ครรภ์แห่งชาติ หญิงสาวใต้บงการของรัฐไทย - Decode
Reading Time: 2 minutes

“ผลพวงที่สำคัญที่สุดของปฏิบัติการคุมกำเนิดในสามทศวรรษที่ผ่านมา
คือปฏิบัติการนั้นหยั่งรากลึกลงในวัฒนธรรมการมีบุตรใต้ครัวเรือนไทยอย่างลึกซึ้ง
และเป็นไปไม่ได้ที่การนิยมมีลูกมาก จะหวนกลับมาอีกครั้งในสังคมไทย”

วิชาผดุงครรภ์ในอดีตนิยามการกำเนิดไว้ว่า ร่างกายของมนุษย์ประกอบไปด้วยธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ
ธาตุต่าง ๆ เหล่านี้คือธรรมชาติ และร่างกายโดยเฉพาะ “ครรภ์” ของมนุษย์จึงเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ

ฉะนั้นตอนที่ผู้เป็นแม่ตั้งครรภ์ ก็เปรียบได้ว่าธาตุทั้งสี่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญ
จึงจำเป็นต้องรักษาสมดุลตลอดเวลา เพื่อให้ครรภ์นั้นกำเนิดชีวิตใหม่ขึ้นมาได้

ปฏิบัติการที่ว่าก็คือ ‘การอยู่ไฟ’ คือการใช้ความร้อนเพื่อปรับสมดุลเลือดลมในร่างกายนั่นแหละ

แต่พอ บรัดเลย์ นายแพทย์อเมริกันกลุ่มมิชชันนารีแพทย์แผนตะวันตก กลับบอกฉัน ผู้เป็นเจ้าของครรภ์ว่า
การอยู่ไฟแบบนี้เป็นพฤติกรรมที่ล้าหลังป่าเถื่อน และไม่ยอมให้คนในหมู่บ้านอยู่ไฟรักษาครรภ์
และอยากให้พวกฉันใช้ ‘คัมภีร์ครรภ์ทรักษา’ หนังสือเขาบอกว่าเป็นความรู้เกี่ยวกับการกำเนิด
ร่างกาย สุขภาพของทารก และการตั้งครรภ์ของผู้หญิง ที่เขาบอกว่า “วิเศษและควรเชื่อฟัง”

“เพราะที่สำหรับคลอดบุตรและอยู่ไฟของเก่านั้น คับแคบโสโครก
หาสะอาดเรียบร้อยไม่ บัดนี้คนไข้ทั้งหลายก็เต็มใจสมัครจะอยู่ไฟอย่างฝรั่งแล้ว”

การจัดการครรภ์ของสยามมีรากฐานมาจากความเชื่อทางพุทธศาสนา ซึ่งต่างจากตะวันตก
ทำให้แพทย์ศาสตร์สมัยใหม่ของหมอบรัดเลย์ ไม่ได้รับการยอมรับ (ทั้งหมด) จากชนชั้นนำสยาม

แต่ถึงกระนั้น แพทย์ศาสตร์สมัยใหม่ ก็ประสบความสำเร็จในพระราชสำนักในเวลาต่อมา
เพราะการรักษาความเจ็บป่วยและชีวิตของพลเมือง ด้วยการพัฒนาระบบสาธารณะสุขทั้งหมด
เป็นกระบวน “การสร้างความศิวิไลซ์ให้กับชาติ” ที่กำลังพัฒนา หรือกำลังถือกำเนิดขึ้น

และ “ครรภ์” จึงเป็นพื้นที่ทางการแพทย์แห่งใหม่ ที่ทะลุปรุโปร่งทั้งทางกายภาพและมโนทัศน์
เพื่อสร้าง รัฐเจริญพันธุ์ ที่เต็มไปด้วยทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญต่อรัฐชาติสมัยใหม่

“อย่างที่เห็น ครรภ์เหล่านี้ มันไม่ได้เป็นของฉันมานานแล้ว”

ทว่าหากจะเอาให้ชัดเจน การแพทย์สมัยใหม่และการจัดการประชากรเริ่มต้นตั้งแต่รัชกาลที่ 5
เพื่อที่รัฐใหม่จะทำหน้าที่ให้กำเนิดชีวิตมนุษย์ กระทั่งควบคุมการตายของประชากรได้อย่างแท้จริง

การสำรวจสำมะโนครัวประชากรในปี ร.ศ. 129 สรุปจำนวนราษฎรในสยามไว้ 3,308,032 คน
เป็นบุรุษ 1,624,462 คน และสตรี 1,683,570 คน แม้ตัวเลขจะไม่สามารถบอกอะไรได้มากกว่านี้
แต่มันนำไปสู่ข้อมูลอื่น อาทิ สัดส่วนของคนเกิดคนตาย การจดทะเบียน กระทั่งคนย้ายถิ่นฐาน

“ประเทศของเรายังมีพลเมืองน้อย เป็นการจำเป็นที่จักบำรุงเวชชศึกษาให้เจริญ
เพื่อจะได้จัดการสั่งสอนราษฎรให้รู้จักสุขวิทยา และประกอบการอนามัยให้เจริญยิ่งขึ้น
จะได้บำรุงให้มีราษฎรมากขึ้น อันเป็นกำลังของประเทศ”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทำให้เห็นว่าการเพิ่มจำนวนประชากร
เป็นเครื่องมือสำคัญอย่างยิ่งยวดถึงแนวคิดการสร้างรัฐที่แข็งแกร่ง โดยมี “ครรภ์” เป็นกำลังหลัก
แนวทางที่คลานตามลงมา คือ ส่งเสริมการเพิ่มประชากรผ่านความสัมพันธ์ระหว่างชายและหญิง

“การมีภรรยาหลายคนก็นับว่าเป็นคุณในทางเพาะพลเมืองได้ส่วนหนึ่ง
ชายที่มีภรรยามากย่อมเกิดบุตรมาก แต่หากชายใดตั้งใจมีภรรยามาก
เพราะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ก็ไม่เรียกว่าทำประโยชน์ให้แก่ประเทศ”

นักเขียนชายนามแฝง อุปการ

“ถ้าความเห็นในเรื่องการมีภรรยาของ ‘อุปการ’
หากไตร่ตรองให้ถ่องแท้และลึกซึ้งสักหน่อยแล้ว
ชายทุกคนควรมีภรรยาแต่เพียงคนเดียวจะไม่ดีกว่าหรือ
เพราะหัวอกสตรีย่อมจะสงบอยู่ได้ในความสุขก็ด้วยสามีไม่นอกใจ
ถ้าชาวต่างประเทศเพาะพลเมืองด้วยวิธีการมีภรรยามาก ๆ แล้ว
ไฉนกฎหมายของเขา จึงไม่เปิดสิทธิให้ชายทำการสมรสกับหญิงหลายคนได้”

นักเขียนหญิงนามแฝง เภตรา ณ แหลมทอง

การจัดการประชากรโดยครรภ์ เข้มข้นอย่างที่สุดในยุคการสร้างชาติของจอมพล ป. พิบูลสงคราม
ครรภ์ของฉันทะลุปรุโปร่งกว่าเดิม ในแง่ของการเป็น “ครรภ์เพื่อการผลิต” และทรัพยากรทางเศรษฐกิจ
ถูกจัดวางให้มีหน้าที่ผลิตเพื่อชาติ และมีเป้าประสงค์สำคัญคือ การเร่งรัดในการเพิ่มจำนวนประชากร

โดยเฉพาะภายใต้บริบทหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และก้าวเท้าเข้าสู่ยุคเริ่มต้นพัฒนาประเทศ
ประชากรของไทยในยุคนั้นมีน้อยเกินกว่าจะเป็นประเทศมหาอำนาจ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น
จึงหวังเพิ่มจำนวนประชากรให้ได้อย่างน้อย 30-40 ล้านคนภายในระยะเวลาอันสั้น

ผลสำรวจสำมะโนครัวประชากรในปี พ.ศ. 2480 พบว่าในชายหนุ่มอายุตั้งแต่ 17 ปี
และหญิงสาว ตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไป มีคนโสดอยู่ทั่วราชอาณาจักร 1,895,675 คน โดยเฉพาะจังหวัดพระนคร
การส่งเสริมการสมรสของรัฐจึงดำเนินไปอย่างเข้มข้น เพื่อให้ครรภ์เหล่านี้ตอบสนองต่อกับภารกิจ

องค์การส่งเสริมการสมรสในปี พ.ศ. 2485
การจัดการประกวดแม่ลูกดกในปี พ.ศ. 2486
การออกพระราชบัญญัติ ภาษีคนโสดในปี พ.ศ. 2487
การเตรียมตัวเพื่อให้ผู้หญิงพร้อมที่จะเป็น ‘แม่พันธุ์’ ที่ดี
การจัดตั้งโรงพยาบาลหญิงและการจัดตั้งสภาสตรีแห่งชาติ
การส่งเสริมการครองรักของคู่สมรสของสภาวัธนธัมแห่งชาติ

ทว่าโครงการทั้งหลายเหล่านี้กลับไม่ประสบผลสำเร็จตามที่คาดหวังไว้สักเท่าไหร่
ซึ่งเป็นผลข้างเคียงมาจากต้นทุนทางเศรษฐกิจที่หดหายระหว่างภาวะสงครามโลกครั้งที่สอง
สภาวะที่ข้าวก็หายาก หมากก็ขายแพง จะหาทางที่ไม่เพิ่มภาระทางเศรษฐกิจให้ตน คงจะดีกว่า
ประชาชนจึงไม่ตอบรับการแต่งงานหรือมีบุตร แบบที่รัฐเสนอให้กับสังคม

“ดังเห็นได้จากอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากร
ระหว่างปี 2480-2493 ที่มีความถดถอยมากกว่าที่จะเพิ่มขึ้น
ก่อนที่จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง”

ทว่าท่ามกลางการรีบเร่งผลิตสร้างทรัพยากรมนุษย์เพื่อสร้างรัฐชาติที่แข็งแกร่ง
“ครรภ์ในฐานะแหล่งความยากจน” ก็ถือกำเนิดขึ้นบนฐานเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองหลังสงคราม
ด้วยวิทยาการตะวันตกที่จำนวนประชากรหาได้หมายถึงแข็งแกร่ง หากแต่เป็น “ความยากจน”

การควบคุมประชากรในครรภ์แห่งความยากจนนี้ จึงกลายเป็นยุทธศาสตร์สำคัญระหว่างประเทศ
ในการสร้างเสถียรภาพการควบคุมทรัพยากร โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่โลกที่สามที่อาจเป็นภัย
ซึ่งใน 13 ประเทศที่เป็นเป้าหมายสำคัญที่ระบุไว้ในรายงานระหว่างประเทศ มี “ไทย” อยู่ด้วย

“ผู้คนเหล่านี้เป็นตัวปัญหา กระทั่งเป็นภัยร้ายแรงสำหรับประเทศต่าง ๆ ในโลก
ในฐานะที่เป็นพื้นที่ที่พึ่งพาเศรษฐกิจของที่อื่น และเป็นศูนย์กลางที่เป็นตัวระเบิดของปัญหา
ความไม่สงบ และตัวการปัญหาอื่น ๆ ต่อความสงบสุขของโลก”

USAID (United States Agency for International Development) และ USOM (United States Operations Mission) คือสองหน่วยงานหลักของสหรัฐฯ ที่เข้ามาจัดการควบคุมครรภ์ ของครอบครัวไทย กระจัดกระจายไปทั่วแถบชนบท โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ USOM มองว่าพื้นที่นี้ “ยากจนกว่าโดยเปรียบเทียบ” และ “มีความอ่อนไหวทางการเมือง”

เงินสนับสนุนกว่า 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ถูกใช้ไปการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทย อาทิ เกษตรกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สนับสนุนทุนการศึกษา ฝึกอบรมด้านสาธารณะสุข และโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสุขภาพและการวางแผนครอบครัว

ระหว่าง ค.ศ. 1976 – 1981 รัฐบาลได้รับเงินสนับสนุนจากสหรัฐฯ กว่า 32.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อมาจัดการกับครรภ์ของฉัน โดยตั้งเป้าประสงค์ว่าจะลดอัตราการเพิ่มของประชากรให้เหลือ เพียงร้อยละ 2.1 ภายในปี ค.ศ. 1981 ผ่านการฝึกอบรมแพทย์และพยาบาลผดุงครรภ์ อาสาสมัคร กระทั่งตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อให้บริการกับครรภ์ยากจนที่อยู่ตามชนบทที่ห่างไกล

“แม้การทำหมันในผู้หญิงจะมีต้นทุนที่สูงกว่า แต่กลับสามารถ ‘ทำยอด’ ได้มากกว่า
การทำหมันหลายกรณีเกิดบนเตียงคลอด ที่ปราศจาก ‘การยินยอมโดยรับรู้’ จากผู้หญิง”

การเร่งรัดคุมกำเนิดครรภ์หญิงสาวชาวบ้าน หาได้ดำเนินภายใต้อุดมการณ์ยุคสงครามเย็นเท่านั้น
ทว่าดำเนินไปพร้อมกับความเสี่ยงด้านสุขภาพ โดยปราศจากการคุ้มครองหรือข้อมูลที่แท้จริงใด ๆ 

ตลอดระยะเวลา 24 ปีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 – 2531 มีผู้หญิงที่เป็นเครื่องทดลองยากว่า 191,012 คน

รัฐไทยได้ทดลองใช้ยาฉีดคุมกำเนิดชื่อว่า Depo Provera ที่อยู่ในขั้นวิจัย ซึ่งใช้มากที่สุดในโลก การใช้การคุมกำเนิดแบบหลอดฝังที่ชื่อว่า Norplant ที่ใช้กันแพร่หลายในภาคใต้ ก็เป็นมีผล ข้างเคียงที่ค่อนข้างรุนแรง หรือกระทั่งห่วงคุมกำเนิด Copper 7 และ Copper T ที่ถูกผู้บริโภค ฟ้องร้องและสั่งยุติการจำหน่ายในสหรัฐฯ แต่รัฐไทยกลับส่งเสริมให้มีการใช้อย่างกว้างขวาง

“โครงการนั้นสามารถชักจูงผู้หญิงให้เข้ารับ
บริการใส่ห่วงอนามัยสูงถึง 32,000 คนในวันเดียว

เนื่องจากใช้วิธีให้ของตอบแทน เช่น เป็ด ไก่ ปลา และสิ่งของอื่น ๆ
พร้อมกับมีการเข้ามาอบรมการใช้ และเร่งให้รับบริการเสร็จในวันเดียว”

จากประเทศไทยในปี พ.ศ. 2515 – 2519 ที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรอยู่ที่ร้อยละ 3 ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 1.1 ในปี พ.ศ. 2537 และอัตราการคุมกำเนิดผู้หญิงสูงถึงร้อยละ 75 และได้รับรางวัลจากสถาบันประชากรแห่งสหรัฐฯ ว่าด้วยความสำเร็จด้านการคุมกำเนิดสูงสุด

ทว่าความสำเร็จอยู่ไม่นาน ความบรรลัยอยู่นานกว่า ผลพวงจากการเร่งปิดอู่และคุมกำเนิดครรภ์ ได้นำสังคมไปสู่ภาวะการณ์ที่อัตราการเกิดลดลงเฉียบพลัน ขณะที่อัตราการสูงวัยของประชากร พุ่งสูงขึ้นไปถึงระดับสุดยอด กลายเป็นวิกฤตสังคมสูงอายุ (Aging Society) ที่ประสบกันถ้วนหน้า

ครรภ์ของหญิงไทยในปัจจุบัน จึงหวนกลับสู่ ครรภ์ที่ทำหน้าที่ทางการผลิต อีกครั้ง แต่ไม่ปรุโปร่ง
“ครรภ์แห่งชาติ รัฐเจริญพันธุ์ ร่างกาย และเพศวิถี” ของ ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ได้ทำให้เห็นว่า
ปฏิบัติการกว่าสามทศวรรษ หยั่งรากลึกลงในครรภ์และวัฒนธรรมการใต้เรือนไทยอย่างลึกซึ้ง

อย่างไรก็ดี รัฐไทยก็ยังพยายามกำกับควบคุมร่างกายหญิงสาวผ่าน ‘ครรภ์ทางศีลธรรม’
ทว่าค่อนข้างจะไม่มีพลังนัก เพราะผู้เป็นเจ้าของครรภ์ในยุคสมัยใหม่ต่างบอกว่า “ครรภ์นี้เป็นของฉัน”

หนังสือ: ครรภ์แห่งชาติ: รัฐเจริญพันธุ์ ร่างกาย และเพศวิถี
นักเขียน: ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี
สำนักพิมพ์: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี