ผู้ลี้ภัยนับแสนยังไร้ 'สถานะ' กลายเป็นปัญหาของเราทุกคน - Decode
Reading Time: 2 minutes

เมื่อเร็ว ๆ นี้มีวงพูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์ผู้ลี้ภัยในประเทศไทย โดยมีตัวแทนจากสภาผู้แทนราษฎร ,คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน หน่วยงานภาคประชาสังคมที่ทำงานเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย, หน่วยงานรัฐ และภาคส่วนอื่น ๆ ที่ไม่อาจเปิดเผยรายละเอียดได้ เนื่องจากเป็นวงเสวนาแบบปิด ผู้สื่อข่าวได้ขออนุญาตผู้เกี่ยวข้องเพื่อนำเสนอเนื้อหาบางส่วน อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

ไร้สถานะ ไร้ที่ทาง ไร้ที่ไป

รัฐไม่ยอมรับหรือรับรองสถานะให้แก่ผู้ลี้ภัยในประเทศไทย แม้ปัจจุบันเรามีจำนวนผู้ลี้ภัยในราชอาณาจักรไทยเรือนแสนคน เนื่องจากที่จำเป็นต้องกล่าวว่าปัจจุบันผู้ลี้ภัยในไทยนั้น “ไร้สถานะ” เป็นเพราะว่าประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่ว่าด้วยผู้ลี้ภัย เจ้าหน้าที่จึงปฏิบัติและดำเนินการกับคนเหล่านี้ ตามกฎหมายตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ในฐานะผู้ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ดังที่เราเห็นก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันกลับ หรือส่งกลับให้กับประเทศต้นทาง อย่างที่ เชาวรัตน์ ชวรางกูร ที่ปรึกษาอาวุโสด้านนโยบายประจำองค์กร Asylum Access กล่าวในช่วงแรกของเวทีเสวนาว่า เราจำเป็นต้องจำแนกกลุ่มผู้ลี้ภัยในประเทศออกเป็น 4 กลุ่ม เพื่อทำความเข้าใจปัญหาและสาเหตุของผู้ลี้ภัยแต่ละกลุ่ม

1. ผู้หนีภัยการสู้รบในเมียนมา ปัจจุบันอยู่ในค่ายแนวชายแดนกว่า 9 ค่าย ตัวเลขที่กระทรวงมหาดไทยเคยรายงานไว้ ว่ามีอยู่ถึง 7.7 หมื่นคน แต่ทาง UNHCR บอกว่า ปัจจุบันมีอยู่กว่า 9 หมื่นคน ซึ่งอยู่ในลักษณะนี้มาแล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ.2527

2. ผู้หนีภัยสงคราม ปัจจุบันอยู่ในค่าย 5 แห่ง ตามแนวชายแดนเช่นกัน แต่เนื่องด้วยทางภาคประชาสังคมและหน่วยงานภายนอกไม่สามารถเข้าได้ เพราะทางการไทยบอกว่า นี่เป็นการจัดการภายใน กลุ่มนี้จึงเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือจากหน่วยงานด้านนอก

3. ผู้ลี้ภัยในเมือง ซึ่งแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม

3.1 คือผู้ลี้ภัยในกรุงเทพฯ และชลบุรี มีอยู่กว่า 5,000 คน จาก 47 ประเทศ เข้ามาโดยวิธีการฟรีวีซ่าบ้าง วีซ่านักเรียนหรืออาสาสมัครบ้าง

3.2 ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาที่อยู่ในเมือง กลุ่มนี้มีอยู่ประมาณ 5,000 ถึง 10,000 คน

4. ผู้ลี้ภัยจากความเปราะบางทางความมั่นคงและการเมือง อย่างพี่น้องชาวโรฮิงญา อุยกูร์ และเกาหลีเหนือ ซึ่งปัจจุบันก็ไม่ทราบตัวเลขที่แน่นอนเช่นกัน

โดยเฉพาะชาวอุยกูร์ 350 คน ที่ลี้ภัยเข้ามาตั้งแต่ปี 2556 มีบางส่วนที่ถูกส่งไปยังประเทศที่สาม อย่างประเทศตุรกี ในปี 2558 และถูกส่งกลับไปยังประเทศจีนเมื่อเดือนกรกฎาคม 2558 อย่างน้อย 109 คน และปัจจุบันก็ยังไม่ทราบชะตากรรมของคนกลุ่มนี้ แต่หนึ่งในผู้เสวนา(ผู้พูดขออนุญาตไม่เปิดเผยตัวตน) ที่ได้รับข้อมูลมาจากทางจีน ว่าปัจจุบัน 109 คนนี้ “ไม่มีใครเหลือรอดแม้แต่คนเดียว” ปัจจุบันยังมีชาวอุยกูร์ถูกกักขังอยู่ที่ตรวจคนเข้าเมือง 50 คน มานานกว่า 9 ปี มีบางรายที่เสียชีวิตขณะถูกกักขัง ภาคประชาสังคมที่เข้าร่วมงานเสวนาเสนอว่า “เรื่องนี้ต้องขอผู้แทนรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมให้มีมาตรการที่แน่ชัดเกี่ยวกับชาวอุยกูร์ที่โดนกักขังอยู่ที่ ตม.โดยขั้นแรกขอให้พวกเขาได้รับการดูแลภายใต้หลักการสิทธิมนุษยชน”

โดยช่วงท้ายของการเสวนา ผู้แทนจากรัฐมนตีว่าการกระทรวงยุติธรรมรับปากว่า “จะกลับไปดูในจุดนี้ หาทางออกให้คนเหล่านี้มีคุณภาพชีวิตภายใต้การกักกันที่ดีขึ้น และจะหาทางออกเพื่อส่งตัวคนเหล่านี้ไปสู่ประเทศที่สามอย่างปลอดภัยให้ได้”

‘ส่วย’ อุยกูร์ เมื่อประเทศไทยคือ ‘ทางผ่าน’

สุชาติ เศรษฐามาลินี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวต่อจากคุณเชาวรัตน์ ที่ให้ข้อมูลว่า แม้ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่จะอยู่ในสถานกักกันก็เสมือนคุกเปิดมานานนับทศวรรษ ซึ่งไม่ใช่ว่าจะออกไม่ได้ “แต่ถ้าใครมีสตางค์ก็ออกได้” ตามมาด้วยคำถามว่า สตางค์ที่ว่านี้ กลายเป็นส่วยใต้โต๊ะให้ใคร หน่วยงานไหนที่เกี่ยวข้องกับความเป็นไปของผู้ลี้ภัย สุชาติกล่าวว่า ในฐานะที่เคยทำงานเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย เคยไปเยี่ยมชาวอุยกูร์ที่ซินเจียงและได้พูดคุยกับชาวอุยกูร์ที่ถูกกักขังอยู่ที่ด่านสะเดาจังหวัดสงขลา ชาวอุยกูร์ได้บอกกล่าวถึงความโหดเหี้ยมอำมหิตของทางการจีน ที่ส่งทหารไปประจำการในเขตการปกครองซินเจียง ยกภาพเปรียบเทียบกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ที่นั่นมีสถานการณ์ที่เลวร้ายกว่าสามจังหวัดชายแดนภาคใต้บ้านเราอยู่หลายเท่า ทั้งการตรวจตราที่เข้มงวด บนถนนเต็มไปด้วยทหารและหน่วยงานความมั่นคง รวมถึงทางการจีนส่งทหารไปนอนประจำบ้านชาวอุยกูร์เพื่อสังเกตุว่าคนเหล่านี้ปฏิบัติศาสนกิจหรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดคำสั่งของทางการจีน

“ที่นั่นอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้าย มีผู้คนนับแสน ๆ ถูกเรียกเข้าค่ายปรับทัศนคติไม่เว้นวัน”

สถานการณ์ล่าสุด ผู้ลี้ภัยอุยกูร์ที่สามารถหนีออกจากซินเจียงได้ “มีความหวังของการลี้ภัยคือปลายทางของประเทศที่สาม” โดยใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน แต่เนื่องด้วยประเทศไทยไม่มีกฎหมายที่ว่าด้วยผู้ลี้ภัย คนเหล่านี้ทั้งหมดจึงมีความผิดฐานลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย แม้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจะมีความพยายามจากทั้งภาคประชาสังคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการให้คนเหล่านี้สามารถติดต่อญาติในประเทศที่สามและสามารถเดินทางลี้ภัยได้ แต่ก็เป็นไปด้วยความลำบาก เพราะกฎหมายไม่ได้เปิดช่องและอนุญาต ทำให้กระบวนการทั้งหมดเกิดขึ้นอย่างกับลักปิดลักเปิด

แม้ทุกภาคส่วนจะเห็นตรงกันว่า เราควรมีกระบวนที่สามารถทำให้ผู้ลี้ภัยสามารถเดินทางไปประเทศที่สามได้อย่างปลอดภัย ผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ทุกคนพูดตรงกันว่า “เขาขอยอมตายที่นี่ หากต้องถูกส่งตัวกลับให้ทางการจีน”

ผ่าทางตันของการกดปราบ สู่ปลายทางสันติภาพ

รอมาฎอน ปันจอร์ ผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกล ยอมรับว่าแม้งานถนัดของตนก่อนเข้าวงการการเมืองไม่ได้เกี่ยวพันกับงานด้านผู้ลี้ภัยมาก่อน เพราะทำงานด้านวิชาการ วิจัยเกี่ยวกับสันติภาพมาโดยตลอด แต่โดยส่วนตัวมีความมุ่งมั่นที่จะร่วมเวทีในวันนี้ เพื่อทำให้กลไกฝ่ายนิติบัญญัติสามารถขับเคลื่อนให้ผู้ลี้ภัยได้รับความเสมอภาคภายใต้หลักการสิทธิมนุษยชน สิ่งที่รอมาฎอนชวนตั้งข้อสังเกตคือ “นี่คือการหวนกลับมาของการสร้างสันติภาพแบบอำนาจนิยม” ซึ่งส่วนใหญ่มีจุดร่วมกัน “คือนี่เป็นความขัดแย้งที่ต่ำกว่าความขัดแย้งในระดับเห็นได้ชัดจากกรณีของอุยกูร์ ที่เราไม่เห็นทางออก ไม่เห็นการเจรจา”

แม้จุดร่วมของเหตุการณ์ทั้งหมดคือปลายทางของสันติภาพ แต่เป็นสันติภาพที่ผู้มีอำนาจคิดว่า ต้องกดปราบอย่างถึงที่สุด เขาหวังว่าภายใต้การทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติที่มีกลไกอย่างกรรมาธิการ โดยเฉพาะกรรมาธิการความมั่นคงที่ตัวเองนั่งอยู่ จะมีส่วนสำคัญที่จะสามารถหาทางออกให้กับผู้ลี้ภัย โดยเฉพาะผู้ลี้ภัยจากภัยสู้รบในเมียนมาที่ปัจจุบันถูกกักกันอยู่ในค่ายแนวชายแดนตั้งแต่แม่ฮ่องสอนจนถึงอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

ผู้ลี้ภัย ไม่ใช่ ‘อาชญากร

กัณวีร์ สืบแสง ในฐานะผู้แทนราษฎร กล่าวในวงเสวนาว่า สิ่งแรกที่เราต้องทำ คือการปรับทัศนคติของทางการไทยต่อผู้ลี้ภัย เพราะตลอดระยะเวลากว่าสามทศวรรษ รัฐมีมุมมองเดียวต่อผู้ลี้ภัย “คือมุมมองที่เป็นภัยต่อความมั่นคง ทำให้รัฐจัดการกับปัญหานี้เสมือนปัญหาด้านความมั่นคงไม่ใช่ปัญหาด้านมนุษยธรรม” เราเลยเห็นแต่ภัยคุกคาม ที่มองไม่เห็นปัจจัยจากการหนีภัยเพราะการประหัตประหาร สงครามกลางเมือง หรือปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งตลอดการดำเนินนโยบายในลักษณะนี้มาเป็นเวลายาวนาน “ทำให้ไทยอาจจะอยู่ในลำดับที่ 2 3 หรือ 4 ด้วยซ้ำไปในสายตานานาชาติสำหรับการจัดการกับปัญหาผู้ลี้ภัย” ทั้ง ๆ ที่เราเป็นเพียงแค่ transit country (ประเทศทางผ่าน)

กัณวีร์ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า หน่วยงานระดับรัฐต้องมองปัญหานี้ร่วมกัน เพราะนี่เป็นปัญหาที่ข้ามความรับผิดชอบของกระทรวงแต่ละกระทรวงไปเรียบร้อยแล้ว “คนที่ต้อง head คือนายกรัฐมนตรีเพราะเรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาของกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง” กระทรวงการต่างประเทศต้องมีบทบาทในฐานะระหว่างรัฐ ตำรวจภายใต้สำนักนายกที่มีหน้าที่ในการจับกุม กระทรวงพัฒนาสังคมฯ และกระทรวงยุติธรรม จะต้องพิจารณาเรื่องคุณภาพชีวิตและการดำเนินการภายใต้กระบวนการยุติธรรมที่ไม่ได้พิจารณาว่าคนเหล่านี้คืออาชญากร“ เรื่องนี้เป็นปัญหาร่วมกันของเราทุกคนไปแล้ว

กัณวีร์ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวเพิ่มเติมว่า ในเมื่อความต้องการของผู้ลี้ภัยคือการเดินทางไปประเทศที่สาม และเราจะจัดวางตัวเองในฐานะประเทศทางผ่าน สิ่งที่เราต้องลงมือและสร้างกระบวนการคือการจัดมาตรการทั้งนิติบัญญัติที่สอดคล้องไปกับแนวนโยบายแห่งรัฐที่มีมาอย่างนมนานแล้ว คือ

ขั้นที่ 1 คือ การร่างกฎหมายสำหรับผู้ลี้ภัย เพื่อให้ผู้ลี้ภัยในประเทศไทยมีสถานะอย่างชัดเจน

ขั้นที่ 2 ใช้แนวทางในการแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยอย่างยั่งยืน ซึ่งมีสามแนวทาง คือ การเดินทางกลับประเทศมาตุภูมิแบบสมัครใจ การผสมกลมกลืนในประเทศที่ลี้ภัย และการตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม ซึ่งนี่นับเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาแบบสากล อย่างที่ UNHCR ก็กำลังใช้กับผู้ลี้ภัยทั่วโลก

อย่างที่ภาคประชาสังคมหลายส่วนได้สะท้อนในงานเสวนา ซึ่งมีข้อมูลว่าผู้ลี้ภัยที่ถูกกักขังอยู่จำนวนมากไม่ได้ถูกปฏิบัติในฐานะมนุษย์ ต้องอยู่ในห้องขังขนาด 4 x 4 ตร.ม.อย่างแออัด ไม่มีอาหารฮาลาลสำหรับผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมโรฮิงญาและอุยกูร์ รวมถึงผู้ลี้ภัยเหล่านี้ไม่ได้รับอนุญาตให้ปฏิบัติศาสนกิจตามหลักความเชื่อความศรัทธา นี่จึงนับเป็นภัยความมั่นคงใหม่ในสายตาของกัณวีร์ คือความมั่นคงของมนุษยชาติที่ไม่ได้ถูกปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรม หากเราล่าช้า หรือเมินเฉยต่อเรื่องนี้ต่อไป ผู้ลี้ภัยที่ถูกคุมขังก็จะต้องถูกจองจำอย่างไม่มีที่สิ้นสุด