คนที่ถูกลืม - Decode
Reading Time: < 1 minute

ประเทศเต็มไปด้วยคำตอบอันปราศจากคำถาม

วีรพร นิติประภา

เมษายนเป็นเดือนผู้สูงอายุ แม้ออกจะสายไปเสียหน่อย  แต่อยากชวนคุยเรื่องนี้สักนิด

ในปี 2565 ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มตัว วัดจากจำนวนประชากรที่มากเกิน 10% ของประชากรทั้งหมด โดยมีประชากรผู้สูงอายุทั้งสิ้น 12,116,199 ล้านคน คิดเป็น 18.3 % แบ่งเป็นชาย 5,339,610 คน หญิง 6,776,589 คน และอีกเพียง 8 ปีข้างหน้า ในปี 2574 เราก็จะเข้าสู่สังคมสูงวัยยิ่งยวดเช่นเดียวกับญี่ปุ่น โดยวัดจากประชากรสูงวัยที่จะเพิ่มมากขึ้นถึง 28% ของประชากรทั้งหมด

แม้นี่จะฟังดูเป็นฝันร้ายของประชากรคนหนุ่มสาวไม่น้อยที่คนสร้างรายได้จ่ายภาษีมีจำนวนน้อยกว่าคนไม่สร้างรายได้และใช้ภาษี มิหนำซ้ำยังมีค่าใช้จ่ายสูงทั้งการดูแลและรักษาพยาบาลต่าง ๆ

แต่ในความเป็นจริง ฝันร้ายที่แท้และน่าหวาดหวั่นอาจตกอยู่กับประชากรผู้สูงอายุเองมากกว่า

สังคมสูงวัย’ แปลง่าย ๆ ว่ามีอัตราการเกิดน้อยกว่าตาย  กล่าวคือมีคนจำนวนมากที่มีลูกน้อยคนหรือไม่มีสักคน  การพึ่งพาลูกหลานอย่างที่เคยเป็นมาในอดีตกลายเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ และแน่นอน…ประชากรส่วนนี้จะต้องตกอยู่ในภาระหน้าที่ดูแลของรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

กระนั้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทั้ง ๆ ที่มีการประมาณการล่วงหน้ามาตลอดหลายสิบปี ประเทศก็ยังคงไม่มีการเตรียมการออกแบบในด้านใด ๆ เพื่อรับมือกลุ่มคนมีความเปราะบางพิเศษนี้ทัน ไม่ว่าจะแผนการดูแลด้านเศรษฐกิจ  การสร้างงานรองรับหลังเกษียน การแพทย์ การออกแบบสภาพเวดล้อมและสิ่งปลูกสร้างที่จะช่วยให้คนกลุ่มนี้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น การออกแบบคมนาคมที่ราคาไม่แพงเป็นมิตรที่ช่วยให้ไม่ต้องพึงพึ่งพาคนอื่นในการเดินทางและสามารถร่วมกิจกรรมทางสังคมต่าง ๆ มีคุณภาพชีวิตที่ดี

และที่สำคัญ …มีคุณภาพชีวิตที่ดีและอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี

เขียนมาถึงตรงนี้ก็ไม่รู้จะพูดอย่างไร เพราะคนในรัฐบาลช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาก็ล้วนสูงวัย อายุเกินหกสิบคือสูงวัยตอนต้นก็มาก และอายุเกินเจ็ดสิบสูงวัยตอนกลางก็ไม่น้อย น่าจะเข้าใจข้อจำกัดต่าง ๆ ของการมีอายุเพิ่มมากขึ้นดีกว่าใคร แต่กลับไม่มีใครสนใจจะมีนโยบายใด ๆ ออกมารองรับ นอกจากเงินอุดหนุนไม่กี่ร้อยบาทต่อเดือน 

ขนาดในกรุงเทพฯ ที่มีประชากรโดยรวมอยู่อาศัยสูงที่สุด  ซึ่งแปลง่าย ๆ ว่าน่าจะมีจำนวนผู้สูงวัยสูงมากแม้ไม่มีข้อมูลว่าคนสูงวัยมากที่สุด แต่มีความเจริญที่สุด มีสาธารณูปโภคครบครันที่สุด คนสูงวัยจำนวนมากยังต้องเลือกเก็บตัวอยู่ในบ้าน ตัดขาดจากกิจกรรมต่าง ๆ จองจำตัวเองอยู่แต่ในบ้านและละแวกบ้าน ซึ่งรังแต่จะทำให้ยิ่งขาดการออกกำลังและป่วยเรื้อรังมากขึ้น

นึกภาพง่าย ๆ หากจะแค่ข้ามถนนไปฝั่งตรงข้าม คนสูงวัยอาจถึงกับต้องเรียกแท็กซี่พาวนไปส่ง ซึ่งไม่ใช่ทุกคนสามารถใช้จ่าย

ด้วยเหตุว่าต้องเดินขึ้นสะพานลอยข้ามฟาก ซึ่งการขึ้นบันไดมากขั้นขนาดนั้นถือว่ายากลำบากมาก ยังไม่ต้องพูดถึงความปลอดภัยและภยันตรายต่าง ๆ …ความชันดิ่งของขั้นบันได ขนาดขั้นที่แคบหรือกว้างรวมทั้งสูงต่ำไม่ได้สัดส่วนก้าว บางที่ระนาบยังเทลาดลงไม่ตั้งฉากชวนตก  และบางที่ก็สายไฟฟ้าห้อยระราวจับเหล็กดูน่าหวาดหวั่นว่าจะถูกไฟดูด หลายที่ไม่มีหลังคาคุ้มแดดคุ้มฝน

หรือหากจะข้ามทางม้าลายก็ต้องเดินไกลมากกว่าจะถึงทางม้าลาย และไกลกว่านั้นที่จะเดินวกกลับมาจุดที่ต้องการไป มิหนำซ้ำการขับขี่ยวดยานยังไร้มารยาทและกฏกติกา น่าหวาดหวั่นมากสำหรับคนพละกำลังความว่องไวน้อยแต่ล้มง่าย ไม่รวมข้ามไปถึงเกาะกลางก็เจอขอบผุกร่อนไม่ซ่อมแซมและเศษดินเขลอะชวนลื่นล้ม พอถึงอีกฟากก็อาจจะเจอตู้การไฟฟ้าหรือตู้ไปรษณีย์ตั้งขวางทางขึ้นเอาอีก

ส่วนห้างร้านเอกชนต่าง ๆ ก็ล้วนคำนึงถึงแต่กลุ่มผู้บริโภคหลักที่เป็นคนหนุ่มสาววัยทำงานมีกำลังซื้อเท่านั้นเช่นกัน  ไม่ว่าจะแปลนที่ออกแบบมาซับซ้อนชวนหลงทาง พื้นที่วาวและลื่น บรรไดเลื่อนวกวนวงกลมที่ชวนหลงทิศ ที่จอดรถที่ชั้นล่าง ๆ สงวนไว้สำหรับรถซุปเปอร์คาร์แทนที่จะเป็นของลูกค้าสูงวัย หรือธนาคารที่ตั้งตู้เอทีเอ็มเพียงไม่กี่ตู้ รถสาธารณะก็ผุพัง รถไฟฟ้าก็ราคาแพง แท็กซี่ก็ไม่ใช่การเดินทางที่ทุกคนสามารถ ยิ่งต่างจังหวัดที่ไม่มีขนส่งมวลชนการไปไหนมาไหนยิ่งยากเข้าไปใหญ่

สารพัดแอปพลิเคชันที่ช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้นก็ออกแบบมาเพื่อคนหนุ่มสาว โดยไม่คำนึงถึงตรรกะของคนอันล็อกซึ่งทำให้เข้าถึงและใช้ยาก ทั้งที่ทำให้ง่ายต่อความเข้าใจของคนอายุมากก็ทำได้

เมื่อไม่มีที่ไหนออกแบบมาสำหรับคนสูงวัย คนสูงวัยก็จะจำกัดการออกมาสู้โลก งดกิจกรรมพบปะสันทนาการ ก็ยิ่งไม่มีที่ไปไปใหญ่ จนในที่สุดนอกจากจ่ายกับข้าวกับไปหาหมอ กิจกรรมที่ที่จะจัดเพื่อคนกลุ่มนี้ก็มีอันต้องงดเลิกหายเพราะไม่มีกำไร

และคนสูงวัยที่มีอยู่ก็ถูกทำเหมือนไม่มีอยู่อย่างสมบูรณ์ไปในที่สุด

และทั้งนี้ ทั้งหลายทั้งปวงที่พูดมาทั้งหมด เรายังพูดถึงแค่คนสูงวัยที่พอมีเงินเก็บกินใช้เท่านั้น และไม่ได้พาดพิงถึงคนสูงวัยอีกจำนวนมหาศาลที่ไม่มีฐานะความเป็นอยู่พอจะหยุดพัก หากต้องฟันฝ่าหาเลี้ยงชีพบั้นปลายในประเทศที่ไม่มีการออกแบบที่ป็นมิตรทุก ๆ ด้าน

ยิ่งกว่านั้น ไม่เพียงแต่เราไม่ออกแบบความเป็นอยู่ให้คนสูงวัย เด็ก ๆ ก็เช่นกัน …ไม่ถูกคำนึงถึง

สรุปคือ…เหลือแต่คนหนุ่มสาววัยทำงานที่มีอำนาจจับจ่ายที่เอกชนนึกถึง และคนวัยจ่ายภาษีที่รัฐบาลมีความเป็นอยู่ที่ดีรองรับ