หลายวันก่อน ผมหยิบหนังสือ “เฒ่าโลกีย์” มาอ่าน ผมได้ยินชื่อหนังสือเล่มนี้มานาน ผ่านทั้งคำบอกเล่าของอาจารย์ที่เคารพ และสเตตัสของนักคิดนักเขียนหลายคน
“เฒ่าโลกีย์” เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นชุด “เฒ่า” ของ มนัส จรรยงค์ ตีพิมพ์ครั้งแรกสู่ตลาดหนังสือในปี 2508 เป็นส่วนหนึ่งในผลงานอันมหาศาลของชายผู้ได้ชื่อว่าเป็นราชาเรื่องสั้นไทย จากคำนำของสำนักพิมพ์ศรีปัญญาระบุว่า
“กระทั่งถึงปัจจุบันยังไม่มีผู้ใดรวบรวมผลงานเรื่องสั้นของท่านเอาไว้ได้ครบถ้วนชัดเจนว่ามีอยู่เท่าไร ได้แต่ประมาณการกันเอาไว้ว่าไม่น่าจะต่ำกว่า 1,000 เรื่อง”
เป็นเอกฉันท์ ว่าตัวละครจากปลายปากกาของราชาเรื่องสั้น ช่างเห็นเลือดเห็นเนื้อ เหลี่ยมเล่ห์อันแพรวพราวของเหล่าผู้เฒ่าเมืองเพชร ที่ทั้งเจ้าเล่ห์ ขี้โกง ขี้เกียจ ปะทะคารมแล้วจิบของขมกันตลอดทั้งเรื่อง กลายเป็นที่รักที่ชังของคนมายาวนาน
พูดก็พูดตลอดทั้งเล่มไม่มี คนดีในศีลในธรรม มีแต่ คนสามัญปนขาวปนดำ ที่แสดงกิเลสตัณหาของตนหมดเปลือก
ยอมติดคุกแลกเงิน เป็นคนโง่ หรือค่าแรงมันไม่เป็นธรรม
ระหว่างที่ผมเดินตามรอยเหล้า ผมกับเห็นใบหน้าคนเฒ่าชัดขึ้นเรื่อย ๆ พวกเขาคือผู้คนทั่วไปที่เดินผ่านไหล่ผ่านตาในชีวิตประจำวัน มันตอบคำถามว่าเวลาเกิดเหตุการณ์ที่เราเกิดข้อสงสัย เช่น ภรรยาที่ต้องเลือกระหว่าง ลูก กับสามี คนเมาเหล้าทำอะไรแปลกๆ โจรที่ลักเล็กขโมยน้อย เราอาจเคยมีข้อสงสัยว่าเพราะอะไรเขาถึง ‘เลือก’ ทำแบบนั้น
หนังสือเล่มนี้ทำให้ผมมีโอกาสเข้าใกล้ช่วง ‘ระหว่างตัดสินใจ’ การได้เห็นอารมณ์อ่อนไหวของมนุษย์ ไม่เคยมีพื้นที่ในหนังสือเรียน หรือหนังสืออ่านนอกเวลา การได้รับรู้พื้นที่ชีวิตเทา ๆ ดำ ๆ เป็นสิ่งจำเป็นในการทำความเข้าใจผู้คน
เฒ่าเหมือน และ เฒ่าหนู ชายขี้เมาอายุ 50+ ที่วัน ๆ ไม่มีใครรู้ว่าเขาทำงานทำการอะไร ยอมติดคุกเพื่อจะได้รางวัลนำจับ ยาดองปลอม จำนวน 15,000 บาท โดยมี เฒ่าโพล้ง เป็นคนวางแผน ทั้งสามวางแผนกันว่าหลังเฒ่าสองคนแรกติดคุก หลังรับสารภาพลดโทษจาก 1 ปี เหลือ 6 เดือน จะเอานำเงินมาแบ่งกัน
อ่านแล้วเหมือนสามเฒ่าช่างสิ้นคิด แต่เฒ่าโพล้งให้เหตุผลชักจูงเพื่อนทั้งสองว่า พวกเอ็งต้องทำงานอะไร 6 เดือนถึงจะได้เงินเท่านี้ ซึ่งน่าสนใจเพราะถ้าย้อนอ่านดู เฒ่าโพล้ง เคยเป็นยามโรงสี ไม่มีการบอกเงินเดือนชัดๆ แต่เหตุการณ์ที่เขาต่อรองเงินเดือนกับเถ้าแก่ไว้ให้เห็นเค้าลางว่า
“เฒ่าโพล้งต่อรองเรื่องเงินเดือน เกี่ยงเงินกันเพียง 10 บาทเท่านั้น…”
หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกปี 2508 ภาพชนบทในเล่มก็คงย้อนกลับไปอีกหลักสิบปี ผมหาข้อมูลได้ไม่แน่ชัดว่าแรงงานในสมัยนั้นได้เงินค่าจ้างเท่าไร
ประเทศไทยมีการประกาศค่าแรงขั้นต่ำครั้งแรกในวันที่ 16 เมษายน 2516 โดยตกอยู่วันละ 12 บาทหรือเดือนละ 312 บาท สำหรับลูกจ้างรายเดือน ซึ่งเป็นอัตราเดียวและบังคับใช้เฉพาะเขตพื้นที่ 4 จังหวัดซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมขณะนั้น ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี และปทุมธานี ต่อมาได้มีการขยับเป็น 20 บาทต่อวัน ก่อนจะขยายครอบคลุมใช้ทั้งประเทศในวันที่ 1 ตุลาคม 2520
ข้อมูลนี้อาจจะพอให้เห็นภาพลาง ๆ ของค่าแรง แต่ก็เป็นเพียงข้อมูลที่ห่างไกลจากบริบทในเรื่องหลายสิบปี อีกทั้งเป็นเพียงแค่ข้อมูลของแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่พอจะมีบันทึกไว้ ในส่วนของแรงงานนอกระบบในชนบทยังเป็นข้อมูลที่สืบหาได้ยากพอสมควร
ถึงแม้เนื้อหาในเล่มจะไม่มีการพูดถึงค่าจ้างของแรงงาน แต่ก็เผยให้เห็นอาชีพของสังคมชนบทเพชรบุรี เมื่อเกินครึ่งศตวรรษที่แล้วว่าประกอบด้วย ชาวไร่ ชาวนา แรงงานเรียงไม้หมอนรถไฟ หรือกรรมกรขุดดิน ถึงแม้เราจะไม่รู้ว่าเขาได้เงินค่าจ้างเท่าไร แต่ที่แน่ๆ การเอารัดเอาเปรียบกดค่าแรงก็เป็นสัจธรรมที่แรงงานเจอทุกยุคทุกสมัย
“พวกขุดดินก็หิ้วปิ่นโตถือห่อข้าวเดินมาทีละคนสองคน บางกลุ่มก็มีถึง 4-5 คน บ่นกระปอดกระแปดกันมาแต่เรื่องเงินที่ยังไม่จ่ายสักที ทั้งๆ ที่เขาถูกหัวคิวกินเข้าไปเสียคนละมาก ๆ”
“พวกทำหินกรุยทางถางป่า พวกตัดไม้หมอนฟืนรถไฟ ก็คอยอยู่แต่ว่าเมื่อไรจะได้ขนเอามาวางเรียงรายไว้ให้ใกล้รางเหล็กเสียที เบิกเงินล่วงหน้าเถ้าแก่ก็ยากเสียสิ้นดี”
ดังนั้นเงิน 15,000 บาท ที่ เฒ่าเหมือน เฒ่าหนู เฒ่าโพล้ง ยอมนอนคุก 6 เดือน ก็พอจะเห็นเค้าลางว่ามันคงมากพอที่เขายอมแลก
ในเรื่องสั้นทุกเรื่องเชื่อมโยงด้วยตัวเอกเป็นแก๊งค์คนเฒ่าที่วัน ๆ ไม่ทำงานทำการ เกาะเมียกิน แล้วยืดอกอย่างภาคภูมิว่าเราต้องตั้ง “สมาคมกระดูกสันหลังยาวแห่งประเทศไทย” หรือ “สมาคมคนขี้เกียจแห่งประเทศไทย” แต่ละวันเหล่าคนเฒ่าจะลากสังขารมานั่งถกตั้งแต่ปัญหาบ้านเมือง เรื่องผัวเมีย ไปจนถึงสารพัดเรื่องในหมู่บ้าน ตั้งตนเป็นศาสดาในร้านกาแฟที่ขายเหล้า คอยจ้องแต่หาช่องว่า วันนี้จะหลอกกินเหล้าฟรีจากใครได้บ้าง
ผมอ่านเรื่องสั้น 16 เรื่อง อย่างช้า ๆ สำนวนภาษาเมื่อห้าสิบกว่าปีก่อนเป็นกำแพงอยู่บ้าง แต่ทว่าบางเหตุการณ์ในเรื่องสั้นก็ร่วมสมัยราวกับเกิดขึ้นเมื่อวาน โดยเฉพาะเรื่อง “เหล้า” หรือที่พวกเขาเรียกมันว่า “พระเป็นเจ้าผู้มีนัยน์ตาขาวบริสุทธิ์ และมีความแรงถึงหกสิบดีกรี”
คนเฒ่าพูดถึง ‘สุราเสรี’ เกินครึ่งศตวรรษ
สองปีก่อนผมเคยเห็นสเตตัสของคุณวัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนที่ลี้ภัยทางการเมืองผู้ล่วงลับ กล่าวถึงหนังสือ ‘เฒ่าโลกีย์’ ว่าเป็นหนังสือที่มีบทสนทนาเรื่องเหล้าเสรีที่มาก่อนกาล
“นักเขียนไทยคนแรกที่จับประเด็น กบฏแหกกฏน้ำเมา คือ มนัส จรรยงค์ ในเรื่องสั้นชุดเฒ่าลูกทุ่งเมืองเพชร ที่ระเห็จหนีตำรวจ ขึ้นไปดวดกะแช่กันบนยอดตาล ทำตัวปานกับชนชั้นสูง..55 สูงเท่าตึกสี่ชั้น เขียนช่วงปี 2500”
Wat Wanlayangkoon 30 เมษายน 2020
มันเป็นบทสนทนาในฉากที่คนเฒ่าจัดสัมมนากลางทุ่ง ด้วยหัวข้อ ถ้ามีเงิน 5 ล้านจะเอาไปทำอะไร แต่ละคนก็พูดถึงความฝันว่าถ้ามีเงินแล้วจะเลียนแบบนิสัยคนรวยที่ตนเคยเห็น เช่น รวยแล้วชอบเทศน์พระธรรมคำสอนตถาคต รวยแล้วให้ปล่อยกู้แต่อ้างบุญคุณ รวยแล้วสั่งสอนคนอื่นให้รู้จักพอ
“รู้ไหมว่าผิดกฎหมาย – กินกะแช่และก่อการวิวาท”
“กฎหมายล้าสมัย” เฒ่าโพล้งร้องขึ้น
สุดท้ายเหล่าเฒ่าเมาแล้วทะเลาะกันเสียงดังจนตำรวจและกำนันมาจับ โดยอ้างว่าวิวาทแล้วมีกะแช่ น้ำตาลเมาในครอบครอง แต่ว่าคนเฒ่าดันหนีขึ้นต้นตาล ทำให้ตำรวจตามขึ้นมาจับไม่ได้ บทสนทนาเรื่องเหล้าเสรีบนยอดตาลจึงเกิดขึ้น
“เก็บภาษีเอาซี – กำนัน” เฒ่าไปล่หัวเราะ
“กับอ้ายการกินเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างน้ำตาลเมาอย่างนี้ทำไมจะตัดเสรีภาพกัน”
‘หมู่แหวง’ ตำรวจที่มาตามจับเฒ่าขี้เมาบนยอดตาลตะโกนต่อไปว่า “แกขึ้นไปกินกะแช่อยู่บนนั้น มี, กิน, ทำ แกมีความผิดทั้งนั้น”
ว่ากันตามตรง กะแช่ น้ำตาลเมา ในเรื่องไม่ใช่สิ่งต้องห้าม แต่อยู่ที่ว่าใครเป็นคนทำ เพราะไม่ไกลกันมี ‘สโมสรบ้านตามุน’ เปิดขาย กะแช่ และน้ำตาลเมาได้อย่างเสรี เพราะที่นั่นจ่ายสินบนกับตำรวจอย่างสม่ำเสมอกลายเป็นว่าเหล่าเฒ่าขี้เมาที่หมักน้ำตาลเมา หรือกระแช่ ดื่มกินกันในครัวเรือน กลายเป็นเป้าของผู้พิทักษ์กฎหมาย
ฉากหลังของเรื่องสั้นคงเกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลไทยได้ออกพระราชบัญญัติสุรา ฉบับ พ.ศ. 2493 เพื่อเข้ามามีบทบาทควบคุมการผลิตและจำหน่ายสุราอย่างเอาเป็นเอาตาย ห้ามมิให้ผู้ใดทำสุราหรือมีภาชนะเครื่องกลั่นสุราไว้ในครอบครอง เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีการออกใบอนุญาตให้ทําสุราสําหรับใช้ในบ้านเรือน ให้เป็นไปตามที่กําหนดในกฎกระทรวง
เฒ่าโพล้งอาจเป็นตัวแทนความคิดของคนยุคก่อน 2500 ที่พูดอย่างชัดถ้อยชัดคำว่าการออกกฎหมายควบคุมสุราครั้งนั้นเป็น “กฎหมายล้าสมัย”
ผมคิดว่าสิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือ ตลอดทั้งเล่มมีการพูดถึงปัญหาเศรษฐกิจ ข้าวยากหมากแพง การว่างงานในชนบทต้องไปหางานในเมืองหลวง รวมไปถึงคำพูดของ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่กล่าวถึงนโยบายการสนับสนุนให้เกิด “อุตสาหกรรมในครอบครัว” ซึ่งในสายตาของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองยังคงเป็นเรื่อง เก็บผักหักฟืน เก็บผักบุ้งเถาตำลึง เอาป่านมาทอเสื่อ
“นักเลงสุราลดระดับมาตรฐานการครองชีพของเขาอย่างรีบด่วน จากสุราผสมมาเป็นสุราบริสุทธิ์รัฐบาล พวกเล่นสุราขาวของรัฐบาลอยู่แล้ว ก็ลดฐานะลงมาหาเหล้าเถื่อนเพื่อลดการใช้จ่ายให้น้อยลง แล้วพวกกินเหล้าเถื่อนก็ลดลงไปหาน้ำตาลเมาหรือน้ำขาวและสาโท…”
เรื่องเหล้าที่เป็นของคู่ปากตัวละคร จึงเป็นแค่ของจำเป็นที่ไร้หนทางสนับสนุนจากรัฐ เหลือไว้เพียงสุราที่ทำโดยรัฐ หรือผู้ที่มีสายสัมพันธ์กับอำนาจ ทางออกที่เหล่าตัวละครเฒ่า คือ หากินเถื่อน ๆ ถูก ๆ หรือหาคนเลี้ยงตามเวรตามกรรม
โรงต้มกลั่นสุราแม่มณี เปิดได้เพราะลูกชายเป็นตำรวจ
ในช่วงท้ายของเล่มได้พาเรามาถึงโรงเหล้าแห่งสุดท้ายที่เหล่าเฒ่าได้มาเยี่ยมเยือน มันเป็นโรงกลั่นที่อยู่ไกลจากชุมชนต้องเดินผ่านวัด ผ่านป่าดง อยู่อย่างลับ ๆ แต่ไม่ลับสำหรับผู้แสวงหา
“…กระท่อมน้อยของนางมณีผู้ยึดถืออาชีพตั้งโรงต้มกลั่นชนิดปิดตาโดยไม่ยำเกรงใคร เพราะลูกชายเป็นตำรวจ…”
โรงเหล้าแม่มณีเป็นโรงเหล้าที่ตลอดทั้งเรื่องตัวละครเฒ่าไม่เคยย่างกรายมา เพราะมันเป็นเหล้าราคาแพงที่ตัวละครไม่มีปัญญากิน ประโยคแรก ๆ ที่แม่มณีทักเหล่าเฒ่าคือ “แล้วอ้ายเก่า ๆ ก็ผ่อนใช้เสียมั่งซี”
ตลอดทั้งเรื่องตัวละครเฒ่าทุกตัวไม่เคยมากินเหล้าที่นี่เลยแม้แต่ครั้งเดียว การที่ประโยคแรกของแม่มณีทักแบบนี้ ก็พอจะเห็นว่าที่นี่ไม่ใช่แหล่งแฮงค์เอ้าท์หลัก แล้วถ้าเป็นไปได้เหล่าเฒ่าก็คงไม่อยากมา อาจเพราะเหล้ากลั่นในอุตสาหกรรมมีราคาเกินเอื้อม ไม่ได้มีโอกาสกินบ่อยๆ จึงทำให้เป็นหนี้เป็นสินแม่มณีเศรษฐีนีผู้มีลูกเป็นตำรวจหนุนหลัง
อาจเป็นเพราะมันเป็น “คืนหนาวจับกระดูก” ที่ผลักบรรดาเฒ่าให้มาที่นี่ เขาหนาวจับจิตจับใจ เหล้าไม่ใช่แค่มึนเมา แต่มันช่วยสร้างความอบอุ่นให้คนชนบท เหล้าไม่ใช่อบายมุขตามความหมายทางศาสนา แต่มันคือสิ่งบรรเทิงอันน้อยนิดในชนบทนคร
“นี่แหละ! ชีวิตเราในท้องทุ่งท้องนามันก็เป็นอย่างนี้แหละ! หนังละครอะไรก็ไม่มีจะดู จะอ่านหนังสือหรือก็หนวกหูเต็มทน หนังสือทั้งวัดจะหาถูกใจสักเล่มไม่มี ล้วนแต่อ่านแล้วทั้งนั้น”
ภูมิปัญญารสขมจากเฒ่าโลกีย์ถึงโนนหนองลาด
ระหว่างที่ผมเขียนรีวิวหนังสือเล่มนี้ ผมได้ไปพูดคุยกับพ่อสวาท อุปฮาด เกษตรกรบ้านโนนหนองลาด จ.ขอนแก่น ผู้ทำสารพัดอย่าง หนึ่งในสินค้าที่เขาใส่ใจพัฒนาคือ สาโท เหล้าพื้นบ้าน เขามองว่าเครื่องดองของเมา คือ ภูมิปัญญา มันคือประสบการณ์ที่สั่งสมกันมาจากรุ่นสู่รุ่น
ในวันนี้พ่อสวาทอายุ 63 ปี เริ่มทำเหล้าครั้งแรกตอน ป.4 ในวัยเด็กก็เห็นคนในชุมชนทำเหล้ากินมาโดยตลอด สูตรทำลูกแป้งหมักสาโท แต่ละบ้านก็มีเคล็ดลับให้กลิ่นรสเฉพาะตัว ที่ผ่านมานักทำเหล้าแห่งโนนหนองลาด เป็นอีกหัวเรี่ยวหัวแรงที่ออกมาเรียกร้องให้แก้ไข พ.ร.บ. เหล้า ตั้งแต่ พ.ศ. 2544 จนสุดท้ายได้มีการออก พ.ร.บ. จดแจ้งเหล้าพื้นบ้านใน พ.ศ. 2547
ช่วงปลายปีที่ผ่านมา สาโท วิสาหกิจชุมชนของชาวบ้านกว่า 20 ครอบครัว ได้รับผลกระทบ ข้าวของทั้งหมดเสียหายเพราะน้ำท่วมสองเมตรกว่า ไร่นา อาคารสถานที่ จมอยู่ใต้น้ำกว่า 3 เดือน
เรื่องน่าเศร้ากว่านั้นคือเงินเยียวยาน้ำท่วมที่เขาได้ครอบคลุมเพียงบ้านและที่อยู่อาศัย วิสาหกิจชุมชนที่เป็นแหล่งแปรรูปวัตถุดิบ สร้างงานสร้างอาชีพให้ชาวบ้านไม่ถูกนับรวม
พ่อสวาทคุยกับผมหลังวางแปรงทาสี ใบหน้าเขามีสีรองพื้นสีขาวติดอยู่ ใกล้ๆ กันชาวบ้านในชุมชนกำลังเอาแปรงทากำแพงที่มีด่างจากน้ำท่วม ขวดไหเหล้า เปื้อนดินโคลนวางอยู่ไม่ไกล
เรื่องราวของพ่อสวาททำให้ผมนึกถึงคำว่า “อุตสาหกรรมในครอบครัว” ตามความหมายในเรื่องสั้นเมื่อห้าสิบกว่าปีก่อน มันเป็นหนทางสร้างรายได้อย่างเป็นรูปธรรมที่สร้างโดยคนในชุมชน
พ่อสวาทบอกว่าต้นทุนข้าวหมื่นกว่าบาท ถ้าเอาไปทำสาโทสามารถทำรายได้เกือบแสน ตอนนี้พวกเขาได้แต่เอาเงินค่าซ่อมบ้านที่ลำพังก็ได้น้อยอยู่แล้ว เรี่ยไรรวมกัน เพื่อทำการผลิตให้ได้ดังเดิม แล้วลุกขึ้นสู้ใหม่ให้เร็วที่สุด เพื่อจะได้มีเงินมาซ่อมแซมทั้งบ้านเรือนและชีวิต
ผมเขียนรีวิวช่วงสุดท้าย โดยคิดถึงรสชาติสาโทจากข้าวที่งอกบนแผ่นดินโนนหนองลาด ระหว่างนั้นผมนึกถึงสารพัดบทสนทนาเรื่อง ‘เหล้า’ ใน ‘เฒ่าโลกีย์’
คนขี้เหล้า เกินครึ่งศตวรรษที่แล้ว ตั้งคำถามถึงกฎหมาย ความไม่ชอบมาพากล และการสนับสนุนของรัฐให้ตลอดรอดฝั่งในอุตสาหกรรมนี้อย่างไร ในเมื่อวันนี้เสียงเหล่านั้นก็ยังคงอยู่
อ้างอิง
หนังสือ – เฒ่าโลกีย์ รวมเรื่องสั้นชุดเฒ่า อันเกรียงไกร
ผู้เขียน – มนัส จรรยงค์
สำนักพิมพ์ – ศรีปัญญา
PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี