัชที่ผู้สื่อข่าวได้พูดคุย ยังมีผู้เสียหายอีก 2 คน ที่ไม่ประสงค์ออกนาม กล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า พวกเขาตกลงเดินทางไปทำงานโดยไม่ทราบมาก่อนว่า มีการหลอกลวงเช่นนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปี 2021 ดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน นั่นทำให้เห็นว่าสังคมไทยยังไม่สามารถสร้างความตระหนักรู้ถึงเรื่องนี้ให้กับผู้คนทุกกลุ่มได้ 

รวมทั้งข้อมูลจากภาคประชาสังคมที่ทำงานช่วยเหลือกลุ่มคนไทยที่ถูกหลอกลวงไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้าน ก็ได้ให้ข้อมูลว่า แก๊งมิจฉาชีพชาวจีนเหล่านี้จะมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการหลอกลวงอยู่ตลอด จึงทำให้ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเท่าทัน และการช่วยเหลือก็เป็นไปในรายกรณี ตราบใดที่ยังไม่เกิดความร่วมมือระหว่างรัฐในภูมิภาคอาเซียนในการจัดการเรื่องนี้อย่างเด็ดขาด รวมทั้งการรู้เห็นเป็นใจของเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ แก๊งมิจฉาชีพชาวจีนเหล่านี้ก็ยังคงสามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อไป