ปัจจุบันที่พูดไม่ได้ อนาคตที่ต้องย้ายหนี - Decode
Reading Time: 2 minutes

ค่ายนักเขียน Decode Basecamp#1

ธนพล เลิศเกียรติดำรงค์

“เดี๋ยวพอไปถึงแล้วเปิดประตูรถลงไปนะ คุณจะได้กลิ่นเลย ถอดแมสด้วยล่ะจะได้ดมกลิ่นชัด ๆ”


สมบัติ นพฤทธิ์ แกนนําและหนึ่งในบรรดาผู้ได้รับผลกระทบจากโรงงานกําจัดของเสียในชุมชนหนองแหน พูดระหว่างพาไปสํารวจพื้นที่บริเวณรอบ ๆ โรงงานรีไซเคิลน้ำมันที่ดําเนินกิจการใกล้กับคลองชลประทาน ทุ่งนา และโรงเรียน ภาพกําแพงสูงเกิน 2 เมตรและเสากล้องวงจรปิดรอบด้านจํานวนมาก เป็นสถาปัตยกรรมที่ดูจะไม่แปลกอะไรหากอยู่ในเมืองหรือชุมชนแต่กลับโดดเด่นเมื่อไปอยู่กลางท้องนา กําแพงสูงที่ให้ความรู้สึกเหมือนกับคุกที่กักขังหรือกําลังปิดบังอะไรบางอย่างไว้ข้างหลังกําแพง กล้อง CCTV ที่กําลังจับตาดูเหล่าผู้มาเยือนรอบโรงงาน แม้จะปิดกั้นการมองเห็น แต่ก็ไม่อาจปิดกั้นกลิ่นไม่พึงประสงค์ที่ลอยข้ามกําแพงมาเข้าจมูกและสายตาสอดส่องและจับผิด ภาพทิวทัศน์อันแปลกประหลาดของผู้ที่มองเข้ามาได้

“เหม็น…จนทนอยู่ไม่ได้”
“เหม็น…จนหาคนมาทํางานในสวนยางไม่ได้”
“เหม็น…จนมีบ้านนึงเมียทิ้งผัว เก็บของหอบลูกหนีไปจากชุมชน”
บางส่วนของและอีกสารพัดคําพรรณนาถึงกลิ่นและผลกระทบอื่น ๆ ที่ชาวหนองแหนได้รับในอดีตจนถึงปัจจุบัน

เล่นแร่แปรธาตุเปลี่ยนบ่อดินร้างเป็นบ่อขยะ

เมื่อกลิ่นเหม็นในฐานะ Welcome Drink ของชุมชนถูกเสิร์ฟเข้าร่างกายผู้มาเยือนแล้ว พ่อสมบัติ ผู้ได้รับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของชุมชนเริ่มบรรยายประวัติศาสตร์ความเน่าเฟะที่เกิดขึ้นกับชุมชนตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา


“ตําบลหนองแหน ตําบลเล็ก ๆ ในอําเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา…มีการเพาะปลูกข้าว มะม่วง มันสําปะหลัง ยางพารา และฟาร์มหมู…” รูปแบบคําโปรยสุดคลาสสิคของการบรรยายภาพอดีตอันรุ่งโรจน์ที่อุดมไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและศักยภาพด้านเกษตรกรรม ทว่าภาพอันสวยหรูเริ่มเลือนหายจากการถูกคนนอกกว้านซื้อที่ดินเพื่อขุดเอาหน้าดินลูกรังไปขาย พื้นที่ชุมชนถูกแปรสภาพไปเป็นหลุมเป็นบ่อดินร้างไร้ประโยชน์ บรรดานายทุนผู้มั่งมีและมีวิสัยทัศน์กว้างไกลเห็นถึงความมั่งคั่งที่บ่อร้างจะประทานให้ได้จึงเข้ามาซื้อที่ดินต่อจากผู้ขุดดินขาย ด้วยหวังแปรสภาพบ่อดินร้างเป็นบ่อขยะและหาเงินจากการรับกําจัดขยะและโรงงานรีไซเคิลของเสียจากบรรดาอุตสาหกรรมที่มีความต้องการทิ้งสิ่งอันไม่พึงประสงค์ให้มีอยู่ในเขตที่ดินบ้านตัวเอง

ไม่นานหลังจากมีบ่อฝังกลบและโรงงานกําจัด-รีไซเคิลขยะ ชุมชนหนองแหนเริ่มพบเห็นปัญหาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหลากหลายรูปแบบจากการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมและกําจัดขยะผิดวิธี

“น้ำเสียจากโรงงานถูกปล่อยลงคลองชลประทาน”
“มีสารเคมีปนเปื้อนบ่อน้ำและดินรอบ ๆ บ่อขยะ”
“กลิ่นสารเคมีจากกองขยะพัดเข้ามาในชุมชนช่วงฤดูหนาว”
“หมูในฟาร์มของชาวบ้านแท้งลูก ไม่พิการก็ตายยกครอก”
“ทั้งคนและสัตว์เบื่ออาหาร อ่อนเพลียกันถ้วนหน้า”
“ต้นยางที่อยู่ข้างบ่อขยะไม่มีน้ำยางให้กรีด”
“ข้าวเม็ดลีบน้ำหนักลด รายได้น้อยลง”
“ต้นมะลิห้าพันต้นตายยกสวน”
“มีคนในชุมชนเป็นเจ้าหญิงนิทราจากน้ำที่ปนเปื้อน”

ผลกระทบในรูปแบบต่าง ๆ ที่ถูกบอกเล่าโดยลุงสมบัติที่ลุงและสมาชิกคนอื่น ๆ ในชุมชนได้รับ ควบคู่ไปกับผลกระทบที่ถูกบอกเล่าผ่านสื่อในทํานองเดียวกันกับที่พื้นที่ชุมชนถูกใช้เป็นปลายทางสําหรับของเสียที่มีที่มาจากอุตสาหกรรมและชุมชนเมืองที่ชุมชนเคยได้รับผลกระทบในอดีตและบางส่วนยังประสบพบเจออยู่ในปัจจุบัน

ดอกผลของ “เงินสปอนเซอร์” คือการเยียวยาและย้ายออก

นอกจากปัญหาความเหนื่อยล้า ปัญหาเรื่องผลประโยชน์เริ่มสร้างปัญหาในระดับท้องถิ่น ผลประโยชน์ที่คนในชุมชนได้รับจากบ่อขยะฯ ทําให้การเคลื่อนไหวของชุมชนอ่อนแรงลง สมาชิกชุมชนบางคนถูกตั้งคําถามเรื่องผลประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ ที่ได้รับและปิดปากเงียบเรื่องผลกระทบ

บ่อขยะให้เงินกับชุมชนโดยเรียกว่า “เงินสปอนเซอร์” ซึ่งเป็นเงินสําหรับให้หน่วยงานท้องถิ่นนําไปพัฒนาชุมชน โดยมอบเงินผ่านผู้ใหญ่บ้านในหนองแหน เมื่อรับเงินมา ทําให้การจัดการของหน่วยงานท้องถิ่นก็เป็นเรื่องยากขึ้น เสมือนเป็นการยอมรับการมีตัวตนของบ่อขยะในพื้นที่ชุมชน เสียงของคนที่ยังได้รับความเดือดร้อนที่ออกมาเรียกร้องก็ไม่มีน้ำหนัก เพราะมีสมาชิกมองว่าไม่เดือดร้อนมากขนาดนั้น นอกจากนี้สมาชิกจํานวนน้อยที่อาศัยอยู่ใกล้กับบ่อขยะ ยังได้รับผลประโยชน์จาก “เงินเยียวยา” ที่บ่อขยะจ่ายให้กับชาวบ้าน เพื่อป้องกันการฟ้องร้องจากการได้รับผลกระทบ

“พอไปรับเงินเยียวยาก็เหมือนกับเราให้เขาอยู่ต่อ พวกคนใน(หน่วยงาน)ท้องถิ่นก็ไม่ได้ทําอะไรเพราะขายที่ดินกันไปหมดแล้ว เงินที่ได้มาก็ไม่รู้ว่าไปเขาคนทํางานชุดเก่าหรือชุดใหม่ เพราะชุดเก่าก็ยังมีอิทธิพลอยู่ คนในชุมชนที่เคยรวมตัวกันก็ขอเอกสารคืนเพราะกลัวโดนฟ้องกลับ บ้านไหนทํางานใกล้ชิดกับหน่วยงานท้องถิ่นก็ขอเอกสารคืนเพราะกลัวโดนเล่นงาน” ปัญหาผลประโยชน์แอบแฝง หน่วยงานท้องถิ่นและหน่วยงานรัฐที่ควรจะปกป้องชุมชนกลับหันไปอยู่ข้างเดียวกันและสนับสนุนการมีอยู่ของบ่อขยะต่อในชุมชน หน่วยงานภายนอกที่เข้ามาตรวจสอบผลกระทบเองก็ไม่กล้าระบุปัญหาชัดเจนเพราะกลัวโดนฟ้องร้อง แม้แต่ในผลตรวจสุขภาพก็ไม่ระบุว่าเกิดจากบ่อขยะ เมื่อไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ สุดท้ายคือการที่คนในชุมชนต้องเลือกระหว่างจะอยู่ร่วมกับขยะหรือย้ายออกไปอาศัยอยู่ที่อื่น

“มันสุดแล้ว หมดปัญญาแล้ว บางคนในชุมชนก็บอกว่าทํามาตั้งนานแล้วแต่ก็ทําอะไรไม่ได้ จะยกเลิกหรือให้ปิดก็ทําไม่ได้ แบบนี้มันอยู่ต่อไม่ได้หรอก สู้ไม่ได้ก็ต้องหนีไปอยู่ที่อื่น คนไหนออกได้ก็ออก อนาคตเขา(ชาวบ้าน)นึกกันไม่ออกหรอก จะรักษาผืนดินไว้ให้ลูกหลาน ให้อากาศในบ้านเราดี มีของกินดีอยู่ดี ปัจจุบันยังทําไม่ได้เลย” นางธนภรณ์ นพฤทธิ์ หรือแม่หนู หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากบ่อฝังกลบขยะ ระบายถึงสภาพปัญหาชุมชนในปัจจุบัน

“ผลผลิตไม่ได้รับการตรวจสอบเพราะกลัวขายไม่ได้ น้ำก็ดื่มไม่ได้ ตอนนี้เลยออกไปสร้างบ้านกับทําสวนอยู่ข้างนอกรอแล้ว ลูกหลานก็เริ่มย้ายไปอยู่แล้ว แต่ตนเองยังอยู่เพื่อต่อสู้เรื่องนี้ต่อ” พ่อสมบัติเล่าถึงอนาคตของตนเองที่อาจจะต้องย้ายออกไปอาศัยอยู่ข้างนอก เนื่องจากเป็นห่วงเรื่องสุขภาพและอนาคตของสมาชิกในครอบครัว ในขณะเดียวกันก็แสดงความกังวลและเป็นห่วงสมาชิกในชุมชนที่ยังอยู่ต่อและไม่สะดวกที่จะย้ายออกไปข้างนอก

“ต่อไปปัญหาสารเคมีในหนองแหนจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ พอมีสารพิษสะสมคนก็เจ็บป่วยล้มไข้ ถ้าถึงวันนั้น
แล้วคนที่แข็งแรงก็ต้องหมดเวลาในแต่ละวันไปกับการเดินทางไปเยี่ยมหรือดูแลคนป่วย แล้วแบบนี้จะอยู่กันได้
ยังไง” การย้ายออกจากชุมชนเป็นต้นทุนที่สูงมากสําหรับชาวบ้านหนองแหน ลุงสมบัติเล่าว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจ
ชุมชนก็ไม่ได้ขยายตัว ที่ดินนอกชุมชนมีราคาแพงขึ้น แต่ที่ดินในชุมชนราคาเท่าเดิมมาหลายปีแล้ว แม้ชุมชน
อยากจะขายที่ดินเพื่อย้ายออก แต่เนื่องจากข่าวปัญหาและผลกระทบทําให้ไม่มีคนอยากซื้อที่ดินในชุมชน “ที่ดิน
ข้างนอกขายกันไร่ละเป็นล้าน ในชุมชนขายแค่สามแสนยังขายไม่ได้เลย”

“ถ้าท้องถิ่นอยู่ข้างประชาชน ทุกอย่างคงจะดีกว่านี้แต่ทุกวันนี้เขาหาว่าเราเป็นผู้ขัดขวางความเจริญขืนเป็นอย่างนี้ต่อไปก็คงย้ายออกไปหมด เหลือแต่ที่ดินไว้ทําสวนยางเพราะขายไม่ได้” ความอัดอั้นตันใจของแกนนําชุมชนที่นอกจากจะต้องออกมาเคลื่อนไหวต่อสู้กับบ่อขยะแล้วยังต้องมาต่อสู้กับปัญหาผลประโยชน์ระหว่างสมาชิกชุมชนและหน่วยงานท้องถิ่นด้วย การต่อต้านธุรกิจกําจัดขยะที่เข้ามาใหม่ และต่อสู้เพื่อฝังปิดบ่อขยะเดิมในชุมชนที่ปัญหาของชุมชนไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มที่เหมือนในอดีต

หากไม่สามารถแก้ไขปัญหาในปัจจุบันได้ อนาคตของชุมชนหนองแหนก็คงมีแต่ต้องย้ายออก ชื่อบ้านหนองแหนในฐานะชุมชนเกษตรกรรมคงหลงเหลืออยู่แต่เพียงเรื่องเล่าและกลายเป็นอดีตไปในที่สุด

บ้านที่กลายเป็นส้วมของประเทศ

“หนองแหนทุกวันนี้เป็นเหมือนส้วมไปแล้ว ชาวบ้านไม่ว่าอะไรเลยถ้าจะเป็นส้วม ขอแค่มีการกําจัดให้ถูกวิธีและไม่สร้างผลกระทบต่อชุมชน” ลุงสมบัติพูดพลางมองไปยังพื้นที่ชุมชนที่แปรสภาพเป็นกองขยะสูงใหญ่และหลุมขุดหน้าดินลูกรัง สิ่งที่เกิดขึ้นกับหนองแหนในปัจจุบัน ที่คนในชุมชนเคยลุกขึ้นมาสู้เพื่อให้ปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ปัจจุบันขบวนการเคลื่อนไหวของหนองแหนลดลงไปมากพร้อม ๆ กับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้เกิดขึ้นรุนแรงมาสักพักใหญ่ ๆ แล้ว

“เพราะชุมชนช่วยกันดูแล ทุกวันนี้ไม่ค่อยมีเคสใหม่ ๆ เกิดขึ้นแล้ว” จร เนาวโอภาส แกนนําชุมชนเล่าถึงสถานการณ์ปัจจุบันของชุมชนหนองแหน น้ำที่ตรวจพบแต่ไม่สูงกว่าเกณฑ์ที่รัฐวางไว้ แม้ชุมชนยังมีการกดดันผ่านการสุ่มตรวจน้ำตามจุดต่าง ๆ ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ แต่เมื่อผลออกมาอยู่ในระดับมาตรฐานที่กฎหมายกําหนดไว้แหล่งน้ำที่เคยห้ามดื่มห้ามใช้ตอนนี้สามารถใช้อุปโภคและใช้ในภาคการเกษตรได้แล้ว รวมถึงผลกระทบด้านกลิ่นเหม็นที่จางลงและเด่นชัดเฉพาะช่วงฤดูกาล ไม่มากเท่าเมื่อก่อน ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะปัญหาเรื่องกลิ่นทุเลาลงหรือคนในชุมชนคุ้นชินกับกลิ่นไปแล้วกันแน่

“เมื่อก่อนตรงโรงงานรีไซเคิลน้ำมันนี่เหม็นจนขับรถผ่านกันไม่ได้เลย ถัดไปแค่ 600 เมตรก็มีโรงเรียนอยู่เมื่อก่อนเหม็นจนทําการเรียนการสอนกันไม่ได้เลย ต้องออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้อง กลิ่นถึงเบาลง พอผ่านไปสักสองสามเดือนเรื่องเงียบ กลิ่นเหม็นก็กลับมาอีก” แม่หนูเล่าถึงปัญหาเวลาที่ต้องสื่อสารกับคนภายนอกเรื่องปัญหากลิ่นเหม็นที่ชุมชนเผชิญอยู่ แต่เนื่องจากกลิ่นมันบันทึกเก็บไว้หรือสื่อสารให้คนนอกดูไม่ได้ ต้องให้มาสัมผัสเองเท่านั้น พอชุมชนพยายามสื่อสารเรื่องกลิ่นว่าเหม็นมาก เชิญคนนอกมาดู แต่เมื่อบ่อขยะหรือโรงงานรู้ก็จะเตรียมแก้ปัญหาเรื่องกลิ่นเพื่อทําให้ดูว่าปัญหาเรื่องกลิ่นไม่รุนแรง

“พอมีคนนอกเข้ามา พวกบ่อขยะเหมือนจะรู้มากกว่าคนในชุมชนอีก พอจะมีคนเข้ามาก็เอาดินกลบกองขยะ ฉีด EM ดับกลิ่น ทางถนนที่มีฝุ่นก็ฉีดน้ำกันฝุ่นเอาไว้ คนนอกที่เข้ามาเลยไม่ค่อยได้กลิ่น หรือพอมีกลิ่นก็ต้องรอให้ชุมชนร้องเรียนก่อนถึงจะเริ่มจัดการให้เรียบร้อย พอเราเงียบก็กลับไปทําใหม่ กลิ่นก็กลับมาอีก” นายสมบัติพูดถึงปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นจากบ่อขยะและฝุ่นจากรถบรรทุกขยะที่วิ่งเข้า-ออกพื้นที่ชุมชน และการแก้ไขปัญหาแบบผักชีโรยหน้า

ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสารพิษจากการลักลอบกําจัดหรือที่รั่วซึมจากกระบวนการกําจัดผลประโยชน์จํานวนมหาศาลที่อยู่เบื้องหลังการจัดตั้งโรงงานในพื้นที่ชุมชน ชาวบ้านหนองแหนพยายามต่อต้านผู้เล่นหน้าใหม่ที่ต้องการสร้างโรงงานบ่อกําจัดขยะในชุมชน ในขณะเดียวกันก็ต้องจํายอมให้กับโรงงานที่มีใบอนุญาตอย่างถูกต้องที่กําลังดําเนินการในปัจจุบัน ความเหนื่อยล้าสะสม นานวันเข้าการต่อสู้ก็อ่อนแรงลง

มันเลยเหมือนกับว่าพวกนายทุนไม่ต้องทําอะไรเลย แค่รอให้เราหมดแรงขัดขืนกันไปเอง” แม่หนู กล่าวทิ้งท้ายถึงปัญหาผลประโยชน์ในหนองแหน