“การพูดคุยสัมภาษณ์ผู้คนที่ยังมีชีวิต รวมถึงผู้ที่จากไปแต่ก็ยังถูกกล่าวถึงในหนังสือเล่มนี้ ล้วนเป็นผู้ที่ตั้งคำถามถึงความถูกต้องและเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบเลวร้ายในทางใดทางหนึ่งหลังจากที่เขาแสดงตัวออกมา”
ส่วนหนึ่งจากคำนำเสนอโดยศรายุธ ตั้งประเสริฐ นักข่าวอาวุโส สำนักข่าวประชาไท
หนังสือเล่มที่ชื่อว่า ฤดูกาลประชาชน จัดเป็นหนังสือประเภทรวมบทความสัมภาษณ์ของนักเขียนวัยหนุ่ม นามป่าน ธิติ มีแต้ม ซึ่งได้สัมภาษณ์บุคคลไว้มากมายในต่างวาระและโอกาส ทุกคนที่ได้ถูกสัมภาษณ์ล้วนเป็นคนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเมืองไทยนับตั้งแต่การรัฐประหารหลังปี 2557 หรือบ้างบางคนก็นับตั้งแต่ 2549 เป็นต้นมา อย่างปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ภรรยาคนสุดท้ายของสุรชัย แซ่ด่าน หนึ่งในคนที่ต้องลี้ภัยระเหิดระเหินหลังจากคณะ คสช.เข้ายึดอำนาจ จวบจนปัจจุบันยังไม่ทราบชะตากรรมร้ายดี นอกจากเพียงแค่พบศพคนสนิทซึ่งถูกฆ่าหั่นศพยัดไส้ปูนและปล่อยลอยน้ำ หรืออย่างสมยศ พฤกษาเกษมสุข ที่ชีวิต 7 ปีของเขาต้องอยู่หลังกำแพงสูง ภายใต้มาตราอาญาสิทธิ์อย่าง 112 และยังมีอีกหลายคน เกินกว่าที่จะกล่าวให้จบในย่อหน้าสั้น ๆ นี้
หากกล่าวกันแล้ว ตุลาคมในความทรงจำของใครหลายคนเป็นเดือนที่เต็มไปด้วยงาน กิจจกรรม บรรยากาศรำลึกเหตุการณ์ทางการเมือง และเหตุการณ์สูญเสียของผู้คนในนามสามัญชนภายใต้คำสั่งของรัฐ อย่าง 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งถูกจดจำในฐานะประวัติศาสตร์แห่งชัยชนะ นักศึกษา ประชาชนสามารถขับไล่จอมเผด็จการอย่างถนอม และประภาส คืนอำนาจประชาธิปไตยให้กับประชาชนและสถาปนารัฐธรรมนูญ 2517 ซึ่งเป็นหนึ่งในรัฐธรรมนูญที่ถูกขนานนามว่ากระบวนการและที่มามีความเป็นประชาธิปไตยแต่ต้องแลกมากับการสูญเสียอย่างน้อย 77 ราย หรือ 6 ตุลาคม 2519
ธงชัย วินิจจะกูล เรียกว่า ประวัติศาสตร์บาดแผล และถูกจดจำในประวัติศาสตร์ที่ห้ามจดจำ เพราะทั้งในแบบเรียนหรือประวัติศาสตร์กระแสหลักก็ไม่ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ณ ท้องสนามหลวง และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์แม้แต่น้อย หรือตุลาคมสำหรับคนใต้อย่างผู้เขียน ก็จดจำตุลาคม ในเหตุการณ์การสลายการชุมนุมหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 จนนำมาสู่การเสียชีวิตของประชาชนผู้ถูกจับกุมถึง 85 คน และสูญหายอีก 7 คน ประจวบเหมาะทั้งชื่อหนังสือ และรอบเดือน ที่เราจะกล่าวได้ว่าตุลาคมคือ ฤดูกาลของประชาชน
รัฐประหารเมื่อกันยายน 2549 คือจุดเริ่มต้นของการนำสังคมไทยถอยหลัง เพราะหลายคนคงคิดเหมือนกันว่าหลังจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี 2535 ทหารกลับเข้ากรมกอง สังคมไทยจะหลุดพ้นจากวงจรอุบาทว์ เราได้รัฐธรรมนูญ2540 ที่เรียกกันติดปากว่ารัฐธรรมนูญฉบับประชาชน แต่ใดเล่าไม่พ้น สังคมไทยก็ปล่อยให้ทหารเข้ามายึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอีกครา และเราก็ยังอยู่ในหลุมดำจากมรดกของคณะรัฐประหารจวบจนทุกวันนี้
คนรักของคนขับรถ (ที่กล้าตายเพื่อบอกว่าอุดมการณ์มีค่ามากพอที่จะสละชีวิต)
บุญชู ไพรวัลย์ พวกเราคงคุ้นชื่อสกุลกันดี ในนามของนวมทอง ไพรวัลย์ ชายมีอายุ ขับแท็กซี่เข้าชนรถถังของคณะรัฐประหารในวันที่ 30 กันยายน 2549 ที่จอดยึดอำนาจมาตั้งแต่ 19 กันยาฯ
บุญชูเธอเล่าให้ฟังว่าเจอกับหนุ่มจากท่าม่วง กาญจนบุรี ในซอยที่เธอทำงานเลี้ยงเด็กอยู่เมื่อปี 2524 “วาบแรกที่เธอเห็น เขาก็ดูเป็นคนบ้านนนอกทั่วไป ออกจะเฉิ่มๆ รูปร่างล่ำหนา แต่เตี้ยและคล้ำ” หนุ่มนามไพรวัลย์อยู่ท้ายซอย ผ่านบ้านสาว ก็แวะทักทาย บ่อยขึ้น ถี่ขึ้น “จนยายเจ้าของบ้านก็แซวว่า เนื้อคู่มึงมาแล้วนะอีเล็ก”
เป็นความชื่นมื่นแบบโรแมนติกที่ละครไทยมักฉายภาพให้เห็นอยู่หลายครั้ง ว่าสาวต่างจังหวัดเข้ามาทำงานใช้แรงอยู่ในเมืองใหญ่ พบรักกับหนุ่มบ้านนอกด้วยกัน และความรักลงเอยได้ดี แต่น่าเสียดายที่มันไม่ใช่สำหรับบุญชู เพราะจวบจนสุดท้ายเธอได้สามีที่มีเลือดและเนื้อหนังมังสาที่เป็นนักสู้ อย่างน้อยที่สุดคือสู้กับความอยุติธรรมของคณะ รสช.ผู้ยึดอำนาจจากรัฐบาลที่ชนะจากการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย บุญชูเล่าว่าเธอมีลูกด้วยกันสองคน จนสุดท้ายตัดสินใจคุมกำเนิด และให้เหตุผลว่า “เกรงว่ายิ่งแก่ไปจะหมดแรงเลี้ยงเสียก่อน”
ลุงนวมทอง เออร์ลี่รีไทร์จากการไฟฟ้า หลังจากทำที่นั่นอยู่ได้ 35 ปี ก็ออกมาขับกะป้ออยู่ที่ท่าน้ำนนท์ ก่อนที่พรรคพวกจะชวนไปขับแท็กซี่ บุญชูเล่า เธอบอกต่อว่านวมทองมันอยู่กับอิเล็กโทนคู่ใจ “วันไหนไม่ออกไปนอกบ้าน อยู่กับเมียรักก็มักชวนกันร้องเพลง เพลงของสายัณห์ สัญญา เขาร้องได้หมดนะ” ปี 2549 แท็กซี่สีม่วงที่เช่าจากสหกรณ์แหลมทอง ลุงนวมทองพาคู่หู่ของเขาไปปะทะกับรถถัง ไม่ใช่เรื่องขบขันแน่ ๆ ที่เอารถเก๋งไปปะทะกับเหล็กหนากว่า 50 ตัน
แต่เชื่อเถอะว่านี่เกิดจากศรัทธาล้วน ๆ ภาพการรัฐประหารในวันนั้น มีคนจำนวนไม่น้อยดีใจ โห่ร้อง เหมือนสังคมไทยได้รับชัยชนะบางอย่าง แต่หารู้ไม่นั้นคือจุดเริ่มต้นของหายนะที่ส่งทอดมาจนวันนี้ ไพรวัลย์คือคนแรก ๆ ที่บอกเรา ว่าสังคมนี้จะฉิบหายถดถอย หากเราไม่ต่อต้าน ไม่อาจรู้เจตนาได้ว่าวันที่ชนรถถังเข้าจัง ๆ ไพรวัลย์หมายมั่นถึงขั้นเอาชีวิตเข้าแลกขนาดไหน แต่ต้องพักรักษาตัวอยู่ยกใหญ่ หลังจากร่างกายคืนสภาพ บวกคำสบถบ้า ๆ บอ ๆ ของนายทหารที่ให้สัมภาษณ์ว่าไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้ ไพรวัลย์เลือกกระทำการอัตวินิบาตกรรม แขวนคอตัวเองที่สะพานลอยฝั่งวิภาวดีขาออก เขาฝากบอกลูกและภรรยาว่า “สุดท้ายขอให้ลูก ๆ และภรรยา จงภูมิใจในตัวพ่อ ไม่ต้องเสียใจ ชาติหน้าเกิดมาคงไม่พบเจอการปฏิวัติ (รัฐประหาร) อีก ลาก่อน”
หนึ่งในนักเรียนท่ามกลางกระแสการตื่นตัวของคนรุ่นใหม่
คณพศ แย้มสงวนภักดิ์ เขาขึ้นหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่ง ในวันที่ 21 กันยายน 2563 ร่วมกับแกนนำคณะราษฎรหลายคน อาทิ รุ้ง ปนัสยา เพนกวิ้น พริษฐ์ ชิวารักษ์ ฯลฯ คณะทำการฝังหมุดคณะราษฎรในเช้าวันที่ 20 กันยายน ซึ่งชุมนุมข้ามคืนมาตั้งแต่วันที่ 19 กันยา คณพศ บอกเหตุผลว่าทำไมถึงอยู่ตรงนั้นในวันที่ 20 กันยายน เพราะตนเข้าไปช่วยงานพวกพี่ ๆ ตั้งแต่ช่วงเย็น 19 กันยาแล้ว เลยเลือกหลังเวทีเป็นพื้นที่หลับนอนในคืนนั้น ประจวบเหมาะกับการเป็นนักเรียนคนเดียวตรงจุดนั้น เลยถูกเลือกให้เป็นคนถือหมุด
คณพศให้เหตุผลถึงการรับไม้ต่อ เพราะอย่างไรการต่อสู้ก็เป็นของคนรุ่นเขาอยู่ดี รุ่นวัยนักเรียนที่กำลังจะเข้า ‘มหาลัย’ และยังคงต้องเรียกร้องประชาธิปไตย นั้นเป็นเหตุผลที่เขาบอกว่า พร้อมเสมอสำหรับการออกหน้า เขาบอกว่าเขาโดนตัดเงินจากที่บ้าน แถมมีโทรศัพท์จากครอบครัวฝั่งพ่อบอกให้หยุด เพราะกลัวว่าการเมืองคือเรื่องอันตราย และกลัวว่าครอบครัวจะถูกคุกคามไปด้วย แต่ยังดีอยู่บ้างที่คณพศบอกว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้ที่แม่ยังเข้าใจ
จากช่วงแรกที่ขยับเคลื่อนไหวเพียงแค่ประเด็นด้านการศึกษา แน่นอนว่าเขาเป็คนรู้สึกรู้สากับบ้านเมือง จนนำไปสู่การปราศรัยเรื่องการสูญเสียที่ตากใบ เนื่องในโอกาสครบรอบ 16 ปี ผมยังนึกภาพเลย เด็กหนุ่มชุดนักเรียนขาสั้น เกิดและโตในเมืองกรุง แต่พูดเรื่องตากใบได้ ไม่เบาแน่ ๆ คณพศบอกว่าเพื่อนเขาอีกหลายคนที่พ่อแม่เป็นข้าราชการ ทหาร ตำรวจ หลายคนมาช่วยทำงานซัพพอร์ตอยู่หลังเวที เปิดหน้าไม่ได้ เพราะเกรงว่าจะกรทบกับการงานที่บ้าน โดยส่วนตัวเขาก็เชื่อว่าแต่ละคนมีเพดานและความสะดวกที่ไม่เท่ากัน ด้วยข้อจำกัดที่ต่างกัน แต่แน่นอนภาพใหญ่คือเป้าหมายและระหว่างทางคือการต่อสู้ หากพูดอีกครั้ง “ให้มันจบที่รุ่นเรา” นึกถึงคณพศคราใด ลึก ๆ ก็เชื่อว่าจะจบในสักวัน
หลังกำแพงสูงกว่า 7 ปี 112 พรากเสรีภาพของเขาไป
หน้าที่ 112 ของหนังสือ สัมภาษณ์คนที่ต่อสู้เพื่อยกเลิก 112 และสุดท้ายโดน 112 พรากชีวิตไว้หลังกำแพงคุกกว่า 7 ปี สมยศ พฤกษาเกษมสุข ถูกจับกุมในฐานะบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin ในสายธารของประชาธิปไตย และขบวนการแรงงาน สมยศเป็นชื่อต้น ๆ ที่เรานึกถึง เขาบอกว่าหลังจากคลอดลูกได้เดือนแรก ก็อุ้มลูกไปประท้วงหน้าทำเนียบเพื่อเรียกร้องสิทธิการลาคลอด 90 วัน หรือในวันที่เพิ่งออกจากคุกก็ไปหน้าทำเนียบเพื่อเรียกร้องให้ระงับการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม สมยศเล่าว่า ตัวเองเติบโตมากับยุคโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งโรงงานน้ำตาลที่กาญจนบุรี ที่เด็กรามฯ ไปทำตาม ๆ กัน หรือโรงงานแถวอ้อมน้อยที่สมุทรปราการ ผมคิดว่าคนแบบสมยศนี่แหละคือคนซ้าย ๆ แบบตรงไปตรงมา คือคนที่ยืนหยัดข้างผู้คนผู้ใช้แรงงาน
ยุคสมัยเปลี่ยนผ่าน แต่สมยศไม่เคยเปลี่ยนไป เขาก่อตั้งกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย “เกิดรัฐประหาร ทำให้เราต้องมาคิดกันว่าใครคือเจ้าของประเทศ ประเทศนี้เป็นของใคร ถ้าดูมาตรา 1 ของคณะราษฎร คืออำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย ประโยคนี้ประโยคเดียวชัดเจน กลุ่ม 24 มิถุนาฯ ก็เกิดขึ้น” สมยศบอกถึงที่มาของชื่อกลุ่มที่เกิดขึ้นหลังจากรัฐประหาร 19 กันยาฯ แต่ในเวลานั้นยังไม่ถึงขั้นเป็นขบวนการที่ใหญ่โต หลายคนที่เข้าร่วมเห็นตรงกันว่าการต่อสู้ทางการเมืองต้องกลับไปตั้งต้นที่เจตนารมณ์การเปลี่ยนแปลงเมื่อ 2475 ใหม่ 24 มิถุนายน คือวันแห่งการเปลี่ยนแปลงจากระบอบเก่าไปสู่ระบอบใหม่ เราอาจลืมไปแล้วว่า 24 มิถุนายนของทุกปี เคยเป็นวันชาติ แต่สุดท้ายมันก็หายไปเหมือนมรดกอย่างอื่นของคณะราษฎรเช่น หมุดคณะราษฎร หรืออนุสาวรีย์ปราบกบฏที่บางเขน และนี่ยังไม่นับการไล่รื้อความทรงจำของคณะราษฎรทุกวี่วัน สุดท้ายนี้ผู้มีอำนาจในสังคมไทยปรารถนาการปกครองในรูปแบบใดกัน
สมยศยังคงอยู่ข้างประชาชนเสมอมา
เยาวชนคนรุ่นใหม่คงจดจำภาพพี่สมยศอยู่ในคุกในตารางมากกว่าที่จะจดสมยศอยู่แนวหน้าข้างถนน เมื่อครั้งถูกจำคุกด้วยฐานความผิดมาตรา 112 ในครั้งแรก Ilaw ระบุว่า สมยศเคยยื่นประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดีถึง 16 ครั้ง และเคยวางเงินประกันสูงสุดกว่า 4 ล้านบาท แต่ศาลก็ปฏิเสธทุกครั้ง หลักการ Presumption of innocent ใช้การในกระบวนการยุติธรรมบ้านเราไม่ได้จริง ๆ
สมยศ เล่าช่วงขณะที่ไม่ได้ประกันตัว ก็ถูกเบิกตัวไปสืบพยานตามศาลจังหวัดต่าง ๆ ทำให้ต้องเจอที่ใหม่ ๆ คนใหม่ ๆ ทั้งที่บางศาลไปเช้าเย็นกลับก็ได้อย่างปทุมธานี นี่ส่งไปล่วงหน้าตั้ง 3 เดือน “มันแย่ตรงที่คุณต้องปรับตัว ไปเรือนจำแต่ละที่คุณต้องเจอคนหน้าใหม่ตลอด และแย่ที่สุดคือมันแออัดมาก ยิ่งกว่าหมูหมากาไก่ในเล้า” เวลาผ่านไปนับสิบปีขบวนการเคลื่อนไหวเปลี่ยนไปแทบจำเค้าเดิมไม่ได้ แต่สมยศยังไม่เปลี่ยน เค้ายังคงยืนข้างคนหนุ่มสาว พูดเรื่องราวของ 112 เช่นเดิม โหดร้ายตรงที่กระบวนการยุติธรรมก็ไม่เปลี่ยนไป เอาคนคิดต่างเข้าคุกเช่นเดิม และสมยศก็เป็นหนึ่งในนั้นอีกครั้ง
นี่คือเรื่องราวจากบางเรื่องบางตอนของบทสัมภาษณ์นับสิบคน ในหนังสือฤดูกาลประชาชน ที่จัดพิมพ์ขึ้นในโอกาสพิเศษ ป่าน-ธิติ มีแต้ม ถูกนับว่าเป็นนักสัมภาษณ์อันดับต้น ๆ งานของเขามีชีวิต เขียนเรื่องราวของทั้งคนที่มีชีวิตหรือบ้างก็ล่วงลับไปแล้ว แต่คุณค่าของนักข่าวนักเขียนแบบเขา ยังยึดโยงกับคุณค่าของประชาชนเสมอ และเช่นเคยผมมักเป็นนักรีวิวที่นิสัยไม่ดี เพราะเปิดเผยเนื้อหาส่วนสำคัญของหนังสือเล่มนี้ไปแล้วหลายส่วน
หนังสือ: ฤดูกาลประชาชน
นักเขียน: ธิติ มีแต้ม
PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี