ขยะริมรั้ว มะม่วงข้ามแดน สิ้นสุดการเยียวยาหนองแหน 'แค่...รอให้เราหมดแรงขัดขืน' - Decode
Reading Time: 2 minutes

ค่ายนักเขียน Decode Basecamp#1

อิศเรส เตชะเจริญกิจ

ผมและเพื่อน ๆ ร่วมฟังข้อมูลชุมชนจากพี่จร เนาวโอภาส อดีต รองนายก อบต. หนองแหน และชาวบ้าน ณ อาคารอนุสรณ์ผู้ใหญ่ประจบ เนาวโอภาส ก่อนที่จะลงไปดูบ่อขยะจริง ๆ…

“ที่ตรงนี้เข้าไปได้ไหมพี่ เขาจะยิงเราไหม” ประโยคคำถามแกมตลกร้ายของพี่จร พี่ชายของผู้ใหญ่ประจบ เนาวโอภาส ที่ได้ตั้งคำถามถึงพื้นที่แห่งหนึ่งใน ต. หนองแหน จ. ฉะเชิงเทรา ที่ซึ่งเคยถูกลักลอบทิ้งขยะ อันตราย จนเป็นเหตุให้ผู้ใหญ่ประจบในฐานะแกนนำต่อต้านการทิ้งขยะฯ ในเวลานั้น ถูกลอบยิงเสียชีวิต สิ่งที่ชวนให้ผมคิดไม่ตกก็คือ ชาวบ้านที่ร่วมฟังอยู่กลับหัวเราะออกกับมุขตลกร้ายของพี่จร ทั้งที่เป็นความสูญเสีย ความหวาดกลัว และความไม่แน่นอนกับชีวิตชาวบ้านเอง หรือนี่คือความชินชาอย่างถึงที่สุดของ ชาวหนองแหน?

ในอดีต หนองแหนเคยถูกกว้านซื้อที่ดินจำนวนมากเพื่อใช้สำหรับขุดหน้าดินไปขาย ทำให้เกิดเป็นบ่อขุดร้าง ขนาดลึกหลายแห่งในชุมชน ต่อมาก็เริ่มมีนายทุนหน้าใหม่เข้ามาซื้อบ่อดินร้างเหล่านั้นไปทำบ่อขยะแบบฝังกลบ จากนั้นมา ขยะมหาศาลจากทั่วทุกสารทิศก็ทยอยหลั่งไหลเข้ามายังดินแดน ‘หนองแหน’ จนอัดแน่น และพูนขึ้นมาเท่าชั้นดินเดิม บ้างก็ล้นเกินสูงเป็นภูเขาเสียดฟ้า ขยะพวกนี้รู้วิธีหมักหมมตัวเองให้เกิดเป็น กลิ่นเน่าเหม็นรบกวนระบบทางเดินหายใจของชาวบ้าน ทั้งยังรู้วิธีเปลี่ยนตัวเองให้เป็นระเบิดเวลาขนาด มหึมาด้วยการปล่อยก๊าซไวไฟอย่างมีเทน เพื่อรอวันเผาไหม้และกลืนหนองแหนให้จมดิ่งสู่ก้นบ่อขยะอย่าง ถาวร และที่สำคัญ ขยะนับอนันต์ที่โอบรัด ‘หนองแหน’ ก็ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ หรือเข้ามา เปลี่ยนความสัมพันธ์ของชาวบ้านกับสิ่งแวดล้อม จากพื้นที่ที่ถูกขนานนามว่าเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญ แห่งหนึ่งของภาคตะวันออก มาสู่พื้นที่ที่มีผลผลิตทางการเกษตรไม่แน่นอนและผันแปรตามบ่อขยะ “ป้าหนู” หรือ “แม่หนู” ยืนยันถึงผลกระทบนี้ได้ดี่สุด

มะม่วงบางคล้าข้ามพรมแดน

ระหว่างที่ผมเดินลงไปดูบ่อขยะของ กทม. ใกล้ ๆ ผมก็ได้พบกับ “แม่หนู” คุณธนภรณ์ นพฤทธิ์ อายุ 60 ปี  ที่ยืนจ้องบ่อขยะพร้อมกับเล่าถึงชีวิตในอดีตที่ดีกว่านี้ให้ฟังว่า ตนเคยไปรับจ้างทำสวนมะม่วงที่ อ.บางคล้า แหล่งผลิตมะม่วงที่ชื่อดังของไทย จนเกิดเป็นแรงบันดาลใจว่าที่ดินหนองแหนบ้านเราก็ดีน่าจะทำสวน มะม่วงเหมือนกับบางคล้าได้ตนและน้องสาว จึงเปลี่ยนท้องนาของบรรพบุรุษให้กลายเป็นสวนมะม่วงที่ สร้างผลผลิตไปไกลถึงมาเลเซีย เวียดนาม และญี่ปุ่น เมื่อเล่าถึงตรงนี้ แม่หนูก็อุทานเสียงดังว่า “โห้ย เงิน ดีอะ พอส่งลูกเรียนจบได้เลยอะ” แต่ในขณะเดียวกัน ปีพุทธศักราชในความทรงจำของแม่หนูก็ลั่นพรวดออกมา

จากปากว่า ในปี พ.ศ.2548 บ่อดินหลายแห่งที่ถูกขุดจะมีคนเข้ามาทำบ่อเลี้ยงกบ “แต่เราก็ไม่รู้ประสาไม่ได้ สนใจอะไร…ก็เก็บผักตามข้างทางกับดูสวนมะม่วงของเราไป…จนจู่ ๆ มันเริ่มมีกลิ่นเหม็นเน่าแรงขึ้นในชุมชน จึงได้รู้ว่านี่แหละคือบ่อขยะ”

“ชีวิตหนึ่งวันของคนสวนมะม่วงมันอยู่สวนทั้งวัน ตื่นแต่เช้าไปถางหญ้า ถ้ามะม่วงออกลูกก็ ต้องไปห่อลูกมะม่วง แต่ทุกวันนี้มันเหม็นมาก แม่กับลูกเข้าสวนได้วันละไม่เกิน 2 ชั่วโมง เพราะก๊าซที่ระเหยขึ้นมาจากบ่อขยะมันทั้งแสบจมูกและทำให้สวนร้อนมาก” 

ฝันร้ายที่ริมรั้ว

ซ้ำร้ายที่บ่อขยะเข้ามาใกล้แม่หนูมากกว่าที่คิด ใกล้เสียจนต้นมะม่วงที่ปลูกริมสุดของสวนทำหน้าที่เป็นเส้นแบ่ง เขตแดน แน่นอนว่ากลิ่นเน่าเหม็นและก๊าซจากน้ำขยะส่งผลให้อาชีพชาวสวนของแม่หนูยากขึ้น ผลผลิตก็ น้อยลงเรื่อย ๆ อย่างเห็นได้ชัด อันเป็นผลมาจากรถบรรทุกขนขยะ ที่วิ่งเข้าออกชุมชนบ่อยครั้งจนกระทบต่อ การติดดอกของมะม่วง มากกว่านั้น ผลกระทบต่อรายได้จำนวนมากของแม่หนูมาจาก “สัญญาการรับซื้อ ผลผลิตตามมาตรฐาน” แม่หนูเล่าว่า “อย่างญี่ปุ่นเขาก็ทำสัญญากับเรา…มีแปลงทดลองโดยเฉพาะ พอเห็นว่า มีบ่อขยะติดกับสวนมะม่วงของ เขาก็สั่งตัดต้นมะม่วงทิ้งหมดเลย…” 

เมื่อมาถึงตรงนี้ ผมก็ตระหนักขึ้นได้ว่าเพิ่งยืนคุยกับแม่หนูได้พักเดียว ก็เริ่มมีอาการแสบจมูกอย่างเห็นได้ชัด ผมจึงถามป้าหนูต่อไปว่า แล้วตัวแม่หนูหรือคนอื่น ๆ ในพื้นที่ใกล้เคียงบ่อขยะ กทม.มีปัญหาสุขภาพกันบ้าง หรือไม่ แม่หนูเพียงแต่ตอบว่า “อาการมันมีมานานแล้ว และอนาคตน่าจะหนักขึ้น อย่างแม่นี่มันหายใจแล้วมัน เหมือนมีอะไรติดตรงคออยู่ตลอดเวลา…เคยไปตรวจนะ แต่ปัญหาด้านสุขภาพก็ไม่มีใครกล้ารับรองว่าเป็น ผลกระทบจากบ่อขยะ กลัวเขาจะฟ้อง หน่วยงานรัฐที่ตรวจสอบก็กลัวโดนฟ้อง อาการแต่ละคนก็ไม่เท่ากันบาง คนเป็นไข้หวัด หนักเข้าถึงขั้นพิการก็มี…” เมื่อฟังจบ หลากหลายคำถามที่อยากถามแม่หนูต่อก็หยุดลง เพียง เพราะทนกับกลิ่นขยะเหม็นจนแสบจมูกไม่ไหวจริง ๆ ผมจึงวิ่งออกไปจากบ่อขยะ ในขณะที่แม่หนูยังคงยืนคุย กับคนอื่นได้ต่อ… ชาวหนองแหนทนอยู่กับกลิ่นเหม็นเช่นนี้ได้อย่างไร?

นานาขยะ สิ้นสุดที่การเยียวยา

น่าคิดเหมือนกันว่า ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐตั้งแต่ อบต.ไปจนถึงกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้เข้ามายังชุมชน พวกเขาไม่ได้กลิ่นเหม็นเน่าจากบ่อขยะเหมือนที่ผมและแม่หนูได้กลิ่นจริงหรือ แม่หนู ตอบต่อข้อคำถามของผมข้อนี้ได้อย่างน่าสนใจว่า เหตุผลที่หนองแหนเริ่มเงียบหายไปจากสังคม ก็เพราะยัง มีอีกหลายคนในชุมชนที่สามารถอยู่กับมัน และไม่เห็นว่าบ่อขยะมันจะมีผลกระทบต่อชีวิตและผลผลิตทางการเกษตรอย่างไร ดังตัวอย่างที่แม่หนูเล่าต่อว่า

“อย่างตัวแม่หนูที่อยู่ใกล้บ่อขยะ กทม. ก็เดือดร้อน คนกลุ่มอื่นรวมถึงพวกหน่วยงาน ท้องถิ่นก็รับเงินเยียวยากัน เขาก็บอกว่าไม่เดือดร้อน เวลาทำอะไรก็เลยทำยาก” 

เพราะชุมชนหนองแหนเต็มไปด้วยบ่อขยะนานาชนิด ผลกระทบจากกลิ่นหรือสารเคมีในแต่ละพื้นที่ก็ต่างกัน ออกไป ทำให้บริเวณไหนที่ได้รับผลกระทบน้อยก็พึงพอใจกับเงินเยียวยาจากเจ้าของบ่อขยะ จนทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวในชุมชนเริ่มระสับระส่ายและไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อย่างไรก็ดี สำหรับแม่หนูก็ ยังสู้ต่อกับปัญหาบ่อขยะไม่ถอย “ตัวแม่หนูกับอีกหลายคนก็เคยเจอข่มขู่ว่าจะส่งมือปืนมาบ้าง จะฟ้องกลับ บ้าง…แต่คนที่ไม่เดือดร้อนเขาก็รับผลประโยชน์รับเงินกัน คนที่เดือดร้อนเลยดูเหมือนมีน้อย คนที่ออกไปหลาย คนก็ท้อแท้ กลัวตาย กลัวมีปัญหากับท้องถิ่น กลัวอะไรต่ออะไรอีกหลายอย่าง”

ดินแดนอากาศสะอาด(ไม่)เพียงพอต่อการหายใจ 

“…ถ้าย้ายที่อยู่ก็ลำบาก ทุกวันนี้ก็ไม่รู้จะมีหนทางไปต่อแบบไหน ไม่มีใครมาให้แสงสว่าง ทุกวันนี้ที่ชุมชนทำกันยังไม่บรรลุผลสำเร็จ จริง ๆ ก็อยากให้พวกผู้ใหญ่แยกพื้นที่ไปเลย พื้นที่ทิ้งขยะกับพื้นที่ชุมชน ไม่ต้องมาอยู่ร่วมกันให้เดือดร้อนชาวบ้าน…”

สำหรับแม่หนูไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะต้องเลือกระหว่างบ้านที่อยู่มาก่อนบ่อขยะและเป็นที่อยู่ทำกินของ ตัวเอง กับที่อื่นที่ยังมีปลายทางที่ไม่แน่ชัด แต่ไม่ว่าจะเลือกทางใด ชีวิตของแม่หนูก็อยู่บนความไม่แน่นอน ทั้งสิ้น เพราะจากข้อสังเกตของแม่หนูอนาคตหนองแหนดูท่าจะไม่ดีนัก เพราะตั้งแต่มีข่าวเรื่องโครงการเขต พัฒนาพิเศษภาคตะ วันออก (อีอีซี) พื้นที่หลายแห่งในหนองแหนก็ถูกกว้าน ซื้ออีกครั้ง เพื่อเตรียมทำบ่อขยะรองรับโรงงานอุตสาหกรรม แม้จะเป็นอนาคตที่ยังมาไม่ถึง แต่แม่หนูก็มั่นใจอย่างยิ่ง ว่า ‘หนองแหน’ จะกลายเป็นบ้านที่ใคร ๆ จะหิ้วขยะมาทิ้งเมื่อไรก็ได้ด้วยเหตุผลที่ว่า “เดี๋ยวตรงนี้ก็เป็นบ่อขยะกันหมดนี่แหละ แต่ละบ่อซื้อที่เตรียมกันไว้แล้วเป็นร้อยไร่ บ่อที่ทำไปแล้วขนาดแค่ 50 ไร่ยังปิดเขาไม่ได้ สุดท้ายก็จะเป็นหมู่บ้านขยะไปโดยปริยาย”

“ปลายทางสูงสุดคืออยากให้บ่อขยะถูกปิดให้หมด…อยากรณรงค์ให้ขยะบ้านใครก็อยู่บ้านนั้น”

ในดินแดนที่อากาศสะอาดไม่เพียงพอต่อการหายใจ ในดินแดนที่เศษขยะจะอัดแน่นทุกอณูบ้านเรือน ผมยังเห็น ว่า ชาวบ้านหลายคนยังไม่ได้อยู่อย่างชินชา หรือกล้าสูดดมกลิ่นเหม็นได้อย่างไม่รู้สึกอะไร หากแต่พวกเขายังมี ความหวังที่จะเห็นชุมชนเป็นบ้านที่น่าอยู่ เห็นได้จากแม่หนู แม้แม่หนูจะเป็นเพียง ‘ตัวแทน’ ของชาวบ้านคน หนึ่งที่ทนไม่ได้กับบ่อขยะ แต่ก็เป็นเหตุผลเพียงพอที่ภาครัฐควรจะเข้ามาดูแลอย่างจริงจัง เพื่อเปิดเผย ข้อเท็จจริงอย่างโปร่งใส รวมถึงใช้อำนาจบริหารอย่างชอบธรรมในการกำหนดทิศทางหนองแหน โดยให้  การพัฒนาสอดคล้องไปกับวิถีชีวิตของคนหนองแหน ไม่ใช่ปล่อยให้หนองแหนเป็นบ้านที่ใคร ๆ ก็เอาขยะ มาฝาก หรือไม่ใช่ปล่อยให้คนหนองแหนมีค่าเพียง ‘ขยะเปียก’ ที่จะถูกฝังกลบไปอย่างไร้ค่า…

“นายทุนไม่ต้องทำอะไรเลย แค่รอให้เราหมดแรงขัดขืนกันไปเอง”

หลังจากที่ผมลงพื้นที่สัมภาษณ์ผมก็ได้ติดต่อกลับไปหาแม่หนูเป็นระยะ ๆ แม่หนูก็เล่าให้ฟังอย่างตื่นเต้นว่า “ตั้งแต่พวกหนูมาลงพื้นที่ บ่อขยะ กทม. ก็ไม่เอาขยะมาลงอีกเลยช่วงนี้แถมยังฝังกลบให้ดูดีขึ้นอีกด้วย หรือ จริง ๆ อาจจะกลัวพรรคก้าวไกลหละมั้ง” เมื่อแม่หนูพูดจบ ผมก็สวนกลับไปทันทีว่า “ตอนนี้รัฐบาลเพื่อไทย แล้วนะครับ” แม่หนูก็ตอบกลับทันควันว่า “ดูท่า บ่อขยะก็คงจะเหมือนเดิมแล้วแหละ เพราะกลุ่มอำนาจเก่า …”