สูงวัย จน ป่วย และเดียวดาย - Decode
Reading Time: 2 minutes

ผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพัง บางครอบครัวมีผู้สูงอายุอยู่กันเอง 1-2 คน ลักษณะแบบนี้ เพิ่มขึ้นจาก 15% เป็น 30%

นี่คือสิ่งที่ต้องยอมรับว่าสะท้อนมาจากวิถีเศรษฐกิจตลอด 20 ปีที่ผ่านมา เพราะคนหนุ่มสาวจำนวนมากต้องเข้ามาทำงานในเมือง เลยทิ้งให้ผู้สูงอายุต้องอยู่กันตามลำพัง

“ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ผู้สูงอายุในกลุ่มที่มีรายได้น้อย เพิ่มจาก 20% เป็น 37%”

ที่ไหนมีผู้สูงอายุ ที่นั่นมีความยากจน

ผศ.ดร.ธร ปีติดล ผอ.ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม เริ่มต้นด้วยการฉายภาพให้เราเห็นในเวทีเสวนา จากเมือง สู่นโยบาย 4 มิติ เพื่อวัยเกษียณ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร อาจารย์ชี้ว่าแนวโน้มของผู้สูงอายุที่มีฐานะยากจนเพิ่มมากขึ้น และเป็นสิ่งที่ยืนยันความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยได้ดีที่สุด เพราะถ้าหากมองลึกลงไปในตัวเลขที่อาจารย์ธรได้นำเสนอไว้ จะทำให้เราเห็นชัดเจนขึ้นว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ที่อยู่ในกลุ่มรายได้น้อยจะเป็นผู้สูงอายุเดี่ยวของภาคครัวเรือน

คำถามสำคัญของปรากฏการณ์นี้คืออะไร แต่ที่แน่ ๆ ข้อมูลพบว่าตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่า ซึ่งอาจารย์ตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วงตลอด 20 ปีที่ผ่านมา วิถีเศรษฐกิจของไทยก็เปลี่ยนไปอย่างมีนัยยะสำคัญ มีการเปลี่ยนจากภาคเกษตรกรรมมาเป็นภาคอุตสาหกรรมและบริการ ซึ่งเป็นภาคที่มีวัยเกษียณอายุทำงาน ต่างจากภาคเกษตรกรรมที่เราจะเห็นได้ว่า ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ก็ยังทำงานอยู่ภาคเกษตรกรรมได้ นี่จึงเป็นปัจจัยหลักว่าหลังจากเกษียณอายุจากวัยทำงาน ก็จะนำมาซึ่งสภาวะที่ขาดรายได้ และเป็นการซ้ำเติมเพิ่มจำนวนของผู้สูงอายุขึ้นไปอีก

“เพราะรายได้หลักของผู้สูงอายุเหลือเพียงแค่รายได้จากลูกหลาน และเงินอุดหนุนจากรัฐ”

เป็นแนวโน้มอย่างที่เราหลายคนเห็นตรงกันแล้ว ว่าเรากำลังเดินหน้าเข้าสู่ยุคที่มีกลุ่มผู้สูงอายุเป็นฐานประชากรใหม่ ที่จะชี้วัดความเหลื่อมล้ำได้อย่างแจ่มแจ้งมากขึ้น ไม่ใช่แบ่งฐานความเหลื่อมล้ำแบบเดิมคือการแบ่งระหว่างชนบทกับเมือง “แต่วันนี้ที่ไหนมีผู้สูงอายุ ที่นั่นจะมีกลุ่มผู้มีรายได้น้อย” ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดว่าที่นั่นจะเกิดความเหลื่อมล้ำ

ลดความเหลื่อมล้ำ เข้าถึงเทคโนโลยีเป็นธรรม

“เทคโนโลยีคือตัวกระตุ้นที่สะท้อน ภาวะ จน ป่วย เดียวดาย ให้ชัดมากขึ้น” ในมุมมองของ คุณชาคิต พรหมยศ Co-founder ยังแฮปปี้ ที่พัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อผู้สูงอายุ เพราะวันนี้เราอาจเห็นแล้วว่า โทรศัพท์เป็นปัจจัยที่ 5 ที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวัน ยิ่งในขณะที่รัฐกำลังบอกว่า เราจะเดินหน้าสู่การเป็น digital nation คำถามหลัก ๆ ของแกนที่เราต้องกลับมามองคืออะไร ในสายตาของชาคิต เขาบอกว่า เขาตั้งแกนหลัก ๆ ไว้สองแกน 1 คือเทคโนโลยีเหล่านี้สามารถเข้าถึงได้อย่างทั่วถึง และเป็นธรรม ที่ต้องเริ่มต้นด้วยการพูดแบบนี้ก็เพราะว่า เราต้องยกตัวอย่างให้เห็นว่า ในช่วงโควิดที่ผ่านมา รัฐใช้มาตรการในการรับสิทธิ์ต่าง ๆ ผ่านแอปพลิเคชันในโทรศัพท์ ซึ่งนี่คือต้นทุนอย่างแรกที่ผู้สูงอายุต้องมีไว้ครอบครอง มิต้องพูดถึงว่าจะมีความสามารถในการใช้เครื่องมือเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน แต่เพียงแค่ราคาของโทรศัพท์ ที่มีสเปคสูง ๆ สามารถอัปเดต และโหลดแอปพลิเคชันได้หรือไม่ได้ ก็สะท้อนสภาวะความเหลื่อมล้ำและความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการของรัฐไปแล้ว แกนสำคัญในส่วนที่ 2 คือ Knowledge เพราะสิ่งที่เราต้องตระหนักคือ เครื่องมือเหล่านี้จะมีกลุ่มผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องใช้ด้วย เราต้องไปไกลถึงขนาดว่าจะมีมาตรการไหม ที่จะกำหนดให้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ต้องออกแบบและมีคู่มือสำหรับกลุ่มผู้ใช้ที่เป็นผู้สูงอายุโดยตรง หากไม่แล้ว เราจะทำอย่างไรให้กลุ่มผู้สูงอายุที่ยังไม่เท่าทันต่อการใช้เครื่องมือเหล่านี้สามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ ได้

แต่ประเด็นที่น่ากังวลไม่แพ้กัน คือความเท่าทันเทคโนโลยีหรือการป้องกันสแกมเมอร์จากมิจฉาชีพ สิ่งที่คุณชาคิตบอกในวันนี้คือผู้สูงอายุถือเป็นเป้าหมายหลักของกลุ่มคนกลุ่มนี้ เพราะมีมาตรวัดชัดเจนว่าผู้สูงอายุถือเป็นกลุ่มที่เปราะบางที่สุด คำถามที่มีต่อรัฐคือ “รัฐต้องสร้างมาตรการเหล่านี้เพิ่มขึ้นไหม” ที่จะสามารถป้องกันและปราบปรามกลุ่มมิจฉาชีพเพื่อจะหลอกลวงกลุ่มคนผู้สูงอายุ

ทำงานคนเดียวไม่ได้ “ต้องกระจายอำนาจให้หมด”

“เราอยู่ในยุคของความท้าทาย เพราะเราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว” บุษยา ใจสว่าง รองอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุกล่าว

ทุกวันนี้หากเดินไปตรงไหน เราจะเจอผู้สูงอายุ 1 คนจากประชากร 5 คน และมีแนวโน้มที่กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ กลับกัน เราก็กำลังอยู่ในช่วงที่มีเด็กเกิดใหม่ในอัตราที่น้อยมาก ล่าสุด อัตราเด็กเกิดใหม่ของเรา อยู่ที่ 5 แสนคนต่อปี หากสามารถกดข้ามเวลาได้ ในอีก 20 ปีข้างหน้า เราก็จะเข้าสู่ภาวะขาดแคลนคนหนุ่มสาวในวัยแรงงาน และศักยภาพในการดูแลผู้สูงอายุของเราก็จะลดหลั่นตามลำดับไปด้วย หากผนวกรวมกับกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอยู่ในสถานะยากจนตามข้อมูลที่อาจารย์ธรยกมาข้างต้นแล้ว นี่เรียกได้ว่าเราอยู่ในยุคของความท้าทายอย่างที่รองอธิบดีกล่าวอย่างไม่ผิดเพี้ยน

ซึ่งสิ่งที่กรมกิจการผู้สูงอายุกังวลอยู่ในขณะนี้พร้อมกับความท้าทายใหม่ คือการที่รองอธิบดี ยอมรับกลางเวทีอย่างตรง ๆ ว่า “เราไม่สามารถทำงานคนเดียวได้” เพราะประเด็นของผู้สูงอายุในปัจจุบันนั้นมีมากมายหลายด้าน ทั้งมิติทางความมั่นคงเศรษฐกิจ สุขภาวะ และรวมถึงด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ นี่จึงเป็นภาระงานที่ดูใหญ่กว่ากรมกิจการผู้สูงอายุที่มีคนทำงานเพียงแค่ 700 คน

แต่เมื่อพูดถึงภาระงานเหล่านี้ที่เทกองอยู่ที่กรมภายใต้สังกัดกระทรวงแล้ว เราต้องช่วยกันตั้งคำถามสำคัญ ๆ ด้วยว่า ทำไมถึงไม่มีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นสามารถเอาภารกิจที่กรมดูแลอยู่ไปจัดการเอง ในช่วงหนึ่งของเวทีเสวนา นพ.ดร.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สสส.ให้ความเห็นว่า “ต้องกระจายอำนาจให้หมด” เพราะท้องถิ่นเขามีคนมีศักยภาพมากกว่าที่จะสามารถทำได้ “โอนภารกิจ อำนาจ และเงินไปให้เขา” ให้ท้องถิ่นทำ ท้องถิ่นดูแล และปล่อยให้กระทรวงหรือราชการส่วนกลางเป็นแค่กรรมาธิการที่มีไว้ออกกฎระเบียบดูแลภาพใหญ่อีกที

หรือถ้าหากต้องการเห็นตัวอย่างที่ชัดเจนมากขึ้น ผมขอชวนทุกคนมองถึงกรณีเบี้ยผู้สูงอายุ เดือนละ 600-800 บาทตามลำดับขั้นอายุที่จ่ายอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่ทราบดีอยู่แล้วว่าเบี้ยผู้สูงอายุในปัจจุบันได้ถูกเบิกจ่ายอย่างถ้วนหน้าเมื่ออายุถึงเกณฑ์โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการจ่ายให้กับผู้สูงอายุโดยตรง แต่เมื่อสองเดือนที่ผ่านมา กฤษฎีกาได้ออกกฎหมายฉบับใหม่ให้เกิดการตีความได้ว่า ใครที่จะเข้าข่ายเป็นผู้สูงอายุที่จะสามารถรับเบี้ยยังชีพได้บ้าง ซึ่งก็สามารถตีความได้ว่าจะมีผู้สูงอายุที่จะไม่เข้าเกณฑ์ที่จะสามารถรับเบี้ยยังชีพนี้ได้ และสวัสดิการส่วนนี้ก็จะกลายเป็นสวัสดิการที่ไม่ถ้วนหน้า สิ่งนี้เลยทำให้เราเห็นบทบาทของราชการส่วนกลางเป็นอย่างสูงที่จะสามารถควบคุมมาตรการต่าง ๆ ผ่านประกาศหรือกฎหมายได้

ทางออก ที่นพ.ดร.พรเทพเสนอจึงเป็นทางออกที่จะทลายโครงสร้างอำนาจของส่วนกลางไปในตัว เพราะนั่นคือการโอนอำนาจเหล่านี้ให้ท้องถิ่นเป็นคนดูแล และนี่คือความท้าทายต่อระบบราชการเช่นกันที่กำลังเจอกับแรงเสียดทานขนาดมหึมาที่อยากเห็นการกระจายอำนาจ แต่ระหว่างรอการกระจายอำนาจที่ยังไม่เกิดขึ้นการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุจึงขึ้นอยู่กับการผ่านร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ ในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งผลักดันงานการดูแลผู้สูงอายุ และดันเรื่องการจ้างงานเพื่อให้ ผู้สูงอายุที่ยังอยากทำงานยังมีเรี่ยวแรง พึ่งตัวเองได้ ลดภาวะรอการพึ่งพาการสงเคราะห์จากรัฐ