เมืองพิการน้อยลงบ้างไหม ในเมื่อความเท่าเทียมเดินทางไกล - Decode
Reading Time: 3 minutes

“ผมว่าความเท่าเทียมเป็นเรื่องของการเดินทาง วันนี้เรายังเดินทางอยู่ในช่วงหนึ่งของการเดินทางระยะยาว ในการที่ทำให้ความท้าทายนี้มันหมดไป ผมว่ามันโรแมนติกไป”

แม้เราตั้งประเด็นคุยกันถึงการพัฒนานโยบาย และเมืองเพื่อคนพิการในกรุงเทพฯ แต่ “ศานนท์ หวังสร้างบุญ” รองผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ มองกว้างมากกว่าแค่คนพิการ เพราะหากเราพูดถึงความเท่าเทียมกันของคนแล้ว สายตาและวิสัยทัศน์เพื่อการออกแบบสิ่งต่าง ๆ นั้น ไม่ควรเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ควรคิดเพื่อรองรับผู้คนจากทุก ๆ กลุ่มใดมากกว่า เพียงแต่วันนี้ ความเท่าเทียมของผู้พิการเองก็ยังไม่ได้ถูกเติมเต็มจนเทียบเท่ากับคนกลุ่มอื่น ๆ มากกว่า 

De/code คุยกับรองผู้ว่าฯ คนรุ่นใหม่ ด้วยเรื่องราวของการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในเมืองกรุง ว่าควรปรับเปลี่ยนนโยบาย หรือแก้ไขตรงไหนก่อน-หลัง เพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำให้ราบคาบในสมัยเดียวนั้น หรือเพียงแต่ชั่วอึดใจ หรือข้ามคืน เพราะมันดูจะโรแมนติกไปเสียหน่อย วันนี้จึงคุยกันถึง “ความจริงตรงหน้า” ว่า อะไรที่กทม.ทำได้บ้าง เพื่อ Level up คุณภาพชีวิตคนพิการ

“อย่างคำพูดที่ อ.ชัชชาติ (ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.) พูดว่าเมืองที่ดีคือเมืองที่ทำให้เราพิการน้อยลง คนพิการไปอยู่ในเมืองที่ดีเขาจะรู้สึกพิการน้อยลง หน้าที่เราก็คือ การทำให้เมืองไม่มีความพิการ ความพิการไม่ใช่เรื่องปัจเจก แต่เป็นเรื่องของเมืองที่ทำให้เขาพิการ”

รวมคนพิการได้เรือนหลักแสน ‘เมืองจะเห็นว่าเขาอยู่ที่ไหน’

ดูจากจำนวนคนพิการทั้งประเทศ (ที่ลงทะเบียน) ราว ๆ 2 ล้านคน ประมาณ 20% อยู่ในภาคกลาง ภาคตะวันออก และกรุงเทพมหานคร ถือเป็นสัดส่วนที่มากหากเทียบกับพื้นที่อื่น ๆ ซี่งการดูแลคนพิการของกรุงเทพฯ นั้น ในขาของการทำงานเพื่อคนพิการนั้น ศานนท์อธิบายว่า มีคณะกรรมการชุดใหญ่ที่ดูแลอยู่ เป็นกลุ่มที่มีผู้คนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ทุกกลุ่ม ขณะเดียวกันทีมที่ปรึกษาผู้ว่าฯ ก็มี นก-ภาณุมาศ สุขอัมพร ที่ปรึกษามูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ เข้าร่วมด้วย ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเข้าใจคนพิการ และรู้จักมูลนิธิต่าง ๆ เป็นอย่างดี 

ในช่วงเวลาราว ๆ ครึ่งปีที่ #ทีมชัชชาติ เข้าบริหารกรุงเทพ ศานนท์บอกว่า กทม.และทีมคณะกรรมการฯต่างมีการประชุมหารือกันหลายครั้ง โดยเฉพาะประเด็นโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เอื้อต่อการเดินทางของผู้พิการถูกพูดถึงขึ้นมาเป็นอันดับต้น ๆ เพราะความจริงประจักษ์ชัดว่ายากเย็นแค่ไหน ต่อด้วยประเด็นอาชีพ การงาน รวมถึงประเด็นการมีพื้นที่สำหรับการสร้างสรรค์ผลงานต่าง ๆ

“มันไม่ใช่เรื่องที่จะสามารถแก้ได้ในวันเดียว”

“จริง ๆ มันไม่ใช่เรื่องแค่เรื่องคนพิการด้วย แต่มันคือเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน มันคือ Universal Design เพื่อทุกคน หรือเรื่องการเรียนก็ไม่ใช่เพียงแค่การสร้างโรงเรียนของคนพิการอย่างเดียว แต่มันคือการเรียนรวม แต่มันหมายถึงเราอยู่ในระบบการเรียนรู้ที่เท่ากันได้ ผมว่าเรื่องการแสดงศักยภาพ คนพิการบางคนเขาร้องเพลง และเล่นดนตรีเก่งมาก ก็สามารถเป็นพื้นที่สำหรับทุกคนได้”

“พอมีไอเดียประมาณนี้ก็เลยเป็นงาน “กรุงเทพเพื่อทุกคน Bangkok for all” เพื่อให้มันเป็นเมืองที่น่าอยู่ อย่างที่ผู้ว่าฯ พูดคำว่า “ทุกคน” มันก็เลย Spotlight ไปที่คนที่ตกหล่น โดยเฉพาะคนพิการ ผมเลยคิดว่า Priority (การจัดลำดับ) จริง ๆ คือ ทำทุกอย่างไปพร้อมกัน แต่อย่างแรกเลยก็คือการรวมกลุ่มก่อน จึงทำ LINE Official ขึ้นมา ซึ่งสำรวจกับคนพิการแล้วว่า LINE เนี่ย Universal คนตาบอดใช้ไลน์ได้ เป็นกลุ่มที่เราคนพิการเข้ามา ซึ่งตอนนี้มีคนลงทะเบียนแล้วเกือบ 1 แสนคน เพื่อสื่อสารและประสานความช่วยเหลือกัน”

คอมมูนิตี้ออนไลน์ของคนพิการ ในกทม. ไม่ใช่พื้นที่ไว้คุยเรื่องสัพเพเหระ แเละไม่ใช่เพียงแค่ให้รู้ว่าผู้พิการมีเท่าไหร่แล้วเท่านั้น แต่กลุ่มนี้สามารถใช้เป็นตัวเชื่อมกับกลุ่มการทำงานทางสังคม และธุรกิจ เพื่อสร้างความร่วมมือ ทำธุรกิจ และช่วยเหลือ

“ลองถึงภาพว่า ถ้าเรารวม Community ได้ มันจะมีความช่วยเหลือเยอะเลย อย่างบริษัทห้างร้านที่เป็น Corporate อาจจะร่วมกัน ถ้าเราบอกว่า เรามีคนพิการแสนคน ทำไมแท็กซี่ถึงจะไม่อยากทำแท็กซี่คนพิการ เพราะว่าถ้าเขาดึงดูดคนแสนคนได้ เขาได้เงินล้วน ๆ เลยนะ แต่ถ้าเราบอกว่า คนพิการไม่กี่คน แต่ก็จะไม่ค่อย Impact ไง แต่ถ้าเราบอกว่าแสนคน โห Bargaining (การต่อรอง) กับทุกอย่างมันได้ แล้วคนที่จะรวมได้ดีที่สุดก็คือ เมืองนี่แหละ เพราะเมืองจะเห็นว่าเขาอยู่ที่ไหน”

แต่การรวมกลุ่มของคนพิการให้มากที่สุด หรือหากเป็นไปได้คือครบทุก ๆ คนนั้นก็ยังเป็นเรื่องท้าทายอยู่เช่นกัน เพราะทุกวันนี้ การลงทะเบียนคนพิการยังไม่ 100% ไม่รวมคนพิการแฝงอยู่ด้วย สิ่งนี้เห็นได้จากทุกครั้งที่จัดกิจกรรมงานอีเวนต์จะมีพื้นที่ให้บริการทำบัตรนี้อยู่ 

“ตอนนี้การทำบัตรคนพิการมันง่ายขึ้นแล้ว ก่อนหน้านี้ คือ ต้องไปโรงพยาบาลเพื่อได้ใบรับรองความพิการ จากนั้นก็ไปที่ เขต และ พม. ตอนนี้เรารวม 3 กลุ่มนี้มาไว้ที่ รพ.ที่เดียวเลย ผมคิดว่าเรา Simplify อะไรพวกนี้ให้คนเข้าสู่ระบบได้มากขึ้น มันคือการพัฒนาต่อยอดมา”

รองผู้ว่าฯ บอกว่าตอนนี้ กทม.กำลังติดต่อกรมบัญชีกลางว่า กทม.สามารถจ่ายเบี้ยคนพิการผ่านไลน์นี้ได้ไหม หรือใช้เงื่อนไขนี้ว่า ถ้าลงทะเบียนจะได้เบี้ยคนพิการ 

“ถ้าคนยังเข้าไม่เยอะเราจะสื่อสารยาก ถามว่าคุยอะไรกัน กลุ่มแบบนี้ไม่ควรสแปมเยอะ ไม่ควรมีข้อมูลจนล้น จนรู้สึกรก มันควรเป็น help need หรืออะไรที่สำคัญ ซึ่งในอนาคตเราก็ต้องปรับปรุงพวกข้อมูลพื้นฐานที่กรุงเทพฯ ต้องช่วย”

เปลี่ยนบทบาทจากโอเปอร์เรเตอร์ เป็น Subsidies

โครงสร้างพื้นฐานอย่างขนส่งสาธารณะ มีบทบาทสำคัญอย่างมากในฐานะที่ผู้อำนวยความสะดวก และพาผู้พิการออกจากบ้าน และเมื่อบ่อยครั้งการเดินทางที่ไม่สะดวกก็เพิ่มรายจ่ายสำหรับบริการพิเศษ เช่น ต้องนั่งแท็กซี่อย่างเดียว หรือแม้เลือกนั่งแท็กซี่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าแท็กซี่จะรับผู้โดยสาร ที่ผ่านมา กทม.ร่วมทำกับกรุงเทพธนาคมรับส่งผู้พิการ แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมความต้องการ

ศานนท์บอกว่า นี่เป็น “เจ้าเดียว” ที่ร่วมทำกับ กทม.ที่ทำอยู่ในปีงบประมาณ 2566 นี้ ซึ่งศานนท์มองว่า เมื่อวันนี้ กทม.สามารถรวมกลุ่มคนพิการได้เกือบแสนคน ก็ควรหารูปแบบเพิ่มช่องทางการบริการให้มากขึ้น “ถือเป็นการต่อยอด” ผ่านการจับมือกับเอกชนมากกว่า 1 เจ้า โดย กทม.จะอยู่ในฐานะผู้อุดหนุนงบประมาณบางส่วน (Subsidy) ซึ่งปี 2566 นี้ยังเริ่มไม่ได้ เพราะการเข้ามากลางเทอมของทีมงานหลังจากที่งบประมาณปีนี้ถูกตั้งไว้เรียบร้อยแล้ว ปี 2567 จึงจะเห็นรูปแบบการบริการนี้จาก กทม.ด้วยเงินอุดหนุนที่คาดว่าน่าจะไม่เกิน 10 ล้านบาท

“ถ้าคนพิการแสนคนเรียกพร้อมกันหมด มันก็ไม่พอ จริง ๆ คือเราต้องร่วมมือกับเอกชน เราอาจจะ Subsidy บางส่วนให้เอกชนสำหรับคนพิการ สมมติบริษัทแท็กซี่เจ้าไหนในตลาดที่มีหลายเจ้า ซึ่งอยากรับคนพิการด้วย และตอนนี้มีอยู่แสนคนนะ ก็ให้เปิด Option นี้แล้ว แทนที่เราจะรอกรุงเทพธนาคมซื้อรถไปเรื่อย ๆ เรามีโอเปอร์เรเตอร์เยอะทันที มีหลายเจ้าทันที กทม.เองก็เปลี่ยนบทบาทจากโอเปอร์เรเตอร์ เป็น Subsidies แทน”

“ผมว่าต้องสร้าง Incentive (แรงจูงใจ) อะ ที่พูดว่าทำไมผมถึงไม่ทำกรุงเทพธนาคมเจ้าเดียว เพราะเรารู้สึกว่าถ้าเรารวมแสนคนได้จริง ผมว่า Incentive จากเอกชนมันมหาศาล ลองนึกภาพว่า คนทำพวกการขนส่ง ได้คนแสนคนมันเรื่องใหญ่นะ จริง ๆ แล้ว”

จ้างงาน 1% ยังไปไม่ถึงเป้า จึงไม่ใช่เรื่องของคนพิการ แต่คือเรื่องของทุกคน

มากกว่าโปรเจ็กต์ที่เป็นชิ้นเป็นอัน และนโยบายที่ต่อยอด และความหวังต่อ #ทีมชัชชาติ ที่จะเข้ามาทำงานชนิดพลิกโฉมเมือง และนำมาซึ่งความเท่าเทียมกันของผู้คนทุก ๆ กลุ่ม ศานนท์ไม่อยากให้มองมันโรแมนติกมากเกินไปเพราะทุกอย่างใช้เวลา และต้องทำงานในระยะยาว หนึ่งในนั้นคือการทำอย่างไรให้สังคมรับรู้ และเข้าใจการมีอยู่ของคนพิการมากขึ้น และมันไม่ใช่แค่เรื่องของคนพิการเพียงกลุ่มเดียว แต่คือเรื่องของทุกคน

“สำหรับผมขอเรียกว่ากลุ่มเปราะบาง เช่น LGBT คนพิการ มันใช้เวลาทั้งนั้น แต่ก่อนเรายังไม่มีโรงเรียนให้ผู้หญิงเลย ผู้ชายเรียนที่วัด ผู้หญิงอยู่ที่บ้าน หรือมันมีช่วงที่เป็น Black-White มีการแยกห้องน้ำคนผิวขาว ผิวสี ปัจจุบันยังไม่ได้ดีขึ้นขนาดนั้นเลย ผมว่าความเท่าเทียมเป็นเรื่องที่การเดินทาง”

“วันนี้เรายังเดินทางอยู่ในช่วงหนึ่งของการเดินทางระยะยาว ในการที่ทำให้ความท้าทายนี้มันหมดไป มันโรแมนติกไป ขนาดเรื่องผู้หญิงผู้ชายยังยากเลย LGBT นี่จะใช้เวลาอีกเท่าไหร่ไม่รู้เลย เรายังต้องมี Pride Parade เราต้องอะไรกันอยู่ ทั้งที่ความรักมันปกติ ยิ่งเรื่องของคนพิการนี่แขนขาขาด สติไม่ดี ยังมองเท่าเทียม มันยิ่งโรแมนติก”

“เราต้องไม่โรแมนติกแค่ทฤษฎี แต่ต้องหาวิธี Incentive ได้ไหม เอกชนได้ไหม หรือให้รัฐ Subsidy บางส่วน หรือ โรงเรียนเฉพาะทางก็ต้องมี ผมว่าให้ข้อต่อรองเรื่องอาชีพ รัฐบาลกำหนดว่า ต้องจ้างงาน 1% ตอนนี้ไม่ถึงเป้าก็ต้องทำให้ได้ ตอนนี้จ้างได้ 300 กว่าคนแล้วจากที่ต้องจ้าง 600 กว่าคน เดี๋ยวเราจะลองจ้างข้าราชการเป็นคนพิการ เพิ่งเปิดรับสมัครไป น่าจะเป็นมิติใหม่เลย”

“สังคมมันต้องไปด้วยกัน อย่าง LGBT พูดอะไรผิดพลาดไป สังคมประณามนะ หรือ ใคร Masculine มาก ก็โดนเอง คนพิการเหมือนกัน ผมว่า ถ้าเราสร้าง Awareness ดี ๆ มันจะเป็นตัวเร่งให้เร็วขึ้นได้ ทำอย่างไรให้มีงานอาสาเพื่อคนพิการในเชิงอาสาสมัคร คนปกติทั่วไปก็เห็นคนพิการเท่ากัน แล้วร่วมไม้ร่วมมือกัน เราเคยจัดการ ที่คนพิการและคนทั่วไปมาวิ่งด้วยกัน ผมคิดว่ากิจกรรมลักษณะนี้จะทำให้ความเท่าเทียมกันมันสูงขึ้นได้”

ศานนท์ ย้ำว่า สิ่งที่ต้องทำ คือ ภาครัฐต้องเริ่มก่อน โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานที่เก่าก็ต้องปรับ อันใหม่ก็ต้องคิดถึงกลุ่มเขาได้แล้ว ที่สำคัญคือ การลงมือทำในโปรเจ็กต์ และนโยบายที่วางแผนไว้อย่างค่อยเป็นค่อยไป คู่ขนานกับการสร้างการรับรู้