‘ยังไม่พ้นขีดอันตราย’ ห้ามป่วย ห้ามพักตลกร้ายของ 'หมอ' ที่ไม่เหมือนในซีรีส์ - Decode
Reading Time: 3 minutes

“ช่วงนี้ได้นอนบ้างรึเปล่า”

“คนไข้เหรอครับ”

“หมอเนี่ยแหละ”

นี่คือบทสนทนามุมกลับที่หนังไม่ได้เผยให้เราเห็น เราอยู่กับ นพ.ณัฐ ศิริรัตน์บุญขจร และ พญ.ชุตินาถ ชินอุดมพร ตัวแทนจากสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน (สพง.) ไม่ใช่ในห้องตรวจ แต่เป็นกลางโต๊ะเจรจาของกรรมาธิการแรงงาน ในรัฐสภา สิ่งที่พวกเขาอยากได้ไม่ใช่ใบสั่งยา แต่คือ พ.ร.บ.ที่กำหนดชั่วโมงการทำงานของแพทย์ให้สมเหตุสมผล และชัดเจน

ภาระงานเยอะ ไม่มีสิทธิเลือกว่าจะทำงานกี่ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับจำนวนคนไข้และภาระงานอื่น ๆ หลาย ๆ ครั้งมากถึง 48 ชั่วโมงติดต่อกัน แน่นอนว่าส่งผลต่อประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วย 

“เราทำงานเริ่มตามเวลาของระบบราชการ มีทั้งการตรวจผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก หลาย ๆ ครั้งเพียงแค่ครึ่งเช้าแพทย์หนึ่งคนต้องทำการรักษาผู้ป่วยมากถึง 60 คน หลังจากนั้นจะเป็นการตรวจเยี่ยมผู้ป่วยใน ถึงแม้กรอบเวลาราชการจะเลิกงานตอน 4 โมงเย็น แต่เราไม่สามารถอ้างอิงเวลานั้นได้เลย เพราะงานของเราคือคนไข้ เราก็ต้องทำงานจนกว่าคนไข้รายสุดท้ายจะได้รับการตรวจ กรอบเวลาการทำงานของเราจึงไร้กรอบมาก ๆ และหากวันนั้นเป็นเวรของเรา เราก็ต้องอยู่เวรต่อตั้งแต่ 4 โมงเย็นถึง 8 โมงเช้าอีกวัน ซึ่งนั่นคือการเริ่มทำงานใหม่อีกวัน” พญ.ชุตินาถ อธิบายตารางประจำวันให้เราฟัง

เมื่อกล่าวถึงการอยู่เวร นั่นหมายถึงการที่นอกจากแพทย์จะต้องทำงานในเวลาราชการ (08.00-16.00) เป็นปรกติทุกวันแล้ว แพทย์จะต้อง ‘อยู่เวร’ นอกเวลาราชการด้วย ซึ่งคือช่วงเวลา 16.00-08.00 ในวันธรรมดา และ 08.00-16.00 ในวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ลองจินตนาการถึงโรงพยาบาลขนาดเล็กในต่างจังหวัดที่มีแพทย์จำนวนน้อยกว่าความต้องการ จึงมีความเป็นไปได้ว่าหากมีแพทย์เพียง 2 คนทั้งโรงพยาบาล นั่นหมายถึงจะต้องแบ่งกันอยู่เวรคนละ 15 วัน ต่อเดือนด้วยกัน

ลองจินตนาการถึงแพทย์เฉพาะทางที่มีจำนวนน้อยในต่างจังหวัด หมอคนเดียวอาจจะต้องรับภาระงานมากกว่าหนึ่งโรงพยาบาล เช่น ถ้าคุณเป็นหมอผ่าตัดสมอง จำนวนอุบัติเหตุสุดสยองบนท้องถนนอาจจะพอฉายภาพให้เราได้เข้าใจมากขึ้นว่าภาพของการต้องยิงยาว หรือการรับ ‘เวรเยิน’ ติดต่อกันได้สูงสุดเป็นเดือน อาจไม่ใช่คำกล่าวที่เกินจริง

human error ในวันที่หมอ error ไม่ได้ 

“ยกตัวอย่างเช่นผู้ป่วยที่มีสภาวะหัวใจหยุดเต้น แพทย์ผู้ปฏิบัติงานมีเวลาทำการรักษายื้อชีวิตไม่ถึงครึ่งชั่วโมงเท่านั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดเมื่อต้องทำงานแข่งกับเวลานั่นคือการตัดสินใจ หากร่างกายของแพทย์พร้อมเต็มที่ การตัดสินใจก็จะได้ประสิทธิภาพ เฉียบคม ครบรอบด้าน มากกว่าคนที่ผ่านการทำงานหนักและไม่ได้นอนติดต่อกันตลอด 48 ชั่วโมงอย่างแน่นอน” นพ.ณัฐเปรียบเทียบ

เรื่องนี้จึงเป็นเหมือนการเล่นทอยลูกเต๋าเดิมพัน เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าหมอที่มาตรวจเรา หรือญาติของเราในวันนั้นจะเพิ่งเข้าเวร นอนหลับพักผ่อนเพียงพอ หรือดันเป็นปลายเวรที่เพิ่งลากยาวมาจากเมื่อวาน คนไข้และญาติไม่มีทางรู้ และไม่มีทางเลือกได้เลย ปัญหานี้จึงไม่ได้สร้างความเสียหายแค่กับตัวบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น แต่เราทุกคนจะซวยกันหมด

ภาพจำของหมออาจเป็นเด็กเนิร์ดในชุดขาว แต่ในความเป็นจริงแล้ว บุคลากรทางการแพทย์ก็คือแรงงาน แถมยังเป็นงานที่ใช้แรงเยอะไม่น้อยหน้าอาชีพอื่น ๆ

“จริง ๆ แล้วงานของแพทย์มีงานหัตถการจำนวนมากกว่าที่คนนอกอาชีพคิด แถมยังต้องใช้แรงและต้องอาศัยความแม่นยำอย่างมากอีกด้วย เช่นการปั๊มหัวใจ การเปิดเส้นเลือดที่ขา การใส่ท่อช่วยหายใจ งานหัตถการเหล่านี้หากมีความผิดพลาดเกิดขึ้นนั่นหมายถึงความเสี่ยงของชีวิตคนไข้ในมือพวกเรา ความจริงมีผลสำรวจออกมาแล้วด้วยซ้ำว่าการทำงานต่อเนื่องที่ไม่ได้พัก จะทำให้โอกาสในการเกิดความผิดพลาดเพิ่มขึ้นถึง 60% ได้เลย ผลสำรวจนี้ทางอเมริกาไปสำรวจในช่วงก่อน และ หลัง การจำกัดเวลาอยู่เวรของแพทย์ฝึกหัด (intern) ซึ่งพบว่าหลังจากที่มีการจำกัดเวลาการอยู่เวร ข้อผิดพลาดร้ายแรงที่พบระหว่างการรักษานั้นลดลงเยอะมากอย่างมีนัยสำคัญ”

“ไม่ใช่เพียงแต่ในต่างประเทศเท่านั้น ในปี 2562 ที่ผ่านมา รศ.นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ได้ทำแบบสำรวจที่แสดงให้เห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า หากทำงานเกินชั่วโมงเวลาที่กำหนดโดยไม่ได้หยุดพัก โอกาสในการเกิดข้อผิดพลาดจะเพิ่มขึ้นสูงกว่า 90%”

หากปัญหาคือหมอไม่พอ เราจะเพิ่มจำนวนหมอเข้ามาในระบบให้มากขึ้นได้หรือไม่ ?

คณะแพทย์ไม่ว่าจะมหาวิทยาลัยไหนต่างก็เป็นคณะเนื้อหอมที่มีคะแนนสอบเข้าสูงลิบลิ่วขนาดที่ว่าในแต่ละปีนักเรียนจะต้องติวสอบกันอย่างเอาเป็นเอาตาย แต่ทำไมเรายังมีหมอไม่เพียงพอในระบบสักที

“จริง ๆ แล้วในขณะที่เรานั่งคุยกันอยู่มีนโยบายเพิ่มการผลิตแพทย์เข้าสู่ระบบจำนวนมาก โรงเรียนแพทย์เปิดเพิ่มขึ้น ในแต่ละปีมีแพทย์จบออกมาอยู่ที่ 3,000-4,000 คน แต่สามารถบรรจุเข้าระบบได้เพียงแค่ 1,500-1,800 คน ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่าด้วยจำนวนตัวเลขนี้จะสามารถรองรับภาระงานที่รออยู่ในระบบได้เพียง 60% เท่านั้น เมื่อเราเปิดบรรจุเพิ่มไม่ได้ ต่อให้เรามีโรงเรียนแพทย์มากขึ้น ผลิตแพทย์ได้เยอะขึ้น แพทย์ก็ไหลออกนอกระบบหมดอยู่ดี” นพ.ณัฐกล่าว

ถ้าอย่างนั้น ทำไมเราเปิดบรรจุเพิ่มไม่ได้ ?

“การขอบรรจุหมอในแต่ละปีนั้นจะขอรวมกันกับบุคลากรทางการแพทย์ตำแหน่งอื่น ๆ (ซึ่งแน่นอน ทุกอาชีพเจอปัญหาจำนวนคนบรรจุไม่เพียงพอต่อภาระงานเช่นเดียวกัน เช่นพยาบาล เทคนิคทางการแพทย์ เป็นต้น) การขอตำแหน่งรวบตึงแบบนี้ทำให้ไม่ได้สำรวจว่าแต่ละสาขาอาชีพนั้นมีความต้องการที่แตกต่างกัน แม้แต่แพทย์เองก็มีเฉพาะทางแยกลงไปอีกในหลาย ๆ ด้าน เช่นเฉพาะด้านศัลยกรรมก็จะมีแยกย่อยลงไปอีก ไม่ว่าจะเป็นหัวใจ สมอง ซึ่งเราไม่เคยมีตัวเลขที่แท้จริงตรงนี้มาก่อน เราทำแค่ว่าหมอต่อสัดส่วนประชากรทั้งประเทศควรจะเป็นเท่าไหร่ ในเมื่อเราไม่สามารถเอาหมออายุรศาสตร์ไปผ่าตัดช่องท้องได้ เอาจิตแพทย์ไปสวนหัวใจไม่ได้ จึงสำคัญจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคิดสัดส่วนแยกกันไปเวลาที่คิดถึงการบรรจุตำแหน่ง” พญ.ชุตินาถ อธิบาย

จากห้องตรวจสู่ห้องประชุมในรัฐสภา สัญญาณชี้ชัดว่าปัญหานี้จะซ่อนอยู่หลังกำแพงห้องตรวจไม่ได้อีกต่อไป

“ในช่วงแรกการเคลื่อนไหวของสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน (สพง.) เป็นในลักษณะรณรงค์ทางออนไลน์ให้คนทั่วไปเข้าใจถึงสภาพปัญหาของการทำงานในสายอาชีพบุคลากรทางการแพทย์ ชวนให้เพื่อนร่วมอาชีพมาแลกเปลี่ยนพูดคุยกัน หาทางออกร่วมกัน ซึ่งปัญหามันงูกินหางมาก ไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหนดีเลย บางคนก็บอกว่างบไม่พอ เราเลยเปิดบรรจุเพิ่มไม่ได้ ซึ่งตอนแรกเราเริ่มด้วยการไปคุยกับทางแพทยสภาก่อน เพราะเป็นหน่วยงานที่คอยดูแลแพทย์โดยตรงและมีอำนาจหน้าที่ในการส่งแพทย์ใช้ทุนปีแรกไปทำงานตาม รพ.ต่าง ๆ ทั่วประเทศ จากการพูดคุยในวันนั้นเป็นที่มาของประกาศแพทยสภา กำหนดให้แพทย์ทำงาน 8 ชั่วโมง หลังเวรดึกต้องได้พัก 8 ชั่วโมง ถ้าทำงานเกิน 24 ชั่วโมง ต้องได้พัก 8 ชั่วโมง โดยแต่ละอาทิตย์จำนวนชั่วโมงการทำงานต้องไม่เกิน 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์”

แต่ประกาศจากแพทยสภาฉบับดังกล่าว ก็เป็นเพียง ‘ข้อแนะนำ’ หรือการขอ ‘ความร่วมมือ’ เท่านั้น ไม่มีบทลงโทษ ไม่มีสภาพบังคับใช้ได้จริง

หมอ = คนทำงาน ผลพวงจากชั่วโมงทำงานอาจกระทบถึงคนไข้

“เมื่อหมอก็คือคนทำงาน คือแรงงานคนหนึ่ง หมอจึงควรเป็นอาชีพที่ได้รับความคุ้มครองเหมือนอาชีพอื่น ๆ แต่หากภาระงานยังไม่ได้สัดส่วนกับจำนวนคนทำงานอยู่แบบนี้ สิ่งที่แย่ที่สุดที่จะเกิดขึ้น ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องคุณภาพชีวิตของบุคลากรทางการแพทย์และคนรอบข้าง แต่ความเสียหายนี้จะตกอยู่กับคนไข้ กับประชาชนที่เป็นผู้รับบบริการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” แรงงานในระบบสาธารณสุขทั้งสองคนอธิบายให้เราเข้าใจสถานการณ์

โควิดยังไปต่อไม่หยุด การคุยเรื่องลดชั่วโมงการทำงานของแพทย์ในจังหวะที่ต้องการแพทย์มากกว่าครั้งไหน ควรไปต่อ หรือพอแค่นี้

“แน่นอนว่าตลอดระยะเวลาการระบาดของโควิด-19 ภาระการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์สูงขึ้น และอันตรายขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งถ้ามีบุคลากรทางการแพทย์สักคนติดโควิด ปัญหาก็จะยิ่งหนักมากขึ้นไปอีก ข้อเสนอการลดชั่วโมงการทำงานของแพทย์ไม่ใช่เสนอขึ้นมาเพื่อลดโอกาสที่คนไข้จะได้พบแพทย์ แต่คือการชวนตั้งคำถามและวางแผนงานกันว่าจริง ๆ แล้วเราต้องการแพทย์ในระบบเท่าไหร่ จะมีขั้นตอน วิธีการทำงานแบบไหน (Roadmap) เพื่อให้บรรลุถึงจำนวนตรงนั้น เพื่อให้แพทย์สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด และคนที่ได้รับประโยชน์สูงสุด ไม่ใช่ใคร แต่คือประชาชนผู้เข้ารับบริการทุกคน”

“ยิ่งเป็นช่วงโควิด เรายิ่งต้องรีบสำรวจว่าจริง ๆ แล้วเราต้องการแพทย์ในระบบเท่าไหร่ เพราะตอนนี้ภาระและหน้างานเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก ยังไม่นับรวมที่ว่าบุคลากรทางการแพทย์อาจจะติดเชื้อได้ทุกเมื่อ และยังต้องวางแผนการรักษาผู้ป่วยที่อาจมีอาการของลองโควิดอีก”

“ต้องขอย้ำว่าที่เราออกมาพูดถึงปัญหาการขาดแคลนของแพทย์และจำนวนชั่วโมงการทำงานที่มากเกินกว่าคนคนหนึ่งจะสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพนี้ ก็เพื่อให้หาทางออกร่วมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับตัวคนไข้เองด้วย การพูดคุยกับกรรมาธิการแรงงาน กับ ส.ส.ที่เป็นตัวแทนของเราและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องก็เพื่อให้เห็นปัญหาร่วมกัน”

จริง ๆ เราต้องมาดูที่คำนิยามของคำว่าแรงงานกันก่อน คือใครก็ตามที่ไม่ใช่เจ้าของทรัพยากร ได้รับเป็นเงินเดือนจากการทำงาน ก็คือแรงงาน จริง ๆ คำว่าแรงงาน ไม่อยากให้มองในแง่ลบ ถ้าเรายอมรับว่าเราคือแรงงาน คือคนทำงานคนหนึ่ง เราก็จะรู้สึกได้ว่าสิทธิอะไรที่เราโดนเพิกเฉย โดนแย่งเอาไป และไม่มีใครปกป้องสิทธิของเราเลย เมื่อเราเกิดความรู้สึกนั้นเราก็จะเริ่มเรียกร้องหาความยุติธรรม และการเปลี่ยนแปลง ก็จะเริ่มขึ้นจากที่ตรงนั้น

ขยับเพดานการตื่นตัวทางการเมือง

“จริง ๆ ทุกอย่างคือการเมือง ถ้าเรามีปัญหา เราตระหนักรู้ถึงปัญหาตรงนั้นได้ เราจะเรียกร้องให้เกิดผลเราก็ต้องไปตามที่ผู้รับผิดชอบโดยตรง การเมืองคือเรื่องของการออกแบบนโยบาย เราเป็นผู้ใช้นโยบายเราก็มีสิทธิเสนอหรือแสดงความคิดเห็นได้อยู่แล้ว อย่างบัตร 30 บาทที่มีขึ้นมาได้ก็เพราะการเมือง ดังนั้นเราจึงไม่เชื่อว่าการเป็นหมอแล้วต้องอยู่แต่ในรพ.จะเป็นวิธีเดียวที่จะทำเพื่อคนไข้และประเทศของเราได้” พญ.ชุตินาถ กล่าว

“กลับกัน ผมคิดว่าแพทย์ควรจะตื่นตัวทางการเมืองในการผลักดันนโยบายที่จะส่งผลกับตัวของแพทย์เองและคนไข้มากกว่านี้ด้วยซ้ำ” นพ.ณัฐ อธิบายเพิ่มเติม

ก่อนหน้านี้บุคลากรทางการแพทย์ก็ตื่นตัวทางการเมืองเหมือนกัน จนมีวลีที่ว่า “หนีคนไข้มาไล่” การสนับสนุนในตอนนั้น กับวันที่เรามาขับเคลื่อนเพื่อให้หมอได้ลดชั่วโมงการทำงานลง เหมือนหรือต่างกันอย่างไร

“เราเชื่อว่าเรื่องการเมืองเป็นเรื่องของยุคสมัย เราเชื่อว่าความคิดของคนเปลี่ยนแปลงได้ตลอด ถ้าเรายืนหยัดอยู่ด้วยชุดความจริงและหลักฐาน เราก็เชื่อว่าเพื่อนร่วมงานและสังคมก็พร้อมจะสนับสนุนเรา”

ในการเคลื่อนไหวของประชาชน นักเรียน นิสิตนักศึกษา ช่วงปี 63-64 ที่ผ่านมา บุคลากรทางการแพทย์ที่ไปร่วมชุมนุมได้รับผลกระทบอะไรในที่ทำงานหรือไม่

“โดยส่วนตัวยังไม่เจอการถูกห้าม หรือถูกตำหนิ แต่แน่นอนว่ามีบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากที่ยังไม่อยากออกหน้ามากนักเพราะกลัวผลกระทบตรงนี้อยู่เหมือนกัน มันขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมในที่ทำงานแต่ละที่มากกว่า อย่างการที่เราออกมาขับเคลื่อนตรงนี้เราก็ได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนร่วมงานจำนวนมาก เพราะเราต่างกำลังเผชิญกับปัญหาเดียวกัน”

“เราก็ต้องพูดกันตามตรงว่ามีหมอฆ่าตัวตายทุกปี เราแบกรับชีวิตของคนไข้และความคาดหวังของญาติไว้บนบ่า ในแต่ละวันบางทีเราดูแลคนไข้เป็นร้อยคน ผลกระทบที่จะเกิดกับคนไข้มันมาจากการตัดสินใจของเราโดยตรง ถ้ามันจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรไปในทิศทางที่ดีขึ้น เราก็พร้อมจะสนับสนุนกันให้มันเกิดขึ้น”

“แนวทางและรายละเอียดเราอาจจะยังเห็นต่างกัน แต่ผมเชื่อว่าบุคลากรทางการแพทย์ทุกคนก็มีความคิดที่อยากจะทำเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของคนไข้เป็นที่หนึ่งอยู่แล้ว เราจะยังคงขับเคลื่อนคู่กันไปทั้งในสภาและนอกสภา เพราะเราเชื่อว่าตราบใดที่ยังไม่มีข้อตกลงร่วมกัน การเปลี่ยนแปลงก็ยังไม่เกิดขึ้น และข้อตกลงอย่างกฎหมายจะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องได้รับการสนับสนุนจากสังคมเช่นเดียวกัน”

“ในอนาคตยังมีอีกหลายประเด็นที่เราอยากจะไปให้ถึง ไม่ใช่เพียงแค่การเพิ่มอัตราบรรจุแพทย์ในระบบและการลดชั่วโมงการทำงาน ยังมีในเรื่องของการรักษาให้บุคลากรอยู่ในระบบต่อไปได้ ไม่อย่างนั้นเราจะผลิตแพทย์ออกมามากแค่ไหน มี รร.แพทย์อีกกี่แห่งก็ไม่พออยู่ดี”

สิ่งที่อยากฝากถึงรมต.กระทรวงสาธารณสุขเป็นพิเศษ “อยากจะฝากถึงนโยบายระยะยาวของกระทรวงฯ อยากให้คำนึงถึงความสามารถในการทำงานและภาระงานที่สมเหตุสมผลของแพทย์ เพื่อผลประโยชน์ของคนไข้เป็นที่หนึ่ง สิ่งที่คนทำงานหน้างานอย่างหมอรู้สึกคือปัญหานี้มันเป็นปัญหาเรื้อรังสืบเนื่องมาเรื่อย ๆ จึงขอให้ทางกระทรวงสาธารณสุขวางแนวทางแก้ปัญหานี้อย่างชัดเจน เป็นรูปธรรม และสื่อสารกับแพทย์ผู้ปฏิบัติงานว่าจะมีแนวทางอย่างไรด้วย”

“ถ้ามีอะไรที่ฝากขอคุณอนุทินได้ ก็อยากจะขอความเห็นใจต่อแพทย์ที่เป็นบุคลากรที่อยู่ในความดูแลของคุณอนุทินโดยตรง พวกเราก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกัน ยิ่งภายใต้สถานการณ์โรคระบาดที่ไม่มีใครตั้งตัวทันแบบนี้ ยิ่งไม่มีใครอยากให้เกิดความผิดพลาดขึ้น เราคนทำงานต่างอยากดูแลผู้ป่วยให้ดีที่สุด ก็อยากจะฝากท่าน รมต.ถึงเรื่องนี้ เพราะเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของท่านโดยตรง”

‘รักษาถ้วนหน้า’ นโยบายในฝันผ่านมุมมองของ ‘หมอ’

“ผมอยากให้มีการรักษาถ้วนหน้า และทั่วถึงต่อไป โดยที่ทางฝั่งบุคลากรทางการแพทย์สามารถทำงานได้อย่างมีความสุข นั่นคืออุดมคติที่เราอยากไปให้ถึงให้ได้”

“แน่นอนว่าการมา รพ.ไม่ใช่สิ่งที่คนทั่วไปอยากทำ เขามาเพราะเจ็บป่วยไม่สบาย แต่ถ้าเราสามารถให้ข้อมูลกับประชาชนได้ในเรื่องของการรักษาเบื้องต้น การสังเกตอาการต่าง ๆ การดูแลสุขภาพและการป้องกันโรคจนสามารถคัดกรองตัวเองได้ก่อน การส่งเสริมสุขภาพชุมชน อย่างน้อยถ้าทุกคนทำ CPR เป็น ก็จะเป็นอีกอุดมคติที่เราอยากให้เกิดขึ้นเช่นกัน”

“สุดท้ายนี้ เราอยากให้คนทั่วไปมองว่าหมอคือคนธรรมดาคนหนึ่ง คือแรงงานคนหนึ่งที่กำลังทำงานเกินกว่าที่ร่างกายเราจะรับไหว ย่อมเป็นไปได้ยากมากที่จะไม่เกิดความผิดพลาดขึ้นระหว่างการทำงาน การต่อสู้ครั้งนี้จึงทำเพื่อลดโอกาสความผิดพลาดเหล่านั้น เพื่อคนไข้ของเราด้วยเช่นกัน” 

คนไข้มา รพ.ก็รอนาน หมอเองก็ทำงานเกินกว่าที่ร่างกายจะรับไหว ปัญหาที่เกิดขึ้นตรงนี้คือความผิดพลาดของระบบ การออกมาพูดเรื่องนี้ คือโอกาสที่เราจะได้กลับมาแก้ไขปัญหากันที่ต้นตอจริง ๆ