นักฆ่าล่องหน มหานครฝุ่นและคลื่นความร้อน - Decode
Reading Time: 2 minutes

Earth Calling

เพชร มโนปวิตร

สิ่งที่เหมือนกันอย่างหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมลพิษทางอากาศคือเป็นสาเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมหาศาลในแต่ละปีไม่ว่าจะเป็นฝุ่นละอองขนาดจิ๋ว PM2.5 หรือคลื่นความร้อนที่จู่โจมหนักหนาขึ้นทุกที แต่เรากลับมองเห็นตัวการได้ไม่ชัดเจนนัก จนกล่าวได้ว่าทั้งสองปัญหาเป็นนักฆ่าล่องหนที่กำลังจับมือกันเข่นฆ่ามนุษย์อย่างไร้ความปราณี ลองมาดูกันว่าวิกฤตทั้งสองด้านเกี่ยวข้องกันอย่างไร และมีวิธีไหนบ้างที่ช่วยแก้ปัญหาทั้งคู่ได้ในคราวเดียวกัน

ปัญหามลพิษทางอากาศวิกฤตขนาดไหน

มลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุหลักของโรคร้ายและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของคนทั่วโลก ฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM2.5 ที่เราคุ้นเคยกันดีเป็นต้นเหตุของการเสียชีวิตของคนประมาณ 6.4 ล้านคนต่อปีจากโรคร้ายต่าง ๆ เช่น มะเร็งปอด โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคปอดบวม โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคในทารกแรกเกิด

การเสียชีวิตกว่า 95% เกิดขึ้นในประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งมีคนหลายพันล้านคนต้องเผชิญกับฝุ่นละออง PM2.5 ทั้งภายนอกและภายในอาคารที่มีความเข้มข้นสูงกว่าค่าแนะนำที่ถูกกำหนดโดยองค์การอนามัยโลก รายงานจากธนาคารโลกประเมินว่าแต่ละปีมีค่าเสียหายทางสุขภาพที่เกิดจากมลพิษทางอากาศเป็นจำนวนกว่า 8.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเทียบเท่ากับ 6.1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมโลก (GDP)

นจน ผู้สูงอายุ และเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้ต่ำเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดและมีความสามารถน้อยที่สุดในการรับมือกับผลกระทบทางสุขภาพที่เกิดจากมลพิษทางอากาศ ในแง่นี้ก็ไม่ต่างจากปัญหาสภาวะโลกร้อนที่ประชากรในกลุ่มเปราะบางมีความเสี่ยงสูงที่สุดจากผลกระทบต่าง ๆ ซึ่งยิ่งตอกย้ำความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่

วิกฤตสุขภาพระดับโลก เช่นการระบาดของโรค COVID-19 ทำให้สังคมยิ่งสูญเสียความสามารถในการปรับตัว (resilience) การที่ผู้ป่วยเผชิญกับมลพิษทางอากาศจะเพิ่มความรุนแรงของโรคและโอกาสในการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 นอกจากสุขภาพแล้ว มลพิษทางอากาศยังเกี่ยวข้องกับการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ และมีผลกระทบโดยตรงต่อทรัพยากรมนุษย์ ในทางกลับกันการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศไม่เพียงแต่ช่วยปรับปรุงสุขภาพแต่ยังช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจ ลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพโดยตรง

การศึกษาล่าสุดจากธนาคารโลกพบว่าการลดค่าความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 ลงได้ 20% จะช่วยให้อัตราการเติบโตของการจ้างงานเพิ่มขึ้น 16% และเพิ่มอัตราการเติบโตผลผลิตในแรงงานถึง 33% พูดง่าย ๆ การแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 จะทำให้คนเจ็บป่วยน้อยลงและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

มลพิษกับโลกร้อนเกี่ยวข้องกันอย่างไร

มลพิษทางอากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน แต่โดยทั่วไปมักถูกมองว่าไม่มีความเกี่ยวข้องและมีแนวทางจัดการแยกจากกัน ความจริงเราจำเป็นต้องจัดการทั้งสองปัญหาไปพร้อม ๆ กัน การแก้ปัญหาวิกฤตทั้งสองด้านไม่เพียงช่วยแก้วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม แต่ยังช่วยเสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์และลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างเป็นรูปธรรม

ความจริงสารปนเปื้อนทางอากาศและก๊าซเรือนกระจกมักเกิดจากแหล่งที่มาเดียวกัน เช่น โรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงและรถยนต์เครื่องดีเซล สารปนเปื้อนทางอากาศบางอย่างอยู่ในสภาพแวดล้อมได้ไม่นาน โดยเฉพาะคาร์บอนสีดำ – ส่วนหนึ่งของฝุ่นละออง PM2.5 ที่เปลี่ยนแปลงได้รวดเร็ว ส่วนก๊าซเรือนกระจกที่มีอายุค่อนข้างสั้นในชั้นบรรยากาศ ประกอบด้วย มีเทน ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน และโอโซนในชั้นโทรโพสเฟียร์หรือชั้นล่างสุด ก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้ดักจับความร้อนได้มากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์มากมายหลายเท่า

ก๊าซมีเทนมีคุณสมบัติทำให้โลกร้อนขึ้นกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 80 เท่าในช่วงเวลา 20 ปี มีเทนยังเป็นหนึ่งในตัวการสำคัญของโอโซนภาคพื้นดิน (Ground level ozone) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในมลพิษทางอากาศที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพมากที่สุดและทำให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรราว 5 แสนถึง 1 ล้านคนต่อปี การมุ่งแก้ปัญหาสารปนเปื้อนทางอากาศเหล่านี้จึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการปรับปรุงคุณภาพอากาศให้ดีขึ้น และบรรเทาความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ​

งานวิจัยหลายชิ้นยังพบว่าฝุ่น PM2.5 จากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่นการเผาถ่านหินหรือการปล่อยสารปนเปื้อนจากรถยนต์ดีเซลเป็นส่วนหนึ่งของฝุ่น PM2.5 ที่เป็นพิษมากที่สุด อนุภาคจากแหล่งเหล่านี้มีผลกระทบต่อสุขภาพมากกว่าอนุภาคจากแหล่งมลพิษทางอากาศแหล่งอื่น ๆ การแก้ปัญหาโรงไฟฟ้าถ่านหินและการจราจร นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนแล้วยังเป็นการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศที่เป็นพิษที่สุด

วิธีการจัดการกับมลพิษทางอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ

  • การวัดและตรวจสอบ: เรื่องนี้เป็นปัญหาที่ร้ายแรงเพราะเราไม่สามารถจัดการปัญหาได้อย่างถูกต้องหากไม่ได้วัดคุณภาพอากาศอย่างถูกต้อง ถ้าเราไม่รู้ว่าปัญหาเลวร้ายเพียงใดเราก็จะไม่รู้ว่ามาตรการต่าง ๆ ที่ใช้แก้ไขปัญหานั้นมีประสิทธิภาพหรือไม่ ทุก ๆ ประเทศจึงต้องพัฒนาระบบเครือข่ายการตรวจวัดอากาศระดับพื้นดิน ดำเนินการและบำรุงรักษาอย่างถูกต้องเพื่อให้ได้ข้อมูลคุณภาพอากาศที่เชื่อถือได้
  • ทราบแหล่งที่มาของมลพิษทางอากาศและสาเหตุที่ทำให้คุณภาพอากาศเลวร้าย: เช่นในเมืองที่มีการจราจรหนาแน่น การขนส่งอาจเป็นปัจจัยที่มีส่วนสำคัญ แต่ในเมืองที่ล้อมรอบไปด้วยพื้นที่เพาะปลูก การเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอาจมีความสำคัญมากกว่า ข้อมูลเหล่านี้ช่วยให้เราสามารถกำหนดมาตรการให้เหมาะสมเพื่อลดมลพิษทางอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ แน่นอนว่ามาตรการบางอย่างเป็นเรื่องที่ดีอย่างไม่ต้องสงสัยและลงมือทำได้เลย เช่นการปรับเปลี่ยนขนส่งสาธารณะเป็นพลังงานไฟฟ้า หรือส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน
  • เผยแพร่ข้อมูลคุณภาพอากาศให้แก่ประชาชน: ประชาชนมีสิทธิ์ที่จะทราบถึงคุณภาพของอากาศที่พวกเขาหายใจ การเผยแพร่ข้อมูลคุณภาพอากาศในรูปแบบที่เข้าถึงได้ง่ายประชาชนลดความเสี่ยงในการสัมผัสกับมลพิษทางอากาศและปกป้องกลุ่มคนที่อ่อนแอ เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีปัญหาสุขภาพซึ่งอาจเลวร้ายลงจากคุณภาพอากาศที่ย่ำแย่

หนึ่งในวิธีการที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศและสภาวะโลกร้อนได้ในคราวเดียวกันก็คือการหยุดเผา และหยุดใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งจะช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศและแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ต้นตอ การหยุดเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรนอกจากจะช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศอย่างมหาศาลยังเป็นการหมุนเวียนแร่ธาตุและปรับปรุงคุณภาพดิน หรือในชุมชนที่ยังคงมีการใช้ไม้ฟืนเพื่อการหุงหาอาหารและให้ความอบอุ่น การเปลี่ยนไปใช้เตาแก๊สไร้ควันจะช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศภายในบ้านอย่างมาก มาตรการเหล่านี้ล้วนส่งผลดีต่อการแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนในระยะยาว

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการอื่น ๆ ที่เราสามารถนำมาใช้เพื่อลดมลพิษทางอากาศได้ เช่น:

  • เปลี่ยนแหล่งพลังงานโดยส่งเสริมการใช้พลังงานที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และลดเงินอุดหนุนที่ยังส่งเสริมให้มีการใช้เชื้อเพลิงที่สร้างมลพิษ
  • ในอุตสาหกรรม ใช้เชื้อเพลิงจากพลังงานหมุนเวียน และนำเอามาตรการการผลิตที่สะอาดกว่ามาใช้ รวมทั้งติดตั้งระบบล้างฝุ่นและอุปกรณ์ไฟฟ้าสถิตย์ในโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อกรองอนุภาคขนาดเล็กก่อนที่จะปล่อยออกสู่อากาศภายนอก
  • ในการขนส่ง เปลี่ยนจากการใช้รถยนต์ดีเซลเป็นรถไฟฟ้า ติดตั้งอุปกรณ์เครื่องฟอกไอเสียเร่งปฏิกิริยา (Catalytic converter) ในยานพาหนะเพื่อลดความอันตรายของสารปนเปื้อน มีระบบตรวจสอบและบำรุงรักษารถยนต์
  • ในการเกษตร หลีกเลี่ยงการใช้ปุ๋ยที่มีไนโตรเจน และปรับปรุงประสิทธิภาพของดินในการเกษตรด้วยการใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรแทนการเผา ปุ๋ยที่มีส่วนประกอบไนโตรเจนจะปลดปล่อยแอมโมเนียซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดฝุ่น PM2.5 ชนิดรอง และยังทำปฏิกิริยากับออกซิเจนกลายเป็นไนตรัสออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่อยู่ในชั้นบรรยากาศ นอกจากนี้ควรมีระบบจัดการมูลสัตว์และปุ๋ยเพื่อป้องกันให้เกิดก๊าซมีเทน
  • การทำอาหาร ควรใช้วิธีการที่สะอาด เช่นเตาแก๊สและหม้อต้มไร้ควัน

การแก้ปัญหามลพิษทางอากาศและสภาวะโลกร้อนควรทำไปพร้อมกันเพราะเป็นนโยบายที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน เราสามารถปรับปรุงคุณภาพอากาศได้ค่อนข้างรวดเร็วเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือสภาพเมืองไร้ฝุ่นในช่วงล็อกดาวน์ระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด เมืองที่เคยเต็มไปด้วยฝุ่นควันอย่างนิวเดลี กวางโจว หรือกรุงไคโรเกิดปรากฏการณ์ฟ้าใสอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ในขณะที่การตอบสนองของระบบสภาพภูมิอากาศจะใช้เวลานานกว่า แต่มาตรการที่แก้ปัญหามลพิษทางอากาศย่อมส่งผลดีในระยะยาวแน่นอน

ปัญหามลพิษทางอากาศเกิดขึ้นในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ ส่วนสภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาที่ส่งผลในระดับโลกที่ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกประเทศ การแก้ปัญหามลพิษทางอากาศจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เราไม่ต้องมานั่งเถียงกันว่าประเทศไหนควรจะลงมือแก้ปัญหาโลกร้อนก่อน เพราะใครลงมือแก้ปัญหาก่อนประเทศนั้นก็จะมีคุณภาพอากาศที่ดีขึ้น และส่งผลดีโดยรวมต่อโลกในที่สุด

มีงานศึกษาเมื่อปี 2021 แสดงให้เห็นว่าหากประเทศสหรัฐอเมริกาสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าหมายของข้อตกลงปารีส เฉพาะผลประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจจากอากาศที่สะอาดขึ้นนั้นก็สูงกว่าต้นทุนในการเปลี่ยนผ่านระบบต่าง ๆ ภายใน 10 ปีแรกเท่านั้น นอกจากนี้การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อไม่ให้อุณหภูมิสูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส ยังจะช่วยป้องกันไม่ให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึง 4.5 ล้านคน ป้องกันคน 1.4 ล้านคนจากการรักษาตัวในโรงพยาบาล และลดอาการสมองเสื่อมในคนราว ๆ 1.7 ล้านคน

การเห็นความเชื่อมโยงระหว่างสุขภาพที่ดีขึ้นจากคุณภาพอากาศที่ดีนั้นจึงเป็นแรงจูงใจสำคัญให้แต่ละประเทศลงมือแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มักถูกมองว่าเป็นปัญหาในระยะยาว การลงมือแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนวันนี้จะส่งผลดีทันทีต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและนโยบายด้านสาธารณสุข และยังช่วยบรรเทาผลกระทบจากภัยพิบัติที่หลายคนยังไม่ตระหนัก เข้าทำนอง มิเห็นโลงศพ มิหลั่งน้ำตา ถึงเวลาจัดการกับนักฆ่าล่องหนทั้งสองนี้พร้อม ๆ กันแล้ว