ปีศาจยามวิกาล - Decode
Reading Time: 2 minutes

หากจะมีคำจำกัดความใดที่เหมาะที่สุด สำหรับ ‘ปีศาจยามวิกาล’ ก็คงบอกได้ว่า ปีศาจยามวิกาล เป็นหนังสือที่เต็มไปด้วยความคลุมเครือ

‘ปีศาจยามวิกาล’ เป็นหนังสือ ที่คงจะบอกได้ว่าคุณภาพ ไม่ได้ดี แต่ก็ไม่ได้แย่ โดย ‘ปีศาจยามวิกาล’ คือ นวนิยายเรื่องที่สามจากปลายปากกาของซุมิโนะ โยรุ ผู้เขียน ‘ตับอ่อนเธอนั้น ขอฉันเถอะนะ’ และ ‘ฝันถึงเรื่องนั้นอีกแล้ว’ แม้ตัวเนื้องานของปีศาจยามวิกาลจะด้อยกว่าสองงานแรกเกือบทุกด้าน แต่ยังนับว่าเป็นหนังสือที่มีคุณภาพ โดยถึงจะมีเนื้อหาที่หนัก แต่ยังอยู่ในขอบเขตที่เรียกได้ว่าอ่านง่าย

เนื้อหาของ ‘ปีศาจยามวิกาล’ เล่าถึงอาดาจิหรืออัจจี้ เด็กหนุ่มมัธยมต้นธรรมดาคนหนึ่ง ที่จู่ ๆ ก็เกิดกลายร่างเป็นปีศาจในเวลากลางคืนโดยที่หาสาเหตุไม่ได้ อาดาจิใช้ชีวิตกลางคืนเป็นปีศาจแบบนั้นนาน กระทั่งวันหนึ่งอาดาจิดันลืมการบ้านไว้ที่ห้องเรียน ทำให้เขาในร่างปีศาจมีเหตุต้องแอบเข้าไปโรงเรียน ก่อนที่จะพบกับซัทสึกิ ยาโนะ เพื่อนร่วมชั้นของเขาที่แอบหลบอยู่ในโรงเรียนเป็นประจำทุกคืน

มากกว่าแฟนตาซีและบูลลี่ในวัยเรียน

แม้จะเปิดเรื่องมาเป็นประเด็นแฟนตาซี แต่ความเป็นแฟนตาซีดังกล่าวมีลักษณะเป็นกิมมิคมากกว่าที่จะเป็นสาระสำคัญของเรื่อง โดยปีศาจยามวิกาลมีประเด็นสำคัญอยู่หลัก ๆ 2 ประเด็น โดยที่ความเป็นปีศาจถูกใช้เพื่อเป็นลูกเล่นในการพูดถึงสองประเด็นนี้ โดยเรื่องแรกเป็นเรื่องของการบูลลี่ในวัยเรียน

โดยเมื่ออ่านไปเราจะพอเข้าใจสถานการณ์ของเรื่องมากขึ้น และเริ่มรู้รายละเอียดต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น ยาโนะเพื่อนร่วมชั้นที่อาดาจิเจอในตอนกลางคืนและมีวิธีการพูดประหลาดนั่นเผชิญกับการกลั่นแกล้งในโรงเรียนทุกวัน ซึ่งอาดาจิก็ไม่ใช่กรณียกเว้น ในตอนกลางวันเขาเมินเฉยรวมถึงมีส่วนในการกลั่นแกล้งตัวยาโนะอยู่บ่อยครั้ง

ซึ่งยาโนะที่เป็นเป้าของการถูกกลั่นแกล้ง อาจจะเรียกได้ว่ามีอาการออทิสติกแบบอ่อน ๆ อยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสามารถในการอ่านบรรยากาศที่ย่ำแย่ วิธีการพูดที่ออกแนวแปลก ๆ และวิธีการแสดงออกที่นับว่าประหลาด ไม่รู้กาลเทศะ (โดยเฉพาะในมาตรฐานญี่ปุ่น)

หากแต่ความประหลาดของยาโนะไม่ใช่จุดเริ่มต้นของการถูกกลั่นแกล้งโดยตัวเอง หากแต่เป็นเพราะยาโนะนั่นเดินตรงไปมีเรื่องกับเพื่อนร่วมชั้นชื่อมิโดริคาวะที่กำลังอ่านหนังสืออยู่ดี ๆ แล้วโยนหนังสือของมิโดริคาวะทิ้งจากหน้าต่าง จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการถูกกลั่นแกล้งไปในที่สุด

สำหรับอาดาจิในตอนกลางวันนั่นมองว่าการที่ยาโนะถูกกลั่นแกล้งเป็นเรื่องที่สมควรแล้ว ซึ่งลักษณะเช่นนี้เป็นการพยายามหาความชอบธรรมกับการกลั่นแกล้ง ซึ่งกรณีนี้คือ พฤติกรรมของยาโนะที่อยู่ดี ๆ ก็ไปโยนหนังสือของมิโดริคาวะลงหน้าต่างทิ้งเอาแบบดื้อ ๆ และเมื่อถึงตอนนั้นพฤติกรรมแปลก ๆ ของยาโนะก็กลายเป็นตัวเติมเชื้อไฟชั้นดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการที่ยาโนะจะยิ้มแป้นตลอดเวลา และการปฏิบัติตนที่ผิดจากมาตรฐานของสังคม

ด้วยการที่เป็นเป้าของการถูกกลั่นแกล้ง นั่นทำให้การเข้าหายาโนะก็นับว่าเป็นความผิด แม้จะเป็นการช่วยเหลือเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างการเก็บยางลบก็อาจจะนำมาสู่ข้อกล่าวหาช่วยยาโนะซึ่งเป็นคนที่ถูกระบุว่าแย่ในสายตาของเพื่อนร่วมชั้น และนำมาสู่การกลั่นแกล้งอีกต่อหนึ่ง นั่นทำให้อาดาจิไม่พูดคุยกับยาโนะในตอนกลางวัน และไหลไปตามกระแสสังคมที่ลงมติว่าต้องกลั่นแกล้งเด็กผู้หญิงคนนี้เท่านั้น

การที่อาดาจิกลายเป็นปีศาจและเจอกับยาโนะในตอนกลางคืน นั่นทำให้เกิดสถานการณ์ที่ผู้อ่านสามารถรู้จักกับเด็กผู้หญิงคนนี้ที่กลายเป็นเป้าของการกลั่นแกล้งได้มากขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงเวลาเดียวที่อาดาจิจะสามารถคุยกับยาโนะได้ แม้ส่วนใหญ่จะเป็นแง่มุมประหลาดตั้งแต่การที่ไม่กลัวอาดาจิในร่างปีศาจ และคาดเดาถูกว่าปีศาจนั่นคืออาดาจิ ไปจนถึงเหตุผลของพฤติกรรมแปลก ๆ เช่น การยิ้มแป้นต่อทุกสถานการณ์เป็นเพราะรู้สึกกลัว หรือการที่ตบหน้าคนที่ช่วยเหลือตนเองเพื่อที่จะให้คน ๆ นั้นกลับไปมีที่ยืนในสังคมอีกครั้ง

ในแง่นี้เพื่อที่จะสร้างความแตกต่างในสถานการณ์ตอนกลางวันกับกลางคืน ตัวละครอาดาจิจึงมีลักษณะที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด และการแบ่งบทก็จะแบ่งบทสลับกันระหว่างกลางวันกับกลางคืน โดยที่อาดาจิจะใช้สรรพนามแทนตัวที่แตกต่างกัน โดยฉบับแปลไทยกลางวันอาดาจิในร่างมนุษย์จะแทนตัวเองว่าฉัน ส่วนกลางคืนจะแทนตัวเองว่าผม

โดยในตอนกลางวันอาดาจิเป็นแค่เด็กคนหนึ่งที่ไหลไปกับกระแสสังคม เพราะกลัวที่ถ้าฝืนกระแสสังคมแล้วจะกลายเป็นผลลบกับตัวเอง กลายเป็นอาดาจิที่ทำตัวไหลไปกับการกลั่นแกล้งยาโนะ โดยมีข้ออ้างว่าสังคมตัดสินแล้ว ตัวเองไม่สามารถฝืนกระแสสังคมได้ ส่วนตอนกลางคืนที่อาดาจิในร่างปีศาจก็จะคอยทำหน้าที่คุ้มกันยาโนะที่อยากจะใช้ชีวิตสงบ ๆ ในรั้วโรงเรียน

ทั้งหมดทำให้อาดาจิในตอนกลางวันดูเหมือนปีศาจมากกว่าอาดาจิในตอนกลางคืนเสียอีก

ใครกันคือปีศาจ

“อัจจี้คุง เนี่ย กลางวันกับกลางคืน อันไหน ร่างจริง”

ในช่วงสุดท้ายที่ปีศาจยามวิกาลดำเนินไปจนถึงตอนท้ายเรื่อง อาดาจิในตอนกลางวันได้แกล้งยาโนะ จนของขวัญวันเกิดที่ยาโนะวางแผนจะให้กับอาจารย์คนหนึ่งเสียหาย ทำให้อาดาจิเริ่มที่จะตั้งคำถามว่าสิ่งที่ตัวเองทำไปในตอนกลางวันนั่นจริง ๆ เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ ด้วยเหตุนั้นตอนกลางคืนอาดาจิจึงไปขอโทษยาโนะ ก่อนที่จะถูกยิงคำถามว่าอาดาจิในตอนกลางวันหรืออาดาจิในตอนกลางคืนใครกันแน่คือตัวจริงขึ้น

ซึ่งการถามเช่นนี้นั้นเป็นไปเพื่อล้อกับฉากแรกที่ยาโนะก็ถามอาดาจิตั้งแต่แรกแล้วว่าตัวจริงเป็นปีศาจหรือว่ามนุษย์

แต่ต่างจากครั้งแรกอาดาจิตอบไม่ได้

ซึ่งมองจากสายตาของคนทั่วไป อาดาจิในตอนกลางวัน มีความเป็นปีศาจมากกว่าอาดาจิที่เป็นปีศาจจริง ๆ ในตอนกลางคืนเสียอีก แต่เนื้อหนังของเขาก็ยังเป็นมนุษย์อยู่

ในแง่นี้ทำให้เข้าไปสู่ประเด็นที่ความจริงปีศาจยามวิกาลทำได้ดีกว่าประเด็นหลักเรื่องการบูลลี่ นั่นก็คือ การยอมรับตนเอง โดยตลอดทั้งเรื่องเราจะเห็นความอึดอัดของอาดาจิในตอนกลางวันที่ต้องคอยทำตามระเบียบสังคม และไม่มีพื้นที่ให้ใช้หัวคิด กลับกันในตอนกลางคืนเราจะเห็นอาดาจิที่เป็นอิสระ โดยที่ไม่ถูกสังคมผูกมัด ซึ่งส่วนนี้ถูกเสริมโดยการให้พลังของอาดาจิในร่างปีศาจนั่นสามารถทำทุกอย่างได้ตามที่อาดาจิมีปัญญาจะจินตนาการ

ในแง่นี้อาดาจิในร่างปีศาจจึงสะท้อนความรู้สึกจริง ๆ ของอาดาจิได้ดีกว่าอาดาจิที่ถูกผูกมัดโดยสังคมในตอนกลางวัน

ความเป็นปีศาจในเรื่องนี้จึงมีความหมายทั้งโดยตรงตามตัวอักษร แต่ยังรวมไปถึงความแปลกประหลาดไม่เข้ากับสังคมด้วย ความเป็นปีศาจของอาดาจิก็คือ การที่ตลอดมาเขาไม่เห็นด้วยกับการบูลลี่ยาโนะ แม้ว่ายาโนะจะไม่ใช่คนที่ขาวสะอาด และนั่นทำให้เขากลายเป็นปีศาจในตอนกลางคืน เพื่อปลดปล่อยตัวเองจากโซ่ตรวนของสังคม

ในตอนสุดท้ายอาดาจิในตอนกลางวันก็เลือกที่จะทักทายยาโนะขณะที่อยู่ในชั้นเรียน แม้จะรู้ว่าจะถูกตำหนิและถูกกลั่นแกล้งเพราะทำตัวเป็นพวกกับยาโนะ แต่อาดาจิก็เลือกแล้วว่าจะยอมรับการตัดสินใจนั้นของตัวเอง

ปีศาจยามวิกาลจบลงโดยที่อาดาจินอนหลับ แล้วก็ไม่ตื่นขึ้นมาเป็นปีศาจในตอนกลางคืนในรอบหลายเดือน

ขาวหรือดำ สำคัญที่การยอมรับตัวเอง

จากการตัดสินใจของอาดาจิ การบูลลี่ของปีศาจยามวิกาลนั่นได้ข้อสรุปว่าไม่ว่าจะเป็นใครการถูกกลั่นแกล้งก็ไม่สมควรทั้งนั้น หากแต่แม้ว่าการบูลลี่จะเป็นประเด็นหลักของเรื่อง แต่ก็ดูจะเป็นประเด็นที่ไม่ได้น่าจดจำอะไรขนาดนั้น กลับกันประเด็นที่น่าจดจำกว่าของปีศาจยามวิกาลนั่นก็คือ การยอมรับในตัวเอง

เนื่องจากเป็นนวนิยายญี่ปุ่น ทำให้บริบทการเขียนของนิยายเรื่องนี้ต้องเผชิญกับความเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยระบบระเบียบทางสังคมที่น่าอึดอัด ปีศาจยามวิกาลพยายามที่จะบอกให้กลุ่มผู้อ่านซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มวัยรุ่นให้ไม่ต้องทน หากสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไม่สมเหตุสมผล ประเด็นการกลั่นแกล้งกันจึงเหมือนเป็นแค่สารรองเสียด้วยซ้ำ

หากแต่ภายใต้สารเช่นนี้ ปีศาจยามวิกาลก็ยังมีส่วนที่น่าตำหนิอยู่ไม่ใช่น้อย หลัก ๆ เป็นเรื่องของการที่ตัวนวนิยายไม่เคลียร์ในหลายจุดแบบจงใจให้คลุมเครือ จนแทบจะเหมือนขี้เกียจ และเมื่อหลายอย่างที่ถูกโยนเข้ามา โดนโยนทิ้งแบบดื้อ ๆ เพื่อที่จะบอกว่าช่างมันก็แล้วกัน ก็กลายเป็นสิ่งที่พยายามที่จะพูดออกมานั่นดูเล็กเมื่อเทียบกับการดำเนินเรื่องที่ดูใหญ่เกินจำเป็น

ปีศาจยามวิกาล ไม่ใช่หนังสือที่ต้องอ่านให้ได้ มันเป็นหนังสือที่ถึงจะอ่านง่ายแต่ก็เต็มไปด้วยความคลุมเครือ หากแต่ความคลุมเครือจนหนังสือไม่สามารถไปไกลเกินกว่าหนังสือที่ไม่ได้ดี แต่ก็ไม่ได้แย่เล่มนี้ก็คงเหมาะแล้วกับตัวละครในเรื่องที่ไม่สามารถตัดสินได้ว่าสรุปพวกเขาขาวหรือดำกันแน่

Playread : ปีศาจยามวิกาล
ผู้เขียน :  Yoru Sumino
ผู้แปล : ธนพล ศักดิ์สมุทรานันท์
สำนักพิมพ์ : แพรว, สนพ.

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ(ที่อยากอ่าน) ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี