Kingdom Come แสงสว่างในยุคมืด - Decode
Reading Time: 3 minutes

“จงจำไว้ 1993 เป็นปีที่ซุปเปอร์แมนตาย และวีน่อมมีหัวหนังสือเป็นของตัวเอง”
Peter Sanderson นักวิจารณ์คอมมิคและนักประวัติศาสตร์  Marvel Year in-Review ’93

หากเราแบ่งยุคสมัยของคอมมิคอเมริกันเป็นยุค ๆ ช่วงสมัยกลางทศวรรษที่ 1980 ถึงกลางทศวรรษที่ 1990 ก็มักจะถูกพูดถึงว่าเป็นยุคมืดของคอมมิค

แต่ถ้านับว่าธุรกิจคอมมิคนั่นอยู่ในช่วงขาลง ก็คงจะบอกได้ว่าไม่ใช่ เพราะหากนับที่ยอดขาย คอมมิคในปัจจุบันก็นับว่ามียอดขายที่น้อยกว่าสมัยนั้นมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการโดนตีตลาดจากคู่แข่งอย่างมังงะหรือการ์ตูนญี่ปุ่น แล้วหากจะนับที่ยอดขายจริง ๆ คอมมิคของอเมริกาที่ได้ชื่อว่าขายดีที่สุดตลอดกาลอย่าง X-Men ปี 1991 ก็อยู่ในสมัยนี้

ยุคมืดของคอมมิคจึงไม่ใช่ยุคเสื่อมทางธุรกิจ แต่มาจากลักษณะเนื้อหาที่แตกต่างจากสมัยเดิม อย่างเห็นได้ชัด โดยคอมมิคที่นำร่องและเป็นตัวตัดยุคนั่นก็คือ Watchmen และ The Dark Knight Return ที่ตีพิมพ์ในปี 1986 และหลังจากนั้น คอมมิคโดยเฉพาะซุปเปอร์ฮีโร่ก็มีเนื้อหาที่รุนแรงและมืดมนมากยิ่งขึ้น โดยที่ไม่อาจทราบสาเหตุที่แน่ชัดได้

ในยุคนี้นี่เองที่ฮีโร่ประเภทแอนตี้ฮีโร่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง ขณะที่ฮีโร่แบบดั้งเดิมอย่างซุปเปอร์แมนกับแบทแมนถ้าไม่ตายก็พิการ และต้องรีแบรนด์ด้วยการไปใส่ชุดดำให้รู้สึกเอจจี้

หากแต่เมื่อเวลาผ่านไปกว่า 1 ทศวรรษก็ทำให้เกิดอาการเอียนกับคอมมิคแนวนี้ และนำมาสู่คอมมิคที่โด่งดังมากในวงการแม้แต่สมัยนี้ นั่นก็คือ Kingdom Come คอมมิคซุปเปอร์ฮีโร่ของ DC ในปี 1996

Kingdom Come คอมมิคซุปเปอร์แมนที่ไม่มีชื่อซุปเปอร์แมน

Kingdom Come เป็นชื่อคอมมิคซีรีย์ของ DC ตีพิมพ์ในปี 1996 เขียนโดย Mark Waid และ Alex Ross เคยมีฉบับแปลไทยลิขสิทธิ์โดย บงกช พับลิชชิ่ง ในช่วงทศวรรษที่ 2000 เนื้อเรื่องกล่าวถึงโลกที่ซุปเปอร์แมนตัดสินใจวางมือจากการเป็นซุปเปอร์ฮีโร่มากว่า 10 ปี แต่ด้วยเหตุบางอย่างทำให้ซุปเปอร์แมนต้องกลับมาสวมผ้าคลุมอีกครั้ง

ทว่าแม้จะมีเรื่องย่อที่ผูกพันกับซุปเปอร์แมน แต่ตัวเอกจริง ๆ ของ Kingdom Come นั่นไม่ใช่ซุปเปอร์แมน ผู้อ่าน Kingdom Come จะติดตาม Kingdom Come ผ่านสายตาของ Norman McCay บาทหลวงคนหนึ่งที่มีความรู้สึกสิ้นหวังกับสังคมภายหลังจากที่ซุปเปอร์แมนแขวนผ้าคลุม

หากแต่เราก็ยังปฏิเสธไม่ได้ว่า Kingdom Come นั้นโดยเนื้อแท้แล้วเป็นคอมมิคซุปเปอร์แมน แม้ว่าจะไม่ได้มีตัวละครดำเนินเรื่องเป็นซุปเปอร์แมน แม้แต่ชื่อก็ยังสื่อนัยยะถึงซุปเปอร์แมน โดยที่ไม่ต้องแปะป้ายว่าเป็นคอมมิคซุปเปอร์แมนแม้แต่น้อย

ซึ่งซุปเปอร์แมนในเรื่องนี้ถูกให้ภาพออกเป็นสองส่วนหลัก ๆ ซึ่งทั้งสองส่วนไม่ได้แยกออกจากกันขาด อย่างแรกก็คือ ซุปเปอร์แมนในฐานะภาพแทนของพระเจ้า ซึ่งเป็นวิธีการที่นักเขียนจำนวนมากมักจะเลือกใช้ในการเล่าเรื่อง ซึ่งกรณีนี้ก็ไม่เป็นข้อยกเว้น ส่วนอีกอันคือ การให้ภาพซุปเปอร์แมนในฐานะตัวแทนของความเป็นซุปเปอร์ฮีโร่รุ่นเดอะ

ซึ่งอย่างหลังจะมีลักษณะของการพยายามสนทนากับวงการคอมมิคในยุคสมัยที่เรื่องนี้ถูกเขียนขึ้นอย่างชัดเจน

นี่มันยุคสมัยของแอนตี้ฮีโร่

ซุปเปอร์แมนนั่นเป็นฮีโร่ที่น่าเบื่อ มันเป็นข้อสรุปของวงการคอมมิคโดยทั่วไป ด้วยการที่เป็นซุปเปอร์ฮีโร่ตัวแรกของโลก ทำให้ซุปเปอร์แมนนั่นเป็นแบบของซุปเปอร์ฮีโร่ที่คลอดตามมาทีหลังโดยส่วนใหญ่ ทั้งความที่ซุปเปอร์แมนสมบูรณ์แบบไม่ว่าจะเรื่องพลังที่บอกได้ว่าอยู่ในระดับไร้เทียมทาน ไปจนถึงจริยธรรมที่ทำอะไรไม่เคยผิด (ทั้งผิดไม่ได้เนื่องจากเป็นแบบของฮีโร่ทุกคน)

ด้วยเหตุผลทั้งสองข้อนี้ทำให้ซุปเปอร์แมนเป็นตัวละครที่น่าเบื่อ และเสื่อมความนิยมไปมากโดยเฉพาะในยุค 1990 ที่เป็นยุคมืดของวงการคอมมิค ที่เส้นแบ่งความดีความชั่วเลือนลาง และซุปเปอร์ฮีโร่ที่ได้รับความนิยมส่วนมากเป็นแอนตี้ฮีโร่ ทางเดียวที่ซุปเปอร์แมนจะน่าสนใจได้เลยเป็น การฆ่าซุปเปอร์แมนทิ้ง จนเกิดเป็นอีเวนท์ The Death of Superman ในปี 1992 – 1993 หรือก็คือ ซุปเปอร์แมน รวมไปถึงฮีโร่แบบดั้งเดิมที่ได้แบบจากซุปเปอร์แมน น่าเบื่อจนการตายเป็นอย่างเดียวที่พอจะเป็นจุดขายแก่ผู้อ่านได้

Kingdom Come ก็เช่นกัน โดยเนื้อเรื่องของ Kingdom Come เล่าถึงเกิดการก่อวินาศกรรมที่สำนักพิมพ์ Daily Planet โดยตัวร้ายจากแบทแมนอย่างโจ๊กเกอร์ ทำให้คนตายเป็นจำนวนมาก รวมทั้งภรรยาของคลาร์ก เคนส์อย่างลูอิส เลนส์

การก่อวินาศกรรมของโจ๊กเกอร์ทำให้โจ๊กเกอร์ถูกจับขึ้นศาล หากแต่ระหว่างขึ้นศาลฮีโร่ที่ชื่อว่า Magog ก็ได้ทำการชิงสังหารโจ๊กเกอร์ขณะที่ถูกนำตัวขึ้นศาลเสียก่อน ซึ่งแม้ Magog จะทำผิดกฎหมาย และประพฤติตนเป็นศาลเตี้ย แต่สังคมจำนวนมากก็เห็นด้วยกับสิ่งที่เกิดขึ้น ขณะที่ซุปเปอร์แมนที่สนับสนุนการทำตามขั้นตอนของกฎหมายกลับถูกต่อต้าน และซุปเปอร์แมนเสื่อมความนิยมจากวงสังคม

การเสื่อมความนิยมของซุปเปอร์แมนนี่เองที่เป็นเหตุให้ซุปเปอร์แมนแขวนผ้าคลุม ปล่อยให้ Magog และฮีโร่รุ่นใหม่ที่มีวิธีการที่เร็วกว่า แรงกว่า และเถื่อนกว่า จัดการกับเหล่าร้ายต่อไป

Magog นั่นคือเป็นตัวแทนของแอนตี้ฮีโร่ที่ได้รับความนิยมในช่วงทศวรรษที่ 1980 – 1990 คือ ฮีโร่ที่ไม่เชื่อในเรื่องคุณธรรมตามแบบฮีโร่ดั้งเดิม และเชื่อว่าการกระทำที่รวดเร็ว และรุนแรงจะเป็นการแก้ปัญหาเหล่าร้ายที่มีประสิทธิภาพ

ขณะที่ความเสื่อมความนิยมของซุปเปอร์แมนถูกใช้แทนภาพของความเสื่อมลงของซุปเปอร์ฮีโร่ตามขนบในทศวรรษที่ 1980 – 1990 และนำมาสู่การบินจากไปเป็นเวลาสิบปี

การหายไปของซุปเปอร์แมน ทำให้โลกของ Kingdom Come เป็นโลกที่เต็มไปด้วยศาลเตี้ย ขณะที่ชาวบ้านทั้งหมดต้องคอยหลบกระสุนหรือคลื่นพลัง ของฮีโร่ที่พร้อมจัดการเหล่าร้ายโดยไม่เหลือวิธีการ (รวมไปถึงตีกันเองหากมีเรื่องไม่ถูกใจขึ้น)

ทีมผู้เขียนได้ให้ภาพว่าสังคมที่ฮีโร่เป็นแอนตี้ฮีโร่กันหมด ทำให้สังคมนั้นเต็มไปด้วยศาลเตี้ย ที่ไม่สนใจชาวบ้าน ภาพที่ Mark Waid และ Alex Ross ได้เสนอคือ ภาพของอันธพาลครองเมือง โดยที่อันธพาลแปะป้ายเรียกตัวเองว่าฮีโร่ ขณะที่คนธรรมดาทำอะไรไม่ได้

Mark Waid และ Alex Ross พยายามจะบอกว่า ฮีโร่ที่มีพลังวิเศษ แต่ไม่มีศีลธรรม ทำให้สังคมสิ้นหวัง และความสิ้นหวังนั่นเองแสดงออกมาผ่านฉากในโบสถ์

โดยในฉากแรกในโบสถ์ของ Norman McCay นั่งเก้าอี้แทบจะว่างเปล่า คนในโบสถ์ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ความหมายนั่นหมายถึงทุกคนสิ้นหวัง จนแม้แต่ศาสนาก็ไม่ตอบโจทย์ ทั้งการที่พระเจ้าในศาสนาคริสต์นั้นมีความหมายที่สามารถแทนถึงความดีได้ การที่โบสถ์โล่งนั่นทำให้อ่านได้ว่าคนไม่เชื่อในความดีอีกแล้ว

ฉากสิ้นหวังแนว ๆ นี้ปรากฏในช่วงแรก ๆ ของ Kingdom Come อยู่เต็มไปหมด ฮีโร่รุ่นเดอะกลายเป็นตำนานที่มีแต่คนแก่เท่านั้นที่รู้จัก ขณะเดียวกันฮีโร่รุ่นใหม่อย่าง Magog ก็ทำทุกอย่างโดยไม่สนวิธีการ จนสุดท้ายเกิดเหตุขึ้น เมื่อ Magog ได้สังหาร Captain Atom จนเกิดเหตุกัมมันตภาพรังสีรั่วไหล จนพื้นที่เพาะปลูกของสหรัฐอเมริกาปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี และเกิดวิกฤตครั้งใหญ่ จนซุปเปอร์แมนต้องกลับมาสวมผ้าคลุมอีกครั้ง เพื่อจัดระเบียบสังคมอีกครั้ง หากแต่การกลับมาครั้งนี้ของเขานั่นต่างจากครั้งที่เขาจากไป และไม่ใช่ในแง่ที่ดีเสียเท่าไหร่

ซุปเปอร์แมนที่มีแต่ซุปเปอร์ แต่ไม่มีความเป็นมนุษย์

อย่างที่กล่าวไว้ นอกจากพยายามจะสนทนากับยุคสมัยแล้ว Kingdom Come มีเนื้อหาที่ล้อไปกับคัมภีร์คริสต์ศาสนา ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเล่มแต่ละเล่ม ไปจนถึงชื่อ Kingdom Come ซึ่งมาจากคัมภีร์วิวรณ์ในไบเบิ้ลที่ความหมายสื่อถึง การมาถึงของอาณาจักรของพระเจ้าซึ่งจะมาในวันพิพากษา โดยในวันนั้นพระเยซูจะเสด็จลงมาจากสวรรค์เพื่อกลับมาพิพากษาอีกครั้ง นับเป็นการมาครั้งที่สอง หรือ Second Coming โดยได้มีการเปรียบในเรื่องว่าการกลับมาของซุปเปอร์แมนนั่นเป็นการมาครั้งที่สองของพระเจ้า

การเขียนลักษณะนี้คือ การเขียนให้ซุปเปอร์แมนเป็นตัวแทนของพระเจ้า ซึ่งในเรื่องก็เลือกใช้คำกล่าวถึงเหล่าซุปเปอร์ฮีโร่รุ่นเดอะว่าเทพเจ้า ส่วนซุปเปอร์แมนถูกแทนภาพเป็นพระคริสต์ที่เสด็จลงมาอีกครั้ง หากแต่การมาของซุปเปอร์แมนในรอบนี้นั้น เขาไม่ได้กลับมาในฐานะของมนุษย์ แต่มาในฐานะของซุปเปอร์แมน ซุปเปอร์แมนนั้นปฏิเสธที่จะให้คนเรียกเขาว่า คลาร์ก เคนส์ ให้เรียกเขาด้วยชื่อว่าคาลหรือซุปเปอร์แมน การตายของลูอิส เลนส์ ทำให้ซุปเปอร์แมนสิ้นหวังในตัวมนุษย์ ขณะเดียวกันก็ยังฆ่าชายที่ชื่อว่าคลาร์ก เคนส์ลงไปด้วย

สีดำของตัว S บนอกของซุปเปอร์แมนนั่นสะท้อนถึงความสิ้นหวังของซุปเปอร์แมน ภาพของซุปเปอร์แมนที่ถูกเสนอออกมาเลยจะเป็นภาพของเทพมากกว่าที่จะเป็นภาพของมนุษย์ ซุปเปอร์แมนใน Kingdom Come นั้นแทบจะไม่ยิ้มซึ่งผิดกับภาพจำปกติอย่างมาก ทั้งท่าทางการมองก็เหมือนกับพระเจ้าที่มองลงมาพิพากษา

ซึ่งนี่จะนำมาสู่ความขัดแย้งหลักของ Kingdom Come นั่นคือ ความขัดแย้งระหว่างยอดมนุษย์หรือ Metahuman กับมนุษย์

โดยยอดมนุษย์ถูกเปรียบเป็นเทพ (ทั้งตัวเองก็เชื่อว่าตนเป็นเทพ ที่เหนือกว่ามนุษย์) ในแง่นี้การมองโลกผ่านสายตาของ Norman McCay จึงเป็นการมองโลกผ่านสายตาของมนุษย์ที่ดูเหล่าเทพเจ้ากำลังตัดสินชะตากรรมของโลกทั้งใบ หากแต่ในตอนสุดท้ายความขัดแย้งระหว่างสองกลุ่มที่แตกต่างนี้ก็ถูกสรุปว่าไม่เป็นจริง

ความเป็น ‘มนุษย์’ ในตัวของยอด ‘มนุษย์’

ด้วยความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจยอดมนุษย์ ทำให้ในช่วงสุดท้ายทาง UN ได้ตัดสินใจส่งระเบิดที่ออกแบบเพื่อฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยอดมนุษย์ให้หมดสิ้นไป ผลของการระเบิดทำให้ยอดมนุษย์จำนวนมากจบชีวิตลง ขณะที่ซุปเปอร์แมนก็โกรธจนบ้าคลั่ง และตรงไปคิดบัญชีกับมนุษย์ที่สั่งสังหารเหล่ายอดมนุษย์ที่ UN

หากแต่วินาทีที่ซุปเปอร์แมนกำลังทำการพิพากษานั้น Norman McCay ได้ทำการพูดคุยดึงสติซุปเปอร์แมนอีกครั้ง โดยการบอกว่าซุปเปอร์แมน นั่นหลงลืมความเป็นมนุษย์ในตัวเอง จนซุปเปอร์แมนมีแต่คำว่า Super แต่ไม่มีคำว่า Man (มนุษย์) คำพูดนั่นดึงสติซุปเปอร์แมนได้สำเร็จ

ซุปเปอร์แมนเลือกที่จะเก็บความโกรธแค้นเอาไว้ เพื่อสันติของโลก เขาตัดสินว่าตนจริง ๆ ไม่ใช่เทพเจ้า เป็นเพียงคน ๆ หนึ่งไม่ต่างกัน ในตอนนั้นเองที่ซุปเปอร์แมนยอมให้คนเรียกเขาว่าคลาร์ก เคนส์อีกครั้ง ขณะที่มนุษย์ก็ยอมรับยอดมนุษย์ในมุมที่เหมือนกับตัวเองมากยิ่งขึ้น

Kingdom Come ไม่ได้ให้คำตอบว่าโลกหลังจากเหตุการณ์นั้นเป็นอย่างไร แต่จากที่นั่งในโบสถ์ของ Norman McCay ที่แน่นเอี๊ยดในตอนสุดท้าย เราอาจอนุมาน แม้ว่าโลกจะยังเต็มไปด้วยปัญหา แต่โลกใหม่ก็ยังมีความหวังมากกว่ายุคอันธพาลครองเมือง

ฤายุคมืดยังไม่จบ

Kingdom Come ในแง่หนึ่งอาจไม่ใช่คอมมิคที่มีเนื้อหาก้าวหน้าอะไร ที่จริงอาจเรียกได้ว่าเป็นคอมมิคที่มีเนื้อหาแบบอนุรักษ์นิยมด้วยซํ้า เพราะ Kingdom Come พยายามเสนอว่าโลกที่ดีคือ โลกที่คนมีคุณธรรมเหมือนในอดีต และคุณธรรมเหล่านี้คือสิ่งที่ต้องได้รับการรักษาเอาไว้

หากแต่ความอนุรักษ์นิยมของ Kingdom Come นั่นก็พยายามจะเสนออะไรใหม่ หนึ่งในนั้นคือ การที่มอบความเป็นมนุษย์ให้กับเหล่าฮีโร่รุ่นเดอะอย่างซุปเปอร์แมน

พร้อม ๆ กับการมาของ Kingdom Come เทรนด์ซุปเปอร์ฮีโร่แนวแอนตี้ฮีโร่ก็ซาลง แต่ก็ยังได้รับความนิยมอยู่ ขณะเดียวกันฮีโร่รุ่นเก่าอย่างซุปเปอร์แมนแม้จะใส่มิติลงไป คนก็ยังเบื่อหน่ายไม่หาย ส่วนยอดขายของคอมมิคก็ลดลงทุก ๆ ปี

Kingdom Come อาจจะจบลงด้วยความหวัง แต่ในโลกความเป็นจริง ยุคมืดของวงการคอมมิคเพิ่งเริ่มขึ้น และดำรงอยู่จนถึงทุกวันนี้

หนังสือ: Kingdom Come
ผู้เขียน: Mark Waid / Alex Ross
สำนักพิมพ์: DC Comics(US)

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ(ที่อยากอ่าน) ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี