รอยเท้าดิจิทัลที่ตามหลอกหลอนจากความ “ไม่รู้” - Decode
Reading Time: 2 minutes

Digital footprint หรือรอยเท้าดิจิทัล เป็นสิ่งที่เกิดจากการกระทำของเราบนสื่อดิจิทัลต่าง ๆ แม้ว่าสิ่งนั้นจะเกิดจากความ “ไม่รู้” แต่สิ่งที่ตามมานั้น ก็อาจส่งผลกระทบเป็นวงกว้างเกินกว่าที่เราจะเรียนรู้และรับมือได้ทัน จนสุดท้ายก็จะเป็นเหมือนเวลาที่เราได้เดินไปไหนก็จะมีรอยเท้าตามติดอยู่เสมอ แม้เราจะพยายามลบรอยเท้าดิจิทัลนั้นแล้ว แต่มันก็อาจยังคงอยู่ แล้วเราจะสามารถทำอย่างไรให้รอยเท้าเหล่านั้นไม่ให้มาหลอกหลอนเราในอนาคต

De/code พูดคุยกับ ปฏิญญา เปล่งแสงศรี ที่จะมานิยามความหมายและความกลัวที่มีต่อ Digital Footprint ในความคิดของ Gen Z และในอีกด้านของ ผศ.ดร.อลิชา ตรีโรจนานนท์ อาจารย์ประจำคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่จะมีการพูดถึงความหมายของรอยเท้าดิจิทัล และกระแสนิยมการใช้ “แอคหลุม” ที่จะสามารถป้องกันผลกระทบจากรอยเท้าดิจิทัลได้จริงหรือเปล่า นอกจากนี้ยังมีเรื่องหลักสูตรการรู้เท่าสื่อดิจิทัลที่ยังเข้าไม่ถึงผู้คน ทำให้เมื่อเกิดความ “ไม่รู้” ในการกระทำต่าง ๆ ก็ตามมาด้วยผลกระทบเป็นรอยเท้าตามติดที่ส่งผลต่อทั้งตัวเองและผู้อื่น

“การมี Digital Footprint ทำให้เรากลัวภาพจำในอดีตที่จะมาทำให้ภาพปัจจุบันดูแย่ เช่น ภาพตัวเองในอดีต ที่อาจจะมีความเปลี่ยนแปลงเยอะมาก และเราพยายามที่จะสวยขึ้นในแบบที่เราต้องการ ซึ่งก็คงไม่ชอบให้ใครมาขุดรูปที่ไม่สวยของเรามาล้อหรอก”  ปฏิญญา กล่าว

ซึ่งก็ทำให้เกิดความนิยมในการสร้างบัญชีส่วนตัวหรือที่มักจะเรียกว่า “แอคหลุม” ด้วยจุดประสงค์เพื่อความเป็นส่วนตัว การจำกัดจำนวนคนที่สามารถเข้าถึงสื่อที่เราเผยแพร่ได้ หรือในอีกแบบก็อาจมีไว้เพื่อตามส่องสิ่งที่เราสนใจ เพราะหากเราไปใช้บัญชีที่เป็นสาธารณะ เวลาเราไปกดไลก์ ติดตาม หรือคอมเมนต์ ในสิ่งที่เราสนใจนั้น อาจจะเป็นรอยเท้าที่ตามติดเราไม่ต่างกับการโพสต์รูปหรือวิดีโอลงในสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ทำให้การมีแอคหลุมจึงเป็นทางเลือกในการเสพสื่อโซเชียลมีเดียได้อย่างรู้สึกสบายใจมากขึ้น โดยที่ไม่ต้องมานั่งกังวลว่า สิ่งเหล่านั้นอาจกลับมาทำร้ายเราในอนาคตมากเท่ากับการมีบัญชีสาธารณะ

ในด้านของ ผศ.ดร.อลิชาได้พูดถึงความนิยมในการใช้บัญชีส่วนตัวของคนรุ่นใหม่ว่า “เกิดจากสิ่งที่เราอยากให้คนอื่นกับสิ่งที่เราเป็นจริง ๆ ต่างกัน ซึ่งเป็นการแสดงออกทั้งหมดให้กับทุกคนไม่ได้ ก็เลยจำเป็นต้องอาศัยขอบเขตหรือพื้นที่เฉพาะ เช่น แอคหลุม สำหรับการเป็นพื้นที่ที่จะเป็นตัวเอง”

ทำให้เกิดการความเชื่อมโยงไปที่ความกลัว กลัวที่จะให้คนอื่นจะรับรู้อีกด้านหนึ่งของเรา ทำให้การสร้างแอคหลุมแยกออกมาจากบัญชีสาธารณะ เพราะการที่เราพูดอะไรหรือการแสดงตัวตน มันก็ติดเป็นรอยเท้าดิจิทัล ซึ่งก็อาจจะมีผลกระทบที่จะตามมา และอาจจะมีการถูกตัดสินจากคนอื่น

แต่ในความกลัวเหล่านั้น ก็อาจจะเป็นระบบป้องกันภัย ทำให้เราไม่ต้องเสี่ยงทำบางอย่างที่มีราคาที่ต้องจ่ายจากผลกระทบสูง และมีพื้นที่แบบ “แอคหลุม” ก็ทำให้มีอิสระที่ทำให้เกิดพื้นที่ที่จะแสดงตัวตนได้อย่างไม่ต้องกังวลมากนัก เพราะมีการจำกัดขอบเขตคนที่สามารถเข้าถึงสื่อได้ และอาจเป็นพื้นที่ที่ไม่ต้องกลัวว่า ใครจะมาขุดหรือถูกตัดสินมากเท่ากับการใช้บัญชีสาธารณะ ซึ่งก็ทำให้เกิดคำถามต่อมาว่า

Freedom of speech ถูกจำกัดกว่าแต่ก่อนหรือเปล่า?

ผศ.ดร.อลิชา ตอบคำถามว่า “เรื่องที่จะพูดก็ไม่ต่างจากเดิมเท่าไหร่ มีทั้งประเด็นที่พูดได้ในที่แจ้งและต้องแอบพูดในที่มีคนได้ยินอย่างจำกัด แต่ในปัจจุบันมีแพลตฟอร์มที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้อะไรที่ไม่เห็นถึงสมัยในก่อน ทำให้ในปัจจุบันก็ถูกเห็นมากขึ้น เพราะแพลตฟอร์มดิจิทัลทำให้ผู้คนสามารถรับรู้ถึงบทสนทนาต่าง ๆ ของเราได้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน”

ทำให้เกิดความธรรมดาใหม่ที่เปลี่ยนจากเดิม เช่น สมัยก่อนการตระหนักเรื่องการบูลลี่หรือล้อเลียนคนยังมองเป็นเพียงเรื่องตลก แต่ในสมัยนี้ที่คนรับรู้ถึงผลกระทบหรือข้อเสียมากขึ้น ก็ทำให้ความธรรมดาที่สมัยก่อนอาจจะคิดว่า ไม่เป็นไร ก็กลับทำให้คนต้องยิ่งคิดมากขึ้น ก่อนที่จะพูดถึงอะไร ซึ่งการที่มีคนตระหนักรู้มากขึ้น ก็ไม่ได้แปลว่า เสรีภาพในการพูด ถูกจำกัดมากขึ้น แต่ด้วยความก้าวหน้าของแพลตฟอร์มดิจิทัล ทำให้การมีปฏิสัมพันธ์ต่าง ๆ ระหว่างผู้คนสามารถทำได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น และเข้าถึงได้มากขึ้น

ความธรรมดาที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ก็ไม่ได้แปลว่า จะเป็นความธรรมดาอยู่ตลอดจนถึงปัจจุบัน และความธรรมดาเหล่านั้นก็อาจไม่ได้เป็นเรื่องถูกต้องเสมอไป แต่อาจจะเกิดจากความไม่รู้ของคนในสังคม จนเพิกเฉยต่อความธรรมดาที่แฝงด้วยความเข้าใจผิดเหล่านั้นไปด้วย ซึ่งก็สรุปได้ว่า การที่สังคมตระหนักรู้ถึงประเด็นต่าง ๆ ก็ไม่ได้ทำให้ Freedom of speech หรือเสรีภาพในการพูดลดน้อยลงเลย แต่เป็นการเพิ่มช่องทางที่คนจะมีปฏิสัมพันธ์มากขึ้น และสิ่งเหล่านี้จะทำให้ผู้คนสามารถเรียนรู้ถึงขอบเขตและการรู้จักรับผิดชอบต่อเสรีภาพในการพูดเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

ความ “ไม่รู้” ส่งผลใหญ่กว่าการ “รู้” ผลของการกระทำ

“คนไม่รู้ย่อมไม่ผิด” คงเป็นประโยคที่ใครหลายคนคงได้ยินอยู่บ่อย ๆ แต่เมื่อเราหันมามองจากประโยคนั้น มันเป็นการสร้างค่านิยมที่ผิดหรือเปล่า เพราะความไม่รู้เหล่านั้นอาจจะส่งผลกระทบหรือสร้างบาดแผลให้กับใครสักคนที่เกิดจากใครที่ใช้ความ “ไม่รู้” เหล่านั้นมาใช้เป็นข้ออ้างในการปกป้องตัวเองหรือเปล่า

ผศ.ดร.อลิชา มีมุมมองต่อประเด็นดังกล่าวว่า “ไม่รู้แล้วไปทำผิดในทางปฏิบัติมันมีความเป็นไปได้ที่จะก่อผลเสียได้รุนแรงกว่าคนที่รู้ เพราะเขาไม่รู้ถึงขอบเขตของสิ่งนั้น ความเสียหายก็เกิดผลกระทบมากยิ่งขึ้น ซึ่งความไม่รู้กับความเสียหายมันเป็นคนละเรื่องกัน ทำให้ในการที่เราจะเข้าถึงหรือใช้อะไร เราก็จำเป็นต้องให้รู้ก่อน พอรู้ว่าเป็นอะไร ถึงจะรู้ฟังก์ชันว่าทำอะไรได้บ้าง แล้วเราสามารถจะทำอะไรได้บ้าง”

เท่าทันสื่อ แต่ยังไม่เท่าทันคน

จากผลกระทบของความ “ไม่รู้” ที่เราจำเป็นต้องมีหลักสูตรการรู้เท่าทันสื่อดิจิทัลสำหรับการศึกษาในระบบและนอกระบบ เนื่องด้วยสาเหตุความก้าวหน้าของแพลตฟอร์มหรือสื่อดิจิทัลต่าง ๆ ที่มีความก้าวหน้าเร็วมาก จนในบางทีผู้คนอาจจะไม่สามารถตามได้ทัน จึงจำเป็นต้องมีการสอนเกี่ยวกับเรื่องความฉลาดทางอารมณ์ เพราะการวิเคราะห์หรือประเมินเนื้อหาของสื่อได้ จำเป็นต้องมีทั้งความมั่นคงทางอารมณ์ การเห็นอกเห็นใจ หลักคุณธรรมและจริยธรรม ทำให้คนสามารถที่จะสามารถควบคุมอารมณ์ต่าง ๆ ในขณะที่กำลังใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลต่าง ๆ ทำให้สามารถ “หยุดคิด” เพื่อ “เข้าใจ” ถึงขอบเขตและผลกระทบของการใช้สื่อต่าง ๆ

ซึ่งต้องไม่ใช่แค่คิดเพียงแค่จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อคนอื่น แต่เราสามารถก้าวขึ้นได้อีกระดับ ความเดือดร้อนบางทีอาจไม่ส่งผลให้เห็น แต่ในการไม่เดือดร้อน เราเสียโอกาสที่จะไปให้ถึงเวอร์ชันที่ดีที่สุดของตัวเองเลยหรือเปล่า ถ้าเป็นแบบนี้การเดือดร้อนตัวเอง มันอาจไม่มี แต่อาจเป็นการเสียโอกาสไปสู่อนาคตที่ดีของเราไป อันนี้มันเป็นความเดือดร้อนที่แฝงอยู่ แล้วในแต่ละแพลตฟอร์มดิจิทัลคนแต่คนก็ล้วนเชื่อมโยงต่อกัน ทำให้เนื้อหาหรือบริบทต่าง ๆ ก็เป็นผลจากการสร้างเนื้อหาและการแสดงออกของเราของแต่ละที่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ก็เลยจำเป็นต้องไม่ใช่มองแค่ไม่เดือดร้อน แต่เราต้องลองมองดูว่า “เราสามารถได้รับคุณค่าจากสื่อที่เราได้สร้างมามากแค่ไหน”

รอยเท้าที่ไม่เคยลืมเรา กฎหมายจะเป็นตัวกำหนด ‘พฤติกรรม’

แม้ว่าความเข้าใจหรือเกณฑ์การพิจารณ์ถึงการสร้างรอยเท้าดิจิทัลของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน หรืออาจไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงของสังคม แต่เราสามารถใช้วิธีในการตัดสินใจของตัวเองหรือจิตสำนึกของตนในการตัดสินใจถึงการสร้างรอยเท้าดิจิทัลต่าง ๆ

ผศ.ดร.อลิชา พูดถึงเกณฑ์การตัดสินใจด้วยตัวเองว่า “ถ้าไม่แน่ใจว่า อะไรใช้ได้ อะไรใช้ไม่ได้ แล้วมันไม่ได้ขัดกับหลักกฎหมาย เช่น เราทำเรื่องนี้ แล้วเรารู้สึกว่ามันเป็นอะไรไหม คนอื่นเห็นได้ไหม คนอื่นรับรู้ด้วยได้ไหม ถ้าก็อาจจะได้นะ แปลว่าไม่ค่อยมั่นใจแล้ว ทำให้ทุกครั้ง ๆ ที่เราจะสร้างรอยเท้าดิจิทัลก็ต้องลองคิดวิเคราะห์ทุกครั้งก่อนที่จะทำอะไร”

แต่ในทางกลับกัน ผศ.ดร.อลิชา ก็ได้พูดถึงเกณฑ์ดังกล่าวว่า “อาจจะใช้เวลาตัดสินใจในการสร้างรอยเท้าดิจิทัลได้แค่ขอบเขตที่ตนรู้ แต่ก็อาจต้องใช้กฎหมายเข้ามาช่วยในส่วนนี้ด้วย เพราะหากมีการใช้กฎหมายมาเชื่อมโยงในส่วนนี้ ก็แสดงว่า สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ห้ามกระทำโดยเด็ดขาดไม่ว่าจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม เช่น การโพสต์ถึงข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลความลับขององค์กร การพูดถึงคนอื่นโดยก่อให้เกิดความเสียหาย เป็นต้น ซึ่งหากกระทำตามสิ่งที่ได้กล่าวมาข้างต้น ก็อาจได้รับโทษทางกฎหมาย ต้องชดใช้ค่าเสียหายต่าง ๆ และอาจมีประวัติการทำความผิดติดตัว”

จากประเด็นต่าง ๆ ทำให้เราก็จะพบเจอทั้งการเข้าถึง เข้าใจ และการควบคุม การใช้สื่อดิจิทัลต่าง ๆ และอีกสิ่งหนึ่งที่เราควรจะเข้าใจคือ เมื่อเราเติบโตขึ้น ความคิดเราก็จะเปลี่ยนไปด้วย แม้ว่าเราจะอายุเท่าไหร่ ณ วันที่เราคิดกับตัวเอง เราโตได้สุด ณ ตอนนั้น เราก็รู้สึกเรารู้อะไรมากกว่าตอนที่เราเป็นเด็ก ตอนอายุ 20 ปี เราไม่โตขนาดนี้เลยเหรอ พอตอนเราอายุ 30 ปี เราก็อาจคิดว่าเรารู้อะไรเยอะแล้ว แต่พออายุ 40 ปี เราก็โตขึ้นอีก เราก็ยังรู้เพิ่มขึ้นไปอีก เพราะเราสามารถเปลี่ยนไปได้อยู่ตลอดเวลา ทำให้เราต้องเข้าใจและยอมรับในความแตกต่างหลากหลาย รู้ทิศทางและขอบเขตของการแสดงถึงความคิดเราในแพลตฟอร์มต่าง ๆ แม้ว่าความเหมาะสมอาจจะมีเกณฑ์ที่ไม่ตายตัวของแต่ละสังคม แต่เราก็จำเป็นต้องเข้าในแต่ละบริบทของสังคมหรือแพลตฟอร์มดิจิทัลนั้น ๆ

“กฎหมายเป็นตัวกำหนดพฤติกรรม แต่สำนึกจะเป็นระบบประมวลผลการกระทำของแต่ละบุคคล ดังนั้นการเรียนรู้ตามเส้นทางที่ผ่านมา รู้จักรับผิดชอบในทุกก้าวที่กระทำ และการสร้างหลักสูตรการรู้เท่าทันสื่อดิจิทัล ก็จะทำให้เราสามารถเข้าใจและเรียนถึงประสบการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดีหรือไม่ดี แม้ว่าเราอาจจะลืมเส้นทาง แต่รอยเท้าไม่เคยลืมเรา ดังนั้นเราถึงควรเรียนรู้ถึงประสบการณ์ที่เราเคยผ่านมาด้วย นอกจากจะนึกสิ่งที่แย่จากรอยเท้าดิจิทัล”