ทำไมพวกนั้นถึงเอาภูติคนอื่นไป
มันเป็นเรื่องของการควบคุมจริงไหม? เพราะถ้าเธอถอดวิญญาณใครออกมาได้ เธอจะทำอะไรก็ได้
นี่คือบทสนทนาที่ติดตรึงในใจเรา เมื่อดูซีรีส์เรื่อง His Dark Materials (2019-2022) ซีรีส์ที่สร้างขึ้นมาจากวรรณกรรมเยาวชนไตรภาคแฟนตาซีที่มีชื่อไทยว่า ‘ธุลีปริศนา’ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยสร้างเป็นภาพยนตร์ฉายบนจอเงินมาแล้วในชื่อ The Golden Compass (2007) อภินิหารเข็มทิศทองคำ
พื้นที่ความทรงจำในวัยเด็กของเรา มีหนังเรื่องนี้เป็นหนึ่งในหนังเรื่องโปรดในใจ ความตื่นเต้นเมื่อได้เห็นการผจญภัยในดินแดนเหนือ ภูติประจำตัว หมีสวมเกราะ แม่มด และเมืองบนแสงออโรร่า ยังเด่นชัดจนถึงทุกวันนี้
หลายปีถัดมา เราตามหาหนังสือฉบับแปลไทยที่เฟ้นหามาอย่างยากเย็นแสนเข็ญ และเพลิดเพลินกับมันอีกครั้งเท่าที่เราในอายุเท่านั้นจะเข้าใจ แต่แล้วภาวะรู้สึกโหยหา อาลัยอาวรณ์อดีตก็พุ่งชนเราเข้าอย่างจัง เมื่อเราได้มีโอกาสหยิบหนังสือชุดนี้ขึ้นมาอีกครั้งเพื่อตกตะกอนใหม่ในวันที่เราเติบโตไปอีกขั้น
เมื่อนั้นก็ค้นพบว่า เรานั้นช่างไม่รู้อะไรเอาเสียเลย
โลกวัยเด็กไม่ได้พังทลาย แต่ก็ไม่น่าอยู่เหมือนก่อน
ไลร่า เด็กสาวกำพร้าแก่นทโมน ที่แท้จริงแล้วไม่ได้กำพร้าเลยสักนิด คือตัวละครหลักของหนังสือชุดนี้ ในโลกของไลร่า มนุษย์ทุกคนจะมีภูติประจำตัวเป็นสัตว์ต่าง ๆ ที่สะท้อนนิสัยและตัวตน คนและภูติต่างเชื่อมต่อกันในระดับจิตวิญญาณ เมื่อภูติเจ็บ คุณก็เจ็บ เมื่อภูติตาย คุณก็ตาย และมันก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่คุณจะห่างกับภูติเกินสามเมตร เพราะแรงดึงมหาศาลที่ผูกติดคุณด้วยกันไว้นั้นมากเกินกว่าจะรับไหว ทั้งคู่จะตกอยู่ในความเจ็บปวดของการแยกจากกัน แม้จะเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ ก็ตาม
การมีภูติดูเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นและน่าอัศจรรย์ใจในวัยเด็ก แต่เรื่องมันมีอยู่ว่า ในอีกแง่หนึ่งการมีภูติก็ราวกับเป็นการเผยตัวตนของคนคนหนึ่งให้โลกภายนอกรู้อย่างทะลุปรุโปร่ง จนบางทีก็อาจจะมากเกินไปเช่นกัน
แน่นอนว่าคุณคงจะไม่รู้สึกกลัวอะไรเท่าไรหากมีภูติเป็นสัตว์ที่น่าเกรงขาม อย่างหมาป่า ฮันนีแบดเจอร์ หรือเสือดาวหิมะ แต่ถ้าคุณมีภูติเป็นผีเสื้อขึ้นมาล่ะก็ ชีวิตก็คงจะลำบากมากทีเดียวเชียว เพราะคุณไม่จำเป็นต้องกลัวไปไกลถึงขั้นคนที่มีภูติเป็นหมาป่าหรอก
เพราะแค่แมวตัวเล็ก ๆ ก็สามารถตะปบภูติผีเสื้อของคุณได้ โดยแทบไม่ต้องพยายามอะไรมากเลยด้วยซ้ำ
และเมื่อนั้นคุณก็จะสลายไปพร้อมกับมันเสียแล้ว
อย่างไรก็ตามภูติของเด็กจะสามารถเปลี่ยนร่างไปได้เรื่อย ๆ จนกว่าเด็กคนนั้นจะเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น และนั่นคือจุดเจ็บปวดของหนังสือชุดนี้ เพราะนั่นคือวินาทีที่ฝุ่นธุลีเข้ามาเกาะตัวคุณ
No Absolute Truth
ต้องเกริ่นก่อนว่า เนื้อเรื่องของธุลีปริศนาวนเวียนอยู่กับการตั้งคำถามกับความเชื่อความศรัทธา และการออกผจญภัยเพื่อเฟ้นหาคำตอบ หลัง the Magisterium ผู้กุมอำนาจสูงสุดในโลกของไลร่า หรือที่มักแปลเป็นภาษาไทยว่า คณะปกครอง มีความพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะตัดภูติและเด็กออกจากกัน โดยอ้างว่าการตัดนั้นจะทำให้เด็กๆ หลุดพ้นจากบาปก่อนจะสายเกินไป
ซึ่งคำว่าคณะปกครองในที่นี้ อาจถือเป็นความพยายามเลี่ยงบาลีจากคำว่า ศาสนจักร หรือ สำนักสงฆ์ ที่ดูจะตรงตัวกว่า (แต่ก็มีแปลรวม ๆ อยู่บ้าง) ทั้งนี้ก็เพื่อลดแรงต้านหลังถูกเสียงวิจารณ์อย่างหนักว่าไม่เป็นวรรณกรรมและหนังครอบครัว เด็กดูได้ ผู้ใหญ่ก็ดูดีอย่างที่ควรจะเป็น เพราะมีแนวคิดที่เข้าข่ายยุยงให้คนเลิกเชื่อในพระเจ้า และบ่อนทำลายศาสนา (ในต่างประเทศก็เคยโดนแบนมาแล้วด้วย)
เมื่อเป็นเช่นนั้น การตีความฝุ่นธุลีภายในเรื่องจึงแตกต่างกันออกไปตามบริบทของผู้นิยาม
“บาป ความอับอาย และความตาย มันเกิดขึ้นทันทีที่ภูติของพวกเขามีรูปถาวร”
นี่คือสิ่งที่ลอร์ดแอสเรียล เบลัควา พ่อของไลร่า ผู้ไม่เชื่อในแนวคิดที่คณะปกครองพร่ำสอนมาเป็นพัน ๆ ปี อธิบายให้ลูกสาวของตัวเองฟัง
เพราะในมุมมองของคณะปกครอง ฝุ่นธุลีคือหลักฐานอันเป็นรูปธรรมของ บาปกำเนิด (Original sin) ซึ่งสอดคล้องตามหลักเทววิทยาศาสนาคริสต์ที่กล่าวว่า บาปของมนุษย์เป็นผลมาจากการตกบาปของอีฟที่กินแอปเปิลเข้าไป โดยอีฟในพระคัมภีร์ของไลร่าก็ไม่ต่างกันนัก เพียงแต่อีฟเองก็มีภูติ และมันก็สามารถเปลี่ยนร่างไปมาได้ไม่มีที่สิ้นสุดจนกระทั่งเธอกินแอปเปิลเข้าไป ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการรู้ผิดชอบชั่วดี และการพูดถึงฝุ่นธุลีก็ถือเป็นแนวคิดนอกรีต เพราะนั่นอาจหมายความว่าพระเจ้าได้สร้างสิ่งที่ไม่ดีขึ้นมา
ในขณะที่โลกของ วิล ตัวละครหลักอีกคนที่อาศัยอยู่ในโมเดิร์นเวิลด์ที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยี และความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์ อย่างเรา ๆ เรียกฝุ่นธุลี ว่า สสารมืด (Dark Matter) อนุภาคที่ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับสสารปกติหรือแสง ที่สามารถเชื่อได้ว่ามี แต่ต่อให้มีวิทยาการล้ำหน้าแค่ไหนก็ไม่เคยสัมผัสได้ มีความเชื่อว่าสสารนี้อาจทำปฏิกิริยาบางอย่างกับเอกภพ จนเกิดผลกระทบผีเสื้อ (Butterfly Effect) ต่อทุกสิ่งทุกอย่างตามมา
แต่สำหรับเราไม่ว่าจะบาปกำเนิดหรือสสารมืด ก็ยังรู้สึกไม่เข้าปากหากจะใช้มันนิยามฝุ่นธุลี และเราก็ดีใจที่ธุลีปริศนาไม่วางตำแหน่งให้มันเป็นปรมัตถสัจจะ หรือสร้างบรรยากาศแบ่งฟากขาว-ดำ แกมบังคับให้เราต้องเลือกนิยามใดนิยามหนึ่งที่กล่าวมา
ดังนั้น หากคุณได้มีโอกาสหยิบหนังสือชุดนี้ขึ้นมาอ่านจริง ๆ (หนึ่งเลยเราจะดีใจมาก) มันก็คงจะเป็นการดีหากได้ปล่อยใจว่าง ๆ แล้วลองพินิจพิจารณา และตีความมันด้วยตัวเอง เพราะสุดท้ายแล้วมันก็คงไม่มีคำตอบที่ถูกต้องเพียงหนึ่งเดียวหรอกจริงไหม
No Revolution
อีกประเด็นที่เด่นชัดในธุลีปริศนา คือ การนำเสนอโลกคู่ขนานระหว่างสังคมปิตาธิปไตย และสังคมที่มีความเท่าเทียม (มากกว่า) อย่างตรงไปตรงมา ผ่าน มิสซิสมาริสา โคลเตอร์ แม่ของไลร่า หนึ่งในสมาชิกของศาสนจักร ผู้มีบทบาทเป็นตัวตั้งตัวตีในการตัดภูติออกจากเด็ก ตัวละครโปรดของเรา
มิสซิสโคลเตอร์เป็นคนชาติตระกูลดี หน้าตาสะสวย ฉลาดหลักแหลม และทะเยอทะยาน และนั่นไม่ใช่สิ่งที่ควรค่าแก่การตบรางวัลหรือชื่นชมในโลกที่ยึดถือแนวคิดปิตาธิปไตยเข้มข้น เธอไต่เต้าเพื่อให้ตัวเองมีอำนาจทัดเทียมกับผู้มีอำนาจในระบอบชายเป็นใหญ่ และมันก็ทำให้เราในฐานะผู้อ่านรู้สึกปวดใจ เพราะเธอไม่ได้มีความสุขกับมันสักวินาที
“รู้ไหม ตอนฉันเป็นนักวิชาการกิตติมศักดิ์ ฉันได้คะแนนสูงสุดตอนสอบปลายภาค แต่เพราะว่าฉันเป็นผู้หญิง ศาสนจักรเลยไม่ยอมมอบปริญญาเอกให้ฉัน
“ฉันเขียนงานวิชาการมากมาย แต่พวกนั้นไม่ยอมให้ตีพิมพ์ เว้นแต่ฉันจะยอมให้ผู้ชายคนหนึ่งยึดมันเป็นงานตัวเอง”
มิสซิสโคลเตอร์พูดประโยคนี้ในซีรีส์ด้วยความขมขื่น เพราะนั่นเป็นเพียงหนึ่งในร้อยตัวอย่างการเลือกปฏิบัติที่เธอเจอ แต่ไม่เคยได้พูดออกมาดัง ๆ การกดทับที่สั่งสมนี้อาจไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่เมื่อคุณมีภูติขึ้นมา ผลลัพธ์จากระบบที่บิดเบี้ยวก็ไม่ได้เป็นความลับอีกต่อไป
ภูติของเธอไม่เคยพูด และเธอก็ไม่พูดกับมัน เธอไม่แสดงความรักใด ๆ ให้กับเจ้าลิงสีทองเหมือนที่คนอื่นทำกับภูติของตัวเอง ทั้งสองสามารถอยู่ห่างกันได้ ไม่ใช่เพราะเธอไม่เจ็บปวดรวดร้าว แต่เป็นความรู้สึกชินชา และตายด้านอยู่ภายใน เพราะใครเล่าจะเกลียดเธอเข้าไส้ได้มากกว่าตัวเธอเอง โดยสิ่งเดียวที่เธอได้รับการยอมรับอย่างไม่มีข้อกังขา คือ เธอเป็นหญิงมากเสน่ห์
ความพยายามเอาอกเอาใจ และการเกี้ยวพาราสีของผู้ชายรอบตัวเป็นหนึ่งในสิ่งที่เธอรังเกียจ เพราะนั่นเป็นเครื่องยืนยันว่า เธอถูกมองเป็นเพียงแค่รางวัลที่ชายมากหน้าหลายตาอยากจะครอบครอง ดังนั้นสิ่งที่เธอถูกคาดหวังให้ทำ คือ การยิ้มตอบและตามน้ำไป แม้จะต้องฟังไปจิกมือตัวเองไปก็ตาม เพราะเมื่อเธอแสดงท่าทีว่าไม่เล่นด้วยเมื่อไร เสน่ห์ที่เคยถูกมองว่าดี กลับกลายเป็นเล่ห์เหลี่ยมและมารยา
เธอจะถูกตีตราว่าเป็นผู้หญิงอันตรายแถมยังควบคุมยากในเสี้ยววิ
ภายนอกที่ดูเข้มแข็งตรงข้ามกับภายในที่แหลกสลายไม่เหลือชิ้นดี มิสซิสโคลเตอร์ไม่เคยสนใจใครนอกจากตัวเอง จนกระทั่งเจอกับลูกสาวที่พลัดพราก แต่มันก็ยิ่งเศร้าไปมากกว่านั้น เพราะความพยายามให้ได้มาซึ่งอำนาจของเธอกลับไม่ใช่การทำลายระบอบแนวคิดที่เป็นปัญหา หากแต่เฟ้นหาอภิสิทธิ์เหนือกว่ามากดขี่ผู้ชายที่เคยดูถูกเธออีกทอด
นิยามความเท่าเทียมที่แท้จริงไม่ได้เกิดขึ้นใหม่
ระบอบชายเป็นใหญ่ก็ยังคงลอยตัวต่อไป เพียงแต่เปลี่ยนผู้เล่นเท่านั้น
No Place to Judge
นอกจากแนวคิดปิตาเข้มข้นแล้ว ระบบอาวุโสเองก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นยอดฮิตที่มักจะเด่นชัดในหนังสือที่ดำเนินเรื่องโดยเด็ก ธุลีปริศนานำเสนอมุมมองการมองโลกของเด็กและผู้ใหญ่ ที่กลั่นออกมาเป็นบทสนาระหว่างตัวละครต่างวัยได้อย่างครบถ้วน ทั้งในแง่การกอดรัดแนวคิดเก่า ๆ สุดใจ และการข่มคนอายุน้อยด้วยวัยวุฒิตลอดเวลา
“นั่นแหละภาระของคนแก่ ต้องวิตกกังวลแทนเด็ก และเด็กมีหน้าที่ที่จะไม่สนใจความวิตกกังวลของคนแก่”
นี่เป็นหนึ่งประโยคที่ทำให้เราขำออกมา เพราะมันไม่ใช่เพียงการตัดพ้อชั่วคราวของตัวละครประกอบคนหนึ่งที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป แต่เพราะในขณะที่เหล่าตัวละครอายุน้อยถูกตีตราว่าไม่รู้ประสา และชอบทำอะไรบุ่มบ่ามโดยไม่นึกถึงคนรอบตัว คนที่เรียกตัวเองว่า ‘ผู้ใหญ่’ ในหนังสือชุดนี้ที่สามารถเรียกได้ว่า คุณภาพดี กลับมีเพียงหยิบมือเท่านั้น
เราได้เห็นการชิงดีชิงเด่นออกนอกหน้า
เราได้เห็นการแก่งแย่งอำนาจที่ข้ามหัว และคร่าชีวิต
เราได้เห็นบุคคลที่เรียกว่า ‘ผู้ใหญ่’ มากมายกระทำในสิ่งที่ตนพึงสอนคนรุ่นลูกหลานว่าไม่ควรทำ แถมยังไม่อาจเปิดใจรับฟังคำความคิดเห็นใด เป็นมนุษย์ประเภทไม้แก่ไม่มีวันดัดได้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
น่าเศร้าที่คนเหล่านี้ไม่ได้มีจำนวนมากแค่ในนิยายเสียด้วย
คุณค่าและความคิดของใครหลายคนถูกลดทอนไปเพราะวัยวุฒิ เป็นอำนาจที่จะน้อยกว่าตลอดไปและไม่มีวันเท่ากัน เป็นความรู้สึกอึดอัดที่แฝงตัวอย่างเด่นชัดบนหน้ากระดาษ เพราะจะให้ตายยังไงก็ไม่สามารถอายุมากกว่าคนที่ตัดสินพวกเขาได้อยู่ดี
เราจึงมองเห็นตัวเองเมื่อไลร่าภาวนา
ภาวนาว่า อย่าเป็นคนอย่างนั้นเมื่อยามเติบโต
สู่การตื่นรู้
เมื่อท้องฟ้าถูกผ่าออกเป็นประตูใหญ่ เมื่อนั้นโลกของไลร่าและวิลก็มาบรรจบกัน การผจญภัยเพื่อหาคำตอบว่าฝุ่นธุลีคืออะไร และทำไมคณะปกครองถึงได้กระเหี้ยนกระหือรืออยากจะตัดสายสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับภูติประจำตัวขนาดนั้น แม้ผลของการกระทำจะทำให้เด็กเหล่านั้นมีชีวิตต่อแบบ ตายทั้งเป็น จึงเริ่มต้นขึ้น
ในส่วนนี้ไม่มีคำอธิบายแน่ชัดว่าทำไมฝุ่นธุลีถึงจับแค่ผู้ใหญ่ เหมือนที่ไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้วฝุ่นธุลีในมุมมองของผู้เขียนหนังสือเล่มนี้คืออะไร แต่ที่แน่ ๆ คณะปกครองของไลร่าก็ได้ทึกทักว่าความรู้ใหม่นี้เป็นเรื่องนอกรีตไปเสียแล้ว และสำหรับเรา ถ้าผู้มีอำนาจบอกว่าสิ่งใดไม่ดี สิ่งนี้ไม่ควรทำ นั่นอาจแปลแบบหยาบ ๆ ได้เลยว่า สิ่งนั้นดี
และในแง่หนึ่งมันจึงหมายถึงการ ตื่นรู้ ได้เหมือนกัน
เพราะต่อให้เป็นคณะปกครอง ศาสนจักร ระบอบกษัตริย์ เผด็จการทหาร ฟาสซิสต์ หรืออะไรก็ตามแต่ ไม่ว่าผู้อำนาจจะมาในรูปแบบใด ก็ย่อมเฟื่องฟู และดำรงอยู่ได้ด้วยฐานที่ตั้งมั่นจากความเชื่อและศรัทธา สิ่งเหล่านั้นสามารถแปรเปลี่ยนเป็นเครื่องมือควบคุมผู้คนให้หันมารบราฆ่าฟันได้ในเสี้ยววิ ในขณะที่การตั้งคำถามแม้เสี้ยวเล็กก็อาจสร้างผลกระทบรุนแรงที่เขย่าฐานอำนาจไปทั้งโครงได้
มันเลยอาจไม่เกินจริงหากจะกล่าวว่า อำนาจเป็นสิ่งที่ทรงพลัง ทว่าแสนเปราะบาง และหากใช้เลนส์การปลดแอกในการอ่าน เราจึงมองว่าการทำให้คนหนึ่งคนสูญเสียจิตวิญญาณผ่านการตัดภูติไป นั่นก็เพื่อให้พวกเขาตกอยู่ในอาณัติของขั้วอำนาจนั้นอย่างสมบูรณ์
นี่มันไม่ใช่เพียงความขัดแย้งทางความเชื่อที่อยู่ตรงข้ามกันอีกต่อไปแล้ว
หากแต่เป็นสงครามระหว่างผู้มีอำนาจและผู้ต้องการปลดแอกในทุกแง่ ที่มีสำเร็จบ้างและไม่สำเร็จบ้างต่างหาก
คำนิยามในฉากสุดท้าย
กระดาษถูกพลิกไปจนถึงหน้าสุดท้ายของหนังสือเล่มที่สาม และแล้วเราจึงได้คำนิยามฝุ่นธุลีในแบบของตัวเอง
หากมีบางสิ่งเกิดขึ้นเมื่อความไร้เดียงสาเปลี่ยนมาเป็นประสบการณ์ ฝุ่นธุลี ที่เข้ามาเกาะตัวจึงอาจหมายถึง จุดสิ้นสุดของความไร้เดียงสา หรือเรียกง่าย ๆ ว่า การเติบโต
ในวัยเด็กไม่ว่าอะไรก็เป็นไปได้หากวาดฝันและจินตนาการถึง เป็นช่วงชีวิตที่เต็มไปด้วยความสดใสล้นเหลือ หากให้เผื่อแผ่ไปถึงคนอื่นก็ยังไหว ความสุขก่อตัวได้ง่ายเสียยิ่งกว่าอะไร แถมภูติประจำตัวยังเปลี่ยนร่างเป็นอะไรก็ได้ตามใจหวัง
ทว่าเมื่อเติบโตขึ้นมาอีกสักนิด และก้าวสู่ช่วงวัยรุ่น เมื่อนั้นความสนุกแบบวัยเด็กก็หายไป ภาพยนตร์ที่เคยดู หนังสือที่เคยอ่าน แม้จะเป็นเรื่องราวเดิมที่ต่อให้ดูซ้ำจนแผ่นพัง หรืออ่านซ้ำจนกระดาษเปื่อยยุ่ยแค่ไหนก็ยังเรียบเรียงแบบเดิม แต่มุมมองที่มีต่อมันกลับไม่เหมือนเดิม นั่นก็เพราะประสบการณ์และอัตตาที่ติดตัว และสั่งสมในเราเรื่อยมาเหมือนฝุ่นธุลี
เราไม่รู้ว่าคุณจะนิยามธุลีในแบบใด เพราะเราไม่มีสิทธิ์อะไรไปตัดสินคุณ เหมือนที่เราไม่มีสิทธิ์ไปตัดสินตัวเองในอดีตที่สุดแสนจะไร้เดียงสา และเราในอนาคตก็อาจไม่เห็นด้วยกับความคิดของตัวเองในตอนนี้ แต่มันก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร
เพราะมันต้องใช้ความเจ็บปวด และไม่เดียงสา เพื่อทำความเข้าใจอะไรหลายอย่างในชีวิต
หนังสือ: ธุลีปริศนา (His Dark Materials)
นักเขียน: Philip Pullman
ผู้แปล: วันเพ็ญ บงกชสถิตย์
สำนักพิมพ์: นานมีบุ๊คส์
PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี