“ภายใต้สภาพแวดล้อมที่อยู่ใต้การควบคุม พื้นที่แห่งการกักขังที่ไร้อิสรภาพ บนดินแดนแห่งการตรวจตราอย่างเข้มข้น ด้วยเทคโนโลยีปรับทัศนคติชั้นสูง”
จากการอธิบายของ Darren Byler นี่เป็นคำนิยามที่น่าจะถูกต้องและตรงเผงที่สุด ให้กับชาวมุสลิมอุยกูร์ ภายใต้การปกครองของรัฐบาลจีน ในเขตการปกครองพิเศษซินเจียง
เพื่อทำความเข้าใจต่อสถานการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่ในอุยกูร์ ณ ปัจจุบัน ผู้เขียนขอเริ่มต้นด้วยบทหนังสือกลางเล่ม ที่ว่าด้วย สงครามต่อต้านการก่อการร้ายของประเทศจีน จากเหตุการณ์การโจมตีพลีชีพในเมืองคุณหมิงซึ่งถูกเรียกว่า “เหตุการณ์ 9 กันยายนของประเทศจีน” รัฐบาลจีนได้เชื่อมโยงเหตุการณ์ดังกล่าวเข้ากับกลุ่มมุสลิมอุยกูร์ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลบอกว่า “นี่คือการแปรเปลี่ยนเป็นกลุ่มก่อการร้ายตาลีบัน” ในขณะเดียวกันนั้นซึ่งกำลังอยู่ภายใต้การหวาดระแวงการลุกฮือของกลุ่ม IS (Islamic State) ทำให้รัฐบาลจีนเชื่อไปว่านี่คือการก่อการร้ายในคราบของคนธรรมดา ทำให้รัฐบาลจีนขึ้นบัญชีโซเชียลมีเดียอย่างวอตส์แอปป์ว่าเป็นอาชญากรรมที่ยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งอาจจะถูกจับกุมหรือกักขังได้ เพราะรัฐบาลจีนเชื่อว่า ชาวมุสลิมอุยกูร์กำลังใช้แอพพลิเคชันนี้ในการติดต่อสื่อสารกับโลกมุสลิมภายนอกอย่างตุรกีและคาซัคสถาน ซึ่งชาวอุยกูร์ส่วนใหญ่ในเวลานั้นก็ไม่ได้ติดขัดข้องใจต่อข้อบังคับดังกล่าวเพราะคิดว่าคงไม่เกิดการบังคับใช้อย่างจริงจัง
ไบเลอร์กล่าวถึงบทความที่ปรากฏหลักฐานว่าบริษัทอาลีบาบามีความร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีอย่าง iFLYTEK คู่ค้าทางธุรกิจรายสำคัญของเหม่ยย่า พิโค่ (Meiya Pico) และไฟเบอร์โฮม (FiberHome) ซึ่งเป็นสองบริษัทพิสูจน์หลักฐานทางดิจิทัล กำลังตรวจจับการสนทนาทางโทรศัพท์ การใช้อินเทอร์เน็ต การจับจ่ายซื้อของ อีเมล์ ข้อความและวีดีโอ อาลีบาบาชี้ว่าในตะวันตกก็มีบริษัทอย่าง Amazon และ Google ก็กำลังทำแบบเดียวกัน พวกเขาบอกว่านี่คือบทบาทของการต่อต้านการก่อร้ายของชาวมุสลิมในประเทศจีน ซึ่งบริษัทพวกนี้กำลังดำเนินการภายใต้โครงการโล่ทองของกระทรวงความมั่นคงแห่งประเทศจีน ไบเลอร์เปรียบเสมือนว่า เหมือนกับ CIA อย่างไรอย่างนั้น
ปรากฏว่าในปี 2017 รัฐบาลจีนได้ลงทุนไปกว่า 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้กับบริษัทเอกชนในการก่อสร้างโครงการพื้นฐานหลากหลายรูปแบบ ซึ่งมีการคาดการณ์ในภายหลังว่า อุตสาหกรรมป้องกันภัยทางเทคโนโลยีในประเทศจีนโดยรวมแล้วมีมูลค่าถึง 100 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นี่จึงนับได้ว่าเป็นปีแห่งจุดเริ่มต้นของการเดินหน้าตรวจตราและจับกุมมุสลิมอุยกูร์ที่ทางการจีนกล่าวหาเป็นภัยต่อความมั่นคงต่อระบอบการปกครองของจีน
หนังสือเล่มนี้ ไบเลอร์พาเราผู้อ่านผ่านบทสัมภาษณ์ของคนที่เคยผ่านและมีส่วนร่วมเกี่ยวกับค่ายกักขังคนอุยกูร์ ทั้งคนที่โดนกักขังโดยข้อกล่าวหาในการใช้ VPN เพื่อสู่โลกอินเทอร์เน็ต คุณครูที่ต้องเข้าไปสอนภาษาจีนให้กับผู้ถูกจับกุม และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในซินเจียง
เวร่า โจว จบมัธยมจากโรงเรียนในมลรัฐโอเรกอน สหรัฐอเมริกา หลังจากเรียนจบเธอได้เดินกลับไปยังซินเจียงเพื่อไปหาแฟนและครอบครัวโดยที่เธอไม่รู้มาก่อนเลยว่า หลังจากต้นปี 2017 ทางการได้ออกกฎหมายรักษาความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ตฉบับใหม่ถูกนำมาใช้ในบ้านเกิดของเธอและทั่วทั้งซินเจียง แต่เวร่าก็ไม่ได้กังวลมากนักเพราะครอบครัวของแฟนเวร่าไม่ใช่ชาวอุยกูร์ แม้เวร่าจะมีบัตรประชาชนที่ระบุว่าเธอเป็นอิสลามก็ตาม ภายหลังเธอถูกจับกุมเข้าค่ายกักกันเพียงเพราะติดตั้งวอตส์แอปป์ในโทรศัพท์ ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่ถูกสั่งห้ามโดยกฎหมายของทางการจีน ในขณะถูกควบคุมตัวอยู่ท้ายรถตู้ เธอกรีดร้องออกมาและกล่าวว่า “ไม่ใช่ว่าประเทศเราให้การคุ้มครองผู้บริสุทธิ์หรอ” จนเจ้าหน้าที่ตอบสวนมาว่า “หุบปากเงียบ ๆ ไว้เถอะ”
เวร่าเล่าให้ฟังถึงกิจวัตรประจำวันที่ต้องทำในค่ายกักกัน เธอบอกว่าคนในค่ายกักกันส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ สื่อสารภาษาจีนไม่ได้ และถูกจับกุมมาโดยข้อหาปฏิบัติศาสนกิจ อย่างการไปละหมาดหรือรวมตัวที่มัสยิด ในแต่ละวันทุกคนจะต้องออกมาเรียนรู้ความเป็นจีนและสำนึกรักชาติ นั่งเรียนปรับทัศนคติผ่านวีดีโอ หากมีใครคัดค้านก็จะถูกแยกตัวออกไป ไม่รู้ไปไหน แต่ส่วนใหญ่ก็จะไม่ได้เจอกันอีกเลย ทุกคนต้องท่องคำขวัญในทุก ๆ วัน “พูดภาษาของประเทศนี้ จงรักมาตุภูมิ ต่อต้านภัยต่อแผ่นดินผู้ให้กำเนิด ไม่มีศาสนาในห้องนี้ ไม่ทำลายโทรทัศน์หรือสิ่งใดที่อยู่บนผนัง ห้ามการทะเลาะวิวาท ห้ามพูดคุยลับหลัง ห้ามพูดคุยกับคนในห้องขังอื่น นั่งเก้าอี้” ซึ่งระหว่างถูกกักกันก็ทำได้แค่นั่งบนเก้าอี้และดูรายการปรับทัศนคติทุกวัน
เวร่า เล่าให้ฟังว่า ความเป็นอยู่ด้านในนั้นแสนสาหัสมาก เพราะไม่สามารถรู้เวลาว่ากลางวันหรือกลางคืน เพราะภายในนั้นสว่างอยู่ตลอดเวลา แม้กระทั่งหลังจากที่เสร็จจากการเข้าปรับทัศนคติกลับห้องพัก ห้องพักก็ยังแสงสว่างจ้า และอยู่ด้วยกันอย่างอัตคัดแม้กระทั่งจานข้าวก็ต้องแบ่งกันใช้ ทุกสัปดาห์ผู้คุมจะให้ผู้ถูกกักกันทุกคนเขียนคำสารภาพผิด หรือรายงานความคิดเพื่อที่จะให้เห็นความคืบหน้า มิเช่นนั้นก็จะไม่มีวันที่จะได้ออกไปจากที่นี้
มีเจ้าหน้ามานั่งพูดคุยสอบสวนเพื่อให้ผู้ต้องขังได้สำนึกสารภาพสิ่งที่กระทำลงไปว่าผิด และเป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติของจีน เขาจะถามว่า “ทำไมคุณถึงทำแบบนั้นลงไป” เวร่าต้องตอบว่า “ฉันรู้ว่าฉันใช้วีพีเอ็น และมันไม่ปกป้องความมั่นคงของประเทศ” เจ้าหน้าที่ก็เอาแต่ถามว่า “คุณรักประเทศเราไหม” ในทุก ๆ เดือน เวร่าก็จะเจอสถานการณ์ที่ตึงเครียดแบบนี้อยู่อย่างน้อยหนึ่งครั้งในทุก ๆ เดือน
หลังกลับมาที่บ้าน เวร่าก็รู้สึกว่าตัวเองเปลี่ยนไป และยังคอยกังวลถึงคนที่ถูกกักกันอยู่ในค่าย ซึ่งหลายคนล้วนเป็นผู้สูงอายุ ไม่สามารถสื่อสารภาษาจีน และนับถือศาสนาอิสลาม เวร่าเอาแต่นึกว่า “ฉันรักประเทศชาติไม่มากพอไม่ได้ช่วยเหลือพรรครัฐบาลและประเทศชาติ แต่นี่ไม่ใช่ความผิดของฉัน มันเกิดจากความกลัวอิสลามที่แพร่กระจายและเพ่งเล็งมาที่ฉัน”
เคลไบเนอร์ ได้รับมอบหมายให้ไปสอนในค่ายกักกันโดยที่ไม่มีทางปฏิเสธ เพราะนี่คือคำสั่งจากทางการของจีน ซึ่งทางการจีนบอกว่านี่คือศูนย์ฝึกความรู้ของผู้ด้อยโอกาส แต่เมื่อไปถึงเขากลับไม่รู้มาก่อนเลยว่ามีที่แบบนี้อยู่ด้วย ตั้งแต่วันแรกที่เดินเข้าไป เจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธครบมือ กล้องวรจรปิดทุกซอกมุม แม้กระทั่งระบบจดจำเสียง กล้องวงจรปิดที่สามารถวิเคราะห์ได้แม้กระทั่งความรู้สึกจากใบหน้า รวมถึงระบบอัตโนมัติต่าง ๆ ที่ถูกติดตั้งอยู่ในค่ายกักกันแห่งนี้ เคลไบเนอร์เรียกมันว่านี่คือค่ายกักกันอัจฉริยะ
ครั้งหนึ่งในระหว่างสอน เคลไบเนอร์ได้ถามผู้ถูกกักกันว่า พวกคุณมาอยู่ที่นี่ได้อย่างไร แต่ก็ถูกตอบกลับด้วยภาษาที่เงียบงันภายในห้องที่มีกล้องวงจรปิด ทำให้เขารู้เลยว่า มีการตรวจตราผ่านกล้องวงจรปิดอยู่ตลอดเวลา ในภายหลังมีเจ้าหน้าที่ด้านการตรวจตราเดินมาพูดกับเคลไบเนอร์ว่า อย่าได้พูดหรือแสดงความเห็นในลักษณะนี้ออกไปอีกในขณะที่อยู่ในค่ายกักกัน เขาบอกเคลไบเนอร์ว่า “ครั้งนี้คุณโชคดีที่ผมเข้าเวรดูกล้องวงจรปิดเอง ไม่อย่างนั้นคุณก็จะกลายเป็นหนึ่งเหมือนคนที่ถูกกักกันอยู่ในค่ายนี้”
เคลไบเนอร์ได้เล่าในช่วงหนึ่งของการสัมภาษณ์ว่า นี่เป็นค่ายกักกันที่น่าตะลึง เพราะเจ้าหน้าที่สามารถเห็นใบหน้าของผู้ถูกกันได้ตลอดเวลา แม้กระทั่งอยู่ในที่แสงน้อยมาก ๆ ก็ยังเห็นว่าคนในภาพคนนั้นคือใคร และเมื่อเจ้าหน้าที่คลิกไปที่ใบหน้าแต่ละคน ก็จะขึ้นข้อมูลด้านข้างอย่างประวัติส่วนตัวและข้อมูลอื่น ๆ ที่ยาวเหยียด นี่เป็นระบบที่โคตรอัจฉริยะ แต่มันถูกกลับมาเอาใช้กับการกดขี่มนุษย์ด้วยกัน
เทคโนโลยีเหล่านี้ไม่ใช่เพียงแค่ถูกใช้จำกัดวงอยู่ในค่ายกักกัน แต่มันมีอยู่ทั่วทั้งซินเจียง เอาไว้ตรวจตราและสอดส่องพฤติกรรมของผู้คน สิ่งที่ยืนยันสิ่งเหล่านี้ได้คือเจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบสมาร์ตโฟนของพลเมืองทุกคน เสียบเข้ากับเครื่องสแกนบางอย่าง หากใครถูกตั้งข้อสงสัยก็จะถูกจับกุม และทั้งหมดนี้เกิดขึ้นกับแค่คนอุยกูร์ที่ตกเป็นเป้า อีกทั้งยังพบบันทึกรายงานการเงินการลงทุนของรัฐบาลจีนกับบริษัทเอกชนและคู่ค้าพันธมิตรบริษัทเทคโนโลยี ไบเลอร์บอกว่าบางครั้งเราอาจเป็นผู้สนับสนุนบริษัทเหล่านั้นอยู่ก็ได้
แม้ในช่วงหลังสุขภาพของเคลไบเนอร์จะป่วยจนได้รับการอนุญาตให้ออกจากตำแหน่ง เขาได้เดินทางไปอยู่กับลูกสาวที่ยุโรป แต่เรื่องราวในค่ายกักกันยังตามหลอกหลอนเขา แม้เขาจะบอกว่านี่คือความโหดร้ายที่กลายเป็นเรื่องทั่วไป เห็นทุกวันจนชินตา แต่เขาก็สำนึกผิดและมองว่าตัวเองเป็นคนเลวเพราะไม่กล้ายืนยันในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิ่งเดียวที่ยังพอทำได้ในช่วงสุดท้ายของชีวิต คือออกมาพูดเรื่องราวที่เกิดขึ้น
ไบมูรัต เป็นชาวเมืองฉีไถและเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยชุดแรก ๆ ที่ได้รับการว่าจ้างในช่วงปลายปี 2016 ไบมูรัตให้เหตุผลของความจำเป็นที่ต้องรับงานเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยว่า “นี่เป็นเหตุผลเดียวที่จะปกป้องครอบครัวเขาจากระบบปรับทัศนคติ” ไบมูรัตคือหนึ่งในคนมุสลิมที่ทางการจีนจ้างเพื่อดูแลค่ายกักกัน แต่เขาก็ต้องถูกตรวจสอบจากระบบป้องกันบุคคลสองหน้า คือหน้าหนึ่งให้การภักดีต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนและอีกหน้าหนึ่งคือสนับสนุนกลุ่มความคิดของคนมุสลิมอุยกูร์ ไบมูรัตบอกว่าสิ่งที่เขาต้องพบทุกวันคือการสแกนเครื่องโทรศัพท์ และถูกติดตามเฝ้ามอง จนผ่านไปหกเดือน ไบมูรัตก็ได้รับความไว้วางใจจนได้รับเครื่องแสกน ที่เพียงแค่เอาบัตรประชาชนหรือโทรศัพท์มาเสียบ ก็จะขึ้นข้อมูลของบุคคลนั้นว่ามีอะไรปิดบังหรือไม่ สมควรต้องเข้ารับการปรับทัศนคติในค่ายกักกันหรือไม่
“พวกเราสามารถหยุดรถคันไหนก็ได้บนถนนตามที่เราต้องการขอตรวจ พวกเราจะขอให้คนบนรถแสดงบัตรประชาชนและโทรศัพท์ถ้ามีอะไรที่น่าสงสัยอย่างที่ผมพูดไป พวกเราจะต้องแจ้งผู้บังคับบัญชา”
ไบมูรัตเล่าว่า พวกเขาเปลี่ยนแปลงโรงเรียนให้กลายเป็นคุก เสริมด้วยเหล็กหนา มีหอตรวจตราทั่วทั้งสี่มุม ใครเดินผ่านและน่าสงสัยก็จะถูกจับเข้าค่ายกักกัน โดยเฉพาะคนมุสลิมที่ไปมัสยิดละหมาดหรือสวมผ้าโพกหัว “ในช่วงต้นปี 2018 พวกเราได้รับคำสั่งแจ้งว่าให้ขนย้ายผู้ถูกกักกัน พวกเราได้รับกุญแจมือหลายอันมาก เมื่อไปถึงก็เห็นคนที่ถูกจับกุมไว้ประมาณ 600 คน ผมเห็นเด็ก หญิงสาว หญิงสูงวัย และคุณลุงไว้หนวด (อายุเกิน 55 ปี) พวกคนที่ถูกจับกุมเป็นชนกลุ่มน้อยทั้งหมด” ไบมูรัตบอกว่าเขารู้สึกแย่ที่ต้องทำแบบนี้ทุกวัน
ในช่วง 2017 ถึง 2020 ทั้งรายงานจากสื่อและการสัมภาษณ์ของไบเลอร์ สำนักงานอัยการประจำเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์รายงานว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีตามกฎหมายในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์กว่า 533,000 คน และเมื่อดูจากอัตราการตัดสินว่ามีความผิดของศาลในประเทศจีนนั้นสูงกว่า 99 เปอร์เซ็นต์ จึงทำให้เชื่อได้ว่าคนเหล่านี้ก็ถูกสั่งลงโทษตามกฎหมาย ผู้ถูกกักกันหลายแสนคนถูกสั่งให้ใช้แรงงานในโรงงานของเครือข่ายค่ายกักกัน นี่จึงสะท้อนว่าบริษัทเอกชนและรัฐบาลจีนได้เข้าควบคุมชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวอุยกูร์ไว้อย่างเบ็ดเสร็จ
และจากรายงานภายในประเทศไทย ก็ยังพบว่าในปี 2556 มีชาวอุยกูร์ลี้ภัยเข้าไทยกว่า 350 คน มีบางส่วนถูกส่งตัวกลับให้ทางการจีนในเวลาภายหลังแม้จะเสียงคัดค้านจากข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติและยังไม่ทราบชะตากรรมจวบจนปัจจุบัน ในปี 2558 ทางการไทยได้อนุญาตให้ชาวอุยกูร์ 173 คนเดินทางไปยังตุรกี แม้จะได้รับเสียงคัดค้านจากประเทศจีน เพราะผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ทั้งหมดหวังพึ่งไทยเป็นเพียงแค่ทางผ่านเพื่อเดินทางไปยังมาเลเซีย ซึ่งหมุดหมายของการลี้ภัยอยู่ที่ประเทศตุรกี ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ สิ้นปี 2565) ยังมีชาวอุยกูร์กว่า 50 คนถูกกังขังอยู่ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองของประเทศไทย มีความพยายามทั้งจากนักการเมือง กลุ่มคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนคัดค้านการส่งตัวชาวอุยกูร์เหล่านี้กลับให้ทางการจีน เพราะไม่สามารถทราบชะตากรรมหลังจากถูกส่งตัวคืนให้ทางการจีนได้ ซึ่งถือเป็นการละเมิดตามอนุสัญญาปีค.ศ. 1951 ว่าด้วยสถานะผู้ลี้ภัยของ UNHCR
หนังสือ: ค่ายนรกในซินเจียงอุยกูร์ In the Camps: China’s High-Tech Penal Colony
Darren Byler เขียน ณัฐธีร์ ฤทธิเดชเกรียงไกร แปล
สำนักพิมพ์ นิสิตสามย่าน
PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี