สัญญาเช่าสุดท้าย “ไม่เอา พอแล้ว ห้างเต็มไปหมดแล้ว” บนรอยปริแตกของสามย่าน - Decode
Reading Time: 3 minutes

“สมัยก่อนค่าเช่าถูกมาก ใคร ๆ ก็บอกว่าอยู่จุฬาฯ แล้วดีมาก แต่เดี๋ยวนี้จุฬามันแปลก ค่าเช่าเดือนละสามหมื่นบาสองปีต่อสัญญาก็ขึ้นอีก”

เสียงบ่นอุบของ กนกพร หญิงสูงอายุวัย 74 ปีที่มีต่อจุฬาฯ

กนกพรเป็นเจ้าของร้านอาหารตามสั่งเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในพื้นที่สามย่าน ด้วยแนวทางการพัฒนาที่ดินของสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ที่เปิดพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมทั้งย่านสยาม สวนหลวง และสามย่านให้กับภาคเอกชนลงทุน ทำให้ย่านดังกล่าวมีมูลค่าสูงขึ้น ตามด้วยค่าเช่าที่สุดโหดที่เกินกว่าร้านอาหารเล็ก ๆ เกินจะรับไหว

ร้านตามสั่งของกนกพรอยู่ใกล้ ๆ กับหอพัก U-Center หรือที่นักศึกษาเรียกกันติดปากว่า ‘หอยู’ เธอเล่าว่า แต่ก่อนร้านของเธอเป็นเจ้าประจำที่ต้องทำผักมงคลเจ็ดอย่างเลี้ยงในวันตรุษจีน หรือวันสารทจีน วันไหว้เจ้า วันครบรอบวันเสียชีวิต ร้านของเธอรับผิดชอบหมด “ทำกันทุกปี จนลูกเขาเรียนจบไปเป็นหมอ ก็ยังโทรมาถามว่าทำอยู่รึเปล่า” เธอเล่าด้วยความภูมิใจ

ปัจจุบันที่ความรับผิดชอบเหล่านั้นเริ่มกลายเป็นกิจกรรมประปราย แต่เก้าอี้ร้านก็ยังเต็มไปด้วยผู้คนมากหน้าหลายตา ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา พนักงานออฟฟิศ หรือพนักงานห้างสรรพสินค้า ทว่าพิษเศรษฐกิจจากโรคระบาดก็กระแทกซ้ำจนเธอแทบสิ้นเนื้อประดาตัว

“เดี๋ยวนี้ค้าขายลำบาก คนแย่งกันขาย รอดได้ก็เก่งแล้ว” กนกพรเล่าว่าหลังโควิดสภาพการค้าแย่กว่าเก่า เพราะมีร้านอาหารที่ตอบโจทย์วัยรุ่นมากมายบนพื้นที่สามย่าน ขณะเดียวกันรสชาติอาหารก็ไม่ใช่ปัจจัยเดียว แต่ร้านรวงต่าง ๆ นั้น ต้องตอบ ‘ไลฟ์สไตล์’ ของวัยรุ่นด้วย

“ตอนต่อสัญญาล่าสุดก็คิดว่าถ้าขายดีก็ยังโอเค ยังพอมีเงินเก็บบ้าง แต่พอมาเจอโควิดก็ไม่ได้ขายสองปี เงินหมดเกลี้ยง ไม่มีเหลือเลย”

แม้โรคระบาดจะคลายตัวลงบ้างแล้ว แต่ภาระค่าใช้จ่ายยังคงรัดตัวแน่น ร้านตามสั่งของกนกพรไม่มีคนพลุกพล่านอย่างเก่า รายได้หลักตอนนี้มาจากการทำอาหารกล่องส่งให้สถาบันสอนพิเศษของอาจารย์ที่สนิทสนมกับเธอ ซึ่งนั่นก็ยังห่างไกลกับรายจ่ายที่เธอต้องรับผิดชอบ

เธออธิบายว่า สำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯ ให้สัญญาเช่ากับผู้ประกอบการฉบับละ 2 ปี โดยค่าเช่าที่จะตกเดือนละราว ๆ 30,000 บาท ค่าภาษีโรงเรือนตกปีละ 4,000-7,000 บาท และมีค่าประกันตึกอีกเดือนละ 30,000 บาท “ต้นปีหาตรงนี้แทบตาย ทั้งถอน ทั้งขุด ทั้งรีด เหนื่อยจริง ๆ ” เธอสาธยายความสาหัสในการหาเงิน

เหตุผลหลักที่กนกพรยังเช่าพื้นที่อยู่ก็เพราะ “อยู่มานาน” เธอหวังเพียงได้ขายของนิดหน่อยให้พออยู่ได้ ที่สำคัญกว่าคือเธอมองตนเองเป็นคุณยายคนหนึ่งมากกว่าแม่ค้าร้านตามสั่ง เป็นที่ทางให้ลูกค้าที่เธอเปรียบว่าเป็นลูกหลานได้เข้ามาฝากท้องยามหิว ก่อนที่สัญญาฉบับสุดท้ายจะสิ้นสุดลงภายในปีนี้

ปัจจุบันถนนหน้าร้านของเธอก็เต็มไปด้วยกรวย สแลน และนั่งร้าน เพราะถนนอยู่ระหว่างการซ่อมท่อ ทำให้การเดินทางหรือเพียงกวาดสายตามาเห็นร้านก็ยากเข้าไปอีก “เมื่อก่อนตรงนี้มีออฟฟิศ เป็นลูกค้ายืนยาวของเรา มันก็บ้าไปไล่ออก พอเริ่มขายดีขึ้นก็มาเจอไอบ้านี่ (การซ่อมท่อข้างร้านเธอ) คนก็เข้าไม่ได้ เห็นเขาบอกว่าดูอีกพักหนึ่งถ้าทำเสร็จเรียบร้อยแล้วจะเป็นยังไง แต่ถ้าให้เราขยันขายเหมือนเมื่อก่อน ทำไม่ไหวแล้ว

“ชั่วโมงนี้เราคงต้องไปแล้ว เพราะมันไม่ไหวจริง ๆ (นับนิ้ว) แถวนี้เหลือกันไม่กี่คนเอง ออกไปเกือบหมดแล้ว เจอกันยังบอกว่า มึงจะสู้ไปหาห่าอะไรวะ ทำแล้วเหนื่อยฉิบหาย”

ทว่าไม่ใช่เพียงร้านค้าเล็ก ๆ ที่รับแรงกระแทกจากการพัฒนาของสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ หนังสือคำสั่งย้ายจ่าหน้าซองถึง นก-เพ็ญประภา พลอยสีสวย ผู้ดูแลศาลเจ้าแม่ทับทิมรุ่นปัจจุบัน ให้เธอเก็บข้าวของและย้ายออกภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2563 เพื่อที่จะเปลี่ยนพื้นที่ดังกล่าวเป็นคอนโดสูง แต่ก็เกิดการคัดค้านทั้งจากชาวบ้านและกลุ่มนิสิตจุฬาฯ ผ่าน #saveศาลเจ้าแม่ทับทิม

เป็นเวลากว่า 3 ปีกว่าแล้ว ที่ศาลเจ้าแม่ทับทิมยังคงตั้งเด่นท่ามกลางโครงการก่อสร้างขนาดมหึมา

“ก็มีหวังอยู่นะ ที่นี่น่าจะอยู่ได้นานที่สุดแล้วจากคำสั่งย้าย เพราะเราไม่ยอมด้วย และเจ้าของเขาสู้ ถ้าเจ้าของไม่สู้ยังไงก็อยู่ไม่ได้”

ความรู้สึกของ อาร์ท เด็กหนุ่มวัย 23 ปี หนึ่งในคณะกรรมการของศาลเจ้าแม่ทับทิมชุดปัจจุบัน

อาร์ทเคยได้ยินความศักดิ์สิทธิ์ของศาลเจ้าแม่ทับทิมมาตั้งแต่เด็ก ๆ แล้ว ว่ากันว่างานงิ้วประชันของศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง เป็นงานงิ้วที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ คึกคักถึงขนาดมีงิ้วสองโรงตั้งอยู่หัวซอยและท้ายซอย กินระยะเวลากว่าเก้าถึงสิบคืน ถึงขั้นที่ว่าหากงิ้วไม่ดีก็จะไม่สามารถมาเล่นที่นี่ได้

หลังจากที่เขาเข้ามาร่ำเรียนที่จุฬาฯ ก็ได้มาเห็นศาลเจ้าแม่ทับทิมแห่งนี้อีกครั้งนับตั้งแต่วัยเด็ก ช่วงแรกก็เข้ามาไหว้อย่างเดียว แต่พักหลังก็เข้ามาช่วยงานกับศาลเจ้าอยู่เรื่อย ๆ ซึ่งตอนนั้นมีสภานิสิตกลุ่มแรกที่เป็นคณะกรรมการที่คอยดูแลศาลเจ้าอยู่ แต่พอกรรมการชุดนั้นหมดวาระ อาร์ทและกลุ่มเพื่อนที่ศรัทธาก็เลยมีชื่อเป็นหนึ่งในคณะกรรมศาลเจ้าชุดปัจจุบัน

ในหนึ่งปี ศาลเจ้าจะมีงานอยู่สามครั้ง งานแรกคืองานวันเกิดอาม่า (สรรพนามที่ผู้ศรัทธาใช้เรียกเจ้าแม่ทับทิม) งานที่สองคืองานเทกระจาด สุดท้ายก็จะเป็นงานใหญ่ที่สุดของปี คืองานขอบคุณเจ้าประจำปี โดยอาร์ทและคณะกรรมการศาลเจ้าจะเป็นคนจัดการกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งหมด “กรรมการก็จะทำในส่วนที่ตัวเองถนัด บางส่วนทำกับข้าว ส่วนผมจะจัดดอกไม้ซะเป็นส่วนใหญ่” อาร์ทอธิบาย

“ปีแรกพวกผมทำกับข้าวกันเองหมดเลยนะ จริง ๆ จัดงานใช้เงินเยอะ ถ้าเงินไม่พอกรรมการก็ต้องออกเอง แต่พอพวกผมเข้ามาก็ยังไม่เจอปัญหานั้นเลย พยายามจะทำเท่าที่ทำได้ ไม่ให้มันเกินตัว”

เขาอธิบายว่า ส่วนใหญ่คนที่มาไหว้สักการะศาลเจ้าจะเป็นขาประจำหรือคนในชุมชนโดยรอบ ซึ่งศาลเจ้าแม่ทับทิมมีความพิเศษอยู่อย่างหนึ่งคือ เป็นศาลเจ้าที่ค่อนข้างมีชื่อเสียงทั้งในแง่ความยิ่งใหญ่และความศักดิ์สิทธิ์ ทำให้มีคนนอกชุมชนมาไหว้ด้วย

“ศาลเจ้าไม่มีชุมชนอยู่มันก็อยู่ไม่ได้ มีศาลเจ้านึงแถวนี้ พอชุมชนหายก็โดนรื้อเลย” ภายหลังการเข้ามาของแนวทางการพัฒนาที่ดินจุฬาฯ คนในชุมชนโดยรอบศาลเจ้าแม่ทับทิมก็ทยอยออกไป บรรยากาศของความเป็นชุมชนหายไปจนเหลือแต่ลานจอดรถ บรรยากาศศาลเจ้าเงียบลง กิจกรรมลดขนาดให้เหลือแต่พอดี จนกระทั่งคำสั่งย้ายออกมาถึง

“ถึงชุมชนจะไม่อยู่แล้ว แต่ยังมีคนมาไหว้ มันก็ยังเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ศาลเจ้ามันมาจากศรัทธา ก็ควรจะรักษาไว้ ไม่ใช่ทุบทำลายมันไปอย่างไม่มีคุณค่า”

อาร์ทอธิบายคุณค่าทางสถาปัตยกรรมของศาลไว้อย่างน่าตื่นตา เขาบอกว่าศาลเจ้านี้เป็นตึกแต้จิ๋ว เป็นศาลเจ้าปูนยุคแรก ๆ ที่สร้างโดยช่างชาวจีน ตัวอักษรจีนเขียนไว้ตามจุดต่าง ๆ ก็เป็นลายมือศิลป์ของคนดังในยุคนั้น รวมถึงกลอนจีนด้านศาลเจ้าก็เป็นงานศิลปะที่ช่างจีนใช้สื่อถึงองค์เทพเจ้าและตำแหน่งแห่งที่ของศาลเจ้า ซึ่งกลอนเหล่านี้เป็นกลอนที่เขียนขึ้นเพื่อสถานที่นั้น ๆ โดยเฉพาะ

“อย่างพวกผมก็นัดเจอกันที่ศาลเจ้า แล้วก็คุยกันว่าจะไปไหว้ที่ไหน ไปดูตึก ไปดูองค์เทพเจ้า ไปดูงานศิลปะ” นอกเหนือจากความศรัทธา เขาอธิบายว่าศาลเจ้าคือสถานที่พบปะ คือแหล่งยึดเหนี่ยวจิตใจ หากมีความทุกข์ เพียงแค่เราไหว้ บ่น อธิษฐาน ต่อให้องค์เทพเจ้าไม่รู้แต่เราก็ได้ระบายแล้ว

“เวลาเรียนเครียด ๆ ผมมานั่งสักพักก็หาย มันสบายใจขึ้น เมื่อก่อนแม่พี่นกยังอยู่ แกก็เรียกกินข้าว ผมเข้ามากินเกือบทุกวัน ผมผูกพันกับที่นี่มาก ผมเลยมองว่ามันคือบ้านอีกหลังหนึ่ง”

กลิ่นผู้มากรากดี
การอภิวัฒน์ของชนชั้นสร้างสรรค์

“การพัฒนาแบบนี้มันจะเปลี่ยนเมืองให้เป็นรูปแบบเดียว
ไลฟ์สไตล์แบบเดียว กลุ่มคนแบบเดียว ชนชั้นเดียว ซึ่งเมืองแบบนี้มันสุขภาพไม่ดี มันควรจะเต็มไปด้วยความหลากหลาย”

ทัศนะของ ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่มองว่าโครงการพัฒนาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า, Co-working Space, ร้านคาเฟ่ หรือกระทั่งคอนโดสมัยใหม่ เป็นสิ่งที่เหมาะสมและควรจะมีอยู่ในพื้นที่เมือง

ทว่าปัจจุบันเราจะเริ่มเห็นว่าการพัฒนารูปแบบดังกล่าวมักให้ความสำคัญไปที่คน “กลุ่มชนชั้นสร้างสรรค์” คนชนชั้นกลางระดับบนที่ตอบสนองกับร้านต่าง ๆ ที่ยกตัวอย่างไปข้างต้น ซึ่งหากการพัฒนาในลักษณะนี้มีความเข้มข้นมากเกินไป มันจะเบียดขับกลุ่มคนที่สถานะทางเศรษฐกิจที่ต่ำจนไม่สามารถอยู่บนพื้นที่นั้นได้ หรืออาจถูกบีบบังคับโดยอ้อมจนต้องละถิ่นฐานเดิม

ปรากฏการณ์ดังกล่าวเรียกว่า Gentrification คือกระบวนการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ไปสู่บางอย่างที่ดูมีอารยะมากขึ้น ซึ่งแนวโน้มของสังคมไทยยังไม่เข้มข้นมากนัก แต่แน่นอนว่ากำลังเดินไปทางนี้ ชาตรีอธิบายว่า หากกระบวนการนี้เข้มข้นอย่างถึงที่สุด จะเกิดเป็นรอยปริแยกทางสังคม เกิดแรงตึงเครียดทางวัฒนธรรมของกลุ่มคนที่มีความแตกต่างกันทางเศรษฐกิจ

“มันจะย้อนกลับมาเป็นปัญหาในทางเศรษฐกิจในระยะยาว
เมื่อคนในสังคมรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกเอาเปรียบ หรือแปลกแยกออกจากพื้นที่ที่ตนเองควรจะได้รับสิทธิ์ในการอยู่อาศัย”

“ไลฟ์สไตล์ของคนชนชั้นกลาง ไม่ใช่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่คนทุกชนชั้นนิยม” ชาตรีอธิบายว่า ทั้งแนวทางการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพิ่มพื้นที่สาธารณะ เพิ่มเลนจักรยาน ตบท้ายด้วยคาเฟ่ และ Co-working Space นับว่าเป็นเรื่องที่ดีทั้งสิ้น แต่นั่นหาใช่สูตรสำเร็จ

เพราะหากตระหนักดูให้ดี กิจกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจของคนเพียงกลุ่มเดียว คือกลุ่มคนชั้นกลางค่อนบนที่นั่งหน้าคอมพ์ 8 ชั่วโมงต่อวันจนผลาญพลังงานต่อวันไม่เพียงพอ และต้องการพื้นที่แบบนั้น ในขณะที่คนที่สถานะทางเศรษฐกิจต่ำผลาญพลังงานตลอด 8 ชั่วโมง

ซึ่งเป็นเรื่องที่ตอบยากยิ่ง เพราะสังคมไทยยังไม่ได้มีการศึกษาไลฟ์สไตล์ของคนกลุ่มอื่น ๆ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจต่ำ ว่าเขาต้องการความสุขแบบใดชีวิต หรือกิจกรรมพักผ่อนเป็นอย่างไร “อันเดียวที่ผมเคยสัมผัสคือ ชุมชนป้อมมหากาฬ เขามีกิจกรรมพักผ่อนหลายอย่าง เช่น ประกวดนกเขา เลี้ยงไก่ชน ซึ่งหลายอย่างมันไม่ถูกกับวิธีคิดของคนชนชั้นกลาง” เขายกตัวอย่าง

“กรณีของศาลเจ้าแม่ทับทิม เขาประเมินคุณค่าของศาลเจ้าแม่ทับทิมที่มีต่อผู้คนและสังคมโดยรอบต่ำกว่าความเป็นจริง ไม่ได้มองในฐานะว่ามันเป็นพื้นที่ของความเชื่อ”

แน่นอนว่าในทางสถาปัตยกรรม แม้ศาลเจ้าทับทิมหลังปัจจุบันจะตั้งอยู่ในพื้นที่ศาลเดิมที่มีอายุเก่าแก่ แต่ตัวศาลเจ้าก็ไม่ได้เก่าแก่มากนัก มีอายุราว ๆ 50 กว่าปีเท่านั้น แต่ชาตรีกล่าวอย่างหนักแน่นว่า คุณค่าที่แท้จริงหาได้อยู่แค่เพียงตัวศาลเจ้า

แต่หมายรวมถึง “เครือข่ายทางวัฒนธรรม” ที่รวบรวมทั้งศรัทธา จิตวิญญาณ สัญลักษณ์ ของผู้คนชุมชนไว้ได้อย่างสมบูรณ์ และเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงเกิดข้อขัดแย้งระหว่างผู้ดูแลศาลเจ้า กับสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ 

ชาตรีอธิบายว่า การรื้อศาลเจ้า รื้อวัดในอดีต หรือการขยับขยายย้ายที่นั้นเป็นเรื่องปกติ ทว่าจะต้องมีกระบวนการเห็นพ้อง ที่จะย้ายเครือข่ายทางวัฒนธรรมนี้ไปอีกที่หนึ่ง ทว่ากลับไม่มีกระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้น ก็เท่ากับว่าพวกเขาไม่ได้ตระหนักเลยว่าศรัทธาหรือจิตวิญญาณเหล่านี้ จะถ่ายโอนไปยังศาลแห่งใหม่ได้รึเปล่า

“ศาลเจ้าที่เพิ่งสร้างจึงเป็นเพียงอิฐหินปูนทรายจริง ๆ ศาลเจ้าใหม่ก็เริ่มต้นด้วยความไม่ชอบธรรมหลาย ๆ อย่างแล้ว สถานที่ ๆ เป็นศูนย์รวมจิตใจหรือความเชื่อ เริ่มต้นก็ติดลบ มันจะลำบาก”

“กลุ่มคนชนชั้นสร้างสรรค์ควรจะตระหนักเรื่องนี้ให้หนัก และส่งเสียงแทนคนกลุ่มอื่น” ชาตรีให้ทัศนะว่า กลุ่มชนชั้นสร้างสรรค์ยังคงมีความสุขกับการพัฒนาทุกอย่างที่ลงมาสู่ตนเอง เป็นไม้ซุงที่ค้ำยันความคิดเช่นนี้ ซึ่งการจะรู้สึกว่าตนเองนั้นเป็นส่วนหนึ่งในปัญหานั้นเป็นเรื่องยาก

ในฐานะที่เราก็ต่างเป็นหนึ่งในชนชั้นสร้างสรรค์ เราต้องมองการพัฒนารูปแบบนี้ด้วยมโนทัศน์ใหม่ ชาตรียกตัวอย่างว่า หากจุฬาฯ จะสร้างห้างสรรพสินค้าที่มีสินค้าร้อยแปดพันอย่าง แต่เสียงของกลุ่มลูกค้าหลักที่เป็นชนชั้นสร้างสรรค์บอกว่า “ไม่เอา พอแล้ว ห้างเต็มไปหมดแล้ว” จุฬาฯ ก็ต้องทบทวนโครงการของตนเองแล้ว เพราะว่ากลุ่มลูกค้าหลักไม่ต้องการ “มันต้องเริ่มจากตัวของคนที่ได้รับผลประโยชน์นี้เอง ต้องมองเห็นตัวเองก่อน เพราะมันไม่ใช่เรื่องสาธารณะของทุกคน”

ขณะเดียวกัน จุฬาฯ ก็ต้องปรับมโนทัศน์และบทบาทของตนเองให้ห่างไกลจากการเป็น “บริษัทเอกชน” ที่มุ่งเป้าไปที่การพัฒนาพื้นที่โดยมุ่งหวังกำไรสูงสุดเป็นที่ตั้ง แต่พัฒนาโดยยึดประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ ให้สิทธิกับทุกคนที่จะมีอำนาจในการกำหนดแนวโน้มการพัฒนาเมืองร่วมกัน แม้คน ๆ นั้นจะไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินตามกรรมสิทธิ์กฎหมายแม้แต่ตารางนิ้วเดียว

“มีใครกล้าบอกว่าจุฬาฯ คือของชั้นเหรอ แม้แต่ตารางนิ้วเดียวมีใครกล้าพูดไหม ว่าพื้นที่ตารางนิ้วนี้คือของชั้น มันไม่มี เมื่อไม่มีก็แปลว่าทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน”

ชาตรีย้ำว่า แท้จริงแล้วการพัฒนาเมืองแบบ Gentrification มันก็มีคนอยู่ในนั้น (อยู่เยอะกว่าเดิมด้วยซ้ำ) เศรษฐกิจก็ดีขึ้น แต่ทว่ามันคือคนกลุ่มเดียว เพราะฉะนั้นคำถามใหญ่คือ “เราจะสามารถรักษาคนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจต่ำให้อยู่ในพื้นที่กลางเมืองที่นับวันจะแพงขึ้นเรื่อย ๆ ได้รึเปล่า” สำหรับชาตรี เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องทำให้ได้ เพื่อให้พื้นที่ในเมืองมีความหลากหลาย ใช่ว่าจะเป็นที่ของคนรวยเพียงอย่างเดียว

“อย่างสามย่านก็เป็นพื้นที่ชานเมืองเก่า ก็ถีบคนออกมาจากในเมือง แล้วก็มาอยู่ในบริเวณนี้ พอบริเวณนี้เจริญก็ถีบเขาออกไปเรื่อย ๆ อีก แบบนี้มันไม่มีความเป็นธรรมทางสังคม”