บางที “เราต้องการมากกว่าความรัก” - Decode
Reading Time: 2 minutes

พินิจถิ่นอินเดีย

ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล

เรื่องมีอยู่ว่า ในวันที่ 30 สิงหาคมปีนี้ สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศอินเดีย ได้จัดงานเนื่องในวาระครบรอบ 5 ปีคำตัดสินว่าด้วยส่วนที่ 377 ของประมวลกฎหมายอาญาอินเดีย คำตัดสินนี้สำคัญมากต่อผู้คนชาว LGBTQ+ เพราะนี่คือส่วนประมวลกฎหมายอาญาที่นำมาใช้ดำเนินคดีกับชาว LGBTQ+ ดังนั้นแล้ว ในมุมมองของผู้คนกลุ่ม LGBTQ+ จึงหาใช่เรื่องอื่นใดไม่ นอกจากการลิดรอนสิทธิของพวกเขานั่นเอง

ส่วนที่ 377 ที่ว่านี้คือกฎหมายเอาผิดกับ “ความผิดอันผิดธรรมชาติ” (Unnatural offences) ใจความโดยสรุปของส่วนที่ 377 คือ

ผู้ใดก็ตามสมัครใจมีเพศสัมพันธ์อันขัดต่อกฎแห่งธรรมชาติไม่ว่าจะกับชาย หญิง หรือสัตว์ใด ๆ จะต้องรับโทษ

กฎหมายข้อนี้ริเริ่มในอนุทวีปอินเดียโดยจักรวรรดิอังกฤษเมื่อปี ค.ศ. 1860 ก่อนจะนำมาใช้ในปีถัดมา

ส่วนที่ 377 นี้เป็นที่ถกเถียงกันมาโดยตลอด อาจกล่าวได้ว่า โดยรวมแล้ว การตีความในอดีตโดยศาลต่าง ๆ รวมถึงศาลสูงสุดแห่งอินเดียก็มิได้สนับสนุนผู้คนกลุ่ม LGBTQ+ ทั้งหมด การสนับสนุนสิทธิเสรีภาพของชาว LGBTQ+ เริ่มประจักษ์ชัดเจนครั้งแรกในคำตัดสินกรณี “Navtej Singh Johar v. Union of India” ปี ค.ศ. 2018 เมื่อนายนวเตช สิงห์ โชหาร (Navtej Singh Johar) ศิลปินชาวซิกข์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในวงการภรตนาฏยัม (Bharatnatyam) ผู้ซึ่งประกาศต่อสาธารณะว่าตนเป็น LGBTQ+ และเป็นนักรณรงค์สิทธิของ LGBTQ+ มาในระยะเวลาหนึ่งแล้วนั้น ได้ขอให้ศาลสูงสุดแห่งอินเดียพิจารณาว่า ส่วน 377 นั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญอินเดีย

ศาลสูงสุดรับฟังและขอให้ผู้สนับสนุนเรื่องนี้แสดงความเห็นต่อศาลฯ เป็นเวลา 4 วัน ในขณะที่รัฐบาลกลางหรือรัฐบาลสหพันธรัฐ (Union Government) มิได้แสดงจุดยืนในประเด็นนี้ คือปล่อยให้เป็นไปตามศาลฯ ในเวลา 4 วันดังกล่าว ทีมของนายโชหารได้สำแดงให้เห็นชัดเจนหนักแน่นว่าส่วนที่ 377 แห่งประมวลกฎหมายอาญาอินเดียนั้น ก่อให้เกิดความทุกข์ยากต่อชาว LGBTQ+ อย่างไร กล่าวคือ พวกเขาถูกเลือกปฏิบัติ ถูกละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก ถูกละเมิดศักดิ์ศรีแห่งความเป็นคน ถูกละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวทางเพศ ฯลฯ ฉะนั้นแล้ว ส่วนที่ 377 ของประมวลกฎหมายอาญาแห่งอินเดียจึงขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างสิ้นเชิง

คณะตุลาการได้ประกาศคำตัดสินเมื่อวันที่ 6 กันยายน ปี ค.ศ. 2018 ในครั้งนี้ศาลสูงสุดได้กลับคำตัดสินของตน โดยระบุว่า ส่วนที่ 377 แห่งประมวลกฎหมายอาญานั้นละเมิดมาตรา 15 แห่งรัฐธรรมนูญอินเดีย ซึ่งมีสารัตถะว่า รัฐห้ามเลือกปฏิบัติต่อพลเมืองใด ๆ บนฐานของศาสนา เชื้อชาติ วรรณะ เพศ สถานที่เกิด หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง สำหรับศาลฯ ในครั้งนี้ ส่วนที่ 377 ทำให้ผู้คนในกลุ่มรักร่วมเพศตกเป็นเหยื่อ ศาลฯ จึงมีคำตัดสินว่า ต่อจากนี้ไปกิจกรรมทางเพศโดยสมัครใจระหว่างผู้บรรลุนิติภาวะต้องไม่ถือเป็นอาชญากรรม โดยถือว่าการใช้กฎหมายก่อนหน้านี้ “ไม่มีเหตุผล เป็นไปโดยพลการ และไม่อาจเป็นที่เข้าใจได้”

กล่าวอีกนัยคือ สิ่งที่ศาลสูงสุดแห่งอินเดียได้กระทำในวันที่ 6 กันยายน ปี ค.ศ. 2018 คือ ลดทอนมิให้การมีเพศสัมพันธ์ในกลุ่ม LGBTQ+ เป็นอาชญากรรม (decriminalization) อีกต่อไป แต่นี่ก็เป็นเพียงการเริ่มต้นของการต่อสู้ของชาว LGBTQ+ เท่านั้น เพราะสิ่งที่พวกเขายังต้องการอีกคือ การสมรสเพศเดียวกัน

และแล้วในปีนี้ คือประมาณ 4 ปีกว่าหลังคำตัดสินกรณี “Navtej Singh Johar v. Union of India” ปี ค.ศ. 2018 กลุ่ม LGBTQ+ ก็ได้ขอให้ศาลสูงสุดของอินเดียพิจารณาเรื่องการสมรสเพศเดียวกัน ในเดือนเมษายนปีนี้ ศาลสูงสุดเริ่มนำเรื่องนี้มาพิจารณาอย่างจริงจัง คำร้องต่อศาลเรื่องนี้มาจากคู่รักเพศเดียวกันทั้งหมด 18 คู่

ฝ่ายทนายของผู้เรียกร้องการแต่งงานเพศเดียวกันให้เหตุผลว่า ชาว LGBTQ+ ควรมีสิทธิเหมือนคนอื่น ๆ ในการสมรสที่รับรองโดยรัฐ พวกเขาชวนศาลตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่ว่า การแต่งงานคือการรวมตัวกันตามกฎหมายหรืออย่างเป็นทางการของคนสองคน การรวมตัวระหว่างคนสองคนนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นระหว่างชายกับหญิงเท่านั้น พวกเขายังเสริมด้วยว่า แนวคิดเรื่องการแต่งงานก็เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแล้ว และสัมพันธ์กับผู้คนที่มีความชอบหรือความต้องการที่แตกต่างจากชายหญิงแบบเดิมด้วย

ฝ่ายรัฐบาลและผู้นำศาสนาคัดค้านการแต่งงานเพศเดียวกัน นักกฎหมายฝ่ายรัฐบาลได้ตั้งคำถามว่าศาลสูงสุดมีอำนาจหน้าที่รับพิจารณาเรื่องนี้หรือ ฝ่ายรัฐบาลโต้แย้งว่า เรื่องที่มีผลกระทบทางสังคมและกฎหมายมากมายลักษณะนี้ควรอยู่ในอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาเท่านั้น ฝ่ายรัฐบาลได้ขอให้ศาลฯ ปฏิเสธการร้องเรียนของคู่รักเพศเดียวกัน 18 คู่ โดยให้ความเห็นด้วยว่า การร้องเรียนนี้มาจากชนชั้นสูงที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่เท่านั้น หาได้มาจากสังคมอินเดียอย่างกว้างขวางไม่ และการแต่งงานเพศเดียวกันนั้นย่อมย้อนแย้งกับแนวคิดของสังคมอินเดียที่ยอมรับเฉพาะการแต่งงานระหว่างเพศชายกับเพศหญิงที่กำหนดโดยชีวภาพเท่านั้น ฝ่ายรัฐบาลเน้นด้วยว่า หากศาลฯ พิจารณาให้การแต่งงานเพศเดียวกันถูกกฎหมาย ก็จะทำให้เกิดความวุ่นวายเพราะจะต้องแก้กฎหมายจำนวนมาก กล่าวอย่างเรียบง่ายคือ แทบจะต้องเขียนกฎหมายครอบครัวใหม่หมดเลยก็ว่าได้

ประเด็นของผู้คัดค้านที่มาจากผู้นำศาสนาสามารถตัดออกไปได้ ทั้งนี้มิใช่ว่าไม่สำคัญ ทว่านายธนัญชัย ยศวันต์ จันทรจูฑ (Dhananjaya Yeshwant Chandrachud) ประธานตุลาการศาลสูงสุดอินเดีย ได้กล่าวไว้หลายครั้งในการพิจารณาเรื่องนี้ว่า ศาลฯ จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกฎหมายส่วนบุคคลทางศาสนา สิ่งที่ศาลฯ พึงพิจารณาจะอยู่ภายใต้รัฐบัญญัติการแต่งงานพิเศษ (Special Marriage Act) ปี ค.ศ. 1954 ซึ่งโดยปริยายหมายความว่า ศาลฯ มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาคำการพิจารณาเรื่องนี้ในบริบทรัฐบัญญัตินี้ สำหรับชาวอินเดียไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ตาม สามารถแต่งงานกันได้ภายใต้รัฐบัญญัตินี้ เพราะมีผลบังคับใช้กับดินแดนทั้งหมดของอินเดีย และครอบคลุมไปถึงผู้ที่ตั้งใจจะเป็นคู่สมรส ไม่ว่าผู้นั้นจะอาศัยอยู่ในประเทศหรือต่างประเทศ

ถึงแม้ขณะนี้ศาลสูงสุดแห่งอินเดียจะยังไม่ได้ตัดสินว่า การสมรสเพศเดียวกันจะได้รับการรับรองทางกฎหมายหรือไม่ แต่ความเห็นของนายจันทรจูฑ ในฐานะประธานตุลาการสูงสุดแห่งอินเดียย่อมสำคัญยิ่ง แม้เขาจะมิใช่ประธานตุลาการศาลสูงสุดแห่งอินเดียในสมัยกรณี “Navtej Singh Johar v. Union of India” ปี ค.ศ. 2018 แต่หลายคนก็ทราบดีว่าเขามีทัศนคติเชิงบวกต่อสิทธิเสรีภาพของชาว LGBTQ+ สำหรับปีนี้ที่ชาว LGBTQ+ 18 คู่ขอให้ศาลพิจารณาว่าสามารถสมรสเพศเดียวกันได้นั้น เขาคือประธานตุลาการศาลสูงสุดแห่งอินเดีย ฉะนั้นแล้ว นอกจากเขาจะจัดการให้เกิดการรับฟังจากทั้ง 2 ฝั่งอย่างตรงไปตรงมาแล้ว เราควรพิจารณาความคิดเห็นของเขาในเวทีอื่น ๆ ด้วย ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะกว่าประธานตุลาการศาลสูงสุดแห่งอินเดียจะรับเชิญไปไหนมาไหนและต้องกล่าวอะไรที่เป็นข้อโต้แย้งด้วยนั้น หาใช่เรื่องง่ายนัก

ในวันที่ 30 สิงหาคมปีนี้ ดังที่เกริ่นไว้ในช่วงต้นของบทความ นายจันทรจูฑได้รับคำเชิญจากสถานทูตอังกฤษให้กล่าวปาฐกถาในวาระครบรอบ 5 ปี คำตัดสินกรณี “Navtej Singh Johar v. Union of India” ปี ค.ศ. 2018 นายจันทรจูฑได้กล่าวปาฐกถาในหัวข้อของงานที่ใช้ชื่อว่า “Beyond Navtej: The Future of the LGBTQ+ Movement in India” หากแปลเป็นภาษาไทยก็จะประมาณว่า “ไกลกว่ากรณีนวเตช: อนาคตของขบวนการ LGBTQ+ ในอินเดีย” ลองพิจารณาดูกันว่า เขาได้พูดอะไรไว้บ้าง

นายจันทรจูฑพูดถึงเพลง “All You Need is Love” ซึ่งเป็นเพลงหนึ่งที่โด่งดังของเดอะบีเทิลส์ (The Beatles) วงดนตรีร็อกอังกฤษที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดวงหนึ่งของโลก แต่ที่นายจันทรจูฑหยิบยกเพลงนี้มากล่าว ก็เพื่อจะบอกว่าเขาไม่อาจเห็นด้วยกับเนื้อหาของเพลงนี้ทั้งหมดในบริบทการต่อสู้ของชาว LGBTQ+ เขากล่าวว่า “แม้ว่าการตัดสินใจในกรณีนวเตชมีความสำคัญมาก แต่เรายังต้องไปไกลกว่านี้ เดอะบีเทิลส์ร้องเพลงอันโด่งดังว่า “All you need is love, love, Love is all you need” (สิ่งที่คุณต้องการคือความรักเท่านั้น ความรัก ความรักเท่านั้นคือสิ่งที่คุณต้องการ” นายจันทรจูฑกล่าวต่อว่า เขาอาจจะทำให้ผู้หลงใหลในเพลงนี้หงุดหงิด นั่นคือ เขาไม่เห็นด้วยกับเนื้อเพลงนี้ บางที “เราต้องการมากกว่าความรัก…”

และแล้วนายจันทรจูฑก็กล่าวว่า “หัวใจของเสรีภาพส่วนบุคคลอยู่ที่อิสรภาพในการเลือกว่าเราเป็นใคร รักใครที่เราปรารถนา และใช้ชีวิตที่ซื่อสัตย์ต่อตัวตนที่แท้จริงที่สุดของเรา” การดำรงไว้ซึ่งเสรีภาพนี้ต้องเป็นไปโดยไม่เพียงแต่ “ปราศจากความกลัวอันมาจากการกลั่นแกล้งเท่านั้น” หากแต่ยังต้องยินดีอย่างสุดหัวใจที่จะมองชาว LGBTQ+ ในฐานะ “พลเมืองที่มีความเสมอภาคของประเทศนี้” ก่อนจะพูดต่อว่า กรณีคำพิพากษาในปี ค.ศ. 2018 จะเกิดผลดีกว่านี้ ก็เมื่อชาวอินเดียทุกคนเปลี่ยนแปลงใจของตนที่จะมองชาว LGBTQ+ เสียใหม่

ในมุมมองของผู้เขียน สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับคำกล่าวของนายจันทรจูฑ คือ หลักศีลธรรมเชิงรัฐธรรมนูญ (Constitutional Morality) หากจะขยายความก็คือ ต้องยกเครดิตให้ ดร.ภีมราว รามยี อัมเบดการ์ (Bhimrao Ramji Ambedkar) บิดารัฐธรรมนูญอินเดีย ผู้ซึ่งวางความเป็นรัฐธรรมนูญของอินเดียไว้อย่างชัดเจน กล่าวคือ รัฐธรรมนูญที่อัมเบดการ์มีส่วนวางกรอบอย่างสำคัญนั้น เน้นให้วิถีรัฐธรรมนูญเป็นทางแก้ปัญหา กล่าวคือ เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่เอื้อต่อการปฏิวัติ (Revolution) หรือต่อต้านการปฏิวัติเลยก็ว่าได้ ดังนั้นแล้ว ตุลาการศาลสูงสุดแห่งอินเดียจึงมีอำนาจหน้าที่ในการปกป้องรัฐธรรมนูญอินเดีย โดยเฉพาะที่สัมพันธ์กับสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชน ซึ่งรัฐบาลหรือใครก็ตามในภาวะปกติมิอาจเพิกถอนหรือบั่นทอนได้

ไม่ทราบว่านายจันทรจูฑคิดอะไร แต่ที่เราน่าจะเดาได้ก็คือ แม้ความรักจะสำคัญ ทว่าการแต่งงานเพศเดียวกันมิอาจใช้ความรักเพียงอย่างเดียวได้ ใคร่แจ้งให้ผู้อ่านทราบด้วยว่า การประมาณการของรัฐบาลในปี ค.ศ. 2012 มีประชากร LGBTQ+ ทั้งหมดประมาณ 2,500,000 คน แต่กลุ่มผู้คนที่สนับสนุน LGBTQ+ มองว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าความเป็นจริง หากยึดหลักการประมาณการสากล คือ ร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด ตัวเลขหยาบ ๆ น่าจะอยู่ที่ประมาณ 135 – 140 ล้านคน ประมาณ 2 เท่าของประชากรไทย ในขณะเดียวกัน สังคมอินเดียก็ปรับเปลี่ยนไปตามภาวะสมัยใหม่ไม่น้อยเลยทีเดียว การสำรวจของสำนักหนึ่งรายงานว่า ชาวอินเดียที่เป็นผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ คือร้อยละ 53 สนับสนุนให้การแต่งงานของคนเพศเดียวกันเป็นสิ่งถูกต้องตามกฎหมายในอินเดีย

นายจันทรจูฑคงทราบข้อมูลข้างต้นเป็นอย่างดี ประวัติการทำงานของเขาเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรงก็เป็นอะไรในเชิงบวกต่อชาว LGBTQ+ มาพักใหญ่แล้ว ดังนั้นแล้ว สิ่งที่จันทรจูฑได้สื่อให้เห็นในปาฐกถาของตนคือ มีปัจจัยสังคมและปัจจัยกฎหมายที่ส่งผลต่อการยอมรับเรื่องการแต่งงานเพศเดียวกัน ปัจจัยสังคมคือความรักหรือการยอมรับในเรื่องนี้ ซึ่งนายจันทรจูฑมองว่าสำคัญ ทว่าศาลสูงสุดแห่งอินเดียคงจะทำอะไรไม่ได้ สิ่งที่ศาลสูงสุดพึงจะทำได้คือ นอกเหนือจากการลดทอนมิให้การมีเพศสัมพันธ์ในกลุ่มผู้คน LGBTQ+ เป็นอาชญากรรมในปี ค.ศ. 2018 แล้ว บัดนี้อาจจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อรับรองสิทธิเสรีภาพของชาว LGBTQ+ ให้พวกเขาแต่งงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ถ้าสังเกตเนื้อหาจากปาฐกถาก็จะเห็นว่านายจันทรจูฑเลือกใช้คำว่า “เสรีภาพส่วนบุคคล” “การกลั่นแกล้ง” และ “ความเสมอภาค” ซึ่งอย่างน้อยที่สุดตรงกับมาตรา 14, 15 และ 21 ของรัฐธรรมนูญอินเดีย มาตรา 15 กล่าวไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ส่วนมาตรา 14 คือ ความเท่าเทียมกัน และมาตรา 21 คือ การคุ้มครองชีวิตและเสรีภาพส่วนบุคคล ทั้งสามมาตราและมาตราอื่น ๆ นับได้ว่าเป็นแกนหลักของเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญเขียนขึ้นเพื่อปกป้องพลเมือง

ไม่มีใครทราบว่าผลการพิจารณาของศาลสูงสุดในเรื่องนี้จะออกมาแบบไหนและเมื่อไร แต่ดูจากความคิดของนายจันทรจูฑ ประธานตุลาการศาลสูงสุดแห่งอินเดีย ก็ชวนให้นึกว่าน่าจะออกมาเชิงบวกสำหรับชาว LGBTQ+ หลายคนคาดการณ์ว่า ผลการพิจารณาน่าจะออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรครบถ้วนประมาณเดือนธันวาคมปีนี้ แล้วหากคนเพศเดียวกันสามารถแต่งงานกันได้ ชีวิตของพวกเขาก็ยังต้องเผชิญการกีดกันทางสังคมอยู่ แต่อย่างน้อยที่สุดกลุ่มรณรงค์เพื่อสิทธิของชาว LGBTQ+ คงต้องมุ่งไปสู่การทำความเข้าใจกับผู้คนในสังคมต่อไป

บทเรียนอีกประการหนึ่งจากเรื่องนี้คือ ระบบการเมืองการปกครองของอินเดียมีความเฉพาะตัวและมีความซับซ้อนไม่น้อย ที่เรามักจะเชื่อกันว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งด้วยเสียงของประชาชนอย่างล้นหลามต้องมีความชอบธรรมเสมอนั้น อย่างน้อยที่สุดในกรณี LGBTQ+ นี้ก็ไม่น่าจะจริง อย่างน้อยศาลสูงสุดแห่งอินเดียก็ไม่ฟังรัฐบาลเพื่อรับพิจารณาเรื่องนี้ คงต้องติดตามกันต่อไปว่า อินเดียในฐานะประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดของโลกจะมีอะไรใหม่ ๆ ให้เราเรียนรู้กันต่อไป