Stalking เพราะความเกลียดชัง กฎหมายครอบจักรวาล - Decode
Reading Time: 3 minutes

“แม้ว่าการ Stalking มักจะเกิดในกรณีการคุกคามทางเพศ เช่น กรณีแอบชอบอย่างเคสของน้องมินตัน เน็ตไอดอลชื่อดัง หรือในกรณีของอดีตคนรักที่เลิกรากันไปแล้วมีการสะกดรอยติดตาม เพราะแค้นหรืออยากทำร้ายร่างกาย หรือคนที่ถูกบอกเลิก อาจมีการ Stalking เพราะอยากกลับเข้ามาในความสัมพันธ์ นอกจากนี้ในอีกกรณีหนึ่งคือ Stalking เพราะความเกลียด เช่น ความเห็นทางการเมืองไม่ตรงกัน ดังนั้นเหยื่อจึงไม่ได้ถูกจำกัดที่เพศหญิงอย่างเดียว ทุกเพศมีสิทธิถูก Stalking ได้เหมือนกันหมด”

สิรินทิพย์ สมใจ ทนายความและทีมวิชาการของ SHero องค์กรภาคประชาสังคมด้านการยุติความรุนแรงบนพื้นฐานเพศภาวะในประเทศไทย ชี้ให้เห็นถึงขอบเขตของการ Stalking ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่เหยื่อที่เป็นเพศหญิง หรือสาเหตุของปัญหาที่เป็นแค่เรื่องการคุกคามทางเพศเพียงอย่างเดียว นอกจากนั้นสิ่งที่น่ากังวลคืออุบัติการณ์ที่เพิ่มขึ้นของอาชญากรรมที่เริ่มต้นจากการสะกดรอยติดตาม(Stalking) มักจะมีสัญญาณบ่งชี้เบื้องต้นจากการสะกดรอยติดตามในโลกออนไลน์(Cyberstalking)    

บทความนี้ชวนวิเคราะห์และหาทางออกเรื่องนี้อย่างรอบด้าน ทั้งข้อมูลจาก SHero เกี่ยวกับขั้นตอนต่าง ๆ ในการช่วยเหลือตนเองจากการถูก Stalking และการสร้างความตระหนักรู้ให้สังคม รวมทั้งความเห็นจาก ดร.จอมเดช ตรีเมฆ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญวิทยา ที่เสนอให้ประยุกต์กฎหมายที่มีอยู่แล้วให้เข้ามาคุ้มครองเหยื่อ และข้อเสนอของ ดร.รัชนี แตงอ่อน ภาควิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มองว่าต้องบัญญัติกฎหมายใหม่เกี่ยวกับ Cyberstalking อย่างชัดเจน

อย่าไปเงียบ เหยื่อ Stalking ทำได้มากกว่าการตั้งรับ

“สถานการณ์ของการ Stalking ตอนนี้มีความรุนแรงมากขึ้น เพราะมีเรื่องของ Cyberstalking ร่วมด้วย หลายเคสเมื่อสืบดูพบว่ามีการสืบหาข้อมูลส่วนตัวซึ่งเป็นการสตอล์คกิ้งออนไลน์ จากนั้นจึงสะกดรอยติดตามว่าเหยื่ออยู่ที่ไหน เข้าไปใกล้ชิด หลายเคสในการฆาตกรรมหรือกระทำความผิดทางเพศ เกิดจาก Cyberstalking มาก่อน”

สิรินทิพย์ สมใจ ทนายความและทีมวิชาการของ SHero ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าตลอดช่วงปี 2565 จนถึงปัจจุบัน มีการขอความช่วยเหลือจากการคุกคามด้วยการ Stalking เป็นจำนวนมาก ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่มีบทลงโทษเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรง เธอให้ข้อมูลในภาพกว้างโดยไม่ได้ให้ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เสียหาย เพราะทางองค์กรให้ความสำคัญกับการป้องกันข้อมูลส่วนบุคคล(Data Protection) เป็นสำคัญ ความน่ากังวลของปัญหานี้เกิดจากความไม่ชัดเจนของพฤติการณ์ในการ Stalking ที่ไม่สามารถระบุได้ว่าเมื่อใดที่จะเข้าข่ายการกระทำที่เริ่มเป็นอันตราย แต่ทนายสิรินทิพย์ได้ให้ข้อสังเกตที่เป็นประโยชน์ว่า

“แรกเริ่มเราไม่รู้หรอกว่าเราโดน Stalking อยู่ ยิ่งเป็น Cyberstalking ยิ่งยาก เพราะคนเข้ามาดูโซเชียลมีเดียของเราเป็นเรื่องปกติ ไม่รู้หรอกว่าคนไหนที่เข้ามา Stalking จนกระทั่งเกิดการกระทำบางอย่างที่ข้ามเส้น เช่น เริ่มมีการส่งข้อความ เจาะเข้ามาในระบบคอมพิวเตอร์(Hack) เพื่อเอาข้อมูลส่วนตัว มีการติดตามว่าเราเช็คอินที่ไหน ถ่ายรูปตรงสถานที่ใด Stalker เริ่มมีการจำลองสถานการณ์ โพสต์หรือถ่ายรูปในสถานที่เดียวกับเรา เป็นต้น ต่อเมื่อแสดงออกหนักขึ้น ผู้เสียหายถึงจะเริ่มรู้ว่าโดน Cyberstalking”

นอกจากนั้นผู้ที่ทำการ Cyberstalking ยังระบุตัวและคาดเดาได้ยากมาก จากประสบการณ์ที่ได้ให้ความช่วยเหลือกับผู้ที่ถูกคุกคาม ทนายสิรินทิพย์พบว่าบางเคสเป็นคนใกล้ตัว เช่น อดีตคนรัก หรือบางเคสเป็นคนที่มาแอบชอบ รวมทั้งความรุนแรงยังมีหลากหลายระดับแล้วแต่กรณี เธอได้ให้ข้อแนะนำกับผู้ถูกคุกคาม โดยเฉพาะ Cyberstalking ว่าให้เก็บพยานหลักฐานให้ได้มากที่สุด เพราะการรู้ตัวผู้กระทำความผิดจะทำให้การดำเนินคดีเร็วขึ้น

“ยกตัวอย่างเช่น เราอัพสตอรี่วันละ 3 ครั้ง แล้วมีคนหนึ่งที่มาดูสตอรี่เราทุกวัน แต่เก็บไว้ในใจก่อน แล้วสังเกตว่าคนนั้นเริ่มเข้ามาในลักษณะแบบไหน เช่น เวลาเราไปเช็คอินที่ไหน เขาเริ่มไปในสถานที่เดียวกับเรา ให้เก็บเป็นหลักฐาน เพราะกว่าคนเหล่านี้จะส่งข้อความหาเราโดยตรงจะใช้เวลาค่อนข้างนาน นอกจากนั้นให้สังเกตว่ามีความคุกคามที่เริ่มน่ากลัวเกิดขึ้น อาจจะลุกลามเป็นการ Stalking ในชีวิตจริง ผู้เสียหายเริ่มรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่สามารถใช้ชีวิตปกติได้ เกิดความหวาดระแวง ให้เก็บหลักฐานทุกอย่างแล้วไปแจ้งตำรวจ”

ทนายสิรินทิพย์แนะนำว่า เมื่อไปแจ้งความให้พยายามทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าใจว่าเราได้รับความเสียหายอย่างไรบ้าง เพราะในหลายกรณีพบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่ตระหนักถึงความร้ายแรงของการ Stalking โดยตีความไปว่า “เขาแค่มาดูสตอรี่คุณเฉย ๆ คิดมากไปหรือเปล่า?”  ผู้เสียหายอาจจะอธิบายให้ชัดเจนว่าหากคุณตำรวจเพิ่งโพสต์สตอรี่ แล้วพบว่าบุคคลนี้ตามหลังคุณไปที่สถานที่แห่งนั้นในครึ่งชั่วโมงต่อมา แล้ว tag หาคุณ หรือทำให้คุณเห็นว่าเขาไปในสถานที่เดียวกัน คุณรู้สึกว่ามีความปลอดภัยหรือไม่ หรือเริ่มส่งข้อความว่า “ผมเจอคุณอีกแล้วนะ” เราจะกล้าใช้ชีวิตปกติได้อย่างไร ผู้เสียหายต้องพยายามอธิบายให้ตำรวจเข้าใจว่าพฤติการณ์ Stalking ที่เกิดขึ้นเป็นการคุกคามความเป็นอยู่ของผู้เสียหาย ไม่ใช่แค่การแอบชอบเฉย ๆ

“ผู้เสียหายต้องบอกเจ้าหน้าที่ด้วยว่าให้เป็นการดำเนินคดี ซึ่งเป็นลหุโทษในทางกฎหมายอาญา ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจอาจจะมีการเรียกปรับหรือจำคุกตามกระบวนการยุติธรรม แต่ต้องเน้นว่าเป็นการแจ้งความที่มีความประสงค์ให้ผู้กระทำได้รับการลงโทษ เพราะตำรวจอาจจะให้ลงบันทึกประจำวันเป็นหลักฐาน ซึ่งยังไม่พอ แจ้งความเสร็จให้ถ่ายสำเนาเอกสารที่เราแจ้งความด้วย สังเกตหัวเอกสารดี ๆ ว่าเป็นบันทึกประจำวันเพื่อลงเป็นหลักฐาน หรือเป็นการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ นอกจากนั้นอาจจะติดตามทวงถามไปตามความเหมาะสม ยิ่งในกรณีที่มีการคุกคามต่อเนื่อง อาจต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ว่าเกิดเหตุอีกแล้ว”

เหยื่อสู้เต็มที่แต่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ปัญหาอาจอยู่ที่กระบวนการยุติธรรม

คำถามสำคัญคือเมื่อผู้เสียหายได้ลุกขึ้นปกป้องตัวเองอย่างเต็มที่แล้ว กระบวนการยุติธรรมในปัจจุปันได้ให้ความเป็นธรรมกับเหยื่ออย่างครอบคลุมหรือไม่ ทนายสิรินทิพย์ให้ข้อมูลว่าในปัจจุบันบทบัญญัติของไทยยังไม่มีฐานความผิดเรื่อง Stalking อย่างชัดเจน ในขณะที่หลาย ๆ ประเทศเริ่มมีกฎหมายและบทลงโทษที่รุนแรงในเรื่องนี้ เช่น กฎหมายการล่วงละเมิดและการสะกดรอยตามในอังกฤษ ในกรณีที่ส่งผลกระทบให้เหยื่อเกิดความทุกข์ทรมานร้ายแรง มีโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี ส่วนประมวลกฎหมายอาญาของรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ความผิดฐาน stalking คือการปรับสูงสุด 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 364,900.00 บาท)จำคุก 3 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับในฝั่งเอเซีย ญี่ปุ่นมีพระราชบัญญัติต่อต้านการสะกดรอยตาม (Anti-Stalking Act) โทษจำคุก 2 ปีหรือน้อยกว่า หรือปรับ 2 ล้านเยน (ราว 490,299.26 บาท) ล่าสุดเพื่อนบ้านของไทยอย่างมาเลเซีย ได้ผ่านร่างกฎหมายที่กำหนดให้การสะกดรอยตามเป็นความผิดทางอาญาในปลายปี 2565 มีโทษจำคุกสูงสุดสามปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

“เรามีมากสุดคือความผิดลหุโทษ มาตรา 397 ซึ่งอัตราโทษค่อนข้างเบา การตีความของกฎหมายค่อนข้างกว้าง ทำให้ถ้าเราโฟกัสแค่เรื่อง Stalking อย่างเดียว จะไม่มีบทบัญญัติในการคุ้มครองผู้เสียหายมากพอ แต่อย่าลืมว่าหลาย ๆ ครั้ง Stalking เป็นการกระทำเริ่มต้นของอาชญากรรมแบบอื่น ๆ การตีความที่ผ่านมาจะเป็นในลักษณะการ Stalking บวกการกระทำความผิดอื่น และเป็นการลงโทษในการกระทำความผิดอื่นแทน เช่น Stalking และลงมือฆ่า กฎหมายตัวนี้จะไปเน้นลงโทษที่การฆ่าแทนการ Stalking ปัญหาที่เกิดขึ้นคือทำให้เราไม่สามารถป้องกันอาชญากรรมในส่วนของการ Stalking ได้”

โดยการดำเนินคดีในกรณี Stalking หากเจ้าหน้าที่ตำรวจรับแจ้งความและมีหลักฐานเพียงพอ จะเข้าข่ายความผิดใน มาตรา 397 ตีความว่าเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือสร้างความอับอาย เดือดร้อนรำคาญ บทลงโทษคือปรับไม่เกิน 5,000 บาท ในส่วนของการคุกคามในรูปแบบ Cyberstalking จะเข้าข่ายความผิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 14 (4) มีโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แม้ว่าบทลงโทษของ พ.ร.บ.คอมฯ จะสูงกว่า แต่ลักษณะความผิดที่เข้าข่ายกฎหมายนี้ยังไม่มีการเฉพาะเจาะจงในเรื่องของ Cyberstalking อย่างชัดเจน ในประเด็นนี้ ดร.จอมเดช ตรีเมฆ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญวิทยา วิเคราะห์เพิ่มเติมว่ากฎหมายไทยยังวิ่งตามไม่ทันอาชญากรรมบนโลกไซเบอร์ที่เปลี่ยนแปลงไป และควรมีมาตรการคุ้มครองเหยื่อให้ดีกว่าที่ผ่านมา รวมทั้งกรณีของ Cyberstalking ซึ่งจัดเป็นฐานความผิดประเภทอาชญากรรมออนไลน์เช่นกัน

“บ้านเรามี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่เป็นกฎหมายครอบจักรวาล ถามว่าใช้ได้หรือไม่ก็ใช้ได้ บทลงโทษถือว่าไม่เบา แต่ในมุมของฏีกาจากศาลท่าน พฤติการณ์เรื่อง stalking ยังไม่ถูกลงโทษรุนแรงเหมือนเคสอื่น ๆ ถามว่าต้องออกกฎหมายใหม่หรือไม่ อาจไม่จำเป็น แต่เราต้องมีบรรทัดฐานในการบังคับใช้กฎหมายที่มีโทษแรงขึ้นกับคนเหล่านี้ และควรต้องมีการคุ้มครองเหยื่อได้ดีกว่านี้”

ในมุมของนักอาชญวิทยา ดร.จอมเดช เห็นว่า

การออกกฎหมายใหม่เป็นการเฉพาะเพื่อจัดการปัญหาเรื่อง Stalking อาจยังไม่จำเป็น แต่ต้องมีบรรทัดฐานในการบังคับใช้กฎหมายที่มีโทษที่แรงขึ้นกับผู้กระทำ นอกจากนั้นต้องมีการคุ้มครองตัวเหยื่อได้ดีกว่านี้ โดยได้อ้างถึง พระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ.2546 โดยอาศัยอำนาจกระทรวงยุติธรรมในการสั่งให้คุ้มครองพยาน เช่น ให้ย้ายที่อยู่ หรือให้จัดเจ้าหน้าที่เข้าไปคุ้มครองพยาน โดยอาจจะประยุกต์กฎหมายนี้มาใช้ในการคุ้มครองเหยื่อที่ถูกคุกคามในลักษณะการถูก Stalking

อีกประเด็นหนึ่งที่ ดร.จอมเดช วิเคราะห์ถึงความลักลั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ ย้อนแย้งกับอุบัติการณ์ที่ปัญหาด้านอาชญากรรมออนไลน์ทวีรุนแรงขึ้นทุกขณะ  คือการที่ตำรวจยังไม่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้เท่าที่ควร รวมทั้งอัตรากำลังที่ไม่เพียงพอ โดยมีข้อเสนอว่าอาจจะแยกหน่วยทำงานพิเศษขึ้นมาเพื่อรับผิดชอบอาชญากรรมออนไลน์ในลักษณะของ Cyberstalking เป็นการเฉพาะ

ต่อแนวคิดนี้ ทนายสิริทิพย์เพิ่มเติมในเรื่องการสร้างกลไกและองค์ความรู้ให้กับหน่วยงานของตำรวจ มากกว่าการยึดติดกับความเชี่ยวชาญเฉพาะบุคคล โดยเห็นว่าหากผลักดันในเรื่องนี้สำเร็จ การหมุนเปลี่ยนโยกย้ายตำแหน่งจะไม่ใช่ปัญหาในการขาดเจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการเฉพาะทาง รวมทั้งให้ความสำคัญกับการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการสะกดรอยติดตามอย่างต่อเนื่อง เพราะอาชญากรรมออนไลน์มีการพัฒนาตัวเองขึ้นไปเรื่อย ๆ ตามวิถีของสังคมที่เปลี่ยนไป

ออกกฎหมายเฉพาะ กระตุ้นสังคมให้รับรู้ความร้ายแรงของการ Stalking

“ผู้ใดกระทำการคุกคามติดตามในลักษณะใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำทางกายภาพหรือการสื่อสารด้วยวิธีทางโทรคมนาคมผ่านทางอินเทอร์เน็ต และกระทำตั้งแต่สองครั้งขึ้นไปหรือกว่านั้นโดยประการที่น่าจะทำให้เกิดความกลัวว่าจะเป็นอันตรายแก่ร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ต่อผู้อื่น ผู้นั้นมีความผิดและต้องได้รับโทษจำคุกและปรับเป็นเงิน…”

ข้อเสนอเกี่ยวกับบทลงโทษที่ชัดเจนของการ Stalking ข้างต้น เป็นส่วนหนึ่งในบทความวิจัยเรื่อง “มาตรการทางกฎหมายในการคุ้มครองเหยื่อจากความรุนแรงในครอบครัว ศึกษากรณีการคุกคามติดตามทางอินเทอร์เน็ต (Cyberstalking) ในกฎหมายต่างประเทศ” โดย รัชนี  แตงอ่อน และ จิรวัธ  ศิริศักดิ์สมบูรณ์ โดยผู้วิจัยได้เสนอแนวทางเพื่อแก้ปัญหาการคุกคามด้วยการสะกดรอยไว้สองประเด็นใหญ่ หนึ่งคือการบัญญัติกฎหมายด้าน Cyberstalking อย่างชัดเจนในประมวลกฎหมายอาญา โดยเฉพาะนิยามความหมายและบทลงโทษ และสองคือการกำหนดคำว่า Stalking ซึ่งหมายรวมถึง  Cyberstalking ด้วย ให้เป็นหนึ่งในประเภทของ “ความรุนแรงในครอบครัว” โดยในส่วนของข้อเสนอให้บัญญัติกฎหมายเป็นการเฉพาะ เทียบเคียงจากกฎหมายการกำหนดความผิดอาญาในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ดร.รัชนี แตงอ่อน ได้อธิบายถึงประโยชน์ของการกำหนดกฎหมายเฉพาะและบทลงโทษที่ชัดเจนไว้ว่า

“ส่วนตัวมองว่าเป็นประเด็นที่สำคัญ เพราะคนยังไม่เข้าใจว่าความหมายของ Stalking และ Cyberstalking คืออะไร ตรงนี้ยังเป็นช่องว่างอยู่ เมื่อนิยามไม่ชัด ประชาชนยังไม่รู้ว่าการกระทำเหล่านี้เป็นความผิด ผู้บังคับใช้กฏหมายเองก็ต้องบังคับใช้ตามตัวบทกฎหมาย เมื่อไม่มีตัวบทที่ชัดเจน ต้องดูลักษณะการกระทำซึ่งอาจจะเป็นเรื่องของการคุกคามรังแก เป็นแค่ลหุโทษ คือเรียกมาคุยแล้วเสียค่าปรับเป็นอันจบ ซึ่งแตกต่างจากกฎหมายของทางของแคลิฟอร์เนียที่เมื่อทำสองครั้งและมีผลกระทบต่อเหยื่อต้องมีบทลงโทษ ผู้ต้องหาจะรู้สึกเกรงกลัว แต่ถ้าเขาสามารถทำได้เรื่อย ๆ อย่างมากคือเสียค่าปรับ เพราะความผิดลหุโทษสามารถทำซ้ำโดยไม่บวกโทษเพิ่ม”

นอกจากนั้นยังเพิ่มเติมโดยอ้างอิงข้อมูลจากประมวลกฎหมายอาญาของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีว่า หากการคุกคามสะกดรอยใด ๆ เป็นเหตุให้บุคคลที่ถูกติดตามคุกคามได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ หรือเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องได้รับโทษหนักขึ้น โดยมีบทบัญญัติว่า หากเหยื่อได้รับอันตรายแก่กายและใจ ผู้กระทำความผิดต้องรับโทษตั้งแต่สามเดือนถึงห้าปี และในกรณีที่เหยื่อถึงแก่ความตาย จำเลยต้องได้รับโทษตั้งแต่ 1-10 ปี

“ถ้ามีกฎหมายเฉพาะออกมาจะเป็นประโยชน์กับทุกคนที่โดน Cyberstalking ไม่ใช่แค่ผู้หญิง อาจจะเป็นผู้ชายหรือคู่ชายชาย หรือกับเด็ก ซึ่งเกิดขึ้นกับใครก็ได้ แต่ข้อเสนอนี้อาจมีผู้ไม่เห็นด้วย เพราะกฎหมายมีอยู่แล้ว กฎหมายมีมากไปอาจจะเฟ้อรึเปล่า หรือการคุกคามเหล่านี้ยังไม่เห็นผลอะไรกับผู้ถูกกระทำ แต่ส่วนตัวคิดว่าเราต้องรอให้เกิดเหตุก่อนหรือ? ”

นอกจากการผลักดันในเรื่องกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมแล้ว ในด้านการทำงานของภาคประชาชนอย่าง SHero ได้มีการผลักดันเพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้สังคม มีการเผยแพร่เนื้อหาต่าง ๆ ทางช่องทางออนไลน์ขององค์กรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนเข้าใจความหมายของการ Stalking และเข้าใจความร้ายแรงของปัญหาว่าเหตุใดอาชญากรรมนี้จึงไม่ควรเกิดขึ้น รวมทั้งพยายามลบล้างมายาคติของการสร้างภาพความโรแมนติกของการสะกดรอยติดตามที่ยังคงฝังหัวผู้คนในสังคม

”ความตระหนักรู้ของสังคมในเรื่องนี้ยังเข้าใจกันน้อย เลยทำให้คนในสังคมมองเป็นเรื่องโรแมนติก แม้กระทั่งบางเคสที่เราเห็นในข่าว ที่สามีเก่าพยายามตามหาภรรยา แล้วพอไปถึงภรรยาไม่ยอมคืนดีมีการฆ่าปาดคอ สื่อมีการบอกว่าการที่เขามาง้อแปลว่ารักจริง ทุกคนมองข้ามไปหรือเปล่าว่าการ Stalking เป็นขั้นแรกของอาชญากรรม นี่คือการฆ่ากันแล้วนะ แล้วอย่าลืมว่านี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ออกสื่อ ยังมีการ Stalking จำนวนมากที่ไม่ได้ออกสื่อ หรือหลาย ๆ คนไม่กล้าพูดออกมาว่าตัวเองถูกกระทำอยู่  เท่ากับว่ากลายเป็นภาระของผู้เสียหายที่ต้องระมัดระวังตัว ซึ่งมันไม่ควรเป็นอย่างนั้นเลย”

นอกเหนือจากการสร้างความตระหนักรู้ในสังคมแล้ว ตัวแทนของ SHero เพิ่มเติมว่าเจ้าหน้าที่และผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมควรทำงานแบบบูรณาการ และเร่งสร้างองค์ความรู้ในเรื่องนี้ เพื่อให้เข้าใจว่าการกระทำความผิดนั้นมีทั้งก่อนและขณะกระทำความผิด โดยเฉพาะการ Stalking เป็นการกระทำที่มักจะเกิดขึ้นก่อนลุกลามเป็นอาชญากรรมอื่น ๆ หากกระบวนการยุติธรรมยังละเลยเรื่องนี้โดยมองแค่ปลายเหตุ หรือรอให้ความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้วถึงค่อยดำเนินการ ย่อมไม่สามารถป้องกันอาชญากรรมร้ายแรงที่จะเกิดตามมาได้

 ข้อมูล :

  • “มาตรการทางกฎหมายในการคุ้มครองเหยื่อจากความรุนแรงในครอบครัว ศึกษากรณีการคุกคามติดตามทางอินเทอร์เน็ต (Cyberstalking) ในกฎหมายต่างประเทศ” โดย รัชนี แตงอ่อน และ จิรวัธ ศิริศักดิ์สมบูรณ์
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397, พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 14 (4) เว็บไซต์กระทรวงยุติธรรม
  • “Harassment and stalking” Sentencing Council for England and Wales Website.
  • CALIFORNIA PENAL CODE § (SECTION) 646.9(A) – STALKING
  • News Navigator: What new protections does Japan’s expanded anti-stalking law offer. the Mainichi Shimbun Newspapers