ทำงานเก็บเงิน-สุขสม-รมขยะ - Decode
Reading Time: 4 minutes

“ก่อนหน้านี้ไม่เคยได้เปิดหน้าต่าง”

ผมนั่งอยู่บนโซฟาในบ้านหลังหนึ่ง ภรรยาเจ้าของบ้านเดินหยิบขวดน้ำมาเสิร์ฟ แต่ดูออกว่าเธอเร่งรีบในเช้าวันอังคาร เพราะกำลังเตรียมออกไปทำงาน

หันมองรอบ ๆ บ้าน มุมหนึ่งถูกดัดแปลงเป็นโต๊ะทำงานที่มีอุปกรณ์การช่างครบมือ บนผนังมีแผงอะไหล่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผมกวาดสายตา เดาเอาว่าบ้านหลังนี้กลางวันอากาศคงร้อน เพราะห้องโถงแม้ขนาดย่อม แต่มีพัดลมอยู่ตามมุมถึง 4 ตัว

“เดี๋ยวไปก่อนนะ ฝากด้วยนะคะ”

ประโยคแรกภรรยาพูดกับสามี ส่วนประโยคหลังเธอพูดแล้วมองมาที่ผม

เปิดประตูแล้วเดินออกไป

ชายเจ้าของบ้านเดินวนไปวนมา ก่อนหยิบแผ่นฟิวเจอร์บอร์ดและปากกาเมจิกสีแดง เขาประเมินว่าจำเป็นต้องเล่าเรื่องพร้อมเขียนอธิบายประกอบเพราะเรื่องราวมันซับซ้อน เขาพลิกมาด้านที่ว่าง แต่มีรูปหัวใจเลือน ๆ ดูเหมือนเป็นลายมือเด็ก

โต๊ะทำการบ้านและเก้าอี้เล็ก ๆ วางอยู่  ไม่ไกลกันมีรองเท้านักเรียนสองคู่

บ้านแสนสุขได้ 2 ปี ‘ทนกลิ่น’ มา 4 ปี

ป้ายสีเหลืองเล็ก ๆ หน้าบ้านหลังหนึ่งในหมู่บ้านอิมพีเรียล ปาร์ค หมู่บ้านจัดสรรขนาดไม่ใหญ่ในเขตประเวศ มีข้อความเขียนว่า “บ้านช่างเอก รับซ่อมเครื่องซักผ้า ทีวี พัดลม แอร์ หม้อหุงข้าว และเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด”

บ้านหลังนี้เป็นน้ำพักน้ำแรงของ อภิชาติ ปิติวิมลพัฒน์ หรือ “ช่างเอก” ของเพื่อนบ้านและลูกค้า เขาบอกว่าเคยมีบ้านหลังแรกอยู่ลาดพร้าว ต่อมาเขาอยากขยับขยายครอบครัวเลยมาหาที่อยู่ใหม่ ตัดสินใจขับรถตะเวนหาบ้านกับแฟน สุดท้ายมาเจอหมู่บ้านนี้ เขาเริ่มอดออมเก็บเงิน ก่อนตกลงปลงใจย้ายมา

“ก็อยากจะมีอากาศที่ดี ครอบครัวก็อยากให้อบอุ่นคุณภาพชีวิตดีขึ้นแล้ว มีสิ่งแวดล้อมที่ดี ก็เลยกัดฟันมาซื้อนะครับ”

ฝันเรียบง่ายพื้นฐาน มีบ้าน สร้างครอบครัว หาพื้นที่กว้างขวางปลอดโปร่งให้ลูก ช่างเอกบอกว่ามาช่วงแรกเห็นว่าแถวนี้มีโรงงานคัดแยกขยะ แต่มันเป็นกลิ่นขยะสดที่ลอยตามลม ผ่านมาแล้วผ่านไป บวกลบคูณหารแล้ว ช่วงอากาศดีมากกว่าช่วงเหม็น เขารับได้

หลังจากย้ายมาอยู่ ช่างเอกไปชวนน้องสาวมาอยู่บ้านติดกัน ทุกคนมีความสุขกับบ้านและสภาพแวดล้อมใหม่ ตื่นเช้า ทำงาน ตกเย็นสอนการบ้าน แล้วพาลูกวิ่งเล่นสนามหญ้าส่วนกลางในหมู่บ้าน เขามีความสุขพื้นฐานแบบนี้อยู่เพียง 2 ปี

“ความสุขอยู่ได้ประมาณสองปี พอปีที่สามเริ่มมีแล้ว ทางเขาก็บอกว่า ไม่มีอะไรครับ ไม่มีอะไร”

ช่างเอกพาผมมายืนหน้าบ้าน ชี้ไปช่องว่างจุดที่ลมผ่าน เขาบอกผมโชคดีมาตอนช่วงที่โรงงานถูกสั่งให้หยุด เลยไม่มีโอกาสได้สัมผัสกลิ่นเหม็นที่ชาวบ้านทนกันมากว่า 4 ปี

เขาพาผมเดินไปข้างบ้าน มองข้ามรั้วไปผมเห็นสิ่งก่อสร้างสีเขียวขนาดใหญ่ ช่างเอกบอกว่าบ้านของเขาห่างจากสิ่งก่อสร้างนี้ประมาณ 85 เมตร

โดมสีเขียวขนาดใหญ่ที่เห็นได้จากบ้านของช่างเอก คือส่วนหนึ่งของโรงกำจัดมูลฝอยเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า ก่อสร้างเสร็จและเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2563

มันเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช เขตประเวศ มีพื้นที่ประมาณ 580 ไร่ เป็นศูนย์ในการจัดการขยะคิดเป็นครึ่งหนึ่งของปริมาณขยะที่เก็บได้ใน กทม. โดยมีปริมาณขยะที่เข้ามาประมาณ 3,800 ถึง 4,000 ตันต่อวัน

โครงการบริหารจัดการมูลฝอยชุมชนด้วยเทคโนโลยีเชิงกล-ชีวภาพ (MBT) เพื่อผลิตพลังงาน ขนาดไม่น้อยกว่า 800 ตันต่อวัน

ภายในประกอบกิจการโรงงานผลิตเชื้อเพลิงแข็งจากขยะชุมชน โรงงานผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำหมักขยะมูลฝอย และโรงงานผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ โดยเป็นความรับผิดชอบของบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด

หลังจากสร้างเสร็จ ชาวบ้านได้ร้องเรียนเรื่องผลกระทบจากกลิ่นเหม็นรุนแรงเพราะอยู่ท่ามกลางพื้นที่อยู่อาศัยของชุมชน สถานศึกษา ศาสนสถาน และหมู่บ้านอิมพีเรียล ปาร์ค ที่ช่างเอกอาศัยอยู่ห่างจากโรงกำจัดขยะแห่งนี้ประมาณ 100 เมตร และเมื่อลมพัด “สรรพกลิ่น” ก็ลอยมาตามลม

สรรพกลิ่น

“เดี๋ยวมีหลายกลิ่นนะ ต้องค่อย ๆ อธิบาย”

ช่างเอกเริ่มอธิบายการทำงานของโรงกำจัดมูลฝอยเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าผ่านการเขียนบนฟิวเจอร์บอร์ด เขาเขียนว่าโรงงานแต่ละจุดปล่อยกลิ่นอย่างไรบ้าง ไล่เรียงแต่ละจุด

เขาเขียนผลกระทบของโรงงานขยะด้วยปากกาสีแดง มันทับรอยหัวใจลาง ๆ สีน้ำเงิน ร่องรอยเก่าจากผลงานศิลปะของลูก

ช่างเอกเล่าผ่านกลิ่น เริ่มจากหลังจากขยะถูกนำเข้ามาในโรงงานกลิ่นแรกที่จะมาคือ “กลิ่นขยะสดจะออกนวล ๆ เลย”

แล้วพอเขาคัดแยกขยะเสร็จ ก็จะเอาขยะไปบีบอัดด้วยเครื่องบีบ กลิ่นต่อมาคือ “กลิ่นน้ำเน่า” แต่ถ้าเรียกแบบภาษาราชการก็ น้ำชะมูลฝอย

หลังจากนั้นก็ไปสู่การหมักเพื่อผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อนำไปใช้ผลิตไฟฟ้า ซึ่งก๊าสนี้มีกลิ่นออกมาช่างเอกบอกว่าพูดให้เห็นภาพก็คือ “แก๊สไข่เน่า”

จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการทำ RDF (Refuse Derived Fuel) โดยทั่วไปนิยมเรียกว่า เชื้อเพลิงขยะ เจ้าสิ่งนี้คือผู้ชนะเลิศในหมู่มวลกลิ่น ช่างเอกย้ำว่าคือที่สุดของความเหม็น “ขยะ RDF มีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว เหม็นจี๊ด ได้กลิ่นแล้ว น้ํามูกจะไหล แล้วจาม”

ช่างเอกบอกว่าชาวบ้านแถวนี้อยู่กับสารพัดกลิ่นเหม็น จนสามารถนึกภาพออกแล้วว่าถ้ากลิ่นนี้มาโรงงานกำลังอยู่ในขั้นตอนไหน เพราะมันมีลำดับชัดเจนเป็นกิจวัตรตายตัว

“จํากลิ่นได้หมดแล้ว มีข้อดีอยู่อย่างเดียวคือช่วงโควิด ถ้าเราแยกกลิ่นได้เรายังไม่เป็นโควิด แค่นั้นเอง นี่ตลกฝืดนะ”

ช่างเอกบอกว่าในช่วงที่โรงงานขยะทำงาน จะพาลูกออกไปข้างนอกเท่าที่ทำได้ ครอบครัวเขาทุกข์ทรมาน บางวันไม่อยากกลับบ้านตัวเอง เพราะไม่รู้จะแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร

วันหนึ่งลูกชายเดินมากอดช่างเอก “แล้วก็บอกว่าพ่อเหม็น ผมก็พูดไม่ออก”

“จริงจริงแล้วถามว่าวันหยุดเราอยากอยู่บ้านไหม อยากอยู่ เราก็อยากอยู่บ้านกับลูก อยากเล่นกับลูกวันหยุด เราก็อยากมีชีวิตปกติ”

ก่อนหน้านี้ช่างเอกไม่มีความรู้เรื่องโรงงานกำจัดขยะ แต่เพื่อให้คุยโต้เถียงกับคนของโรงงานได้ เขาตั้งใจศึกษาหาความรู้ กลายเป็นฝ่ายข้อมูลให้กับคนในหมู่บ้าน เพราะที่ผ่านมาเขาสังเกตว่าถ้าไม่มีความรู้เท่าทัน ชาวบ้านก็ได้แต่พยักหน้าตาม

“เราต้องไปดูว่าโรงงานเขามีส่วนประกอบอะไรบ้าง เหม็นตรงจุดไหน เราจี้เขาเป็นจุด ๆ ผมมองว่าคุณมาทําโรงงานเป็นพันล้านขนาดนี้ คุณจะต้องรู้แล้วว่าทิศทางลมมันอยู่ตรงไหน ความอัดของอากาศมีปริมาณเท่าไร คํานวณการระบายกลิ่น การบําบัดกลิ่น คุณต้องคํานวณได้หมดแล้ว ไม่ใช่เกิดอะไรแบบนี้”

ช่างเอกบอกว่าตั้งแต่กุมภาพันธ์เป็นต้นมาชีวิตเขาและคนในหมู่บ้านมีความสุขมาก เพราะกรมโรงงานสั่งปิดปรับปรุงแล้วให้โรงกำจัดมูลฝอยเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าแห่งนี้ทำแผนปรับปรุงฉบับใหม่ส่งเข้าไป ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะอนุมัติแผนหรือไม่

“ทำไมบ้านช่างเอกมีพัดลมหลายตัว” ผมถาม

ช่างเอกอธิบายว่านี่เป็นวิธีการแก้ปัญหาเพื่อให้อากาศระบายไวที่สุด เปิดเพื่อระบายผลักดันอากาศเหม็นออกไป เคยใช้เครื่องฟอกอากาศ แต่ไม่นานก็พัง พัดลมเลยกลายเป็นคำตอบ วันนี้บ้านช่างเอกเปิดหน้าต่างรับลมได้อย่างปกติ พัดลมทั้ง 4 ตัวเปิด เขาไม่ต้องเปิดแอร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาอยากทำมาโดยตลอด

แค่ 10 เมตร “เหมือนมีส้วมอยู่หน้าบ้าน”

ช่างเอกเล่าว่าหลังจากต่อสู้ฟ้องหน่วยงานต่าง ๆ กลุ่มหมู่บ้านอิมพีเรียล ปาร์ค ได้ไปเจอว่ามีชาวบ้านอีกกลุ่มที่เจอหนักว่าพวกเขา เพราะอยู่ห่างกับโรงกำจัดขยะเพียง 10 เมตร

“เราเริ่มจะเจอมวลชนที่เกาะลอยนะ เราจูนกันติดเราก็คุยกัน เขาอยู่ใกล้จะคอยได้ยินเสียงฟังเสียงอะไรตลอด ซึ่งเสียงดังเนี้ย ก็คือผลกระทบอย่างหนึ่ง กลุ่มของบ้านพี่ยุพาจะได้ยินเสียงหนักกว่าเรา ผมยอมรับเขาเลยว่าเขาอดทนมาก” ช่างเอกพูดถึงพี่ยุพา

“ยุพา” ที่ช่างเอกพูดถึง เป็นชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ที่ชุมชนจระเข้ขบ (เกาะลอย) มาหลายสิบปี เธอบอกว่าสามีเธอเป็นเกิดที่นี่อยู่มาตั้งรุ่นบรรพบุรุษ ส่วนเธอย้ายมาอยู่ประมาณ 30 ปี

ยุพา เล่าติดตลกว่าแต่เดิมคนแถวนี้ก็เคยชินกับโรงงานขยะเพราะมีมานานแล้ว แต่มันเป็นคนละแบบ กลิ่นขยะสดทั่วไปลอยมาแล้วก็ลอยไป มันมีจุดเริ่มแล้วจุดจบ อาจเหม็นหน่อยตอนหน้าหนาว แต่ก็ยังทนได้

แต่ถ้าเทียบกับกลิ่นที่เกิดจาก “โครงการบริหารจัดการมูลฝอยชุมชนผลิตพลังงานขนาดไม่น้อยกว่า 800 ตัน” ที่เพิ่งแล้วเสร็จในปี 2563 กลิ่นนี้มันคนละแบบ มันเป็นกลิ่นสารเคมี เกินกว่าที่คนในชุมชนจะรับไหว มันทำเธอนั่งร้องไห้เกือบทุกวัน

“ถ้าพูดก็เหมือนส้วมตรงหน้าบ้าน อืมประมาณนั้นแหละ ไม่ใช่หน้าบ้านในบ้านเลย” เธอรีวิวกลิ่น

อืมมม ผมว่าผู้อ่านคงพอเห็นภาพ 

“ใช้ชีวิตลําบากไหม”

“ลําบากมาก (ลากเสียงยาว) ลําบากมากตรงที่ว่าเราไม่มีอากาศบริสุทธิ์หายใจ คือหายใจก็มีแต่กลิ่นเหม็น กลิ่นที่พะอืดพะอม”

บ้านของยุพาเป็นร้านขายของชำ เธอเล่าติดตลกว่าในช่วงเริ่มสร้าง วิศวกร บางคนของโครงการยังมาใช้น้ำใช้ไฟบ้านเธอ คำหวานที่บอกว่าจะสร้างงานสร้างความเจริญเป็นสิ่งที่ชาวบ้านอย่างเธอได้รับ บางวันเธอเลี้ยงน้ำเลี้ยงขนม

“พอสร้างเสร็จไม่เห็นหน้าเลยนะคนพวกนี้”  ยุพาพูดแล้วก็ขำ

ยุพาเล่าว่านอกจากสารพัดกลิ่นที่สุดแสนจะเหม็นที่ห่อหุ้มชุมชน เสียงเป็นอีกสิ่งที่สร้างความทรมาน ตั้งแต่โรงงานสร้างเสร็จเธอไม่เคยหลับสนิท สะดุ้งตื่นทุกคืน จากคนร่าเริงกลายเป็นคนขี้โมโห “พี่ทะเลาะกับแฟนบ่อยมาก ไม่อยากคุยกับใคร”

เธอบอกว่าคนแถวนี้จะรู้เลยว่าวันไหนจะมีหน่วยงานหรือที่เธอใช้คำว่า “เจ้านาย” มาตรวจ เพราะหนึ่งวันก่อนหน้าชาวบ้านแถวนี้จะเจอกลิ่นสารเคมีล้างทำความสะอาดโรงงานขนานใหญ่ 

“โคตรหนักเลย เพราะต้องล้างทําความสะอาด ต้องฉีดน้ำยาไม่ให้มันมีกลิ่น เพราะคนเข้ามาตรวจจะได้ไม่ได้กลิ่น แล้วอีคนรอบบ้านรอบ ๆ ข้าง ๆ รับปัญหาตรงนี้เต็ม ๆ เลย ถ้าเจ้านายจะมา วันก่อนหน้านี้คือนรกเลย นรกชัด ๆ จมูกแสบไปหมด แสบจมูก แสบตา”

ยุพาเล่าว่าเธอพยายามทุกวิธีทาง หน่วยงานไหนที่คิดว่าร้องเรียนได้เธอลองมาหมดแล้ว บางหน่วยงานโบ้ยไปโบ้ยมา เธอจดเบอร์โทรไว้ทุกเบอร์ในสมุดประจำตัว

“โทรศัพท์ไปแจ้งกรมโรงงาน นั่งร้องไป โทรไปแจ้งเขตประเวศ เขตบอกว่าไม่ใช่ความรับผิดชอบของเขต ให้แจ้งสํานักสิ่งแวดล้อม เราก็แจ้งสํานักสิ่งแวดล้อม สํานักสิ่งแวดล้อมบอกว่าอยู่ในพื้นที่ไหน เขตประเวศใช่ไหมคะ แจ้งเขตเลยค่ะ เอ้า”

ระหว่างคุยกัน ยุพาเดินเข้าไปหยิบกระดาษแผ่นหนึ่ง “เดี๋ยวให้ดูนี่ก่อน ร่างไว้ แต่ยังไม่เคยส่ง”

“ต้องส่งนายกคนใหม่แล้วมั้งครับ”  ผมพูดกับเธอหลังเห็นข้อความบนกระดาษ

บนหัวกระดาษเขียนว่า “เรียนนายกรัฐมนตรี” มันเป็นจดหมายที่เธอเขียนไว้นานแล้ว แต่ยังไม่ได้ส่ง เพราะเธอไม่รู้จะหาทางออกกับปัญหานี้อย่างไร

ยุพาบอกว่าเธอเป็นแม่บ้านต้องอยู่บ้าน 24 ชั่วโมง ทำให้ได้รับผลกระทบเต็ม ๆ บางวันเธออยากหนีไปให้พ้น ๆ จากบ้าน แต่ก็ไม่มีที่จะไป เธอเล่าว่ามีครั้งหนึ่งเธอต้องขอให้สามีพาไปเที่ยวต่างจังหวัดนานเป็นสัปดาห์ พอถึงวันต้องกลับบ้านเธอไม่อยากกลับบ้านตัวเอง

ที่ผ่านมายุพาเคยได้เข้าไปประชุมเพื่อหาทางแก้ปัญหากับคนในโรงงาน รวมไปถึงการส่งคนมาคุยกับชาวบ้าน แต่เป็นการให้คนมาถามว่ากลิ่นเหม็นช่วงเวลาไหนบ้าง เสียงดังช่วงไหนบ้าง

ในมุมของยุพาบอกว่ามันใช่หน้าที่ของชาวบ้านต้องเสียเวลาทำมาหากินมาจดอะไรพวกนี้ เพราะกลิ่นก็มาจากโรงงานอยู่แล้ว ทำไมต้องให้คนที่ได้รับผลกระทบต้องมาคอยจด เธอเสนอทางออกที่เรียบง่ายกว่าคือให้หัวหน้าหรือคนมีตำแหน่งในโรงงานมานั่งทำงานที่บ้านเธอ

เธอสัญญาว่าจะเลี้ยงขนมเลี้ยงน้ำ

“เราเสนอว่ามามาบ้านฉันซิ ให้มานั่งที่นี่ คุยแม้กระทั่งผู้จัดการโรงงานให้เขามาทํางานที่นี่ จะได้รู้ว่ากลิ่นเป็นยังไง แต่ไม่มีใครมาสักคน ไม่มี”

ฟ้องรัฐครั้งแรก บาดแผลทางใจยังสาหัส

19 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ชาวประเวศ 98 คน ร่วมกับนักกฏหมายจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) ยื่นฟ้องศาลปกครองขอให้เพิกถอนใบอนุญาตโรงงานคัดแยกขยะ 800 ตัน และโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพจากน้ำหมักขยะ ของบริษัทกรุงเทพธนาคม ภายใต้ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยอ่อนนุช กทม.

ผู้ถูกฟ้องได้แก่ (1) ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (2) รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และ (3) คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน โดยยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง 2 ประเด็นสำคัญ

1. การออกใบอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงานในพื้นที่ตั้งที่ไม่เหมาะสม อยู่ติดพื้นที่อยู่อาศัยชุมชน ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างรุนแรง และเสี่ยงต่อมลพิษและอุบัติภัยจากโรงงาน เป็นการออกใบอนุญาตที่ขัดต่อกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2535) ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และระเบียบของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

2. ผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่ใช้อำนาจสั่งปิดโรงงานและเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน หลังจากสั่งปิดปรับปรุงโรงงานแล้วหลายครั้งแต่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้

โดยผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้ศาลเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานและใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และตรวจสอบการละเลยต่อหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามในการกำกับดูแลโรงงาน

อัมรินทร์ สายจันทร์ ทนายความมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม บอกว่าการยื่นฟ้องครั้งนี้เพื่อเป็นบรรทัดฐานถึงการใช้ประโยชน์ผังเมืองที่ส่งผลต่อชีวิตผู้คน

หรือพูดให้ชัดคือ มันเป็นเรื่องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม มันเป็นการละเมิดสิทธิการมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี การที่คนไม่สามารถออกมา สูดอากาศสะอาดที่ปลอดภัย ใช้ชีวิตได้ตามปกติมันคือสิ่งผิดปกติที่ละเมิดการใช้ชีวิต

“มันจะเป็นบรรทัดฐานการคุ้มครอง สิทธิการมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งแม้ว่าจะยังไม่ได้ถูกเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญของไทยโดยตรง แต่ว่าปัจจุบันทางสหประชาชาติ เขาก็รับรองเป็นที่ชัดเจนแล้วว่ามันเป็นสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่ง” ทนายความผู้ดูแลคดีย้ำ

ที่หน้าศาลวันนั้นเป็นวันที่ผมเจอช่างเอก และพี่ยุพาครั้งแรก ก่อนที่ผมจะตามมานั่งคุยกับที่บ้านของทั้งสองคน

ช่างเอก และพี่ยุพา เป็นหนึ่งในผู้ยื่นฟ้อง จากการสอบถามนี่เป็นคดีความที่ทั้งคู่ฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐครั้งแรก ใจหนึ่งก็กลัว แต่อีกใจก็ต้องสู้ เพราะการมีอยู่ของโรงงานเกือบสี่ปี ทั้งคู่บอกว่าสร้างบาดแผลทางสุขภาพกายและใจอย่างสาหัส

พี่ยุพาย้ำกับผมหลายครั้งเวลาให้อธิบายความทุกข์ที่เจอ เธอมักใช้คำว่า “เหมือนตกนรกทั้งเป็น”

ใต้อาคารศาลปกครองวันนั้น ผมสังเกตว่าตอนทั้งคู่ให้สัมภาษณ์สื่อ แววตาทั้งคู่มีน้ำตาคลอ ช่วงหนึ่งช่างเอกพูดว่า “ผมต้องการเพียงแค่อากาศบริสุทธ์ และชีวิตปกติคืน”

“ทำไมช่างเอกพูดแบบนั้นวันที่ไปศาล” ผมถามช่วงท้าย ๆ บนโซฟาที่บ้านของเขา

“เหมือนผมเอาลูกมาทรมาน มันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของเราหรือเปล่า เราควรจะมีอากาศดีดีหายใจบ้าง”

ช่างเอกบอกกับผม ไม่พูดอะไรมากกว่านั้น เขาพาผมเดินไปดูบรรยากาศในหมู่บ้าน วันนี้อากาศดี เขายิ้มแล้วบอกว่าช่วงเย็นจะมีเด็กออกมาวิ่งหรือปั่นจักรยานเล่น สนามหญ้าเยื้อง ๆ บ้าน จะมีคนมานั่งคุยกัน

ก่อนจากกันเขาพูดกับผมว่า “ผมฝากด้วยนะ”