ยังดูการ์ตูนอยู่อีกเหรอ
“ยิ่งเทคโนโลยีไปไกลเท่าไหร่ ความเป็นมนุษย์ยิ่งลดน้อยลงเท่านั้น”
นิยามที่ฉายให้เห็นถึงโลกอนาคตแบบหนึ่งที่ชื่อ Cyberpunk จากนวนิยายวิทยาศาสตร์สู่ Genre ยอดนิยมสำหรับคอหนังและเกมเมอร์
โดยเฉพาะที่ Night City ใน Cyberpunk 2077 Edge runner ยิ่งทำให้เรามั่นใจได้ว่า ความรวย ถูกนับเป็นพรสวรรค์อย่างหนึ่งและความจนเป็นเหมือนคำสาป
การถีบตัวเองขึ้นไปเพื่อไขว่คว้าหาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอาจไม่มีจริงในเมืองแห่งนี้
เพราะตัวเลขในบัญชีต่างหาก ที่จะกำหนดว่าเราจะได้มีชีวิตอยู่อย่างไรและต้องจากไปแบบไหน
คนรวย เป็นพรสวรรค์อย่างหนึ่ง
เสน่ห์อย่างหนึ่งของการ์ตูนโชเน็น คือการที่เหล่าพระเอก ต่างเริ่มต้นจากศูนย์และพัฒนาไปถึงจุดสูงสุดของเรื่อง
แต่ทว่าโลกความจริงที่ซ้อนอยู่ในเมือง Night City ไม่เป็นแบบนั้น
ในเมือง Night city ไม่ต่างกับภาพจำโลกอนาคตใน Genre เดียวกัน ยุคที่เทคโนโลยีก้าวไปไกล เรามีรถที่สามารถขับเคลื่อนด้วยไอพ่น การเรียนการศึกษาแบบ VR รวมถึงความฟอนเฟะข้างทาง หากหลับแบบไม่หายใจแล้ว จะมี ‘รถขนเนื้อ’ ของเมืองมาเก็บกวาด
แน่นอนว่ายิ่งอนาคตไปไกลมากเท่าไหร่ เราจะเห็นความเหลื่อมล้ำชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น เบื้องล่างของเมือง Night city ที่เต็มไปด้วยคนเมาทะเลาะวิวาทกันตั้งแต่หัววัน ในขณะที่ชั้นบนของอาราซากะทาวเวอร์นั้นเงียบสงบ พร้อมกับผู้คน 1% เฝ้ามองโลกข้างล่างจากตรงนั้น
จะเห็นได้ว่าเดวิดเอง ไม่ได้มีความต้องการจะเข้าเรียนในอะคาเดมี่ ตามที่กลอเรีย แม่ของเขากระเสือกกระสนเก็บหอมรอมริบเพื่อให้ลูกชายตัวเองเข้าไปเรียนในสถานศึกษาแห่งนี้ให้ได้ เดวิดเป็นหนึ่งในเด็กที่ฐานะทางบ้านไม่ได้ดีมากและเชื่อว่าการทำงานเพื่อหาเงินมาช่วยเหลือครอบครัวจะเป็นประโยชน์กว่าการศึกษา
หลาย ๆ คนอาจจะเคยได้ยินประโยคที่ว่า “การศึกษาคือการลงทุนที่ดีที่สุดของพ่อแม่ที่จะให้ลูกได้” การกระทำของตัวละครในเรื่องสามารถฉายภาพประโยคดังกล่าวได้ชัดเจน
ถึงแม้ในโลกความเป็นจริง มี CEO หลายท่านไม่จำเป็นต้องจบการศึกษาระดับสูง ใช้ความพยายามในการไต่เต้าและถีบตัวเองขึ้นท่ามกลางแสงสว่าง แต่ในเมือง Night City ไม่มีเหตุการณ์แบบนั้นเกิดขึ้น ในโลกเสรีทุนนิยมสุดขีด การได้รับการศึกษาที่ดี ซึ่งจะมีผลต่ออาชีพ คนรอบข้าง และทัศนคติ การได้เข้าเรียนในอะคาเดมี่ เป็นทางเดียวที่แม่ของเดวิด ต้องการจะให้เข้าหลุดจากวังวนที่ตัวเองผ่านมา
ย้อนกลับมาในสังคมไทย เหตุการณ์แบบนี้ยังปรากฎให้เห็นอยู่เสมอ ในวันที่การเข้าถึงการศึกษาที่ดี คือจำนวนเงินที่เพิ่มมากขึ้น ขณะที่ในเรื่อง ตัวละครปราศจากทางเลือกที่จะถีบตัวเองขึ้นไปสู่ข้างบน การเข้าสู่อะคาเดมี่ เพื่อจะได้เข้าทำงานในบริษัทอาราซากะและไต่เต้าขึ้นไปชั้นบนสุดของอาคาร
ความรวยไม่ได้เป็นทางลัดแต่เพียงเท่านี้ ขณะที่เดวิดเข้าเรียนที่อะคาเดมี่ ความจนไม่เพียงแต่เป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงอุปกรณ์การเรียนดี ๆ ความจนยังเป็นตราบาปที่แบ่งแยกชนชั้นเขากับบรรดาลูกหลานของผู้บริหารบริษัทอาราซากะ เดวิดทำได้เพียงไม่สนใจและกลับบ้านในแต่ละวัน
ในฉากที่เดวิดถูกรังแกโดยกลุ่มของคัตซึโอะ หากพิจารณากันอย่างง่าย ๆ ลูกหลานของเด็กที่ไม่ได้มีฐานะดีนัก อาจจะมีร่างกายที่แข็งแรงกว่าลูกคุณหนูเป็นแน่ แต่ไม่ใช่สำหรับในเรื่องนี้ ในยุคที่มนุษย์วิวัฒนาการถึงขีดสุด ร่างกายเป็นเพียงกายเนื้อที่สามารถตัดแต่งและต่อเติมเทคโนโลยีไซเบอร์เข้าไปได้ ทักษะต่าง ๆ ก็เช่นกัน เพียงแค่มีเงินถึงก็สามารถซื้อการ์ดข้อมูลทักษะการต่อสู้ระดับสูง เพียงแค่ใส่ในร่างกายก็สามารถเรียนรู้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องฝึกฝนให้เสียเวลา ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีค่าในโลกของความเร่งรีบ
บริษัทอาราซากะ มีอำนาจมากที่สุดในเมือง จนแทบจะกลายเป็นกลุ่มทุนที่เป็นรัฐเสียเอง ในขณะที่ประชาชนธรรมดาต้องอาศัยอยู่มื้อกินมื้อ การเป็นประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ถึงอย่างนั้นก็ไม่อาจยืนยันได้ว่า ปลายทางที่แม่ของเดวิดต้องการให้เป็น หากเดวิดตัดสินใจเลือกเดินในเส้นทางนี้ จะเป็นไปตามที่คาดหวังหรือไม่
ความร่ำรวยที่มาจากพรแสวง ดั่งเช่นที่เราเคยได้ยินมาอาจไม่มีอยู่จริงในเมือง Night city
คนรวย เป็นเหมือนพรสววรค์อย่างหนึ่ง ที่ใครบางคนเกิดมาพร้อมกับสิ่งนั้น และใครหลายคนอาจไม่มีวันได้ครอบครอง
ระบบแพ้คัดออกของทุนนิยมสุดขีด
ทฤษฎีหนึ่งของดาวินชี่มีชื่อว่า “การคัดเลือกโดยธรรมชาติ” หากกล่าวอย่างง่ายที่สุด คือธรรมชาติจะคัดสรรให้ผู้แข็งแกร่งอยู่ต่อ และอ่อนแอต้องแพ้พ่ายไป เพียงแต่ในเมือง Night city ความแข็งแกร่งที่ว่าขึ้นตรงต่อจำนวนของตัวเลขในบัญชี
ฉากที่นับว่าเป็นที่จดจำของผู้เขียน ถูกเล่าอย่างเรียบง่ายราวกับว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ถูกคัดสรรโดยธรรมชาติของโลกทุนนิยม คือฉากที่กลอเรียและเดวิดเองถูกลูกหลงของรถที่กำลังไล่ล่ากัน หลังจากที่รถพลิกคว่ำ ทันทีที่เดวิดได้สติ ระหว่างนั้นรถของบริษัทประกันก็เข้ามา เดวิดพยายามเรียกสติเพื่อที่จะให้คนมาช่วยเหลือ แต่ทันทีที่เจ้าหน้าที่ประกันมาตรวจสอบแล้วพบว่าไม่ใช่ลูกค้าของตนก็กล่าวว่า
“นี่ไม่ใช่ลูกค้าของเราที่ได้รับความเสียหาย รีบไปกันเถอะ เดี๋ยวรถขนเนื้อของเมืองก็มาจัดการเอง”
หลังจากนั้นไม่นาน แม่ของเดวิดถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง และแน่นอนว่าด้วยฐานะของครอบครัวที่ไม่ได้ดีมากนัก จึงทำให้แพ็กเกจการรักษาของพวกเขาถูกใช้จ่ายในระดับที่ต่ำสุด เป็นสวัสดิการที่รัฐมอบให้หรือที่เรียกกันว่า ของฟรี
แพ็กเกจการรักษานี้ เราไม่เห็นว่าเจ้าหน้าที่พยาบาลรักษาแม่ของเดวิดอย่างไรบ้าง เท่าที่เนื้อหาเปิดเผยให้เราเห็น คือเดวิดไม่สามารถเข้าไปเยี่ยมแม่ของเขาได้ เนื่องจากแพ็กเกจการรักษาไม่ครอบคลุมการเข้าเยี่ยม จากนั้นไม่นานกลอเรียก็ได้จากไป การจากไปของเธอ ทั้ง ๆ ที่เป็นครอบครัวของตัวละครเอกในเรื่องกลับเรียบง่าย ไม่ได้ดึงอารมณ์เหมือนเรื่องอื่น ๆ แต่อย่างใด นั่นเป็นความตายของคนจน ที่ทางทีมผู้สร้างพยายามเปิดเผยให้เราเห็น
เพราะนอกจากความเสียใจไม่อาจทำให้คนที่ตายฟื้นกลับคืนมาได้ ทุนนิยมได้ริดรอนสิทธิ์ในการร้องไห้ของเรา ด้วยภาระหนี้สิน พร้อมเสนอแพ็กเกจการจัดการงานศพ ที่หากไม่มีเงิน สิ่งที่จะได้กลับบ้านไปมีเพียงเถ้าธุลีของร่างกายผู้จากไปเท่านั้น ไม่มีการแสดงความเสียใจ หรือถ้าอยากได้ ก็ต้องแลกมาด้วยเงินเช่นกัน
นักมานุษยวิทยาชาวฝรั่งเศส Didier Fassin ตั้งข้อสังเกตว่า “การมีสุขภาพดี” สัมพันธ์กับเรื่องสิทธิและนำไปสู่การแสวงหา “ความชอบธรรมของการมีชีวิต” (Biolegitimacy) ในขณะที่นักมานุษยวิทยาชาวบราซิล Sônia WeidnerMaluf มองว่าความชอบธรรมของการมีชีวิตกำลังกลายเป็นเครื่องมือที่รัฐนำไปสร้างนโยบายสังคม และคนกลุ่มต่าง ๆ ก็นำไปเป็นแนวคิดสำหรับเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียม
ดังนั้น การมี“สุขภาพดี” กับ “สิทธิของการมีชีวิต” จึงถูกมัดรวมเข้าไว้ด้วยกัน
ภายในเรื่องมีการพยายามชี้ให้เห็นถึงการเข้ารักษาพยาบาลในหลายรูปแบบ ทั้งอาการเจ็บป่วยและการเสริมแต่งร่างกาย และเป็นจุดที่ชี้ชัดว่าจำนวนเงินที่มากกว่าย่อมเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดีกว่าเช่นกัน ทั้งโรงพยาบาล ประกันสุขภาพ สิ่งเหล่านี้คือการดิ้นรนด้วยตัวเอง รวมไปถึงมีหมอเถื่อนอย่าง Dr.Doc ที่รักษาในราคาที่ต่ำกว่าแต่แลกมาซึ่งความเสี่ยงต่าง ๆ มากมาย
เมือง Night City คงกล่าวถึงชีวิตที่ดีได้ยาก ในเมื่อการเข้าถึงสุขภาพที่ดี ซึ่งยึดโยงกับคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ได้เกิดขึ้นกับประชาชนส่วนมากเลย
เนื้อเรื่องดำเนินไปอย่างเรียบเฉยเช่นนั้น ซึ่งจุดนี้เองเป็นส่วนที่ทำให้ผู้เขียนตระหนักถึงความโหดร้ายของโลกทุนนิยมสุดขีด ที่ไร้ซึ่งรัฐสวัสดิการ เมื่อตกอยู่ในความจำเป็นที่ต้องใช้สวัสดิการจากรัฐ ความเสียใจจึงกลายเป็นความโกรธแค้นที่เดวิด อยากจะขึ้นไปบนชั้นสูงสุดของอาราซากะทาวเวอร์อย่างที่แม่เขาหวังไว้
เพราะนั่นอาจเป็นทางเดียว ที่การจากไปของคนที่รักไม่ต้องเงียบถึงเพียงนี้
ระยะทางจากโลกไปดวงจันทร์ ยังสั้นกว่าการไปถึงรัฐสวัสดิการ
ในโลกที่วิทยาศาสตร์นำพาให้เทคโนโลยีพัฒนาไปถึงขีดสุด แต่ความเป็นมนุษย์กลับลดลง โลก Cyberpunk ที่มักจะฉายการด้อยค่ามนุษย์ ในทิศทางกลับกัน ตัวละครหลักมักจะชูให้เห็นความเป็นมนุษย์ เปรียบเสมือนทางออกจากโลก Dystopia ที่เป็นอยู่
ในเมือง Night City การเอาชีวิตรอดในแต่ละวัน เพียงแค่ร่างกายที่เป็นกายเนื้อแต่ดั้งเดิมไม่เพียงพอ การพัฒนาตัวเองและร่างกายให้แข็งแรง จำเป็นจะต้องตัดแต่งและเอาอุปกรณ์ Cyber เข้าไปเสริมในร่างกาย ซึ่งในเนื้อเรื่องเองก็ชี้ให้เราเห็นว่า การเสริมร่างกายด้วยอุปกรณ์ Cyber นั้น มีผลพวงเป็นหลักจากความต้องการในความแข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็นสาขาอาชีพใดก็ตาม
แน่นอนว่า การเสริมความแข็งแกร่งด้วยอุปกรณ์ Cyber ย่อมตามมาซึ่งอาการวิกลจริต Cyber ที่คน ๆ นั้นจะไม่เสียสติไป
ยิ่งเป็นการย้ำเตือนว่า การเป็นมนุษย์ที่แข็งแกร่งท่ามกลางสภาพภูมิอากาศที่ดุดันของทุนนิยมให้รอด มนุษย์ยิ่งจะต้องหนีห่างความเป็นมนุษย์มากขึ้น และมันทำให้ตัวตนของใครสักคนกลายเป็นสิ่งล้ำค่าที่เหล่าตัวละครหลักใฝ่หา
ตั้งแต่ต้นเรื่องเราจะเห็นว่าลูซี่มีความฝัน ความฝันของเธอนั้นเรียบง่ายแต่ในขณะเดียวกันก็ดูยิ่งใหญ่ ความฝันของเธอคือการออกไปจากเมือง Night City และปลายทางที่เธออยากไปคือดวงจันทร์
ดวงจันทร์ในความหมายของเนื้อเรื่อง ไม่ได้เป็นเพียงแต่ดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง แต่การที่ Lucy ต้องการไปดวงจันทร์นั้น เป็นเพราะเธอต้องการไปจากโลกที่แสนโหดร้ายใบนี้ อีกทั้งมันยังให้ความรู้สึกของความห่างไกล แม้มองเห็นอยู่เสมอ แต่ไม่มีวันไปถึง
จากการศึกษาจนถึงการเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาล มันทำให้เห็นความเหลื่อมล้ำของสังคมอย่างชัดเจน ภายใต้โลกเสรีนิยมที่การพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว แต่กลับทิ้งใครไว้ข้างหลัง แน่นอนว่าโลกเสรีนิยมนั้นมีด้านดี อย่างเช่น เกิดการแข่งขันและพัฒนาวิทยาการต่าง ๆ ไปไกล แต่เราก็ต้องกลับมาถามตัวเองอีกครั้ง ว่ายังมีลูซี่อีกกี่คน ที่ได้แต่เฝ้ามองดวงจันทร์และภาวนาว่า ขอให้ไปถึงในสักวัน
ในโลกมุมกลับ ถึงแม้ภาพจำของโลก Cyberpunk จะมีจุดขายที่เด่นชัดอย่างแสงสีนีออนในเมืองใหญ่ แต่หากมองในแว่นของรัฐสวัสดิการ ก็น่าคิดต่อว่า จะดีกว่าไหม ในโลกที่รุดหน้าไปไกล ทุกคนสามารถแบ่งปันเทคโนโลยีที่มีในมืออย่างเท่าเทียม หรือแท้จริงแล้วโลกที่เราวาดฝันไว้ จำเป็นต้องตะกุยผ่านร่างไร้ลมหายใจของใครหลายคน ถึงจะเป็นไปได้เท่านั้น
‘Cyberpunk ไม่ใช่โลกทัศน์ แต่มันเป็นคำเตือน’ Mike Pondsmith ผู้สร้างซีรีส์ Cyberpunk 2020 (และเป็นโปรดิวเซอร์ร่วมของ Cyberpunk 2077) กล่าว ‘มันเป็นคำเตือนถึงโลกในทางร้าย และมันไม่ได้น่าสนุกเมื่อคุณสร้างโลกอนาคตอันโสมม เพื่อที่จะมองออกไปนอกหน้าต่างแล้วพบว่า โลกปัจจุบันกำลังเดินหน้าไปในหนทางนั้น’
เฉกเช่นกับ ดวงจันทร์ที่ลูซี่ไปถึง ไม่เหมือนกับที่เธอและ David เคยไปมาในโลก Visual ที่นั่นเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ที่คนมีเงินมาเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจกันเป็นว่าเล่น สำหรับเธอคือความฝันทั้งชีวิต แต่สำหรับคนเหล่านั้นคือการฆ่าเวลา
แต่ก็พิสูจน์ได้อย่างหนึ่งว่า ไม่ว่าใครก็สามารถไปถึงดวงจันทร์ได้ทั้งนั้น
รวมถึงรัฐสวัสดิการที่จะเกิดขึ้นในโลกความจริง ที่ดูยังห่างไกลจากเราก็ตาม