13 ก.ค. 2566 มื้อเย็นของวันในร้านส้มตำเล็ก ๆ ริมทางเท้า บทสนทนาช่างร้อนแรง กระตุ้นให้ต้องมีปฏิสัมพันธ์ข้ามโต๊ะกับคนแปลกหน้า วันนี้ 95% ของคนในร้านทั้งแม่ค้าพ่อค้าและลูกค้า สวมเสื้อสีเดียวกันราวกับนัดรวมกลุ่มสมาคม ชมรมอะไรสักอย่าง
ส้มตำที่เคยอร่อยแซบพอช่วยให้เรากลืนอะไรลงท้อง สำหรับวันที่เรื่องราวในรัฐสภาทำให้ซึม ๆ จนไม่อยากอาหารคุณป้าเจ้าของร้านตำไปบ่นไป
“ตาย ๆ ทำแบบนี้กัน ป้าจะอยู่ยังไง วันนี้ป้าดูตลอดที่เถียงกันในสภา”
“ดูจนเครียด เสียดายที่ป้าปิดร้านไปเลือกตั้งนะ”
เราจำแม่น เสียงของคุณป้าเจ้าของร้านยังก้องในหู พร้อมกับภาพลุงเจ้าของร่วมที่ยกแก้วน้ำสีเหลือง ๆ มีฟองขาวจิบไปตำไป แกบอกเวลาแบบนี้ทำได้แค่ดื่มปลอบใจตัวเอง
ถ้าเป็นละครนี่คงเป็นฉากธรรมดา ๆ แต่มันชีวิตจริงน่ะสิ
เรายกมือถือขึ้นมาจดบันทึกบนสนทนาเหล่านี้ไว้ รอวันที่จะได้เล่ามัน ผ่านการเชื่อมโยงตีความในกวีที่เคยได้อ่านเมื่อกลางปีก่อน ลุกไหม้สิ ซิการ์! กวีนิพนธ์ร่วมสมัย โดย ชัชชล อัจฯ เรียบเรียงและบันทึกสถานการณ์ทางการเมืองตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบันด้วยถ้อยคำสามัญ
เล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเมษายน ปี 2565
หาก 14 พ.ค.2566 ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้นจริงหลังการเลือกตั้ง กวีเล่มนี้คงสวมบทบาทเป็นเพียงบันทึกเหตุการณ์ที่เคยผ่านมาเท่านั้น อย่างที่เรารับรู้การเมืองยังไม่เปลี่ยน นาทีนี้ ลุกไหม้สิ ซิการ์! จึงเป็นกวีที่ทำหน้าที่คล้ายต่อมกระตุ้นเตือนความจำของประชาชน สิบสามปีที่ผ่านมีคนตาย สิบสามปีที่ผ่านเราใช้ความกล้าหาญฝ่าหมอกความกลัวมาในหลายสถานการณ์
ปืนน่ะหรือ
ผมไม่มีหรอก
ลูกกระสุนล่ะ
ผมไม่มีหรอก
แล้วดวงตาเพชรฆาตล่ะ
ผมไม่มี
สิ่งที่ผมมี
มีเพียงบทกวี
ใช่ แค่บทกวี
(หน้า 37)
การก้าวข้ามความขัดแย้งเกิดขึ้นในหมู่ชนชั้นนำเท่านั้น ? ความรู้สึกไม่เป็นธรรมผ่านระบบการเมืองตัวแทนกำลังกัดกินภาพในร้านส้มตำที่ปะปนไปด้วยคนทำงานหาเช้ากินค่ำ หาเช้ากินเช้า กับบทสนทนาที่ไร้ความหวังแต่ไม่ยอมจำนนบอกเช่นนั้น
เราได้คำตอบที่เคยสงสัย ทำไมท้ายรถบรรทุกต้องมีสติ๊กเกอร์หนุ่มเซอ ๆ ผมยาว ใส่หมวกเปเล่ที่มีสัญลักษณ์ดาวห้าแฉกตรงกลางหัว ไม่ปรากฎสติ๊กเกอร์ภาพ เช เกวารา ในร้านส้มตำร้านนี้ แต่ปรากฏตัวตนของเช เกวารา ในบทสนทนาของค่ำคืน
แน่ล่ะ เขาคือไอดอลนักปฏิวัติ แถมยังกลายเป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นแรงงานที่ต้องการแสดงให้สังคมมองเห็นการมีตัวตน ต้องการมีสิทธิ์เท่าเทียมกับคนชนชั้นอื่น ๆ เชเป็นสัญลักษณ์ของบุคคลขั้วตรงข้ามกับคนรวยล้นฟ้า
เช เกวารา ยังไม่ตายเพียงแค่ไร้ลมหายใจ เขายังอยู่ที่นี่ ท้ายรถบรรทุก ในโรงงาน ร้านค้า ห้างสรรพสินค้า ท้องถนนและในร้านส้มตำ การมีอยู่ของเช บอกเราว่าความไม่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ยังคงเป็นอยู่ ยังคงเป็นปัญหา
ลุกไหม้สิ ซิการ์!
เช เกวารามิใช่คนจุด
สานพลังศรัทธาคุณค่ามนุษย์
หยุด! ยาพิษอภิสิทธิ์ชน
(หน้า13)
กระแทกใส่หน้าแรง ๆ ว่าไหม
ภาพจำของเช เกวารา คือหนุ่มผมยาวทำทรงที่มักคาบมวนซิการ์ไว้คาปาก เดาว่านี่เป็นที่มาของชื่อหนังสือ ไม่ใช่เพราะความคลั่งไคล้ น่าจะเป็นเพราะลักษณะการสูบที่โดดเด่นมากกว่า
โดยปกติแล้ว ซิการ์ขนาดมาตรฐานหนึ่งมวนใช้เวลาสูบประมาณ 1 ชั่วโมง ค่อนข้างนาน และบางครั้งซิการ์อาจดับกลางทาง ซิการ์ต้องสูบช้า ๆ โดยมีวัฒนธรรมระหว่างทางของการสูบที่ต้องมีมนุษยสัมพันธ์กับผู้อื่น อาจเพราะการสูบซิการ์คือการพักผ่อนและพูดคุยกันแบบสบาย ๆ เป็นช่วงเวลาพบปะคนคอเดียวกัน เป็นช่วงเวลาของบทสนทนา
ความตลกร้ายอย่างหนึ่งคือ ปัจจุบันซิการ์เป็นเรื่องคนที่พอมีเงินมากหน่อย คนที่มีเวลา แต่เอกลักษณ์ที่ชวนคิดคือซิการ์จุดติดยากกว่าบุหรี่ มีขั้นตอนที่พิถีพิถันกว่า เมื่อจุดติดมักไม่ดับง่าย ๆ หากไม่มีใครทะลึ่งเผลอไปเคาะเศษที่ไหม้อยู่ปลายมวน แต่อย่างถึงดับก็จุดใหม่ได้ การสูบซิการ์ต่างจากสูบบุหรี่ เพราะควรให้มันมอดดับไปเอง การเขี่ยปลายซิการ์เพื่อให้ดับไฟจะทำให้กลิ่นของซิการ์ผิดเพี้ยน สร้างกลิ่นเหม็นไหม้ขึ้นมาแน่ ๆ และคงไม่น่าอภิรมย์สำหรับเพื่อนที่อยู่ใกล้
ลุกไหม้สิ!
ลุกไหม้สิ!
วันพรุ่งนี้ต้องดีกว่า…
ทุกคนเป็นประชาชน คนธรรมดา
ที่งดงาม ชั่วช้า เก่งกล้า หรือโง่เขลา – เท่าเท่ากัน!
(หน้า14)
ปลายเดือนสิงหาคมของปี 2566 เราง่วนกับภาระตรงหน้าและยังไม่มีเวลากลับไปที่ร้านส้มตำของลุงกับป้าอีก สองเดือนกว่าหลังการเลือกตั้งประเทศไทยมีรัฐบาลแล้ว รัฐบาลสลายขั้ว ที่ขายสโลแกนก้าวข้ามความขัดแย้ง ไม่รู้ว่าตอนนี้คุณลุงขายส้มตำจะเลิกยกแก้วปลอบใจตัวเองหรือยัง อาจไม่
เพราะลุงเคยบอกกับเราว่า
“หมดละ ก้าวไกลไม่ได้เป็นนายก มันก็เหมือนเดิม”
แน่ะ ! ลุงนี่มองขาดมาก่อนกาลพูดไว้ตั้งแต่ตอนโหวตนายกฯ ยกแรก นี่เราว่าคุณจตุพรแม่นแล้ว ลุงยิ่งกว่า
ท่ามกลางความชื่นมื่น การแบ่งโควต้าเก้าอี้เพื่อความชัดเจนตอนเริ่มงาน และความพยายามของชนชั้นนำไทยในการลืมเรื่องเมื่อวาน ย้ำเรื่องที่มีคนเจ็บ-ตาย คำถามมากมายผุดขึ้นในทุกเช้าของวัน เมื่อกลับตัวก็ไม่ได้ ให้เดินต่อไปก็ไปไม่ถึง ประชาชนจึงจำเป็นต้องก้มหน้าทนต่อ นักวิชาการบางท่านเอ่ยปากบอกว่าอย่ามองเพื่อไทยในแง่ร้ายจนเกินไป นี่คือระยะเปลี่ยนผ่านแบบไทย ๆ
อาจผิด หรือ อาจถูก
ไม่มีทฤษฎีวิชาการใด ๆ สักบรรทัดในกวีเล่มนี้ มีเพียงความจริงทุกบรรทัดที่เต็มไปด้วยความรู้สึกของแต่ละเหตุการณ์ที่ฝังแน่น นับจากอภิวัฒน์สยาม 2475 ที่เช เกวารา เดินทางมาถึงพร้อมซิการ์
ปีแล้วปีเล่าที่มีคนพยายามจุดไฟ แต่ซิการ์ต้องเลือกวิถีก่อนจุดใครชอบสูบยาว ๆ ทีละนิด ต้อง “เจาะก่อนจุด” ส่วนถ้าอยากสัมผัสรสและกลิ่นของซิการ์แบบเต็ม ๆ ก็เลือก “ตัดก่อนจุด”
ไม่ว่าจะเลือกแบบไหน ชัดเจนมันจุดติดแล้ว การเผาไหม้เห็นควันชัดเจนนับจากเหตุการณ์ปี 2553 และปฏิกิริยาเร่งการเผาไหม้เกิดขึ้นในปี 2563 วันนี้ปลายปี 2566 เมื่อบทกวีในเล่มยังคงทำงาน นั่นหมายถึงว่าซิการ์มวนนั้นยังไม่มอดดับ
เมื่อตื่นขึ้นมา…
ดวงตาเป็นของเรา
เมื่อลุกขึ้นมา…
แขนขาเป็นของเรา
เมื่อก้าวออกมา…
ถนนข้างหน้าเป็นของเรา
เมื่อชูมือขึ้นมา …
กำปั้นดั่งเหล็กกล้าเป็นของเรา
เมื่อตะโกนออกมา …
ชีวิตและโชคชะตาเป็นของเรา
เมื่อตะโกนออกมา …
ชีวิตและโชคชะตาเป็นของเรา
ประชาชนจงเจริญ!
ประชาชนจงเจริญ!
ประชาชนจงเจริญ!
เมื่อกางปีกออกมา…
ท้องฟ้าเป็นของเรา
(หน้า48)
หนังสือ: ลุกไหม้สิ! ซิการ์
นักเขียน: ชัชชล อัจฯ
สำนักพิมพ์: P.S.
PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี