กระชังปลาในอาณาจักรอีอีซี - Decode
Reading Time: 2 minutes

ค่ายนักเขียน Decode Basecamp#1

ณัฐณิชา มีนาภา

ณ ช่วงเวลาเที่ยงวันที่บ้านของป้าใจ แม่ครัวใหญ่ประจําอําเภอหนองตีนนก ที่ฉันมีโอกาสเดินทางไปลงพื้นที่เก็บข้อมูลสําหรับเรื่องราวบูรพาเปลี่ยนทิศ ระหว่างที่สมาชิกชุมชนปรุงอาหารรสเลิศให้กับทุกคน ฟากหนึ่งของบ้าน ลุงยงยุทธ จันทร์ทอง เกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่เล่าเรื่องราว “ท่าเรือบก” ด้วยแววตาที่มุ่งมั่นถึงการอยากส่งต่อเรื่องราวนี้

ลุงยงยุทธไม่ได้เปิดเรื่องด้วยการก่อตั้งท่าเรือบก โครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์(Inland Container Depot : ICD) เพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือในชื่อคุ้นเคยคือ อีอีซี(Eastern Economic Corridor : EEC) ที่มีแผนก่อตั้งโครงการในอําเภอหนองตีนนก จังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2562 แต่การไม่เห็นด้วยของชาวบ้านในชุมชนที่จะให้มีการก่อตั้งท่าเรือบกในพื้นที่จึงมีการเรียกร้องให้ชะลอโครงการมากระทั่งถึงปัจจุบัน เรื่องราวของการเปลี่ยนทิศทางจากแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษไปสู่การก่อตั้งท่าเรือบกครั้งนี้เริ่มต้นที่กระชังเพาะเลี้ยงปลาแสนภาคภูมิใจของสมาชิกในชุมชน

หากกล่าวถึงสาเหตุในการที่ชาวบ้านไม่ต้องการให้พื้นที่ชุมชนถูกปรับเปลี่ยนไปเป็นท่าเรือบกแล้วนั้น คงไม่มีอะไรบรรยายได้ดีไปกว่าการที่ลุงยงยุทธพาฉันไปยังกระชังเพาะเลี้ยงปลานิลจิตรลดา ที่ชาวบ้านในชุมชน ยึดเป็นอาชีพหลักในการหารายได้เลี้ยงปากท้อง การเดินพูดคุยถึงวิถีชีวิตในชุมชนก่อนสอบถามถึงท่าเรือบก เป็นสิ่งที่ทําให้ฉันสัมผัสได้ว่าเพราะเหตุใดชาวบ้านจึงต้องการรักษาพื้นที่ซึ่งเป็นบ้านและแหล่งทํามาหากิน “ปลา กุ้ง ปู สัตว์น้ำต่าง ๆ ในพื้นที่อุดมสมบูรณ์มาก เพราะมีน้ำที่ดีแหล่งน้ำเลยเป็นพื้นที่ประกอบอาชีพและเลี้ยงทุกชีวิตในชุมชน”

ทั้งลุงยงยุทธและชาวบ้านต่างเช่าพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมาเป็นระยะเวลายาวนานต่อเนื่องมาตั้งแต่รุ่น ปู่ย่าตายาย การเช่าพื้นที่หลักสิบปีจึงเปรียบเสมือนสัญญาใจระหว่างเจ้าของที่ดินกับผู้เช่า ด้วยภูมิศาสตร์ลุ่มน้ำบางปะกง ที่เป็นพื้นที่ราบลุ่มต่ำ แม่น้ำพัดพาตะกอนดินและแร่ธาตุที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติไหลมารวมกัน พื้นที่แห่งนี้จึงอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรแหล่งน้ำที่เหมาะสมในการทําการเกษตร เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำหลากหลายชนิดทั้งปลา กุ้ง ปูเป็นความมั่นคงทางอาหารที่อาศัยแหล่งน้ำที่ดีเป็นตัวหนุนหลัง

กระทั่งโครงการพัฒนาเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่ ภาพที่เกิดขึ้นในพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกง ไม่ได้มีเพียงแต่กรณีของการปรับเปลี่ยนพื้นที่การเกษตร ไปสู่พื้นที่ที่อนุญาตให้เกิดการก่อตั้งโรงงานอุตสาหกรรม การปรับเปลี่ยนผังเมืองรวมชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทราให้เกิดการขยายตัวจากชุมชนไปสู่ความเป็นเมือง แต่ยังรวมไปถึงแผนการพัฒนาพื้นที่ให้กลายเป็นสถานีขนส่งสินค้าที่ภาครัฐมุ่งหวังว่า จะใช้พื้นที่แรกเริ่มจํานวน 500 ไร่ในการก่อสร้างท่าเรือบก

หากมองในเชิงภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ จังหวัดฉะเชิงเทราเป็นพื้นที่ตรงกลางระหว่างสนามบินสุวรรณภูมิ โครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าความเร็วสูงในอนาคต อีกทั้งยังอยู่ห่างจากท่าเรือแหลมฉบังเพียง 70 กิโลเมตร เชื่อมโยงนโยบายการก่อตั้งท่าเรือบกในจังหวัดนครสวรรค์นครราชสีมา ขอนแก่น กระตุ้นให้เกิดการขนส่งสินค้าด้วยรถไฟทั้งในและต่างประเทศได้จํานวนเพิ่มขึ้น (สํานักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม, 2561) ด้วยจุดยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมเช่นนี้จึงคาดการณ์ได้ว่าเพราะเหตุใดท่าเรือบกจึงเหมาะสมที่จัดตั้งในอําเภอหนองตีนนก ผ่านสายตาของภาครัฐและนายทุน

“ต่อให้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็น แต่เสียงของชาวบ้านไม่ได้ถูกนับรวมไปด้วย” โครงการท่าเรือบกเข้ามาอย่างราบเรียบโดยอาศัยเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นตัวนําพา ลุงยงยุทธอยู่ในเหตุการณ์วันที่ภาครัฐเปิดรับฟังความคิดเห็นอย่างบังเอิญเพราะสมาชิกในชุมชนไม่ได้ถูกเชิญให้เข้าร่วมเป็นทางการ สายตาการพัฒนาที่ขัดแย้งระหว่างภาครัฐและชุมชนถูกบอกเล่าผ่านอนาคตของอําเภอหนองตีนนก หากเกิดการก่อตั้งท่าเรือบกนับเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้เพื่อทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นพื้นที่บ้านและแหล่งประกอบอาชีพของชุมชน

“หนองตีนนกเป็นแอ่งกระทะดินเหลว ทางน้ำผ่านจากหลายทาง หากจะทําท่าเรือบกก็ต้องถมดิน แล้วถึงหน้าฝนยังไงน้ำก็ต้องไหลลงไปท่วมพื้นที่บ้าน กระชังปลากับที่นาอยู่แล้ว มองด้วยรูปธรรมยังไงก็ไม่คุ้มค่า แต่เขายืนยันว่าจะต้องเป็นที่นี่ ที่ดินที่อยู่ติดกันถัดไปไม่ไกลมากเจ้าของปล่อยขายมาหลายปีเขาก็ไม่เอา ยังไงโครงการก็ต้องกลับมาอีก”

ท่าเรือบกแลกมากับบ้านจํานวน 990 ครัวเรือนโดยหากที่ดินที่เขาเหล่านี้เช่าถูกขายเพื่อดําเนินโครงการ นอกเหนือจากแหล่งประกอบอาชีพที่หายไป บ้านของสมาชิกในชุมชนและทรัพยากรของดินแดนสามน้ำแห่งนี้ย่อมถูกแปรเปลี่ยนไปตามกัน ซ้ำร้ายด้วยการไม่มีกรรมสิทธิ์ในการถือครองที่ดินที่ถูกเวนคืน นั่นหมายถึงการไม่ได้รับการเยียวยาจากทางภาครัฐ เพราะเงินที่ได้จากการเวนคืนซื้อขายที่ดินจากภาครัฐไม่เคยตกถึงมือผู้เช่า หากถึงช่วงเวลาที่ท่าเรือบกสามารถดําเนินการได้สําเร็จ

“ณ วันนี้เจ้าของที่ยังไม่ยอมขายที่ให้โครงการ แต่ถ้ายื้อไม่ได้ ภาครัฐไม่เคยเข้ามาพูดคุยกับชาวบ้านเลยว่าจะช่วยเหลือยังไง จะให้ย้ายไปอยู่ที่ไหน”

เสียงของลุงยงยุทธสะท้อนถึงความไม่แน่นอน สายตาของชาวบ้านในชุมชนที่คอยตั้งรับการก่อตั้งท่าเรือบกโดยรู้ว่าวันใดจะกลับเข้ามาในชุมชนอีกครั้ง ปัจจุบันโครงการได้เลื่อนระยะเวลาออกไป เนื่องจากสมาชิกในชุมชนรวมกลุ่มกับเขียนหนังสือยื่นต่อรัฐสภาเป็นผลให้กรรมาธิการพิจารณาให้ชะลอโครงการออกไปก่อน นับเป็นชัยชนะครั้งแรกของการต่อสู้ในพื้นที่โดยไม่อาจบอกได้ว่าจะมีเรื่องราวจะจบลงเช่นไร

แม้ในแผนพัฒนาโครงการจะระบุอย่างชัดเจนถึงแนวทางการบําบัดน้ำเสีย เพื่อรองรับสารเคมีที่อาจเกิดจากกระบวนการขนถ่ายสินค้า ขุดคลองเพิ่มจากแหล่งน้ำสายหลักให้การระบายน้ำเป็นไปได้ดียิ่งขึ้น แต่จะจริงหรือที่สิ่งเหล่านี้จะประสบความสําเร็จ มีความสามารถเพียงพอต่อการรักษาความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ ลุงยงยุทธไม่คิดว่าการแก้ปัญหามลพิษที่เกิดจากการชะล้างตู้คอนเทนเนอร์ ด้วยวิธีการสร้างบ่อบําบัดน้ำเสียจะกําจัดสารเคมีในพื้นที่ได้อย่างหมดสิ้น หากน้ำที่ปนเปื้อนสารเคมีไม่สามารถระบายได้ทัน น้ำเสียย่อมไหลมาปะปนกับแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งหล่อเลี้ยงชีวิตในชุมชนทั้งในด้านการเกษตรและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

หากให้ลุงยงยุทธเล่าภาพความฝันถึงอนาคตของอําเภอหนองตีนนกที่ต้องอยู่ร่วมกับการเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก เพียงแค่ลองนึกว่าสองสิ่งนี้จะอยู่ร่วมกันอย่างไรหนอ ให้พื้นที่การก่อตั้งท่าเรือบกเติบโตได้อย่างมั่นคงยั่งยืน โดยไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อมและทุกชีวิตที่อาศัยอยู่ในชุมชน อาจเพราะลุงยงยุทธมองเห็นการเปลี่ยนผ่านของพื้นที่และสายน้ำบางปะกงมาอย่างต่อเนื่อง คําตอบที่ได้รับกลับมาจึงชวนคิดต่อยอดให้เห็นอีกหนึ่งมุมมองการพัฒนาที่ไม่เคยฉันได้รับรู้มาก่อน

“ที่จริงแล้ว สิ่งที่ถูกต้องที่ควรจะเกิดขึ้นกับพื้นที่ตรงนี้ควรจะเป็นครัวของอีอีซีเสียมากกว่า มีทั้งแหล่งเพาะพันธุ์ปลาของภาคตะวันออก ทําการเกษตรได้ผลผลิตดี ทําไมคุณไม่คิดอย่างนั้น คุณกลับมาเอาพื้นที่ตรงนี้ให้เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรม”

คำตอบนี้ชวนให้นึกย้อนถึงการเปลี่ยนทิศของดินแดนบูรพาซึ่งเป็นหัวเรื่องในการพาฉันมาสัมผัสเรื่องราวที่เกิดขึ้น ณ ลุ่มน้ำบางปะกงแห่งนี้ หากจะเรียกว่าการเปลี่ยนผ่านจากพื้นที่การเกษตร ไปสู่การเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมก็คงเป็นการมองเรื่องราวที่เกิดขึ้นเพียงมุมเดียวเท่านั้น เพราะสิ่งที่เป็นความตั้งใจของฉันในการนําเสนอเรื่องราวท่าเรือบก คือการให้ผู้ที่ได้ยินเรื่องราวนี้ตั้งคําถามไปพร้อมกันถึงอีอีซีที่ไม่ประนีประนอมต่อการใช้พื้นที่ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันแรงทัดทานของประชาชนก็ไม่อาจต้านกับกฎหมายที่บังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรม

แม้วันนี้การต่อสู้จะยังไม่มีบทสรุปและคําตอบว่าอนาคตของอําเภอหนองตีนนก จะถูกลมอุตสาหกรรมหวนพัดไปทิศทางใด แต่สิ่งที่ลุงยงยุทธและสมาชิกในชุมชนสะท้อนให้เห็นผ่านช่วงเวลาที่มีโอกาสได้พบเจอกัน คือการปล่อยให้เรื่องราวนี้ยืดเยื้ออยู่ในสภาวะความไม่แน่นอนไม่ใช่คําตอบที่จะพาไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนที่รัฐพยายามพร่ำบอกมาอย่างยาวนาน

คงถึงเวลาแล้ว ที่เราจะนิยามพื้นที่ในอําเภอหนองตีนนกเสียใหม่ ครัวของอีอีซี วิถีการเกษตรรูปแบบใหม่ล้วนแต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการนิยามพัฒนาที่สมาชิกในอําเภอหนองตีนนกหวังจะให้เกิดขึ้น เพื่อสิ่งที่ดีกว่าในอนาคต แรงผลักดันที่ทําให้สมาชิกในชุมชนหนองตีนนกต่อสู้มาถึงปัจจุบันอย่างไม่ย่อท้อ คือภาพการมองเห็นลูกหลานคนรุ่นใหม่ในพื้นที่มีโอกาสได้เติบโตในพื้นที่ที่ผู้เป็นพ่อแม่ได้ส่งต่อมา หากวันใดวันหนึ่งที่ความโหดร้ายจากโลกภายนอกถาโถม พื้นที่บ้านเกิดแห่งนี้จะยังคงสามารถเป็นแหล่งพักพิงให้กับลูกหลานได้ต่อไป หวงแหน แต่ก็ยังอยากเห็นพื้นที่ตรงนี้พัฒนาร่วมกับการเข้ามาของท่าเรือบกอย่างราบรื่น คงเป็นเรื่องราวที่ฉันอยากถ่ายทอดให้เห็นในอีกมุมหนึ่งของอีอีซี ที่วันนี้ไม่ได้มีเพียงการเข้ามาของอุตสาหกรรมเสียแล้ว

หากมองเรื่องราวนี้ให้มีแสงสว่าง เปลี่ยนทิศทางที่หมองหม่นให้มีความหวังในการต่อสู้เพื่อสิทธิในพื้นที่อย่างเป็นธรรม การเดินหน้าไปสู่สิ่งที่ดีกว่าในวันนี้คือการปรับตัวกับชีวิตที่โอบล้อมไปด้วยอุตสาหกรรม เปลี่ยนแปลงรูปแบบการทําการเกษตรที่ยังคงยึดโยงไว้กับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และท้ายที่สุดคือการพัฒนาความเจริญโดยไม่รุกล้ำวิถีชีวิต เป็นการพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังในวันที่ทุกอย่างก้าวเดินไปสู่การเปลี่ยนแปลง

“ถ้าพื้นที่นี้ยังอยู่ อย่างน้อยลูกหลานยังมีบ้าน มีอาชีพให้เลี้ยงดูตนเองหากไม่ได้อยู่ในเมือง” ภายหลังจากการพูดคุยกับลุงยงยุทธอย่างยาวนาน ถัดไปที่ครัวขนาดใหญ่กินพื้นที่ฟากหนึ่งของบ้าน แกงส้มกุ้งผักรวมหม้อโตและปลาทอดแดดเดียวก็ถูกปรุงเสร็จเรียบร้อย เรานั่งกินอาหารกลางวันมื้อนี้อย่างเอร็ดอร่อยจากการใช้เวลาลงพื้นที่อย่างยาวนาน

“แกงส้มกุ้งกับปลาทอดอร่อยไหม ป้าเตรียมไว้ให้เยอะเลย ถ้าถูกใจกินให้อิ่มนะลูก” คือความอ่อนโยนของป้าใจที่ส่งต่อผ่านมื้ออาหาร หากใครเอ่ยปากชมว่าปลาทอดแดดเดียวอร่อยนัก ป้าใจนอกจากจะยิ้มออกมาด้วยความสุขที่อาหารอร่อยถูกปากสมกับที่สมาชิกในชุมชนช่วยกันลงแรงอย่างตั้งใจ ยังอุตส่าห์นําปลาแดดเดียวที่ตนเตรียมไว้ออกมาขายให้กับเราที่เดินทางไปเยี่ยมเยือน

เสียดายที่ฉันพลาดโอกาสซื้อปลาแดดเดียวเพราะกําลังใช้เวลาในการเก็บข้อมูล รู้สึกตัวอีกทีปลาของป้าใจก็ถูกจับจองซื้อขายจนหมดแล้ว หลังกล่าวลาทุกคนที่บ้านหนองตีนนก คงเป็นอีกครั้งที่ฉันเพิ่งรู้สึกตัวว่ากุ้งที่ทําให้แกงส้มกลมกล่อมและปลาทอดแดดเดียว ที่ฉันเพิ่งได้ลิ้มรสมานั้นคงจะจากหายไปจากบ้านหนองตีนนก หากถึงวันเวลาที่ท่าเรือบกถูกก่อตั้งขึ้นมาในพื้นที่แห่งนี้

อ้างอิงข้อมูล :
สํานักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร. โครงการศึกษาจัดทําแผนแม่บทการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port)
เพื่อนําไปสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค. กระทรวงคมนาคม. 2561.
https://www.otp.go.th/uploads/tiny_uploads/ProjectOTP/2561/Project08/EXSUMDryP
ortTH.pdf