“เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เป็นแค่ชัยชนะก้าวแรกของขบวนการนิสิตนักศึกษาประชาชน สเต็ปต่อไปคือการเรียนรู้และเติบโตไปพร้อมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น”
เชื่อว่าแต่ละคนคงมีความรับรู้และความทรงจำต่อ “14 ตุลาฯ” แตกต่างกันออกไปตามประสบการณ์ที่ได้พบได้เจอหรือได้อ่านมา สำหรับบางคน 14 ตุลาฯ คือวาระแห่งมหาปีติที่ประชาชนสามารถโค่นล้มเผด็จการได้ แต่บางคนก็ว่า 14 ตุลาฯ ไม่ใช่ชัยชนะของประชาชนอย่างแท้จริง เพราะหลังจากนั้นเพียง 3 ปี ประชาชนต้องนอนจมกองเลือดในวันที่ 6 ตุลาฯ ซ้ำร้าย! ทหารที่คิดว่าจะออกจากเวทีการเมืองไปแล้วก็หวนคืนมาอีกครั้งโดยการรัฐประหาร
ในมุมมองของสินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย ศิลปินรางวัลศรีบูรพา ปี 2562 ผู้ที่เคยเข้าร่วมเคลื่อนไหวในเหตุการณ์ครั้งนั้น ยังเห็นว่า 14 ตุลาฯ มีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชน และควรจะย้อนความทรงจำถึงเหตุการณ์นั้นอีกครั้งในวาระครบรอบ 50 ปี 14 ตุลา
ตื่นตัวทางการเมือง(ก่อน) 14 ตุลา
ปี 2515 ก่อน 14 ตุลาฯ คือช่วงที่สินธุ์สวัสดิ์ซึ่งตอนนั้นกำลังเรียนอยู่ที่วิทยาลัยเพาะช่าง เริ่มตื่นตัวทางความคิดและหันมาสนใจปัญหาทางสังคมการเมืองมากกว่าแค่ทำงานหรือศึกษาทางด้านศิลปะ เหตุการณ์สำคัญที่เป็นตัวกระตุ้นเริ่มจากในปีนั้นเอง พันเอก ณรงค์ กิตติขจร ลูกชายจอมพล ถนอม กิตติขจร ซึ่งตอนนั้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กตป. (คณะกรรมการติดตามผลการปฏิบัติราชการ) เป็นผู้มากบารมีและอำนาจ ต้องการเอาตึกหรืออาคารของเพาะช่างมาสร้างเป็นสมาคมศิษย์เก่าของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ซึ่งพันเอก ณรงค์ เป็นศิษย์เก่าที่นั่น แล้วจะย้ายเพาะช่างไปอยู่ในพื้นที่ชายขอบไกลมาก ๆ จึงเกิดการรวมตัวของลูกศิษย์ ครูอาจารย์ ตลอดจนศิลปินอิสระทั้งหลายที่เกี่ยวพันกับเพาะช่างมาชุมนุมประท้วง เมื่อพันเอก ณรงค์เห็นว่ามีเครือข่ายของคนที่เข้ามาสนับสนุนจำนวนมากเลยถอยออกไป
ในปีเดียวกัน ศิษย์เก่าเพาะช่างคนหนึ่งชื่อ กมล ทัศนาญชลี ซึ่งไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกาได้นำผลงานภาพพิมพ์ของเขามาแสดงที่เพาะช่าง ทำให้เกิดการตื่นตัวทางความคิด เนื่องจากงานศิลปะภายในประเทศไทยในช่วงเวลานั้นยังแสดงออกไม่กว้างขวางเท่ากับต่างประเทศ ขณะที่ผลงานของกมล ทัศนาญชลี ซึ่งร่วมเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามเวียดนามในสหรัฐอเมริกา ส่งแรงกระเพื่อมให้แก่วงการทัศนศิลป์ในไทย ทำให้เกิดความรับรู้ต่าง ๆ ขึ้นมา
และอีกเหตุการณ์คือ นักศึกษาศิลปะในช่วงเวลานั้นสนใจปัญหาสังคมการเมืองมากขึ้น เนื่องจากส่วนหนึ่งของคนที่เรียนเพาะช่างในสายครู เมื่อจบแล้วก็จะไปเรียนต่อวิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร ขณะนั้นมีการรณรงค์ให้ยกวิทยฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย พอไม่สำเร็จก็เกิดการประท้วงกัน
“ทั้ง 3 เหตุการณ์มันทำให้เราเกิดการตื่นตัวทางการเมืองก่อน 14 ตุลาฯ”
ดีเดย์ 13 ตุลา ผนึกรวม “หน่วยกนก 50”
มาถึงปี 2516 ก็มีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย อย่างเช่นการคืนสภาพนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงที่ถูกคัดชื่อออก พร้อมกับการเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญอย่างรวดเร็ว ตอนนั้นสินธุ์สวัสดิ์ในวัย 19 ย่าง 20 กำลังเรียนปี 2 วิทยาลัยเพาะช่าง ก็ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหว ช่วยทำป้ายผ้าและเขียนข้อความรณรงค์
สถานการณ์เริ่มตึงเครียดมากขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม เมื่อธีรยุทธ บุญมี กับพวก 11 คนที่แจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญถูกจับ (ภายหลังจับเพิ่มเป็น 13 คน) จากนั้นในช่วงเช้าวันที่ 8 ตุลาคม สินธุ์สวัสดิ์ออกจากบ้านฝั่งธน นั่งเรือข้ามฟากจากศิริราชมาที่ท่าพระจันทร์ ขณะที่กำลังเดินผ่านประตูมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อไปเพาะช่างนั้น
“วันนั้นมันเสียงดังผิดปกติ มีเสียงไมโครโฟนกับลำโพงใหญ่ ๆ แบบงานวัด ดังมากที่ประตูมหาวิทยาลัย ผมก็เดินอัดเข้าไปฟัง เพราะสงสัยว่าวันนี้มันเกิดอะไรขึ้น เห็นชายคนหนึ่งยืนพูดอยู่ใกล้ ๆ ลานโพธิ์ ก็คือเสกสรรค์ ประเสริฐกุล เขากำลังพูดเรียกร้องให้นักศึกษาลงมาจากห้องสอบ งดสอบ เพื่อที่จะชุมนุมประท้วงการจับธีรยุทธ บุญมี กับพวก…”
นั่นคือจุดเริ่มต้นที่สินธุ์สวัสดิ์ได้เข้าไปฟังและเข้าไปมีส่วนร่วมกับเหตุการณ์ จากนั้นในช่วงบ่าย ๆ เพื่อน ๆ จากเพาะช่างก็มาสมทบ
ผลจากสถานการณ์ในขณะนั้น ทำให้มีคนมาร่วมชุมนุมมากขึ้น ทางเพาะช่างก็ปิดวิทยาลัย โดยผู้บริหารระดับสูงขอให้นักศึกษาเพาะช่างทุกคนแยกย้ายกันกลับบ้านตามคำสั่งของกระทรวงศึกษาธิการ แต่ว่านักศึกษาก็เดินขบวนมาเข้าร่วมชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันต่อ ๆ มา สินธุ์สวัสดิ์ก็ค้างที่ธรรมศาสตร์ตลอด ได้ฟังทั้งการปราศรัย ชมการแสดงละครเวที การแสดงเสียดสี และสินธุ์สวัสดิ์ได้ใช้ความถนัดทางด้านงานทัศนศิลป์เข้าไปช่วยระดมคนเขียนป้ายผ้า เขียนคำขวัญติดข้างกำแพง ทางด้านสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากรก็มาเข้าร่วม วาดการ์ตูนแล้วไปติดกำแพงตั้งแต่ศิลปากรมาถึงท่าพระจันทร์ อีกจุดหนึ่งก็ตรงบริเวณเสาชิงช้า กำแพงหน้าโบสถ์พราหมณ์
13 ตุลาคม เป็น “วันดีเดย์” ที่ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยยื่นคำขาดกับรัฐบาล และตอนนี้ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยเข้ามาร่วมกับองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลายเป็นขบวนที่กว้างใหญ่ไพศาลมากยิ่งขึ้น มีการวางแผนและประกาศรับสมัครคนในส่วนต่าง ๆ เช่น หน่วยรักษาความปลอดภัย หน่วยพยาบาล หน่วยธงธรรมจักร หน่วยเชิญพระบรมฉายาลักษณ์ ฯลฯ รวมถึงประกาศและบอกต่อผู้ชุมนุมถึงวิธีป้องกันตนเองเวลาโดนแก๊สน้ำตา ทางด้านสินธุ์สวัสดิ์ได้ไปเข้าร่วมกับ “หน่วยกนก 50” ซึ่งมีที่มาจากโรงเรียนกนกอาชีวะศึกษา หน้าที่คือดูแลรถบัญชาการนำขบวน
เมื่อถึงตอนเที่ยง รัฐบาลยังไม่ได้ให้คำตอบว่าจะปล่อย 13 ผู้ต้องหาที่จับกุมไป จึงมีการประกาศเคลื่อนขบวนออกจากธรรมศาสตร์ทางด้านประตูท่าพระอาทิตย์ มาหยุดที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อรอฟังข่าว ภาพที่สินธุ์สวัสดิ์เห็นตอนนั้นคือ “คนที่รออยู่ข้างนอกจำนวนเยอะกว่าข้างใน” ยิ่งช่วงประมาณ 4 โมงเย็นคนที่มาเข้าร่วมยิ่งมหาศาล
“มันมีประเด็นต่าง ๆ ที่คุกรุ่นอยู่ในใจผู้คนมากมาย ไม่ใช่แค่ปัญหาทางการเมือง แต่รวมถึงปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ มันสะสม”
ประจักษ์พยานในสวนจิตรลดา
ตั้งแต่ช่วงเย็นจนถึงดึก ขบวนก็เคลื่อนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังลานพระบรมรูปทรงม้า แล้วเคลื่อนไปต่อที่สวนจิตรลดาเพราะเป็นที่พึ่งสุดท้าย สถานการณ์ก็เป็นไปอย่างนี้จนเข้าสู่วันที่ 14 ตุลาคม
“ประมาณตี 4 ตี 5 ธีรยุทธก็เดินเข้ามาถึงรถบัญชาการ แล้วหายไปกับเสกสรรค์ เขาว่าเข้าไปพูดคุยกันในสวนจิตรฯ แต่อาจจะไม่ใช่ อาจจะอยู่ใกล้ ๆ แถวนั้น แล้วก็ออกมาตกลงกันว่ายุติการชุมนุม”
เหตุที่แกนนำตัดสินใจยุติการชุมนุม เพราะรัฐบาลปล่อย 13 ผู้ต้องหา แล้วก็จะร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน 3 วัน แน่นอนว่ามีทั้งคนที่ยอมรับและไม่ยอมรับจนมีการทะเลาะกัน แต่รถบัญชาการนำขบวนถือว่าเสร็จสิ้นภาระแล้วก็ขับออกไปอย่างช้า ๆ ทางถนนที่จะไปสะพานเกษะโกมล
ทว่าเรื่องไม่ยุติลงแค่นั้น เพราะทางที่กำลังจะไปมีตำรวจกั้นขวางอยู่ จึงเกิดการปะทะกัน มวลชนต่างโดนแก๊สน้ำตา บางคนก็ถูกตีด้วยกระบอง สินธุ์สวัสดิ์ที่อยู่ห่างจากจุดปะทะประมาณ 300 เมตร และกลุ่มอาชีวะก็เข้าไปช่วยลำเลียงคนเจ็บออกมา เลือดนักศึกษาหญิงของพณิชยการราชดำเนินเปื้อนเสื้อและแว่นของสินธุ์สวัสดิ์ บางคนถูกจับ บางคนหนีไปได้ มวลชนบางส่วนก็หนีเข้าไปในสวนจิตรลดา โดยตำรวจรักษาวังเปิดให้เข้าไป
จนถึงช่วงเที่ยง ๆ บ่าย ๆ มีรถบัสประจำทางของสำนักพระราชวังไปส่งตามจุดต่าง ๆ เหมือนรถเมล์ รถนี้ตำรวจทหารไม่ยุ่ง ภาพที่สินธุ์สวัสดิ์เห็นสองข้างทางระหว่างนั่งรถคือตำรวจ-ทหารอาวุธครบมือ เขาลงรถที่สะพานพุทธแล้วเดินกลับมาที่หน้าเพาะช่าง ไปที่เสาชิงช้า เพราะนัดกันแล้วว่าต้องไปเจอกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และระหว่างนั้นมวลชนบางส่วนก็ช่วยกันลำเลียงศพของ จีระ บุญมาก ผู้เสียชีวิตคนแรกขึ้นไปวางบนพานรัฐธรรมนูญแล้วแห่รอบเมือง
มวลชนยังคงปักหลักที่ถนนราชดำเนินทั้งคืน แม้จอมพล ถนอมจะประกาศลาออกแล้วก็ตาม ระหว่างนั้นก็ยังมีการปะทะกันระหว่างตำรวจ-ทหารกับประชาชนบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ เหตุการณ์มาสงบลงในวันที่ 15 ตุลาคม เมื่อกลุ่มเผด็จการทหารและครอบครัวออกนอกประเทศไป
“เหตุการณ์บ้านเมืองที่มันลุกลามไปมีต้นเหตุมาจากความร้ายแรงของเผด็จการ แต่ส่งผลให้คนธรรมดาเดือดร้อน ตอนนั้นก็รู้สึกเคียดแค้นมาก…
พอรู้ว่าถนอม ประภาส ณรงค์ และครอบครัวเดินทางออกนอกประเทศแล้ว ก็รู้สึกว่าดีใจในระดับหนึ่งว่า พวกที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ได้ออกไปแล้ว นี่คือเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ที่เราได้ประสบมากับตัวเราเอง ได้เห็นคนตายต่อหน้าต่อตา ได้รับผลสะเทือนด้วยตัวเองในวัยซึ่งกำลังเป็นหนุ่ม”
พลังที่ถูกปลดปล่อย
“เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ และหลังจากนั้นจนถึง 6 ตุลาฯ เป็นบทเรียนอันยิ่งใหญ่ของขบวนการการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและเพื่อสังคมที่ดีงามของประชาชนทั้งหลาย”
สำหรับสินธุ์สวัสดิ์ เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ทำให้เกิดการตื่นตัวของคนจำนวนมาก เข้ามาสนใจปัญหาบ้านเมืองมากยิ่งขึ้น จากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง ดังบทความเรื่อง “จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม” ของปรีดี พนมยงค์ ซึ่งออกในเดือนธันวาคม ปี 2516 เป็นหมุดหมายสำคัญที่ทำให้เห็นว่า ประชาธิปไตยสมบูรณ์จะต้องพร้อมไปด้วยอำนาจอธิปไตยทั้ง 3 อย่าง ตุลาการ รัฐสภา และรัฐบาลจะต้องเป็นของประชาชน หากขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งประชาธิปไตยก็จะไม่สมบูรณ์ เป็นบทเรียนที่ทำให้เราศึกษาเรียนรู้ตราบจนทุกวันนี้
“บทเรียน 14 ตุลาฯ จนถึง 6 ตุลาฯ ให้อะไรกับสังคมมากมายทั้งแง่บวกและแง่ลบ ในแง่บวกเราเห็นพลังของภาคส่วนต่าง ๆ ถูกปลดปล่อยเมื่อ 14 ตุลาฯ ทำให้สังคมก้าวไปสู่สเต็ปหนึ่ง ส่วน 6 ตุลาฯ นั้นคือช่วงบิดช่วงหักเลี้ยวของสังคม ถ้าไม่เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ความเติบโตของภาพรวมของสังคมก็จะไปอีกรูปแบบหนึ่ง ไม่เป็นอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้”
50 ปีการเมืองไทย ‘อย่างยุ่งเหยิง ไม่ใช่อย่างงดงาม‘
ในฐานะศิลปิน สินธุ์สวัสดิ์เปรียบเทียบการเมืองไทยจาก 14 ตุลาฯ กับผลงานศิลปะไว้ว่า ผลงานชิ้นนี้จะไม่ได้เป็นแบบใดแบบหนึ่ง ไม่ได้เป็นสกุลช่างใดช่างหนึ่ง แต่ภาพจะผสมผสานไปด้วยทุกมิติทุกรูปแบบ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมันมีความหลากหลาย มีเรื่องแง่บวกแง่ลบ
บางช่วงเวลาบางเหตุการณ์ก็คิดว่าจะไปนำสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคม แต่หักเลี้ยวกันได้ง่าย ๆ สินธุ์สวัสดิ์ยกตัวอย่างการเลือกตั้ง 2566 ที่ผ่านมา แม้จะเห็นความหวังโชติช่วงชัชวาลมากแล้ว แต่ก็มีเรื่องให้หักเลี้ยวได้อย่างฉับไว
ภาพการเมืองไทยรอบ 50 ปีจึงประกอบด้วยเทคนิคของการใช้ศิลปะหลายสกุลมาผสมผสาน “อย่างยุ่งเหยิง ไม่ใช่อย่างงดงาม” เป็นภาพที่ไม่ทำให้เกิดความรู้สึกที่ดี เป็นความรู้สึกซึ่งกระตุ้นให้เรากลับไปครุ่นคิดต่อมากกว่าว่า สังคมไทยควรจะเป็นเช่นนี้หรือในปี 2566 แล้วจากนี้อีก 5 ปี 10 ปีข้างหน้าจะเป็นเช่นไร มีโอกาสหรือไม่ที่จะเจริญงอกงามมากกว่านี้
“ในอีกไม่กี่ปีก็จะครบร้อยปีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สังคมไทยจะดีขึ้นหรือเลวลง มันเป็นคำถามย้อนกลับมาให้กับเรา ให้กับสังคม ให้กับคนรอบข้างที่ยังมีชีวิตอยู่ทุกวันนี้ หรืออย่างผมอายุอาจจะน้อยลง น้อยลง ก็เคยร่วมอยู่ในขบวนการมาตลอด เราควรจะทำอะไรต่อไป ต้องกลับมาครุ่นคิดแล้วหาคำตอบด้วยตัวเราเอง มันไม่มีสูตรสำเร็จ ศิลปะชิ้นนี้ก็ต้องให้แง่คิดในเชิงนี้”