โรงแรมกินหาด? ปิดตายพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ - Decode
Reading Time: 3 minutes

หาดไม้ขาว อำเภอถลาง เป็นชายหาดที่ยาวที่สุดของจังหวัดภูเก็ต แนวหาดจะต่อจากหาดในยางผ่านสนามบินเรื่อยมาจนจรดหาดทรายแก้วติดต่อกันตลอดแนว บริเวณนี้พื้นทะเลค่อนข้างลึกและลาดชัน นักท่องเที่ยวจึงไม่นิยมเล่นน้ำ หาดไม้ขาวเป็นหนึ่งในชายหาดของจังหวัดภูเก็ตเพียงแห่งเดียวที่เต่าทะเลโดยเฉพาะเต่ามะเฟืองใช้ทำรังและเป็นแหล่งวางไข่ พื้นที่หาดไม้ขาวบริเวณโต๊ะหินลูกเดียว เป็นจุดนัดหมายของชาวเลมอแกลน กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลแห่งอันดามัน  ใช้ประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ

ล้อมลวดหนามปิดตายพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์

ในวันที่พื้นที่นี้กำลังจะกลายเป็นพื้นที่ก่อสร้างโรงแรมต่างชาติ 504 ห้อง บนที่ดินราชพัสดุ กรมธนารักษ์ และมีสัญญาเช่าระยะยาว 30 ปี มีการกั้นรั้วลวดหนามส่วนหนึ่งของโรงแรม ปักปิดทับพื้นที่จัดประเพณีนอนหาดชาวเล

เมื่อมีการกั้นแนวเขตรั้ว เครือข่ายชาวเลอันดามันได้ทำหนังสือถึงว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดภูเก็ต พรรคก้าวไกล ช่วยให้มีการร่วมตรวจสอบและชะลอการดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียของวัฒนธรรมและระบบนิเวศพื้นที่แหล่งวางไข่เต่าทะเล รวมทั้งให้เร่งประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอันดามัน และประเพณีนอนหาดชาวเลอย่างเร่งด่วน

งานวิจัยเรื่อง ชาติพันธุ์ชาวเล กลุ่มคนพื้นเมืองที่ยังหลงเหลืออยู่ในจังหวัดภูเก็ต โดย จารุณี คงกุล อธิบายถึงกลุ่มชาวเลที่อาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณเกาะน้อยใหญ่อันเป็นดินแดนของประเทศไทยทางภาคใต้ฝั่งมหาสมุทรอินเดีย ชาวเลเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ของคนทางภาคใต้ในประเทศไทย มีชีวิตความเป็นอยู่ยาวนานนับร้อยปี โดยมีความเชื่อว่ากลุ่มคนนี้ได้เดินทางมาจากหมู่เกาะทะเลใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก และหมู่เกาะพารามีเซียน ก่อนที่จะกระจายตัวไปอยู่ยังประเทศต่าง ๆ ทั้งสิงคโปร์ อินโดนีเซีย พม่าและไทย เป็นต้น

ในประเทศไทยสามารถพบชาติพันธุ์ชาวเลได้ในภาคใต้ เช่น สตูล กระบี่ พังงา ตรัง ระนอง และภูเก็ต แบ่งชาติพันธุ์ชาวเลออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.มอแกน 2.มอแกลน และ 3.อูรักลาโว้ย มีภาษาพูดเป็นของตนเองแต่ไม่มีภาษาเขียน    บริเวณหาดไม้ขาว ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต มีกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลทั้ง 30 ชุมชน ในจังหวัดพังงา และภูเก็ตกว่า 9,000 คน ที่ใช้เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ดำรงประเพณี และทำมาหากิน มานานมากกว่า 300 ปี

รอดจากคลื่นยักษ์สึนามิ แต่ไม่รอดคอนกรีตกินหาด

อรวรรณ หาญทะเล หรือหญิง ชาวเลเชื้อสายมอแกลน เล่าถึงชีวิตของเธอว่าเกิดมาในสังคมชาวเลเป็นลูกหลานของผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ครอบครัวของเธออาศัยอยู่ที่หมู่บ้านทับตะวัน อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา มีการไปมาหาสู่ระหว่างกันในท้องทะเลอันดามัน จังหวัดพังงาและภูเก็ต บริเวณท่าฉัตรไชย ตำบลไม้ขาว ส่วนใหญ่เป็นเครือญาติ สมัยก่อนช่วงที่เธอยังเป็นเด็ก ทันที่จะเห็นทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ในชุมชน 

คำบอกเล่าจากรุ่นทวดที่เล่าต่อ ๆ กันมา ในสายตระกูลผู้นำชาวเลเชื้อสายมอแกลน ครอบครัวของเธอ มี 2 กลุ่ม คือกลุ่มมอแกลนที่อยู่ นครศรีธรรมราช ที่มาอยู่ที่เมืองนครฯ คือ การถูกใช้เป็นแรงงานในการไปก่อสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ ชาวเลมอแกลนอีกกลุ่มที่อพยพออกมาจากเมืองนครศรีธรรมราช มาขึ้นฝั่งสะพานสารสิน ท่าฉัตรไชย หาดไม้ขาว และพื้นที่ริมหาดจังหวัดพังงา กระจายในพื้นที่บริเวณ หินลูกเดียว ภูเก็ต ยาวไปถึงคุระบุรี จังหวัดพังงา

เรื่องราวของชาติพันธุ์ชาวเลที่บรรพบุรุษเล่านั้นมีมากมาย ตั้งแต่เรื่องในอดีตในสมัยก่อนรุ่นทวดเล่าต่อ ๆ กันมาว่า “ดินแดนแถบถิ่นท้องทะเลอันดามัน เป็นที่อยู่ของชาวเลกับชาวซาไก เงาะป่า (มันนิ) สองชนเผ่าเป็นเกลอกัน (เกลอหมายถึงเพื่อนรักมิตรสหายที่ผูกพันกันมาก) มีอาหารอะไรก็จะนำมาแบ่งปันกัน ชาวเลจะเชี่ยวชาญทางน้ำเก่งและชำนาญในการหา กุ้ง หอย ปู ปลา ส่วนซาไก หรือเงาะป่าจะชำนาญเรื่องป่า โดยเฉพาะเรื่องยาสมุนไพร การเข้าป่าออกล่าสัตว์ หาของมาได้ก็มาแบ่งปันกันกิน รวมทั้งเรื่องราวของธรรมชาติ ป่าดงดิบ เสือ ฝูงควายป่า ช้างป่า แม้ความทรงจำบางอย่างที่เกิดขึ้นในวัยเด็กที่ยังจำได้ เช่น ถนนที่มีรอยควายป่า เดินเป็นทางยาว เธอโตทันได้เห็นภาพเหล่านั้น 

บรรพบุรุษของชาวเลส่งต่อวัฒนธรรมความเชื่อผ่านการดำเนินชีวิตที่อาศัยหลักการเคารพต่อธรรมชาติ มีการดำเนินชีวิตแบบแบ่งปันมีน้ำใจ ไม่ยึดติด ไม่ครอบครอง สร้างการเรียนรู้ ผ่านศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่น เช่น การร่ายรำ ร้องเพลง เล่นดนตรีพื้นเมือง มีการบันทึกประวัติศาสตร์ด้วยการถ่ายทอดบอกเล่า ให้ลูกหลานฟัง พ่อของเธอเล่าเรื่องทำนองเย้าหยอก ว่าขนาดตัวของเต่าทะเลสมัยก่อน ช่วงที่ไม่มีการรุกล้ำของผู้คนและนักท่องเที่ยวนั้น ตัวจะใหญ่มากเท่ากับตัวเธอ เต่าพวกนี้จะขึ้นมาวางไข่ที่ชายหาดไม้ขาว แนวชายหาดของพังงาและภูเก็ตอีกหลายที่

ยัอนเวลากลับไปในวัยเยาว์ ประมาณ 7 ขวบ เธอเล่าเรื่องความเชื่อเกี่ยวกับพิธีกรรมเก่าแก่ ความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์  หรือผู้พิทักษ์กลุ่มชนชาวเลที่หาดบางสัก เธอเห็นพ่อใช้คาถาเรียกจระเข้ตัวใหญ่ให้ขึ้นมาจากน้ำ ในช่วงค่ำ ทวดจะออกมาทำพิธีกรรมสร้างขวัญกำลังใจให้กับกลุ่มพี่น้องชาวเล หรือในช่วงเหตุการณ์ที่เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ ปี 2547 ช่วงที่เธอยังเป็นวัยรุ่น รู้เรื่องคลื่นยักษ์มาก่อนล่วงหน้าหนึ่งเดือน ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ จากร่างทรงในหมู่บ้าน ทำนายทายทักว่าจะมีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นกับชนเผ่าชาวเลของเรา 

หมู หมา กา ไก่ จะตื่นตระหนกตกใจร้องเสียงดัง และหมู่บ้านชาวเลจะหายไป เหลือแค่ต้นมะพร้าว ในระหว่างนั้นเธอได้ไปบอกเล่าพูดคุยกับคนในหมู่บ้าน ทุกคนหัวเราะเยาะ กระทั่งตัวของเธอเองก็ยังหัวเราะกับคำทำนายนี้ ไม่เชื่อว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น เมื่อคลื่นยักษ์สึนามิมาถึง โดยไม่ทันจะตั้งตัว ความสูญเสีย ในชีวิตหลาย ๆ ชีวิต รวมทั้งโรงแรมที่พักพังพินาศ หมู่บ้านริมทะเลหายไปหมด ผืนทรายชายหาด เหลือเพียงต้นมะพร้าวตามคำทำนาย

เมื่อถามถึงเรื่องที่โรงแรมจะมาสร้างที่หาดไม้ขาว“รู้สึกเป็นกังวลมาก แต่ไม่กลัว เพราะชีวิตได้ผ่านเรื่องราวร้าย ๆ มามากแล้ว เธอเกิดมาเป็นคนสองยุคทันเห็นยุคการขุดแร่ ใช้ทรัพยากรและธรรมชาติในชุมชน เห็นธรรมชาติและสิ่งสวยงามรอบ ๆ ตัว ค่อย ๆ เสื่อมสลายและถูกทำลายไปจนเกือบหมด วันแล้ววันเล่า ทั้งต้นไม้ ผืนป่า สัตว์น้ำในทะเล ฝูง กุ้ง หอย ปู ปลาร่อยหรอลงจนแทบจะไม่มีให้จับ ซ้ำร้ายที่สุดคือเรื่องที่ดินของชาวเล “สมัยก่อนไม่เคยมีใครมายุ่งกับที่ดินหรือที่สุสานของพวกเราเลย มาถึงยุคที่เอกชนมาทำท่องเที่ยวมีรัฐส่งเสริม ทำให้พวกเราชาวเล กลับถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายเป็นผู้บุกรุก ทั้ง ๆ ที่ ที่ดินบางแห่งเป็นผืนดินที่ฝังศพบรรพบุรุษของชาวเลด้วยซ้ำ เขาเข้ามาออกเอกสารบนพื้นที่สุสานฝังศพบรรพบุรุษของเรา ออกเอกสารในที่สาธารณะ เข้ามาทำถนน ทำร้านค้าขายของ

เมื่อเธอลุกขึ้นมาเรียกร้องกลับกลายเป็นการถูกเพิกเฉยจากภาครัฐ มีแต่ความเงียบ พูดอะไรไป ไม่มีใครรับฟัง สื่อมวลชนที่ออกข่าวก็เสนอข่าวว่า พวกเราเป็นพวกก้าวร้าวชอบประท้วงเป็นตัวปัญหา ทั้งที่พื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่มีคุณค่าทางจิตใจของพวกเรา” เธออยากบอกให้ทุก ๆ คนรู้ว่า “อย่ามาเอาที่ดินของพวกเราไปเลย กระดูกของบรรพบุรุษ ของเราอยู่ที่นี่ เหล่านี้เป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อจิตใจของชาวเล”

ลวงเซ็นยกกรรมสิทธิ์ “…เอาปืนมาจี้ที่หัว”

คำสั่งสอนของบรรพบุรุษชาวเลสอนว่า “เรามีที่ดินเพียงเพื่อที่จะอยู่อาศัยไม่ใช่เพื่อที่จะครอบครอง ครอบครองในที่นี้ หมายถึงการนำเป็นของส่วนบุคคล เราเกิดมาเพื่อมาอาศัยแค่นั้น เมื่อเราตายไปที่ดินก็จะเป็นที่ซึ่งลูกหลานอาศัยต่อ ชาวเลมีความเชื่อว่า ที่ดินเป็นของส่วนรวมเป็นของทุกคนที่เกิดมาบนโลกนี้ มีสิทธิที่จะได้อยู่ได้อาศัย ได้ปลูกพืชผักสร้างอาหารหรือทำมาหากินแต่ไม่มีสิทธิที่จะเป็นเจ้าของดินที่เราจะครอบครองได้ที่เดียวคือที่ดินที่เป็นสุสานฝังร่างตัวเอง” บรรพบุรุษชาวเล สอนให้ไม่เบียดเบียนธรรมชาติ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น พื้นที่ส่วนรวมที่ใช้ร่วมกันให้แบ่งปันกัน ถ้ามีที่ดินเยอะให้แบ่งปันให้คนอื่นมาใช้ประโยชน์ด้วย อาจจะด้วยความใจดีของบรรพบุรุษของเธอก็ได้ ในอดีตเคยให้ที่อยู่อาศัยคนมาขุดแร่ ใครมาทำเหมืองแร่ก็เปิดทางให้ที่พักพิง ใครเข้ามาทำสัมปทานป่าไม้ ข้าราชการย้ายมาใหม่จากต่างจังหวัด ทวดของพวกเธอก็แบ่งที่ให้ไป สุดท้ายพวกคนเหล่านั้น ก็เอาที่ดินไปออกเอกสารสิทธิ์

ชาวเลหลายคนถูกมอมเหล้า ให้เซ็นเอกสารยกกรรมสิทธิ์ที่ดิน อีกหลายคนถูกหลอก ถูกทำร้ายข่มขู่ สารพัดวิธี ความชั่วร้ายกลโกง ชาวเลเป็นกลุ่มคนรักความสงบ ไม่อยากมีปัญหา ไม่อยากมีเรื่อง กลับกลายเป็นว่าจากที่เคยเป็นเจ้าของผืนดิน มีที่อยู่อาศัยทั้งพื้นที่ชายหาดและท้องทะเล วันหนึ่งต้องกลับกลายมาเป็นผู้เช่าที่ดินบรรพบุรุษของตัวเอง พร้อมกับการถูกเบียดขับอย่างเข้มข้น ครั้งหนึ่งช่วงที่เธอทำงานต่อสู้เพื่อสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองชาติพันธุ์ชาวเล มีคนมาข่มขู่เอาปืนมาจี้ที่หัว ขู่ว่าให้หยุดการเป็นผู้นำกระบวนการต่อสู้ ให้ชาวเลยอมจำนน “หญิงไม่เคยกลัวตายเลย”

สร้างพื้นที่ปลอดภัย

ช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด 19 ชาวเลจำนวนหลายครอบครัว จำเป็นต้องขายเรือนับจำนวนแล้วเกือบร้อยลำ นั่นหมายความว่าผลกระทบที่เกิดขึ้น วันนี้ชาวเลหลายครอบครัวไม่มีเรือเป็นของตัวเอง ไม่มีพาหนะที่จะใช้ ออกไปทำมาหากินในท้องทะเล  เมื่อสถานการณ์โควิดดีขึ้น การซื้อเรือกลับมาเป็นเรื่องยาก กลุ่มชาวเลที่ออกเรือหาปลา ซื้อเรือกลับมาได้แค่สิบกว่าลำเท่านั้นเอง หนทางแก้ปัญหาของชาวเลช่วงนี้พยายามทำเรื่องท่องเที่ยวในวิถีวัฒนธรรมของชุมชนชาวเล อยากให้นักท่องเที่ยว รู้ถึงวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ชาวเล ว่าเป็นผู้รักสงบ รักธรรมชาติ มีวัฒนธรรมของตนเอง เป็นการท่องเที่ยวที่เน้นดูแลพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน ดูแลอนุรักษ์ชายหาดไม้ขาว ให้เป็นแนวชายหาดยาว มีความเป็นธรรมชาติเหมาะสมที่จะเป็นพื้นที่ให้เต่ามะเฟืองมาวางไข่

ประเพณีนอนหาด ความเชื่อบนผืนทราย พื้นที่หาดไม้ขาว บริเวณโต๊ะหินลูกเดียว หรือพ่อตาหินลูกเดียว จะมีการจัดประเพณีนอนหาด ภาษามอแกลนเรียกว่า “อีดูนเอาดะ” เธอเล่าเรื่องประเพณีนี้ว่า “การนอนหาด จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในช่วง 13 – 15 ค่ำ เดือน 3 (ประมาณเดือนมีนาคม) ประเพณีเริ่มต้นก่อนเข้าสู่เดือนสี่ เป็นการนัดพบกันของชาวเลเชื้อสายมอแกลน มาหุงข้าวหุงปลากินด้วยกัน พูดคุยทักทาย ร้องเพลง บริเวณหาดไม้ขาวจังหวัดภูเก็ต เป็นจุดนัดหมายของชาวเลที่จะแสดงออกถึงความเคารพธรรมชาติและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยคุ้มครองชีวิตความเป็นอยู่ ชาวมอแกลนถือปฏิบัติเป็นประเพณีเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน จะมีพิธีสำคัญคือการเสี่ยงทายทำนายอนาคต ความเป็นอยู่ของชาวเลในแต่ละปี ถ้าหากมีการสร้างโรงแรมพื้นที่นอนหาดก็จะหดสั้นลงแคบลง เมื่อมีนักท่องเที่ยวมาที่หาดไม้ขาวมากมาย สภาพคงจะโกลาหลและวุ่นวาย ทุกวันนี้ต้องใช้ชีวิตอยู่ในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นพื้นที่ไข่แดงอยู่ตรงกลางถูกแวดล้อมด้วยโรงแรมความเจริญและถูกเบียดให้ตกขอบไปจากชุมชน”

หาดไม้ขาว ชายหาดแสนสวยที่มีแต่ความเงียบสงบ มีความทรงจำที่งดงามของครอบครัวชาวเล ริมหาดยามค่ำคืนมองท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยดวงดาวระยิบระยับหลายล้านดวง ฟังเสียงสายลมพัดเห่เกลียวคลื่น นอนฟังนิทานเรื่องราวเรื่องเล่าของบรรพบุรุษชาวเล มีผืนทรายเป็นผ้าห่ม เธอจดจำเม็ดทรายได้แทบทุกเม็ดที่เคยฝังตัวลงนอนที่หาดไม้ขาว หรือช่วงที่เหล่าลูกหลานชาวเลจะลุ้นเฝ้าดูเต่าทะเล ขึ้นมาวางไข่ กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลทุกคนจะพยายามอนุรักษ์ให้พื้นที่ตรงนี้ เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่สุด เพื่อให้แม่เต่ามะเฟืองจะได้ขึ้นมาวางไข่ณ ที่เดิมเหมือนเช่นเคยเป็นมา

เบรกทุนต่างชาติเช่าที่ 30 ปี สร้างโรงแรม

วิทวัส เทพสง ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวเลอันดามัน กล่าวว่า หากมีการก่อสร้างโรงแรมต่างชาติ บริเวณหาดไม้ขาวขึ้น รั้วลวดหนามส่วนหนึ่งที่จะกลายเป็นกำแพงโรงแรมปิดทับพื้นที่จัดประเพณีนอนหาดชาวเล ความเงียบสงบในการประกอบประเพณีนอนหาดจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

กลายเป็นของเอกชนทุนต่างชาติประเทศสเปนร่วมกับทุนไทยในพื้นที่ เป็นเขตที่ดินราชพัสดุที่อาศัยนโยบาย BOI (Borad of Investment) หรือคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจและส่งเสริมการลงทุนให้ชาวไทยและชาวต่างชาติที่ทำธุรกิจในประเทศไทย และการลงทุนของคนไทยในต่างประเทศ จึงได้เช่าระยะยาว 30 ปีจากกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง

มีข้อสังเกตุว่า ก่อนปักเสาลวดหนามแสดงการครอบครองยังไม่มีการศึกษาแหล่งอนุรักษ์เต่าวางไข่ ผลกระทบที่เกิดกับทรัพยากร ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และผลกระทบกับกับกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล อีกทั้งไม่คำนึงถึงหลักสิทธิชนพื้นเมืองสากล หลักรัฐธรรมนูญไทย นโยบายต่างๆ เช่น ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง United Nations Declaration on thr Rights of Indigenous Peoples หรือ UNDRIP ตั้งแต่ปี 2007 โดยสาระสำคัญระบุว่า ชนเผ่าพื้นเมืองมีสิทธิในที่ดิน เขตแดน และทรัพยากร ซึ่งพวกเขาครอบครอง และเป็นเจ้าของตามประเพณี หรือเคยใช้ หรือเคยได้รับมาก่อน รัฐจักต้องให้การยอมรับและคุ้มครองในทางกฎหมาย

เครือข่ายชาวเล อันดามัน จึงมีข้อเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตเร่งทบทวนการอนุญาตให้เอกชนเช่าที่เพื่อสร้างโรงแรม เพราะจะส่งผลกระทบกับพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงพื้นที่วางไข่ของเต่ามะเฟือง และเขตพื้นที่นอนหาดตามวิถีวัฒนธรรมชาวเลผืนสุดท้าย และมีคำสั่งให้โรงแรมที่ได้เช่าพื้นที่ที่ต้องรื้อถอนเสารั้วลวดหนามออก และชะลอการดำเนินการใดๆ จนกว่าการจะมีแนวทางการแก้ปัญหาเสร็จสิ้น

พื้นที่หาดไม้ขาวทะเลชายหาดของอันดามันเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรม ความเชื่อ จิตวิญญาณของชาวเลมาตั้งหลายร้อยปี และชาวเลก็ส่งต่อความเชื่อเหล่านี้มาถึงปัจจุบัน

ถ้า “หาดไม้ขาว” ถูกรบกวน ถูกเช่าสร้างโรงแรมระยะยาวจากทุนต่างชาติ ที่นี่คงไม่ใช่ที่เกิดของเต่ามะเฟืองอีกแล้ว” ความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ก็จะเกิดขึ้น

วันนี้อาจไม่ต่างจากการถูกคลื่นลมโหมกระหน่ำ เมื่อครั้งที่เกิดผลกระทบจากสึนามิที่ว่ามีความรุนแรงแล้ว แต่คลื่นยักษ์ลูกที่สองนี้อาจจะร้ายแรงกว่าสึนามิ หากเป็นคลื่นทุนกลุ่มนายทุนและกลุ่มต่างชาติทำให้ชาวเลต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อรักษาไว้ซึ่งสิทธิในที่ดินของตนเองรวมถึงการปกป้องและฟื้นฟูวิถีวัฒนธรรมชาวเลให้คงอยู่ไม่ให้สูญสลายไป

เครดิตภาพปกจาก วิโชติ ไกรเทพ