บาดแผลฝังแน่นมาอย่างยาวนาน 18 ปีเต็มกับ ‘โศกนาฏกรรมตากใบ’ จากเหตุสลายการชุมนุมหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ทำให้ประชาชนเสียชีวิตทันที 7 คน เสียชีวิตจากการเคลื่อนย้ายกว่า 78 คน และสูญหายอีก 7 คน นับเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ของคนมุสลิมในพื้นที่ เหตุการณ์ตากใบเหตุการณ์เดียว มีผู้เสียชีวิต 85 ราย มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของไฟใต้ รองจากเหตุการณ์กรือเซะ และพวกเขาตั้งคำถามต่อกระบวนการยุติธรรมของรัฐไทยเสมอมา
อีก 2 ปี คดีความทางอาญาจะหมดอายุความ ไม่มีเวลาที่ยาวนานกว่านี้อีกแล้วสำหรับกฎหมายไทย แม้เวลาล่วงผ่านไปเรายังไม่เห็นใคร ไม่ว่าจะเป็นผู้ร่วมก่อการ สั่งการ หรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงของการบังคับบัญชาถูกดำเนินคดี ไม่มีเลยแม้แต่คนเดียว หรือนี่จะเป็นจุดมืดบอดที่กระบวนการและความยุติธรรมไปไม่ถึง เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา มีวงเสวนา ตุลาตากใบ: ความ(อ)ยุติธรรมที่ (ยังไม่) เปลี่ยนผ่าน ของโศกนาฏกรรมที่ปลายชายแดน ที่ Kinjai Contemporary บทสนทนาหลัก ๆ ของการพูดคุย คือการทบทวนการคืนความเป็นธรรมให้กับเหยื่อและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐ แม้หลายคนจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราเห็นเพียงแค่การเยียวยาเป็น “เงิน” โดยผู้เสียชีวิต 85 คน ได้รับเงินเยียวยารายละ 7.5 ล้านบาท กรณีทุพพลภาพ เยียวยารายละ 7.5 ล้านบาทเช่นกัน มีจำนวน 1 คน ได้รับจริง 6,380,000 บาท โดยหักยอดเงินเยียวยาแหล่งอื่นที่ได้รับไปแล้วเช่นเดียวกับกรณีเสียชีวิต และการย้ายแม่ทัพภาคที่ 4 เข้ากรุงเทพเท่านั้นเองหรือ
รอมาฎอน ปันจอร์ บอกว่า “รัฐไทย” ในความหมายคือองคาพยพของระบอบไม่กล้าพอที่จะดำรงความถูกต้องให้อยู่ในร่องในรอย คือการนำผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่กลับกันคือการใช้เงินเพื่อเยียวยาเหยื่อ พูดให้ถึงที่สุด พวกเขาใช้เงินเพื่อปกป้องระบอบเอาไว้ มากกว่าที่จะทำให้เรื่องนี้เกิดความเป็นธรรม
ถามว่า “รัฐไทยไม่กล้าแลก” รอมาฎอนตอบว่า “นี่คือสิ่งที่รับไม่ได้สำหรับรัฐไทย” คือการเอาเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำผิดมารับโทษตามกฎหมาย ในความหมายคือ “พวกเขา (รัฐไทย) พร้อมที่จะจ่ายในต้นทุนที่แม้ว่าจะสูงเพียงใด เพื่อที่จะเบี่ยงเบนไม่ให้สู่กระบวนการปกติ” คือการเอาคนทำผิดมาเข้าคุก
คำถามคือ เจ้าหน้ารัฐทำผิดแล้วเข้าคุกไม่ได้หรือ?
รอมาฎอนกล่าวในช่วงหนึ่งของงานเสวนาว่า 18 ปีผ่านไป ถ้าตากใบเป็นเด็กสักคนหนึ่ง ปีหน้าเขาจะมีสิทธิ์เลือกตั้งได้แล้ว แต่พวกเขาอยู่ภายใต้กระบวนการยุติธรรมไทยพวกเขายังไม่มีตัวตน หากกล่าวต่อไปในอนาคต รัฐบาลชุดใหม่ต้องตีเส้นให้ชัดว่า จะเอาอย่างไรกับกรณีตากใบหรือเหตุการณ์ความรุนแรงอื่น ๆ พวกเราจะเดินไปให้ถึงจุดที่รัฐไทยต้องลงนามสัตยาบันกรุงโรม และประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ เพื่อรื้อฟื้นคดี และมอบความเป็นธรรมให้คนมลายู “เพราะกระบวนการยุติธรรมไทยทำงานได้แค่เยียวยาผ่านเม็ดเงิน”
ผมฟังแล้วนั่งนึกตามไปกับรอมาฎอน ว่าสัตยาบันกรุงโรมจะทำให้ตากใบได้รับความเป็นธรรมจริงหรือ หรือได้แค่ไหนเชียว ก่อนที่จะได้พูดคุยกับ สมชาย หอมลออ ที่ปรึกษามูลนิธิผสานวัฒนธรรม บอกว่า “ต่อให้เราลงนามสัตยาบันกรุงโรม ก็ไม่ครอบคลุม” เพราะการลงนามจะไม่มีผลย้อนหลังต่อกรณีที่เกิดขึ้นก่อน อย่างตากใบ หรือการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ใจผมสั่นรัว ๆ เพราะมัวแต่คิดว่า “เอาแล้ว ยังไงตากใบก็มาสุดทางแล้วจริง ๆเพราะในระบบยุติธรรมไทยมันเหลือเวลาแค่สองปี จะเอาอย่างไร” ผมชวนสมชายคุยต่อหลังจากเสวนา เพื่อหาคำตอบว่า ความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐจะเหมือนอย่างโศกนาฏกรรมโดยรัฐก่อนหน้านี้หรือไม่ ?
สมชาย อธิบายว่า แม้เวลาจะเหลือเพียงน้อยนิด แต่เรายังพอมีเวลาและหนทางอยู่ อย่างแรกคือให้อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องอุทธรณ์ต่อกรณีตากใบอีกครั้ง แม้ศาลชั้นต้นเคยตัดสินไว้ว่า สาเหตุของการเสียชีวิต คือขาดอากาศหายใจ แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าใครเป็นคนทำ
ผมอยากชวนทุกคนย้อนนึกภาพการสลายการชุมนุม มีคนถูกจับกุมกว่า 1,300 คน ทุกคนถูกจับเอามือไขว้หลังและซ้อนทับไว้บนรถบรรทุกทหาร ที่เคลื่อนย้ายจากตากใบถึงปัตตานี ใช้เวลากว่า 6 ชั่วโมง แต่หาสาเหตุไม่ได้ ว่าใครทำให้คนเหล่านั้นเสียชีวิตแม้จะมีการเยียวยาเป็นเงินในแต่กรณีแต่เจ้าหน้าที่ก็ยังคงพ้นผิดลอยนวล
อย่างที่สองคือให้ญาติของผู้เสียชีวิตยื่นฟ้องคดีต่อศาลด้วยตัวเองอีกครั้ง สมชาย ยืนยันว่า แม้เรื่องนี้จะพูดแล้วดูเหมือนเป็นเรื่องง่าย แต่ความเป็นจริงนั้นไม่ง่าย ต่อให้การลุกขึ้นสู้คดีอีกครั้ง มีทนายความด้านสิทธิมนุษยชนต้องการเป็นทนายให้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเลยก็ตาม แต่เจ้าตัวก็ต้องสละเวลาในอาชีพการงาน และรายได้เบื้องต้นสำหรับการดำเนินการอย่างเช่น การเดินทาง ที่ยากไปกว่านั้นคือถ้าให้ญาติของผู้ได้รับผลกระทบเป็นคนยื่นฟ้อง พวกเขาก็ยังเจอข้อจำกัดที่ว่า ไม่สามารถเข้าถึงเอกสารอย่างเป็นระบบได้อยู่ดี ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะว่าเรากำลังฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะฉะนั้นสมชายจึงมองว่า การให้อัยการเป็นคนยื่นฟ้องอีกครั้งจึงเป็นเรื่องที่มีเหตุผลและเข้าใจได้ดีที่สุด นอกเหนือเสียจากอัยการจะไม่ยอมเข้าใจและไม่ยื่นฟ้อง
อย่างที่สาม คือการประกาศยอมรับอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งกรณีนี้นับเป็นกรณีที่ยากที่สุด เพราะต่อให้เราประกาศยอมรับอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ ก็ต้องมาตรวจสอบและดูว่ากรณีตากใบจะเข้าเกณฑ์หรือไม่ ด้วยเงื่อนไขเบื้องต้นคือ เป็นโศกนาฏกรรมที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และถูกจัดขึ้นก่อการอย่างเป็นระบบ เงื่อนไขสองประการนี้ไม่ง่ายที่จะทำให้การสลายการชุมนุมที่ตากใบเมื่อ ปี 2547 เข้าเงื่อนไขตามอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ
โดยพื้นฐานที่สุดที่สมชาย กล่าวว่า อย่างน้อยที่สุดเจ้าหน้าที่รัฐ ควรโดนสามข้อหาคือ 1.ฆ่าคนตายโดยเจตนา 2.ฆ่าคนตายด้วยความประมาท และ 3.ประพฤติโดยมิชอบ (ที่เราเรียกกันว่าผิดมาตรา 157) แต่ไม่ใช่เพราะรัฐไทย “เลือกปฏิบัติกับคนที่นั่น (ชายแดนใต้)” ซึ่งในช่วงท้ายการเสวนาฯ สมชายบอกว่า แม้ว่าจะมีการฟ้องคดีแพ่งต่อกองทัพบกเพื่อรับเงินชดเชยเยียวยา แต่สายตาที่รัฐไทยมองไปมันกลับตาลปัตรไปหมด
พวกเขาเป็นเหยื่อเป็นผู้เสียหาย แต่ถูกมองเป็นจำเลย ถูกใส่กุญแจมือและจับดำเนินคดีความ ในทางกลับกัน เจ้าหน้าที่รัฐผู้ก่อการ ที่ความเป็นจริงต้องเป็นจำเลยเพราะใช้ความรุนแรงกับประชาชน แต่พวกเขากลับเป็นโจทย์ที่ยื่นฟ้องประชาชนผู้เสียหาย พูดถึงเรื่องนี้ทีไรมันสับสนแบบกลับหัวกลับหางไปหมด ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ เหตุการณ์นี้จะต่างกับเหตุการณ์ปี 2553 หรือ 2535 ตรงที่ทั้งสองอยู่ในช่วงรัฐบาลภายใต้กองทัพ แต่ตากใบเกิดขึ้นในขณะที่รัฐบาลเป็นรัฐบาลพลเรือน