นมแม่ดีที่สุด...ยังส่งไม่ถึงลูกทุกคน - Decode
Reading Time: 3 minutes

“นมแม่ดีที่สุด”

คงเป็นประโยคที่ทุกคนได้ยินอยู่หลายครั้ง และก็เป็นที่รู้กันดีว่า นมแม่เป็นอาหารที่เด็กในวัยอายุไม่เกิน 6 เดือน ควรที่จะได้รับมากที่สุด เพราะมีทั้งการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และสารอาหารที่ดีสำหรับเด็กทารก ทำให้นมแม่ก็เปรียบเหมือนวัคซีนสำหรับเด็กทารกด้วยเช่นกัน ทำให้ช่วยเสริมสร้างให้เด็กทารกสามารถเจริญเติบโตได้อย่างสมบูรณ์

แต่ก็ยังมีในบางปัญหาที่ทำให้นมแม่ยังไม่สามารถไปถึงลูกได้อย่างครอบคลุม เช่น ปัญหาห้องให้นมที่ไม่ครอบคลุม ทำให้คุณแม่หลายคนต้องมีผ้าคลุมเพื่อปกปิดใบหน้า แต่เด็กบางคนก็ไม่ชอบทำให้อาจต้องใช้เวลามากขึ้นในการให้นม รวมถึงในเวลาทำงานที่ปกติแล้วต้องให้นมหรือปั๊ม โดยเฉลี่ยทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง ซึ่งหากเกินกว่านั้นก็จะเกิดผลกระทบกับแม่และเด็กทั้งอาการทางร่างกาย รวมไปถึงด้านสภาพจิตใจ

De/code ร่วมพูดคุยกับ แพรทิพย์ คล้ายเจริญสุข คุณแม่ลูกอ่อน ผู้ที่จะมาบอกเล่าประสบการณ์ของห้องให้นมในสถานที่สาธารณะ การให้นมในที่ทำงาน สิทธิของแม่ในการให้นมลูกที่สวนทางกับความเป็นจริงที่ควรได้รับ และในอีกด้านของ ผศ.ทัชชภร มหาแถลง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ที่จะมาพูดถึงกฎหมายและสิทธิที่เกี่ยวข้องกับทั้งเรื่องการกำหนดมาตรฐานและจำนวนของห้องให้นมตามที่สาธารณะ หรือประเด็นด้านสิทธิการให้นมในสถานที่ทำงานสำหรับคุณแม่ลูกอ่อน

ระยะเวลาที่กำหนดกับความเจ็บปวดที่ต้องเจอของการให้นม

“ถ้าเรายังไม่สามารถปั๊มนมออกไปได้ทุก 2-3 ชั่วโมง หรือใช้เวลามากกว่านี้ ร่างกายของแม่ก็จะสร้างน้ำนมลดลงเรื่อย ๆ จนไม่มีนมในที่สุด ซึ่งก็จะมีอาการปวด บวม แดง แสบร้อน มีไข้ แล้วก็ถึงขั้นเป็นหนองอยู่ข้างในเต้านม ก็จะทำให้ลูกไม่สามารถกินนมจากเต้านมของแม่ได้”

จากที่แพรทิพย์ได้เล่าเกี่ยวกับอาการข้างต้น เธอก็เคยมีประสบการณ์ดังกล่าวด้วยเช่นกัน เนื่องจากตอนนั้นเธอได้กลับไปทำงาน ทำให้สามารถปั๊มนมได้ในช่วงพักเที่ยงเท่านั้น ทำให้เธอจึงไม่ได้ปั๊มนมทุก 2-3 ชั่วโมง ด้วยตอนแรกเธอเองก็คิดว่าคงไม่เกิดอาการผลเสียต่อร่างกายเท่าไหร่หรอก แต่เมื่อนานวันไปไม่กี่วัน เธอก็ได้เกิดอาการปวด บวม แดง แสบร้อน บริเวณเต้านมเลย จนมีอาการต่อมนมอักเสบทำให้เธอต้องหยุดปั๊มนมเป็นเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ แล้วไปรักษาที่คลินิกเฉพาะทางด้านนมแม่ จนต้องใช้เวลารักษากว่า 3 สัปดาห์กว่าจะสามารถกู้ให้เต้านมสามารถผลิตน้ำนมได้เหมือนเดิม

ทุก(ข์)ของแม่ ทุกสายตาที่จ้องมอง

แพรทิพย์เองก็เคยเจอเหตุการณ์ที่ทำให้ไม่รู้สึกสบายใจ โดยเธอเล่าว่า “เราไม่ค่อยสบายใจตอนให้นมลูก เพราะว่าเรารู้สึกเกรงใจคนที่อยู่บริเวณนั้นเช่นบางทีเราออกไปข้างนอกกับลูก แล้วจำเป็นจะต้องให้นมแล้วที่นั่นเนี่ยไม่มีห้องให้นมก็ต้องให้นมในที่ที่มีฉากกั้นเล็กน้อยเช่น มีอยู่ครั้งหนึ่งไปที่โรงพยาบาล แต่ไม่มีห้องให้นมในตึกนั้นที่เรารักษา แล้วเราก็ต้องเดินข้ามตึกไปไกลถึงจะมีคลินิกนมแม่ ซึ่งก็ต้องมีการจองล่วงหน้าก่อนเข้าใช้งาน เราก็เลยต้องให้นมที่โถงของอาคารซึ่งมันมีการจัดงานนิทรรศการอยู่ก็เลยไปหลบให้นมอยู่ตรงหลังฉาก ซึ่งก็ทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่ค่อยสบายใจเท่าไหร่”

ซึ่งก็ไม่ใช่ทุกคนที่จ้องมองมาที่คุณแม่ขณะให้นมลูกด้วยสายตาไม่พอใจ แต่ก็ยังคงมีอยู่ที่มองว่า การให้นมในที่สาธารณะ เช่น ร้านอาหาร สวนสาธารณะ ไม่ค่อยเหมาะสมเท่าไหร่สำหรับการให้นมตามสถานที่นั้น ถ้ามีกลุ่มคนที่เขาคิดแบบนั้นก็อาจไม่ผิดมากนัก เพราะเขาก็มีสิทธิ์ที่จะไม่พอใจกับการไปสถานที่ต่าง ๆ แล้วต้องเจอสิ่งที่เขาคิดว่าไม่เหมาะสม แต่ถ้าเราย้อนกลับไปถามว่า สถานที่สำหรับคุณแม่ที่ต้องให้นมลูกหรือปั๊มนมในไทยก็ยังมีน้อยและยังไม่ครอบคลุมตามสถานที่ต่าง ๆ จนทำให้คุณแม่หลายคนต้องใช้กล้าและพยายามในการให้นมลูกมาก เพราะหากไม่ให้ตามระยะเวลาที่กำหนดก็จะเกิดผลเสียทั้งทางกายและทางใจกับลูกและแม่

นอกจากนี้การใช้ผ้าคลุมก็ไม่ใช่สิ่งที่เด็กทุกคนจะชอบ เพราะในบางทีเด็กก็อาจจะรู้สึกอึดอัดและรำคาญเมื่อถูกผ้าคลุมขณะให้นม ทำให้การมีห้องให้นมอาจจะเกิดความสบายใจทั้งตัวแม่และเด็ก

ห้องให้นมสำคัญไฉน ทำไมยังไม่ครอบคลุม

จำนวนห้องให้นมในไทยถือว่ามีน้อย และหากมีก็ยังไม่ครอบคลุม เนื่องจากอยู่ตามสถานที่ใหญ่ เช่น ห้างสาขาหลัก แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าจะมีห้องให้นม แต่ก็ยังขาดองค์ประกอบบางอย่าง เช่น สุขอนามัยที่อาจจะไม่ได้มีความสะอาดมากนัก ซึ่งหากไม่สะอาดก็อาจทำให้มีเชื้อโรคติดลงไปในน้ำนม แล้วเมื่อเด็กทารกกินก็อาจท้องเสียได้ และในอีกความตกใจของแพรทิพย์ ที่เธอเคยไปโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง แต่ห้องให้นมกลับมีอย่างไม่ครอบคลุม เนื่องจากต่อนั้นเธอได้ไปถามพยาบาลแล้วได้คำตอบว่า “ไม่มีห้องให้นมที่ตึกนี้ค่ะ” ซึ่งที่โรงพยาบาลนั้นแม้จะมีห้องให้นม แต่ก็อยู่อีกตึกหนึ่ง ทำให้ด้วยเรื่องเวลาและอากาศที่ไม่เหมาะสม ทำให้เธอต้องให้นมลูกที่ห้องตรวจรักษาโรค ซึ่งก็ไม่ถูกสุขอนามัยมากเท่าไหร่

“การมีห้องให้นมจะทำให้แม่ที่ให้นมรู้สึกถึงความเป็นส่วนตัวความปลอดภัยและมีสุขอนามัย ดีกว่าการใช้แค่ผ้าคลุมให้นม ซึ่งประสบการณ์ตรงของการใช้ผ้าคลุม เช่น เพื่อน ๆ เราที่มีลูกแล้วต้องใช้ผ้าคลุมให้นมในที่สาธารณะ บางทีคนรอบข้างก็จะมอง โดยเฉพาะเพศชายเขาจะไม่เข้าใจความจำเป็นของพวกเรามากนักว่าทำไมต้องให้นมในเวลานั้นซึ่งในบางครั้ง ก็ทำให้ผู้หญิงเราไม่สบายใจการมีห้องให้นมจึงถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นมากที่อยากให้มีในสถานที่สาธารณะ” แพรทิพย์ กล่าว

อีกสิ่งที่เป็นน่าตกใจ คือ หลายสถานที่สาธารณะได้มีการนำห้องให้นมกับห้องเปลี่ยนแพมเพิร์สอยู่ในห้องเดียวกัน ซึ่งทำให้ในกรณีของคุณพ่อที่เลี้ยงลูก ที่ต้องการเปลี่ยนแพมเพิร์สลูก ก็ไม่สามารถเข้าไปใช้งานได้ เนื่องจากห้องให้นมมักกำหนดให้เฉพาะสุภาพสตรีเท่านั้น ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะสิ่งนี้คือความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของคุณแม่ขณะให้นมลูก แต่สิ่งที่ควรทำอีกอย่างก็ควรที่จะมีการกั้นบริเวณหรือแยกห้องอีกห้องเพื่อทำให้คุณพ่อที่เลี้ยงลูก สามารถเปลี่ยนแพมเพิร์สลูกได้ และคุณแม่เองก็สามารถให้นมลูกได้อย่างไร้กังวล

Working Women กับบทบาท “แม่ลูกอ่อน”

องค์การอนามัยโลก (WHO) และยูนิเซฟ แนะนำว่าลูกควรได้กินนมแม่อย่างเดียว ตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 เดือน และแม่ก็ควรที่จะปั๊มน้ำนมหรือให้นมลูกทุก 2-3 ชั่วโมง แต่ในความเป็นจริงนั้นทำได้ยากเนื่องจากประเทศไทย คุณแม่สามารถลาคลอดได้เป็นระยะเวลา 98 วัน หรือประมาณ 3 เดือนกว่า ซึ่งจำนวนดังกล่าวยังไม่ถึงระยะเวลา 6 เดือนที่ลูกต้องการนมแม่เป็นอาหารอย่างเดียวด้วยซ้ำ แต่ในทางกลับกันคุณแม่หลายคนต้องกลับไปทำงานเร็วกว่าเวลาที่กำหนดสำหรับการให้นม และเมื่อกลับมาทำงานอีกครั้ง สิ่งอำนวยต่าง ๆ หรือสภาพแวดล้อมกลับไม่สามารถรองรับคุณแม่หลายคน

แพรทิพย์ก็เจอปัญหาดังกล่าว โดยเมื่อกลับไปทำงานแล้วก็ไม่สามารถปั๊มนมออกได้ทุกชั่วโมง 2-3 ชั่วโมง ทำให้เกิดอาการเต้านมอักเสบจนต้องใช้เวลารักษาอยู่หลายสัปดาห์ นอกจากนี้เธอยังได้เจอประสบการณ์การใช้คำพูดในเชิงลบ เช่น น่าเกลียด น่าอาย อุจาด เป็นต้น แม้ว่าจะเป็นการพูดในเชิงไม่จริงจังมากนัก แต่คนเป็นแม่สมควรได้รับคำเชิงลบดังกล่าวขณะทำหน้าที่ของแม่ในการปั๊มนมให้ลูกด้วยเหรอ

เมื่อต้องปั๊มนมก็ต้องมีค่าใช้จ่ายสำหรับอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น ทิชชูเปียกเพื่อทำความสะอาดบริเวณเต้านมก่อนที่จะปั๊มนม และเครื่องปั๊มนมที่มีหลายราคามาก มีตั้งแต่หลักพันไปถึงหลักหมื่นเลยทีเดียว ซึ่งคุณภาพก็อาจจะตามมาด้วยราคาที่แพงด้วย แต่ก็เป็นสิ่งที่ต้อง ‘จ่าย’ สำหรับแม่ เพราะหากใช้เครื่องปั๊มนมที่ไม่มีคุณภาพ เวลาปั๊มนม ก็อาจทำให้เหลือน้ำนมค้างในเต้านม จนอาจเกิดเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการเต้านมอักเสบได้เสมือนกับไม่ปั๊มนมออก นอกจากนี้ยังต้องมีกระเป๋าเก็บความเย็นสำหรับการรักษาอุณหภูมิของนมให้ไม่เสีย

“การให้นมในที่ทำงาน มันเกิดจากการที่คุณแม่จะต้องกลับไปทำงาน แล้วถ้าย้อนไปดูกฎหมาย ก็จะดูเรื่องการลาคลอด เป็นตาม พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) โดยมาตรา 41 ให้ลูกจ้างผู้เป็นหญิงมีครรภ์มีสิทธิลาคลอดได้ 98 วัน แต่ในขณะที่ต่างประเทศ เช่น บางประเทศในแถบยุโรป เช่น สวีเดน สามารถลาคลอดได้ประมาณ 1 ปี หรือมากกว่านั้น มันก็เชื่อมโยงกับเรื่องการให้นม เพราะแม่จำเป็นต้องให้นมลูกอย่างน้อย 6 เดือน” ผศ.ดร.ทัชชกร กล่าว

หากย้อนกลับไปเมื่อก่อนความเข้าใจในความสำคัญของนมแม่ก็อาจมีน้อย ทำให้หลายคนคิดว่า สามารถให้นมผงได้ตั้งแต่ลูกคลอด เนื่องจากสรรพคุณต่าง ๆ จากโฆษณาที่ทำให้คิดว่า สามารถทดแทนกันได้ ทำให้เกิด พรบ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ.2560 มาควบคุมการโฆษณาต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับนมผงและนมแม่ ทำให้นมแม่จึงเป็นอาหารเพียงอย่างเดียวและสำคัญมากสำหรับทารก

เทียบเคียงกฎหมายต่างประเทศกับการเห็นคุณค่าความเป็น “แม่”

ซึ่งจากเรื่องดังกล่าว เมื่อเราไปดูกฎหมายต่างประเทศที่เกี่ยวกับสิทธิการให้นมบุตรในสถานที่ทำงาน เช่น

ประเทศสหรัฐอเมริกา มีกฎหมายฉบับปรับปรุงพระราชบัญญัติมาตรฐานแรงงานที่เป็นธรรม (FLSA) ลูกจ้างสามารถพักเพื่อให้นมบุตรและปั๊มนมให้บุตรเมื่อไหร่ก็ได้ในเวลาที่เห็นสมควรหรือเวลาที่จำเป็นในเวลา 1 ปี หลังคลอดลูกต่อ 1 คน และหลังเลิกงานลูกจ้างไม่จำเป็นต้องทำงานชดเชยเวลาที่หายไปด้วย และทางบริษัทควรจัดสถานที่สะดวกสบายให้กับลูกจ้างที่ไม่ใช่ห้องน้ำ เพื่อให้ลูกจ้างสามารถปั๊มนมได้สะดวกยิ่งขึ้น หากสถานประกอบการมีจำนวนลูกจ้างไม่เกิน 50 คน อาจไม่ต้องทำห้องให้นมบุตร แต่ต้องชี้แจงเหตุผลที่ไม่สามารถกระทำการดังกล่าวได้

ด้วยความที่สหรัฐอเมริกาเป็นสหพันธรัฐ ทำให้กฎหมายก็อาจมีกฎหมายแยกย่อยไปอีกในแต่ละรัฐ เช่น มลรัฐนิวยอร์ก มีบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิพื้นฐานของมารดาผู้ให้นม เพื่อรับรองสิทธิการให้นมแม่ทุกที่ทุกเวลา ตลอดจนกฎหมายแรงงานของมลรัฐนิวยอร์ก มาตรา 206 – c ที่กำหนดว่า นายจ้างทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ต้องมีเวลาพักเพื่อการให้นมบุตรอย่างน้อย 20-30 นาที ขึ้นอยู่กับระยะระหว่างพื้นที่ทำงานกับห้องให้นมบุตรและต้องให้พักทุก 3 ชั่วโมงพิจารณาเป็นรายกรณี และต้องจัดพื้นที่เฉพาะในการให้นมบุตรและปั๊มนม

หากขยับมาใกล้ประเทศไทยมากขึ้น เช่น ประเทศฟิลิปปินส์มี พรบ.ส่งเสริมการให้นมบุตร ค.ศ.2009 มาตรา 7 โดยให้ถือว่าเป็นนโยบายระดับชาติเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งในบางส่วนของกฎหมายก็ได้มีการปรับปรุงจากฉบับเดิม โดยให้พนักงานสามารถไปให้นมและปั๊มนมเพิ่มเติมจากเวลาพักปกติ เช่น ห้องให้นมในที่ทำงาน โดยลูกจ้างสามารถให้นมได้อย่างน้อย 40 นาที ในเวลาทำงาน 8 ชั่วโมง

เมื่อเราหันมามองที่กฎหมายไทยเกี่ยวข้องกับสิทธิการให้นมบุตรในสถานที่ทำงานกลับแทบไม่มีการสนับสนุนที่มากนัก ทำให้เกิดการตั้งคำถามทิ้งท้ายว่า ทำไมประเทศเราในเรื่องกฎหมายดังกล่าวยังไม่สามารถไปได้ไกลเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ

ผศ.ดร.ทัชชกร ตอบเราว่า “เวลามีการพิจารณาร่างกฎหมายใหม่ สส.เขาก็จะเขียนร่างกฎหมาย หรือประชาชนก็มีสิทธิ์ยื่นเสนอกฎหมายได้ตามรัฐธรรมนูญ แล้วมันมีกองกฎหมายเยอะมาก เราก็พูดตรง ๆ ว่า ถ้าเป็นนโยบายของพรรคไหน เขาก็จะหยิบนโยบายที่เขาขาย ก็หยิบมายื่นต่อสภาฯก่อน แล้วถ้ากฎหมายที่ไม่สำคัญเท่ากฎหมายอื่นในความคิดของเขา ก็อาจโดนรอคิวต่อไป กฎหมายบางอันก็รอเป็น 10 ปี  เช่น กฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศ รอคิวจนถึงจุดที่เทคโนโลยีไปไกลจนกฎหมายตามไปไม่ทัน เขาอาจจะมองว่าคุณแม่เป็นกลุ่มเฉพาะกลุ่มเล็กมาก เราก็เข้าใจมันก็ยังเป็นประเด็นย่อยในสังคมอยู่ กฎหมายสิทธิการให้นมบุตรก็เลยรอคิวนาน เพราะมันมีหลายเรื่องอื่น ๆ ที่สาธารณสุขต้องดูแล แต่เราก็ยังอยากให้กฎหมายที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิการให้นมบุตรเกิดขึ้นจริงในไทย”