เจาะรายได้ครัวเรือนอินเดีย สู่การช่วงชิงมหาอำนาจเศรษฐกิจ - Decode
Reading Time: 3 minutes

พินิจถิ่นอินเดีย

สุรัตน์ โหราชัยกุล

ผู้เขียนเคยพูดไว้นานแล้ว ตั้งแต่ก่อนร่วมก่อตั้งศูนย์อินเดียศึกษา จุฬาฯ ในปี ค.ศ. 2011 ว่า อินเดียจะกลายเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจโลกอย่างไร ฉะนั้นแล้ว หากเราชาวไทยคำนึงถึงผลประโยชน์แห่งชาติของเรา จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องเข้าใจเรื่องนี้

ที่ผ่านมาชาวไทยจำนวนหนึ่งคงรับทราบแล้วว่า อินเดียนั้นเริ่มหยั่งอิทธิพลทางเศรษฐกิจต่อเราอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รายได้ของชาวอินเดียที่เพิ่มมากขึ้นนั้นส่งผลต่อเราโดยตรงอย่างปฏิเสธมิได้

วันนี้สารัตถะที่ใคร่นำเสนอสกัดจากรายงานชื่อ “อินเดียเปลี่ยนไปอย่างไรในเวลาไม่ถึงทศวรรษ” จัดทำโดย มอร์แกน สแตนลีย์ บริษัทที่มีชื่อเสียงระดับโลกในด้านการให้บริการทางการเงิน รายงานฉบับนี้ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา ให้ข้อมูลหลายชุดที่น่าสนใจยิ่ง ทว่าบทความนี้จะขอนำข้อมูลเพียงชุดเดียวจากรายงานฉบับนี้มาเล่าสู่กันฟัง โดยเสริมเติมประสบการณ์ของผู้เขียน ส่วนหนึ่งเพราะรายงานฉบับนี้ประกอบด้วยกราฟและตารางเป็นส่วนใหญ่ จึงอาจก่อความสับสนแก่ผู้ไม่ค่อยทราบเรื่องอินเดียมากนัก

ข้อมูลน่าสนใจชุดนี้ว่าด้วยการกระจายรายได้ของครัวเรือนอินเดีย เราชาวไทยและชาวต่างชาติคุ้นเคยกันมาโดยตลอดว่า อินเดียนั้นคือดินแดน “มหัศจรรย์” ในแง่ที่ว่า คนจนก็จนจริง ๆ ส่วนคนรวยก็รวยล้นฟ้า กล่าวอย่างเรียบง่ายคือ ระหว่างคนรวยกับคนจนมีช่องว่างชัดเจน ยิ่งมีประเด็นวรรณะทางสังคมซึ่งมีผลต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจด้วยแล้ว ยิ่งจดจำกันว่า ผู้มีอันจะกินก็จะยิ่งร่ำรวยมากขึ้น ส่วนผู้ยากไร้ก็คงต้องปากกัดตีนถีบกันต่อไป

กระนั้นก็ตาม รายงานของมอร์แกน สแตนลีย์กลับให้ข้อมูลที่สวนกระแสความเชื่อของชาวไทย ข้อมูลเรื่องนี้ที่รายงานฉบับนี้ได้ให้ไว้มีของ 2 ปีด้วยกัน คือปี ค.ศ. 2021 และปี ค.ศ. 2031 ข้อมูลของปีแรกคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ส่วนข้อมูลของปีหลังคือสิ่งที่รายงานคาดว่าจะเกิดขึ้น

เราลองพิจารณาข้อมูลทั้ง 2 ชุดนี้ดูก่อน

จากข้อมูลปี ค.ศ. 2021 จะเห็นได้ว่า กลุ่มที่มีรายได้น้อยสุดยังเป็นคนกลุ่มใหญ่สุดของสังคม กล่าวคือ ร้อยละ 38 ยังมีรายได้ค่อนข้างน้อย คืออยู่ในหมวดรายได้ประมาณ 0 – 5,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปี อีกร้อยละ 36 แม้จะอยู่ในหมวดที่มีรายได้มากขึ้น ก็ยังนับว่าอยู่ในกลุ่มที่การใช้ชีวิตใช่ว่าจะสะดวกสบายไปเสียทั้งหมด

หลายคนเมื่อดูข้อมูลปี ค.ศ. 2021 แล้ว คงคิดว่า จริง ๆ แล้วก็ไม่เห็นจะดีสักเท่าไรนัก ซึ่งก็จริงอยู่ แต่หากนำข้อมูลดังกล่าวมาเปรียบเทียบกับข้อมูลรายได้ของชาวอินเดียระหว่างปี ค.ศ. 1947 – 1991 คือระหว่างช่วงอินเดียได้รับเอกราชจนถึงก่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งใหญ่ จะพบว่า ข้อมูลปี ค.ศ. 2021 นับเป็นข่าวดีอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง

จากประสบการณ์ของผู้เขียน ที่เคยเห็นอินเดียทั้งในช่วงสงครามเย็นและหลังสงครามเย็น กล่าวได้เต็มปากเต็มคำว่า อินเดียเดินมาถูกทางแล้ว ก่อนที่จะปฏิรูปเศรษฐกิจคนยากจนมีมากกว่านี้ ไปที่ไหนก็มีขอทานเต็มไปหมด ปัจจุบันจำนวนขอทานลดลงอย่างเห็นได้ชัด

สำหรับชาวไทยที่นิยมเดินทางไปจาริกแสวงบุญที่อินเดีย อาจจะคัดค้านผู้เขียน เพราะทันทีที่คนไทยให้เงินเด็กขอทานที่พูดภาษาไทยได้บางคำบางประโยค ก็จะเห็นขอทานวิ่งตามกันมาเป็นพรวน ผู้เขียนไม่ปฏิเสธว่ามีขอทานอยู่จริง ทว่าจำนวนหนึ่งเป็นขอทานแบบจัดตั้ง อีกส่วนหนึ่งที่เห็นกันเยอะมากโดยเฉพาะแถว ๆ สังเวชนียสถาน เพราะขอทานเหล่านี้รู้ดีว่าคนที่มาจาริกแสวงบุญจะมีจิตใจเมตตามากกว่าคนเดินทางไปที่อื่น ๆ

ที่กล่าวว่าอินเดียเดินถูกทางแล้วนั้น ก็สอดคล้องกับข้อมูลชุดที่สองที่มอร์แกน สแตนลีย์ได้คาดการณ์ไว้ นั่นคือ ภายในระยะเวลา 8 ปีหลังจากนี้ คนอินเดียกลุ่มใหญ่ที่สุด ร้อยละ 46 จะมีรายได้อยู่ในหมวดหมู่ 10,000 – 35,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปี และกลุ่มที่มีรายได้น้อยที่สุดคือ 0 – 5,000 เหรียญสหรัฐฯ จะเหลือเพียงร้อยละ 13 เท่านั้น

หลายคนอาจจะมองการคาดการณ์นี้ว่าเป็นไปได้ยาก แต่ผู้เขียนกลับมองว่ามีความเป็นไปได้สูง ที่เป็นเช่นนี้เพราะข้อมูลชุดอื่น ๆ ที่มอร์แกน สแตนลีย์ได้ลงไว้นั้นส่งเสริมให้อินเดียมีการกระจายรายได้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลเหล่านี้ก็มีเช่น การเน้นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ การทำให้เศรษฐกิจมีความเป็นทางการ การช่วยเหลือผู้ยากไร้ ฯลฯ

แม้รายงานของมอร์แกน สแตนลีย์จะชื่นชมเศรษฐกิจอินเดียว่าเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีอย่างรวดเร็ว ดังหัวข้อรายงาน “อินเดียเปลี่ยนไปอย่างไรในเวลาไม่ถึงทศวรรษ” ทว่ารายงานฉบับนี้มิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะอธิบายว่าอินเดียเลือกทางใดในการกระจายรายได้ของครัวเรือนอินเดีย ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะสำหรับชาวไทยที่ถกเถียงกันมาระยะเวลาหนึ่ง

ทัศนคติของผู้เขียนมีดังนี้ รัฐบาลอินเดียไม่ว่าจะรัฐบาลไหนตั้งแต่รัฐบาลเนห์รูถึงโมดีล้วนทราบดีว่า อินเดียจะต้องแก้ปัญหาความยากจนให้ได้ ทว่าในอดีตการพึ่งพากรอบความคิดแบบสังคมนิยม หรือสังคมนิยมแบบเนห์รูนั้น ไม่อาจทำให้ชาวอินเดียมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ดั่งใจ ความจำเป็นในการปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในต้นทศวรรษ 1990 ก็บ่งบอกให้เห็นประจักษ์อยู่แล้ว

ฉะนั้นแล้ว นับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา อินเดียจึงมีฉันทานุมัติสร้างความสมดุลระหว่างการเอื้อต่อธุรกิจกับการลดความยากจน และส่งเสริมการกระจายรายได้ที่ดีกว่า กล่าวคือ อินเดียไม่ขอเลือกเดินแบบรัฐสวัสดิการเต็มตัวทำนองกลุ่มประเทศแถบยุโรปเหนือ อินเดียตระหนักดีว่า การไม่เอื้อต่อธุรกิจเช่นในอดีตนั้นจะนำมาซึ่งผลเสียมากกว่า

แต่ก็หาใช่ว่าทุกคนจะเห็นพ้องกับฉันทานุมัติดังกล่าวไม่ นักวิชาการฝ่ายซ้ายมองว่า เป็นฉันทานุมัติจริง เพราะไม่ว่าจะรัฐบาลพรรคใด โดยเฉพาะพรรคภารตียชนตา หรือพรรคคองเกรส หรือแม้กระทั่งพรรคอามอาดมี ต่างพยายามสร้างความสมดุลนี้กันทั้งนั้น ทว่านักวิชาการฝ่ายซ้ายยังมองด้วยว่า ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนจะถ่างไกลขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่วนใครจะถูกหรือผิดนั้น คงต้องจับตามองกันต่อไป ณ ขณะนี้คงไม่มีอะไรมาขวางทางฉันทานุมัติข้อนี้ได้ ความแตกต่างระหว่างพรรคการเมืองทั้งสามมีน้อยมาก คือไม่มีพรรคใดคิดต่างกันในเชิงปรัชญาความคิดว่าด้วยการสร้างสมดุลดังกล่าว ที่จะแตกต่างกันคงเป็นเรื่องของพหุสังคม คุณภาพโรงพยาบาลหรือโรงเรียนของรัฐ ฯลฯ

ดังนั้นแล้ว อินเดียจึงเดินหน้าต่อไปในนามของฉันทานุมัตินี้ คือเน้นเอื้อให้ธุรกิจประกอบการได้ ในขณะเดียวกันก็เก็บภาษีอย่างเป็นระบบจากธุรกิจเหล่านี้ เพื่อสร้างถนนหนทาง หรือสาธารณูปโภคอื่น ๆ ให้เพียบพร้อมต่อการลงทุนมากขึ้นอีก พร้อมกับนำภาษีเหล่านี้มาเสริมสร้างพลังอำนาจให้คนยากไร้ โดยเฉพาะผู้หญิง ผู้ซึ่งเสียเปรียบชายอยู่มาก

ไม่แปลกที่รายงานฉบับนี้ชื่นชมว่าอินเดียเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็ว เพราะรัฐบาลโมดีดำเนินยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศตามฉันทานุมัตินี้ และ ณ ขณะนี้มีแนวโน้มด้วยว่า โมดีคงจะพาพรรคภารตียชนตาชนะการเลือกตั้งใหญ่ในปี ค.ศ. 2024 อีกครั้ง การดำเนินยุทธศาสตร์คงไม่มีอะไรขัดข้อง และอีกไม่นานเศรษฐกิจอินเดียก็จะทะยานขึ้นมาเป็นเศรษฐกิจใหญ่ของโลกอันดับ 4 และ 3 ตามลำดับ ทว่ารัฐบาลโมดีตระหนักรับรู้ดีว่า อินเดียจะขึ้นมาเป็นมหาอำนาจเต็มตัวนั้นคงลำบากไม่น้อย หากอินเดียยังมีภาพลักษณ์ของคนจนอยู่ นี่คือมูลเหตุสำคัญด้วยว่า ทำไมรัฐบาลโมดีจึงเร่งพัฒนาประเทศโดยไม่ละเลยเรื่องการกระจายรายได้ของครัวเรือนอินเดีย

เรื่องการกระจายรายได้ของครัวเรือนอินเดียมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจการเมืองโลกด้วย หากอินเดียสามารถพัฒนาเศรษฐกิจของตนได้พร้อมกับพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวอินเดียได้ด้วย ก็จะหมายความว่า ศตวรรษที่ 21 หรือที่คาดกันว่าจะเป็นศตวรรษแห่งเอเชียนั้น จะไม่เกิดขึ้นโดยลำพังจีนที่มิได้เลือกใช้ประชาธิปไตย แต่จะมีอินเดียในฐานะประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลกมีบทบาทสำคัญด้วย