ด้วยรักและความตายของไรเดอร์สูงวัย ในวันที่ไม่มี 'อำนาจ' - Decode
Reading Time: 3 minutes

เราอยากทำงานถึงอายุเท่าไหร่?
วางแผนการเงินหลังเกษียณอย่างไร?
ต้องมีกรมธรรม์ประกันชีวิตกี่ฉบับถึงจะดี?

การวางแผนที่คนชั้นกลางขึ้นไปเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาในชีวิต กลับเป็นสิ่งเกินเอื้อมสำหรับชนชั้นแรงงานที่ลำพังเรื่องปากท้องยังชักหน้าไม่ถึงหลัง ยิ่งปัจจุบันหลากหลายบริษัทแพลตฟอร์มด้านการรับ-ส่ง อาหารและพัสดุที่กำลังเติบโต มีการเปิดรับแรงงานอิสระโดยไม่จำกัดเพศและวัย ยิ่งดึงดูดแรงงานสูงวัยที่ยังต้องดิ้นรนหาเงิน ทั้งที่ภายใต้กฎหมายแรงงานในปัจจุบัน  แรงงานอิสระ = แบกรับความเสี่ยงสูง คนหนุ่มสาวมีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุและการเสียชีวิตมากเท่าใด คนสูงวัยยิ่งวางเดิมพันสูงกว่าหลายเท่า

เช่นเดียวกับเรื่องราวของ อำนาจ จิรปิยธรรม ชายวัย 58 ปี ไรเดอร์ของ Grab บริษัทแพลตฟอร์มรับ-ส่งอาหาร เขาทำงานอย่างทุ่มเทมาตลอด 3 ปี และอาจทำต่อไปจนถึงวัย 60 หรือมากกว่านั้น เหมือนคนสูงวัยส่วนใหญ่ที่ขาดหลักประกันด้านรายได้ในประเทศนี้ หากเขาไม่เสียชีวิตลงเสียก่อนในเดือนตุลาคม 2565 เพราะเส้นเลือดในสมองแตกระหว่างทำงาน กรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุวงเงิน 200,000 บาท ในกรณีเสียชีวิตที่เขาทำไว้กับบริษัทแพลตฟอร์ม ไม่คุ้มครองในกรณีปัญหาสุขภาพ และสถานะแรงงานอิสระทำให้เขาไม่ได้รับเงินช่วยเหลือจากนายจ้างจำนวน 50,000 ตามกฎหมายแรงงาน พ.ศ.2564 ล่าสุดแกร็บประเทศไทยให้ข้อมูลว่าจะให้เงินช่วยเหลือในกรณีเสียชีวิตจากบริษัทจำนวน 10,000 บาท ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการอนุมัติ

คู่ชีวิตของอำนาจได้ถ่ายทอดถึงความตายของเขา หวังว่าเรื่องราวความสูญเสียครั้งนี้จะสะเทือนไปถึงระดับนโยบายและแนวทางการต่อสู้ของขบวนการแรงงาน เพื่อทบทวนปัญหาต่าง ๆ ในการจ้างงานรูปแบบใหม่ที่อยู่นอกความคุ้มครองของกฎหมาย โดยเฉพาะแรงงานสูงวัยที่ต้องผจญกับความเสี่ยงในการทำงานหนักไปจนตาย

งานหนักไม่เคยฆ่าใคร?

“วันนั้นเค้าบอกว่า “แม่หุงข้าวไว้นะ เดี๋ยวป๊ากลับมา จะไปวิ่งงานซักสองสามเที่ยว” คือมันจะมีสิ่งที่หว่านล้อมอยู่ในระบบ แกห่วงว่าถ้าไม่ออกไปวิ่งส่งของ เงินในเครดิตจะไม่มี แต่ละวันแกเริ่มวิ่งตั้งแต่หกโมงเช้าจนถึงสี่ทุ่ม ทำงานหนักแบบนี้มาตลอด แล้วระยะหลังดึกกว่านั้น มักจะบอกว่า “วิ่งอีกสองสามรอบ เอาระดับ” ดังนั้นสามีพี่ต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยระดับให้คงที่ในตำแหน่งของเค้า อยากรู้เหมือนกันว่าคุณลดค่านั่นค่านี่ทำไม หรือจ่ายงานซ้อน ๆ ไกลมากทำไม สิ่งนี้ทำให้ค่าใช้จ่ายมากขึ้น แต่รายรับน้อยกว่าเดิม ค่าสึกหรอของรถที่ต้องวิ่งไกลขึ้น เหมือนจุดที่รับงานอยู่ตรงนี้ แล้วข้ามไปอีกโซน คุณต้องคิดสิว่าเขาต้องทำรอบ ทำเวลา ถ้าทำไม่ได้ความเสียหายมันอยู่ที่เขา” 

หน่อย ภรรยาวัย 46 ปี ของอำนาจเล่าถึงวันสุดท้ายในชีวิตของสามี รวมถึงข้อสันนิษฐานของเธอต่อสาเหตุของการทำงานหนักจนเกินกำลังของเขา นั่นคือเงื่อนไขต่าง ๆ ที่กดดันให้ไรเดอร์ต้องทำงานหนักมากกว่าเดิม เพราะจากข้อมูลในการชุมนุมเรียกร้องของกลุ่มไรเดอร์ในจังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2565 ซึ่งพี่อำนาจได้เข้าร่วมด้วยมีการยื่นข้อเรียกร้องถึงรมว.แรงงาน เพื่อหาแนวทางเจรจาระหว่างไรเดอร์และบริษัทแพลตฟอร์ม เพื่อให้พิจารณาแก้ไขค่ารอบที่ลดลง(จาก 28 บาท เป็น 27-24 บาท) รวมทั้งค่าโบนัสที่ลดลงจากที่เคยให้ไรเดอร์ในกรณีรับงานได้ตามกำหนดของบริษัท ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ไรเดอร์ยิ่งต้องดิ้นรนทำงานในระยะเวลาที่ยาวนานขึ้นเพื่อคงระดับเครดิตและรายได้ให้เท่าเดิม คนหนุ่มอาจทานทนได้ แต่สำหรับชายวัย 58 กลับเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

อำนาจเริ่มรู้สึกหน้ามืดหลังจากรับออเดอร์สุดท้าย เขาคิดว่าไม่เป็นอะไรจึงวกมอเตอร์ไซค์กลับมาบ้าน รถยังสตาร์ทเครื่องรอไว้ขณะที่เขาแวะเข้ามาควานหายาดม หวังจะฟื้นฟูกำลังก่อนออกไปทำงานเที่ยวสุดท้าย แต่แล้วเขาวูบหมดสติไปโดยไม่ทันร่ำลาสั่งเสียใด ๆ กับครอบครัว หน่อยรีบโทรแจ้งหน่วยฉุกเฉินเพื่อนำตัวสามีส่งโรงพยาบาล แม้จะได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีแต่ไม่สามารถรั้งชีวิตของอำนาจไว้ได้ เขาไม่ได้กลับมากินข้าวกับลูกเมียอีกเลยหลังจากวันนั้น

“ช่วยอะไรไม่ทันแล้ว เพราะเส้นเลือดแตกเส้นกลาง เลือดไม่ได้เลี้ยงสมองเกิน 5 นาที คือไม่มีสัญญาณก่อนหน้านั้นเลย ไม่มีปวดหัวหรืออะไรเลย ตอนนั้นช็อกมาก ใครถามอะไรไม่รู้เรื่อง งานศพ 5 วัน หลังจากนั้นเราพูดอยู่คำเดียวว่า ‘ทำไมถึงปล่อยให้รอกินข้าว’ ”

สถานการณ์ล่าสุดของครอบครัวเล็ก ๆ ที่เพิ่งสูญเสียเสาหลักไปอย่างกะทันหันยังน่าเป็นห่วง หน่อยที่ทำงานกึ่งอิสระยังไม่มีความมั่นคงในอาชีพ ลูกชายคนเล็กเพิ่งจะ 15 ส่วนคนโตวัย 27 ทำงานอยู่ในกรุงเทพ ความย้อนแย้งคือแม้แต่งานของลูกชายคนโตก็คือไรเดอร์ของบริษัทแพลตฟอร์มที่เดียวกับพ่อ รายได้เพียงเดือนชนเดือนของเขาถูกส่งมาจุนเจือครอบครัวในสภาวการณ์อันยากลำบาก

“ทางไรเดอร์ชลบุรีระดมทุนช่วยเหลือผู้เสียชีวิต เราช่วยเพราะสามีภรรยาคู่นี้ค่อนข้างมีอายุแล้ว พี่อำนาจก็ห้าสิบกว่าแล้ว ซึ่งทางบริษัทมักจะเน้นประเด็นนี้ว่าคนสูงอายุมาทำงานเป็นไรเดอร์ได้ ซึ่งผมว่ามันเสี่ยง ถ้าเค้าจะมีโฆษณาแนวนี้ออกมา บอกว่าเกษียณแล้วออกมาทำงานนี้ได้ แต่คุณไม่มีอะไรรองรับให้พวกเขาเลย”

อนุกูล ราชกุณา แอดมินเพจสหภาพไรเดอร์เน้นถึงประเด็นที่คาใจ ต่อสิ่งที่บริษัทแพลตฟอร์มมีโครงการเปิดโอกาสในการทำงานให้กับไรเดอร์สูงวัย แต่ยังไม่มีรายละเอียดในส่วนของการคุ้มครองด้านสุขภาพที่เหมาะสมกับบริบทของผู้สูงวัย หลังจาก “น้าอำนาจ” ของน้อง ๆ ไรเดอร์เสียชีวิต อนุกูลและกลุ่มสหภาพไรเดอร์ชลบุรีได้มีการเดินทางไปยื่นข้อเรียกร้องต่อกรรมาธิการแรงงานที่รัฐสภา โดยมีสองประเด็นหลัก หนึ่งคือการได้รับค่าตอบแทนที่น้อยลง และการขาดหายของรายได้ที่เคยได้รับ ส่วนประเด็นที่สองคือการเสียชีวิตของอำนาจ ที่ยังไม่ได้รับการเยียวยาเท่าที่ควร ทั้งสองข้อเรียกร้องมีทั้งภาครัฐและตัวแทนบริษัทแพลตฟอร์มเข้าร่วมรับฟัง แต่จนกระทั่งปลายเดือนธันวาคม 2565 ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน

ล่าสุดผู้สื่อข่าว De/code จึงได้สอบถามความคืบหน้าในการช่วยเหลือพี่อำนาจ และนโยบายอื่น ๆ ที่คุ้มครองชีวิตของไรเดอร์สูงวัย ให้สอดคล้องกับปัญหาสุขภาพของประชากรกลุ่มนี้ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของแกร็บ ประเทศไทย ได้ชี้แจงในประเด็นแรกคือการให้ความช่วยเหลือครอบครัวของไรเดอร์ที่เสียชีวิต

“นโยบายในการให้ความช่วยเหลือครอบครัวของพาร์ตเนอร์ที่เกิดเหตุเสียชีวิตระหว่างการทำงาน ด้วยการจัดสรรงบประมาณเป็นเงินจำนวน 5,000 – 10,000 บาท ให้กับครอบครัวของพาร์ตเนอร์ (ตามเงื่อนไขที่กำหนด) ซึ่งในกรณีของพาร์ตเนอร์คนขับแกร็บในจังหวัดชลบุรีที่ได้เสียชีวิตจากปัญหาด้านสุขภาพระหว่างการให้บริการ เนื่องจากประกันอุบัติเหตุไม่ครอบคลุมค่าชดเชยในส่วนนี้ ทางบริษัทฯ จึงได้มีการอนุมัติเงินจำนวน 10,000 บาทเพื่อเป็นการช่วยเหลือให้กับครอบครัว ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการอนุมัติภายในเพื่อทำการส่งมอบเงินให้กับครอบครัวพาร์ตเนอร์ผู้เสียชีวิตต่อไป”

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามถึงกรณีที่ Grab มีโครงการเชิงสังคมที่เป็นลักษณะของการสร้างงาน การประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้คนทุกเพศทุกวัย(หมายรวมถึงผู้สูงวัย) ให้เข้าร่วมเป็นพาร์ตเนอร์ของบริษัท เช่น โครงการ “แกร็บวัยเก๋า” แน่นอนว่าคนในวัยนี้ย่อมมีความเสื่อมทางสุขภาพ และอาจมีความเสี่ยงที่จะประสบเหตุเช่นเดียวกับอำนาจ ในส่วนนี้ทางบริษัทมีมาตรการเพื่อป้องกันหรือช่วยเหลือเยียวยาอย่างไร นอกจากการทำประกันแล้ว ยังมีงบประมาณหรือความช่วยเหลือในรูปแบบอื่นหรือไม่ ได้รับข้อมูลจากบริษัทดังนี้

“สำหรับการให้ความช่วยเหลือพิเศษแก่พาร์ตเนอร์ผู้สูงอายุนั้น นอกเหนือจากสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ อาทิ ประกันอุบัติเหตุ บริการสินเชื่อแบบผ่อนชำระรายวัน ส่วนลดจากร้านค้าพันธมิตรแล้ว แกร็บยังได้ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพให้กับพาร์ตเนอร์คนขับผ่านการอบรมออนไลน์ภายใต้โครงการ GrabAcademy ทั้งยังได้จัดทีมงานคอยให้ความช่วยเหลือผ่านทางศูนย์ช่วยเหลือในแอป Grab Driver หรือทางโทรศัพท์ (Call Center) ที่พาร์ตเนอร์สามารถติดต่อเพื่อขอความช่วยเหลือพิเศษต่าง ๆ ได้”

จากข้อมูลที่ได้รับจึงเห็นได้ว่าในกรณีของปัญหาสุขภาพของไรเดอร์ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานสูงวัยนั้น อยู่นอกขอบเขตความคุ้มครองในระบบประกันอุบัติเหตุของบริษัท และยังไม่มีนโยบายที่รองรับต่อปัญหานี้โดยตรง ส่วนเงินช่วยเหลือในกรณีเสียชีวิต 5,000 – 10,000 บาท ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะคุ้มครองทุกกรณีหรือไม่ เพราะได้มีวงเล็บว่าขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของบริษัท นอกจากนั้นระยะเวลาในการดำเนินการอนุมัติเงินเพื่อช่วยเหลือครอบครัวของพี่อำนาจ ยังไม่ได้มีการระบุช่วงเวลาที่ชัดเจน

กระทุ้งรัฐปกป้อง ‘คนงาน’

กว่าสิบปีที่ผ่านมาของรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแพลตฟอร์มกับไรเดอร์ ได้ฉีกกระชากภาพฝันของคำว่า “แรงงานอิสระ” หรือแนวคิดแบบ “ฟรีแลนซ์ที่เป็นนายตัวเอง” ยืนยันได้จากเสียงสะท้อนถึงปัญหาในการทำงานจากกลุ่มไรเดอร์ที่ทำงานให้กับหลากหลายแพลตฟอร์มรับ-ส่ง อาหารและพัสดุ พวกเขามีการรวมตัวกันออกมาเคลื่อนไหวให้มีการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง เพราะเงื่อนไขต่าง ๆ ที่เป็นตัวกำหนดการทำงานและรายได้ของไรเดอร์ ขึ้นตรงกับข้อบังคับต่าง ๆ ของบริษัทโดยตรง ตั้งแต่ยูนิฟอร์มไปจนถึงระบบประเมินคะแนน และเงินจูงใจ (Incentive) หากไรเดอร์ทำรอบได้ตามที่บริษัทกำหนด

นิยามของคำว่าอิสระ จึงถูกตั้งคำถามจากคนงานตั้งแต่ค่ารอบถูกลดลง ทำให้ต้องวิ่งงานเพิ่มขึ้นจากเดิมเกือบเท่าตัวเพื่อให้มีรายได้เท่าเดิม หรือเงื่อนไขของงานคู่ (Batch) ที่ทำให้ไรเดอร์ต้องรับออเดอร์ซ้อนมากกว่าหนึ่งงาน งานแบชยังอาจถ่วงเวลาทำให้ไปส่งล่าช้าและไรเดอร์ถูกตำหนิจากลูกค้า ได้คะแนนต่ำจนบางครั้งถึงกับถูกปิดระบบ รวมไปถึงการจองรอบและจองพื้นที่ในการทำงานเป็นกะ ที่ทำให้ทางเลือกในการทำงานแทบจะไม่เคยเกิดขึ้นจริง รวมทั้งประเด็นล่าสุดที่เกิดขึ้นในบทความนี้ คือ “โอกาส” ที่บริษัทหยิบยื่นให้แรงงานสูงวัย โดยยังไม่มีนโยบายใด ๆ รองรับต่อปัญหาสุขภาพของคนวัยนี้

“วันนี้สังคมขยับไปมากแล้ว มีความสัมพันธ์ในการจ้างงานที่เปลี่ยนไป ถ้าสังคมเรามีวุฒิภาวะมากขึ้น จะเห็นว่ามีความสัมพันธ์ในการจ้างงานนั้นมีอยู่จริงระหว่างไรเดอร์กับแพลตฟอร์ม เราต้องปักหมุดตรงนี้เพื่อจะเดินหน้าต่อว่าจะคุ้มครองคนงานอย่างไร ความรับผิดชอบของบริษัทแพลตฟอร์มที่จะมีต่อคนเหล่านี้ในการทำงานควรอยู่ในระดับไหน ต้องมีความชัดเจน ผมคิดว่าแนวทาง Directive ของ EU เป็นแนวทางที่น่าสนใจ เพราะเป็นข้อเสนอทางการเมืองของหลายประเทศมาก มีการศึกษามาดีแล้ว และเน้นในเรื่องสิทธิของแรงงานแพลตฟอร์ม”

ดร.เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร ผู้อำนวยการสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ในการจ้างงาน (Employment relationship) ระหว่างบริษัทแพลตฟอร์มและคนงานที่พวกเขาเรียกว่า “พาร์ตเนอร์” และแนวทางการแก้ปัญหาในเชิงนโยบาย โดยยกตัวอย่างที่น่าสนใจ จากข้อกำหนดของรัฐสภายุโรปและสภาสหภาพยุโรป (Directive of the European Parliament and of the Council) ในการปรับปรุงเงื่อนไขของการทำงานแพลตฟอร์ม

หากยึดตามแนวทางนี้ จะสามารถหา “ความรับผิดชอบร่วม” ได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะสถานภาพของนายจ้างและการจ้างงาน โดย Directive ของ EU ได้กำหนดรายการเช็คลิสต์อย่างละเอียด เพื่อประเมินว่าบริษัทแพลตฟอร์มเข้าข่ายนายจ้างหรือไม่ หากตรงกับรายการเหล่านั้นอย่างน้อย 2 ข้อ ย่อมมีสถานภาพเป็นนายจ้างโดยปริยาย โดยมีรายการของหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ดังนี้

· แพลตฟอร์มนั้น เป็นผู้กำหนดระดับค่าตอบแทนหรือกำหนดขอบเขตสูงสุดของค่าตอบแทน

· แพลตฟอร์มนั้น กำกับดูแลการปฏิบัติงานโดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์

· แพลตฟอร์มนั้น จำกัดเสรีภาพในการเลือกชั่วโมงทำงานหรือช่วงเวลาที่ขาดงาน จำกัดการยอมรับหรือปฏิเสธงานหรือการใช้ผู้รับเหมาช่วงหรือตัวแทน

· แพลตฟอร์มนั้น มีการกำหนดข้อผูกมัดเฉพาะเกี่ยวกับรูปลักษณ์ การปฏิบัติต่อผู้รับบริการหรือการปฏิบัติงาน

· แพลตฟอร์มนั้น มีการจำกัดความเป็นไปได้ในการสร้างฐานลูกค้าหรือทำงานให้กับบุคคลที่สาม

หากบริษัทแพลตฟอร์มนั้น ๆ มีรูปแบบความสัมพันธ์แบบนายจ้างลูกจ้างเข้าตามหลักเกณฑ์อย่างต่ำ 2 ข้อ ตามข้อกำหนดของรัฐสภายุโรปและสภาสหภาพยุโรป ย่อมถือว่าคนงานที่ทำงานให้บริษัทแพลตฟอร์มนั้นอยู่ในสถานะ “ลูกจ้าง” และต้องได้รับสิทธิของแรงงานและสวัสดิการสังคมโดยสมบูรณ์ ต้องได้รับความคุ้มครองทั้งค่าแรงขั้นต่ำ สามารถเจรจาต่อรองกับนายจ้าง มีระยะเวลาการทำงานที่ชัดเจนและได้รับความคุ้มครองด้านสุขภาพ ได้รับค่าจ้างที่คุ้มครองในช่วงลางาน เข้าถึงการป้องกันอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงาน มีสวัสดิการในกรณีว่างงานและเจ็บป่วย รวมทั้งสิทธิในเงินบำนาญชราภาพแบบสมทบ

“ประเด็นใหญ่ที่สุดคือเรื่องความสัมพันธ์ในการจ้างงาน การมี Employment relationship ซึ่งไม่จำเป็นต้องกลับไปสู่นิยามของกฎหมายเก่า หรือความสัมพันธ์ของนายจ้างลูกจ้างแบบหนึ่งต่อหนึ่งที่เคยเป็นมา ไรเดอร์หนึ่งคนอาจจะต่อแพลตฟอร์มหลายที่ได้ ถ้าเราใช้สถานการณ์ปัจจุบันมาปรับกรอบกฎหมาย หรือกฎระเบียบต่าง ๆ ให้เท่าทันกับสิ่งที่เกิดขึ้น ถ้าทัศนคติของคนที่บังคับใช้กฎหมายเป็นแบบนี้  ผมคิดว่ามีทางออกที่จะบังคับใช้กฎหมายให้คุ้มครองคนงานในข้อท้าทายใหม่ ๆได้”

ในประเทศที่ระบบสวัสดิการลักลั่น โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำที่สวัสดิการเข้าไม่ถึงชนชั้นแรงงาน กฎหมายที่ก้าวไม่ทันรูปแบบการจ้างงานที่พลิกโฉมไปอย่างสิ้นเชิง และไม่ครอบคลุมสิทธิของแรงงานนอกระบบ ความอ่อนแอของสหภาพแรงงานที่ไม่ต่อสู้เพื่อแรงงานทุกประเภท ความเปราะบางเหล่านึ้จึงทำให้การทำงานหาเงินจนตายเป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้กับเราทุกคน ไม่ใช่แค่ Gen X หรือ Boomer ที่กำลังเผชิญชะตากรรมนี้ แต่มันคืออนาคตของคนไทยทุกรุ่น รีบแก้ไขเสียตั้งแต่ตอนนี้ อย่าปล่อยให้ความตายของพี่อำนาจ กลายเป็นความตายที่ไร้อำนาจอยู่เช่นนี้

ข้อมูลอ้างอิง

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่กฎกระทรวง กำหนดอัตราค่าทำศพที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2564

แกร็บ จับมือ ดีป้า เปิดตัวโครงการ “แกร็บวัยเก๋า” , เว็บไซต์ Grab ประเทศไทย

“กลุ่มไรเดอร์” Grab รวมตัวร้องแก้ปัญหาปรับระบบทำงาน , thaipbs.or.th

ไรเดอร์ ‘Grab’ เมืองชลฯ รวมตัวยื่นหนังสือถึงภาครัฐ เป็นโซ่ข้อกลางเจรจากับบริษัท ปรับค่ารอบไม่แจ้งล่วงหน้า , prachatai.com       

EU rules on platform work , consilium.europa.eu