เมื่อการเลือกตั้งใกล้เข้ามาทุกขณะ ชวนทบทวนมองหน้าแลหลังถึงโต๊ะพูดคุยเจรจาสันติภาพปาตานี/ชายแดนใต้ ตลอดระยะเวลา 10 ปีอย่างเป็นทางการ หรือย่างน้อย ๆ ก็ 20 ปี ของการเปิดบทสนทนาเพื่อหาทางออก และแสวงหาสันติภาพให้กับปาตานี
สถานการณ์ความไม่สงบในชายแดนใต้ถูกจดจำผ่านเหตุการณ์ตากใบและมัสยิดกรือเซะในปี 2547 หากเป็นเหมือนเด็กคนหนึ่ง เด็กในวันนั้น ย่างเข้าสู่อายุขวบที่ 20 พอดี โตพอที่จะรู้สาว่าความเคลื่อนไหวต่อสถานการณ์ความไม่สงบ ไม่มีที่ทางที่จะสามารถลงเอยแบบไหนได้เลย นอกจากการสร้างกระบวนการประชาธิปไตยเพื่อนำทางออกสู่สันติภาพในปาตานี/สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ความขัดแย้งที่นำไปสู่การใช้ความรุนแรง ถึงขั้นเป็นการขัดแย้งกันด้วยอาวุธ ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐไทยใช้คำอธิบายกับกลุ่มคนที่จับอาวุธเพื่อต่อสู้ปลดปล่อยปาตานีว่าเป็นกลุ่มผู้ก่อการร้าย ก่อนในภายหลังเมื่อปี 2557 รัฐได้ใช้คำนิยามใหม่ ว่าเป็นกลุ่มคนผู้เห็นต่าง ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้เปิดโต๊ะเจรจากันอย่างลับ ๆ อย่างน้อย ๆ ที่มีบันทึกก็ตั้งแต่ปี 2536 ก่อนที่จะมีการพูดคุยกันอย่างเป็นทางการในสมัยรัฐบาลนายกทักษิณ ซึ่งในขณะนั้นมาเลเซียภายใต้การนำของมหาธีร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้เป็นฝ่ายอำนวยความสะดวก (ต่อจากนี้ จะขอนิยามฝ่ายไทยว่า Party A และกลุ่มขบวนการปลดปล่อยปาตานี อย่าง BRN หรือ มาราปาตานี ว่า Party B)
แต่เสถียรภาพของการเมืองไทยที่ไม่แน่นอนหลังรัฐประหาร 2549 ทำให้โต๊ะเจรจาสันติภาพไม่มั่นคงไปด้วย จนถึงปี 2556 ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทางนโยบายของฝ่ายไทยในสมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรได้เปิดฉากการคุยอย่างเป็นทางการ มี พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นตัวแทนจากฝั่ง Party A และมีฮาซัน ตอยิบ จาก BRN เป็นตัวแทนของ Party B แม้ว่าในขณะนั้น โต๊ะเจรจาสันติภาพจะมีความคืบหน้าในระดับหนึ่ง มีการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและการวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก แต่ทุกอย่างก็ชะงักอีกครั้ง หลังจากคณะ คสช.เข้ายึดอำนาจรัฐบาลนายกยิ่งลักษณ์ และเปลี่ยนหัวคณะพูดคุยของฝ่ายไทย เป็น พล.อ.อักษรา เกิดผล และภายใต้คำสั่ง คสช.98/2557 ก็เปลี่ยนการพูดคุยสันติภาพ เป็นการพูดคุยสันติสุข แต่โต๊ะพูดคุยก็หยุดชะงัก เพราะ BRN แสดงเจตจำนงค์ว่าจะพูดคุยกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น
จากการยุติการพูดคุยอย่างเป็นทางการหลังรัฐประหารในปี 2557 เวทีพูดคุยเจรจาก็เกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2562 หลังจากได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งครั้งนี้ ได้พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ อดีตเลขาธิการ สมช.เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยของ Party A จวบจนถึงปัจจุบัน แม้เมื่อพิจารณาจากรายละเอียดแล้ว ยังไม่มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม แต่ก็เห็นความพยายามของทั้งสองฝ่ายในการลดท่าทีที่แข็งกร้าวลง เพื่อรักษาเวทีและบรรยากาศของการพูดคุยเพื่อหาทางออกให้ได้
De/code ชวนคุยกับสองคนที่อยู่ในวงการที่มีโอกาสได้แลกเปลี่ยน ติดตามสอบถามคณะพูดคุยและเสนอทางออกต่อสาธารณะอยู่หลายครั้งหลายโอกาส หนึ่งในนั้นคืออาเต็ฟ โซะโก ประธาน The Patani และ กัณวีร์ สืบแสง อดีตคณะทำงานของ สมช.ในชุดของ พล.อ.ภราดร พัฒนถาบุตร ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคเป็นธรรม
จากสันติภาพเหลือไว้เพียง ‘เจรจาสันติสุข‘
ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ฯ ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ความขัดแย้ง ถือว่าการริเริ่มครั้งนั้นคือการพยายามยอมรับของรัฐไทยต่อกลุ่มขบวนการและกลุ่มความคิดที่เห็นต่างต่อรูปแบบการปกครองแบบอื่นที่นอกเหนือจากการกำกับภายใต้รัฐไทย
ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ นำโดย ‘พล.ท. ภราดร พัฒนถาบุตร’ เลขาธิการ สมช. เป็นตัวแทนของฝ่ายไทย (Party A) กับ ฮาซัน ตอยิบ ตัวแทนของฝ่ายขบวนการปลดปล่อยปาตานี (Party B) ได้ร่วมลงนาม “ฉันทามติทั่วไปว่าด้วยการพูดคุยสันติภาพ” (General Consensus on the Peace Dialogue Process) ซึ่งมีการลงนามภายใต้ข้อตกลงร่วมกัน 5 ข้อ ทั้งการสร้างสภาวะที่เอื้อต่อการสร้างสันติภาพ รัฐไทยต้องการพูดคุยกับกลุ่มคนที่เห็นต่าง และกระบวนการที่เกิดขึ้นจะอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญไทย โดยให้มาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกและผู้เกี่ยวข้องในกลุ่มดำเนินการจะได้รับหลักประกันในความปลอดภัยนั้น ดูเหมือนจะเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญของการเปิดหน้าพูดคุยเจรจา แต่อย่างที่กล่าวไป ว่าทุกอย่างต้องยุติหลัง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจในเดือนพฤษภาคม 2557
10 ปี (2556-2566 ) ของโต๊ะเจรจาอย่างเป็นทางการ เจอกันหกครั้งเป็นอย่างน้อย ทั้งทางลับและทางเปิดเผย มีทั้งพัฒนาการของพลวัตรต่าง ๆ ของทั้งสองฝ่าย อย่างท่าทีที่แข็งของ Party B สู่การยอมพูดคุยภายใต้เงื่อนไขของรัฐธรรมนูญไทย และการเปลี่ยนแปลงคำจากเจรจาสันติภาพเหลือเพียงแค่เจรจาสันติสุขโดยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ฯ สิ่งเหล่านี้คือการสะท้อนการปรับตัวของตัวแสดงในสถานการณ์ความขัดแย้งได้เป็นอย่างดี
อาเต็ฟ โซะโก ประธาน The Patani ยืนยันว่า “การพูดคุยเจรจา(Peace Talk) เป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทั้งหมดขององค์ประกอบในการสร้างสันติภาพ” หมายความว่า กระบวนการสร้างสันติภาพคือตัวช่วยที่ทำให้การขัดกันด้วยอาวุธเจอกับข้อยุติ แต่ทางออกที่ยั่งยืนสำหรับเรื่องนี้จริง ๆ “คือกระบวนการที่คนในพื้นที่สามารถตัดสินใจว่าจะกำหนดชะตากรรมแบบไหนให้กับพื้นที่” หรือพูดอย่างตรงไปตรงมา คือกระบวนการที่คนปาตานีสามารถวิพากษ์วิจารณ์ เสนอรูปแบบ และตัดสินใจต่อรูปแบบการปกครองที่ต่างออกไปจากที่เป็นอยู่
เจรจาไหน ๆ ก็ไปไม่ถึง ถ้าไม่เริ่มจากประชาธิปไตย
“เอาตรง ๆ นะ ในฐานะส่วนตัว มองย้อนกลับไปในปี 2556-2557 สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มันมีบรรยากาศที่ดีกว่านี้” ความก้าวหน้าครั้งสำคัญในขณะนั้น คือเราเห็นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างกว้างขวาง มีการตั้งเวทีนับร้อยเวที ทั้งเพื่อเสนอทางออกต่อรูปแบบการปกครองที่เป็นอื่นในแบบไม่ใช่ที่เป็นอยู่ หรือเวทีที่ตั้งเพื่อวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการที่เกิดขึ้นของทั้งสองฝ่ายอย่างเวที Bicara Patani ตลอดสามปีของการเปิดโต๊ะเจรจารอบนี้ (2562-2566) แทบไม่เห็นบรรยากาศแบบนั้นเลย ได้แต่มานั่งลุ้นว่า สัปดาห์ไหนฝ่ายไทยและฝ่ายบี (BRN) จะมาเจอกัน” อาเต็ฟ กล่าว
สิ่งสำคัญที่อาเต็ฟ เล่าคือหากไม่เริ่มด้วยวิถีทางแห่งประชาธิปไตย การเจรจาสันติภาพ/สันติสุข ก็จะไปไม่ถึงทางออก “แต่ถ้าเกิดว่าจุดตั้งต้นจุดแรก เป็นการยอมรับต่อกระบวนการสร้างประชาธิปไตย แทบไม่ต้องสนใจว่าข้อเรียกร้องจะเป็นแบบไหน” เพราะว่าประชาธิปไตย จะสร้างพื้นที่การพูดคุยที่ปลอดภัย และการรับฟังข้อเสนอที่เห็นต่างอย่างเข้าใจ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรในประเทศที่บอกว่าตัวเองปกครองแบบประชาธิปไตย
“แต่เราเชื่อว่าวันนี้รัฐไทยยังไม่เป็นแบบนั้น”
ปักธงวาระแห่งชาติ สักขีพยานบนโต๊ะเจรจา
กัณวีร์ สืบแสง อดีตคณะทำงานของ สมช.ในชุดของพล.อ.ภราดร พัฒนถาบุตรและเลขาธิการพรรคเป็นธรรม บอกว่า สิ่งที่รัฐไทยกลัวมาตลอดคือการทำให้เวทีพูดคุยของทั้งสองฝ่าย เป็นเรื่องระดับชาติ ทั้งในแง่ที่ว่าเรื่องการเจรจาสันติภาพต้องเป็นวาระแห่งชาติ และการยอมรับฝ่ายที่สามอย่างองค์การระหว่างประเทศ NGO ในการมีส่วนร่วมของการเจรจา “Internalization ต่อการสร้างสันติภาพในภาคใต้เป็นสิ่งจำเป็น”
เพราะการหาทางออกและยุติความรุนแรงจำเป็นต้องมีภาคีหลายภาคส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเราเห็นแล้วว่ามีความขัดแย้งรุนแรง มีการอพยพของคนจำนวนหนึ่งไปอยู่ต่างแดน “นี่จึงเป็นคำตอบแล้วว่าทำไมเรื่องนี้ต้องเป็นเรื่องระดับสากล จะสากลในระดับไหนก็ว่ากันอีกที เพราะการทำเรื่องนี้ให้เป็นสากลคือการทำกระบวนทั้งหมดนั้นตรวจสอบได้โปร่งใส และมีส่วนร่วมจากภาคส่วนอื่น ๆ” อย่างการเชิญองค์กรระหว่างประเทศที่ทำงานด้านความขัดแย้งเข้ามาเป็นผู้ร่วมสังเกตุการณ์ต่อการพูดคุยเจรจา และประกาศต่อสาธารณะว่าแต่ละฝ่ายกำลังทำอะไรไปแล้วบ้างจากข้อตกลงบนโต๊ะเจรจาสันติภาพ เรื่องนี้สำคัญต่อทั้งสองฝ่าย เพราะแต่ละฝ่ายต้องตอบคำถามกับนานาชาติหากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดละเมิดสัญญาหรือไม่ทำตามข้อตกลง ยกตัวอย่างง่าย ๆ หากตกลงกันว่าจะสร้างพื้นที่ปลอดภัย ประกาศเขตหยุดยิง หากเกิดสถานการณ์ที่มีคนละเมิด นานาชาติก็จะตามถามว่าทำไมคุณไม่รักษาสัญญาเพื่อสร้างสันติภาพ
ส่วนอาเต็ฟมองว่า การดึงนานาชาติเข้ามามีส่วนร่วมต่อการสร้างสันติภาพในพื้นที่ สำคัญที่สุดคือสร้างพยานบนโต๊ะเจรจา “เวลาพูดว่าต่างชาติไม่ใช่ใครก็ได้ ไม่ใช่ไปเอาฝรั่งที่ข้าวสาร แล้วบอกว่านี่ไงมีต่างชาติแล้ว” เพราะความสำคัญคือ นานาชาติจะทำให้ทั้งสองฝ่ายรักษาสัญญาที่มีให้แก่กัน “สมมติ ฝ่าย BRN บอกว่า เอาล่ะ เราจะไม่เอาเอกราชแล้ว ยอมเจรจาภายใต้เงื่อนไขแบบรัฐเดี่ยวของไทย แต่พอการเจรจายุติ แต่ละฝ่ายตกลงสันติภาพกันเสร็จ BRNไม่ยอมพอ เดินหน้าสู่การเรียกร้องเอกราชอีก BRN ก็จะถูกโดดเดี่ยวจากนานาชาติ”
ซึ่งเขามองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ และย้ำอีกว่ารัฐไทยก็เข้าใจดีว่าเรื่องนี้สำคัญอย่างไร ถึงไม่ยอมให้นานาชาติเข้ามามีส่วนร่วมตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา อาเต็ฟกล่าวต่อว่า ถ้าจะทำให้เรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติรัฐต้องเอาจริงเอาจัง และสื่อสารถึงการมีอยู่ ของอัตลักษณ์ความเป็นมลายู “เอาง่าย ๆ เวลานั่งเครื่องบินไปไหน ก็จะมีภาษาพื้นถิ่น อย่างไปเหนือมีอู้คำเมือง ไปอีสานก็มีภาษาอีสาน บินลงที่หาดใหญ่ก็มีภาษาใต้ แต่เครื่องบินที่ไปนราธิวาสไม่มีภาษามลายูนะ” แค่นี้ก็เพียงพอที่จะบอกว่ารัฐยังไม่กล้าแม้แต่จะยอมรับเลยว่าที่นั่นมันมีอัตลักษณ์หรือชุมชนของคนมลายูอยู่
มากกว่าเนื้อหาบนโต๊ะเจรจาอยู่ที่การสร้างกระบวนการประชาธิปไตย
อาเต็ฟบอกว่า ทั้งในฐานะส่วนตัวและในฐานะ The Patani ที่ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดมานับสิบปี สิ่งที่เราสื่อสารมาตลอดคือการสร้างกระบวนการประชาธิปไตย เริ่มต้นด้วยกระบวนที่เป็นประชาธิปไตยมากพอ เปิดให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ เปิดพื้นที่เสรีภาพต่อการพูดคุย ให้สามารถนำเสนอความเป็นไปได้อื่น รวมถึงทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องของพลเมืองภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนอกเหนือกองทัพ “นี่ต่างหากจำเป็นต่อข้อเรียกร้องก่อนการเจรจา” กลับกันบรรยากาศการเปิดหน้าคุยของทั้งสองฝ่ายเริ่มต้นด้วยเงื่อนไขของข้อเรียกร้องของความเป็นไปได้ อย่างรัฐไทยบอกว่าไม่ว่าอย่างไรก็ต้องเป็นการพูดคุยภายใต้กฎเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญไทย
นั่นเท่ากับการล็อคว่าจะไม่มีข้อเสนออื่นที่ถูกพูดบนโต๊ะเจรจา แค่นี้ก็จบตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ว่าจะคุยกันอีกครั้ง
กัณวีร์ สืบแสง ย้อนคำถามชวนสังคมไทยตอบตัวเองว่าวันนี้เรากำลังเดินหน้าสู่การปกครองในแบบประชาธิปไตยใช่ไหม “เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่เราตระหนักและเห็นพ้องต้องกัน คืออำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน” ผมถามย้ำว่า ถ้าเราเดินถึงจุดที่จะทำประชามติต่อรูปแบบการปกครองในพื้นที่? “หากประชาธิปไตยสามารถเดินถึงจุดที่มีประชาธิปไตยแบบเต็มที่ ประเทศไทยจะไม่เกรงกลัวต่อการแก้กฎหมายต่าง ๆ ไม่เกรงกลัวต่อการเปิดพื้นที่สาธารณะต่อความเห็นต่าง ๆ” เพื่อจะบอกว่าปล่อยให้กลไกของประชาธิปไตยได้ทำงาน ให้พื้นที่อย่างรัฐสภาได้เป็นพื้นที่ของคนทุกฝ่าย
เราแค่เชื่อมั่นว่ามันจะเดินหน้าได้อย่างสันติ ยอมรับความคิดที่แตกต่าง ใจกว้างพอที่จะมองเห็นความหลากหลายไม่ใช่ความเป็นอื่น สันติภาพไม่ใช่เรื่องไกล
แม้ยังไม่แน่ชัดว่าการเลือกตั้งทั่วไปของไทยจะเปลี่ยนขั้วอำนาจหรือไม่ ฝ่ายความมั่นคงที่คุมสถานการณ์ผ่านคำสั่ง คสช.98/2557 ได้อย่างอยู่หมัด จะทำให้โต๊ะเจรจาผูกขาดอยู่แค่ทหารมาตลอดระยะ 4 ปี หรือ 9 ปี ภาคประชาชนแทบไม่มีส่วนร่วมต่อกระบวนการที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่ การเลือกตั้งครั้งนี้ รัฐบาลชุดหน้า จะสามารถนำการพูดคุยเจรจาเพื่อหาข้อยุติสร้างสันติภาพ กลับสู่ทางที่ถูกต้องได้หรือไม่ วันนี้ยังต้องหาคำตอบ
เพียงแต่คำตอบเดียวที่อาเต็ฟกล่าวกับเราว่า “20 ปีมานี้ เราเดินมาได้ไม่ไกลพอ”