คุณคิดว่า
คุณปู่ชาวโปแลนด์ที่รอดชีวิตมาอย่างไร้ชีวิต
เด็กสาวชาวซีเรียที่มีรูปกุญแจซอลที่ต้นคอ
ช้างป่าหิวโซที่ศรีลังกา สิ่งมีชีวิตทั้ง 3 ที่กล่าวมา มีอะไรเหมือนกัน?
… คำตอบคือ พวกเขาล้วนเป็นสมาชิกของโลกาภิวัตน์
โลกาภิวัตน์(Globalization) ไม่เพียงแต่ทำให้โลกทั้งใบเชื่อมถึงกัน ภายใต้การพังทลายขีดจำกัดของการสื่อสาร เราพบสิ่งที่เรียกว่าโลกาปฏิวัติ(Revolt) ทุกหย่อมหญ้า การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กันเองของมนุษย์สู่การทำลายล้างโลกทั้งใบผ่านอุตสาหกรรม สิ่งที่โลกาภิวัตน์ชี้ให้เห็น ไม่ใช่รูปของครอบครัวผ่านจอขนาด 5 นิ้ว แต่เป็นความเหลื่อมล้ำที่กระจายโดยมีสารตั้งต้นจากกลุ่มคนรวยที่กระจุกอยู่บนยอดพิระมิด
ทำความเข้าใจความเปราะบางและสั่นเทาที่ดาวเคราะห์สีฟ้ากำลังเผชิญ
ผ่านสมาชิกของโลก-โลกาภิวัตน์ จากสายตาของนักข่าวมือรางวัลชาวอิสราเอล Nadav Eyal ในหนังสือ REVOLT- โลกาปฏิวัติ แปลโดย เขมลักษณ์ ดีประวัติ
และสิ่งมีชีวิตที่กำลังมุ่งสู่โลกาปฏิวัติในประเทศไทย จากมุมมองของนัก(ฝันจะ)เขียน อายุ 24 ปี
เศษซากของยุคแห่งความรับผิดชอบ
หลังมนุษยชาติฆ่าล้างกันอย่างบ้าคลั่งโดยมีสารตั้งต้นจากแนวคิดรากฐานนิยม จนพัฒนาเป็นชาตินิยม กลุ่มคนจำนวนมากกลัวว่าการเข้ามาของ ‘สิ่งอื่น’ จะทำให้พวกเขาสูญเสียอัตลักษณ์และชีวิตเดิมไป
ก่อนโลกาภิวัตน์จะเติบโตอย่างถึงขีดสุด โลกอยู่ในภาวะที่ไม่ว่าใครต่างก็หลีกเลี่ยงที่จะทำสงคราม เหล่าผู้นำกำลังตระหนักได้ว่าสงครามไม่เคยทำให้อะไรดีขึ้น ผู้นำแต่ละประเทศร่วมจับมือที่จะรักษาไว้ซึ่งความสงบสุขและกลายเป็น ยุคแห่งความรับผิดชอบ
Nadav ได้ให้ข้อสังเกตไว้ว่า ไม่ว่ายุคใดมนุษย์ต่างถูกสั่นคลอนด้วยความกลัว ความรับผิดชอบที่ว่าคือความกลัวแบบหนึ่งที่จะไม่ทำให้มนุษย์ถอยหลังไปสู่สงครามอีก กลุ่มคนในช่วงปี 30s-70s จึงมีหน้าที่อย่างหนึ่งในฐานะประชากรในยุคของสงคราม คือการรักษาความสงบให้กับลูกหลาน
แต่ความสงบสุขถูกสั่นคลอนอีกครั้ง เมื่อความมั่นคงทั่วโลกต่างปรับตัวจากภาวะสงคราม แต่ภาวะฟืดเคืองทางเศรษฐกิจ ความเปลี่ยนแปลงคือทางรอดแต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะพร้อมขึ้นขบวนรถด่วนโบกี้นี้สำเร็จ เช่นนั้น กลุ่มรากฐานนิยมที่ได้แปรเปลี่ยนมาเป็นอนุรักษนิยม ถูกคานแนวคิดเมื่อกลุ่มคนในปัจจุบันในระเบียบโลกใหม่ ต้องการจะก้าวไปข้างหน้า
Nadav เล่าถึงประสบการณ์ที่ตนได้ไปพูดคุยถึงการร่วงโรยของโลกาภิวัตน์แก่เหล่าเศรษฐี และกลุ่มมหาอำนาจทั่วโลก สิ่งที่เขาได้รับกลับมา มุมมองของเขาในฐานะนักข่าวรุ่นเก๋า ถูกมองว่าเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย กลุ่มคนในระเบียบโลกเก่าที่ยังได้ผลประโยชน์จากบนหอคอยงาช้างยังได้รับประโยชน์จากความล่มสลายของโลกที่เป็นอยู่
“โดยรวมมนุษย์เรากำลังไปได้ดี เมื่อดูจากตัวเลข GDP แต่ทำไมคนส่วนมากถึงรู้สึกตัวเองไม่ไปถึงไหนเลย ผมน่าจะตระหนักได้ดี กลุ่มคนรวยเหล่านี้เป็นเพียงก้อนเมฆที่ลอยผ่านไป ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ความเจริญซึ่งผูกขาดโดยพวกเขายิ่งทำให้กลุ่มคนจนเหล่านี้เป็นฐานรากให้พวกเขาลอยตัวขึ้นไปอีก”
แม้ความเปลี่ยนแปลงจะเป็นส่วนสำคัญของยุคสมัย และเป็นปัจจัยหลักของความก้าวหน้า แต่บ่อยครั้ง ความเปลี่ยนแปลงย่อมแลกมาซึ่งการเปลี่ยนขั้วอำนาจ และทำให้ชนชั้นนำเลือกที่จะใช้ความกลัวบอกกับประชาชน ว่าความเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ใช่เรื่องดีไปซะทั้งหมด
วันที่ 5 พฤษภาคม 2566 พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้เผยแพร่คลิป “ถามคนไทย…เอาไหม? คุณอยากให้ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม จริงหรือ” เนื้อหาในคลิปนี้มีความน่าสนใจในการถอดรหัส ความกลัว ของชนชั้นนำในประเทศไทย ถึงนิยามของความสงบสุขซึ่ง Nadav นิยามเช่นกันว่าเป็นเศษซากของยุคแห่งความรับผิดชอบ หรือถ้าระบุช่วงเวลาให้ชัดยิ่งขึ้น ชนชั้นนำกำลังใช้ชุดความคิดของยุคหลังสงครามเย็น สร้างความกลัวต่อการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย
ความกลัวต่อยุคสมัยของคลิปนี้มีนัยยะสำคัญอย่างยิ่ง แม้กลุ่มชนชั้นนำในไทยจะเป็นส่วนหนึ่งของยุคแห่งความรับผิดชอบทางสากล แต่เพราะการเมืองไทยที่มีทหารเข้ามาแทรกแซงอยู่ตลอด นั่นหมายความว่าแม้สงคราม การจลาจล ความไม่สงบใด ๆ กลับกลายเป็นอีกไพ่ใบสำคัญที่ชนชั้นนำกลุ่มนี้เลือกที่จะเก็บไว้และนำออกมาใช้อยู่เสมอ เพื่อรักษาเสถียรภาพและมายาคติ ”ไทยนี้รักสงบ แต่ถึงรบไม่ขลาด” เพื่อประโยชน์กลุ่มตนเอาไว้
ในขณะเดียวกัน กลุ่มที่พรรครวมไทยสร้างชาติต้องการจะสื่อสาร คือเป็นกลุ่มคนสูงอายุที่หลายครั้งยุคสมัยทิ้งไว้กลางทางและไม่อาจพาขึ้นขบวนมาด้วยได้ แม้จะประกอบอาชีพข้าราชการซึ่งเชื่อกันว่าสามารถกินบำเน็จบำนาญในยามแก่เฒ่า
แน่นอนว่าในโลกโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook หรือ Twitter กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เติบโตท่ามกลางโลกาภิวัตน์จะเข้าใจได้ไม่ยากว่าความกลัวที่ว่าเป็นของล้าสมัย แต่กับกลุ่มคนสูงอายุที่อาจสื่อสารช่องทางเดียวอย่างโทรทัศน์ หรือ กลุ่มไลน์ ซึ่งส่วนมากถูกบังคับให้มีพฤติกรรมรับสารและส่งต่อไปข้างเดียว ความกลัวที่ว่าจึงเป็นเรื่องจริง ไม่ใช่เรื่องหลอก สำหรับพวกเขา
และแผนความกลัวนี้ไม่ใช่ว่าจะสำเร็จได้ยาก ท่ามกลางสวัสดิการเบี้ยคนชรา 600 บาทต่อเดือน หรือกระทั่งภาพข้าราชการวันเกษียณต้องมานั่งขอทานดั่งในคลิป โลกาภิวัตน์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ผสมกับสวัสดิการที่ไม่ครอบคลุม นี่คือความกลัวที่ชนชั้นนำใช้หาเสียงในปี 2566 และคำถามก็กลับไปข้างต้น ว่าการทุ่มทรัพยากรทำคลิปโฆษณาชิ้นหนึ่งคงไม่อาจเกิดขึ้นได้ หากไม่มีการการันตีว่าโฆษณานั้นจะไม่มีผู้บริโภคคนใดเชื่อผลิตภัณฑ์(ชุดความคิด) ที่นำเสนอผ่านหน้าจอ
ล่มสลายของโลกาภิวัตน์กำลังเกิดขึ้นในวันที่เราสไลด์หน้าจอหนึ่งครั้ง อัลกอรึทึ่มกำลังเรียนรู้ตัวเราทีละนิด ชนชั้นนำก็กำลังแผ่ขยายความกลัวต่อการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน
พลเมืองชั้น 3 ในเครื่องกรองอากาศ
เครื่องกรองอากาศกลายเป็นเฟอนิเจอร์ชิ้นสำคัญในบ้าน นับตั้งแต่ปี 2561 ประเทศไทยถูกทำให้เข้าสู่ฤดูฝุ่นอย่างไม่มีมาตรการรองรับจนถึงปัจจุบัน
เครื่องกรองอากาศไม่ได้เป็นเพียงสัญญะของอากาศที่แย่เพียงอย่างเดียว นอกจากการบริหารจัดการในเรื่องของโครงสร้าง(อะตอมในอากาศ) ที่ผิดพลาด ในวันที่ลมพัดฝุ่นออกจากเมืองหลวงส่วนหนึ่ง แต่ภาพของคนเชียงใหม่ที่ต้องใช้เครื่องกรองอากาศถึง 6 เครื่องในห้องเดียวกับคุณภาพอากาศสีม่วง
จากศูนย์กลางสู่เมืองใหญ่ แล้วคนต่างจังหวัดอีกกี่คนที่ไม่สามารถซื้อเครื่องกรองอากาศ เพื่อที่จะอาศัยอยู่ในห้องที่มีอากาศที่เราหายใจอยู่ในค่าที่ ปลอดภัย ได้
Nadav เป็นนักข่าวที่สามารถวิจารณ์ประเทศมหาอำนาจได้เต็มปาก จากการที่เขาเป็นประชากรในประเทศที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากระบบทุนนิยมของประเทศโลกที่ 1 และประสบการณ์ในการใช้ชีวิตของเขารอบโลก ระหว่างที่โลกาภิวัตน์กำลังทลายกำแพงของโครงสร้างอำนาจ การค้าและทุนนิยมก็ใช้อำนาจที่ทรงพลังของมัน ฉกฉวยและขูดรีดสังคมที่ยากจนและอ่อนแอกว่าเสมอ ภายใต้ชื่อ ‘อุตสาหกรรม’
จีนเป็นประเทศหนึ่งที่มีการใช้พลังงานไฟฟ้าถ่านหินมากที่สุดในโลก ซึ่ง NewYork Times ปี 2013 เคยระบุไว้ว่า “การหายใจคือความเสี่ยงของเด็กชาวจีน” เมื่อกระแสต่อต้านมากขึ้น พรรคคอมมิวนิสต์ของจีนเลยย้ายโรงงานไฟฟ้าครึ่งหนึ่งออกจากปักกิ่ง แต่ผลที่ตามมาคือจังหวัดอื่น ๆ กลายเป็นเมืองที่มีมลพิษสูงแทน
สารคดี Under the Dome(2015) ผลงานของนักหนังสือพิมพ์ชื่อ ไฉจุง ฉายภาพของเด็กหญิงอายุ 6 ขวบ ในจังหวัดทำเหมืองถ่านหินในมณฑลชานซี ซึ่งขณะนั้นเป็นเมืองที่มีมลพิษสูงที่สุดในจีน
“หนูเคยเห็นดวงดาวไหม?”
“ไม่เคยค่ะ”
“แล้วหนูเคยเห็นท้องฟ้าไหม?”
“เคยเห็นแต่ที่เป็นสีฟ้านิดหน่อยค่ะ”
ส่วนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์ในสารคดีนี้ ชี้ให้เห็นถึงคุณภาพชีวิตของเด็กที่โตมาในยุคโลกาภิวัตน์ การก้าวหน้าของอุตสาหกรรมโดยการตักตวงเกินขนาดของกลุ่มทุนทำให้เด็กหลายคนพบว่าท้องฟ้าสีฟ้าเต็มใบนั้นเป็นเรื่องแปลก ในขณะเดียวกัน โรงเรียนเอกชนของจีนหลายแห่ง ใช้โฆษณาสนามกีฬาในโดม เพื่อที่จะให้ลูกหลานได้ออกกำลังกายได้หายใจสะดวก และราคาของความปลอดภัยนี้ย่อมไม่ใช่ลูกตาสีตาสาที่ไหนสามารถเข้าถึงได้ง่าย
เนย อดีตเด็กหลุดนอกระบบการศึกษาและปัจจุบันเป็น Sex Worker ย่านวงเวียน 22 ในขณะที่ผมสัมภาษณ์เธอ ประเทศไทยกำลังเข้าใกล้สู่ฤดูฝุ่น โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำ ในขณะที่ลูกของเธอยังเล็กพร้อมเกิดมาด้วยร่างกายที่ไม่ค่อยแข็งแรง มาตรการที่เนยบอกกับผมเพื่อเตรียมรับมือกับค่าอากาศย่ำแย่คือ
“ถ้าทนไม่ไหว ก็ตาย”
คำนี้ไม่ได้เกินจริงแต่อย่างใด ในขณะที่เครื่องกรองอากาศกลายเป็นเฟอนิเจอร์ชิ้นหลักในบ้าน แต่สำหรับกลุ่มคนอีกจำนวนมากในประเทศ มองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของสิ้นเปลือง ลำพังแค่ค่าไฟจากพัดลมสำหรับแรงงานนอกระบบ นอกรายได้ขั้นต่ำ ก็เต็มกลืนแล้ว
สิ่งที่ Nadav กล่าวถึงในทุกตัวอักษรของหนังสือเล่มนี้ ไม่ใช่การกล่าวโทษถึงการเข้ามาของโลกาภิวัตน์หรือระบบทุนนิยมแต่อย่างใด เขาพยายามใช้เรื่องเล่า จากบทสัมภาษณ์ จากการศึกษา ของเขามาตีแผ่ว่าชนชั้นปกครอง ที่เป็นผู้กำหนดทิศทางของโลกใช้มันอย่างไรต่างหาก
เด็กหญิงจากมณฑลชานซีและเนยจากวงเวียน 22 พวกเขาเป็นตัวอย่างของผู้ถูกกระทำที่ชัดเจนว่าการล่มสลายใกล้เข้ามาถึง โลภาภิวัตน์ทำให้ความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ชัดเจนขึ้น และเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่โลกาภิวัตน์กำลังถามเราอย่างตรงไปตรงมาในวันที่การสื่อสารไม่ได้รับสารได้ข้างเดียวอีกต่อไป ว่าเราจะทำอย่างไรกันแน่เมื่อสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงเข้ามาถึง
เขาฝังเรา แต่ลืมไปว่าเราคือเมล็ดพันธุ์
ในทัศนะของ Nadav การต่อสู้ของรากฐานนิยมต่อยุคสมัย คือสิ่งที่ทำให้โลกาภิวัตน์ถอยหลังไปมากที่สุด
ทั้งโขลงช้างป่าฝูงสุดท้ายในศรีลังกา เพื่อนชาวจีนจากยุคเสื่อผืนหมอนใบรุ่นแรก หรือเด็กสาวชาวอินเดียที่กำลังลี้ภัย พวกเขาเหล่านี้คือตัวแทนของยุคสมัยที่โดนผลพวงความหวงแหนของรากฐานนิยมทั้งสิ้น โดยที่รากฐานนิยมเองก็ไม่ได้รู้ตัวว่าพวกเขานั่นแหละ ที่กำลังทำให้สิ่งมีชีวิตโดยรอบหายไปเรื่อย ๆ
ช้างป่าศรีลังกาคือช้างเอเชียสายพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุด การสู้รบทางศาสนาของศรีลังกาในอดีต มีจำนวนช้างที่ล้มตายไม่น้อยกว่าพลทหารในสนามรบ ช้างถูกใช้เป็นเครื่องมือต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน จนวันหนึ่งช้างศรีลังกาเริ่มลดน้อยลง สงครามเริ่มเบาบางลงขึ้นทุกที ทำให้สำนึกรักช้าง เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในศรีลังกา
จนกระทั่งการเข้ามาของจักรวรรดิอาณานิคม ช้างศรีลังกาซึ่งถือได้ว่าเป็นช้างสายพันธุ์เอเชียที่ใหญ่ที่สุด เป็นที่หมายตาในการล่าสัตว์กลับไปยังประเทศต้นทาง จากช้างหลายโขลงถูกบีบบังคับให้เหลือน้อยลงทุกที ในขณะที่ประเทศจักรวรรดิได้ของกลับไปฝากประเทศในฐานะของหายาก จนทุกวันนี้ช้างในทวีปเอเชียเหลือเพียง 2 ใน 3 และเหลือช้างป่าโขลงสุดท้ายที่ Nadav ได้เดินทางไปแล้วเล่าให้เราฟัง
หยก เยาวชนที่ถูกดำเนินคดี 112 นอกจากเธอจะถูกคุมขังอยู่ที่บ้านปราณีนาน 40 กว่าวันแล้ว ในช่วงเวลานี้เธอควรจะได้เลือกสายการเรียนในระดับมัธยมปลาย แต่เพราะวันนี้เธอไม่ได้เชื่อว่าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยอย่างที่ผู้ใหญ่ลวงหลอก ผลที่ได้รับคือวันนี้เธอเป็นเยาวชนที่อายุน้อยที่สุดที่ถูกดำเนินดดีมาตรา 112
แม้ระดับเพดานของการเรียกร้องเพื่อปฏิรูปสถาบันของสังคมไทยจะยกสูงขึ้นจนไม่อาจกลับสู่จุดเดิม ทว่า จำนวนของเยาวชนที่ต้องโดนฟ้องร้องด้วยกฎหมายข้อนี้ ซึ่งไม่ว่าใครก็สามารถฟ้องได้ นำไปสู่การฝากขังในขณะที่ยังไม่มีการตัดสินได้ทันที แต่จนถึงวันนี้เธอก็ยังอารยะขัดขืนเพราะหยกเชื่อแล้วว่าสิ่งที่กระบวนการยุติธรรมทำกับเธอ เป็นอำนาจโดยมิชอบทั้ง ๆ ที่เขาสามารถไม่สั่งขังเธอก็ได้
เรื่องของหยกและช้างป่าโขลงสุดท้าย มีจุดร่วมกันอยู่ข้อหนึ่ง พวกเขาเป็นตัวแทนของโลกาปฏิวัติที่กำลังประจัญโลกาภิวัตน์ภายใต้การชักใยของชนชั้นนำ ไม่ว่าจะอยู่หรือไป ช้างป่าโขลงสุดท้ายในอินเดียหรือเยาวชนคนหนึ่งจะหายไป โปรดอย่าลืมว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ ที่มี เรา เรา เรา อยู่ตรงนั้น และวันหนึ่งเราอาจต้องกลับไปสู่ ยุคแห่งความรับผิดชอบ และวนเวียนในโคจรนี้อีกหลายครั้ง
ในทุกการเรียกร้องทางการเมืองของสังคมไทย จึงไม่ใช่แค่การเรียกร้องธรรมดาแต่เพียงอย่างเดียว แต่เพราะโลกาภิวัตน์ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง 2475 จนถึงม็อบ 2563 ประชาธิปไตยที่ชนชั้นนำไม่ยอมให้เต็มใบเสียที ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของโลกาปฏิวัติที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก
ปรากฎการณ์จากคนข่าวที่ได้เดินทางไปทั่วมุมโลก กำลังชี้ให้เราเห็น ว่าการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยที่เกิดขึ้นเป็นกลไกหนึ่งซึ่งโลกาภิวัตน์ได้เดินทางมาถึง และในการเคลื่อนไหวใด ๆ มันไม่เคยเดินทางอย่างโดดเดี่ยว แต่มีปัจจัยรายล้อมที่รอฟันเฟืองขยับเท่านั้นเอง
ยุคสมัยใกล้เข้ามาแล้ว โลกาภิวัตน์บอกเราอยู่เสมอว่าให้เตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลง และที่จริง โลกาปฏิวัติอาจเป็นฝาแฝดที่เดินทางมาพร้อม ๆ กับโลกาภิวัตน์เสียด้วยซ้ำ
“เมื่ออ่านจบ อาจไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วยกับเขา แต่น้อยคนจะยังทำไม่รู้ร้อนรู้หนาวได้” คือคำนิยามของ ยูวาล โนอาห์ ฮารารี ที่ไม่ได้พูดถึงแค่หนังสือเล่มนี้ แต่กำลังพูดถึงธารกระแสโลกาปฏิวัติลูกใหม่ที่กำลังถาโถม
ต่อให้เป็นปลายกระบอกปืน รถถัง หรือมงกุฎ
ก็ไม่มีอะไรต้านทานสายลมของยุคสมัยได้
หนังสือ: REVOLT-โลกาปฏิวัติ
ผู้เขียน: Nadav Eyal
แปล: เขมลักษณ์ ดีประวัติ
สำนักพิมพ์: Sophia
PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ(ที่อยากอ่าน) ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี