ห่วงโซ่กฎหมายที่เหนี่ยวรั้งสตาร์ทอัพไทย - Decode
Reading Time: 2 minutes

“กฎหมายเป็นสิ่งแวดล้อมอย่างหนึ่ง ถ้าสิ่งแวดล้อมดี สตาร์ทอัพก็จะโตตามไปด้วย แต่ถ้าสตาร์ทอัพดี แต่สิ่งแวดล้อมไม่เอื้อให้เกิดการเจริญเติบโต ก็จะโตมาได้ยาก สุดท้ายก็จะตายในที่สุด”

ผศ.ดร. ยุทธนา กล่าว

De/code พูดคุย ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ นายกสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย เกี่ยวกับปัญหาจากการทำสตาร์ทอัพในไทย โดยเฉพาะในมุมมองด้านกฎหมายสำหรับสตาร์ทอัพของไทย มีทั้งการป้องกันความเสี่ยงให้กับนักลงทุน การแก้กฎเกณฑ์บางอย่างที่มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก การทำงานกับภาครัฐที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ แต่ยังเป็นเพียงความร่วมมือส่วนน้อย

นอกจากนี้ยังมีประเด็นการเข้ามาของสตาร์ทอัพต่างประเทศ โดยเฉพาะในรูปแบบของ Super App ทำให้สตาร์ทอัพไทยหมดหนทางสู้แม้จะอยู่ในประเทศตัวเอง และประเด็นการลงทุนธุรกิจในแบบ Corporate Venture Capital ที่จุดประสงค์ไม่ใช่การพัฒนาวงการสตาร์ทอัพ แต่เป็นการพัฒนาอาณาจักรของบริษัทที่มีเครือข่ายธุรกิจขนาดใหญ่ ทำให้สตาร์ทอัพเติบโต แต่อาจยังไม่ยั่งยืน โดยวันนี้ผู้เขียนจะเริ่มจากการหยิบยกกฎหมายบางส่วนที่ยังเป็นห่วงโซ่ที่ผูกมัดให้สตาร์ทอัพไทยไม่โตเท่าที่ควร

ปกป้องนักลงทุน ธุรกิจสตาร์ทอัพเกิดจากการอยากแก้ปัญหาในสิ่งที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ดังนั้นความเสี่ยงในการลงทุนในกลุ่มธุรกิจประเภทสตาร์ทอัพก็มีความเสี่ยงเป็นอย่างมาก ทำให้ต้องมีการปกป้องความเสี่ยงบางส่วนให้กับนักลงทุน เช่น หุ้นกู้แปลงสภาพ เป็นตราสารหนี้ที่สามารถเปลี่ยนจากหุ้นกู้เป็นหุ้นสามัญได้ ทำให้สถานะของนักลงทุนจากการเป็นเจ้าหนี้เป็นเจ้าของ ส่งผลให้กำไรจากการปันผลหรือกำไรจากส่วนต่างราคาซื้อขาย

แต่ก็ต้องยอมรับความเสี่ยงที่มาก เพราะกำไรที่ได้จะได้จากหุ้นกู้มีความผันผวนน้อยกว่าหุ้นสามัญ ทำให้ธุรกิจสตาร์ทอัพถึงควรมีกฎหมายที่รองรับเกี่ยวกับการออกหุ้นกู้แปลงสภาพ เพื่อให้นักลงทุนรับความเสี่ยงที่น้อยลง และด้วยสาเหตุหลักของสตาร์ทอัพคือการไม่มีเงินทุนในการดำเนินธุรกิจต่อ ดังนั้นรัฐบาลจึงควรผลักดันกฎหมายและข้อบังคับดังกล่าว เพื่อให้นักลงทุนมั่นใจในการลงทุนกับสตาร์ทอัพมากขึ้น

ให้สิทธิ์ความเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทกับพนักงาน สตาร์ทอัพเป็นธุรกิจที่ต้องการคนที่ศักยภาพมาก ๆ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มักเกิดใหม่ แต่ถ้ารั้งไว้ด้วยเงิน บริษัทใหญ่ ๆ ก็คงมีเงินมากมายกว่าสตาร์ทอัพที่อยู่ในระยะเริ่มต้น ดังนั้นจึงมีสิ่งที่เรียกว่า ESOP (Employee Stock Option Program) เป็นการให้หุ้นกับพนักงานที่เป็น Key Employee หรือเป็นพนักงานที่บริษัทขาดไม่ได้

แต่ด้วยหลักเกณฑ์บางอย่างที่ทำให้เงื่อนไขในการให้หุ้นกับพนักงานยุ่งยาก เพราะการให้หุ้นกับพนักงานในรูปแบบ ESOP นั้นเป็นการที่บริษัทฝากหุ้นไว้กับกรรมการแล้วค่อยให้กับพนักงาน ทั้งที่หุ้นดังกล่าวเป็นการตกลงกันระหว่างบริษัทกับพนักงาน ทำให้เกิดปัญหาเมื่อเวลาที่กรรมการยังไม่ได้ให้หุ้นแก่พนักงาน ทำให้กรรมการสามารถใช้สิทธิ์ในการถือหุ้นของพนักงานในการโหวตหรือคัดค้านเรื่องของบริษัท ทำให้เมื่อถึงเวลาจริง ๆ จากที่กรรมการอาจมีสิทธิ์ไม่ได้มากกว่าคนอื่นในการโหวตหรือคัดค้าน แต่เมื่อมีหุ้นของพนักงานมาเพิ่ม ทำให้สิทธิ์ในการโหวตก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

สตาร์ทจากภาครัฐ

การเริ่มต้นผลักดันพัฒนาสตาร์ทอัพไทยให้พัฒนา ภาครัฐเป็นส่วนสำคัญมาก ๆ ดังนั้นหากต้องเริ่มจากภาครัฐ ผศ.ดร.ยุทธนา ได้ยกตัวอย่างในปัจจุบันภาครัฐมักจะจ้างบริษัทซอฟต์แวร์เฮาส์ในการทำแอปพลิเคชันตามที่ภาครัฐกำหนดจาก TOR หรือเอกสารที่กำหนดขอบเขตและรายละเอียดของงาน ทำให้สิ่งที่ภาครัฐให้บริษัทซอฟต์แวร์เฮาส์ก็จะเป็นมุมมองจากภาครัฐ ผลที่ออกมาก็อาจไม่ได้มาจากมุมมองของผู้บริโภค

แต่เมื่อเทียบกับสตาร์ทอัพที่เชี่ยวชาญในด้านนั้นอยู่แล้ว ทำให้บริบทของสตาร์ทอัพไม่ใช่แค่นายช่างที่รับคำสั่งจากภาครัฐ แต่เป็นคนที่แก้ปัญหาจากมุมของผู้บริโภค และภาครัฐอาจกำหนดขอบเขตงานใน TOR ในปีที่แล้ว แต่กว่าบริษัทซอฟต์แวร์เฮาส์ส่งมอบงานก็คงอีกหลายปี ทำให้ระบบอาจก็ไม่ได้ทันสมัยในปีนั้น

ทำให้หากภาครัฐหันมาร่วมมือกับสตาร์ทอัพแทน โดยอาจกำหนดโจทย์แค่ว่าต้องการแอปพลิเคชันแบบไหน แต่ส่วนเรื่องรายละเอียดหรือฟีเจอร์ต่าง ๆ ของแอปพลิเคชัน แล้วค่อยมาบอกอีกทีต่อส่งมอบงาน ทำให้สตาร์ทอัพสามารถเลือกทำระบบที่ทันสมัยที่สุด โดยไม่ต้องกังวลถึงขอบเขตงานที่กำหนดมากเกินไป ซึ่งอาจจะทำได้ในรูปแบบของการที่สตาร์ทอัพเป็นพาร์ตเนอร์กับภาครัฐ

สมมุติภาครัฐจัดโครงการหาสตาร์ทอัพที่เหมาะแต่ละหน่วยงาน หลังจากนั้นเมื่อได้มาแล้ว ภาครัฐอาจจะถอยหลังไปก้าวหนึ่งในการคุมกฎเกณฑ์หรือหลักเกณฑ์ของแอปพลิเคชัน และให้สตาร์ทอัพคอยดูแลระบบและพัฒนาระบบอยู่ตลอด ก็จะลดปัญหาการใช้งานและเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้งานแอปพลิเคชันของประชาชนได้

“ทางแอปพลิเคชัน iTAX เคยได้ร่วมมือกับกรมสรรพากร ทำให้แทนที่สรรพากรจะทำทุกเรื่องกับประชาชน สรรพากรสามารถถอยไปจัดระเบียบมาตรฐาน ส่วนเอกชนไปรับหน้าประชาชน โดยหาวิธีว่าคุณจะทำยังไงให้ตอบโจทย์ประชาชนมากที่สุด ผมว่าการที่เริ่มทำงานกับภาครัฐ เช่น การจับคู่กันเป็น 1 กระทรวง 1 สตาร์ทอัพ เป็นสิ่งที่ทำได้ตอนนี้เลย”

ภาษีที่ไม่เอื้อ นักลงทุน-สตาร์ทอัพ

ผศ.ดร.ยุทธนาตอบเราว่า “ผมรู้สึกเฉย ๆ แต่ถ้ามี BOI หรือมาตรการพิเศษยกเว้นภาษีให้อันนั้นก็โอเค เพราะปัจจุบันมีกฎหมายที่มันดันก่อนมา แล้วก็จบไปเรียบร้อยแล้ว คือ Capital Gain Tax 0% ถ้าสตาร์ทอัพที่ขึ้นทะเบียนกับทาง DEPA. NSTDA. หรือ NIA. และอยู่ในนวัตกรรมที่เขากำหนด ทำให้กฎหมายนี้เอื้อต่อการขายหุ้นออกไป และสามารถได้กำไรโดยไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งกฎหมายนี้ดำเนินเรื่องประมาณ 4 ปี ตอนนี้กฎหมายผ่านเรียบร้อยแล้ว เมื่อเทียบกับในอดีตถ้าขายหุ้น แล้วไม่ต้องเสียภาษี คือ รอไปเข้าตลาดหุ้น ซึ่งสตาร์ทอัพที่อาจไม่ไปถึงตรงนั้นได้ นักลงทุนเองเขาก็หาทางออกไม่ได้ อาจทำให้ขาดทุนได้ในภายหลัง การยกเว้นภาษีดังกล่าวจึงเอื้อประโยชน์ทั้งฝั่งนักลงทุนและสตาร์ทอัพ”

จากที่ ผศ.ดร.ยุทธนา ผู้เขียนจะอธิบายโดยสรุปจากพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 720) พ.ศ.2565 ประกาศใช้กฎหมายวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ.2565 มีการยกเว้นภาษี Capital Gain Tax 0% ทำให้มีการลงทุนจากนักลงทุนมากขึ้นในภาคอุตสาหกรรมที่รัฐกำหนด ส่งผลให้สตาร์ทอัพได้รับเงินลงทุนที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากนักลงทุนได้ผลประโยชน์ทางด้านภาษีจากการซื้อขายราคาส่วนต่างของหุ้น  ทำให้เงินลงทุนของนักลงทุนก็จะได้กำไรมากขึ้น เพราะไม่โดนหักภาษีตามนโยบายและเงื่อนไขที่กฎหมายดังกล่าวกำหนด

ปกป้องเอกราชและการผูกขาดจาก Super App

การผูกขาดไม่ว่าจะยุคไหนคงไม่หายไป แต่เราสามารถลดการผูกขาดด้วยกฎหมายได้ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันการผูกขาดจากต่างประเทศที่เข้ามาทำธุรกิจในไทย โดยเฉพาะแอปพลิเคชันที่เป็นลักษณะแบบ Super App ที่จะสามารถยึดครองตลาดท้องถิ่นได้ด้วยทรัพยากรของบริษัทใหญ่ ๆ ทำให้สตาร์ทอัพไทยอาจเติบโตได้ช้าจนทิ้งห่างจากต่างประเทศ จำเป็นต้องมีกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ควบคุมและการป้องกันการผูกขาดจากต่างประเทศด้วยอย่างไร

“เราคงปิดกั้นเรื่องบริการในไทยไม่ได้หรอก แต่สิ่งที่เราทำได้ คือ ให้สิทธิประโยชน์บางอย่างกับสตาร์ทอัพไทย ต่างชาติเข้ามาก็สู้กับเขาปกติ แต่ไม่ต้องไปเห่อมาก แต่ในทางกลับกันสตาร์ทอัพไทยควรได้รับการต้อนรับอย่างดี ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนที่ดี รวมถึงการให้สิทธิ์ประโยชน์สตาร์ทอัพไทยมากกว่าการที่เป็นสตาร์ทอัพต่างประเทศเข้ามา แต่ในความเป็นจริงมันกลับสลับกัน”

ผศ.ดร.ยุทธนาเปรียบเทียบสตาร์ทอัพต่างชาติเหมือนทีมเยือน ส่วนสตาร์ทอัพไทยเหมือนทีมเหย้า (เจ้าบ้าน) ซึ่งสิ่งที่เจ้าบ้านได้เปรียบ คือ เสียงเชียร์จากคนรอบข้างที่เป็นเจ้าบ้าน เหมือนกับสตาร์ทอัพไทยที่ได้รับการสนับสนุนจากภาคประชาชนในการไม่แปะป้ายว่าแอปพลิเคชันของไทยเทียบไม่ได้กับต่างชาติ

ทั้งที่แอปพลิเคชันของไทยอาจจะมีเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่ไม่เทียบเท่ากับต่างชาติ แต่การพัฒนาแอปพลิเคชันจากคนไทย ก็อาจตอบโจทย์คนไทยมากกว่าแอปพลิเคชันของต่างชาติ เพราะจุดแรกเริ่มเป็นการนำปัญหาจากคนไทยมาพัฒนา แต่ด้วยทัศนคติของคนไทยอาจแปะป้ายไม่ดีให้กับแอปพลิเคชันไทยก่อนใช้งาน นอกจากนี้ยังมีเรื่องการบังคับกฎหมายบางอย่างที่ปล่อยเบลอ สุดท้ายสตาร์ทอัพไทยก็ยากที่จะไปสู้กับสตาร์ทอัพของต่างชาติ

เติบโตและผูกขาด เงื่อนปมสตาร์ทอัพที่หายไป

“จะมีการลงทุนในอีกรูปแบบ คือ Corporate Venture Capital หรือเรียกง่าย ๆ ว่า การที่บริษัทใหญ่ ๆ ไปซื้อสตาร์ทอัพรายเล็กหรือรายใหญ่ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทที่เครือข่ายขนาดใหญ่ เช่น Facebookไปซื้อ Instargram เพราะถ้าปล่อยให้สตาร์ทอัพนี้เติบโตต่อไป สักวันหนึ่ง Facebook อาจตายได้ในอนาคต ทำให้ซื้อเข้ามาไว้ในเครือข่ายธุรกิจของตน เพื่อไม่ให้สตาร์ทอัพดังกล่าวมาแข่งขันกับตนในภายหลัง และเป็นการลงทุนเพื่อเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งทำให้บริษัทแม่ที่มีเครือข่ายธุรกิจขนาดใหญ่ ไม่ต้องผลิตนวัตกรรมใหม่ แต่ซื้อสตาร์ทอัพในธุรกิจที่สนใจไว้ เพื่อพัฒนาต่อไป ทำให้อาจจะคุ้มทุนมากกว่าสร้างนวัตกรรมใหม่เองทั้งหมด แต่ด้วยเหตุนี้ทำให้จุดประสงค์ที่บริษัทลูกจะเติบโต ก็ถูกส่งไปให้บริษัทแม่เติบโตแทน ทำให้บริษัทแม่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีสตาร์ทอัพเป็นแรงผลักดันเพียงเท่านั้น”

จากเรื่องความสัมพันธ์ของสตาร์ทอัพกับทุนใหญ่ในปัจจุบัน ทำให้จากที่สตาร์ทอัพที่เป็นผู้สร้างไอเดียเหล่านั้น หากไม่มีเงินทุนในการไปต่อ ก็ต้องจำยอมขายนวัตกรรมหรือไอเดียเหล่านั้นให้กับทุนใหญ่ โดยล้มล้างจุดประสงค์แรกเริ่มของสตาร์ทอัพหลายคนในการเป็นนายตัวเอง ให้กลับเข้าสู่วังวนของการเป็นลูกจ้าง ที่แม้จะอยู่ในสถานะของพันธมิตรทางธุรกิจ แต่ก็แฝงไว้ถึงความเป็นเจ้าขุนมูลนายของความสัมพันธ์ระหว่างสตาร์ทอัพและบริษัทแม่ที่มีเครือข่ายธุรกิจขนาดใหญ่

ซึ่งถ้าหากต้องการให้วงการสตาร์ทอัพไทยเติบโตอย่างยั่งยืนจึงควรจะมีโครงการในรูปแบบเป็นในรูปแบบที่จัดทำโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพที่ไม่หวังผลกำไร และมีการส่งต่อความสำเร็จจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง แต่ก็พบว่าหลายโครงการก็ไม่ได้ไปต่อ ทำให้การส่งต่อโอกาสในการประสบความสำเร็จของสตาร์ทอัพรุ่นน้องก็น้อยลงไปด้วย

“การระดมทุน แล้วเอาไปซื้อบริษัทสตาร์ทอัพ โดยมีจุดประสงค์เพื่อทำให้คู่แข่งตายไป ไม่ใช่วิธีที่ยั่งยืนสำหรับการผลักดันวงการสตาร์ทอัพไทย แต่ต้องเป็นการผลักดันสตาร์ทอัพให้เติบโตด้วยตนเอง โดยมีแรงสนับสนุนจากหลายภาคส่วนช่วยผลักดัน และสร้างสิ่งแวดล้อมด้านกฎหมายที่ดีสำหรับสตาร์ทอัพ วิธีนี้มากกว่าที่จะทำให้วงการสตาร์ทอัพไทยเติบโตอย่างยั่งยืน” รศ.ดร.ยุทธนา กล่าวทิ้งท้าย

อ้างอิงข้อมูลจาก 

Itax