ปริศนาความรุนแรงโดยรัฐไทย (ตอนที่ 2) - Decode
Reading Time: 2 minutes

ในความเคลื่อนไหว

รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ

นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเมืองในสังคมไทยตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา การชุมนุมของประชาชนบนท้องถนนกลายเป็นปรากฏการณ์ปรกติของสังคมไทย ในด้านดีการชุมนุมแสดงออกทางการเมืองของประชาชนถือเป็นชีพจรที่เข้มแข็งของประชาธิปไตย เพราะสะท้อนถึงความตื่นตัวของประชาชนที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางบ้านเมือง และยังสะท้อนถึงความเป็นพลเมืองที่แข็งขัน อันเป็นหัวใจของสังคมการเมืองแบบประชาธิปไตย

สิ่งที่น่าเสียดายและยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังในสังคมไทย คือ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในห้วงสถานการณ์การชุมนุมของประชาชน ซึ่งมีทั้งรูปแบบที่เป็นการปะทะกันระหว่างขบวนการประชาชนต่างอุดมการณ์ และความรุนแรงจากรัฐ โดยจากสถิติในช่วงเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมาพบว่าความรุนแรงทางการเมืองที่นำไปสู่การบาดเจ็บสูญเสียของชีวิตผู้คนมากที่สุด คือ ความรุนแรงโดยรัฐในการการสลายการชุมนุมของประชาชน (state repression)

บทความในตอนที่แล้ว ผมชี้ให้เห็นว่าปัจจัยเรื่องระบอบการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับกองทัพ (รวมถึงกลไกด้านความมั่นคงทั้งหลาย) เป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดแบบแผนและระดับความรุนแรงโดยรัฐในสังคมไทย แต่ข้อค้นพบอีกประการจากงานวิจัยพบว่ามุมมองของรัฐต่อผู้ชุมนุมทั้งระดับผู้วางแนวนโยบายและระดับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ ส่งผลสำคัญต่อระดับความรุนแรงของรัฐที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งมุมมองของรัฐต่อผู้ชุมนุมถูกกำหนดมาจากยุทธวิธีการเคลื่อนไหวและแนวคิดของผู้ชุมนุมแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกันไป ฉะนั้นการพิจารณามุมมองของรัฐ จึงแยกไม่ออกจากการวิเคราะห์ทำความเข้าใจวิธีการเคลื่อนไหว และอุดมการณ์ทางการเมืองของขบวนการประชาชน

สันติวิธี-รุนแรง

ผู้มีอำนาจรัฐและเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบดูแลการชุมนุมมองผู้ชุมนุมแต่ละกลุ่มไม่เหมือนกัน จากการรวบรวมข้อมูลเอกสารและการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่รัฐ พบว่ารัฐมีวิธีคิดในการแบ่งประเภทผู้ชุมนุมกลุ่มต่าง ๆ ออกเป็น 2 ประเภทหลัก โดยใช้เกณฑ์ 2 ประการด้วยกัน คือ หนึ่ง พิจารณาว่าวิธีการเคลื่อนไหวว่าเป็นแบบแนวทางสันติหรือมีแนวโน้มใช้ความรุนแรง และสอง อุดมการณ์หรือเนื้อหาของข้อเรียกร้องว่าเป็นเรื่องปากท้องหรือเรื่อง “การเมือง” และในกลุ่มที่เป็นการเมืองก็ยังพิจารณาต่อไปว่าเป็นการเมืองที่มีเป้าหมายมุ่งไปที่การประท้วงรัฐบาล หรือมีเป้าหมายเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจและท้าทายไปถึงสถาบันทางการเมืองที่สำคัญสูงสุดต่อชาติและความเป็นไทยซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐเน้นไปที่สถาบันกษัตริย์ แน่นอนว่าการแบ่งประเภทผู้ชุมนุมของเจ้าหน้าที่รัฐเช่นนี้เป็นการแบ่งโดยใช้คำว่า “การเมือง” ในความหมายแคบ เพราะในทางวิชาการข้อเรียกร้องเรื่องปากท้อง เช่น การขอขึ้นค่าแรง ลดค่าครองชีพ การจัดสรรที่ดินทำกิน การขึ้นราคาสินค้าเกษตร ฯลฯ ล้วนเป็นประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการเมืองทั้งสิ้น แต่สำหรับผู้กำหนดนโยบายและเจ้าหน้าที่รัฐ คำว่าการเมืองหมายถึงการเรียกร้องที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเมืองที่เป็นทางการ เช่น การแก้ไขกติการัฐธรรมนูญ การเรียกร้องให้นายกฯ ลาออกหรือยุบสภา การเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้ง เป็นต้น

เมื่อมีการชุมนุมแต่ละครั้ง เจ้าหน้าที่รัฐจะเก็บข้อมูลใน 3 ประเด็นหลัก คือ การชุมนุมดังกล่าวจัดโดยใครและมีใครสนับสนุนอยู่เบื้องหลังหรือไม่ รูปแบบกิจกรรมและเนื้อหาการชุมนุมเป็นอย่างไร และจำนวนผู้เข้าร่วมมีมากน้อยเท่าใด ซึ่งหน่วยงานด้านข่าวกรองซึ่งมีหลายหน่วยงานจะต้องทำรายงานเสนอต่อผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย ซึ่งเนื้อหาหลักในการประเมินการชุมนุมจะประกอบด้วย จากรายงานและข้อมูลต่าง ๆ ที่ประมวลรวบรวมมาได้เกี่ยวกับการชุมนุมแต่ละครั้ง นำไปสู่การประเมินของฝ่ายรัฐว่าการชุมนุมของผู้ชุมนุมเป็นภัยคุกคามมากน้อยเพียงใด ซึ่งเกณฑ์แรกที่ใช้ประเมินคือ เป็นม็อบแบบสันติหรือรุนแรง ผู้ชุมนุมพกพาอาวุธและมีแนวโน้มใช้อาวุธหรือไม่ หากเป็นการชุมนุมโดยกลุ่มที่รัฐมองว่ามีประวัติหรือมีแนวโน้มที่จะใช้ยุทธวิธีรุนแรง รัฐจะเตรียมพร้อมในแง่มาตรการและอุปกรณ์ที่เข้มข้นกว่าปรกติ ดังที่ตำรวจควบคุมฝูงชนระดับอาวุโสอีกรายหนึ่งสรุปว่า “ขึ้นอยู่กับสถานการณ์แต่ละสมัย ขึ้นอยู่กับผู้ชุมนุมว่าจะมาแรง มาเบา มาค่อย” ซึ่งหากกลุ่มไหน “มาแรง” ตำรวจก็จะเตรียมมาตรการใช้กำลังที่เข้มข้นกว่ากลุ่มที่ “มาเบา”[1]

เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงอีกรายหนึ่งอธิบายว่า เมื่อมองจากมุมของรัฐ หากผู้ชุมนุมกลุ่มใดใช้ความรุนแรง นอกจากรัฐมองว่าเป็นภัยคุกคามความสงบซึ่งต้องใช้มาตรการการใช้กำลังที่เข้มข้นในการรับมือแล้ว ฝ่ายรัฐยังมองว่าเจ้าหน้าที่สามารถใช้ความรุนแรงตอบโต้กับกลุ่มดังกล่าวได้ง่ายขึ้นเพราะกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงย่อมเสียความชอบธรรมในสายตาสาธารณชน และรัฐจะมีความชอบธรรมในการปราบรุนแรงได้

อันนี้พูดในมุมของฝ่ายความมั่นคง คือ ถ้าผู้ชุมนุมยิ่งใช้ความรุนแรงมันยิ่งสร้างความชอบธรรมให้รัฐใช้ความรุนแรงในการตอบโต้ อันนี้ข้ามการถกเถียงเรื่องสันติวิธีออกไป เอาแค่ว่าภาพตรงหน้าที่ออกมาว่า คุณใช้ความรุนแรง รัฐก็จะใช้ความรุนแรงในการจัดการกลับได้[2]

ในห้วงที่เกิดการชุมนุมต่อเนื่องยาวนานของขบวนการนิสิตนักศึกษาเยาวชนในสมัยรัฐบาลประยุทธ์ (2562-2566) ซึ่งเป็นการต่อสู้เคลื่อนไหวที่มีกลุ่มย่อยหลายกลุ่มด้วยกัน พบว่าฝ่ายรัฐมีมุมมองต่อการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนแต่ละกลุ่มแตกต่างกันออกไป โดยมิติเรื่องสันติวิธี-ความรุนแรงเป็นเกณฑ์หนึ่งที่สำคัญในการจำแนก

ในภาพรวมฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐมองว่า ขบวนการเยาวชนหรือที่รัฐเรียกว่า “ม็อบเด็ก” เป็นการเคลื่อนไหวที่ต่างจากม็อบเสื้อสีไม่ว่าจะเป็นขบวนการเสื้อเหลือง เสื้อแดง หรือกปปส. คือ ในภาพรวมเป็นนักศึกษาและเยาวชนที่ไม่ได้มีความรุนแรง ไม่มีกองกำลังติดอาวุธ ศักยภาพในการก่อความรุนแรงต่ำ รัฐมองว่าขบวนการเยาวชนเป็นขบวนการแบบสันติวิธีที่เน้นการปราศรัยและต่อสู้ทางอุดมการณ์เป็นหลัก ยกเว้นบางกลุ่มที่รัฐจำแนกว่ามีแนวโน้มใช้กำลัง ฉะนั้นรัฐจึงมีมาตรการใช้กำลังต่อการชุมนุมของเยาวชนที่เข้มข้นน้อยกว่าสมัยขบวนการเสื้อสีและพยายามหลีกเลี่ยงความรุนแรง ดังที่ตำรวจรายหนึ่งที่รับผิดชอบดูแลการชุมนุมในช่วงนั้น อธิบายว่า “คืออย่างตอนม็อบเด็กเนี่ย นาย [ผู้บังคับบัญชา] ก็บอกว่า ม็อบเป็นเด็กไม่อยาก…อย่าไปทำอะไรรุนแรงมาก คือเขาก็รู้ว่า ม็อบนี้คือม็อบเด็กนะ”[3]

ตำรวจอีกรายหนึ่งที่รับผิดชอบดูแลการชุมนุมทั้งช่วงการเมืองเสื้อสีและขบวนการเยาวชนสมัยประยุทธ์ ให้ทัศนะที่สอดคล้องไปในทางเดียวกันนี้ โดยกล่าวว่า

ม็อบเยาวชนเคลื่อนไหวด้วยแนวคิดที่อยากจะเปลี่ยนแปลงจริง ๆ… เขาต้องการแสดงเจตนาที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างของประเทศ ผมเข้าใจน้อง ๆ นะ… ผมว่าช่วงแรก [ปี 2563] น่าจะเป็นม็อบที่สุภาพที่สุดแล้วครับ คือหมายถึงทำกิจกรรมและแสดงสัญลักษณ์แบบสุภาพ[4]

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่การเคลื่อนไหวของเยาวชนทุกกลุ่มจะถูกมองด้วยสายตาที่ดีจากเจ้าหน้าที่รัฐ ในกลุ่มขบวนการเยาวชนที่เคลื่อนไหวในช่วงปี 2563-2565 รัฐแยกการชุมนุมของบางกลุ่มออกมาจากกลุ่มอื่น ๆ อย่างชัดเจน โดยมองว่ากลุ่มทะลุแก๊สซึ่งชุมนุมบริเวณดินแดงเป็นกลุ่มที่ไม่ได้เคลื่อนไหวในแนวทางสันติ รัฐมองและสร้างภาพลักษณ์ให้กลุ่มทะลุแก๊สเป็นกลุ่มที่สร้างความวุ่นวาย นำไปสู่การวางมาตรการการใช้กำลังปราบปรามอย่างเข้มข้น โดยมิได้พิจารณาเยาวชนกลุ่มนี้ในฐานะกลุ่มเปราะบางที่ออกมาเรียกร้องเพราะประสบกับปัญหาความยากลำบากทางเศรษฐกิจของครอบครัว ขาดโอกาสในชีวิต การหลุดออกจากระบบการศึกษา หรือประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำ

ประเด็นสำคัญคือ รัฐตระหนักดีถึงปัญหาความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรง ฝ่ายรัฐจึงประเมินกระแสสังคมอยู่ตลอดเวลา กรณีที่รัฐใช้มาตรการที่รุนแรงกับกลุ่มทะลุแก๊สอย่างต่อเนื่องเพราะรัฐมองว่าเมื่อใช้แล้วไม่มีเสียงต่อต้านหรือประณามจากสังคมเท่าใดนัก เนื่องจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มทะลุแก๊สถูกสร้างภาพจากรัฐและสื่อบางสำนักว่าเป็นการชุมนุมแบบ “ป่วนเมือง” ฉะนั้นการสร้างภาพลักษณ์ต่อสาธารณะว่าใครเป็น “พระเอก” หรือ “ผู้ร้าย” จึงมีความสำคัญในการช่วงชิงความชอบธรรม ซึ่งรัฐตระหนักถึงประเด็นนี้เป็นอย่างดีว่าต่อกลุ่มใดใช้ความรุนแรงได้ ต่อกลุ่มใดต้องระมัดระวังในการใช้ความรุนแรง

รัฐกังวลเกี่ยวกับภาพลักษณ์  ถ้ามัน [การปราบด้วยความรุนแรง] ถูกพูดถึงน้อย ถ้ากระแสมันกดดันน้อย มันมีแนวโน้มที่เขาจะใช้กำลังสลายถี่กว่าช่วงที่สื่อ ที่สังคมให้ความสนใจ ยกตัวอย่างทะลุแก๊ส ที่มันสลายได้ทุกวัน เพราะคนมันไม่สน ช่วงที่ม็อบมันใหญ่มันก็จะมีความถี่ในการสลายน้อยกว่า…[5]

ฉะนั้นรัฐตระหนักดีว่าหากรัฐเป็นฝ่ายเริ่มใช้ความรุนแรงก่อน โดยเฉพาะกับกลุ่มเยาวชนที่เคลื่อนไหวแบบสันติ รัฐจะสูญเสียความชอบธรรม ดังเหตุการณ์สลายการชุมนุมในวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ที่เจ้าหน้าที่ตัดสินใจฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุมบริเวณแยกปทุมวัน (บริเวณสยามสแควร์) ซึ่งผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นเยาวชนที่นัดมาชุมนุมโดยสงบนั่งฟังปราศรัยอยู่กับที่ การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐในเหตุการณ์ดังกล่าวถูกประณามจากกลุ่มและองค์กรทางสังคมต่าง ๆ อย่างเป็นเอกฉันท์ ซึ่งฝ่ายรัฐได้สรุปบทเรียนจากเหตการณ์ดังกล่าว “ทางฝ่ายรัฐก็รู้ เขาเสียมวลชน… มันมีภาพใช้ความรุนแรงฝ่ายเดียว ฟีดแบ็กมันมา”[6]

อุดมการณ์และชนชั้น

นอกจากแนวทางการเคลื่อนไหวแล้ว สถานภาพทางเศรษฐกิจสังคมหรือชนชั้นของคนที่เคลื่อนไหวก็มีส่วนกำหนดมุมมองของรัฐด้วยเช่นกัน เจ้าหน้าที่รัฐอธิบายว่าเหตุผลหนึ่งที่กลุ่มทะลุแก๊สตกเป็นเป้าของยุทธวิธีตอบโต้อย่างรุนแรงจากรัฐมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ มิใช่แค่เรื่องรูปแบบการประท้วง แต่สถานภาพทางเศรษฐกิจสังคมของผู้ชุมนุมเป็นปัจจัยที่ทำให้รัฐใช้ความรุนแรงได้ง่ายขึ้น เนื่องจากถูกมองว่ามาจากครอบครัวของชนชั้นทางสังคมในระดับล่างซึ่งทั้งด้อยสิทธิและไม่มีปากเสียงในสังคม

เรื่องของชนชั้นมาเกี่ยวข้องด้วยเพราะมันถูกมองว่า เป็นคนที่ไม่ได้มีปากมีเสียง ไม่ได้เป็นลูกของ… สมมติว่าเราไปสลายม็อบ [ของกลุ่มอื่น] ถ้าเข้าไปอาจจะเป็นลูกตัวเองก็ได้ เป็นเด็กเตรียมอุดม เป็นเด็กที่วันนึงโตขึ้นมาถูกมองว่าเป็นหัวกะทิ เป็นผู้มีอำนาจในยุคต่อไป มันจะถูกมองอีกแบบ แต่พอเป็นเด็กที่เป็นอาชีวะ หรือคนที่แบบว่าล่างลงมา ก็จะถูกคำนึงถึงน้อยลงเพราะเขา [ผู้บังคับบัญชา] จะมองว่า ไม่เป็นไรคนพวกนี้ก็อาจจะแบบโดนก็ไม่เป็นไร ไม่ได้มีช่องทางที่เขาจะทำให้เสียงมันดังขึ้นมาได้[7]

นอกจากแนวทางการชุมนุมของผู้ชุมนุมแต่ละกลุ่ม เกณฑ์สำคัญอีกประการที่กำกับวิธีคิดของรัฐคือ อุดมการณ์ของกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งในช่วงที่มีการเคลื่อนไหวของขบวนการเสื้อสี กลุ่มเสื้อแดงถูกมองจากผู้มีอำนาจรัฐในขณะนั้นว่า เป็นขบวนการทางการเมืองที่มีลักษณะถอนรากถอนโคน (radical) คือ มุ่งสร้างประชาธิปไตยแบบรากหญ้า โจมตีชนชั้นนำและชนชั้นสูง สะท้อนผ่านวาทกรรมเรื่อง “ไพร่กับอำมาตย์” “ล้มระบอบอำมาตย์” หรือการท้าทาย “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ” ซึ่งทุกฝ่ายทราบดีว่าเป็นคำที่มุ่งหมายถึงประธานองคมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ กระทั่งฝ่ายรัฐที่ดูแลสถานการณ์การชุมนุมถึงกับสร้างภาพให้ผู้ชุมนุมกลายเป็นกลุ่ม “ล้มเจ้า” และ “หมิ่นเบื้องสูง” ผ่านการทำแผนผังโยงใยกลุ่มบุคคลต่าง ๆ ที่ถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังขบวนการเสื้อแดง ซึ่งในสังคมไทย มีเพดานทางการเมืองวัฒนธรรมว่าหากขบวนการทางการเมืองใดถูกกล่าวหาว่าเป็นขบวนการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือละเมิดอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็เท่ากับการผลักให้ขบวนการนั้นถูกมองว่าต่อต้านความเป็นไทย และต่อต้านความเป็นชาติที่ถูกนิยามอย่างแนบแน่นกับสถาบันประเพณีคือ สถาบันกษัตริย์ ทำให้ขบวนการดังกล่าวตกอยู่ในสถานะที่เป็นศัตรูความมั่นคงของชาติ และดังนั้นรัฐจึงมีความชอบธรรมในการปราบปรามเพื่อพิทักษ์สถาบันศักดิ์ศรีและศูนย์กลางของความเป็นชาติไทยจากการถูกละเมิด กรณีเหตุการณ์โศกนาฎกรรม 6 ตุลาคม 2519 ที่รัฐใช้ความรุนแรงอย่างเหี้ยมโหดสังหารหมู่นักศึกษาและประชาชนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยอาวุธสงครามอย่างเต็มรูปแบบ และการจัดการควบคุมตัวนักศึกษาเสมือนเป็นเชลยศึกในสงคราม เนื่องจากรัฐมองว่าขบวนการนักศึกษาขณะนั้นเป็นพวกคอมมิวนิสต์หัวรุนแรงที่คิดร้ายทำลายชาติและเป็นปฏิปักษ์กับสถาบันชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ เหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 สะท้อนปฏิบัติการความรุนแรงของรัฐไทยที่มีต่อขบวนการทางการเมืองที่ละเมิดอุดมการณ์ความเป็นไทยอย่างชัดเจนแจ่มแจ้งที่สุด

เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอธิบายว่า ในช่วงต้นของการเคลื่อนไหวปี 2563 ของกลุ่มเยาวชน รัฐไม่ได้ตื่นตระหนกมากเพราะข้อเรียกร้องในช่วงแรกเน้นไปที่การยุบสภา ให้นายกฯ ลาออก และหยุดคุกคามประชาชน แต่พอเนื้อหาคำปราศรัยและป้ายผ้าในที่ชุมนุมเริ่มปรากฏข้อความที่สื่อสารถึงการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ โดยเฉพาะการชุมนุมที่จัดโดยกลุ่ม “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งมีการอ่านข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ ปรากฏการณ์ “ทะลุเพดาน” ดังกล่าวกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับรัฐ หลังจากนั้นการเคลื่อนไหวของเยาวชน โดยเฉพาะกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ถูกเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดแม้ว่าจะเป็นกลุ่มที่ฝ่ายความมั่นคงทราบดีว่าเน้นการเคลื่อนไหวแบบสันติวิธี เน้นการปราศรัย แต่กลุ่มนี้กลายเป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังสูงสุดเพราะทั้งมีพลังระดมมวลชนได้มากและมีอุดมการณ์ที่ท้าทายเพดานของสังคมไทย ด้วยเหตุนี้หลังจากมีการชูข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างเปิดเผย มุมมองของรัฐต่อสถานการณ์การชุมนุมจึงเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ คือมองความขัดแย้งระหว่างรัฐกับขบวนการคนหนุ่มสาวเป็น “สนามรบ” ที่ต้องเอาชนะ[8]

การที่รัฐให้น้ำหนักสำคัญเป็นพิเศษกับประเด็นข้อเรียกร้องและอุดมการณ์ที่ขับเคลื่อนการชุมนุม ทำให้มาตรการของรัฐในการรับมือกับการชุมนุมไม่ได้ถูกกำหนดจากแนวทางการเคลื่อนไหวเพียงอย่างเดียว (สันติหรือรุนแรง) การเรียกร้องในแนวทางสันติวิธี เช่น การจัดเวทีปราศรัยโดยสงบ การชุมนุมโดยแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ หรือการเดินขบวนอย่างสงบสันติปราศจากอาวุธไปยังสถานที่ต่าง ๆ มิได้รับประกันความปลอดภัยของผู้ชุมนุมเสมอไป ขึ้นอยู่กับว่าการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์โดยสงบนั้นสื่อความหมายที่มีนัยกระทบกับสถาบันหลักของชาติหรือไม่ และสถานที่การชุมนุมเป็นสถานที่ที่รัฐมองว่าเป็นเขตหวงห้ามพิเศษหรือไม่ ดังที่เจ้าหน้าที่รัฐรายหนึ่งอธิบายว่า

การประกาศเดินไปสำนักทรัพย์สินฯ เดินไปพระบรมมหาราชวัง เดินไปอะไรที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน เขาถือว่า เป็นการหยามพระเกียรติ มันทำให้มาตรการจะหนักกว่าเดิม ทุกครั้งที่ประกาศว่าจะเดินไปที่พระมหาราชวัง ตรงนั้นคือจะไปกันที่เส้นตรงนั้นที่เดิมตลอดทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นครั้งที่ชูป้ายยาว ๆ ใหญ่ ๆ ครั้งที่ประกาศจะเดินไปที่ชุมนุมค้างคืนที่ทำเนียบองคมนตรีก็ไม่ผ่านตรงนั้นที่เดิมจุดตรงนั้นตลอด เป็นระยะที่เขาไม่ให้ผ่าน คือถ้าจะผ่านก็จะโดนสลาย คือถ้าถามว่า เขาเป็นห่วงภาพลักษณ์ไหม [หากสลายการชุมนุม] เขาก็เป็นห่วงภาพลักษณ์ แต่ว่าเขาก็ให้น้ำหนักกับการปกป้องสถาบันมากกว่า[9]

ความรุนแรงโดยรัฐในสังคมไทยจึงเป็นผลมาจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม และถูกกำหนดมาจากปัจจัยและเงื่อนไขที่มีลักษณะเฉพาะของสังคมไทย การเคลื่อนไหวโดยสันติวิธีของผู้ชุมนุมมิได้รับประกันว่าจะถูกปฏิบัติจากรัฐอย่างละมุนละม่อมตามหลักสากล หากการชุมนุมของประชาชนกลุ่มใดมีแนวคิดที่ท้าทายอุดมการณ์หลักของสังคมไทย รัฐก็พร้อมจะใช้ความรุนแรง เพื่อพิทักษ์ปกป้องระเบียบอำนาจเดิมให้ดำรงอยู่อย่างมั่นคง ความรุนแรงโดยรัฐในสังคมไทยจึงเป็นเครื่องมือที่ไม่ได้มีหน้าที่ยุติการเคลื่อนไหวทางกายภาพของประชาชนเท่านั้น แต่มีหน้าที่กำราบและยุติการเคลื่อนไหวทางความคิดของประชาชนด้วย


[1] สัมภาษณ์ตำรวจควบคุมฝูงชนอาวุโส, กรุงเทพฯ, 14 มี.ค. 2566.

[2] สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง, กรุงเทพฯ, 10 ก.พ. 2566.

[3] สัมภาษณ์ตำรวจตระเวนชายแดน, กรุงเทพฯ, 6 มี.ค. 2566.

[4] สัมภาษณ์ตำรวจควบคุมฝูงชน, กรุงเทพฯ, 15 มี.ค. 2566.

[5] สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง, กรุงเทพฯ, 10 ก.พ. 2566.

[6] สัมภาษณ์ตำรวจตระเวนชายแดน, กรุงเทพฯ 26  เม.ย. 2566.

[7] สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง, กรุงเทพฯ, 10 ก.พ. 2566.

[8] สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง, กรุงเทพฯ, 10 ก.พ. 2566.

[9] สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง, กรุงเทพฯ, 10 ก.พ. 2566.

ข้อมูลและประเด็นในบทความชิ้นนี้นำมาจากงานวิจัยของผู้เขียนเรื่อง “ความรุนแรงทางการเมืองโดยรัฐในสังคมไทย: แบบแผน แนวนโยบาย และการให้ความชอบธรรมกับความรุนแรง (พ.ศ. 2548-2565)” ซึ่งได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2565 ขอขอบคุณผู้ช่วยวิจัยทั้ง 2 คน คือ บุศรินทร์ แปแนะ และนูรียะ ยูโซะ ที่ช่วยเหลือในการทำวิจัยและค้นคว้ารวบรวมข้อมูลอย่างรอบคอบและอุตสาหะ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ปริศนาความรุนแรงโดยรัฐไทย (ตอนที่ 1)