หลังผลคะแนนการเลือกตั้งครั้งล่าสุดออกอย่างไม่เป็นทางการ ลองสังเกตตัวเองดูว่าคุณรู้สึกอย่างไร
นั่ง ๆ อยู่แล้วเผลอยิ้มแบบไม่รู้ตัว
รู้สึกเครียด ไม่พอใจ
หรือ…
อาจจะไม่รู้ว่า ตัวเองควรจะรู้สึกยังไงดี เพราะผลคะแนนยังไม่ออกอย่างเป็นทางการ กลัว กังวลว่าจะมีปัจจัยอะไรอย่างอื่นที่นอกเหนือการควบคุมที่ทำให้ผลนั้นไม่เป็นอย่างที่หวังหรือเปล่า… และอาจลุกลามไปถึงเครียด ใจสั่น นอนไม่หลับ รู้สึกถึงความไม่แน่นอนในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง
แต่ไม่ว่าปัจจัยที่มากระตุ้นให้เกิดอารมณ์เหล่านั้น จะเป็นสถานการณ์ที่ร้อนแรงในช่วงนี้ หรือจะมาจากสถานการณ์ หรือสิ่งกระตุ้นอื่น ๆ ถ้ามันส่งผลกับอารมณ์มากเกินไปจนเรารู้สึกควบคุมตัวเองไม่ได้ เริ่มกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน เราว่านั่นเป็นสัญญาณการเจ็บป่วยทางจิตใจแล้วล่ะ
คนเราเมื่อเจ็บป่วยทางกาย ก็จะไปโรงพยาบาลเพื่อหาหมอรักษาอาการเจ็บป่วยนั้น
แต่เมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยทางจิตใจ คนส่วนมากมักจะเพิกเฉย ไม่กล้าไปหาหมอ เพราะคิดว่าคนที่ไปหาหมอด้วยอาการเจ็บป่วยทางจิตใจนั้นเป็นคนไม่ปกติ หรือที่เราเคยได้ยินกันก็คือ “คนบ้า” แต่หารู้ไม่ว่ากว่าจะรู้ตัวอีกทีอาการเจ็บป่วยทางจิตใจนั้นก็กัดกินลุกลามเรื่อย ๆ จนส่งผลกระทบกับการดำเนินชีวิตไปแล้ว
ฉัน… ผู้ยังไม่แน่ใจเลยว่าตัวเองเป็นโรควิตกกังวลหรือเปล่า
เพราะยังไม่เคยเข้ารับการวินิจฉัยจากจิตแพทย์โดยตรง..
เมื่อได้อ่านหนังสือเล่มนี้ “คู่มือเอาชนะภาวะสติแตก” ของ Dr.Claire Weekes แปลโดย พลอยแสง เอกญาติ แล้วทำให้คิดไปว่า… ฉันอาจจะเป็นโรคนั้นก็ได้นะ หรือถึงสุดท้ายจะเป็นหรือไม่เป็น เราก็อยากทำความเข้าใจโรค หรือภาวะนี้อยู่ดี เพื่อเรียนรู้การอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น ตามที่หนังสือเล่มนี้ได้เขียนจุดประสงค์ไว้ว่า
หนังสือเล่มนี้ใช้เพื่อเป็นคู่มือทั่วไปเท่านั้น อาการของแต่ละคนย่อมแตกต่างกันจึงควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสถานการณ์เฉพาะตัวของคุณ
จริงอยู่ว่าในทุกวันเราต้องพบเจอสถานการณ์อะไรบางอย่างมากระตุ้นอารมณ์ ความรู้สึกของเราให้เรารู้สึกสติแตกได้ ซึ่งในคนปกติทั่วไปเมื่อโดนสิ่งกระตุ้นอาจจะตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นนั้นไม่นานแล้วซักพักก็จะกลับมาสู่ภาวะปกติ แต่กับคนที่เป็นโรคนี้เมื่อถูกสิ่งกระตุ้น อาจต้องใช้ระยะเวลาและความพยายามอย่างมาก กว่าที่จะกลับมาสู่สภาวะปกติ
อย่างที่บอกไปว่า คนที่เป็นโรคนี้จะไวต่อสิ่งกระตุ้นแบบมาก ๆ สิ่งกระตุ้นที่ว่านี้ หลายคนอาจจะคิดว่าต้องเป็นอะไรที่กระทบกระเทือนจิตใจแรง ๆ แน่เลย แต่จริง ๆ แล้วอาจจะเป็นแค่แสงแดด สายลม หรืออะไรที่เรียบง่ายเลยก็ได้ แต่มันส่งผลกับจิตใจมากมายเหลือเกิน พอเจอสิ่งที่มากระตุ้นมันก็จะเกิดอารมณ์ ความรู้สึกเวียนวนอยู่ภายในดำผุด ดำว่าย และในบางครั้งก็เหมือนหายใจไม่ออกขึ้นมาเสียอย่างนั้น
บ่อยเข้าก็ทำให้นำไปสู่อาการล้า ทั้งทางความกังวล กล้ามเนื้อ สมอง และทางจิตวิญญาณ และสิ่งที่เกิดต่อมาคือความเครียด และเกิดปัญหาทางใจตามมา
ปัญหาทางใจที่ว่านี้ก็คือ โรควิตกกังวล อาการโดยทั่วไป จะมี เคลื่อนไหวร่างกายติดขัด ปวดศีรษะ เหน็ดเหนื่อยและอ่อนล้า หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ หวาดกลัว กังวล ใจสั่น อาการแพนิก ฯลฯ ซึ่งวิธีการรักษาแบบอาการทั่วไปนี้ ในหนังสือได้บอกว่า มีหลักการรักษา 4 ขั้นตอนด้วยกัน คือ
เผชิญหน้า ยอมรับ ลอยตัว และปล่อยให้เวลาผ่านไป
เผชิญหน้า กับอาการที่เป็น ที่เกิดขึ้นอยู่ รับรู้ว่าการเยียวยาต้องมาจากภายในตัวเอง ซึ่งก็ต้องมีคำแนะนำและความช่วยเหลือจากภายนอกร่วมด้วย สร้างความคุ้นเคยกับอาการที่เป็นอยู่
ยอมรับ ในหนังสือบอกกับเราว่า การยอมรับคือกุญแจสู่การฟื้นฟูสภาพ หมายถึงการปล่อยให้ร่างกายผ่อนคลายมากที่สุด แล้วเดินหน้าไปหาสิ่งที่กลัว จริง ๆ เราว่าการเผชิญหน้า และการยอมรับ สำหรับบางคนอาจจะมาในระยะที่ใกล้เคียงกัน เพียงแต่สำหรับเราเราว่าในระยะขั้นตอนของการยอมรับ จะใช้เวลาเยอะ และต่อสู้กับตัวเองเยอะกว่า
การยอมรับว่าตัวเองมีอาการแบบนั้นมันยากมาก และมันจะสลัดอาการนั้นไม่หลุดเลย เราเคยมีอาการบางอย่างที่เกิดขึ้นเพราะมีอะไรมากระทบจิตใจ แล้วเราก็นอนอยู่อย่างนั้น ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นอะไร ไม่ยอมรับ และคนรอบข้างก็เหมือนจะไม่ค่อยเข้าใจว่าเราเป็นอะไร เรานอยด์ตัวเองมาก ไม่อยากกิน ไม่อยาก ไม่อยากทำอะไรเลยแต่เมื่อเวลาผ่านไปซักระยะหนึ่ง เราเริ่มรู้สึกตัว เริ่มรำคาญตัวเองว่าเป็นอะไร…. จากนั้นก็ค่อย ๆ นิ่ง ค่อย ๆ ฟังตัวเอง แล้วถึงค่อยยอมรับว่าตัวเองมีอาการแบบนี้นะ… แล้วจะทำยังไงให้มันดีขึ้นล่ะ พอคิดได้แบบนั้นมันถึงได้ผ่านจุดที่ยากที่สุดไป หากเราพยายามจะหลีกหนีจะเป็นการไปกระตุ้นให้ฮอร์โมนหลั่งออกมามากขึ้น เพราะฉะนั้นการยอมรับจะทำให้อาการ และร่างกายต่าง ๆ ค่อย ๆ กลับมานิ่งและสงบลง
การลอยตัว คนที่ไวต่อสิ่งกระตุ้นในขั้นแรกของการตอบสนองนั้น คือเกร็ง เครียดอยู่ข้างใน เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดอาการนี้แล้วต้องพยายามปลดปล่อยความตึงเครียด ตั้งสติ และพยายามไหลไปกับอาการนั้น
การปล่อยให้เวลาผ่านไป การฟื้นฟูสภาพก็เหมือนการเยียวยาโรคทั่วไปต้องใช้เวลา เมื่อผู้ป่วยตระหนักว่าความรุนแรงต่อปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของภาวะไวต่อสิ่งกระตุ้น แล้วยอมรับได้ในขณะที่ปล่อยให้เวลาไหลผ่านไป ปฏิกิริยาต่าง ๆ เหล่านั้นจะค่อย ๆ กลับคืนสู่สภาวะปกติ
ซึ่งการรักษา 4 หลักนี้ ในบางขั้นตอนอาจเกิดขึ้นพร้อม ๆ กันเลยก็ได้ ถ้าใครมีอาการทำนองนี้ก็น่าจะลองทำตามดู แต่หากใครไม่ไหวจริง ๆ เราว่าก็ควรหาตัวช่วยอื่น ๆ อย่างเช่นจิตแพทย์
นอกจากหลักการรักษาพื้นฐาน 4 ขั้นตอนที่ในหนังสือได้กล่าวไว้ ยังมีวิธีบำบัดอาการจากภาวะกังวลรุนแรงด้วย ซึ่งเป็นอาการล้าทางอารมณ์ ในภาวะกังวลรุนแรงอาจทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ตามมามากมาย เช่น การเสียความมั่นใจ การมีปัญหาในความสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ ฯลฯ ซึ่งก็อาจสามารถลองปฏิบัติตามคำแนะนำในหนังสือได้ แต่ต้องจำไว้ว่าการรักษาอาการนี้ต้องใจเย็น เพราะมันต้องใช้เวลา อย่าถอดใจไปก่อนโดยเด็ดขาด
แน่นอนว่าอาการวิตกกังวลนี้เมื่อเป็นแล้วอาจจะไม่ได้หายขาด เพราะเมื่อถูกสิ่งกระตุ้นเข้ามาใหม่ อาการต่าง ๆ ก็พร้อมจะกลับมาอีกได้เสมอ บางคนที่เคยเผชิญกับภาวะนี้มาแล้วอาจจะกลัวกับการกลับมาของอาการเหล่านั้น แต่เมื่อเราอ่านหนังสือเล่มนี้ บวกกับเคยเผชิญมากับตัว เรารู้สึกแค่ว่าเราต้องบอกตัวเองเมื่อเวลามีอาการเหล่านั้นกลับมาว่า เดี๋ยวมันก็ผ่านไป เธอก็ผ่านมาได้ทุกครั้งนี่หน่า… พยายามหามุมมองมุมใหม่ ๆ
ความกลัว.. เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนอยู่แล้ว แต่กับคนที่เป็นโรคนี้ความกลัวจะดูน่ากลัวมากเป็นพิเศษ ดูเป็นอะไรที่รุนแรงและไม่กล้าที่จะโอบกอดยอมรับความกลัวนั้น
ที่ทุกวันนี้ฉันพยายามไม่มองตัวเองในระยะยาว ๆ มาก ๆ อาจเป็นเพราะว่าเคยพยายามมองไกลแล้ว มันรู้สึกมันโหวง ๆ ในใจ เพราะมันไกลเกินไป จนเรามองไม่เห็นว่ามันจะเป็นจริงไหม เราจะเจออะไร พอมันไม่รู้ มันก็เกิดความกลัว มันก็เกิดความวิตกกังวล เลยทำให้ไม่อยากคาดหวัง หรือมองอะไรในระยะยาวมาก ๆ แต่ในทางกลับกัน ฉันรู้สึกว่าตัวเองพยายามโฟกัสปัจจุบัน หรืออะไรในระยะสั้น ๆ พอ ค่อย ๆ ลงมือทำไป นี่อาจเป็นการมองมุมใหม่ ๆ ของฉันก็ได้
เราไม่อาจใช้เกณฑ์ของตัวเองวัดได้เลยว่าความกลัว ความกังวลของเรากับของคนอื่นอยู่ในระดับไหน ในบางครั้งฉันก็รู้สึกว่าคนใกล้ตัวมีภาวะแบบนี้เหมือนกัน แต่ก็ไม่แน่ใจนักว่าอยู่ในระดับไหน จนกว่าเขาจะตัดสินใจไปหาหมอนั่นแหละ สิ่งที่ฉันทำได้ในฐานะคนในครอบครัว (แล้วก็ตามที่หนังสือให้คำแนะนำ) คือคนในครอบครัวควรแสดงความเมตตาต่อคนที่กำลังมีอาการเช่นนี้ หาอะไรให้เขาทำ แต่ถ้าเขาอยู่ในภาวะนั้นอยู่ ไม่ควรบอกให้เขาสู้ แต่ควรแนะนำให้เขาฝึกอยู่นิ่ง ๆ กับตัวเอง และให้ลอยอยู่เหนือความกลัว
หากมีอาการของโรคนี้ ควรนิ่งและฟังเสียงภายในของคุณว่ากำลังบอกอะไร ตั้งใจฟัง เผชิญกับเสียงนั้น เพื่อยอมรับ ลอยตัว และให้เวลาผ่านไป สุดท้ายเราก็จะสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้
ดูเหมือนจุดเริ่มต้นของอาการอาจมาจากจุดเล็ก ๆ แต่หากเราเพิกเฉยต่ออาการนั้น อาจพัฒนากลายเป็นโรคซึมเศร้าได้เลย เพราะฉะนั้นเราไม่ควรมองข้ามสัญญาณเตือนจากอาการเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านั้นโดยเด็ดขาด
หนังสือ: คู่มือเอาชนะภาวะสติแตก
ผู้เขียน: Dr. Claire Weekes
แปล: พลอยแสง เอกญาติ
สำนักพิมพ์: นานมีบุ๊คส์
PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ(ที่อยากอ่าน) ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี