มหรสพสัญจรรถแห่ ท่วงทำนองอีสานใหม่ที่ชุบหัวใจคนไกลบ้าน - Decode
Reading Time: < 1 minute

ป๋าเมียมาเลยอ้าย, ระเบิดเวลาาา อ้าาา, เอวลั่นปั๊ด, วอเอ๊ะๆๆๆๆ

รถแห่ เป็นทั้งรถบรรทุก/รถกระบะ ที่ทำชั้น 2 เหมือนรถบัสเพื่อการแสดงดนตรีสด และเป็นทั้งแนวการเล่นดนตรีซึ่งมีจังหวะโจ๊ะเป็นหลัก

หลังปี 2560 การเติบโตของมหรสพสัญจรที่มาจากความนิยมของมวลชนจำนวนมาก ความรื่นเริงของชาวบ้านที่พลวัตและไม่เคยถูกแช่แข็ง การเติบโตนี้ยังสอดคล้องกับการพลัดถิ่นของแรงงานอีสานจำนวนมากที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ที่ทำให้ช่วงให้หลังมานี้ความเป็นอีสานถูกทำให้ป็อปมากยิ่งขึ้น

นัดพบตรงท่อนฮุก นักดนตรีบนรถมิกเซอร์และแรงงานที่ต้องจากบ้านเกิด การเกิดขึ้นของวัฒนธรรมอีสานใหม่ที่วัฒนธรรมดนตรีในฐานะส่วนหนึ่งของชาวอีสานพลัดถิ่น ได้รับการต่อยอดผ่านการผสมผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ตลอดจนการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนวัฒนธรรมอีสานในบริบทการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจไทย

กลองยาว หมอลำ มิกเซอร์ และการพลวัต

ความเป็นพื้นบ้านที่รถแห่สามารถเข้าถึงผู้คนจำนวนมากได้ ไม่ได้เป็นเพียงการละเล่นเพื่อความสนุกสนาน แต่มันแฝงฝังมิติทางสังคม การเมืองและวัฒนธรรมของท้องถิ่นที่ไม่แช่แข็ง” จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์ นักศึกษาปริญญาเอกสาขาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้บรรยายในเสวนา รถแห่: มหรสพสัญจรกับชาวอีสานพลัดถิ่น กล่าว

แม้ว่ารถแห่จะเป็นวัฒนธรรมที่ได้แพร่หลายแทบทุกพื้นที่ของประเทศไทย ทว่า รถแห่แต่เดิมนั้นมีต้นกำเนิดจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ซึ่งเป็นการพลวัตของมหรสพสัญจรของอีสาน ทำให้ในวันนี้เสียงดนตรีอีสานพื้นบ้านกลายเป็นอีสานป็อป

จากการศึกษาวิจัยของจารุวรรณ รถแห่เป็นวงดนตรีลูกผสมซึ่งมาจากทางดนตรี 2 ทางด้วยกัน ทางแรกคือวงกลองยาว ซึ่งมักจะใช้ในงานพิธีกรรมต่าง ๆ ของชุมชน จากใส่รถเข็นเริ่มพัฒนาเป็นใส่ลำโพง เครื่องเสียงไว้บนรถกระบะ รถหกล้อ ซึ่งขนาดของการออกวงใหญ่ขึ้นควบคู่ไปกับคุณภาพเสียงที่ดียิ่งขึ้นตามเทคโนโลยีสมัยใหม่

ทางที่สองคือหมอลำซิ่ง ซึ่งเป็นการแสดงดนตรีที่ได้รับความนิยมหลายทศวรรษในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

“รถแห่ที่ได้รับอิทธิพลมาจากการแสดง 2 ทางนี้ ทำให้เกิดมหรสพรูปแบบใหม่ขึ้น แต่ไม่ได้ทำให้การแสดงหรือวัฒนธรรมเก่า ๆ หายไป มหรสพเหล่านี้ยังเดินคู่ขนานบนวัฒนธรรมอีสานและปรับตัวเข้ากับยุคสมัยอยู่เสมอ” จารุวรรณ กล่าว

โดยสมาชิกบนรถแห่นั้นมีไม่มาก ราว 8 คนต่อ 1 คัน ซึ่งตำแหน่งที่น่าสนใจและสำคัญคือมิกเซอร์หรือที่เรียกกันว่ามือมิกซ์ เรียกได้ว่ามือมิกซ์คือคนที่จะทำให้เสียงที่ออกมาจากรถแห่นั้นดีหรือไม่ดี ขึ้นอยู่กับตำแหน่งนี้

ซึ่งรถแห่ของอีสานได้ก่อร่างสร้างตัวมาจากวัฒนธรรมพื้นถิ่นเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นภาพแทนของมหรสพสมัยใหม่ที่ปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมภายนอกอื่น ๆ และสามารถเข้าชิงความป็อปในแทบทุกพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นงานประเพณี พิธีกรรม หรือการกินเลี้ยงตามวาระโอกาส

จากเดิมที่เป็นมหรสพสัญจรในอีสาน ซึ่งทุกวงจะหยุดทำการแสดงในช่วงเข้าพรรษา-ออกพรรษา(หน้าฝน) ทั้งฟ้าฝนที่อาจส่งผลลำบากต่อการแสดงและเพื่อที่จะให้สมาชิกได้กลับบ้านรวมถึงทำไร่ในท้องที่ของแต่ละคน

แต่เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ผลักให้เราทำงานอย่างต่อเนื่อง แต่ถ้าหากดึงดันจะเล่นในพื้นที่อีสานก็อาจไม่มีคนดูหรือสร้างรายได้ได้ นั่นทำให้มหรสพข้ามพรมแดนเกิดขึ้น และเป็นแบบแผนที่ทำให้รถแห่กลายเป็นโชว์อย่างเต็มรูปแบบนอกพื้นที่ สามารถสร้างรายได้ให้กับคณะที่เดินทางไปด้วยกันตลอดทั้งปี และเกิดลูกค้าใหม่ ๆ จนเป็นที่ถูกใจของคนจากหลายพื้นที่

การปรับตัวของรถแห่ที่สามารถเข้าถึงผู้คนได้ใกล้ชิดอย่างเห็นได้ชัด คือการนำเสนอแบบของตัวเองหรือเรียกได้ว่าการ cover หากไปดูใน Youtube เราจะพบว่าคลิปที่เป็นเพลงแนวรถแห่อย่างต่ำก็ล้านวิว รถแห่ไม่ได้แช่แข็งตัวเองด้วยการเล่นแต่เพลงลูกทุ่ง หมอลำ แต่การนำเพลงอื่นมาประกอบในเพลย์ลิสต์การแสดงนั้นเอง ทำให้คนที่ไม่ได้ฟังเพลงลูกทุ่งหรือหมอลำ สามารถเชื่อมโยงกับรถแห่ได้ ดังเช่นทุกวันนี้เราจะเห็นเพลงจังหวะโจ๊ะ ๆ ที่มักจะถูกเรียกได้ว่าเพลงแนวรถแห่ ซึ่งถือเป็นการเผยแพร่อัตลักษณ์รถแห่ที่เป็นที่รู้จักในสังคม

รถแห่ซึ่งเป็นวัฒนธรรมชาวบ้านจึงเป็นวัฒนธรรมที่ไม่ถูกแช่แข็ง การปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ตามบริบทการเมือง สังคม เศรษฐกิจ ทำให้ความเป็นรถแห่เข้าถึงผู้คนอย่างแพร่หลาย เพราะไม่ใช่แค่ดนตรีจังหวะสนุกที่ร้องเล่นกัน แต่วัฒนธรรมชาวบ้านนี้คือการตอบสนองต่อผู้คนที่ทำให้ทุกคนรู้สึกจับต้องได้ต่างหาก

มหรสพเคลื่อนที่กับแรงงานเคลื่อนย้าย

ใต้ต้นไม้ในลานกว้าง ริมถนนข้างวัด หรือแม้กระทั่งสนามกีฬาหน้าโรงงาน การเคลื่อนเวทีแสดงของรถแห่ที่สามารถข้ามดินแดนที่ราบสูง วิ่งยาวไปนอกพื้นที่วัฒนธรรมเดิม อาจไม่ต่างอะไรกับชีวิตแรงงานที่พลัดถิ่นจำนวนไม่น้อย

ข้อมูลจาก Regional Letter ฉบับที่ 4/2566 ของ ธปท. รายงานไว้ชัด แม้หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 แรงงานอีสานเคลื่อนย้ายราว 400,000 คนจะกลับบ้านเกิด ทว่า ตัวเลขของแรงงานอีสานที่เคลื่อนย้ายนอกภูมิภาคทั่วประเทศ ยังคงอยู่ที่ประมาณ 2.7 ล้านคน และอยู่ในกรุงเทพฯ ถึง 1.2 ล้านคน เป็นสถิติที่ยืนยันได้ว่าฐานแฟนคลับของรถแห่ได้กระจายตามหัวเมืองใหญ่อยู่มาก

การปรากฎตัวของรถแห่นอกภาคตะวันออกเฉียงเหนือจึงไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ในขณะเดียวกันการมาถึงของรถแห่กลับให้ความรู้สึกใกล้บ้านกับแรงงานที่ต้องพลัดถิ่น

จารุวรรณกล่าวว่า ตามประวัติศาสตร์การเคลื่อนย้ายของแรงงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อตัวหนาขึ้นในช่วง 2490-ต้น 2500 และเป็นการเคลื่อนย้ายชั่วคราว กล่าวคือเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ช่วงเวลาพักเว้นจากการทำนา และค่อย ๆ พัฒนามาเป็นแรงงานก่อสร้างหรือแรงงานในโรงสี และเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม รวมถึงแรงงานหลายคนก็ได้พัฒนาทักษะจนสามารถยกระดับฐานะของตนขึ้นมาได้ นั่นทำให้ประชากรอีสานได้เคลื่อนย้ายสู่ภูมิภาคอื่น ๆ อย่างถาวรในช่วงหลัง

ในการพลวัตของรถแห่ที่มีดนตรีอีสานเป็นตัวขับเคลื่อน ในช่วงแรกที่รถแห่เป็นมหรสพสัญจร เพลงที่นำมาเล่นถูกนำมาเพื่อเสนอกับแรงงานชั่วคราวที่สังคมยังมีคติ ‘สู้เขา บ้านเฮามันแล้ง’ จารุวรรณกล่าวว่า ตัวเพลงเองจึงมีหน้าที่ปลอบประโยนต่อแรงงานที่ต้องมาทำงานไกลบ้าน ทำให้ดนตรีอีสานในหลาย ๆ แนวดนตรียึดโยงเพียงแค่กลุ่มประชากรใดประชากรหนึ่ง

ในขณะที่ตั้งแต่ 2560 เป็นต้นมา การเติบโตของค่ายดนตรีท้องถิ่นโดยเฉพาะค่ายดนตรีขนาดเล็กในภาคอีสานอย่างค่ายเซิ้งมิวสิก ทำให้ดนตรีอีสานเข้าถึงคนได้มากขึ้นผ่านการให้เล่นเพลงฟรีไม่เก็บค่าลิขสิทธิ์กับวงรถแห่หรือวงต่าง ๆ ทำให้ดนตรีอีสานในแบบฉบับใหม่ ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวที่มากกว่าประชากรอีสานต้องเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ รวมถึงเนื้อหาอย่างเรื่องความรักไปจนถึงการกลับบ้านเกิด/ความภูมิใจในท้องที่ ดนตรีอีสานจากค่ายขนาดเล็กเองก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้วัฒนธรรมรถแห่เข้าถึงผู้คนได้หลากหลายกลุ่มมากยิ่งขึ้น

การเติบโตขึ้นของอีสานป็อปจึงเป็นทั้งดนตรี รถแห่ ผู้คน และวัฒนธรรม ซึ่งมาจากการไม่ถูกแช่แข็งของวัฒนธรรมและเรื่องเล็ก ๆ อย่างเพลงที่ทุกคนสามารถเล่นได้ ฟังได้ ร้องได้ ดนตรีอีสานจึงไม่ถูกยึดติดอยู่กับภาพจำเดิม ๆ อีกต่อไป

ผัสสะที่หยั่งลึกถึงมโนสำนึกของคนไกลบ้าน

จารุวรรณกล่าวว่า มีงานวิจัยในสายมานุษยวิทยาต่างประเทศพูดถึงเสียงเครื่องดนตรีอีสานอย่างพิณและแคน นอกจากรูปแบบเสียงที่มอบความสนุกสนาน แต่การเติบโตของดนตรีอีสานหลายยุคสมัยที่ส่งต่อกันมา ทำให้เสียงของดนตรีเหล่านี้ยังส่งผลต่อมโนสำนึกให้คนอีสานเมื่อได้ยินหวนคิดถึงท้องถิ่นอีกด้วย

“ดังนั้นเมื่อแรงงานอีสานคิดถึงบ้าน ก็จำเป็นต้องหาพื้นที่แสดงออกทางวัฒนธรรมย่อยของตัวเอง เช่นการรวมกลุ่มในร้านอาหาร เพื่อที่จะได้พูดคุยเป็นภาษาถิ่น ฟังเพลงที่คุ้นเคย รวมไปถึงการได้ลิ้มรสชาติที่ถูกปากตัวเอง ไปจนถึงร้านอาหารที่มีชื่อเป็นแหล่งที่มาของตน ก็เป็นการแสดงออกทางอัตลักษณ์สำหรับการรวมกลุ่มของกลุ่มวัฒนธรรมย่อยในสังคม”

อย่างไรก็ตาม แม้รถแห่จะไม่ได้มีการใช้เครื่องดนตรีอีสานแม้แต่ชิ้นเดียว จารุวรรณกล่าวถึงสิ่งที่ค้นพบในงานวิจัยชิ้นนี้ คือทุกวงรถแห่ยังคงไว้ซึ่งผัสสะทางอารมณ์ของดนตรีอีสาน เพลงรถแห่ยังคงมีเซนส์ดนตรีอีสานที่สามารถเชื่อมโยงกับประชากรอีสานแม้จะไม่ได้มีเครื่องดนตรีท้องถิ่นก็ตาม

จารุวรรณยกตัวอย่างของมหกรรมรถแห่ ซึ่งจัดขึ้นที่บางปะกง การเข้างานจะมีการขายบัตรราคาประมาณ 100 บาท ซึ่งในเขตบางปะกงแรงงานส่วนมากเป็นแรงงานในโรงงานหรืออุตสาหกรรม การพบปะกันของแรงงานพลัดถิ่นเหล่านี้ไม่เพียงแต่มอบการปลดปล่อยทางด้านร่างกายอย่างการเต้น ร้อง รำ แต่การได้อยู่ในวงล้อมของกลุ่มวัฒนธรรมย่อยเดียวกันนี้เอง ก็เป็นสิ่งที่เติมเต็มและบรรเทาความคิดถึงบ้าน ในขณะเดียวกันความคิดถึงนี้ก็เป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงให้รถแห่กระจายตัวสู่ภูมิภาคอื่น ๆ ตามกลุ่มแรงงานพลัดถิ่นเข้าไปนั่นเอง

“แม้ค่าตั๋วจะเพียง 100 บาท แต่สำหรับแรงงานหลาย ๆ กลุ่ม นั่นอาจเป็นค่าแรง 1 วันของพวกเขา ซึ่งมันชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของรถแห่กับแรงงานพลัดถิ่น ถึงแม้จะมีราคาเกือบเทียบเท่าค่าแรง 1 วันแต่พวกเขาเลือกที่จะยอมจ่าย เพราะรถแห่สามารถนำพาพวกเขาหวนคืนบ้านเกิดได้ผ่านแวดล้อมของผู้คนและเสียงดนตรี”

อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือรถแห่อีสานจะสามารถพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่ยั่งยืนได้หรือไม่ จารุวรรณตอบว่า สำหรับตนนั้นมองว่าสิ่งที่ผลักดันให้รถแห่ป็อปขึ้นมาได้ก็เพราะการไม่ยึดติดกับขนบเดิม ๆ และการจะผลักดันให้เกิดความยั่งยืนนั้นในแง่มุมหนึ่งคือการไปตีกรอบความสำเร็จของรถแห่เอาไว้ สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้น คือการที่วัฒนธรรมอีสานป็อปขึ้นมาต่างหาก ซึ่งในอนาคตก็อาจจะมีผลต่อการสร้างเศรษฐกิจ สังคม ไปจนถึงการเมือง เพื่อสนับสนุนภูมิภาคให้ดียิ่งขึ้นก็เป็นได้

แม้ที่ผ่านมา ภาพจำของรถแห่จะถูกมองด้วยอคติจากศูนย์กลางหรือชนชั้นกลางด้วยคำว่า ‘ตลาดล่าง’ อย่างไรก็ตามนั่นก็เป็นเพียงวาทะกรรมเก่า ๆ ที่ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าตลาดชาวบ้านหรือตลาดล่างที่มองจากศูนย์กลางเป็นตลาดใหญ่เพียงใดเมื่อดูยอดวิวใน Youtube หรือจำนวนคนมาชมคอนเสิร์ต

รถแห่จึงเป็นมากกว่าดนตรี เมื่อมองในบริบททางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองแล้ว เราจะเห็นทั้งการเติบโตของวัฒนธรรมท้องถิ่น การกระจายตัวของค่ายเพลงขนาดเล็ก การกระจายอำนาจจากทุนและศูนย์กลาง หรือแรงงานที่ต้องจากบ้านเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่

และอาจเป็นความหวังว่าวันหนึ่งการพลวัตเหล่านี้จะสามารถสร้างเนื้อเพลงที่แตกต่างออกไปจากอดีต ในวันที่แรงงานอีสานไม่จำเป็นต้องถูกผลักให้พลัดถิ่นแต่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้บ้านเกิดได้เช่นกัน

“ถ้าโรงกาแฟในมหาลัยเหมือนแร่ เป็นเหมือนโรงพยาบาลประสาทแก้โรคคิดถึงบ้านของอาจินต์ เช่นนั้น รถแห่ก็เป็นเหมือนการเยียวยาความคิดถึงบ้านของแรงงานพลัดถิ่นที่ชาวอีสานพลัดถิ่นต้องการเช่นกัน” จารุวรรณ กล่าว

รับชม รถแห่: มหรสพสัญจรกับชาวอีสานพลัดถิ่น | Memory, Mobility & Multiplicity: The 3M Series | EP.1

อ้างอิง

Regional Letter แบ่งปันความรู้…สู่ภูมิภาค ฉบับที่ 4/2566