ถ้าโลกนี้ไม่มีขาวดำ Mockingbird ก็ไม่เคยทำร้ายใครอยู่ดี - Decode
Reading Time: 3 minutes

หมากฝรั่ง เหรียญรูปอินเดียนแดงสองเหรียญ ตุ๊กตาสบู่ เหรียญรางวัลขึ้นสนิม นาฬิกาสายโซ่พัง ๆ และต้นไม้ต้นนั้นกำลังพูดเรื่องหนัก ๆ อย่างคดีข่มขืน อคติ การเลือกปฏิบัติและความเกลียดชัง ผ่านสายตาและน้ำเสียงของ สเกาต์ ฟินช์ เด็กหญิงที่มีพ่อ(แอตติคัส)เป็นทนายแก้ต่างให้กับชายผิวสี ทอม โรบินสัน ที่ถูกกล่าวหาว่าข่มขืนหญิงผิวขาว เพียงแต่เมืองนี้ไม่เห็นด้วยกับการปกป้องคนผิวสี โอกาสชนะคดีจึงเท่ากับศูนย์การแสดงเจตจำนงในการปกป้องชายผิวสี จึงเป็นความยุ่งยากในชีวิตที่อาจถึงแก่ความตายเลยทีเดียว

สเกาต์ เธอเติบโตจากเด็กหญิงอายุ 6 ถึง 9 ปี ในขณะที่เรื่องราวดำเนินไปอย่างไร้ขนบตามแบบแผนในวันธรรมดา ๆ ของชีวิตคนในเมืองเมย์คอมบ์ที่ซอมซ่อ เชื่องช้า ใช้เวลาเรื่อยเปื่อยกับทุกสิ่งอย่างโดยไม่มีอะไรต้องเร่งรีบ เพราะไม่มีที่ไหนให้ไป ไม่มีอะไรให้ซื้อ และไม่มีเงินให้ซื้อด้วย ระยะนั้นมีคนพูดว่าเมย์คอมบ์น่ะเหรอไม่มีอะไรน่ากลัวเลย นอกจากตัวเมย์คอมบ์เอง แม้จะมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์และการเหยียดเชื้อชาติในเมืองของเธอ ในตอนต้นของหนังสือ To Kill a Mockingbird เธอกำลังสับสนกับคำและชื่อที่เธอได้ยินจากคนในเมืองพูดตรงไปหาพ่อของเธอ “ไอ้ห่ารักไอ้มืด”

แน่ล่ะ! เด็กหกขวบไม่รู้วิธีจัดการกับสถานการณ์ตรงหน้า แต่เธอรับรู้แล้วว่าการเหยียดเชื้อชาติมีอยู่จริง ท้าทายมโนสำนึกของการเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ ผ่านเลยไปจนเธออายุ 9 ขวบ คำว่า “รักไอ้มืด” ก็คือคำที่ไม่มีความหมายอะไรพิเศษ “เหมือนไอ้ขี้มูกย้อยนั่นล่ะ บางทีคนมักหยิบเอามาใช้เวลาอยากได้คำแรง ๆ สะดวกปากให้ร้ายใครสักคน” น้ำเสียงของเด็กที่ทำให้ผู้ใหญ่อย่างฉันมองเห็นผู้บริสุทธิ์ตามชื่อหนังสือ

คดีที่ผู้ใหญ่คิดว่าซับซ้อน แต่จริง ๆ แล้วเรียบง่ายราวสีขาวกับดำ เพราะอัยการไม่ได้แสดงหลักฐานทางการแพทย์ อาศัยเพียงแค่คำให้การของพยานบุคคลสองคนซึ่งมีพิรุธเมื่อถูกซักค้าน หนำซ้ำยังขัดแย้งกับคำให้การของจำเลยด้วย เชื่อว่าผู้อ่านเกือบร้อยทั้งร้อยเชื่อได้ว่าจำเลยไม่มีความผิด แต่ใครหลายคนในห้องพิจารณาคดีนี้ต่างหากล่ะที่มีความผิด! แอตติคัส พ่อของสเกาต์ ไม่มีความรู้สึกอื่นใดนอกจากสงสารพยานปากเอก

เธอเป็นคนขาว แต่เธอทำสิ่งที่เลวร้ายสำหรับสังคมของคนขาว เธอหลงรักชายผิวสี ซึ่งก็ไม่ใช่ตาลุงแก่ ๆ แต่เป็นชายหนุ่มนิโกรแข็งแรง บึกบึน ก่อนละเมิดกฎอะไรก็ไม่สำคัญ แต่หลังจากนั้นสิ เธอก็ถูกกฎของสังคมเมย์คอมบ์ตัดสิน มันจึงไม่ใช่ข้อสรุปอันเลวร้ายที่ว่า นิโกรทุกคนโกหก นิโกรทุกคนเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไร้ศีลธรรมโดยสันดาน ผู้ชายนิโกรทุกคนไม่สมควรได้รับความไว้ใจให้อยู่ใกล้ผู้หญิงของเรา นี่คือข้อสรุปของสังคมที่มีศีลธรรมเสมอกับความคิด พลิกคดีชายผิวสีข่มขืนหญิงผิวขาวกลายเป็นเรื่องราวโอละพ่อ! ที่แท้ทรู

ไม่มีปาฏิหาริย์ ไม่มีฮีโร่ในท้องเรื่อง มีแต่ความจริงที่เคลื่อนไหวในสายตาของทนาย-แอตติคัส ทำให้เรื่องมีน้ำหนักหักล้างกับโลกแบบอุดมคติที่ผ่านไปกี่ยุคสมัย อคติและความเกลียดชังก็ยังซึมลึกอยู่ในความโดดเดี่ยวของผู้คน

“ศาลมิได้ประเสริฐไปกว่าพวกท่านแต่ละคนที่นั่งอยู่ตรงหน้าผมในฐานะลูกขุนหรอกครับ ศาลมีวิจารณญาณได้เท่ากับกลุ่มชายที่รวมตัวกันเป็นคณะลูกขุน ผมเชื่อมั่นว่าท่านสุภาพบุรุษทั้งหลายจะพิจารณาหลักฐานที่ได้ฟังมาโดยปราศจากอารมณ์ บรรลุการตัดสินใจและคืนจำเลยผู้นี้แก่ครอบครัวของเขาในนามของพระเจ้า โปรดทำหน้าที่ของพวกท่านเถอะครับ” เสียงของแอตติคัสแผ่วลง ราวกับว่าตัวละครกำลังพูดแทนผู้อ่าน แม้ฉากหลังคือห้องพิจารณาคดีก็ตาม

เรื่องราวซึ่งควรจะมีตัวละครอย่างน้อยก็พ่อ ลูก และจำเลย แต่ไม่ใช่สำหรับ To kill a Mockingbird ฉันนับตัวละครได้เกือบเท่าอายุตัวเอง ยิ่งไปว่านั้น ฉันแปลกใจที่ทุกคนมี “ชื่อ” ทั้งหมด แม้แต่ประกอบอย่าง ฟรานซิส แฮนค็อก, นางเฮนรี่ ลาฟาแยตต์ ดูโบส, ดอล์ฟัส เรย์มอนด์, นายฮอเรซ กิลเมอร์, ฮอเรซ กิลเมอร์, ลิงค์ ดีส, แคโรไลน์ ฟิชเชอร์, Dr. Reynolds, สาธุคุณ Sykes และใครต่อใครอีกนับ 36 คนถ้วน “บ้าไปแล้ว” ฉันอุทานกับเพื่อน

ยิ่งเมื่อตัวประกอบปรากฏตัว บนเฉลียงบ้านมิสมอดี้ เธอท้าวสะเอว ไหล่ลู่เล็กน้อย แว่นตาแวววาวสะท้อนแสงอาทิตย์ เรารู้ว่าเธอกำลังยิ้มร้ายกาจขั้นสุด ทันทีที่คนขับรถชะลอความเร็ว มีเสียงแสบแก้วหูของผู้หญิงคนหนึ่งร้องว่า “เกิดมาอย่างไร้ความหมาย ตายไปในความมืด”

มิสมอดี้ โต้กลับ “หัวใจที่เบิกบานนำมาซึ่งหน้าตาที่แจ่มใส”

มันกลายเป็นฉันที่เผลอเอาตัวเองไปตัดสินป้ามอดี้ จนต้องอ่านวนซ้ำในฉากสั้น ๆ นั้นรอบที่สองถึงคลายความสงสัยว่าทำไมคนเหล่านี้ถึงไม่ชอบมิสมอดี้ยังเป็นปริศนาเร้นลับในหัวฉัน เพราะสำหรับคนที่ใช้เวลานอกบ้านตลอดเวลานั้น ความสามารถในการใช้พระคัมภีร์ของป้ามอดี้ถือว่าแก่กล้ามาก ยอมรับเถอะว่า บางสถานการณ์เรามักเข้าข้างตัวเองว่าเป็นผู้ถูกกระทำ แต่บางครั้งอาจเป็นเราที่เป็นคนลงมือฆ่า Mockingbird ด้วยอคติโดยไม่รู้ตัว

แต่ Mockingbird ไม่เคยทำร้ายใคร มันโดดเดี่ยวและเอาแต่ร้องเพลง โดยไม่รู้ว่ามันเกาะอยู่บนต้นไม้ของบ้านหลังไหน แก่นสารของเรื่องที่พาเรากลับมายังคุณค่าที่โอบรับ ‘คน’ ที่ต่างจากเรา

ปลายเปิดของหนังสือที่มี 36 ตัวละคร มหาศาลที่สุดเท่าที่ฉันเคยอ่านวรรณกรรมมา ทุกคนล้วนมี “ชื่อ” “น้ำเสียง” ตัวตนและการมองโลก

ไม่ว่าจะเป็นชายที่เกลียดคนดำเข้าไส้ ชนิดอยู่ใกล้ไม่ได้เลย พ่อของเขาเกิดอารมณ์ขันวายป่วงตั้งชื่อลูกว่าแบรกซ์ตัน แบรกก์ ซึ่งเป็นชื่อของนายพลที่แย่ที่สุดในสมัยสงครามกลางเมือง

ไม่ว่าจะเป็นมิสมอดี้  หรือแม้แต่ มิสเตอร์บ๊อบ ยูเวลล์ ที่ได้งานแล้วก็ตกงานภายในไม่กี่วัน แต่งานของเขาก็อยู่ได้นานกว่าเรื่องอื้อฉาวของเจ้าตัว กระทั่ง ทอม โรบินสัน ที่เจ็บปวดและกระอักกระอ่วนที่สุด

แต่แล้วทุกคนล้วนถูกลืมเลือนไปด้วยกันกับบู เรดลีย์ ที่โผล่มาตอนจบแล้วก็จากเราไป โดยไม่มีใครรับรู้ถึงความโดดเดี่ยว แร้นแค้นของมิสเมย์ได้เท่ากับมิสเมย์ ความเป็นคนจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับเงินในบัญชีธนาคาร

“แม่ฉันมีลูก 8 คน ฉันต้องช่วยแม่เลี้ยงน้อง ฉันรู้ว่าความแร้นแค้นมันเป็นยังไง” เธอพยักหน้า

ฉันเจอมิสแมร์รี่ครั้งแรกที่โบสถ์ไทยในเช้าวันอาทิตย์ หญิงผิวสีวัยกลางคน ดวงตาสุกใสในชุดเดรสสีแดงลวดลายเรขาคณิต 30 ปีที่แล้วเธอใช้ชีวิตยากลำบากและถูกเลือกปฏิบัติเพราะผิวสีและความจน

“โลกไม่ได้มีความถูกต้องตลอดเวลาหรอกนะ จนกว่าเราจะได้ใช้ตะลันน์ของตัวเอง” เธอว่า

ถ้าพระเจ้าเลือกให้ฉันเป็นผู้สอน ฉันจะสอน

ถ้าพระเจ้าเลือกให้ฉันเป็นหญิงหม้าย ฉันจะมีจิตวิญญาณของครอบครัว

ถ้าพระเจ้าเลือกให้ฉันเป็นผู้ดูแล ฉันจะเป็นผู้ดูแลด้วยความรักและเมตตา

และไม่ว่าเราจะถูกกระทำอย่างไร เราจำเป็นต้องมีความเมตตา ถ่อมสุภาพ

“เพราะเมื่อเรามองโลก โลกก็มองเราเช่นกัน” มิสแมร์รี่ พูดถูก

จังหวะชีวิตของฉัน ก็ไม่เหมือนคุณ

สิ่งที่คนอื่นให้ความสำคัญ ก็ไม่เหมือนที่ฉันให้ความสำคัญเช่นกัน

“เพราะเราไม่เหมือนกัน” เธอพูด

“เธอพังกรงขังของ Mockingbird จนราบคาบ” ฉันคิด

เหมือน ๆ กับการรักไอ้มืดก็คือ คำ ที่ไม่มีความหมายอะไรพิเศษ เหมือนไอ้ขี้มูกย้อยนั่นล่ะ

หนังสือ: To kill a Mockingbird ผู้บริสุทธิ์
นักเขียน: ฮาเปอร์ลี
แปล : วิกันดา จันทร์ทองสุข
สำนักพิมพ์: Words

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี